"...เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดหาปุ๋ยให้เกษตรกรหรือไม่ นายโกวิทย์ ตอบว่า "ทุก สจ.ก็เข้าไปดำเนินการตามโควต้าของตนเอง บุรีรัมย์มีอยู่ 23 อำเภอ สจ.ก็มีหลายคน ส่วนของผมก็ดำเนินการตามขั้นตอน แต่ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวเรื่องการซื้อขายอะไรด้วยเลย..."
"ในวันนี้ มีจำเลย ซึ่งเป็นกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร จำนวน 100 คน เดินทางมาฟังคำพิพากษาของศาลฎีกา เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด ศาลฯ จึงขอความร่วมมือให้ชาวบ้านเดินทางมาจำนวนไม่มากนัก ขณะที่ในระหว่างการต่อสู้คดีที่ผ่านมา มีจำเลยเสียชีวิตไปแล้ว 3 ราย หลังได้รับฟังคำพิพากษาของศาลฎีกา จำเลยหลายคนร้องไห้แสดงความดีใจที่ได้รับชัยชนะในวันนี้ หลังจากต่อสู้คดีมายาวนานเกือบ 8 ปี"
คือ ฉากสรุปสุดท้ายในคดีความแพ่ง ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) ดีสิงห์ทวีโชค เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร จำนวน 222 ราย จากพื้นที่ 5 อำเภอในจังหวัดบุรีรัมย์ ได้แก่ อำเภอโนนสุวรรณ ปะคำ นางรอง หนองกี่ และหนองหงส์ ให้ชดใช้ค่าปุ๋ยภายใต้โครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ ปี พ.ศ.2558 รวมเป็นเงินกว่า 42 ล้านบาท โดยเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 ศาลจังหวัดนางรอง ได้นัดฟังคำพิพากษาของศาลฎีกา ซึ่งเห็นว่า ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 หยิบยกประเด็นปัญหาว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาซื้อขายปุ๋ยขึ้นวินิจฉัยโดยที่ศาลชั้นต้นมิได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัยชอบหรือไม่นั้น ไม่เป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง และข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการขออนุญาตฎีกาในคดีแพ่ง พ.ศ. 2558 ข้อ 13 อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับแก่การฎีกาคดีผู้บริโภคโดยอนุโลม ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 51
จึงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฎีกา ยกคำร้อง และไม่รับฎีกาของโจทก์ คืนค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาทั้งหมดแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นในชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ
สำหรับที่มาที่ไปคดีนี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า เป็นผลสืบเนื่องมาจากการดำเนินงานโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ ดำเนินการโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)บุรีรัมย์ โดยให้การสนับสนุนปัจจัยการผลิตแจกปุ๋ยฟรีให้แก่กลุ่มเกษตรกรในจังหวัดบุรีรัมย์เป็นโครงการต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2555-2558 แต่มาเกิดปัญหาขึ้นจนเป็นเหตุให้เกิดการฟ้องร้องสำหรับการดำเนินโครงการดังกล่าวในปี 2558 เนื่องจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้ามาตรวจสอบพบความไม่โปร่งใสของโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ปี 2555-2557 ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ไม่เซ็นอนุมัติงบประมาณให้แก่ อบจ. บุรีรัมย์ และได้สั่งให้ อบจ.ทบทวนโครงการดังกล่าว ซึ่งในระหว่างนั้นทางบริษัทปุ๋ยได้นำปุ๋ยมาส่งให้เกษตรกรและให้เซ็นชื่อรับปุ๋ยไว้ก่อนเพื่อนำไปเบิกเงินกับ อบจ.เจ้าของโครงการ ซึ่งต่อมาทางกลุ่มเกษตรกรได้ถูกหจก. ดีสิงห์ทวีโชค ฟ้องในข้อหาผิดสัญญาซื้อขาย โดยมีการยื่นฟ้องเกษตรกร จำนวน 222 รายในปี 2559
ต่อมาในช่วงปี 2559-2560 ศาลจังหวัดนางรอง ได้มีการไกล่เกลี่ยหลายครั้ง แต่ไม่ได้ข้อยุติ เนื่องจากฝ่ายเอกชน ยืนยันจะเรียกค่าเสียหายเป็นเงินกว่า 42 ล้านบาท แต่กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรไม่มีเงินที่จะจ่ายให้จึงเดินหน้าสู้คดี อีกทั้งยังเห็นว่าการดำเนินโครงการไม่มีความเป็นธรรมของหน่วยงานรัฐ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นกลับไม่มีใครยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งได้พยายามร่วมมือกันเรียกร้องความยุติธรรมกันเองผ่านช่องทางต่างๆตามลำดับทั้งการเรียกร้องผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดบุรีรัมย์ ศูนย์ช่วยเหลือประชาชนทำเนียบรัฐบาล ก่อนที่จะ ในเวลาต่อมาได้รับความช่วยเหลือจากศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระทรวงยุติธรรม และสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์
โดยกลุ่มชาวบ้าน ได้ต่อสู้คดีนี้มาตั้งแต่ปี 2558-2565 รวมระยะเวลากว่า 8 ปี
ส่วนความคืบหน้าคดีอาญานั้น ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลจาก แหล่งข่าวสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า เกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์นั้น ที่มีร้องเรียนและถูกตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นั้น ป.ป.ช. รับคดีนี้เข้าสู่กระบวนการไต่สวนเป็นทางการนานแล้ว และได้มีการแจ้งข้อกล่าวหา ให้ผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งมีตำแหน่งเป็น สมาชิกสภาจังหวัด (สจ.) จำนวน 3 ราย เพื่อให้ใช้สิทธิชี้แจงข้อกล่าวหาไปแล้ว
อย่างไรก็ดี กระบวนการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหายังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่า ติดภารกิจต่อสู้คดีความทางแพ่งอยู่ แต่คาดว่ากระบวนการส่วนนี้ น่าจะแล้วเสร็จไม่นานนัก จากนั้นน่าจะสามารถสรุปสำนวนการไต่สวนคดีนี้ เสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหญ่ พิจารณาได้เป็นทางการในช่วงกลางปีนี้
ขณะที่ในการตรวจสอบข้อมูลโครงการ ส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ นั้น ในช่วงเดือนสิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา เคยมีโอกาสสัมภาษณ์ นายโกวิทย์ นาวีสัมพันธ์ สมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ ที่ปรากฏชื่อในรายงานผลการตรวจสอบของ สตง. ว่า เข้ามาเกี่ยวข้องมีส่วนได้เสียในโครงการฯ นี้ ในการดำเนินการจัดหาปุ๋ยอินทรีย์และเบิกถอนเงินแทนกลุ่มเกษตรกร และได้รับผลประโยชน์จากส่วนต่างของราคาปุ๋ยอินทรีย์ที่แพงกว่าท้องตลาด เป็นเงิน 240 บาท/กระสอบ
เบื้องต้น นายโกวิทย์ นาวีสัมพันธ์ สมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ ยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า "ไม่ทราบเรื่องที่เกิดขึ้น"
พร้อมระบุว่า "ก่อนหน้านี้ ได้รับการประสานแค่ให้เข้าไปเป็นพยานเท่านั้น หนังสือ สตง. หรือ บันทึกแจ้งความอะไรไม่เคยทราบ"
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดหาปุ๋ยให้เกษตรกรหรือไม่ นายโกวิทย์ ตอบว่า "ทุก สจ.ก็เข้าไปดำเนินการตามโควต้าของตนเอง บุรีรัมย์มีอยู่ 23 อำเภอ สจ.ก็มีหลายคน ส่วนของผมก็ดำเนินการตามขั้นตอน แต่ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวเรื่องการซื้อขายอะไรด้วยเลย"
เมื่อถามย้ำว่า แต่ในหนังสือ สตง. ระบุชื่อ สจ.โกวิทย์ และพฤติการณ์ไว้ชัดเจน นายโกวิทย์ ตอบว่า "ผมไม่รู้อะไรด้วยเลย ไม่รู้มีใครวางแผน สับขาหลอกผมหรือเปล่า เพราะก่อนหน้านี้เห็นบอกว่าจะมีการสอบวินัยอะไรนิดหน่อยเท่านั้น"
เมื่อถามว่า ใครวางแผนอะไร นายโกวิทย์ ตอบว่า "ไม่รู้เหมือนกัน ตอนนี้ ผมยังไม่รู้เรื่องเลย ขอไปตรวจสอบข้อมูลก่อนแล้วจะติดต่อกลับมาอีกครั้ง"
จากนั้น นายโกวิทย์ ได้ขอวางสายโทรศัพท์ไป
ต่อมาไม่นานนัก นายโกวิทย์ ได้ติดต่อกลับมา พร้อมระบุว่า ได้เห็นข่าวที่สำนักข่าวอิศรา ลงแล้ว และมีชื่อของตนเองปรากฎอยู่ด้วย และยืนยันว่า ไม่เคยทราบเรื่องนี้มาก่อนเหมือนเดิม
"เรื่องใหญ่ขนาดนี้ทำไมถึงไม่มีใครแจ้งอะไรผมเลย และผมจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป"
เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการขายปุ๋ยให้กับกลุ่มเกษตรกร ในโครงการนี้ หรือไม่
นายโกวิทย์ ตอบว่า "ถ้าจะเกี่ยวก็เกี่ยวกันทั้งหมด เพราะการดำเนินงานโครงการนี้เป็นไปตามนโยบายที่นายกอบจ.บุรีรัมย์ แถลงไว้ต่อสภา ตอนเข้ารับตำแหน่งว่าจะทำโครงการอะไรบ้าง"
เมื่อถามย้ำอีกครั้งว่า ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการขายปุ๋ยให้กับกลุ่มเกษตรกร ในโครงการนี้ หรือไม่ นายโกวิทย์ ตอบว่า "ชื่อผมมักจะถูกดึงไปเกี่ยวข้องกับทุกโครงการนั้นแหละ ทั้ง หิน ดินทราย ใครมาคุย ผมก็แค่แนะนำไป ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวอะไรด้วยเลย"
เมื่อถามว่า กรณีนี้จะชี้แจงข้อเท็จจริง ต่อสาธารณชนอย่างไร นายโกวิทย์ ระบุว่า "คงจะต้องขอไปตรวจสอบข้อมูลก่อน ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ยืนยันว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วย"
"เรื่องโครงการปุ๋ย เท่าที่ผมทราบตอนนี้ มันมีแค่โครงการปี 2558 ที่มีปัญหา และผู้ว่าฯ ก็สั่งชะลอเรื่องไว้ และก็มีการไปร้องเรียนกับทางทหารให้เข้ามาตรวจสอบ ส่วนเรื่องอื่น ผมไม่ทราบเรื่องด้วยจริงๆ" สจ.โกวิทย์ กล่าวทิ้งท้าย
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันยังไม่มีรายงานยืนยันเป็นทางการว่า นายโกวิทย์ เป็น 1 ใน 3 สจ. ที่ถูก ป.ป.ช. สอบสวนในคดีนี้ด้วยหรือไม่? อย่างไร?
3 สจ. ปริศนา ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาเป็นใคร? เพราะอะไร? คงต้องติดตรวจสอบกันต่อไป
อ่านประกอบ :
- พฤติการณ์ 'บิ๊กอบจ.' คดีปุ๋ยฉาวบุรีรัมย์ 328 ล.! สตง.ชี้ปล่อยปละละเลยทำรัฐเสียหาย157 ล.
- ก.เกษตร ขยับสอบปุ๋ยบุรีรัมย์328 ล.! พลิกจว.ตามหา'ผอ.'พัวพันคดีหายตัวปริศนา
- ปลัดอบจ.บุรีรัมย์ แจ้งความ'เมียเนวิน' หลังถูกสตง.ชี้มูลคดีแจกปุ๋ย 328 ล้าน
- ฉบับเต็ม!ผลสอบปุ๋ยอบจ.บุรีรัมย์ เสียหายยับ157ล. ชนวนเหตุ 'เมียเนวิน-พวก' ถูกแจ้งความ
- ปุ๋ยอบจ.บุรีรัมย์ฉาวลามทั้งจังหวัด! สตง.จี้ ปลัดมท. ฟัน 'ผู้ว่าฯ-2รองฯ'
- เปิดตัว 'สจ.' ปุ๋ยบุรีรัมย์328 ล.! สตง.ชี้ส่วนต่าง240 บ./กระสอบ-เจ้าตัวปัดไม่รู้เห็น
- 'ผอ.'พัวพันปุ๋ย อบจ.บุรีรัมย์ ลาออกปริศนา!เกษตรกรถูกฟ้องทวงหนี้หมื่นราย
- ปัดแจง 'หัวคิว' ปุ๋ยบุรีรัมย์! เปิดคำให้การ หจก.ดีสิงห์ฯ ผู้ฟ้องเกษตรกรเบี้ยวเงิน 40 ล.
- ขมวดปม!คดีปุ๋ยบุรีรัมย์ 328 ล. ฟันส่วนต่าง 240 บ.-เอกชนฟ้องชาวบ้านนัวเนีย ใครรับผิดชอบ?
- ซัดคนชั่วร้าย ทำผู้อื่นเดือนร้อน!ผู้ว่าฯบุรีรัมย์ ยันอนุมัติงบปุ๋ย328 ล.โดยสุจริต