“…มองไปในปี 2567 ความคาดหวังอยู่ที่การท่องเที่ยว และการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ” พิพัฒน์ กล่าวและว่า “ส่วนภาพรวมของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ หลายๆส่วนน่าฟื้นตัว แต่ไม่ได้เป็นแรงส่งที่บูม ถึงขนาดทำให้การส่งออกของเรากลับมาดีขึ้นได้ และโดยรวมแล้วปัจจัยภายนอกยังมีความเสี่ยงอยู่ และเป็นแรงกดดันต่อภาคส่งออกของไทย…”
.............................................
ปี 2566 ที่เพิ่งผ่านพ้นไปนั้น
นับเป็นอีกปี ที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่ล่าช้า ส่งผลให้การจัดทำงบประมาณปี 2567 ล่าช้าอย่างน้อย 6 เดือน ขณะที่เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้ในช่วง 7 เดือนแรกปี 2566 การส่งออกไทยติดลบทุกเดือน ก่อนพลิกกลับมาเป็นบวกในเดือน ส.ค.2566 แต่ก็คาดว่าทั้งปี 2566 การส่งออกไทยน่าจะติดลบที่ 1%
ที่สำคัญเศรษฐกิจไทยที่เพิ่งฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 ไม่นานนัก และต้องมาเจอกับแรงกดดันต่างๆ รวมถึงผลกระทบจาก 'ปัจจัยลบ' ทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศนั้น ทำให้หน่วยงานเศรษฐกิจของภาครัฐ ต้องทยอยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ลงมาเกือบตลอดทาง
เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ ‘แบงก์ชาติ’ ที่เดิมประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2566 จะขยายตัวได้ที่ระดับ 3.7% (ประมาณการเมื่อเดือน พ.ย.2565) นั้น ธปท.ได้ปรับคาดการณ์จีดีพีเหลือ 3.6% ในเดือน มี.ค.2566 ก่อนปรับจีดีพีลงมาเหลือ 2.8% ในเดือน ก.ย.2566 และปรับลดจีดีพีเป็น 2.4% ในเดือน พ.ย.2566 ที่ผ่านมา
หรือ สำนักสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ ‘สภาพัฒน์’ เดิมคาดว่าเศรษฐกิจปี 2566 จะขยายตัวได้ 3-4% (ประมาณการเมื่อเดือน พ.ย.2566) แต่แล้วสภาพัฒน์ได้ปรับลดเป้าจีดีพีเหลือ 2.7-3.7% ในเดือน ก.พ.2566 และปรับลดจีดีพีเป็น 2.5-3% ในเดือน ส.ค.2566 โดยล่าสุด (พ.ย.2566) ปรับลดจีดีพีลงมาอยู่ที่ 2.5%
@สศช.คาดปี 67 จีดีพีโต 2.7-3.7%-ธปท.มอง 3.2%
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2567 นั้น สภาพัฒน์ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะขยายตัวที่ 2.7-3.7% มีค่ากลาง 3.2% ซึ่งยังไม่รวมโครงการแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเลต โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกที่กลับมาขยายตัว การลงทุนที่อยู่ในเกณฑ์ดี การอุปโภคบริโภคที่ขยายตัวต่อเนื่อง และการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว
“เศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้” ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. แถลงเมื่อวันที่ 20 พ.ย.2566 ที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ดนุชา ได้ระบุว่า “เศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องได้รับการปรับโครงสร้างอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้เพียง 3% กว่าๆ เท่านั้น”
ขณะที่ ธปท. คาดการณ์ว่าในปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ระดับ 3.2% แต่ถ้ารวมผลจากโครงการดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท แล้ว เศรษฐกิจไทยปี 2567 จะขยายตัวได้ที่ 3.8%
“โดยภาพรวมแล้ว เศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง” ปิติ ดิษยทัต เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงเมื่อวันที่ 29 พ.ย.2566 พร้อมทั้งระบุว่า “ปีหน้า (2567) มีความเสี่ยงทั้งจากภายนอก เช่น เศรษฐกิจโลก สถานการณ์ในตะวันออกกลาง ราคาน้ำมันโลก ส่วนภายในประเทศนั้น มีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับมาตรการรัฐ (ดิจิทัลวอลเลต)”
ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธปท. ในฐานะโฆษก ธปท. กล่าวในการแถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินประจำเดือน เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2566 โดยให้มุมมองเกี่ยวกับโจทย์ท้าทายของเศรษฐกิจไทยปี 2567 ว่า ปัจจัยหลักๆที่ต้องจับตามอง จะมีเรื่องความขัดแย้งหรือปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ และพัฒนาการเศรษฐกิจในต่างประเทศ
“สิ่งที่คงต้องจับตามองอยู่ หลักๆ ถ้าเป็นข้างนอก ก็มีเรื่องความขัดแย้ง หรือปัจจัยเรื่องปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงเรื่องพัฒนาการทางเศรษฐกิจของต่างประเทศ ซึ่งในเรื่องความเชื่อมั่นนั้น นักธุรกิจเองก็จับตามองในเรื่องเศรษฐกิจที่ชะลอลงว่า จะ Soft Landing หรือจะเป็นอย่างคาดไว้หรือเปล่า
ส่วนในประเทศ จะเป็นเรื่องเอลนีโญ และเรื่องปัจจัยเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะในเรื่องปัจจัยเชิงโครงสร้างนั้น ต้องบอกว่า ตอนนี้เราถึงจุดที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากโควิด กลับมาเกือบปกติ ซึ่งบางกลุ่มอาจถึงแล้ว บางกลุ่มยังไม่ถึง แต่ส่วนใหญ่กลับมาถึงจุดก่อนโควิดแล้ว
เพราะฉะนั้น ในระยะต่อไป คงขึ้นอยู่กับพัฒนาการ และการปรับตัวเข้าสู่ภาวะหลังโควิด ว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างที่เรามี จะส่งผลต่อการปรับตัวของเรามากน้อยแค่ไหน การได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจต่างประเทศ รวมถึงการผลิตและการบริโภคในประเทศ มากน้อยแค่ไหน เป็นจุดที่ต้องจับตามอง” ชญาวดี ระบุ
ส่วน กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 จะขยายตัวเร่งขึ้นที่ 3.2% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.2-4.2%) ซึ่งยังไม่ได้รวมผลกระทบของมาตรการเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet
โดยปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ได้แก่ การบริโภคภาคเอกชนที่คาดว่าจะขยายตัว 3.1% ,การส่งออกสินค้าที่คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวที่ 4.4% และส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ โดยคาดว่าการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวได้ที่ 3.5% ต่อปี ขณะที่จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทย 34.5 ล้านคน
@เศรษฐกิจอาจโตต่ำ 3%-ห่วงไทยเสียความสามารถการแข่งขัน
พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัวต่ำกว่า 3% แต่หากโครงการดิจิทัลวอลเลตเกิดขึ้นได้ จะทำให้จีดีพีขยายตัว 3.6-3.7%
“มองไปในปี 2567 ความคาดหวังอยู่ที่การท่องเที่ยว และการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ” พิพัฒน์ กล่าวและว่า “ส่วนภาพรวมของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ หลายๆส่วนน่าฟื้นตัว แต่ไม่ได้เป็นแรงส่งที่บูม ถึงขนาดทำให้การส่งออกของเรากลับมาดีขึ้นได้ และโดยรวมแล้วปัจจัยภายนอกยังมีความเสี่ยงอยู่ และเป็นแรงกดดันต่อภาคส่งออกของไทย”
พิพัฒน์ กล่าวด้วยว่า ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยค่อยๆสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะในหลายอุตสาหกรรมที่ไทยเคยเป็นผู้ส่งออก แต่วันนี้ไทยกลายเป็นผู้นำเข้าแล้ว และจะพบว่าทุกครั้งที่เกิดวิกฤต trend growth (แนวโน้มการเติบโต) ของเศรษฐกิจไทยตกลงทุกครั้ง
“คนตั้งความหวังกับดิจิทัลวอลเลตเยอะ คิดว่าถ้ามา ก็คงดันให้เศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะจะทำให้ตัวเลขโตเกิน 3% ได้ หรืออาจโต 3.6-3.7% แต่ถ้าไม่มีดิจิทัลวอลเลต ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจน่าจะเติบโตต่ำกว่า 3% โดยพระเอกก็ยังเป็นการท่องเที่ยวที่ฟื้นคืนมากจากฐานที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งเราคาดว่าในปีนี้นักท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 35 ล้านคน
แต่พอในปีถัด (2568) คาดว่านักท่องเที่ยวจะไม่โตแล้ว หรืออย่างเก่งก็ขึ้นมานิด และนักท่องเที่ยวทุกๆ 1 ล้านคน ทำให้จีดีพีโตได้ 0.2% จึงมีคำถามว่า ในปีถัดไป เราจะเอาอะไรมาโต ส่วนการส่งออกแม้ว่าจะยังพึ่งพาได้ แต่สิ่งที่เราเจอ คือ ในปี 2566 การส่งออกติดลบ จากปัญหาขีดความสามารถในการแข่งขัน และเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน
แล้วถ้าปี 2567 การส่งออกเปลี่ยนจากติดลบกลับมาเป็นบวก ซึ่งถือว่าช่วยแล้ว แต่เรากำลังปัญหาในระยะยาว คือ หลายอุตสาหกรรมของเรากำลังเจอปัญหาใหญ่ อย่างรถยนต์ เราเคยส่งออกรถยนต์ ICE (เครื่องยนต์สันดาป) แต่วันนี้เราเริ่มเปลี่ยนจากการส่งออกรถยนต์ กลายมาเป็นคนที่ต้องนำเข้ารถยนต์แล้ว
แล้วก็จะเห็นอย่างนี้ในหลายอุตสาหกรรม เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เราเคยเป็นผู้ส่งออกทีวี ตอนนี้เราต้องนำเข้าทีวี นำเข้าเครื่องซักผ้า นำเข้าหม้อหุงข้าว มันเหมือนกับว่าความสามารถในการแข่งขันเรากำลังเจอปัญหา และค่อยๆเจอทีละอุตสาหกรรม อย่างอิเล็กทรอนิกส์ วันนี้คนเลิกใช้ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์แล้ว ผมว่าประเด็นพวกนี้สำคัญมาก เรามองแค่ระยะสั้น
แต่ถ้ามองในระยะยาวๆออกไป เรากำลังเจอจุดเปลี่ยนที่สำคัญมากของเศรษฐกิจ และถ้าดู trend growth จะเห็นว่าค่อยๆตกลงมาเรื่อยๆทุกครั้งที่เราเจอวิกฤต และรอบนี้ก็น่าจะเหมือนกัน คือ trend growth sหลังจากโควิด ไม่สามารถกลับไปหา trend growth ก่อนเกิดโควิดได้แล้ว ถ้าเราไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง” พิพัฒน์ กล่าว
พิพัฒน์ ย้ำว่า “ถ้าเราดูตัวเลขเศรษฐกิจปี 2567 จะดีกว่าปี 2566 นิดหนึ่ง หรือใกล้เคียง แต่หลังจากปี 2567 เป็นต้นไป ปัญหานี้ (การสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของประเทศ) จะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และถ้าปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ เศรษฐกิจไทยจะโตช้าไปเรื่อยๆ”
พิพัฒน์ ยังประเมินผลกระทบของปัจจัยทางการเมืองที่มีต่อเศรษฐกิจไทยปี 2567 ว่า ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอันหนึ่ง คือ เรื่องงบประมาณ เพราะงบประมาณปี 2567 ยังไม่เข้าวาระหนึ่งเลย และเร็วที่สุดที่งบปี 2567 จะออกได้ คือ เม.ย.-พ.ค.2567 ทำให้การเบิกจ่ายทำได้ช้ามาก ซึ่งเป็นแรงกดดันในระยะสั้น รวมถึงความไม่แน่นอนในการแจกเงินดิจิทัลวอลเลตด้วย
“ยิ่งการเมืองไม่มี strong mandate ที่จะทำให้ออกมาเร็วๆ ผมว่าอันนี้ค่อนข้างอันตราย และเรื่องดิจิทัลวอลเลตเองก็เป็นปัญหา มีความไม่แน่นอนค่อนข้างเยอะ แล้วถามว่าเอกชนทำอะไร ผมว่าเอกชนงงไปหมดแล้วว่า สุดท้ายแล้วจะให้เขาเตรียมของหรือไม่เตรียมของ
ถ้ามาชัวร์ เขาก็จะรู้ว่าเขาต้องทำอะไร แต่จะมาหรือเปล่าก็ไม่รู้ แล้วยังไปกระทบเรื่องนโยบายด้วย เช่น เรื่องดอกเบี้ย แล้วภาคการเงินต้องเตรียมตัวอย่างไร ความไม่แน่นอนในเรื่องการเมือง มันไปกระทบนโยบายเศรษฐกิจจริงๆ” พิพัฒน์ กล่าว
@‘ไขปริศนามังกร’ มองแจกเงินดิจิทัลสร้างความเสี่ยง
ด้าน อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) ระบุว่า CIMBT คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะขยายตัวได้ 3.1% จากปี 2566 ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 2.4% โดยมีแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวใน 3 ภาคส่วนสำคัญ ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการเกษตร และภาคการผลิต
อย่างไรก็ดี หากรวมโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เข้าไปในประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 แล้ว ก็คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ถึง 3.6%
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม คงเป็นเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างสหรัฐ-จีน ,รัสเซีย-ยูเครน และเรื่องในตะวันออกกลาง ทะเลแดง ที่ยังคงลากยาว ขณะที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ และการเลือกตั้งไต้หวัน อาจทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น และอาจฉุดแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ได้
“ปีนี้ความหวังของเราอยู่ที่การส่งออกและการท่องเที่ยว แต่ถ้าบรรยากาศตึงเครียดมากขึ้น การส่งออกอาจไม่เป็นอย่างที่คาดไว้ อีกทั้งความเสี่ยงในภาคเกษตรที่มีค่อนข้างสูงอาจทำให้กำลังซื้ออ่อนแอ รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงด้วย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าในช่วงครึ่งแรกของปี แต่เราก็มองว่าในช่วงครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจจะดีขึ้น จากอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง
กำลังซื้อที่เริ่มดีขึ้นหลังจากสถานการณ์ภัยแล้งคลี่คลาย รายได้นอกภาคเกษตรเริ่มขยายตัวจากการส่งออกที่มีการเติบโตชัดเจนขึ้น และถ้าจะทำให้เศรษฐกิจโตดีกว่าคาดไว้ ส่วนใหญ่แล้วก็ต้องขึ้นอยู่กับการส่งออก การท่องเที่ยว กำลังซื้อระดับกลางและบน รวมทั้งการเบิกจ่ายภาครัฐ” อมรเทพ กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา
ส่วนปัจจัยเสี่ยงการเมืองในประเทศ นั้น อมรเทพ ระบุว่า เราไม่ได้มองว่าภาพตรงนี้ว่าจะมีความกังวลรุนแรง แต่ก็ต้องจับตามอง เพราะจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภค และต้องติดตามว่าผลักดันนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 1 หมื่นบาทของรัฐบาลจะสำเร็จหรือไม่ เนื่องจากมีผลกระทบหลายด้าน
“ถ้าเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทฝ่าด่านทดสอบออกมาได้ สภาพคล่องจะตึงตัวมากขึ้น บอนด์ยีลด์จะขยับขึ้น รวมทั้งจะมีกระแสเงินทุนไหลออก ตรงนี้เรามองว่าเป็นความเสี่ยง” อมรเทพ กล่าว
ทั้งนี้ อรเทพ ระบุด้วยว่า กุญแจสำคัญในการไข ‘ปริศนามังกร’ อยู่ที่ว่าไทยจะสามารถรักษาสมดุลทิศทางดอกเบี้ยขาลงของตลาดการเงินโลก กับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้อย่างราบรื่นมากน้อยแค่ไหน โดยไม่ส่งผลกระทบให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรพุ่งสูงหรือให้เงินไหลออก
@‘กสิกรไทย’แนะแก้เศรษฐกิจฝืดเคือง-ควบคู่โครงสร้าง
ส่วน บุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวระหว่างการแถลง ‘เศรษฐกิจไทย 2024-โอกาสและความเสี่ยง’ เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2566 ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 3.1% แต่หากรวมมาตรการ Digital Wallet คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ถึง 3.6%
“เรามองว่าปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะโตได้ประมาณ 3.1% จากการลงทุนและการบริโภค รวมถึงการส่งออกที่จะกลับมาขยายตัว โดยเฉพาะการส่งออก เราคาดว่าจะโตได้ประมาณ 2% จากปีแล้วที่การส่งออกติดลบ ส่วนนักท่องเที่ยวน่าจะเข้ามาได้ถึง 30.6 ล้านคน แต่รายได้ยังไม่กลับไปเหมือนเมื่อปี 2562” บุรินทร์ กล่าว
บุรินทร์ ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ยังคงมีความท้าทายอยู่ เนื่องจากนักท่องเที่ยวยังไม่กลับมาเป็นปกติ ส่วนการส่งออก แม้ว่าจะค่อยๆฟื้นตัว แต่เป็นการฟื้นตัวในระดับที่ยังไม่เต็มที่และยังไม่เต็มศักยภาพ และปี 2567 นักธุรกิจไทยต้องเจอกับการแข่งขัน และความท้าทายจากการที่สินค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าจีนที่เข้าแข่งด้านราคา
“จีนเขาใหญ่กว่า ผลิตอย่างไร ก็ได้ราคาต่ำกว่า ตัวนี้ก็จะเป็นความท้าทาย” บุรินทร์ กล่าว พร้อมระบุว่า เรื่องหนี้สินครัวเรือนของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข และต้องติดตามต่อไปว่ามาตรการแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนของรัฐบาลจะได้ผลมากน้อยเพียงใด
บุรินทร์ กล่าวด้วยว่า ในเรื่องระยะยาว ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศไทย เช่น เรื่องการศึกษา เรื่องกฎหมาย เรื่องสังคมสูงวัย เรื่องทักษะฝีมือแรงงานของแรงงานไทยที่ไม่สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน และการดึงแรงงานที่มีคุณภาพเข้ามาในประเทศต่างๆ นั้น รัฐบาลควรเข้ามาแก้ปัญหาในเรื่องเหล่านี้ควบคู่กับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจอื่นๆ
“สิ่งที่รัฐบาลทำได้โดดเด่นมาก คือ การไปเชื้อเชิญนักลงทุนจากต่างชาติเข้ามา โดยเฉพาะบรรษัทข้ามชาติใหญ่ๆที่กำลังจะเข้ามาในประเทศ ตรงนี้เป็นจุดที่ดี แต่กว่าจะเปลี่ยนมาเป็นงาน เป็นการลงทุน ต้องใช้เวลาพักหนึ่ง เพราะฉะนั้น มันมีปัญหาที่รัฐบาลต้องรีบแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหนี้ เรื่องภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง กำลังซื้อที่ยังถดถอยอยู่” บุรินทร์ ระบุ
@สรท.คาดส่งออกปี 67 โต 2%-วอน‘รบ.-ธปท.’ดูแลค่าเงิน
ขณะที่ ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ว่า สรท. คาดว่าการส่งออกในปี 2567 จะขยายตัว 2% จากปี 2566 ที่คาดว่าจะติดลบ 1% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกไปตลาดหลักและตลาดใหม่ ที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากปีที่แล้ว
“ในช่วงท้ายๆของปี 2566 ดูแล้ว ภาคการผลิตของจีนค่อยๆปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าจะดีขึ้นช้าๆ แต่ดีกว่าปีที่แล้ว ทำให้การส่งออกไปตลาดหลักน่าจะดีขึ้น ส่วนการส่งออกไปตลาดใหม่ เช่น อินเดีย แอฟริกาใต้ และตะวันออกกลาง น่าจะเห็นโอกาสอันสดใส และถ้าดูในแง่สินค้า เราคาดว่าสินค้าเกษตร ยังมีปัจจัยที่เอื้ออำนวยและผลักดันต่อไปได้
อันถัดมา ในเรื่องสินค้าอุตสาหกรรมของเรา ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ พวกนี้ ของเราเป็นอุตสาหกรรมที่ครบวงจร ก็อาจเป็นแรงเสริมได้ จึงสรุปว่าการส่งออกปี 2567 ในภาพรวมน่าจะเติบได้ 2% ในขณะที่ระดับราคาน้ำมันก็อยู่ในระดับที่คงที่ ไม่สูงขึ้น ทำให้ภาคการผลิตและส่งออกควบคุมต้นทุนได้” ชัยชาญ กล่าว
ชัยชาญ มองว่า การส่งออกไทยปี 2567 มีปัจจัยเสี่ยงหลายเรื่อง เช่น สงครามยูเครน-รัสเซีย ,อิสราเอล-กลุ่มฮามาส ที่ยังมีความน่ากังวลอยู่ เสถียรภาพการขนส่งทางเรือในช่วงต้นปี 2567 จากเหตุการณ์ไม่สงบในทะเลแดง และต้องดูว่าค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวและปรับตัวอย่างไร รวมถึงผลกระทบจากเอลนีโญที่มีต่อผลผลิตสินค้าเกษตร
“ผู้ส่งออกอยากให้รัฐบาลและแบงก์ชาติช่วยกันดูแลเรื่องเสถียรภาพค่าเงินบาท ซึ่งตอนนี้บางแบงก์บอกว่าจะ (ค่าเงินบาท) จะแข็งตัว บางแบงก์บอกว่าจะอ่อนค่า อย่างนี้คือว่า มันเกิดความไม่แน่นอน และเข้ามาเติมสินเชื่อหมุนเวียนให้ SMEs ดูแลดอกเบี้ย รวมทั้งดูแลต้นทุนการผลิตให้ผู้ประกอบการ เช่น ค่าไฟฟ้า และค่าแรง” ชัยชาญกล่าว
เหล่านี้เป็นมุมมองของผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่เกี่ยวข้องในแวดวงเศรษฐกิจ ซึ่งต่างก็มองว่าในปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเกิน 3% แม้ว่าจะมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆเข้ารบกวนได้ตลอดเวลา ที่สำคัญมีการมองว่าการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาทของ รัฐบาล ‘เศรษฐา ทวีสิน’ มีทั้งจุดดีในแง่การกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็มีผลกระทบตามมาอยู่ไม่น้อย!
อ่านประกอบ :
มติเอกฉันท์! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 2.5%-หั่นคาดการณ์จีดีพีปีนี้เหลือ 2.4%
สศช.เผยGDPไตรมาส 3/66 โต 1.5% คาดทั้งปี 2.5%-ปีหน้า 2.7-3.7% ยังไม่รวมแจก'หมื่นดิจิทัล'
ส่องเศรษฐกิจไทยปี 66 ‘ท่องเที่ยว-บริโภค’หนุนจีดีพีโต 3-3.8%-ห่วงโลกเสี่ยงฉุดส่งออก‘ติดลบ’