“กฎหมายมันออกแบบมาไว้อย่างนี้ ในปัจจุบันกฎหมายยังเขียนไปไม่ถึงขนาดนั้น แต่เอาจริงๆ มันก็เป็นอำนาจของผู้บังคับบัญชาอยู่แล้วไม่ต้องแก้กฎหมายเลย โดยผู้บังคับบัญชามีอำนาจสามารถสั่งพักราชการลงโทษให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ได้หลังจากจับสด อย่างไรก็ตามถ้าหากว่าพบเห็นกรณีที่ ผู้บังคับบัญชาไม่ยอมสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือว่าดำเนินการล่าช้า จริงๆแล้วผู้ที่เห็นเรื่องเหล่านี้ ก็สามารถร้องมายัง ป.ป.ช.ได้ว่าผู้บังคับบัญชานั้นดำเนินการล่าช้า”
“เดือน ส.ค. 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.วารินชำราบ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อุบลราชธานี สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ภ.3 อุบลราชธานี ร่วมกันจับกุมตัว นายณฐพล บุญชู นายกเทศมนตรีตำบลคำน้ำแซบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ในข้อหาว่านายณฐพล ไม่ยอมลงนามในเช็คจ่ายเงินค่าติดตั้งกล้องวงจรปิด และมีการเรียกเงินค่าเซ็นอนุมัติจำนวน 50,000 บาท ...ผลจากการเข้าจับกุม พบนายณฐพลฯ กำลังนับเงินของกลางที่ได้ลงประจำวันไว้”
ข้อความข้างต้นคือตัวอย่างของการรายงานข่าวการ “จับสด” หมายถึง ข่าวที่เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมาย บุกเข้าไปจับเจ้าหน้าที่รัฐที่มีเบาะแสว่ามีพฤติกรรมการเรียกรับผลประโยชน์ โดยสามารถจับตัวได้คาหลักฐานเป็นเงินที่มีการเรียกรับหรือทรัพย์สินเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด
ผู้ที่อ่านข่าวเกี่ยวกับการจับสด ส่วนใหญ่มักจะคิด คาดหวัง หรือเข้าใจว่าเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐถูกจับสดคาหลักฐานการกระทำความผิด อย่างน้อยก็ควรจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ไปก่อนโดยทันที จนกว่ากระบวนการสืบสวนจะแล้วเสร็จ หรือจนกว่าจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองได้ เพราะมีการวิจารณ์กันว่าถ้าอยู่ในตำแหน่งเดิม ผู้ที่ถูกจับสดนั้นอาจจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหรือหลักฐานก็เป็นได้
ทว่าหลักการนี้ดูเหมือนว่าจะใช้ไม่ได้กับกรณีการจับสดนักการเมืองท้องถิ่น เพราะแม้ว่าจะมีการจับสดนักการเมืองท้องถิ่นเป็นจำนวนเกือบสิบรายในช่วงตั้งแต่ปี 2565 แต่ข้อเท็จจริงคือมีนักการเมืองท้องถิ่นแค่ 2 รายเท่านั้นที่ถูกให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ หรือออกจากตำแหน่งโดยทันทีหลังเหตุจับสด
ได้แก่ 1.กรณีจับสดนายณัฐพงศ์ แสงสุวรรณ นายกเทศมนตรีเมืองบางแก้ว จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2566 ในข้อหาเรียกรับเงินสินบนผู้ประกอบการ 25% ตามสัญญาโครงการจัดซื้อจอ LCD ซึ่งหลังจากการจับสด ในวันที่ 22 ก.ย. 2566 นายศุภมิตร ชิณศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการก็มีคำสั่งให้นายณัฐพงศ์หยุดปฏิบัติหน้าที่
2.กรณีจับสดนายวีระชาติ รัศมี นายกเทศบาลตลุกดู่ จ.อุทัยธานี ซึ่งมีสถานะเป็นลูกเขยของนายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในข้อหาเรียกเงินผู้รับเหมา 6 แสนบาท ซึ่งหลังจากการจับสดเมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2566 ในวันที่ 25 ต.ค. 2566 นายชาดาก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่านายวีระชาติลาออกจากตำแหน่งนายกเทศบาลแล้ว หลังจากที่ตัวนายชาดาโทรไปบอกให้นายวีระชาติลาออก
ส่วนคดีจับสดนักการเมืองท้องถิ่นรายอื่นๆที่เหลือ ยังไม่พบข้อมูลว่านักการเมืองท้องถิ่นเหล่านี้ถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือยัง หรือบางรายกว่าจะมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ก็กินเวลาไปนานหลายเดือนหลังเหตุจับสด (อ่านประกอบรายงานข่าว)
นี่จึงนำมาซึ่งคำถามสำคัญว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ทำไมเมื่อมีการจับสดนักการเมืองท้องถิ่น จึงไม่มีการสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่โดยทันที
@กฎหมายระบุให้ใช้ดุลยพินิจได้
หากดูตาม พ.ร.บ. สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 มาตรา 90/1 ระบุไว้ตอนหนึ่งระบุว่า
เมื่อนายกองค์การบริหารส่วนตำบล รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล หรือรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลผู้ใดถูกตั้งกรรมการสอบสวนแล้ว นายอำเภอจะสั่งให้ผู้นั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่เพื่อรอฟังผลการสอบสวนก็ได้ หากเห็นว่าการคงอยู่ในหน้าที่ของผู้นั้นต่อไปอาจเกิดความเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลหรือเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง หรือมีพฤติการณ์ที่แสดงว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน หรือจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือเป็นกรณีความผิดที่ปรากฏขึ้นโดยชัดแจ้ง ทั้งนี้ หากผลการสอบสวนปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวไม่มีความผิดและผู้นั้นยังมิได้พ้นจากตำแหน่งไปก่อน ให้นายอำเภอสั่งให้ผู้นั้นกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ และให้ผู้นั้นได้รับเงินเดือนค่าตอบแทน รวมถึงสิทธิประโยชน์อื่นใดในช่วงที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ โดยถือเสมือนว่าผู้นั้นได้ปฏิบัติหน้าที่ตลอดระยะเวลาที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ในกรณีที่ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งไปก่อนปรากฏผลการสอบสวนดังกล่าว การจ่ายเงินเดือน ค่าตอบแทน รวมถึงสิทธิประโยชน์อื่นใด ให้จ่ายจนถึงวันก่อนวันที่พ้นจากตำแหน่ง
การอุทธรณ์คำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคสาม ให้ผู้ที่ได้รับคำสั่งมีสิทธิอุทธรณ์ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งดังกล่าว ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดต้องวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ และเมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดวินิจฉัยเป็นประการใด
ให้นายอำเภอและผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามคำวินิจฉัยนั้น คำวินิจฉัยของผู้ว่าราชการจังหวัดให้เป็นที่สุด (ดูตัวบทประกอบ)
หากวิเคราะห์ถ้อยคำตามกฎหมายดังกล่าว นั่นหมายความว่าต้องเป็นดุลยพินิจของนายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัดเท่านั้นที่จะพิจารณาว่าสมควรให้นายก อบต.ต้องออกจากตำแหน่งหรือไม่
@รอง ผบช.ก. ยืนยันหลังจับสด ควรหยุดปฏิบัติหน้าที่
จากข้อปัญหาดังกล่าว ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยัง พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ที่ยืนยันว่านักการเมืองท้องถิ่นเมื่อถูกจับสดคาหลักฐานแล้ว ควรให้หยุดปฏิบัติหน้าทันที
“ตำรวจเมื่อโดนจับทุจริตก็ให้ออกจากราชการเลยแต่ว่าข้าราชการท้องถิ่นถูกจับทุจริต กลับยังได้ทำงานอยู่ในตำแหน่งเดิมต่อไป ดังนั้นก็ขอให้รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการในเรื่องการนำเอานักการเมืองท้องถิ่นที่โดนจับออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อไม่ให้ไปสร้างความเดือดร้อนกับประชาชน” พล.ต.ต.จรูญเกียรติกล่าว
รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางกล่าวอีกว่ากรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไปจับสด จริงๆแล้วเป็นสิ่งที่หลักฐานมันเห็นชัดกันอยู่แล้ว ดังนั้นฝ่ายผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถสั่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยคู่ขนาน ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไปก่อนได้เลย อย่างไรก็ตามมีหลายกรณีฝ่ายที่ทางคณะกรรมการสอบวินัยนั้นต้องรอผลคดี หรือไม่ก็รอผลให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีผลสอบก่อน
“เพราะถ้าหากยังให้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเดิม หลังจากเหตุจับสด ประชาชนในท้องถิ่นนั้นก็จะได้รับความเดือดร้อน” รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางกล่าวทิ้งท้าย
@เลขาฯ ป.ป.ช. เผยปัญหาอยู่ที่ผู้ใช้กฎหมาย
ทางด้านของนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช.ให้สัมภาษณ์ว่า กรณีดังกล่าว เป็นเรื่องที่ผู้บังคับบัญชาหรือฝ่ายบริหารจะไปว่ากัน ซึ่งตามกฎหมาย ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจที่จะส่งเรื่องให้กับผู้บังคับบัญชาให้มีการพิจารณาได้ทันทีถ้าหากมีการจับสดเกิดขึ้นมา
เลขาธิการ ป.ป.ช.กล่าวต่อไปว่าแต่ส่วนตัวก็เห็นด้วยกับความเห็นของ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ที่มองว่าเมื่อมีการจับสดแล้ว นักการเมืองท้องถิ่นที่ถูกจับสดยังอยู่ในตำแหน่งเดิม อาจจะสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนได้ โดยเฉพาะในคดีฮั้วต่างๆ
“คือกฎหมายมันออกแบบมาไว้อย่างนี้ ในปัจจุบันกฎหมายยังเขียนไปไม่ถึงขนาดนั้น แต่เอาจริงๆมันก็เป็นอำนาจของผู้บังคับบัญชาอยู่แล้วไม่ต้องแก้กฎหมายเลย โดยผู้บังคับบัญชามีอำนาจสามารถสั่งพักราชการลงโทษให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ได้หลังจากจับสด แต่อย่างไรก็ตามถ้าหากว่าพบเห็นกรณีที่ ผู้บังคับบัญชาไม่ยอมสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หลังจากเหตุจับสดเกิดขึ้น หรือว่าดำเนินการล่าช้า จริงๆแล้วผู้ที่เห็นเรื่องเหล่านี้ ก็สามารถร้องมายัง ป.ป.ช.ได้ว่าผู้บังคับบัญชานั้นดำเนินการล่าช้า” นายนิวัติไชยกล่าวและย้ำว่าจริงๆแล้วเรื่องนี้มันก็มีกระบวนการกฎหมายที่บังคับใช้ได้อยู่แล้ว แต่ผู้ใช้กฎหมายนั้นมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน ก็ต้องแยกกันระหว่างผู้ใช้กฎหมายกับการบังคับกฎหมาย
เลขาธิการ ป.ป.ช.กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่าอยากให้ดูตัวอย่างที่ อบต.บางแก้ว จับสดนายกฯวันนี้ พรุ่งนี้ผู้ว่าราชการก็มีคำสั่ง อันนี้ก็ชัดเจนว่าอยู่ที่ผู้ใช้กฎหมาย ไม่ใช่อยู่ที่กฎหมาย ต้องถามว่าทุกวันนี้ผู้ใช้กฎหมายนั้นมีความกล้าที่จะลงโทษผู้ที่ถูกจับสดหรือไม่
@ผู้บริหาร อปท.ย้ำกฎหมายเจ้าหน้าที่รัฐต่างจากนักการเมืองท้องถิ่น
ขณะที่ผู้บริการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รายหนึ่งที่ขอปกปิดชื่อ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่าเหตุผลเรื่องการจับสดแต่ว่าไม่มีการย้ายออกทันทีนั้น ต้องคำนึงถึงประเด็นเรื่องข้อกฎหมายด้วยเช่นกัน คือว่าต้องยอมรับว่าข้าราชการประจำกับนักการเมืองท้องถิ่นนั้นมีกฎหมายที่แตกต่างกันออกไป ข้าราชการตำรวจที่ พล.ต.ต.จรูญเกียรติบอกว่าถูกคำสั่งให้ออกจากราชการ พ้นจากตำแหน่ง ย้ายออกจากที่เดิมทันทีที่มีการจับ ข้าราชการเหล่านี้ก็เป็นข้าราชการประจำ
แต่ว่านักการเมืองท้องถิ่น ซึ่งคือนายก อบต. นายกเทศบาลต่างๆ มันก็จะมีบริบทของการใช้กฎหมายคนละตัวกันอีก ต้องดูตรงนี้ด้วย จะเอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้ ต้องยอมรับว่าข้าราชการประจำนั้นเวลาทำผิด การดำเนินการเพื่อเอาผิด ตรงนี้ก็จะเร็วกว่านักการเมืองท้องถิ่นอยู่แล้ว แต่นักการเมืองท้องถิ่นมันก็จะต้องมีกระบวนการตรวจสอบกันก่อน
ผู้บริหาร อปท.ยังกล่าวถึงบริบทความแตกต่างของนักการเมืองท้องถิ่นกับเจ้าหน้าที่รัฐเพิ่มเติมด้วยว่านักการเมืองท้องถิ่นนั้นจะมาจากกลไกที่ประชาชนเลือกตั้งเข้ามาเพื่อเข้าไปทำหน้าที่แทนตนเองในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นั่นคือ ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ดังนั้นการที่คนกลุ่มนี้ถูกประชาชนเลือกเข้ามา มาจากเสียงประชาชน จะไปดำเนินการกับเขาทางวินัยในแบบเดียวกับข้าราชการประจำทั่วไปที่ทำงานในระบบราชการก็คงไม่ได้
“แต่ตอนนี้ตอนนี้กระบวนการตรวจสอบทางวินัยของนักการเมืองท้องถิ่นนั้นจะเห็นว่ามีการดำเนินการได้อย่างรวดเร็วแล้ว จะเห็นได้จากกรณีนายทรงชัย นกขมิ้น นายก อบต.ราชาเทวะเป็นต้น ส่วนถ้าผู้สื่อข่าวอยากจะสอบถามในประเด็นเรื่องการแก้กฎหมายว่าจะให้มีการสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันทีหลังจับสด ตรงนี้อยากให้ไปถาม ฝ่ายการเมือง ฝ่ายนิติบัญญัติให้เขาให้คำตอบน่าจะดีกว่า” ผู้บริหาร อปท.กล่าวทิ้งท้าย
@สส.ก้าวไกลชี้ ผู้บังคับบัญชาต้องได้รับการคุ้มครอง
ส่วนนายสมชาติ เตชถาวรเจริญ สส.ภูเก็ต พรรคก้าวไกล ในฐานะที่เป็นกรรมาธิการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องนี้นั้นอยู่ที่ผู้ใช้กฎหมายมากกว่า เพราะกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่าตามหลักการผู้ที่อยู่ในตำแหน่งสูงกว่ามีอำนาจจะสั่งผู้ที่ถูกจับสดย้ายออกไปได้เลย แต่บางทีผู้บังคับบัญชาอาจจะมีความกังวลหรือไม่ว่าการออกคำสั่งทางวินัยกับผู้ที่ถูกจับสดไป อันนี้อาจจะทำให้ไปกระทบกับใครบางคนหรือไม่ อาทิเช่นว่านักการเมืองท้องถิ่นคนนั้นเป็นคนของผู้มีอำนาจหรือว่าผู้ที่มีอิทธิพล ดังนั้นการที่ผู้บังคับบัญชาออกคำสั่งทางวินัยอย่างใดอย่างหนึ่งไป อาจทำให้ตัวเองเดือดร้อนด้วย จึงไม่กล้าจะดำเนินการออำคำสั่งทางวินัย
“แต่ความเห็นส่วนตัว ผมก็ยอมรับว่าจริงๆแล้วมันก็ควรจะมีมาตรการปกป้องคุ้มครองผู้บังคับบัญชา ผู้ว่าราชการจังหวัดด้วยเช่นกัน มิฉะนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดก็ไม่กล้าสั่งให้ดำเนินการทางวินัยกับผู้ที่เข้าข่ายว่าจะกระทำความผิดต่างๆ” นายสมชาติกล่าวทิ้งท้าย
อ่านประกอบ:
@คดีจับสดที่มีการออกคำสั่งให้นักการเมืองท้องถิ่นหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือออกจากตำแหน่งโดยทันที
- นายกฯบางแก้ว ชิงตั้งพี่เขยบริหารแทน! ผู้ว่าฯปากน้ำ สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่-ตั้งกก.สอบแล้ว
- 'ชาดา' เผยลูกเขยลาออกนายกเทศบาลตลุกดู่แล้ว เปิดทางประชาชนเลือกตั้งใหม่
@คดีจับสดอื่นๆ ที่ไม่มีคำสั่งให้นักการเมืองท้องถิ่นหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันทีหลังเหตุจับสด
- คลิปเสียงมัด! ผู้ว่าฯ อุบล สั่งนายกเทศฯ คำน้ำแซบ พ้นตำแหน่ง คดีจับสดเรียกเงิน 1.5 หมื่น
- จับสด! นายกเทศฯ คำน้ำแซบ อุบลฯ เรียกเงิน 1.5 หมื่น จ่ายค่าเซ็นเช็คติดตั้งกล้องวงจรปิด
- รวบคาเงินหลักฐาน-ปปป.สนธิกำลัง ป.ป.ท.จับนายก อบต.คลองกิ่ว เรียกสินบนแลกออกใบอนุญาตขุดดิน
- ป.ป.ช.จับสด นายก อบต.หนองม่วงคาของกลาง 2 หมื่นบ.-เผยพฤติการณ์เรียกเงินแลกต่อสัญญาลูกจ้าง
- 3 ป.รวบนายกเทศมนตรี ใน จ.ขอนแก่น เรียกสินบน CCTV 3 แสนบาท เจ้าตัวปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
- 3 ป.รวบนายก อบต.บ้านไทยใน จ.อุบลฯ-เรียก 10% โบนัส ขรก.เป็นเงิน 6.8 หมื่นบาท
- ป.ป.ช.สนธิกำลัง ตร.จับสด นายก อบต.ดอนใหญ่ เรียกเงินต่อสัญญาลูกจ้าง-เจ้าตัวยังปฏิเสธ