"...กลุ่มเกษตรกรไม่ได้เป็นผู้สั่งซื้อหรือเลือกยี่ห้อของปุ๋ยอินทรีย์ด้วยตนเองแต่อย่างใด และในขั้นตอนการส่งมอบและรับปุ๋ยอินทรีย์ของกลุ่มเกษตรกรที่ขอรับการสนับสนุน ผู้ถูกกล่าวหารายหนึ่ง จัดเตรียมและสั่งการโดยจะเรียกคณะทำงานฯ มาซักซ้อมวิธีการรับมอบ ซึ่งกลุ่มเกษตรกรได้รับปุ๋ยอินทรีย์ไปก่อนที่จะมีการอนุมัติงบประมาณในการอุดหนุนโครงการดังกล่าว..."
คดีทุจริตดำเนินโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ เป็นอีกหนึ่งคดีใหญ่ในพื้นที่ภาคอีสาน
ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ติดตามนำเสนอข่าวเชิงลึกมาตั้งแต่ปี 2559 หลังปรากฏข้อมูล สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบว่า โครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ปี 2555-2557 ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บุรีรัมย์ มีลักษณะการอุดหนุนเงินเพื่อแจกจ่ายสินค้าปุ๋ยให้สมาชิกกลุ่มเกษตรกร โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย วงเงินกว่า 328 ล้านบาท แต่กลับปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้บริหารระดับสูงใน อบจ.บุรีรัมย์ เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสีย ได้ประโยชน์กว่า 157 ล้านบาท จนนำไปสู่การยกเลิกโครงการในปี 2558 ส่งผลให้บริษัทเอกชนที่จำหน่ายปุ๋ยฟ้องร้องดำเนินคดีกับกลุ่มเกษตรกรที่ไม่มีเงินมาชำระค่าปุ๋ยได้ เนื่องจากมีการทำสัญญาซื้อขายกันแล้วก่อนโครงการปี 2558 จะถูกยกเลิก
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า ปัจจุบันที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดผู้บริหารองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บุรีรัมย์ ในคดีทุจริตดำเนินโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ ปีงบประมาณ 2555-2558 โดยร่วมกันจัดหาปุ๋ยอินทรีย์กระสอบละ 150-260 บาท เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินโครงการฯ ในราคากระสอบละ 500 บาท
โดยผู้บริหาร อบจ.บุรีรัมย์ ที่ถูกชี้มูลความผิดในคดีนี้ มี 3 ราย ประกอบไปด้วย นายไตรเทพ งามกมล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รองนายก อบจ.บุรีรัมย์ ปัจจุบันเป็น สส. จังหวัดบุรีรัมย์ เขต 8 พรรคภูมิใจไทย, นายโกวิทย์ นาวีสัมพันธ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง สมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ และ นายอดุลย์ กองชะนะ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมคุณภาพชีวิต อย่างไรก็ดี การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด
ส่วน นางกรุณา ชิดชอบ อดีตนายก อบจ.บุรีรัมย์ (ภรรยานายเนวิน ชิดชอบ อดีตนักการเมืองชื่อดัง) นั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ตีตกข้อกล่าวหา ไม่มีมูล
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้การยืนยันข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลการไต่สวนคดีนี้ ของ ป.ป.ช. ก่อนที่จะนำมาสู่มติชี้มูลความผิดผู้เกี่ยวข้องเป็นทางการ
มีรายละเอียดสำคัญดังต่อไปนี้
@ จุดเริ่มต้นโครงการฯ
เกิดขึ้นในช่วงปี 2555 นางกรุณา ชิดชอบ นายก อบจ.บุรีรัมย์ ในขณะนั้น ได้แถลงนโยบายการบริหารงานต่อสภา อบจ.บุรีรัมย์ ว่าจะจัดตั้งกองทุนส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ 100 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการฝึกอาชีพทุก ๆ สาขา และโครงการจัดหาแหล่งทุนและวัสดุอุปกรณ์เพื่อการประกอบอาชีพ โดยจะเปิดโอกาสให้ประชาชน กลุ่มวิชาชีพ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในฐานะตัวแทนประชาชนทุกระดับ เข้ามามีส่วนร่วม
ในปีงบประมาณ 2555 - 2559 ก่อนที่จะมีการเสนอโครงการเพื่อขอรับเงินอุดหนุนจาก อบจ.บุรีรัมย์ ให้คณะกรรมการกลั่นกรองโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ ปี 2555-2558 และโครงการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ปี 2555 พิจารณาให้ความเห็นชอบ ของสมาชิก อบจ.บุรีรัมย์ และผู้อำนวยการกองส่งเสริมคุณภาพชีวิต ได้ติดต่อโรงงานแม่โจ้การเกษตร ให้ผลิตปุ๋ยในราคากระสอบละ 180 บาท เพื่อใช้ในส่งมอบให้กับกลุ่มเป้าหมายที่ยินยอมจะเขียนโครงการขอรับเงินอุดหนุนจาก อบจ.บุรีรัมย์ ในการจัดหาปุ๋ยอินทรีย์ให้กับสมาชิกในกลุ่ม
จากนั้น ในการประชาสัมพันธ์โครงการฯ อยู่ในความรับผิดของกองส่งเสริมคุณภาพชีวิต ผู้ถูกกล่าวหารายหนึ่ง จะไปร่วมประชุมเกษตรอำเภอประจำเดือนที่สำนักงานเกษตรจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อประชาสัมพันธ์การแจกปุ๋ยอินทรีย์แบบให้เปล่าเพื่อปรับสภาพดินเตรียมดินก่อนการเพาะปลูก และแจ้งกรอบวงเงินงบประมาณ พร้อมแจกตัวอย่างแบบฟอร์มการเขียนโครงการฯ เพื่อขอรับงบประมาณ
โดยในตัวอย่างของแบบฟอร์มจะกำหนดให้กลุ่มเกษตรกรเขียนเพื่อขอรับการอุดหนุนไปจัดหาปุ๋ยอินทรีย์ให้สมาชิกในกลุ่มและจะระบุราคาปุ๋ยอินทรีย์ไว้ด้วยในราคา กระสอบละ 500 บาท และให้เกษตรอำเภอและเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอที่ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะทำงานเพื่อดำเนินการตามโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ ปี 2555 - 2558 ในแต่ละอำเภอ นำไปประสานกลุ่มเกษตรกรให้มาเขียนโครงการฯ เสนอขอรับงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์
@ โครงการฯ ปี 2555
ในปีงบประมาณ 2555 มีกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกร เขียนโครงการขอรับเงินอุดหนุนเพื่อนำไปซื้อปุ๋ยอินทรีย์ตามตัวอย่างแบบฟอร์มที่ผู้ถูกกล่าวหา 3 ราย ได้เตรียมการไว้ จำนวน 361 กลุ่ม เป็นเงิน จำนวน 65,220,000 บาท เพื่อนำไปซื้อปุ๋ยอินทรีย์ในราคากระสอบละ 500 บาท จำนวน 130,440 กระสอบ
จากนั้น โรงงานแม่โจ้การเกษตร จะทำการจัดส่งปุ๋ยอินทรีย์ไปให้กลุ่มเกษตรกร ตามที่ผู้ถูกกล่าวหารายหนึ่ง หรือเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอที่เป็นคณะทำงานประสานแจ้งให้ไปจัดส่งเป็นแห่งๆ ไป ตามภูมิลำเนาของกลุ่มเกษตรกร โดยที่กลุ่มเกษตรกรไม่ได้เป็นผู้สั่งซื้อหรือเลือกยี่ห้อของปุ๋ยอินทรีย์ด้วยตนเอง
ขณะที่ ในการส่งมอบและรับปุ๋ยอินทรีย์ของกลุ่มเกษตรกรที่ขอรับการสนับสนุน ผู้ถูกกล่าวหารายหนึ่ง จะจัดเตรียมและสั่งการคณะทำงานฯ มาซักซ้อมวิธีการรับมอบถ่ายรูปโดยไม่ต้องตั้งวันที่ ให้ปรากฎในรูปถ่ายประกอบการเขียนรายงานผลการดำเนินงาน เพื่อมิให้ผู้อื่นทราบว่ากลุ่มเกษตรกรได้รับปุ๋ยอินทรีย์ไปแล้วตั้งแต่ก่อนที่จะมีการอนุมัติงบประมาณในการอุดหนุนโครงการดังกล่าว
วันที่ 24 กันยายน 2555 ผู้ถูกกล่าวหารายหนึ่ง ขออนุมัติให้เบิกจ่ายเงินอุดหนุนให้กับกลุ่มเกษตรกรที่ให้ขอรับเงินอุดหนุนเพื่อซื้อปุ๋ยอินทรีย์ จำนวน 361 กลุ่ม ซึ่งได้มีการอนุมัติให้เบิกจ่ายเงินแก่กลุ่มเกษตรกรต่าง ๆ จำนวน 65,220,000 บาท ในวันที่ 28 กันยายน 2555 และโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของกลุ่มเกษตรกร ในวันที่ 1 ตุลาคม 2555
ระหว่างวันที่ 2 - 5 ตุลาคม 2555 ผู้ถูกกล่าวหารายหนึ่ง ได้ให้ผู้เกี่ยวข้องและผู้ถูกกล่าวหาบางราย สั่งการให้มีการถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของกลุ่มเกษตรกร เป็นเงินจำนวนประมาณ 62,870,600 บาท แล้วนำเงินบางส่วนไปชำระค่าปุ๋ยให้แก่ เจ้าของโรงงานแม่โจ้การเกษตร เป็นเงินจำนวน 17,892,350 บาท
ส่วนเงินที่เหลือประมาณ 44,978,250 บาท ไม่ปรากฏว่าได้นำไปคืนหรือนำไปใช้ในราชการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์แต่อย่างใด
@ โครงการฯ ปี 2556
ในปีงบประมาณ 2556 กลุ่มเกษตรกรในจังหวัดบุรีรัมย์ขอรับเงินอุดหนุนเพื่อนำไปซื้อปุ๋ยอินทรีย์ตามตัวอย่างแบบฟอร์มที่ผู้ถูกกล่าวหา 3 ราย ได้เตรียมการไว้ จำนวน 440 กลุ่ม เป็นเงินจำนวน 94,000,000 บาท เพื่อนำไปซื้อปุ๋ยอินทรีย์ในราคากระสอบละ 500 บาท คิดเป็นจำนวน 188,000 กระสอบ
จากนั้น โรงงานแม่โจ้การเกษตร จะทำการจัดส่งปุ๋ยอินทรีย์ไปให้กลุ่มเกษตรกร และในขั้นตอนการส่งมอบและรับปุ๋ยก็เป็นลักษณะเช่นเดียวกับปี 2555 ที่ผู้ถูกกล่าวหาบางราย จัดเตรียมและสั่งการคณะทำงานฯ มาซักซ้อมวิธีการรับมอบปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งกลุ่มเกษตรกรได้รับปุ๋ยอินทรีย์ไปก่อนที่จะมีการอนุมัติงบประมาณในการอุดหนุนโครงการ จำนวน 440 กลุ่ม ซึ่งได้มีการอนุมัติให้เบิกจ่ายเงินแก่กลุ่มเกษตรกรต่าง ๆ จำนวน 94,000,000 บาท ในวันที่ 27 กันยายน 2556 และโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของกลุ่มเกษตรกรในวันเดียวกัน
ระหว่างวันที่ 27 กันยายน 2556 ถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2556 ผู้ถูกกล่าวหารายหนึ่ง ได้ใช้ให้ผู้เกี่ยวข้องและผู้ถูกกล่าวหารายหนึ่ง สั่งการให้มีการเบิกถอนเงินออกจากบัญชีเงินผ่ากของกลุ่มเกษตรกร เป็นเงินจำนวนไม่น้อยกว่า 93,470,000 บาท แล้วนำเงินบางส่วนไปชำระค่าปุ๋ยให้แก่เจ้าของโรงงานแม่โจ้การเกษตร เป็นเงินจำนวน 31,960,000 บาท
ส่วนเงินที่เหลือจำนวนไม่น้อยกว่า 61,510,000 บาท ไม่ปรากฏว่าได้นำไปคืนหรือนำไปใช้ในราชการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์แต่อย่างใด
@ โครงการฯ ปี 2557
ในปีงบประมาณ 2557 กลุ่มเกษตรกรในจังหวัดบุรีรัมย์ที่ผู้ถูกกล่าวหา 2 ราย ได้เตรียมการไว้จำนวน 313 กลุ่ม ขอรับเงินอุดหนุนเพื่อนำไปซื้อปุ๋ยอินทรีย์ เป็นเงินจำนวน 168,800,000 บาท เพื่อนำไปซื้อปุ๋ยอินทรีย์ในราคากระสอบละ 500 บาท จำนวน 337,600 กระสอบ
ส่วนผู้ถูกกล่าวหารายหนึ่ง ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเนื่องจากได้ลาออกจากตำแหน่งรองนายกฯ แล้ว จากนั้นโรงงานแม่โจ้การเกษตร ผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งได้รับการติดต่อประสานจากผู้ถูกกล่าวหา 2 ราย ไว้ก่อนแล้ว จะทำการจัดส่งปุ๋ยอินทรีย์ไปให้กลุ่มเกษตรกร ตามที่ผู้ถูกกล่าวหารายหนึ่ง หรือเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอที่เป็นคณะทำงานประสานแจ้งให้ไปจัดส่งเป็นแห่งๆ ไป ตามภูมิลำเนาของกลุ่มเกษตรกร โดยที่กลุ่มเกษตรกรไม่ได้เป็นผู้สั่งซื้อหรือเลือกยี่ห้อของปุ๋ยอินทรีย์ด้วยตนเองแต่อย่างใด และในขั้นตอนการส่งมอบและรับปุ๋ยอินทรีย์ของกลุ่มเกษตรกรที่ขอรับการสนับสนุน ผู้ถูกกล่าวหารายหนึ่ง จัดเตรียมและสั่งการโดยจะเรียกคณะทำงานฯ มาซักซ้อมวิธีการรับมอบ ซึ่งกลุ่มเกษตรกรได้รับปุ๋ยอินทรีย์ไปก่อนที่จะมีการอนุมัติงบประมาณในการอุดหนุนโครงการดังกล่าว
วันที่ 27 สิ่งหาคม 2557 ผู้ถูกกล่าวหารายหนึ่ง จะขออนุมัติให้เบิกจ่ายเงินอุดหนุนให้กับกลุ่มเกษตรกรที่ได้ซักนำให้เขียนโครงการขอรับเงินอุดหนุนเพื่อซื้อปุ๋ยอินทรีย์ จำนวน 313 กลุ่ม ซึ่งได้มีการอนุมัติให้เบิกจ่ายเงินแก่กลุ่มเกษตรกรต่าง ๆ จำนวน 169,800,000 บาท ในวันเดียวกัน และโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของกลุ่มเกษตรกรในวันที่ 29 สิงหาคม 2557
หลังจากมีการโอนเงินเข้าบัญชีของกลุ่มเกษตรกรแล้ว ผู้ถูกกล่าวหารายหนึ่ง ได้ใช้ให้ผู้เกี่ยวข้อง ไปเบิกถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของกลุ่มเกษตรกร เป็นเงินจำนวนไม่น้อยกว่า 131,800,000 บาท บาท แล้วนำเงินบางส่วนไปชำระค่าปุ๋ยให้แก่เจ้าของโรงงานแม่โจ้การเกษตร เป็นเงินจำนวน 41,400,000 บาท
ส่วนเงินที่เหลือจำนวนไม่น้อยกว่า 90,400,000 บาท ไม่ปรากฏว่าได้นำไปคืนหรือนำไปใช้ในราชการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์แต่อย่างใด
@ โครงการฯ ปี 2558
ในปีงบประมาณ 2558 ผู้ถูกกล่าวหา 2 ราย ได้ติดต่อกับผู้ผลิตปุ๋ยรายใหม่ หลายแห่ง ในราคากระสอบละ 115-180 บาท ซึ่งยินยอมจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์ในราคากระสอบละ 105-180 บาท เพื่อใช้ในส่งมอบให้กับกลุ่มเป้าหมายที่ยินยอมจะเขียนโครงการขอรับเงินอุดหนุนจาก อบจ.บุรีรัมย์ในการจัดหาปุ๋ยอินทรีย์ให้กับสมาชิกในกลุ่ม
จากนั้นในการประชาสัมพันธ์โครงการ (ขั้นตอนที่ 3) และอยู่ในความรับผิดของกองส่งเสริมคุณภาพชีวิตเพื่อหากลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ฯ ผู้ถูกกล่าวหารายหนึ่ง ได้ประสานผ่านสำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อเรียกประชุมกลุ่มเป้าหมายโดยตรง และแจ้งว่าในปี 2558 ผู้จำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์จะลดราคาลงเหลือกระสอบละ 400 บาท และได้มอบตัวอย่างแบบฟอร์มการเขียนโครงการให้เกษตรอำเภอเพื่อใช้สำหรับเขียนโครงการฯเสนอขอรับงบประมาณจัดหาปุ๋ยอินทรีย์จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์
โดยในปีงบประมาณ 2558 มีกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดบุรีรัมย์ เขียนโครงการขอรับเงินอุดหนุนเพื่อนำไปซื้อปุ๋ยอินทรีย์ตามตัวอย่างแบบฟอร์มที่ผู้ถูกกล่าวหา 2 ราย ได้เตรียมการไว้ จำนวน 339 กลุ่ม เป็นเงินจำนวน 203,000,000 บาท แต่มีกลุ่มเป้าที่จัดส่งเอกสารครบถ้วนเพียงจำนวน 337 กลุ่ม รวมเงินที่ขอรับการอุดหนุนจำนวน 201,378,000 บาท เพื่อนำไปซื้อปุ๋ยอินทรีย์ในราคากระสอบละ 400 บาท คิดเป็นจำนวนปุ๋ยอินทรีย์ที่จะจัดซื้อตามที่ขอรับการอุดหนุน 503,445 กระสอบ
จากนั้น กลุ่มผู้ผลิตปิยอินทรีย์รายใหม่ ซึ่งเข้ามาจำหน่ายปุ๋ยแทนเจ้าของโรงงานแม่โจ้ จะทำการจัดส่งปุ๋ยอินหรีย์ไปให้กลุ่มเกษตรกร ตามที่ผู้ถูกกล่าวหารายหนึ่ง หรือเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอที่เป็นคณะทำงานประสานแจ้งให้ไปจัดส่งเป็นแห่งๆ ไป ตามภูมิลำเนาของกลุ่มเกษตรกร โดยที่กลุ่มเกษตรกรไม่ได้เป็นผู้สั่งซื้อหรือเลือกยี่ห้อของปุ๋ยอินทรีย์ด้วยตนเองแต่อย่างใด และในการส่งมอบและรับปุ๋ยอินทรีย์นั้น ผู้ถูกกล่าวหารายหนึ่ง เป็นคนจัดเตรียมและสั่งการโดยจะเรียกคณะทำงานฯ มาซักซ้อมวิธีการรับมอบเช่นเดียวกับปีก่อนๆ เพื่อมิให้ผู้อื่นทราบว่ากลุ่มเกษตรกรได้รับปุ๋ยอินทรีย์ไปแล้วตั้งแต่ก่อนที่จะมีการอนุมัติงบประมาณในการอุดหนุนโครงการดังกล่าว
แต่โครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ในปีนี้ อบจ.บุรีรัมย์ไม่ได้มีการอุดหนุนเงินให้กับกลุ่มเกษตรกร ตามที่ผู้ถูกกล่าวหา 2 ราย เตรียมการไว้ เนื่องจากผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ มีหนังสือถึงนายก อบจ.บุรีรัมย์ สั่งการให้ อบจ.บุรีรัมย์ ชะลอการดำเนินการโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ ปีงบประมาณ 2558 ไว้ก่อน และอบจ.บุรีรัมย์ก็ไม่ได้ดำเนินโครงการดังกล่าวต่อแต่อย่างใด
ทั้งหมดนี้ คือ ข้อมูลรายละเอียดผลการไต่สวนคดีนี้ ของ ป.ป.ช. ในส่วนของจุดเริ่มต้นโครงการฯ พฤติการณ์ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ก่อนที่จะนำมาสู่มติชี้มูลความผิดผู้เกี่ยวข้องเป็นทางการ
อย่างไรก็ดี จากข้อมูลที่นำเสนอไป โฟกัสข้อมูลในส่วนตัวเลขเงินที่เหลือจากการซื้อปุ๋ยที่ไม่ปรากฏว่าได้นำไปคืนหรือนำไปใช้ในราชการของ อบจ. บุรีรัมย์แต่อย่างใด
นับรวมยอด 3 ปี คือ ปี 2555 วงเงิน 44,978,250 บาท ปี 2556 วงเงิน 61,510,000 บาท และ ปี 2557 วงเงิน 90,400,000 บาท
จะมีตัวเลขสูงถึง 196,888,250 บาท เลยทีเดียว
ส่วนข้อมูลเชิงลึกอื่น ๆ สำนักข่าวอิศรา จะติดตามมานำเสนอต่อไป