"...ในส่วนของกลุ่มผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกชี้มูลความผิด พบว่า เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสั่งการให้มีการเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของกลุ่มเกษตรกร มีเงินส่วนที่เหลือจำนวนหลายสิบล้านบาท ไม่ได้มีการนำไปคืนหรือนำไปใช้ในราชการของ อบจ.บุรีรัมย์แต่อย่างใด ..."
คดีทุจริตดำเนินโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ เป็นอีกหนึ่งคดีใหญ่ในพื้นที่ภาคอีสาน
ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ติดตามนำเสนอข่าวเชิงลึกมาตั้งแต่ปี 2559
หลังปรากฏข้อมูล สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบว่า โครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ปี 2555-2557 ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บุรีรัมย์ มีลักษณะการอุดหนุนเงินเพื่อแจกจ่ายสินค้าปุ๋ยให้สมาชิกกลุ่มเกษตรกร โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย วงเงินกว่า 328 ล้านบาท แต่กลับปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้บริหารระดับสูงใน อบจ.บุรีรัมย์ เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสีย ได้ประโยชน์กว่า 157 ล้านบาท จนนำไปสู่การยกเลิกโครงการในปี 2558 ส่งผลให้บริษัทเอกชนที่จำหน่ายปุ๋ยฟ้องร้องดำเนินคดีกับกลุ่มเกษตรกรที่ไม่มีเงินมาชำระค่าปุ๋ยได้ เนื่องจากมีการทำสัญญาซื้อขายกันแล้วก่อนโครงการปี 2558 จะถูกยกเลิก (อ่านรายละเอียดข่าวท้ายเรื่อง)
ความคืบหน้าเกี่ยวกับคดีนี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดผู้บริหารองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บุรีรัมย์ ในคดีทุจริตดำเนินโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ ปีงบประมาณ 2555-2558 โดยร่วมกันจัดหาปุ๋ยอินทรีย์กระสอบละ 150-260 บาท เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินโครงการฯ ในราคากระสอบละ 500 บาท
โดยผู้บริหาร อบจ.บุรีรัมย์ ที่ถูกชี้มูลความผิดในคดีนี้ มี 3 ราย ประกอบไปด้วย นายไตรเทพ งามกมล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รองนายก อบจ.บุรีรัมย์ ปัจจุบันเป็น สส. จังหวัดบุรีรัมย์ เขต 8 พรรคภูมิใจไทย, นายโกวิทย์ นาวีสัมพันธ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง สมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ และ นายอดุลย์ กองชะนะ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมคุณภาพชีวิต อย่างไรก็ดี การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด
ส่วน นางกรุณา ชิดชอบ อดีตนายก อบจ.บุรีรัมย์ (ภรรยานายเนวิน ชิดชอบ อดีตนักการเมืองชื่อดัง) นั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ตีตกข้อกล่าวหา ไม่มีมูล
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลเพิ่มเติมว่า คดีนี้เดิมทีในชั้นไต่สวน มีผู้ถูกกล่าวหา จำนวน 7 ราย คือ
1. นางกรุณา ชิดชอบ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บุรีรัมย์
2. นายไตรเทพ งามกมล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บุรีรัมย์
3. นายธัชชัย มณีราชกิจ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บุรีรัมย์
4. นายโกวิทย์ นาวีสัมพันธ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บุรีรัมย์
5. นายอดุลย์ กองชะนะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองส่งเสริมคุณภาพชีวิต
6. นายชนินทร์ วงษ์แสง ผู้ประกอบการผลิตปุ๋ยอินทรีย์
7. นายพูนศักดิ์ ทองศรี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บุรีรัมย์
ส่วนเหตุผลที่ทำให้ นายธัชชัย มณีราชกิจ อดีตที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บุรีรัมย์ , นายชนินทร์ วงษ์แสง ผู้ประกอบการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ และ นายพูนศักดิ์ ทองศรี สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ รอดพ้นข้อกล่าวหาคดีนี้
เป็นเพราะจากการตรวจสอบ ไม่พบว่าได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องหรือได้รับเงินหรือผลประโยชน์อื่นใดในการดำเนินโครงการฯ นี้ แต่อย่างใด
สำหรับ นางกรุณา ชิดชอบ บทบาทต่อโครงการฯ นี้ มีเพียงแค่เป็นผู้แถลงนโยบายการบริหารงานต่อสภา อบจ.บุรีรัมย์ว่า จะจัดตั้งกองทุนส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ 100 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการฝึกอาชีพทุก ๆ สาขา และโครงการจัดหาแหล่งทุนและวัสดุอุปกรณ์เพื่อการประกอบอาชีพ โดยจะเปิดโอกาสให้ประชาชน กลุ่มวิชาชีพ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในฐานตัวแทนประชาชนทุกระดับ เข้ามามีส่วนร่วม
ขณะที่จากการสอบสวนของป.ป.ช. ไม่พบว่า นางกรุณา ชิดชอบ เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นในการติดต่อขอซื้อปุ่ยอินทรีย์จากโรงงานผู้ผลิต หรือสั่งการให้บุคคลใดเข้าไปอำนวยความสะดวกในการเบิกถอนเงินแทนกลุ่มเกษตรกร และไม่พบว่าได้รับเงินหรือผลประโยชน์อื่นใดในการดำเนินโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ดังกล่าวด้วย
แต่ในส่วนของกลุ่มผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกชี้มูลความผิด พบว่า เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสั่งการให้มีการเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของกลุ่มเกษตรกร มีเงินส่วนที่เหลือจำนวนหลายสิบล้านบาท ไม่ได้มีการนำไปคืนหรือนำไปใช้ในราชการของ อบจ.บุรีรัมย์แต่อย่างใด
@ กรุณา ชิดชอบ
แหล่งข่าวจากจังหวัดบุรีรัมย์ ให้ข้อมูลยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า คดีนี้กลุ่มผู้ถูกกล่าวหาที่ถูก คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดทางอาญา ก่อนหน้านี้ในส่วนของจังหวัดบุรีรัมย์ ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ความรับผิดทางละเมิดด้วย
ผลการสอบสวนพบว่า นายอดุลย์ กองชะนะ ต้องรับผิดเป็นเงิน จำนวน 600,300 บาท และนายโกวิทย์ นาวีสัมพันธ์ ต้องรับผิดเป็นเงิน จำนวน 157,497,600 บาท
นายอดุลย์ ได้ชำระเงินคืนให้กับอบจ.บุรีรัมย์ ครบถ้วนแล้ว แต่นายโกวิทย์ ยังไม่ได้มีการชดใช้เงินคืน อบจ.บุรีรัมย์ จึงได้ส่งเรื่องให้อัยการจังหวัดบุรีรัมย์ ดำเนินฟ้องร้องเป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหาย รวมเป็นเงิน 189,784,609 บาท แต่ยังไม่มีรายงานข่าวยืนยันว่า ผลการฟ้องร้องคดีนี้ส่วนนี้ เป็นอย่างใด
ส่วนข้อมูลเชิงลึกอื่น ๆ สำนักข่าวอิศรา จะติดตามมานำเสนอต่อไป
อ่านเรื่องประกอบ :
- พฤติการณ์ 'บิ๊กอบจ.' คดีปุ๋ยฉาวบุรีรัมย์ 328 ล.! สตง.ชี้ปล่อยปละละเลยทำรัฐเสียหาย157 ล.
- ก.เกษตร ขยับสอบปุ๋ยบุรีรัมย์328 ล.! พลิกจว.ตามหา'ผอ.'พัวพันคดีหายตัวปริศนา
- ปลัดอบจ.บุรีรัมย์ แจ้งความ'เมียเนวิน' หลังถูกสตง.ชี้มูลคดีแจกปุ๋ย 328 ล้าน
- ฉบับเต็ม!ผลสอบปุ๋ยอบจ.บุรีรัมย์ เสียหายยับ157ล. ชนวนเหตุ 'เมียเนวิน-พวก' ถูกแจ้งความ
- ปุ๋ยอบจ.บุรีรัมย์ฉาวลามทั้งจังหวัด! สตง.จี้ ปลัดมท. ฟัน 'ผู้ว่าฯ-2รองฯ'
- เปิดตัว 'สจ.' ปุ๋ยบุรีรัมย์328 ล.! สตง.ชี้ส่วนต่าง240 บ./กระสอบ-เจ้าตัวปัดไม่รู้เห็น
- 'ผอ.'พัวพันปุ๋ย อบจ.บุรีรัมย์ ลาออกปริศนา!เกษตรกรถูกฟ้องทวงหนี้หมื่นราย
- ปัดแจง 'หัวคิว' ปุ๋ยบุรีรัมย์! เปิดคำให้การ หจก.ดีสิงห์ฯ ผู้ฟ้องเกษตรกรเบี้ยวเงิน 40 ล.
- ขมวดปม!คดีปุ๋ยบุรีรัมย์ 328 ล. ฟันส่วนต่าง 240 บ.-เอกชนฟ้องชาวบ้านนัวเนีย ใครรับผิดชอบ?
- ซัดคนชั่วร้าย ทำผู้อื่นเดือนร้อน!ผู้ว่าฯบุรีรัมย์ ยันอนุมัติงบปุ๋ย328 ล.โดยสุจริต
- สู้มา 8 ปี ชาวบ้าน 222 ราย ชนะ! ศาลฎีกา สั่งยกคำร้องคดีโกงเงินค่าปุ๋ยบุรีรัมย์ 42 ล.
- ตามความคืบหน้าคดีปุ๋ยบุรีรัมย์ส่วนอาญา ล่าสุด ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหา '3 สจ.ปริศนา' แล้ว