เปิดบันทึก ‘กฤษฎีกา’ ชี้แนวทางลงโทษวินัยฯ ‘ข้าราชการ’ ถูก ‘ป.ป.ช.’ ชี้มูลความผิดฯ ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับผลการดำเนิน ‘คดีอาญา’ ระบุการดำเนินการ 'ทางวินัย’ เป็นมาตรการควบคุม ‘ความประพฤติ’ ข้าราชการ ให้อยู่ใน ‘กรอบระเบียบ’ ต่างจากการดำเนิน ‘คดีอาญา’ ที่ทำเพื่อนำตัว ‘ผู้กระทำผิด’ มา ‘ลงโทษ’
......................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เผยแพร่บันทึกสำนักงานฯ เรื่อง การดำเนินการทางวินัยตามมติคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีที่ศาลมีคำพิพากษาในคดีอาญาแตกต่างไปจาก มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. (เรื่องเสร็จที่ 1342/2567) หลังจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) มีส่งหนังสือหารือในเรื่องดังกล่าว
สำหรับบันทึกสำนักงานฯฉบับดังกล่าว มีเนื้อหาว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้พิจารณาข้อหารือของสำนักงาน ก.ค.ศ. โดยมีผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ (สำนักงาน ก.ค.ศ.) และผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 28 (2) และมาตรา 91 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ได้บัญญัติขอบเขตแห่งหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. พร้อมทั้งกำหนดกระบวนการและขับตอนที่จะต้องดำเนินการไว้โดยชัดแจ้งแล้ว
กล่าวคือ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจไต่สวนและวินิจฉัยชี้มูลความผิดทางอาญาและทางวินัยในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือความผิดที่เกี่ยวข้องกันด้วย และมาตรา 91 บัญญัติว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดแล้ว ถ้ามีมูลความผิดทางอาญา ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุดภายใน 30 วัน เพื่อให้อัยการสูงสุดยื่นฟ้องคดีต่อไป
และถ้ามีมูลความผิดทางวินัยให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งรายงานสำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนภายในสามสิบวันเพื่อให้ดำเนินการทางวินัยต่อไป โดยการดำเนินการทางวินัยและการดำเนินคดีอาญา มีความมุ่งหมายและวิธีพิจารณาที่แตกต่างกัน
การดำเนินการทางวินัยของราชการเป็นมาตรการทางปกครองเพื่อควบคุมความประพฤติของข้าราชการให้อยู่ในกรอบระเบียบ ซึ่งต่างจากการดำเนินคดีอาญาที่เป็นการดำเนินการเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดอาญามาลงโทษตามกฎหมาย และหลักการพิจารณาคดีอาญานั้นโจทก์จะต้องอ้างพยานหลักฐานและนำสืบพิสูจน์ความผิดของจำเลยต่อศาล ให้ปรากฏอย่างชัดแจ้งจนปราศจากข้อสงสัย ศาลจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้
ดังนั้น การดำเนินการทางวินัย จึงไม่จำต้องสอดคล้องหรือถือผลการดำเนินคดีอาญา ซึ่งอาจจะเหมือนหรือแตกต่างกันก็ได้ สุดแต่ข้อเท็จจริงที่จะปรากฏ ทั้งนี้ ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 13) ในเรื่องเสร็จที่ 1406/2559 และความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ในเรื่องเสร็จที่ 1390/2566
เมื่อปรากฎข้อเท็จจริงในกรณีนี้ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้วินิจฉัยชี้มูลว่า นาย ว. และนางสาว ด. ผู้ถูกกล่าวหา มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มีควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ
และฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการและหน่วยงานการศึกษา มติคณะรัฐมนตรีหรือนโยบายรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 84 วรรคสาม และมาตรา 85 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 ซึ่งเป็นความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และความผิดที่เกี่ยวข้องกัน และส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการตามหน้าที่ต่อไป จึงเป็นการดำเนินการตามมาตรา 91 แล้ว
ดังนั้น ในมูลความผิดทางวินัย ผู้บังคับบัญชา จึงมีหน้าที่ต้องดำเนินการต่อไปตามมาตรา 98 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ทั้งนี้ เทียบเคียงจากแนวความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ในเรื่องเสร็จที่ 456/2565 และความเห็นของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองในเรื่องเสร็จที่ 1490-1491/2564
ก่อนหน้านี้ สำนักงาน ก.ค.ศ.ได้ทำหนังสือ ลับ ด่วนที่สุด ที่ ศธ 0206.10/271 ลงวันที่ 11 ก.ย.2567 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอหารือกรณี นาย ว. และนางสาว ด. ข้าราชการสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษา ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลว่ามีความผิดฯ และส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัย ซึ่งศึกษาธิการจังหวัด ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า นาย ว. และนางสาว ด. มีมูลความผิดทางวินัยฯ จึงเห็นควรลงโทษไล่ออกจากราชการ
ต่อมาศึกษาธิการจังหวัด ช. เสนอเรื่องไปยังคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) พิจารณาโทษนาย ว. และนางสาว ด. แต่เนื่องจาก กศจ.เห็นว่า การกระทำของนาย ว. และนางสาว ด. แม้มีความผิดตามฐานความผิดที่ ป.ป.ช.ชี้มูล แต่เนื่องด้วยบุคคลทั้งสอง ไม่เคยกระทำผิดในลักษณะนี้มาก่อน จึงมีมติให้ลงโทษปลดนาย ว. และนางสาว ด. ออกจากราชการ และเมื่อวันที่ 31 มี.ค.2565 ศึกษาธิการจังหวัด ช. สั่งลงโทษปลดนาย ว. และนางสาว ด.ออกจากราชการ
อย่างไรก็ดี ต่อมาวันที่ 15 ธ.ค.2565 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 5 ได้มีคำพิพากษา กรณีอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้องนาย ว. เป็นจำเลยที่ 1 และนางสาว ด. เป็นจำเลยที่ 2 ในมูลความผิดที่ ป.ป.ช.ได้มีมติชี้มูล โดยศาลพิพากษาว่า นาย ด. มีความผิดตามมาตรา 162 (1) และ (4) จำคุก 8 เดือน ปรับ 20,000 บาท ให้รอการลงโทษกำหนด 2 ปี และให้ยกฟ้องนางสาว ด. ต่อมานาย ว. อุทธรณ์ ส่วนโจทก์ไม่อุทธรณ์ ทำให้คดีถึงที่สุดในส่วนนางสาว ด.
กระทั่งต่อมาวันที่ 17 พ.ค.2567 คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากร ทางการศึกษาประจำเขตพื้นที่การศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) วิสามัญ ได้พิจารณาเรื่องนี้ โดยมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า จะต้องลงโทษนาย ว. และนางสาว ด. ตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือต้องลงโทษตามคำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 5 จึงมีมติให้ ก.ค.ศ. ส่งหนังสือไปหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาใน 2 ประเด็น คือ
1.กรณีนาย ว. จะต้องถูกลงโทษทางวินัยตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือต้องดำเนินการทางวินัยตามคำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 5 ที่พิพากษาว่า นาย ว. มีความผิดตามมาตรา 162 (1) และ (4) แห่งประมวลกฎหมายอาญา และ 2.กรณีนางสาว ด. จะต้องถูกลงโทษทางวินัยตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือไม่ เนื่องจากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 5 มีคำพิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุด