‘เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต’ แจงปมสัมปทานปิโตรเลียมพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ‘ไทย-กัมพูชา’ ระบุได้รับสัมปทานจากรัฐบาลไทยเท่านั้น แต่ไม่ได้เป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตจากรัฐบาลกัมพูชา พร้อมยันไม่เคยประเมินศักยภาพแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนฯ ‘ไทย-กัมพูชา’
...............................
จากกรณีสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เผยแพร่รายงานข่าวเมื่อวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม 2563 เกี่ยวกับการพัฒนาปิโตรเลียมบริเวณพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา โดยในตอนหนึ่งของบทความระบุว่า
“ทั้งนี้ พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา ซึ่งมีขนาดประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตรนั้น เมื่อปี 2548 บริษัท เชฟรอน ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทสัมปทานและเป็นบริษัทเดียวที่ได้รับสัมปทานในพื้นที่ทับซ้อนทั้งจากรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา ประเมินว่ามีก๊าซธรรมชาติคิดเป็นมูลค่า 3.5 ล้านล้านบาท และน้ำมันมูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท” นั้น (อ่านประกอบ : ‘บิ๊กป้อม’ประชุมลับ! ฟื้นเจรจาพื้นที่ทับซ้อน‘ไทย-กัมพูชา’ แบ่งเขตทะเล-พัฒนาปิโตรเลียม )
บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ส่งหนังสือมายังสำนักข่าวอิศรา ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อประเด็นตามรายข่าวดังกล่าว ดังต่อไปนี้
1.บริษัทฯ เป็นหนึ่งในผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมในบริเวณพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา จากรัฐบาลไทยเท่านั้น โดยไม่ได้เป็นผู้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตในพื้นที่ดังกล่าวจากรัฐบาลกัมพูชาแต่อย่างใด ทั้งนี้ ในอดีต บริษัทในเครือของเชฟรอนเคยเป็นผู้ได้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตจากรัฐบาลกัมพูชาในพื้นที่ Block A ซึ่งอยู่นอกบริเวณพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา แต่ได้จำหน่ายสิทธิดังกล่าวให้บริษัท คริสเอเนอร์จี ไปแล้วตั้งแต่ปี 2014 ส่งผลให้ปัจจุบัน บริษัทฯ ไม่มีสิทธิในสัญญาแบ่งปันผลผลิตใดๆ ที่ได้รับจากรัฐบาลกัมพูชา
2.บริษัทฯ มิได้เป็นผู้ประเมินศักยภาพของแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา แต่อย่างใด
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า สำหรับเนื้อหาข่าวที่ระบุว่า “เมื่อปี 2548 บริษัท เชฟรอน ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทสัมปทานและเป็นบริษัทเดียวที่ได้รับสัมปทานในพื้นที่ทับซ้อนทั้งจากรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา ประเมินว่ามีก๊าซธรรมชาติคิดเป็นมูลค่า 3.5 ล้านล้านบาท และน้ำมันมูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท” ดังกล่าว นั้น
เป็นการอ้างอิงแหล่งข้อมูลจากเอกสารวิเคราะห์เชิงยุทธศาสตร์ แนวทางการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทบริเวณ พื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชา จัดทำโดยสถาบันวิจัยทางยุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย หน้าที่ 6 ขณะที่ข้อมูลในเอกสารวิเคราะห์ฯดังกล่าว อ้างอิงข้อมูลจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน, “การพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนไทย –กัมพูชา.”, (ออนไลน์), แหล่งที่มา : http//www.marinerthai.com เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2551 (อ่านเอกสารประกอบด้านล่าง)
(ที่มา : เอกสารวิเคราะห์เชิงยุทธศาสตร์ แนวทางการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทบริเวณ พื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชา)
อ่านประกอบ :
เปิดตัว‘ทีมกุนซือ’ เจรจาพื้นที่ทับซ้อน‘ไทย-กัมพูชา’-พบชื่อ ‘พล.อ.วิชญ์’ นั่งคณะทำงาน
เปิดวาระลับ! เจรจาพื้นที่ทับซ้อนทะเล‘ไทย-กัมพูชา’ แบ่งขุมทรัพย์‘ก๊าซ-น้ำมัน’ 5 ล้านล.
‘บิ๊กป้อม’ประชุมลับ! ฟื้นเจรจาพื้นที่ทับซ้อน‘ไทย-กัมพูชา’ แบ่งเขตทะเล-พัฒนาปิโตรเลียม
โพรไฟล์ธุรกิจ-ทรัพย์สิน ‘พล.อ.วิชญ์’ ปธ.ยุทธศาสตร์ พปชร. - ที่ปรึกษา 2 บ. ปีละ 4.7 ล.
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage