“…ในการนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้ทำการหารือข้อกฎหมายกับคณะที่ปรึกษากฎหมายชาวต่างชาติที่เคยทำคดีปราสาทพระวิหารให้กับไทย โดยคณะที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศมีความเห็นว่า การเจรจาบนพื้นฐาน MOU 2544 ยังน่าจะเป็นประโยชน์กับฝ่ายไทย…”
......................................
“เรื่องปัญหาแรงงาน ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ผมคุยกับนายกฯกัมพูชา แต่เรื่องที่สำคัญที่สุด และหลายๆท่านติดตามอยู่ คือ เรื่อง OCA (overlapping claims areas) พื้นที่ทับซ้อน ซึ่งจริงๆมูลค่าก็มหาศาล ขึ้นอยู่กับตัวเลขไหนที่คนกัน อาจพูดกันถึง 20 ล้านล้านบาทก็ได้ แต่เรามีปัญหาเรื่องชายแดน
มีปัญหาเรื่องเขตแดนอยู่ เป็นเรื่องที่ sensitive (อ่อนไหว) เป็นเรื่องที่หลายๆส่วนให้ความสนใจกันอยู่ ผมจึงขอแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เรื่องพื้นที่ทับซ้อนกับขุมทรัพย์ที่อยู่ใต้ทะเล อันนี้เป็นอะไรที่เราต้อง handle with care (จัดการด้วยความระมัดระวัง) มีการพูดคุยกัน เราก็ยืนยัน เราให้ความสำคัญสูงสุดในเรื่องนี้ แล้วจะมีการพูดคุยกัน
และจะพยายามนำสินทรัพย์ชิ้นนี้ออกมาใช้โดยเร็วที่สุด ในช่วงการเปลี่ยนผ่านพลังงานระหว่าง brown energy ไปสู่ green energy เพราะอย่างไรก็ตามที เราก็ต้องการแก๊สอยู่ดี เรื่องนี้ ก็ขอให้สบายใจว่า เราจะเดินหน้ากันต่อไป โดยจะพยายามแยกแยะระหว่างปัญหาพื้นที่ทับซ้อน และการแบ่งผลประโยชน์ แต่เรื่องนี้ต้องโปร่งใส และตรวจสอบได้…”
นี่เป็นส่วนหนึ่งของคำกล่าวปราฐกถาพิเศษของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ที่ได้กล่าวในหัวข้อ ‘จุดเปลี่ยนพลังงานไทยสู่ความยั่งยืน’ ในการเปิดงาน Thailand Energy Executive Forum เมื่อวันที่ 14 ก.พ.2566 (อ่านประกอบ : ‘เศรษฐา’ยันเดินหน้าถก‘กัมพูชา’ ขุด‘ขุมทรัพย์พลังงาน’ 20 ล้านล. ในพื้นที่ทับซ้อนฯโดยเร็ว)
ทั้งนี้ ในการเจรจาเกี่ยวกับ ‘พื้นที่ทับซ้อนกันระหว่างไทย-กัมพูชา’ ดังกล่าว มีแนวโน้มว่า 'รัฐบาลเศรษฐา' จะเดินหน้าเจรจาฯ บนพื้นฐานของ 'บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ค.ศ. 2001' หรือ 'MOU ปี 2544'
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอ ‘รายงานบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ’ วุฒิสภา เมื่อวันที่ 10 ม.ค.2567 ซึ่งในที่ประชุมได้มีการหยิบยก 'ข้อดีและข้อเสีย' ในการนำ MOU ปี 2544 มาใช้เป็นพื้นฐานในการเจรจาเกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อน ‘ไทย-กัมพูชา’ มีรายละเอียด ดังนี้
@กต.หนุนใช้ MOU ปี 44 เจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา
เรื่องพิจารณา
พิจารณาและติดตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้ยกเลิก MOU 2544 (บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ค.ศ.2001) และการดำเนินการของกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ภายหลังจากที่มีมติคณะรัฐมนตรี
รวมทั้งความคืบหน้าการเจรจาสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก การแบ่งเขตแดนทางทะเล และการพัฒนาพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันระหว่างไทย-กัมพูชา และประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเชิญผู้ชี้แจงจากกระทรวงการต่างประเทศ สรุปได้ดังนี้
นางสุพรรณวษา โชติกญาณ ถัง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย (กระทรวงการต่างประเทศ) ได้ให้ข้อมูลดังนี้
MOU 2544 เป็นเครื่องมือที่กระทรวงการต่างประเทศใช้เป็นกรอบและแนวทางในเจรจาในเรื่องเขตแดนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย มีความเห็นว่า MOU 2544 มีประโยชน์ เพื่อใช้เป็นกรอบและพื้นฐานในการเจรจากับฝ่ายกัมพูชา โดยกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย จะใช้หลักวิชาการและหลักกฎหมายระหว่างประเทศในการเจรจาทุกครั้ง ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับไทยต่อไป
-เมื่อเดือนธันวาคม 2565 และเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ได้มีการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Joint Technical Committee: JTC) ไทยและกัมพูชา ซึ่ง JTC เป็นกลไกที่กัมพูชาให้การยอมรับ และพูดคุยเพื่อทำให้เกิดผลความคืบหน้า
MOU 2544 ไม่ใช่สาเหตุของความล่าช้าในการเจรจา แต่เกิดจากบรรยากาศความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาไม่เอื้ออำนวยต่อการพูดคุย จากกรณีต่างๆ อาทิ กัมพูชา ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของยูเนสโก หรือการเผาสถานเอกอัครราชทูตไทยในกัมพูชา และอีกหลายกรณี จนทำให้เกิดการชะงักในการเจรจา ทั้งนี้ ความพร้อมทางการเมืองจะส่งผลให้การเจรจามีความคืบหน้าได้
-ในปี พ.ศ.2552 คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบในหลักการให้กระทรวงการต่างประเทศ ดำเนินการยกเลิกบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน ฉบับวันที่ 18 มิถุนายน 2544 แต่โดยที่เรื่องดังกล่าวต้องเสนอรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ จึงให้กระทรวงการต่างประเทศไปทำการพิจารณาข้อกฎหมายก่อนดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ในการนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้ทำการหารือข้อกฎหมายกับคณะที่ปรึกษากฎหมายชาวต่างชาติที่เคยทำคดีปราสาทพระวิหารให้กับไทย โดยคณะที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศมีความเห็นว่า การเจรจาบนพื้นฐาน MOU 2544 ยังน่าจะเป็นประโยชน์กับฝ่ายไทย
-ในปี พ.ศ.2557 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ และอนุมัติให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่ที่ไทยกับกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันต่อไป บนพื้นฐานของ MOU 2544 และตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องข้อง
-ในปี พ.ศ.2558 มีการหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างประธานคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคหรือ JTC ไทยและกัมพูชา ที่เมืองเสียมราฐ
-ในปี พ.ศ.2560 และ 2562 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบองค์ประกอบกลไก JTC ในฐานะกลไกหลักในการเจรจาเรื่องเขตแดนทางทะเลไทย-กัมพูชา
-ในปี พ.ศ.2565 ได้มีการพูดคุยและพบปะหารือกันที่กรุงเทพมหานคร และในปี พ.ศ.2566 ได้มีการประชุมและหารือกันที่กรุงพนมเปญ
ในการนี้ ต้องรอดูนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันว่าจะใช้ MOU 2544 เป็นกรอบในการเจรจากับกัมพูชาหรือไม่อย่างไร
@ไม่ยอมรับเส้นเขตแดนฯ‘กัมพูชา’ที่ลากผ่าน‘กลางเกาะกูด’
ประเด็นอภิปรายและซักถามของที่ประชุมคณะกรรมาธิการ สรุปได้ดังนี้
(1) ความคืบหน้าในการตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคหรือ JTC ไทยและกัมพูชาชุดใหม่
นางสุพรรณวษา โชติกญาณ ถัง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ได้ให้ข้อมูลว่า ทุกครั้งที่มีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ จะต้องมีการเสนอรายชื่อคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคใหม่ โดยกระทรวงการต่างประเทศได้มีการเสนอรายชื่อไปแล้ว แต่ปัจจุบันยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
(2) ปรากฏข่าวสารว่า กัมพูชาขอเจรจาในเรื่องการแบ่งผลประโยชน์ทางทะเลก่อนการเจรจาเรื่องเขตแดนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา
นางสุพรรณวษา โชติกญาณ ถัง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ได้ให้ข้อมูลว่าการประชุมครั้งล่าสุดระหว่างไทยกับกัมพูชาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ท่าทีของกัมพูชา คือ ต้องการพูดคุยในประเด็นเรื่องการพัฒนาร่วมเท่านั้น และไม่ต้องการพูดคุยในเรื่องเขตแดนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา
ทั้งนี้ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ได้เคยแจ้งกับทางกัมพูชาไปแล้วหลายครั้งว่า ไม่สามารถยอมรับเส้นเขตแดนทางทะเลของกัมพูชาที่ลากผ่านกลางเกาะกูด ซึ่งเป็นกรรมสิทธิของไทยได้ อีกทั้งการลากเส้นผ่านกลางเกาะกูดดังกล่าวยังไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศอีกด้วย
(3) ข้อดีของ MOU 2544 คือ จะต้องทำการเจรจาไปพร้อมกันทั้งสองเรื่อง คือ เขตแดนทางทะเลและการพัฒนาร่วม ทั้งนี้ ในเรื่องของเขตแดนนั้น หากกัมพูชาต้องการให้ไทยยอมรับ จะต้องเป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศและหลักการที่ยอมรับได้
(4) การเตรียมการของกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในเรื่องหลักการของการแบ่งเขตทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา รวมทั้งการเตรียมการกรณีที่หากมีการยื่นเรื่องไปยังศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
นางสุพรรณวษา โชติกญาณ ถัง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ได้ให้ข้อมูลว่า การเจรจาในเรื่องเขตแดนนั้นเป็นเรื่องที่ยากและต้องใช้เวลา โดยในอดีตกระทรวงการต่างประเทศ ได้เคยเจรจาสำเร็จมาแล้ว อาทิ คณะองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย (Malaysia-Thailand Joint Authority: MTJA) และพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (Joint Development Area: JDA)
ซึ่งแนวทางในการเจรจากับมาเลเซียดังกล่าว กระทรวงการต่างประเทศได้นำมาใช้กับกัมพูชาเช่นกัน กล่าวคือ การอ้างสิทธิในเส้นเขตแดนทางทะเลจะต้องเป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดพื้นที่ทับซ้อนน้อยที่สุด ก่อนการเจรจาในเรื่องอื่นๆ ต่อไป ทั้งนี้ เพื่อสามารถชี้แจงต่อประชาชนและรัฐสภาได้
(5) ที่ประชุมได้แสดงความเป็นห่วงข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมานโยบายทางการเมืองในเรื่อง MOU 2544 มีการเปลี่ยนแปลงสลับไปมา ในการนี้ ขอให้ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศต่อสู้บนพื้นฐานของผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก
@เสนอยกเลิก MOU ปี 2544 ก่อนเจรจา หวั่นไทยเสียเปรียบ
(6) นายประจิตต์ โรจนพฤกษ์ ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการ ได้ให้ข้อมูลดังนี้
1) หากมีการระงับข้อพิพาทโดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรืออนุญาโตตุลาการ โดยมีการใช้ MOU 2544 ไทยจะมีความเสียเปรียบและแทบไม่มีโอกาสชนะเลย
2) เสนอให้มีการเจรจาเพื่อแก้ไขเส้นเขตแดนที่กัมพูชาอ้างสิทธิโดยลากผ่านกลางเกาะกูด มายังอ่าวไทยโดยที่ไม่มีหลักกฎหมายระหว่างประเทศหรือหลักกฎหมายใดๆ สนับสนุน ทั้งนี้ การลากเส้นเขตแดนทางทะเลที่ถูกต้องคือ จะต้องลากผ่านกึ่งกลางระหว่างเกาะกูดของไทยและเกาะกงของกัมพูชาเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามหลักสากลและเป็นการลากเส้นเขตแดนทางทะเลที่ถูกต้อง
3) MOU 2544 ได้กำหนดไว้ว่าจะต้องดำเนินการทั้งสองเรื่องพร้อมกันคือ (1) การแบ่งเขตทางทะเล และ (2) การพัฒนาร่วม
4) มีความเห็นว่าควรมีการยกเลิก MOU 2544 ก่อนการเจรจา เพราะจะทำให้ไทยเสียเปรียบ
5) เส้นเขตแดนทางทะเลที่ไทยสามารถยอมรับได้คือ เส้นที่ลากผ่านกึ่งกลางระหว่างเกาะกูดของไทยกับเกาะกงของกัมพูชา และเชื่อมต่อกับเส้นเขตแดนทางทะเลของเวียดนาม
6) การลากเส้นเขตแดนทางทะเลของกัมพูชาผ่านกลางเกาะกูดของไทย ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ส่งผลกระทบต่ออำนาจอธิปไตยบนเกาะกูดของไทย และทำให้เกิดพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชากว่า 26,000 ตารางกิโลเมตร
กล่าวโดยสรุปเห็นว่า บันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับเขตทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา พ.ศ.2544 (MOU 2544) ไทยเสียเปรียบและเสียประโยชน์มาก หากกัมพูชาไม่ยอมแก้ไขให้ถูกต้องตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ไทยควรจะต้องบอกเลิกบันทึกความเข้าใจดังกล่าว
@ย้ำต้องคุยเรื่อง‘เส้นเขตแดนทางทะเล’ให้เรียบร้อยก่อน
(7) นางสุพรรณวษา โชติกญาณ ถัง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กัมพูชาประกาศเส้นเขตแดนทางทะเลเมื่อปี พ.ศ.2515 ส่วนไทยประกาศเส้นเขตแดนทางทะเลเมื่อปี พ.ศ.2516 ที่ผ่านมากัมพูชาไม่ยอมพูดคุยเรื่องเส้นเขตแดนทางทะเล แม้ไทยจะพยายามใช้หลักกฎหมายระหว่างประเทศในการเจรจา
กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เห็นว่าสิ่งที่ได้จาก MOU 2544 คือ เป็นนวัตกรรมที่ส่งผลให้ไทยและกัมพูชาได้มาพูดคุยกันในเรื่องเขตแดนทางทะเลและการพัฒนาร่วม ซึ่งแนวทางของกระทรวงการต่างประเทศ คือ จะต้องพูดคุยในเรื่องเส้นเขตแดนทางทะเลให้เรียบร้อยก่อน เพื่อให้ทราบถึงเขตไหล่ทวีป จึงจะสามารถพูดคุยหรือเจรจาในเรื่องการพัฒนาร่วมต่อไปได้
(8) MOU 2544 เกิดขึ้นเพราะทางการเมืองของทั้งสองประเทศเชื่อว่ามีทรัพยากรมหาศาลอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ทั้งนี้ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 นายฮุน มาแนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชาจะเดินทางมาเยือนไทย ซึ่งคาดว่าจะมีการพูดคุยในเรื่องความร่วมมือทางด้านพลังงานของทั้งสองประเทศ และในเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางพลังงาน (Overlapping Claims Area: OCA)
ในการนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องเตรียมการชี้แจงหรืออธิบายให้ได้ว่า หากต้องการเดินหน้าในเรื่อง MOU 2544 จะต้องเป็นการเจรจาและพูดคุยในทั้งสองเรื่องควบคู่กันไป กล่าวคือ ทั้งการแบ่งเขตทางทะเลและการพัฒนาร่วม
(9) นายกอบศักดิ์ ชุติกุล ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมดังนี้
1) ที่ผ่านมาแผนการพัฒนาประเทศในเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาลและแผนการต่างประเทศ 5S/๕ มีของกระทรวงการต่างประเทศ ไม่ปรากฏคำว่า อธิปไตย หรือ Sovereignty ในที่ใดเลย ในการนี้ เห็นควรให้มีการให้เน้นย้ำและให้ความสำคัญกับเรื่องอำนาจอธิปไตยให้มากขึ้น
2) ในทางปฏิบัติจะต้องมีการแบ่งเขตแดนทางทะเลก่อน ถึงจะมีการพูดคุยหรือดำเนินการในเรื่องการพัฒนาร่วมได้ อีกทั้งในการแบ่งผลประโยชน์จะไม่ได้แบ่งในลักษณะคนละครึ่ง แต่ต้องดูว่าประเทศใดมีการลงทุนในพื้นที่มากหรือน้อยเพียงใด นอกจากนี้ อาจมีปัญหาในพื้นที่ใต้ทะเลซึ่งอาจมีทรัพยากรที่กระจัดกระจายหรือไม่เท่าเทียมกัน
(10) หากไทยไม่ยอมรับเส้นเขตแดนทางทะเลของกัมพูชาที่ลากผ่านกลางเกาะกูดของไทย กระทรวงการต่างประเทศควรต้องแสดงท่าทีและประกาศอย่างชัดเจน
@เจรจา‘พื้นที่ทับซ้อนฯ’ควรยึดหลักกฎหมายระหว่างปท.
(11) ที่ประชุมได้ตั้งข้อสังเกตว่า การพัฒนาร่วมในช่วงเวลานี้ มีความจำเป็นเร่งด่วนมากน้อยเพียงใด หรือมีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องดำเนินการในช่วงเวลานี้ อีกทั้งพื้นที่บริเวณอ่าวไทยได้เคยมีการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติใต้ท้องทะเลหรือไม่ว่า มีมากหรือน้อยเพียงใด ทั้งนี้ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในเรื่องนโยบายความยั่งยืนทางด้านพลังงานของไทย หรือประกอบการตัดสินใจในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
(12) ในการเจรจาควรยึดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ เนื่องจากเป็นกฎและกติกาที่ได้รับการยอมรับ ถึงแม้จะมี MOU 2544 แต่ยังไม่เป็นข้อยุติ เนื่องจากไทยยังไม่ยอมรับเส้นเขตแดนทางทะเลตามที่กัมพูชาอ้างสิทธิ
ดังนั้น กระทรวงการต่างประเทศควรต้องจัดทำการเอกสารและออกแถลงการณ์หรือทำการสื่อสารเป็นระยะๆ เพื่อให้เห็นว่าข้อเท็จจริงยังไม่เป็นที่ยุติและยังไม่เป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติต่อไป
(13) หากเห็นว่า MOU 2544 มีจุดอ่อนหรือมีช่องว่างที่อาจไม่เป็นผลดีต่อไทย ไทยควรมีการทบทวนเพื่อให้เกิดความชัดเจน และเพื่อป้องกันไม่ให้นักกฎหมายภายในประเทศเกิดความสับสน อีกทั้งเพื่อป้องกันไม่ให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศและนักกฎหมายต่างประเทศที่อาจคล้อยตามในประเด็นที่เป็นจุดอ่อนหรือช่องว่างของไทยใน MOU 2544
(14) ใน MOU 2544 กัมพูชาอ้างสิทธิตามเส้นที่ลากผ่านกลางเกาะกูดของไทย ซึ่งกัมพูชารู้ดีว่า ไม่มีความชอบธรรม จึงเลือกที่จะไม่พูดคุยหรือเจรจาในเรื่องการแบ่งเขตทางทะเล ส่วนไทยอ้างสิทธิตามเส้นที่ลากผ่านกึ่งกลางระหว่างเกาะกูดของไทยกับเกาะกงของกัมพูชา ซึ่งเป็นการลากเส้นหรือแบ่งเส้นเขตแดนทางทะเลตามหลักสากลและหลักกฎหมายระหว่างประเทศ
เหล่านี้เป็นรายละเอียดของ ‘รายงานบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ’ วุฒิสภา เมื่อวันที่ 10 ม.ค.2567 ซึ่งมีทั้ง 'เสียงสนันสนุน' และ 'เสียงคัดค้าน' ในการนำ MOU ปี 2544 มาใช้เป็นพื้นฐานในการเจรจาเกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อน ‘ไทย-กัมพูชา’ และต้องติดตามกันไปต่อไปว่า รัฐบาลเพื่อไทยภายใต้การนำของ ‘นายกฯเศรษฐา’ จะผลักดันให้มีการสำรวจและขุดเจาะ ‘ขุมทรัพย์พลังงาน’ 20 ล้านล้านบาท สำเร็จหรือไม่ อย่างไร?
‘เศรษฐา’ยันเดินหน้าถก‘กัมพูชา’ ขุด‘ขุมทรัพย์พลังงาน’ 20 ล้านล. ในพื้นที่ทับซ้อนฯโดยเร็ว
เจรจา‘พื้นที่ทับซ้อน’ไทยกัมพูชารอบใหม่ จะเดินตาม MOU เก่าหรือไม่?
‘เชฟรอนฯ’ แจงปมสัมปทาน 'ปิโตรเลียม' พื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ‘ไทย-กัมพูชา’
เปิดตัว‘ทีมกุนซือ’ เจรจาพื้นที่ทับซ้อน‘ไทย-กัมพูชา’-พบชื่อ ‘พล.อ.วิชญ์’ นั่งคณะทำงาน
เปิดวาระลับ! เจรจาพื้นที่ทับซ้อนทะเล‘ไทย-กัมพูชา’ แบ่งขุมทรัพย์‘ก๊าซ-น้ำมัน’ 5 ล้านล.
‘บิ๊กป้อม’ประชุมลับ! ฟื้นเจรจาพื้นที่ทับซ้อน‘ไทย-กัมพูชา’ แบ่งเขตทะเล-พัฒนาปิโตรเลียม
โพรไฟล์ธุรกิจ-ทรัพย์สิน ‘พล.อ.วิชญ์’ ปธ.ยุทธศาสตร์ พปชร. - ที่ปรึกษา 2 บ. ปีละ 4.7 ล.