"...มีการดำเนินการตรวจสอบรายละเอียดข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงิน ตามที่ปรากฎจากผลการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พบว่า มีรายการโอนเงินในช่วงปี 2555-2558 เป็น จำนวนมาก รวม 416 ครั้ง รวมมูลค่าถึง 839 ล้านบาทเศษ แต่ไม่ปรากฏว่า มีรายการโอนเงินที่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกกล่าวหารายอื่นแต่อย่างใด นอกจากนี้ในช่วงเวลาที่มีการเบิกถอนเงินในช่วงปลายเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคม ก็ไม่พบรายการใดที่มีความสัมพันธ์กับผู้ถูกกล่าวหารายอื่นเช่นกัน ในชั้นนี้ จึงยังรับฟังไม่ได้ว่ามีส่วนร่วมหรือสนับสนุนในการกระทำความผิดตามที่กล่าวหา..."
กรณีที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดผู้บริหารองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บุรีรัมย์ ในคดีทุจริตดำเนินโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ ปีงบประมาณ 2555-2558 โดยร่วมกันจัดหาปุ๋ยอินทรีย์กระสอบละ 150-260 บาท เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินโครงการฯ ในราคากระสอบละ 500 บาท
โดยผู้บริหาร อบจ.บุรีรัมย์ ที่ถูกชี้มูลความผิดในคดีนี้ มี 3 ราย ประกอบไปด้วย นายไตรเทพ งามกมล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รองนายก อบจ.บุรีรัมย์ ปัจจุบันเป็น สส. จังหวัดบุรีรัมย์ เขต 8 พรรคภูมิใจไทย, นายโกวิทย์ นาวีสัมพันธ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง สมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ และ นายอดุลย์ กองชะนะ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมคุณภาพชีวิต แต่การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด
ส่วน นางกรุณา ชิดชอบ อดีตนายก อบจ.บุรีรัมย์ (ภรรยานายเนวิน ชิดชอบ อดีตนักการเมืองชื่อดัง) นั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ตีตกข้อกล่าวหา ไม่มีมูล
- เมียเนวิน รอด! ป.ป.ช.ชี้มูล 'สส.ไตรเทพ' อดีตรองนายกอบจ.บุรีรัมย์-พวก คดีทุจริตซื้อปุ๋ย
- ล้วงมติ ป.ป.ช.ชี้มูลคดีซื้อปุ๋ยบุรีรัมย์ ทำไมเมียเนวินรอด-สจ.โกวิทย์ โดนฟ้องแพ่ง 189 ล.
ในตอนที่แล้ว สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำข้อมูลผลการไต่สวนคดีนี้ ของ ป.ป.ช. ในส่วนของจุดเริ่มต้นโครงการฯ พฤติการณ์ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ก่อนที่จะนำมาสู่มติชี้มูลความผิดผู้เกี่ยวข้องเป็นทางการ มาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
มีข้อเท็จจริงสำคัญว่า
1. ในปีงบประมาณ 2555 - 2559 ก่อนที่จะมีการเสนอโครงการเพื่อขอรับเงินอุดหนุนจาก อบจ.บุรีรัมย์ ให้คณะกรรมการกลั่นกรองโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ ปี 2555-2558 และโครงการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ปี 2555 พิจารณาให้ความเห็นชอบ ของสมาชิก อบจ.บุรีรัมย์ และผู้อำนวยการกองส่งเสริมคุณภาพชีวิต ได้ติดต่อโรงงานผลิตปุ๋ย ให้ผลิตปุ๋ยในราคากระสอบละ 180 บาท เพื่อใช้ในส่งมอบให้กับกลุ่มเป้าหมายที่ยินยอมจะเขียนโครงการขอรับเงินอุดหนุนจาก อบจ.บุรีรัมย์ ในการจัดหาปุ๋ยอินทรีย์ให้กับสมาชิกในกลุ่ม
2. จากนั้น ในการประชาสัมพันธ์โครงการฯ อยู่ในความรับผิดของกองส่งเสริมคุณภาพชีวิต ผู้ถูกกล่าวหารายหนึ่ง จะไปร่วมประชุมเกษตรอำเภอประจำเดือนที่สำนักงานเกษตรจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อประชาสัมพันธ์การแจกปุ๋ยอินทรีย์แบบให้เปล่าเพื่อปรับสภาพดินเตรียมดินก่อนการเพาะปลูก และแจ้งกรอบวงเงินงบประมาณ พร้อมแจกตัวอย่างแบบฟอร์มการเขียนโครงการฯ เพื่อขอรับงบประมาณ
โดยในตัวอย่างของแบบฟอร์มจะกำหนดให้กลุ่มเกษตรกรเขียนเพื่อขอรับการอุดหนุนไปจัดหาปุ๋ยอินทรีย์ให้สมาชิกในกลุ่มและจะระบุราคาปุ๋ยอินทรีย์ไว้ด้วยในราคา กระสอบละ 500 บาท และให้เกษตรอำเภอและเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอที่ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะทำงานเพื่อดำเนินการตามโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ ปี 2555 - 2558 ในแต่ละอำเภอ นำไปประสานกลุ่มเกษตรกรให้มาเขียนโครงการฯ เสนอขอรับงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์
3. หลังจากมีการโอนเงินเข้าบัญชีของกลุ่มเกษตรกรแล้ว ผู้ถูกกล่าวหารายหนึ่ง ได้ใช้ให้ผู้เกี่ยวข้อง ไปเบิกถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของกลุ่มเกษตรกร แล้วนำเงินบางส่วนไปชำระค่าปุ๋ยให้แก่เจ้าของโรงงานผลิตปุ๋ย ส่วนเงินที่เหลือไม่ปรากฏว่าได้นำไปคืนหรือนำไปใช้ในราชการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์แต่อย่างใด
โฟกัสข้อมูลในส่วนตัวเลขเงินที่เหลือจากการซื้อปุ๋ยที่ไม่ปรากฏว่าได้นำไปคืนหรือนำไปใช้ในราชการของ อบจ. บุรีรัมย์แต่อย่างใด
นับรวมยอด 3 ปี คือ ปี 2555 วงเงิน 44,978,250 บาท ปี 2556 วงเงิน 61,510,000 บาท และ ปี 2557 วงเงิน 90,400,000 บาท
จะมีตัวเลขสูงถึง 196,888,250 บาท
ในตอนนี้ จะขอนำเสนอข้อมูลรายละเอียดผลการไต่สวน ในส่วนของกลุ่มเกษตร โรงงานผลิตปุ๋ย ว่าทำไมถึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตโครงการฯ นี้ด้วย และข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับเส้นทางการเงิน จำนวน 839 ล้านบาท ของ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ แต่จากการไต่สวน ไม่พบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการทุจริตด้วย จึงรอดพ้นข้อกล่าวหาไป
มีรายละเอียดสำคัญดังต่อไปนี้
@ เปิดผลสอบ 'สตง.' ชี้ซื้อปุ๋ยแพง กระสอบละ 500 บาท
ในการไต่สวนข้อมูลเกี่ยวกับบทบาทและความเกี่ยวข้องของกลุ่มเกษตรกร ในโครงการฯ นี้ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. มีการนำรายงานผลการสอบสวนของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มาใช้ประกอบการพิจารณา โดยจากการการตรวจสอบสืบสวนของ สตง. ฟังได้ว่า ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555-2557 กลุ่มเกษตรกรที่ขอรับเงินอุดหนุน พบว่า เฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่ขอรับเงินอุดหนุน ได้จัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์กับร้านค้าต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์ ในราคากระสอบละ 500 บาท เต็มตามจำนวนที่ขอรับเงินอุดหนุน และส่วนใหญ่ใด้รับปุ๋ยอินทรีย์ที่ใช้ชื่อเครื่องหมายการค้า "น้อยหน่า" "ทับทิมทอง" และ "ข้องทอง" ที่ผลิตโดยโรงงานแม่โจ้การเกษตร และมีบางกลุ่ม ในปีงบประมาณ 2557 เช่น อำเภอกระสัง อำเภอนางรอง ได้รับปุ๋ยอินทรีย์ที่แสดงฉลากว่า "มูลไก่อัดเม็ด" ใช้เครื่องหมายการค้าว่า "ตราส้ม" ที่ผลิตโดยบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งแต่ละกระสอบมีปริมาณสุทธิกระสอบละ 50 กิโลกรัม โดยในระหว่างปีงบประมาณ 2555 - 2557 องค์บริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บุรีรัมย์ได้อุดหนุนเงินให้กลุ่มเกษตรกรเพื่อจัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์ รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 328,120,000 บาท และทุกกลุ่มจัดซื้อในราคากระสอบละ 500 บาท เป็นจำนวน 656,240 กระสอบ
@ เหตุลงนามเอกสาร เชื่อว่า อบจ.บุรีรัมย์ เป็นผู้จัดทำขึ้น
ส่วนประเด็นกลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มเกษตร รู้หรือรับทราบว่าราคาซื้อขายปุ๋ยอินทรีย์ในท้องตลาดอยู่ที่ประมาณ 180 บาท เหตุใดจึงยื่นแบบฟอร์มขอรับการอุดหนุนงบประมาณตามโครงการดังกล่าว โดยมีการระบุราคาปุ๋ยอินทรีย์ กระสอบละ 400-500 บาท นั้น
จากการไต่สวนฟังได้ว่า เหตุที่กลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มเกษตรกรยื่นแบบฟอร์มขอรับการอุดหนุนงบประมาณตามโครงการดังกล่าว ในปี 2555-2558 โดยมีการระบุราคาปุ๋ยอินทรีย์ไว้ในราคา กระสอบละ 400-500 บาท เนื่องจากเป็นการดำเนินการตามแบบฟอร์มที่กลุ่มผู้ถูกกล่าวหาจัดทำขึ้น ซึ่งกลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มเกษตร เชื่อว่า อบจ.บุรีรัมย์ เป็นผู้จัดทำขึ้น เพื่อใช้ในการอุดหนุนปุ๋ยอินทรีย์ให้แก่กลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบโครงการของกลุ่มเกษตรกรต่าง ๆ ที่เขียนเพื่อเข้าร่วมโครงการ รวมทั้งสิ้น 1,453 โครงการ พบว่า มีเหตุผล วัตถุประสงค์ ราคาปุ๋ยอินทรีย์ต่อกระสอบ ผลที่คาดว่าจะได้รับ เหมือนหรือคล้ายกัน ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกันกับตัวอย่างการเขียนโครงการฯ ที่กำหนดราคาปุ๋ยอินทรีย์ไว้กระสอบละ 400-500 บาท ตามที่กลุ่มผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้กำหนดราคาดังกล่าว โดยไม่ปรากฎรายละเอียดหรือที่มาของข้อมูลที่นำมากำหนดราคาดังกล่าวแต่อย่างใด
ขณะที่จากการไต่สวน เจ้าของโรงงานแม่โจ้การเกษตร ได้รับทราบว่า ในโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ ปีงบประมาณ 2555-2557 เฉพาะปุ๋ยสูตรอายุการหมัก 1 ปี เท่านั้น ในราคากระสอบละ 180 บาท ซึ่งจะเป็นราคารวมคำส่งและลงปุ๋ยให้กลุ่มเกษตรกรในเขตพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ตามแผนงานที่มีการแจ้งไว้ล่วงหน้า ส่วนบริษัททรัพย์รุ่งเรืองธุรกิจเกษตร จำกัด จำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์ทั่วไป ในราคากระสอบละ 150-180 บาท
@ มีส่วนต่างซื้อแพงกว่า 240 บาท
ประกอบกับเจ้าหน้าที่ สตง. ได้สืบค้นทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พบว่า ราคาปุ่ยอินทรีย์ที่ผลิตโดยโรงงานแม่โจ้การเกษตร ในชื่อการค้าหรือเครื่องหมายการค้าว่า "น้อยหน่า" "ข้องทอง" และ"ทับทิมทอง" จำหน่ายในราคากระสอบละ 155-170 บาท ซึ่งได้นำข้อมูลราคาทั้งหมดที่ได้จากการตรวจสอบมาวิเคราะห์ โดยใช้ราคากระสอบละ 200 บาท (คำนวณจากจำนวนเงินที่โอนเข้าบัญชีเจ้าของโรงงานผลิตปุ๋ยที่เป็นค่าปุ๋ยอินทรีย์ในโครงการฯ ปี 2555-2557 ในแต่ละปีเปรียบเทียบจำนวนกระสอบที่จัดส่งปุ๋ยอินทรีย์มีราคาเฉลี่ย) มาคำนวณผลกำไร ร้อยละ 30 ต่อ 2 กระสอบ จะได้ราคาปุ๋ยอินทรีย์ไม่ควรเกิน 260 บาท
ดังนั้น ปุ๋ยอินทรีย์ ในราคากระสอบละ 500 บาท จึงแพงกว่าราคาที่ควรจะเป็นอยู่ที่ 240 บาท
@ กลุ่มเอกชน ไม่ผิดเพราะขายราคาปกติ
ส่วนประเด็นที่ว่าบริษัทเอกชนหรือห้างร้านที่เกี่ยวข้องในการซื้อขายปุ้ยอินทรีย์ ตามโครงการดังกล่าวว่ามีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ปลอมจำหน่ายให้กับกลุ่มเกษตรกรจริงหรือไม่ มีส่วนร่วมหรือสนับสนุนในการกระทำความผิดหรือไม่
จากการไต่สวนเบื้องต้น ยังไม่พบว่าบริษัทเอกชนหรือห้างร้านที่เกี่ยวข้องในการซื้อขายปุ๋ยอินทรีย์ข้างต้นได้เข้ามามีส่วนร่วมหรือสนับสนุนในการกระทำความผิดตามที่กล่าวหาแต่อย่างใด
โดยในปีงบประมาณ 2555-2557 โรงงานแม่โจ้การเกษตร และของผู้ผลิตรายอื่น จะได้รับในราคากระสอบละ 180 -240 บาท
ส่วนในปีงบประมาณ 2558 จะเป็นปุ๋ยอินทรีย์จากผู้ผลิตรายใหม่ คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ดีสิงห์ทวีโชค, ห้างหุ้นส่วนจำกัด พีภูตะวัน 2006, บริษัท สยามออแกรนิค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท ทรัพย์รุ่งเรืองธุรกิจเกษตร จำกัด โดยตกลงกันในราคากระสอบละ 105-180 บาท เท่านั้น ซึ่งเป็นราคาที่จำหน่ายให้กับบุคคลโดยทั่วไป
ขณะที่จากการตรวจสอบข้อมูลปุ๋ยบางยี่ห้อ พบว่ายังไม่มีการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนปุ๋ยอินทรีย์กับกรมวิชาการเกษตร และจากการนำตัวอย่างไปทดสอบโดยกองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร พบว่าตัวอย่างที่นำไปทดสอบไม่ผ่านมาตรฐานตามประกาศกรมวิชาการเกษตร แต่ยังไม่ถือว่าเป็นปุ๋ยปลอมตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 มาตรา 32/2 ส่วนปุ๋ยอินทรีย์ที่ส่งมอบในปีงบประมาณ 2558 จากการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรพลับพลาชัย พบว่าเอกชนบางราย ได้ร่วมกันขายยอินทรีย์ปลอมที่ผลิตขึ้นโดยมีปริมาณอินทรีย์วัตถุรับรองต่ำกว่าร้อยละสิบตามที่ขึ้นทะเบียนไว้หรือที่ระบุไว้ในฉลากด้วย
นอกจากนี้ ในตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. มีการผลขยายผลไปถึงข้อมูลการเสียภาษีและเส้นทางเงินของผู้เกี่ยวข้องคนสำคัญในคดีนี้ คือ เจ้าของโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ 1 ราย และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ อีก 1 ราย
แต่ไม่พบหลักฐานว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตและได้รับผลประโยชน์จากโครงการนี้
@ เจ้าของโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ยันทำการค้าปกติ
โดยในส่วน เจ้าของโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ให้ข้อมูลยืนยันว่า โรงงานของตนมีการผลิตและจำหน่ายปุ๊ยอินทรีย์สำหรับโครงการฯ ในราคากระสอบละ 180 บาท เท่านั้น ซึ่งใกล้เคียงกับราคาที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ทำการตรวจสอบสืบสวนมาแล้ว อีกทั้งจากการตรวจสอบเส้นทางการเงิน ไม่พบว่าได้รับเงินหรือมีธุรกรรมการเงินที่ได้รับนอกเหนือไปจากการรับเงินค่าปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งเป็นปกติทางการค้าของตนเองแต่อย่างใด
@ เส้นทางเงินปริศนา 839 ล.'สจ.'
สำหรับสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ มีการดำเนินการตรวจสอบรายละเอียดข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงิน ตามที่ปรากฎจากผลการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พบว่า มีรายการโอนเงินในช่วงปี 2555-2558 เป็น จำนวนมาก รวม 416 ครั้ง รวมมูลค่าถึง 839 ล้านบาทเศษ
แต่ไม่ปรากฏว่า มีรายการโอนเงินที่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกกล่าวหารายอื่นแต่อย่างใด นอกจากนี้ในช่วงเวลาที่มีการเบิกถอนเงินในช่วงปลายเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคม ก็ไม่พบรายการใดที่มีความสัมพันธ์กับผู้ถูกกล่าวหารายอื่นเช่นกัน ในชั้นนี้ จึงยังรับฟังไม่ได้ว่ามีส่วนร่วมหรือสนับสนุนในการกระทำความผิดตามที่กล่าวหา
แต่ในทางสอบสวนไม่ได้มีการระบุว่า รายการโอนเงินในช่วงปี 2555-2558 เป็น จำนวนมาก รวม 416 ครั้ง รวมมูลค่าถึง 839 ล้านบาท ของ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นธุรกรรมเกี่ยวกับเรื่องอะไร? แหล่งเงินมาจากไหน?
เส้นทางเงิน 839 ล้านบาท ของ สจ. รายนี้ จึงยังคงเป็นปริศนาสำคัญอยู่
ส่วนข้อมูลเชิงลึกอื่น ๆ สำนักข่าวอิศรา จะติดตามมานำเสนอต่อไป
อ่านเรื่องประกอบ :
- พฤติการณ์ 'บิ๊กอบจ.' คดีปุ๋ยฉาวบุรีรัมย์ 328 ล.! สตง.ชี้ปล่อยปละละเลยทำรัฐเสียหาย157 ล.
- ก.เกษตร ขยับสอบปุ๋ยบุรีรัมย์328 ล.! พลิกจว.ตามหา'ผอ.'พัวพันคดีหายตัวปริศนา
- ปลัดอบจ.บุรีรัมย์ แจ้งความ'เมียเนวิน' หลังถูกสตง.ชี้มูลคดีแจกปุ๋ย 328 ล้าน
- ฉบับเต็ม!ผลสอบปุ๋ยอบจ.บุรีรัมย์ เสียหายยับ157ล. ชนวนเหตุ 'เมียเนวิน-พวก' ถูกแจ้งความ
- ปุ๋ยอบจ.บุรีรัมย์ฉาวลามทั้งจังหวัด! สตง.จี้ ปลัดมท. ฟัน 'ผู้ว่าฯ-2รองฯ'
- เปิดตัว 'สจ.' ปุ๋ยบุรีรัมย์328 ล.! สตง.ชี้ส่วนต่าง240 บ./กระสอบ-เจ้าตัวปัดไม่รู้เห็น
- 'ผอ.'พัวพันปุ๋ย อบจ.บุรีรัมย์ ลาออกปริศนา!เกษตรกรถูกฟ้องทวงหนี้หมื่นราย
- ปัดแจง 'หัวคิว' ปุ๋ยบุรีรัมย์! เปิดคำให้การ หจก.ดีสิงห์ฯ ผู้ฟ้องเกษตรกรเบี้ยวเงิน 40 ล.
- ขมวดปม!คดีปุ๋ยบุรีรัมย์ 328 ล. ฟันส่วนต่าง 240 บ.-เอกชนฟ้องชาวบ้านนัวเนีย ใครรับผิดชอบ?
- ซัดคนชั่วร้าย ทำผู้อื่นเดือนร้อน!ผู้ว่าฯบุรีรัมย์ ยันอนุมัติงบปุ๋ย328 ล.โดยสุจริต
- สู้มา 8 ปี ชาวบ้าน 222 ราย ชนะ! ศาลฎีกา สั่งยกคำร้องคดีโกงเงินค่าปุ๋ยบุรีรัมย์ 42 ล.
- ตามความคืบหน้าคดีปุ๋ยบุรีรัมย์ส่วนอาญา ล่าสุด ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหา '3 สจ.ปริศนา' แล้ว