‘บิ๊กป้อม’ ประชุมบอร์ด JTC ‘ไทย-กัมพูชา’ ถกร่างกรอบเจรจาพื้นที่ทับซ้อน ‘ไทย-กัมพูชา’ ตั้งเป้าบรรลุข้อตกลงแบ่งเขตทางทะเล-ทำข้อตกลงพัฒนาปิโตรเลียม’ ขณะที่ ‘อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ’ ระบุเป็นการประชุมลับ กต. ฝ่ายเลขานุการฯ
..............................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ไทย-กัมพูชา (ฝ่ายไทย) เพื่อพิจารณาร่างกรอบการเจรจากับฝ่ายกัมพูชา ในการพัฒนาพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (Overlapping Claims Area-OCA) รวมถึงการพิจารณาแต่งตั้งคณะทำงานว่าด้วยการแบ่งเขตทางทะเล และคณะทำงานเกี่ยวกับระบอบพัฒนาร่วม
อย่างไรก็ตาม หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมแล้ว ไม่มีการแถลงผลการประชุมต่อสื่อมวลชนแต่อย่างใด
ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศรา โทรศัทพ์สอบถามนายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เกี่ยวกับผลการประชุมของคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ไทย-กัมพูชา (ฝ่ายไทย) เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งนายสราวุธ ตอบเพียงสั้นว่า ไม่สามารถพูดได้ เพราะเป็นการประชุมลับ และตนไม่ใช่ฝ่ายเลขานุการฯด้วย ซึ่งฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการชุดนี้ คือ กระทรวงการต่างประเทศ
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า สำหรับร่างกรอบการเจรจากับฝ่ายกัมพูชา ในการพัฒนาพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (OCA) ที่เสนอให้ที่ประชุม JTC ฝ่ายไทย พิจารณา กำหนดวัตถุประสงค์ของการเจรจาไว้ 3 ประเด็น ได้แก่
1.การแก้ปัญหาพื้นที่ที่ไทยกับกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน ซึ่งมีขนาดประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตร
2.การดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างรัฐบาลไทยและกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยกับกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน เมื่อปี 2544 (MOU 2544) ซึ่งประกอบด้วย การเจรจาจัดทำข้อตกลงแบ่งเขตทางทะเลในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนกันเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ และการเจรจาจัดทำข้อตกลงสำหรับการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียม ซึ่งอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนกันใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ
3.ในการดำเนินการเจรจาให้ใช้กลไกภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (JTC) ตามที่ตกลงกับฝ่ายกัมพูชาไว้แล้ว
โดยมีเป้าหมายการเจรจา ได้แก่ ต้องเจรจาให้ได้ประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศไทยทุกด้าน ,รักษาสิทธิของประเทศไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งเรื่องการแบ่งเขตทางทะเลและการพัฒนาร่วมฯ โดยบรรลุการจัดทำความตกลงตามที่ได้กำหนดไว้ใน MOU 2544 ,การเจรจาของไทยให้เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งอาจพิจารณาแนวทางความเป็นได้อื่นๆที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดกับประเทศไทย และการดำเนินการเจรจาต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส
ทั้งนี้ พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา ซึ่งมีขนาดประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตรนั้น เมื่อปี 2548 บริษัท เชฟรอน ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทสัมปทานและเป็นบริษัทเดียวที่ได้รับสัมปทานในพื้นที่ทับซ้อนทั้งจากรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา ประเมินว่ามีก๊าซธรรมชาติคิดเป็นมูลค่า 3.5 ล้านล้านบาท และน้ำมันมูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ไทย-กัมพูชา (ฝ่ายไทย) มี พล.อ.ประวิตร รองนายากรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นประธาน มี นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงต่างประเทศ เป็นรองประธานฯ
ส่วนกรรมการอื่นๆ เช่น ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นายธนะ ดวงรัตน์ ,นายเกรียงศักดิ์ กิตติชัยเสรี ,เอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญหรือผู้แทน ,อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ,อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เป็นต้น โดยมีผู้อำนวยการกองเขตแดน กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงต่างประเทศ เป็นกรรมการและเลขานุการ
โดยอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ไทย-กัมพูชา (ฝ่ายไทย) ได้แก่ 1.เจรจาแบ่งเขตทางทะเลในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาทที่กำหนดให้มีการแบ่งเขตทางทะเลบนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ 2.เจรจาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาร่วม โดยเฉพาะการแบ่งปันผลประโยชน์ในพื้นที่พัฒนาร่วม และ3.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานเพื่อช่วยปฏิบัติงานได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage