“…เจรจาจัดทำความตกลงแบ่งเขตทางทะเลในพื้นที่ที่อ้างสิทธิทับซ้อนกันเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ ,เจรจาจัดทำความตกลงสำหรับการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียมซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่อ้างสิทธิทับซ้อนกันใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ โดยเจรจาทั้งสองเรื่องพร้อมกันไปในลักษณะที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ (ข้อ 2 ของ MOU 2544)…”
..............................
ถูกรื้อฟื้นกลับมาอีกครั้ง
สำหรับการเจรจาในประเด็นพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ‘ไทย-กัมพูชา’ เนื้อที่ 26,000 ตารางกิโลเมตร ระหว่างรัฐบาลไทย และรัฐบาลกัมพูชา เพื่อจัดทำข้อตกลงแบ่งเขตทางทะเลในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน และจัดทำข้อตกลงร่วมกันพัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียม มูลค่าไม่ต่ำกว่า 5 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นก๊าซธรรมชาติ มูลค่า 3.5 ล้านล้านบาท และน้ำมัน มูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท
โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ไทย-กัมพูชา (ฝ่ายไทย) ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นประธาน ได้มีการพิจารณาร่างกรอบการเจรจากับฝ่ายกัมพูชา ในการพัฒนาพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (Overlapping Claims Area-OCA)
พร้อมทั้งพิจารณาแต่งตั้งคณะทำงานไทย-กัมพูชา ว่าด้วยการแบ่งเขตทางทะเล (ฝ่ายไทย) และคณะทำงานไทย-กัมพูชา เกี่ยวกับระบอบพัฒนาร่วม (ฝ่ายไทย) ด้วย (อ่านประกอบ : ‘บิ๊กป้อม’ประชุมลับ! ฟื้นเจรจาพื้นที่ทับซ้อน‘ไทย-กัมพูชา’ แบ่งเขตทะเล-พัฒนาปิโตรเลียม)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำสาระสำคัญของเอกสารร่างกรอบการเจรจาเรื่องพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน สำหรับคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ไทย-กัมพูชา (ฝ่ายไทย) มาให้สาธารชนรับทราบ ดังนี้
@เจรจาแบ่งเขตทะเล-จัดทำข้อตกลงร่วมพัฒนาปิโตรเลียม
สำหรับร่างกรอบการเจรจาเรื่องพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ของคณะกรรมการ JTC ไทย-กัมพูชา (ฝ่ายไทย) กำหนดวัตถุประสงค์การเจรจาไว้ 3 ประเด็น ประกอบด้วย
1.เพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่ที่ไทยกับกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันซึ่งมีขนาดประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตร
2.เพื่อดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (MOU 2544) ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
-เจรจาจัดทำความตกลงแบ่งเขตทางทะเลในพื้นที่ที่อ้างสิทธิทับซ้อนกันเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ
-เจรจาจัดทำความตกลงสำหรับการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียมซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่อ้างสิทธิทับซ้อนกันใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ
โดยเจรจาทั้งสองเรื่องพร้อมกันไปในลักษณะที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ (ข้อ 2 ของ MOU 2544)
3.ดำเนินการเจรจาเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ข้างต้น โดยใช้กลไกภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (Joint Technical Committee (JTC) ตามที่ได้ตกลงกับฝ่ายกัมพูชาไว้แล้ว
ขณะที่เป้าหมายและขอบเขตการเจรจาในภาพรวม ประกอบด้วย
1.เจรจาให้ได้ประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศไทยในทุกด้าน
2.รักษาสิทธิของประเทศไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศทั้งในเรื่องการแบ่งเขตทางทะเลและการพัฒนาร่วมโดยบรรลุการจัดทำความตกลงตามที่ได้กำหนดไว้ใน MOU 2544
3.การเจรจาของไทยเป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งอาจพิจารณาแนวทางความเป็นไปได้อื่นๆ ในการเจรจากับกัมพูซาด้วย หากพิจารณาเห็นว่าจะให้ประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศไทย
4.ดำเนินการเจรจาอย่างโปร่งใส เป็นไปตามกระบวนการกฎหมายภายในที่เกี่ยวข้องทุกประการและสามารถอธิบายผลการเจรจาต่อประชาชนได้
ส่วนแนวทางการดำเนินการนั้น คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค ไทย-กัมพูชา (ฝ่ายไทย) จะรายงานพัฒนาการสำคัญในการดำเนินการตามกรอบที่ได้รับอนุมัติให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบเป็นระยะ (อ่านเอกสารประกอบ)
(ที่มา : การประชุมคณะกรรมการ JTC ไทย-กัมพูชา (ฝ่ายไทย) เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2564)
ทั้งนี้ ในส่วนของการแต่งตั้งคณะทำงานไทย-กัมพูชาว่าด้วยการแบ่งเขตทางทะเล (ฝ่ายไทย) และคณะทำงานเกี่ยวกับระบอบพัฒนาร่วม (ฝ่ายไทย) มีรายชื่อและอำนาจหน้าที่ ดังนี้
คณะทำงานไทย-กัมพูชาว่าด้วยการแบ่งเขตทางทะเล (ฝ่ายไทย)
มี อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ส่วนคณะทำงาน ได้แก่ รองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ,ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศ ที่กรมสนธิสัญญาและกฎหมายแต่งตั้ง ,ผู้อำนวยการกองเขตแดน ,ผู้แทนกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ,ผู้แทนกรมอุทกศาสตร์ (คนที่ 1) ,ผู้แทนกรมอุทกศาสตร์ (คนที่ 2) และมีเจ้าหน้าที่กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เลขานุการและคณะทำงาน
มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
-ศึกษา และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นร่วมกับคณะทำงานไทย-กัมพูชาว่าด้วยการแบ่งเขตทางทะเลฝ่ายกัมพูซา) ถึงความเป็นไปได้ในการหาข้อยุติซึ่งเป็นที่ยอมรับได้ของทั้งสองฝ่ายเกี่ยวกับการกำหนดเส้นแบ่งเขตทางทะเลที่เหมาะสมในพื้นที่ขับซ้อนที่กำหนดให้มีการแบ่งเขตทางทะเลตามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2544
-รายงานผลการดำเนินการ ให้แก่คณะอนุกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูซาเพื่อเสนอผลการศึกษาต่อคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา ต่อไป
คณะทำงานไทย-กัมพูชา เกี่ยวกับระบอบพัฒนาร่วม (ฝ่ายไทย)
มี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ส่วนคณะทำงาน ได้แก่ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ , ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานที่กรมเชื้อเพสิงธรรมชาติแต่งตั้ง ,ผู้อำนวยการกองบริหารกิจการปิโตรเลียมระหว่างประเทศ ,ผู้แทนกระทรวงพลังงาน ,ผู้แทนกรมสรรพากร ,ผู้แทนกรมอุทกศาสตร์ ,ผู้แทนกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และมีเจ้าหน้าที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เลขานุการและคณะทำงาน
มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
-ศึกษาร่วมกับคณะทำงานไทย-กัมพูชา เกี่ยวกับระบอบพัฒนาร่วม (ฝ่ายกัมพูชา) ในเรื่องการพัฒนาร่วมในพื้นที่ทับซ้อนที่กำหนดให้มีการพัฒนาร่วมตามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2544
โดยการเจรจาการแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อคิดเห็น ทั้งทางด้านเทคนิคและด้านกฎหมายในการจัดทำความตกลงจัดตั้งองค์กรร่วม การบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วม และการแบ่งปันผลประโยชน์ รวมถึงเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
-รายงานผลการดำเนินการให้แก่คณะอนุกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา เพื่อเสนอผลการศึกษาต่อคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา ต่อไป ที่เกี่ยวข้อง (อ่านเอกสารประกอบ)
เหล่านี้เป็นสาระสำคัญในการประชุมคณะกรรมการ JTC ไทย-กัมพูชา (ฝ่ายไทย) ครั้งล่าสุด ที่มี ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ นั่งหัวโต๊ะ เพื่อเดินหน้าผลักดันการเจรจาในประเด็นพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ‘ไทย-กัมพูชา’ อีกครั้งในรอบหลายปี
โดยเฉพาะการเจรจาเพื่อจัดทำข้อตกลงเกี่ยวกับการร่วมกันพัฒนา ‘แหล่งปิโตรเลียม’ มูลค่าไม่น้อยกว่า 5 ล้านล้านบาท นั้น บทสรุปของการเจรจาจะเป็นอย่างไร
ยังต้องติดตามกันต่อไป!
อ่านประกอบ :
‘บิ๊กป้อม’ประชุมลับ! ฟื้นเจรจาพื้นที่ทับซ้อน‘ไทย-กัมพูชา’ แบ่งเขตทะเล-พัฒนาปิโตรเลียม
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage