"...การลงโทษในคดีอาญา จึงต้องกระทำโดยมีพยานหลักฐานอันประจักษ์แจ้ง หากมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย ฉะนั้น การรับฟังพยานหลักฐานเพื่อจะลงโทษทางวินัยผู้ฟ้องคดี ผู้บังคับบัญชา จึงไม่จำเป็นต้องมีพยานหลักฐานชัดแจ้งโดยปราศจากข้อสงสัยดังเช่นคดีอาญา...."
.......................................
หมายเหตุ : บทความเรื่อง ‘เมื่อคดีอาญายกฟ้อง ... จะขอให้ยกเลิกโทษทางวินัยได้หรือไม่?’ โดยสมฤดี ธัญญสิริ อดีตเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ตีพิมพ์ในวารสารตำรวจ
หลายท่านอาจเคยสงสัยว่า “โทษทางอาญา” กับ “โทษทางวินัย” มีความเกี่ยวข้องหรือมีผลเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันหรือไม่ เช่น หากคดีอาญาศาลยกฟ้อง การพิจารณาโทษทางวินัยจะต้องสอดคล้องกับผลในทางอาญาด้วยหรือไม่
ประเด็นปัญหาข้างต้น... ได้มีผู้นำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง ด้วยเหตุที่ตนถูกดำเนินการทางวินัยและถูกดำเนินคดีอาญา
ผลในทางวินัย คือ ถูกผู้บังคับบัญชามีคำสั่งไล่ออกจากราชการ แต่ผลในทางอาญา คือ คดีถึงที่สุดโดยศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง เช่นนี้ข้าราชการดังกล่าวจะขอให้ผู้มีอำนาจทบทวนหรือแก้ไขคำสั่งลงโทษทางวินัยใหม่ให้สอดคล้องกับผลในทางอาญาได้หรือไม่ ?
เรื่องนี้... เป็นกรณีที่สิบตำรวจโทหนึ่ง (นามสมมติ) ได้ถูกคำสั่งลงโทษทางวินัยไล่ออกจากราชการฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ด้วยเหตุที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น มีและพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านโดยไม่มีเหตุอันควร ซึ่งในระหว่างที่ถูกดำเนินการทางวินัยและถูกดำเนินคดีอาญาไปพร้อมกันนั้น
ในทางวินัยได้ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนเพื่อรอฟังผลการสอบสวน
ในส่วนคดีอาญา ศาลจังหวัดได้มีคำพิพากษาว่าสิบตำรวจโทหนึ่งมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น และฐานมีและพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านโดยไม่มีเหตุอันควร พิพากษาลงโทษจำคุก และศาลอุทธรณ์ภาค ก็ได้พิพากษายืนตามศาลจังหวัด
ในส่วนการดำเนินการทางวินัย สิบตำรวจโทหนึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง เนื่องจากถูกดำเนินคดีอาญาในข้อหาดังกล่าว
จากการรับฟังข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานซึ่งสิบตำรวจโทหนึ่ง ถูกจับกุมในขณะขับรถยนต์อยู่ใกล้สถานที่เกิดเหตุที่คนร้ายใช้อาวุธปืนยิงเข้าไปในบ้านพักของพันตำรวจเอกสอง (นามสมมติ)
และเมื่อตรวจสอบพบว่าสิบตำรวจโทหนึ่งพกอาวุธปืนพร้อมกระสุนขนาดเดียวกัน และพบปลอกกระสุนปืนตกที่กระบะหลังรถยนต์ 1 ปลอก และระหว่างกระจกหน้ากับกระโปรงรถอีก 1 ปลอก โดยผลการตรวจปลอกกระสุนปืนและของกลางจากกองวิทยาการยืนยันว่าตรงกับอาวุธปืนชนิดและขนาดเดียวกับที่พบในตัว สิบตำรวจโทหนึ่ง
จึงเชื่อว่ายิงมาจากอาวุธปืนกระบอกเดียวกัน และน่าจะมีสาเหตุมาจากที่ภริยาของ พันตำรวจเอกสองเป็นนักการเมืองคนละฝ่ายกับสิบตำรวจโทหนึ่ง ผู้มีอำนาจจึงมีคำสั่งลงโทษไล่สิบตำรวจโทหนึ่ง ออกจากราชการฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามมาตรา 79 (5) แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547
สิบตำรวจโทหนึ่งได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งลงโทษต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ แต่อนุกรรมการ ก.ตร. เกี่ยวกับการอุทธรณ์ ทำการแทนคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ได้พิจารณาแล้วมีมติยกอุทธรณ์
ต่อมาปรากฏว่า... ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษายกฟ้องสิบตำรวจโทหนึ่งในข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่น เนื่องจากพยานหลักฐานยังมีเหตุเคลือบแคลงสงสัย จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย
เมื่อคดีถึงที่สุดเช่นนี้ สิบตำรวจโทหนึ่งเห็นว่าการที่ศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องในฐานพยายามฆ่านั้น ถือเป็นข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญที่จะเป็นประโยชน์แก่ตน ซึ่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ บัญญัติให้สิทธิในการขอให้พิจารณาโทษทางวินัยใหม่ได้
ดังนั้น เมื่อตนถูกศาลฎีกาพิพากษาลงโทษเฉพาะในความผิดฐานมีและพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านโดยไม่มีเหตุอันควร ลงโทษจำคุก 4 เดือน และให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี หากจะต้องถูกลงโทษทางวินัยก็ควรเป็นโทษทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรง มิใช่โทษไล่ออกจากราชการ
จึงมีหนังสือถึงคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเพื่อขอให้พิจารณาทบทวนคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการใหม่ โดยอ้างว่า
“ข้อเท็จจริงตามที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงได้เปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญโดยศาลฎีกาได้มีคำพิพากษายกฟ้องในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จึงไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา” ซึ่งอนุกรรมการ ก.ตร. เกี่ยวกับการอุทธรณ์ฯ พิจารณาแล้วมีมติไม่รับคำร้องขอให้พิจารณาอุทธรณ์ใหม่
สิบตำรวจโทหนึ่งจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนมติดังกล่าวของอนุกรรมการ ก.ตร. เกี่ยวกับการอุทธรณ์ฯ
สำหรับการขอให้พิจารณาทบทวนคำสั่งลงโทษทางวินัยใหม่นั้น เมื่อพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มิได้กำหนดหลักเกณฑ์และระยะเวลาในการขอให้พิจารณาใหม่ไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้บังคับตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ซึ่งถือเป็นกฎหมายกลางที่เป็นหลักในการพิจารณาทางปกครองของเจ้าหน้าที่
ทั้งนี้ ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน โดยมาตรา 54 ได้กำหนดหลักเกณฑ์การขอให้พิจารณาใหม่ไว้ว่า “เจ้าหน้าที่อาจเพิกถอนหรือแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งทางปกครองที่พ้นกำหนดอุทธรณ์ได้ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) มีพยานหลักฐานใหม่ อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ
(2) คู่กรณีที่แท้จริงมิได้เข้ามาในกระบวนการพิจารณาทางปกครองหรือได้เข้ามาในกระบวนการพิจารณาครั้งก่อนแล้วแต่ถูกตัดโอกาสโดยไม่เป็นธรรมในการมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาทางปกครอง
(3) เจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจที่จะทำคำสั่งทางปกครองในเรื่องนั้น หรือ
(4) ถ้าคำสั่งทางปกครองได้ออกโดยอาศัยข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายใด และต่อมาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญในทางที่จะเป็นประโยชน์แก่คู่กรณี ซึ่งคู่กรณีจะต้องยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ภายในเก้าสิบวันนับแต่ได้รู้ถึงเหตุที่อาจขอให้พิจารณาใหม่ได้”
ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ผลของคำพิพากษาที่ถึงที่สุดของศาลฎีกานั้น ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญในทางที่จะเป็นประโยชน์แก่คู่กรณีตามมาตรา 54 (4) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ที่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจจะสามารถแก้ไขคำสั่งลงโทษทางวินัยใหม่ได้หรือไม่?
ก่อนจะวินิจฉัยในเนื้อหาของคดี ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยในประเด็นเกี่ยวกับระยะเวลาของการยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ว่า เมื่อศาลฎีกาได้มีคำพิพากษายกฟ้องในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น โดยอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2552 จึงถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่ผู้ฟ้องคดีได้รู้ถึงเหตุที่จะขอให้พิจารณาใหม่
การที่ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือลงวันที่ 29 ธันวาคม 2552 ขอให้คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) พิจารณาทบทวนคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการใหม่ จึงเป็นการยื่นคำขอภายในกำหนดเก้าสิบวันนับแต่ได้รู้ถึงเหตุซึ่งอาจขอให้พิจารณาใหม่ได้ตามมาตรา 54 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
ส่วนประเด็นที่ผู้ฟ้องคดีอ้างเหตุว่า เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้อง ทำให้ข้อเท็จจริงซึ่งเป็นเหตุผลในการลงโทษวินัยอย่างร้ายแรงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหานั้น
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า... แม้พฤติการณ์ที่เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีถูกดำเนินคดีอาญาและดำเนินการทางวินัยจะเป็นการถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น และฐานมีและพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านโดยไม่มีเหตุอันควร
แต่โดยที่กฎหมายว่าด้วยวินัยข้าราชการตำรวจได้กำหนดอำนาจหน้าที่และวิธีการสอบสวนพิจารณาโทษทางวินัยไว้เป็นส่วนหนึ่งแยกต่างหากจากการดำเนินคดีอาญา โดยโทษทางวินัยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาระเบียบวินัยของเจ้าหน้าที่ของรัฐให้เป็นผู้เหมาะสมและสมควรแก่ความไว้วางใจของสาธารณชนที่จะใช้อำนาจรัฐในการจัดทำบริการสาธารณะ
ส่วนการดำเนินคดีอาญาเป็นการดำเนินการเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ และโทษนั้นมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้กระทำผิด
การลงโทษในคดีอาญา จึงต้องกระทำโดยมีพยานหลักฐานอันประจักษ์แจ้ง หากมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย ฉะนั้น การรับฟังพยานหลักฐานเพื่อจะลงโทษทางวินัยผู้ฟ้องคดี ผู้บังคับบัญชา จึงไม่จำเป็นต้องมีพยานหลักฐานชัดแจ้งโดยปราศจากข้อสงสัยดังเช่นคดีอาญา
เมื่อตำรวจภูธรจังหวัดมีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ และอนุกรรมการ ก.ตร. เกี่ยวกับการอุทธรณ์ ทำการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีมติยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี แม้ต่อมาศาลฎีกาจะมีคำพิพากษายกฟ้องในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น แต่การยกฟ้องนั้นก็เนื่องจากพยานหลักฐานยังมีเหตุเคลือบแคลงสงสัย
จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้ผู้ฟ้องคดี (จำเลยในคดีอาญา) ตามมาตรา 227 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งมิได้หมายความว่าผู้ฟ้องคดีไม่ได้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อกล่าวหาแต่อย่างใด
คำพิพากษายกฟ้องของศาลฎีกา จึงมิได้เป็นผลให้ข้อเท็จจริงที่ใช้ในการพิจารณาออกคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ และข้อเท็จจริงที่ใช้พิจารณายกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี เปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญในทางที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟ้องคดี
ในอันที่จะทำให้ผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้เจ้าหน้าที่เพิกถอนหรือแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งลงโทษทางวินัยซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองที่พ้นกำหนดอุทธรณ์ได้ตามมาตรา 54 วรรคหนึ่ง (4) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
ดังนั้น การที่อนุกรรมการ ก.ตร. เกี่ยวกับการอุทธรณ์ ทำการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีมติไม่รับพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาอุทธรณ์ใหม่ของผู้ฟ้องคดี และการมีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 755/2561)
คำวินิจฉัยของศาลปกครองดังกล่าวได้วางบรรทัดฐานว่า ผลแห่งคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลฎีกา ซึ่งยกฟ้องคู่กรณี (จำเลยในคดีอาญา)
เพราะเหตุมีความสงสัยตามสมควรในพยานหลักฐาน มิใช่เป็นข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญในทางที่จะเป็นประโยชน์แก่คู่กรณีตามมาตรา 54 (4) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ที่จะร้องขอให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งลงโทษทางวินัยใหม่ได้
ทั้งนี้ เพราะกระบวนการดำเนินการทางวินัยกับกระบวนการดำเนินคดีอาญานั้น เป็นกระบวนการที่แยกต่างหากจากกัน มีวัตถุประสงค์ในการลงโทษที่ไม่เหมือนกัน จึงมีหลักในการรับฟังข้อเท็จจริงที่ต่างกัน
โดยในคดีอาญาจะต้องรับฟังพยานหลักฐานถึงขนาดที่ต้องชัดแจ้งจนปราศจากข้อสงสัยหรือจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น หากยังมีความเคลือบแคลงสงสัย หรือมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ จะยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย
เพราะโทษทางอาญามีลักษณะเป็นการจำกัดและมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ถูกลงโทษเป็นสำคัญ แต่โทษทางวินัยจะมุ่งหมายให้เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติตนให้อยู่ภายใต้กรอบของระเบียบวินัยของราชการ ดำรงตนอย่างเหมาะสมและให้เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน
ฉะนั้น หากพยานหลักฐานเพียงพอหรือมีมูลที่จะรับฟังได้ว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดวินัย ก็สามารถพิจารณาลงโทษทางวินัยได้แล้ว
อ่านประกอบ :
‘กฤษฎีกา’ชี้แนวลงโทษวินัย‘ขรก.’ถูก‘ป.ป.ช.’ชี้มูลฯ ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับผล‘คดีอาญา’