"...MOU ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 ณ กรุงพนมเปญ กัมพูชา หลังนายทักษิณ ชินวัตรขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่นาน เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่ไทยไปลงนามอย่างเป็นทางการ “รับรู้” และ “ยอมรับ(การมีอยู่)” ของเส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาประกาศออกมาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2515 โดยไม่มีหลักกฎหมายและข้อเท็จจริงใด ๆ รองรับ ทั้งยังอาจพิจารณาได้ว่าเป็นการละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของราชอาณาจักรไทยเสียด้วยซ้ำ..."
ทำไมต้องถามว่าการเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน หรือ OCA (Overlapping Claims Area) ไทย-กัมพูชารอบใหม่ เพื่อพัฒนาและแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมร่วมกัน ที่เข้าใจว่าจะเริ่มนับหนึ่ง 7 กุมภาพันธ์ 2567 ยังจะเดิมตามกรอบ MOU 2544 หรือชื่อเต็ม “บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ค.ศ. 2001“ ต่อไปหรือไม่ ?
ก็เพราะ MOU ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 ณ กรุงพนมเปญ กัมพูชา หลังนายทักษิณ ชินวัตรขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่นาน เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่ไทยไปลงนามอย่างเป็นทางการ “รับรู้” และ “ยอมรับ(การมีอยู่)” ของเส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาประกาศออกมาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2515 โดยไม่มีหลักกฎหมายและข้อเท็จจริงใด ๆ รองรับ ทั้งยังอาจพิจารณาได้ว่าเป็นการละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของราชอาณาจักรไทยเสียด้วยซ้ำ
เส้นที่เห็นกันชินตาในรอบ 20 ปีมานี้ว่าลากผ่าน “เกาะกูด” นั่นแหละ
ทั้งนี้ โดยลากออกมาจากแผ่นดินบริเวณหลักเขตแดนไทยกัมพูชาที่ 73 บริเวณบ้านหาดเล็ก ตำบลหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ตรงลงทะเลมาทางทิศตะวันตกประชิดและอ้อมเกาะกูดเป็นครึ่งวงกลมตรงไปยังกึ่งกลางอ่าวไทยบริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์แล้ววกลงใต้ขนานกับแผ่นดินกัมพูชา
เป็นเส้นเขตไหล่ทวีปที่นักกฎหมายระหว่างประเทศ อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ บางคน และอดีตนายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่หลายคน เคยขนานนามไว้ต่าง ๆ นานาในรอบ 20 ปีมานี้
“เส้นนอกกฎหมาย” บ้าง “เส้นตามอำเภอใจ” บ้าง ”เส้นยะโสโอหัง” บ้าง ไปจนถึง ”เส้นอันธพาล” แม้แต่ผมเองยังเคยเขียนบทความเรียกว่า…
“เส้น(ไหล่ทวีป)วิปลาส 2515”
แต่วันนี้ หลังจากทบทวนข้อมูลต่าง ๆ ในรอบ 12-15 ปีมานี้ถึงเบื้องหลังที่มาของเส้นเขตไหล่ทวีป 2515 ของกัมพูชา ผมอยากจะขนานนามตรงไปตรงมาว่า…
“เส้นฮุบปิโตรเลี่ยม“
ไทยกับกัมพูชามีการเจรจาเรื่องเขตแดนทางทะเลและผลประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลี่ยมในอ่าวไทยมาตั้งแต่ปี 2513 ในยุคที่ทััง 2 ประเทศยังมีผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยเขตแดนทางทะเลไม่มากนัก เพราะเป็นช่วงหลังจากสหประขาขาติจัดประขุมนานาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลในปี ค.ศ. 1958 ได้ไม่นาน แม้ประเทศไทยจะเข้าเป็นภาคี แต่กว่าจะดำเนินการแปลและทำความเข้าใจได้เรียบร้อยก็ใช้เวลาถึง 10 ปี ลุถึงปี 2511 จึงมีความรู้ความเข้าใจและดำเนินการให้สัมปทานบริษัทต่างชาติผลิตปิโตรเลี่ยมในอ่าวไทย เช่นเดียวกับทางกัมพูชาในยุคสมเด็จนโนดมสีหนุ ขณะที่การเจรจาแบ่งเขตแดนไม่คืบหน้าเท่าที่ควร ก็พอดีเกิดการรัฐประหารในกัมพูชา นายพลลอนนอลขึ้นมามีอำนาจแทนสมเด็จนโรดมสีหนุ ขึ้นมาไม่นานก็ดำเนินการประกาศเส้นเขตไหล่ทวีปทันที พล.ร.อ.ถนอม เจริญลาภ ผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มายาวนาน ทั้งเขียนเล่าและนำมาเล่าด้วยวาจาในเวทีสัมมนาสาธารณะของคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา จัดที่สยามสมาคมเมื่อวันพุธที่ 28 กันยายน 2554 ว่าจอมพลประภาส จารุเสถียรเคยเล่าให้ท่านฟังว่านายพลลอนนอลผู้นำกัมพูชาขณะนั้นบอกท่านว่าเส้นเขตไหล่ทวีปนี้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและบริษัทเอกชนตะวันตกที่ขอรับสัมปทานแสวงประโยชน์จากปิโตรเลี่ยมในเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาเสนอขึ้นมา นายพลลอนนอลไม่มีความมุ่งประสงค์ใด ๆ ทั้งสิ้นต่อเกาะกูดของไทย และพร้อมที่จะแก้ไข แต่ขอให้เห็นใจหน่อยว่าการเมืองภายในกัมพูชามีความเปราะบาง หากรัฐบาลทำการใดทำให้ประชาชนไม่พอใจอาจพังได้
เส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาที่ประกาศออกมาสร้างความตะลึงและไม่สบายใจให้กับรัฐบาลไทยและคนไทยมาก
เพราะเป็นห่วงเกาะกูด !
ทำอย่างไรจะให้กัมพูชายกเลิกเส้นนี้ให้ได้ เป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลไทย
คุณูปการของจอมพลประภาส จารุเสถียรคือท่านลงมากำกับการเจรจาเอง และคุยตรงไปตรงมากับนายพลลอนนอล ที่สุดก็รักษาสิทธิของไทยโดยการออกประกาศพระบรมราชโองการกำหนดเส้นไหล่ทวีปของประเทศไทยด้านอ่าวไทยที่ถูกต้องตามหลักวิชาการและกฎหมายระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2516 ตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 90 ตอน 60 หน้า 1-2 วันที่ 1 มิถุนายน 2516
เป็นเส้นที่ลากจากหลักเขตที่ 73 ลงทะเลตรงจุดกึ่งกลางระหว่างเกาะกูดของไทยกับเกาะกงของกัมพูชา
นอกจากประกาศเส้นเขตไหล่ทวีปแล้ว รัฐบาลไทยสมัยนั้นสั่งการให้กองทัพเรือเข้าดูแลรักษาสิทธิในน่านน้ำอ่าวไทยเขตไหล่ทวีปของไทยตามประกาศทันที
นั่นเป็นเหตุการณ์แค่เพียง 5 เดือนก่อนจอมพลประภาส จารุเสถียรพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
ไม่ใช่ว่า MOU 2544 จะไปยอมรับ “ความถูกต้อง“ ของเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชา
มิบังอาจไปกล่าวหากันขนาดนั้น
แต่เพียงแค่ “รับรู้“ และ ”ยอมรับ(การมีอยู่)” โดยนำมาบรรจุอยู่ในแผนผังแนบท้าย MOU ก็เป็นผลให้เมื่อนำมาทาบทับกับเส้นเขตไหล่ทวีปของไทย ก็ก่อให้เกิดพื้นที่ OCA ในอ่าวไทยมากถึง 26,000 ตารางกิโลเมตร กว่าครึ่งค่อนของพื้นที่อ่าวไทยทั้งหมดกว่า 330,000 ตารางกิโลเมตร เป็นเรื่องผิดธรรมชาติอย่างยิ่ง ทั้ง ๆ ที่ถ้าจะมีจริงโดยทั้งไทยและกัมพูชายึดถือกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศให้มากที่สุดแล้ว ก็ไม่น่าจะมากขนาดนั้น
จริงอยู่ รัฐบาลทุกรัฐบาลบอกว่าเราจะเจรจาเฉพาะเรื่องแบ่งปันผลประโยชน์จากปิโตรเลี่ยม ไม่เจรจาเรื่องเขตแดนทางทะเล จึงไม่ต้องห่วงว่าจะเสียเขตแดน และ MOU 2544 มีขึ้นเพื่อแก้ปัญหานี้
ฟัง ”ดูดี“ แต่มัน “ใช่“ หรือ ”ดีจริง“ อย่างที่ว่ามาจริงหรือ ?
ก่อนจะตอบคำถามสำคัญนี้ เรามาเสียเวลากันสักเล็กน้อยเพื่อดูเนื้อหา MOU 2544 กัน
MOU ฉบับนี้มีเพียง 3 หน้าทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยหน้า 3 เป็นเอกสารแนบ หัวใจอยู่ที่ข้อ 2 ที่แบ่งเป็นข้อ ก กับข้อ ข
เนื้อหาในข้อ 2 สรุปว่าคู่สัญญาตกลงแบ่ง OCA ออกเป็น 2 ส่วนโดยใช้ละติจูดที่ 11 องศาเหนือเป็นเส้นแบ่ง และแลเงาออกเป็นสีดำเหมือนทางม้าลายในส่วนบน ส่วนล่างเป็นสีขาว ดังปรากฎในแผนผังแนบท้าย โดยจะเร่งรัดเจรจาพร้อมกันไป 2 เรื่อง รายละเอียดอยู่ในข้อย่อย ก และข้อ ข ขอให้สังเกตคำว่าให้ทำไป “พร้อมกัน” ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Indivisible Package คือจะแบ่งแยกไม่ได้ต้องทำคู่กันไป
ข้อ ก - จัดทำความตกลงกันสำหรับการพัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมร่วมกันซึ่งอยู่ในพื้นที่พัฒนาร่วม หรือ JDA (Joint Development Area) ในพื้นที่สีขาวส่วนล่างของแผนผังแนบท้าย
ข้อ ข - ตกลงแบ่งเขตแดนทางทะเล (ทะเลอาณาเขต, ไหล่ทวีป และเขตเศรษฐกิจจำเพาะ) ซึ่งอยู่ในพื้นที่แลเงาสีดำเป็นเสมือนทางม้าลายส่วนบนของแผนผังแนบท้าย เรียกว่าเขต Area to be Delimited
ทั้งนี้ พื้นที่ส่วนล่าง ข้อ ก มีขนาด 16,000 ตารางกิโลเมตร ขณะที่พื้นที่ส่วนบน ข้อ ข มีขนาด 10,000 ตารางกิโลเมตร
หลังจาก 2 ข้อย่อยนี้ มีข้อความย้ำอีกครั้งว่าเป็นเจตนารมณ์ของภาคีผู้ทำสัญญาที่จะถือปฏิบัติบทบัญญัติของข้อ ก และข้อ ข ข้างต้นในลักษณะที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ โดยในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Indivisible Package คือจะแบ่งแยกไม่ได้ต้องทำคู่กันไป
ขัอ 3 - จัดตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการต่อไป เรียกว่า JTD : Joint Technical Committee สำหรับการเจรจา 2 เรื่องในข้อ 2 ก และ 2 ข
ข้อ 4 - เป็นข้อกำหนดว่าจะประชุมกันอย่างไร
ย้อนกลับไปข้อ 1 สักเล็กน้อย ระบุว่าทำเป็นข้อตกลงชั่วคราว (Provisional Agreement) แสดงว่ามีเจตนาจะทำเป็นข้อตกลงสุดท้าย (Final Agreement) ในอนาคต
มีข้อสังเกตสำคัญว่าแผนผังแนบท้าย MOU 2544 เขียนผิดครับ
คือหน่วยของละติจูดทั้ง 3 เส้นที่อยู่ตรงด้านขวาเขียนผิดทั้งหมด จากที่ต้องเป็น ๐ N กลับเขียนเป็น ๐ E ซะงั้น !!
สรุปสั้นที่สุดของ MOU 2544 เป็นคำสำคัญได้ว่า…
“แบ่งเขตแดนข้างบน แบ่งผลประโยชน์ข้างล่าง”
ซึ่งแน่นอนละว่าฟัง “ดูดี” !
จึงขอกลับมาตอบคำถามที่ถามตั้งแต่ต้นว่าตกลงแล้วมัน “ใช่“ คือ ”ดีจริง“ อย่างที่พยายามทำให้เข้าใจหรือ ?
ฟันธงเลยครับว่า…
ไม่ใช่ !
และไม่ดีจริง !
ด้วยเหตุผลใหญ่ 2 ประการ
เป็น 2 ประการที่มาจากเนื้อหาใน MOU 2544 เอง
หนึ่ง - การเจรจาแบ่งผลประโยขน์จากทรัพยากรปิโตรเลี่ยมใน OCA ส่วนล่างใต้ละติจูด 11 องศาเหนือลงมาที่ถูกกำหนดให้เป็น JDA มีพื้นที่ 16,000 ตารางกิโลเมตร จะต้องทำไปพร้อมกับการเจรจาแบ่งเขตแดนทางทะเลส่วนบนเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือขึ้นไป ทั้งนี้ ข้อความในขัอ 1 ระบุว่าจะต้องดำเนินการไป “พร้อมกัน” และ “ในลักษณะที่ไม่อาจแบ่งแยกจากกันได้” การชี้แจงของรัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมารวมทั้งรัฐบาลปัจจุบันที่บอกว่าจะเจรจากันเฉพาะการแบ่งปันผลประโยชน์ในปิโตรเลี่ยมไม่แตะเรื่องเขตแดนจึงเป็นไปไม่ได้
ย้อนไปอ่านข้างต้นหรือดูในภาพประกอบก็ได้นะครับว่า MOU 2544 กล่าวย้ำไว้ถึง 2 ครั้งในข้อ 2 ว่าการเจรจาแบ่งผลประโยชน์กับการเจรจาแบ่งเขตแดนทางละเลจะต้องดำเนินไปพร้อมกัน แบ่งแยกจากกันไม่ได้
เป็น “Indivisible Package” !
สอง - หมุดหมายสมมติที่ก่อให้เกิด OCA ส่วนล่างใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือลงมาเป็นเขต JDA กว้างขวางถึง 16,000 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณครึ่งหนึ่งของอ่าวไทยนั้นไม่ได้ลอยลงมาจากฟ้าอย่างเป็นอิสระ หากแต่มาจากเส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาลากตามความประสงค์ของกลุ่มทุนพลังงานออกมาจากแผ่นดินบริเวณหลักเขตที่ 73 ลงทะเลมาทางทิศตะวันตกประชิดและอ้อมเกาะกูดเป็นครึ่งวงกลมตรงไปกึ่งกลางอ่าวไทยบริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์แล้ววกลงใต้ขนานกับแผ่นดินกัมพูชา การที่เราบอกว่าไม่ยอมรับเส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาประกาศ แต่กลับยอมรับรูปพรรณสัณฐานและขนาดของ OCA ที่ปรากฎอยู่ใน MOU 2544 จะเท่ากับว่าเรายอมรับเส้นนี้อย่างน้อยที่สุดก็เฉพาะส่วนล่างใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือลงมาโดยปริยายมิใช่หรือ แม้วันนี้จะยังไม่ได้เจรจาเขตแดนทางทะเลในพื้นที่ส่วนล่างนี้ แต่หากมีการเจรจากันในวันหน้า ไม่ว่าในรุ่นลูกหรือรุ่นหลาน การกระทำของเราในวันนี้จะไม่เป็นการถูกมัดมือชกตามกฎหมายหรือ
ย้ำชัด ๆ ว่าจะต้องมีการเจรจาเขตแดนทางทะเลแน่นอน แต่จำกัดเฉพาะในส่วนบนละติจูด 11 องศาเหนือขึ้นไป เพราะนี่เป็นบทบังคับใน MOU 2544
ทำไมต้องเจรจาเฉพาะส่วนบน
ทำไมไม่เจรจาให้รู้เรื่องกันไปทั้งเส้น คือทั้งส่วนบนและส่วนล่าง เพื่อให้ชัดเจนกันไปว่ามึ OCA หรือไม่ และถ้ามี มีเท่าไร แล้วจะสร้าง JDA ก็ว่ากันไป
การเจรจาเขตแดนทางทะเลเฉพาะส่วนบนของเส้น ต่อให้คิดเชิงบวกและเข้าข้างตัวเองมาก ๆ ว่าผลการเจรจาจะเป็นคุณกับฝ่ายไทย คือจะไม่มีเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาลากผ่านเกาะกูดอีกต่อไป ก็อาจไม่เทียบเท่ากับโทษ
เพราะแม้พื้นที่ส่วนล่างจากละติจูด 11 องศาเหนือลงมาจะไม่ได้มีการเจรจาเขตแดนทางทะเลกัน มีแต่การเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลี่ยมก็ตาม แต่ก็เป็นการเจรจาบนพื้นฐานที่ใช้เส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาส่วนล่างเป็นอาณาเขตกำหนดพื้นที่ OCA เท่ากับไทยเรายอมรับและใช้เส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาเป็นฐานเจรจาอย่างเป็นทางการเสียแล้ว ต่อเมื่อมีการเจรจาเขตแดนทางทะเลในพื้นที่ส่วนนี้กันในอนาคตไม่ว่าจะรุ่นเราหรือรุ่นลูกรุ่นหลาน พฤติกรรมของเราในวันนี้ก็จะทำให้เราเสียเปรียบอย่างยิ่ง
กลายเป็นว่าพื้นที่ส่วนล่างใต้ละติจูด 11 องศาเหนือลงมา เราก็จะได้เฉพาะผลประโยชน์จากการแบ่งปันปิโตรเลี่ยมในวันนี้เท่านั้น แต่มีแนวโน้มจะไม่ได้เป็นเขตแดนทางทะเลในอนาคต
แล้วไอ้ที่ว่า “ได้” ใช้ทรัพยากรปิโตรเลี่ยมจากการตกลงแบ่งปันผลประโยชน์กับกัมพูชาน่ะ - “ได้” จริงหรือ ?
ทำไมไม่มองในมุม “เสีย” บ้างล่ะ ?
“เสีย” ในแง่ที่ต้องแบ่งปันผลประโยชน์ที่ควรจะเป็นของเราให้เขา ในกรณีที่ OCA ไม่กว้างขวางเท่านี้ !
เหมือนกัมพูชาเอาเขตแดนทางทะเลส่วนข้างบนที่สร้าง “ความไม่สบายใจ” ให้คนไทยในเรื่องเกาะกูด มาแลกกับผลประโยชน์จากปิโตรเลี่ยมส่วนข้างล่างที่กัมพูชาและไทยจะได้รับร่วมกันในปัจจุบัน ถึงขนาดข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศบางคนในช่วงปี 2544 ให้ความเห็นในลักษณะที่ว่ากัมพูชายอมสละสิทธิในเกาะกูดเพื่อให้มีการทำ MOU 2544
แต่เฉพาะประเด็นนี้ก็ขอย้ำอีกครั้งว่าก็แค่คิดเอาเองในเชิงบวกและคิดอย่างเข้าข้างตัวเองเท่านั้น
เพราะนับตัังแต่สมัยปี 2515 ที่ประกาศเส้นเขตไหล่ทวีปผ่านเกาะกูดออกมา กัมพูชาไม่เคยมีท่าทีว่าจะยอมทบทวนอย่างจริง ๆ จัง ๆ เลย ตรงกันข้ามกลับมีท่าทีของคนกัมพูชาบางกลุ่มทำให้คนไทยเข้าใจว่ากัมพูชาอ้างว่าเกาะกูดเป็นของตน เมื่อมีการเจรจาในช่วงปี 2538 - 2539 พล.ร.อ,ถนอม เจริญลาภเล่าให้ฟังในเวทีสัมมนาสาธารณะที่สยามสมาคม ปี 2554 ว่าผู้แทนกัมพูชาอ้างว่าตนไม่อาจเจรจาเรื่องเขตแดนทางทะเลให้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมได้ โดยใช้คำว่า “Non negotiable” เพราะรัฐธรรมนูญกัมพูชา ค.ศ. 1993 ห้ามไว้ จะขอเจรจาเฉพาะเรื่อง JDA เท่านั้น
ถ้าการเจรจารอบใหม่กับกัมพูชาเดินไปตามกรอบ MOU 2544 ท่านที่มองในเชิงบวกและเข้าข้างตัวเองดังกล่าว ก็ต้องเผื่อใจไว้ด้วยนะครับ
สมมติฐานที่เป็นไปได้อีกทางหนึ่งคือเจรจาตามกรอบ MOU 2544 ทั้งข้อ 2 ก และ 2 ข ไปพร้อมกัน แต่สำเร็จเฉพาะข้อ 2 ก คือได้ข้อตกลงเรื่องแบ่งปันผลประโยชน์ แต่ข้อ 2 ข ยังตกลงกันไม่ได้ และทั้ง 2 ฝ่ายตกลงไม่พูดถึง โดยถือว่าได้ข้อสรุป 2 ก แล้วถือว่าสำเร็จ
พูดภาษาชาวบ้านว่าเรื่องเขตแดนทางทะเลจะเสียหายหนักเลยนะครับ
เสียหายหนักในอนาคต
เส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาส่วนบนยังอยู่ ยังลากผ่านเกาะกูดอยู่ ขณะที่เส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูดชาด้านล่าง ทั้ง 2 ประเทศตกลงยอมรับให้เป็นเขต JDA ด้านตะวันตกเสียแล้ว
รุ่นลูกรุ่นหลานเมื่อจะเจรจาเขตแดนกับกัมพูชาอีกจะถูกผูกมัดด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายจากการกระทำของบรรพบุรุษของเขาในวันนี้
มาถึงตรงนีั สมควรกล่าวไว้ให้สิ้นกระแสความด้วยว่าประเด็นเรื่องเกาะกูดเป็นความเข้าใจผิดของคนไทยบางคนที่กล่าวว่า MOU 2544 มีประโยชน์ตรงที่กัมพูชายอมรับชัดเจนกว่าเกาะกูดเป็นของไทย เพราะเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชานั้นลากประชิดและอ้อมเกาะกูด ไม่ได้ผ่ากลาง
เป็นข้ออ้างที่เข้าใจผิด
และฟังไม่ขึ้นโดยสิ้นเชิง
เกาะกูดเป็นของไทยโดยสมบูรณ์มากว่า 100 ปีแล้ว
ตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 (ร.ศ. 125) มีข้อความชัดเจนในข้อ 2 ว่า…
“รัฐบาลฝรั่งเศสยกดินแดนเมืองด่านซ้าย และเมืองตราด กับทั้งเกาะทั้งหลายซึ่งอยู่ภายใต้แหลมสิงห์ลงไปจนถึงเกาะกูดนั้นให้แก่กรุงสยาม…”
ทั้งนี้ เพื่อแลกกับการที่ไทยเรายอมสูญเสียเสียมราฐ ศรีโสภณ และพระตะบอง เป็นข้อแลกเปลี่ยน
และตั้งแต่ค.ศ. 1907 เป็นต้นมาจนถึงวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2544 วันที่รัฐไทยไปลงนาม MOU 2544 ไม่ปรากฏว่ามีการทำสัญญาอื่นใดที่ลบล้างสิทธิของไทยเลย
เป็นพระอัจฉริยภาพสูงสุดของในหลวงรัชกาลที่ 5 และฝ่ายนำของรัฐสยามสมัยเมื่อกว่า 100 ปีก่อนที่ยอมแลกเมืองเสียมราฐ ศรีโสภณ และพระตะบอง ที่มีทั้งพื้นที่และประชากรรวมมากว่าเมืองตราดและเกาะแก่งในอ่าวไทย แถมยังมีแหล่งอารยธรรมประวัติศาสตร์โลกอย่างนครวัดอยู่ด้วย
พระอัจฉริยภาพเมื่อกว่า 100 ปีก่อนทำให้เราได้ฝั่งทะเลยาวเหยียดของจังหวัดตราด
ได้จุดหลักเขตแดนทางบกที่ 73 อย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้
รวมทั้งได้เกาะกูดที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการกำหนดเขตแดนทางทะเลในอ่าวไทย
ข้อเสนอเบื้องต้นของผมมีสั้น ๆ
จะเจรจาไปพร้อมกันทั้ง 2 เรื่อง คือ แบ่งเขตแดนทางทะเล กับแบ่งผลประโยชน์ในปิโตรเลี่ยม ก็ได้ไม่มีปัญหา แต่ต้องได้ข้อสรุปเรื่องเขตแดนเป็นลำดับแรกเสียก่อน จึงจะตกลงกันเรื่องเขตพื้นที่ JDA และแบ่งปันผลประโยชน์เป็นลำดับถัดไป
เพราะต่อเมื่อยอมรับเส้นเขตแดนทางทะเลตามกฎหมายระหว่างประเทศกันทั้งเส้นแล้วจึงจะรู้ว่ามีพื้นที่ JDA เท่าไร จะผ่อนปรนกันอย่างไร จึงจะเจรจาได้
ต้องไม่มีข้อตดลงกำหนดพื้นที่ JDA ล็อคสเป็กไว้ล่วงหน้าแล้วทั้งที่ยังไม่ได้พูดคุยตกลงกันเรื่องเส้นไหล่ทวีปที่ถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศเลย
เอาทุกปัญหาเอาทุกข้อขัดแย้งขึ้นมาบนโต๊ะเจรจา โดยไม่ต้องมี MOU ต่อเมื่อได้ข้อตกลงร่วมกันแล้วจึงจะเขียน MOU ขึ้นมา
เป็นตัวแบบที่เกิดขึ้นมาแล้วในการเจรจาระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน 3 คู่ในภูมิภาคนี้
ไทย vs มาเลียเซีย
กัมพูชา vs เวียดนาม
ไทย vs เวียดนาม
ไทย vs กัมพูชา ช่วงก่อนปี 2544
3 คู่แรกสำเร็จไปนานแล้ว
นี่คือมุมมองของคนไทยคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับ MOU 2544 โดยบริสุทธิ์ใจ จึงขอแสดงความเห็นเพื่อบันทึกไว้ ณ ที่นี้ และในเวทีที่ประชุมวุฒิสภาตามหน้าที่และอำนาจของสมาชิกวุฒิสภาอันรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ในโอกาสที่รัฐบาลชุดปัจจุบันจะเริ่มเจรจากับกัมพูชาอีกครั้ง
รัฐบาลจะเห็นและตัดสินใจเป็นประการใดบนพื้นฐานเพื่อประโยชน์สูงสุดของคนไทยทั้งรุ่นปัจจุบันและรุ่นลูกรุ่นหลานในอนาคต ก็สุดแท้แต่จะพิจารณาตามหน้าที่และอำนาจ คิดให้รอบ(คอบ)และตอบ(โจทย์)ให้ครบ
ประวัติศาสตร์จะเป็นผู้ตัดสิน !
อนึ่ง รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เคยมีมติคณะรัฐมนตรีให้ยกเลิก MOU 2544 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2552
แต่ไม่เคยมีการยกเลิกจริง และรัฐบาลต่อ ๆ มา รวมทั้งรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ยังคงเจรจาตามกรอบ MOU 2544 อยู่ โดยเป็นไปตามข้อเสนอของกระทรวงการต่างประเทศ
คำนูณ สิทธิสมาน
สมาชิกวุฒิสภา
มกราคม 2567