“…ที่เสี่ยงหนักสุดเลย คือ เศรษฐกิจโลกและนโยบายของทรัมป์ เพราะเราไม่รู้จริงๆว่า เขาจะทำอะไร ถ้าสังเกตตอนเทรดวอร์ครั้งแรก เขาอัดจีนคนเดียว ไม่อัดคนอื่น และเขาก็เน้นว่า ที่เขาอัดจีน เพราะต้องการให้จีนซื้อสินค้าของเขาให้มากขึ้น เพราะต้องการลดการขาดดุลฯ แต่มารอบนี้ เขาบอกว่าเขาจะทำทุกประเทศเลย…”
..........................................
เศรษฐกิจไทยในปี 2568 ยังคงต้องเผชิญกับ ‘ความเสี่ยง’ และ ‘ความไม่แน่นอน’
โดยเฉพาะจากปัจจัย ‘สงครามการค้า’ รอบใหม่ ซึ่งคาดว่าสหรัฐฯน่าจะทยอยประกาศ 'มาตรการกีดกันทางการค้า' กับประเทศคู่ค้าต่างๆเป็นระลอก หลังการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่ 2 ของ โดนัลด์ ทรัมป์ ตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค.นี้ เป็นต้นไป และส่งผลให้ปริมาณการค้าและเศรษฐกิจโลกในระยะถัดไปชะลอตัว
ขณะเดียวกัน ‘ดอกเบี้ย’ ของเศรษฐกิจหลัก เช่น สหรัฐ ที่มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูง จากผลพวงการดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลก รวมถึงประเทศไทย โดยเฉพาะการชั่งน้ำหนักในการดำเนิน ‘นโยบายการเงิน’ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจในปี 2568
“สิ่งที่เราจะเห็นจากทิศทางของสหรัฐ คือ ภาพที่เงินเฟ้อสหรัฐที่เดิมมองว่า จะลงสู่เป้า จะเข้าสู่เป้าได้ยากขึ้น ถ้าเงินเฟ้อ เข้าสู่เป้ายากขึ้น ดอกเบี้ยที่เดิมคนคาดการณ์ว่า จะปรับ และมีผลต่อเศรษฐกิจ การเงินโลก อาจไม่เป็นอย่างที่คาดไว้” เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในช่วงต้นเดือน ธ.ค.2567 (อ่านประกอบ : ผู้ว่าฯธปท.ชี้ 3 ปัจจัยเสี่ยงโลก ฉุดส่งออก-‘ดอกเบี้ย’ไม่ลดตามคาด-เดินหน้า Robust Policy)
ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุด กนง. มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% และประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2568 จะขยายตัว 2.9% ท่ามกลางความไม่แน่นอนต่างๆ (อ่านประกอบ : มติเอกฉันท์! 'กนง.'คงดอกเบี้ย 2.25% มอง GDP ปีหน้า 2.9%-จับตาเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง)
(ประมาณการเศรษฐกิจปี 2567-2568 ณ วันที่ 18 ธ.ค.2567 ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย)
ขณะที่ก่อนหน้านี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2568 จะขยายตัวที่ระดับ 2.3-3.3% มีค่ากลาง 2.8% โดยเศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับความเสี่ยงของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาด รวมถึงความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งและการสู้รบที่ยังดำรงอยู่
“ในปี 2568 มีความเสี่ยงค่อนข้างเยอะและผันผวนค่อนข้างมาก สศช.คาดว่าปี 2568 เศรษฐกิจน่าจะขยายตัว 2.3-3.3% อันนี้เราได้รวมความเสี่ยงในแง่ความผันผวน เช่น เรื่องสงครามการค้าต่างๆ” ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. ระบุ (อ่านประกอบ : ‘สภาพัฒน์’เผยจีดีพีไตรมาส 3/67 โต 3%-คาดทั้งปี 2.6% จับตาผลกระทบสหรัฐฯกีดกันทางการค้า)
(รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/2567 และแนวโน้มปี 2567-2568 เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2567 ที่มา สศช.)
@เอกชนมองเศรษฐกิจปีนี้ ขยายตัวต่ำกว่า 3%
ส่วนมุมมองของภาคเอกชน นั้น สำนักวิจัยเศรษฐกิจต่างๆ มองไปในทิศทางเดียวกัน ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2568 จะขยายตัวต่ำกว่า 3% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกในปี 2568 เผชิญกับความเสี่ยงและความไม่แน่นอน จากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ขณะที่เศรษฐกิจไทยมีปัญหาภายใน ทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือน และปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคการผลิต
โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2568 จะขยายตัวที่ 2.4% (ประเมิน ณ ธ.ค.2567) โดยมาตรการกีดกันการค้าของ Trump 2.0 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ครึ่งปีหลัง ขณะที่ปัญหา China’s overcapacity จะกดดันความสามารถการแข่งขันของสินค้าไทยทั้งตลาดในและนอกประเทศ
“แนวโน้มธุรกิจไทยยังมีความเสี่ยงอยู่มาก ทั้งจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก นโยบาย Trump 2.0 การแข่งขันรุนแรงจากต่างประเทศ แรงกดดันจาก Mega trends รวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคการผลิตของไทยเอง แต่ขนาดผลกระทบ จะขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวของแต่ละธุรกิจ
เช่น ธุรกิจยานยนต์ที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ความเปราะบางของครัวเรือน ซ้ำเติมด้วยแรงกดดันเปลี่ยนผ่านสู่รถ EV ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีข้อจำกัดในการปรับตัว” สรุป Outlook มุมมองเศรษฐกิจปี 2024-2025 ณ ไตรมาส 4 ปี 2024 ของ SCB EIC เผยแพร่เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2567 ระบุ
ด้าน บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2568 จะขยายตัวที่ระดับ 2.4% ขยายตัวช้าลงเมื่อเทียบกับปี 2567 จากแรงส่งจากการท่องเที่ยวที่ลดลงตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าใกล้ระดับก่อนโควิด เช่นกันกับการส่งออกที่คาดว่าจะโตช้าลง จากผลกระทบสงครามการค้าทั้งทางตรงและทางอ้อม
“ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยยังสูง จากความแน่นอนของสงครามการค้า เศรษฐกิจหลักของโลกชะลอตัว โดยเฉพาะจีน และภาคการผลิตของไทยที่เจอภาวะการแข่งขันสูงจากสินค้าจีน ท่ามกลางขีดความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง” ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าว
ขณะที่ บุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า การกลับมาอีกครั้งของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะทำให้ในปี 2568 มีความไม่แน่นอนและความผันผวนในด้านการค้าและการลงทุน ผ่านนโยบายเก็บภาษีนำเข้าของรัฐบาลสหรัฐฯ
“ทุกคนยังไม่แน่ใจว่า ตัวเลขจะออกมาเป็นเท่าไหร่ ทุกคนเลยรีบสั่งของเข้าไป ทำให้การค้าไปได้ เดี๋ยวผลออกมาจริงๆ น่าจะซักต้นปี และผลต่อการค้าโลกจะออกมาในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งเรามองว่าตัวนี้จะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอลง เงินเฟ้อในสหรัฐฯเพิ่มขึ้น การค้าโลกถดถอยลง เราจึงมองว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะขยายตัวที่ 2.4%” บุรินทร์ กล่าว
ส่วน คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มองว่า เศรษฐกิจไทยปี 2568 จะขยายตัวได้ท่ามกลางปัจจัยความไม่แน่นอนต่างๆ โดยเฉพาะการได้รับแรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่า 3%
@รัฐบาลตั้งเป้าดันเศรษฐกิจปี 68 โตอย่างน้อย 3%
อย่างไรก็ดี แม้ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2568 ต้องเผชิญกับความท้าทายที่หลากหลาย และหลายฝ่ายมองว่าเศรษฐกิจปี 68 จะเติบโตต่ำกว่า 3% แต่รัฐบาล ‘แพทองธาร ชินวัตร’ ตั้งเป้าหมายว่าจะผลักดันเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวที่ระดับ 3% ผ่านการดำเนินนโยบายต่างๆ เช่น การแจกเงิน และการกระตุ้นกำลังซื้อผ่านโครงการ Easy E-Receipt 2.0 เป็นต้น
“ในช่วงเดือน ธ.ค. ไปจนกระทั่งถึงเดือน ม.ค.-ก.พ.2568 จะมีเม็ดเงินจากโครงการ 3 โครงการ คือ การกระตุ้นผ่านกลุ่มชาวนา 1,000 บาทต่อไร่ 3.5 หมื่นล้านบาท มีในส่วนของผู้สูงอายุอีกราว 4 หมื่นล้านบาท และสุดท้าย Easy E-Receipt ที่จะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นล้านบาท
ดังนั้น จะมีเงิน 1.4-1.5 แสนล้านบาท ที่จะหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการกระตุ้นรอบสอง จะเห็นว่าเราพยายามรักษาโมเมนตัมทางเศรษฐกิจ เพื่อส่งผ่านตั้งแต่ปลายปีนี้ไปจนถึงต้นปีหน้า และในช่วงไตรมาส 2/2568 โครงการในเฟสถัดไปที่จะเป็นในรูปดิจิทัลวอลเลต ก็คงจะมีความพร้อมแล้ว
และจะมีเม็ดเงินอีกแสนกว่าล้านบาท ที่เติมเข้าไปในช่วงนั้น ซึ่งจะเป็นการรักษาโมเมนตัมที่ดีให้กับเศรษฐกิจในปี 2568 โดยเราตั้งเป้าและเชื่อมั่นว่า เราสามารถทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้สูงกว่าที่หลายๆคนคาด เรายังหวังตัวเลขที่ 3% เป็นอย่างน้อย” จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2567
(จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์)
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2567 กระทรวงการคลัง ได้เผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจไทยล่าสุด โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2568 จะขยายตัว 3% (ช่วงการขยายตัว 2.5-3.5%) จากปัจจัยบวก 4 ด้านหลัก คือ การบริโภคภาคเอกชน การส่งออกสินค้า การท่องเที่ยว และการลงทุนภาครัฐและเอกชน
ส่วนปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เช่น ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่างๆ ที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น ,ทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐฯ ,การฟื้นตัวของกาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ,ปัญหาหนี้ครัวเรือนและภาคธุรกิจที่จะบั่นทอนการใช้จ่ายในระยะต่อไป เป็นต้น
ขณะที่ พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ว่า หากความเชื่อมั่นค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับ และสถานบันการเงินเห็นภาพเดียวกับรัฐบาล คงเป็นโอกาสให้สามารถปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น พร้อมทั้งให้ความเห็นว่า หากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า กนง.ก็ต้องพิจารณาลดดอกเบี้ยนโยบายลงมา
“หากคิดว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ก็คงต้องลดอัตราดอกเบี้ย แต่หากคิดว่าเศรษฐกิจฟื้นเร็วก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อยู่ที่ กนง. จะพิจารณา เพราะประชุมกันทุกๆ 2 เดือนอยู่แล้ว และหลังปีใหม่นี้ จะพูดคุยกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ธปท. ธนาคารพาณิชย์ และ สศช. เพื่อดูทิศทางเศรษฐกิจของประเทศที่ขยับตัวด้านใดได้บ้าง” พิชัย กล่าว
@‘เศรษฐกิจโลก-นโยบายทรัมป์’ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจ
พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 หลักๆเลยจะมาจากเศรษฐกิจโลก และผลกระทบจากนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์
“ที่เสี่ยงหนักสุดเลย คือ เศรษฐกิจโลกและนโยบายของทรัมป์ เพราะเราไม่รู้จริงๆว่า เขาจะทำอะไร ถ้าสังเกตตอนเทรดวอร์ครั้งแรก เขาอัดจีนคนเดียว ไม่อัดคนอื่น และเขาก็เน้นว่า ที่เขาอัดจีน เพราะต้องการให้จีนซื้อสินค้าของเขาให้มากขึ้น เพราะต้องการลดการขาดดุลฯ แต่มารอบนี้ เขาบอกว่าเขาจะทำทุกประเทศเลย
และพูดชัดมากว่า นโยบายของเขาจะใช้ Trade (การค้า) เป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ระหว่างประเทศ อย่างที่เขาทะเลาะกับเม็กซิโก แคนนาดา เขาพูดชัดว่าภาษีที่เก็บ จะคงเอาไว้ จนกว่าจะแก้ปัญหาเรื่องยาเสพติดที่เข้าไปในสหรัฐ และการอพยพที่ผิดกฎหมาย ดังนั้น ประเด็นสำคัญที่ต้องมาดู คือ สหรัฐต้องการอะไรจากไทย” พิพัฒน์ กล่าว
พิพัฒน์ ระบุด้วยว่า “ถ้าดูภาพเศรษฐกิจโดยรวม จะเห็นว่าเศรษฐกิจโลกอยู่ในโหมดชะลอ แต่คนส่วนใหญ่ไม่คาดว่าจะมี recession (เศรษฐกิจถดถอย) ถ้าดูแต่ละประเทศ ก็ต้องบอกว่าสหรัฐฯดูดีอยู่คนเดียว ยุโรปโตไม่ถึง 1% ญี่ปุ่นเจอปัญหา จีนมีปัญหา จึงเหมือนว่าสหรัฐฯแบกทั้งโลกเอาไว้ ถ้าสหรัฐฯชะลอ ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะชะลอก็มี”
ส่วนปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศ โดยเฉพาะปัจจัยทางการเมือง นั้น พิพัฒน์ มองว่า “ความเสี่ยงเรื่องนี้ มีมาโดยตลอด เรานึกว่า ไม่มีๆแล้ว แต่อยู่ดีๆก็โป้ง ศาลสั่งอะไรอย่างนี้ เป็นเรื่องที่ unpredictable เป็นเหตุการณ์ที่เราคาดไม่ได้เลย อย่างตอนนี้ นายกฯแพทองธาร เหลืออีก 2 คดีใหญ่ๆ ซึ่งผมคิดว่า มันกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล
ใครจะมาลงทุน เจอนายกฯถูกปลดง่ายๆอย่างนี้ ก็ต้องเจอคำถามว่า แล้วความต่อเนื่องเชิงนโยบายจะมีหรือไม่ คุยอะไรกันแล้ว แล้วอีก 3-4 เดือน นายกฯไม่อยู่ แล้วจะทำอย่างไร ผมว่ามันน่าจะเป็นปัญหาสำคัญเหมือนกัน ความไม่แน่นอนทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมือง มันกระทบต่อนโยบายและทิศทางของประเทศจริงๆ”
พิพัฒน์ กล่าวว่า ในปี 2568 นโยบายการเงิน ควรเข้ามาบทบาทในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย เนื่องจากขณะนี้นโยบายการเงินของไทยอยู่ในภาวะตึงตัวมาก
“วันนี้สิ่งที่เราเห็น คือ สินเชื่อที่หดตัว มันกำลังบอกว่าสภาวะการเงินมันตึงตัวขึ้น เพราะสินเชื่อที่ไหลเข้าระบบเศรษฐกิจโตช้ากว่าจีดีพี เราเป็นประเทศเดียวในแถวๆนี้ที่สินเชื่อโตติดลบ ปริมาณเงินต่อจีดีพีก็ลดลง แสดงว่าสภาวะทางการเงินเริ่มตึงตัว นโยบายการเงิน ควรเข้ามาช่วย โดยไปลดต้นทุนพวกนั้น เพื่อให้มันไม่ตึงเกินไป
ตอนนี้มันตึง ดอกเบี้ยนโยบาย 2.25% แต่เงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.8% ส่วนต่างระหว่างเงินเฟ้อกับดอกเบี้ยค่อนข้างสูงมากในเมืองไทย มันมีช่องที่ควรจะต้องเอาลงมา เราอยู่ในภาวะที่เราไปดูแค่การกระตุ้นระยะสั้น คือ การใช้นโยบายการคลัง คงไม่พอแล้ว เราต้องเน้นทั้ง 3 เรื่องเลย คือ นโยบายการคลัง นโยบายการเงิน และนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจด้วย”
(พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ที่มาภาพ KKP)
@จับตา 3 ปัจจัยหลัก ส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจไทยปี 68
พิพัฒน์ ยังกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2568 มีปัจจัยลบ 3 เรื่องใหญ่ๆที่ต้องติดตาม ได้แก่
เรื่องแรก ภาคการท่องเที่ยว แม้ว่าในปี 2568 ภาคการท่องเที่ยวจะยังเป็นพระเอกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอยู่ แต่ภาคการท่องเที่ยวจะมีส่วนสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยลดลง เนื่องจากขณะนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าใกล้ระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิดแล้ว แรงส่งจากภาคการท่องเที่ยวที่มีต่อเศรษฐกิจจะเบาลงเรื่อยๆ
“ในระยะต่อไปภาคบริการ จะแบกเศรษฐกิจไทยต่อไปไม่ไหวแล้ว ภาคอื่นต้องเข้ามาช่วย ไม่อย่างนั้นเหนื่อยแน่นอน” พิพัฒน์ กล่าว
เรื่องที่สอง ความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย โดยในช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมใหญ่ๆของไทย 3 อุตสาหกรรม คือ รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี โดนแรงกดดันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเจอปัญหาพร้อมกัน ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ซึ่งผู้ผลิตในประเทศปรับตัวไม่ทัน การแข่งขันจากจีน และความต้องการในประเทศที่ลดลง
“อุตสาหกรรมใหญ่ๆ ของเรา เจอปัญหาพร้อมๆกัน มันสะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะใน 2568 นโยบายของทรัมป์ จะยิ่งกดดันความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยเพิ่มขึ้นไปอีก และถ้าเราโดนประเด็นภาษีอีก การแข่งขันที่มีปัญหาอยู่แล้ว ก็จะเหนื่อยมากขึ้นไปอีก เพราะเราไม่รู้ว่าจะมาท่าไหน
แล้วที่บอกว่าการส่งออกเรายังโต ถ้าไปดูจะพบว่า เป็นสินค้าจีนที่ส่งผ่านประเทศไทยไปยังสหรัฐฯ และถ้าสหรัฐฯเขาเห็น การผลิตและการส่งออกตรงนี้ ก็จะได้รับผลกระทบ ยิ่งถ้าจีนทะเลาะกับสหรัฐหนักเข้า สินค้าจีนที่จะ dumping เข้ามาแข่งขันกับสินค้าไทยในประเทศ จะยิ่งเยอะขึ้น” พิพัฒน์ กล่าว
เรื่องที่สาม ความเสี่ยงในภาคการเงินของไทย โดยระดับหนี้ของครัวเรือนและธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้เกิด negative feedback loop คือ เศรษฐกิจไม่ดี ทำให้หนี้เสียสูงขึ้น แบงก์ก็ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ และเมื่อแบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อ ยอดขายรถและยอดขายบ้านไม่ค่อยดี แล้วเศรษฐกิจก็แย่ วนกลับมาใหม่อย่างนี้
พิพัฒน์ ระบุว่า ส่วนปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจนั้น เมื่องบประมาณกลับมาเป็นปกติ บทบาทของรัฐบาลคงมีมากขึ้น โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนเรื่องการท่องเที่ยวจะยังเป็นพระเอกหลักอยู่ โดยการฟื้นตัวของภาคบริการและการท่องเที่ยวน่าจะเป็นเครื่องจักรสำคัญของเศรษฐกิจไทยต่อเนื่องไป
ในขณะที่การลงทุนในประเทศยังคงได้รับผลบวกต่อเนื่อง จากการย้ายฐานการผลิตเข้ามาในไทย โดยเฉพาะจากนักลงทุนจีน ท่ามกลางประเด็นสงครามการค้า
ด้าน ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ขนส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ถึงแนวโน้มการส่งออกในปี 2568 ว่า การส่งออกไทยในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวที่ 2-3% โดยตัวเลขดังกล่าวถือเป็นตัวเลขท้าทาย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนได้ร่วมกันกำหนดขึ้น
“ตัวเลข 2-3% นี้ เราเองมียุทธศาสตร์ที่จะไปให้ถึง เพราะปัจจัยเสี่ยงมีเยอะมาก ทั้งปัญหาเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ปัญหาระเบียบกฎเกณฑ์ในเรื่องโลกร้อน และปัญหาในแง่ว่ามีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เยอะขึ้น ดังนั้น สิ่งที่ธุรกิจไทยต้องทำเร่งด่วน คือ การลดต้นทุน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
เพราะต้นทุนในด้านแรงงาน ก็อย่างที่ได้เห็นแล้วว่า จะต้องมีการปรับค่าแรงขึ้นมา สรุปแล้ว เราจะโดนทั้งในแง่สินค้าจากต่างประเทศที่รุกเข้ามา และเราเองก็ต้องไปแข่งขันกับประเทศอื่นๆด้วย ฉะนั้น เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง” ชัยชาญ กล่าว
ชัยชาญ ระบุด้วยว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องในปี 2568 คือ การย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติเข้าในประเทศไทย โดยเฉพาะสินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แต่สิ่งสำคัญ คือ เราต้องสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการลงทุน และเพิ่มขีดความสามารถและทักษะฝีมือแรงงาน
ชัยชาญ ย้ำว่า “ตัวเลขส่งออก 2-3% เป็นไปได้ ถ้าไม่มีเหตุการณ์อะไรร้ายแรงไปกว่านี้ และต้องติดตามนโยบายทรัมป์ 2.0 อย่างใกล้ชิด”
เหล่านี้เป็นมุมมองของ ‘ภาครัฐ-เอกชน’ เกี่ยวกับทิศทางและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ซึ่งเป็นปีที่ท้าทายมากเป็นพิเศษอีกปีหนึ่ง และคงต้องติดตามกันต่อไปว่า ท่ามกลางสารพัดปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอนต่างๆ เศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะขยายได้ไม่ต่ำกว่า 3% ตามที่รัฐบาลตั้งความหวังไว้หรือไม่