"...พฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ คือ การแก้ไขเช็คของผู้ประกอบการ ที่กรมสรรพากรจ่ายเงินภาษีคืนให้เป็นชื่อของตนเองแล้วนำเข้าบัญชีธนาคารของตนเอง จากนั้นเมื่อกรมสรรพากรตีเช็คฉบับใหม่ ๆ ออกมาให้กับผู้ประกอบการรายอื่น ก็จะไปแก้ไขเช็คทยอยนำเงินมาคืนให้กับผู้ประกอบการที่ถูกยักยอกเงินไปแล้วก่อนหน้านั้นคล้ายกับกระบวนการแชร์ลูกโซ่ นำเงินผู้ประกอบการรายใหม่ มาจ่ายคืนให้กลับผู้ประกอบการรายเดิมวนไปเรื่อย ๆ ซึ่งการทยอยคืนเงินอาจจะช้าไป 5 - 6 เดือน แล้วก็ทำในลักษณะนี้เรื่อย ๆ ไปเพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการที่ถูกยักยอกเงินไปโวย แต่ให้เข้าใจว่า ได้เงินคืนล่าช้า..."
คดีโกงเงินคืนภาษีของเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรพื้นที่อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ วงเงินกว่า 800 ล้านบาท ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ติดตามตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกมานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบอยู่ในขณะนี้
นับจนถึงเวลานี้ สามารถขมวดประเด็นสำคัญที่ตรวจสอบพบได้หลายประการดังต่อไปนี้
1. จุดเริ่มต้นคดี เกิดขึ้นจากการที่ กรมสรรพากร ส่งตัวแทนเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ กล่าวโทษ สรรพากรอำเภอบางเสาธงรายหนึ่ง ในคดีโกงภาษีที่คืนให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยมีพฤติการณ์แก้ไขเช็คเอาเงินเข้าบัญชีตัวเอง รวมมูลค่ากว่า 800 ล้านบาท หลังมีการตรวจสอบพบปัญหาเรื่องนี้ เมื่อเดือน ก.ค.2565 ที่ผ่านมา
จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น พบพฤติการณ์ของผู้เกี่ยวข้องในคดีนี้ จำนวน 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นสรรพากรอำเภอบางเสาธง ที่เป็นคนแก้ไขเช็คเอาเงินเข้าบัญชีตัวเองที่ธนาคารกรุงไทย สาขาในพื้นที่บางเสาธง ส่วนที่สอง เมื่อเงินเข้าบัญชีแล้ว ผู้เกี่ยวข้องอีกกว่า 3 ราย จะแยกกันไปทำเรื่องถอนเงินจากบัญชีที่ธนาคารสาขาใกล้เคียง ซึ่งหลังการสอบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรบางเสาธง ได้ส่งสำนวนคดีไปให้ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสมุทรปราการรับไปดำเนินการสอบสวนตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อแล้ว
2. ปัจจุบัน สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสมุทรปราการ รับคดีนี้ไปดำเนินการสอบสวนตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อแล้ว มีการอายัดบัญชีของสรรพากรอำเภอบางเสาธงที่เกี่ยวข้อง พบว่ามีเงินเหลือในบัญชีน้อยมาก ขั้นตอนกระบวนการสอบสวนของ ป.ป.ช. มี 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเกี่ยวกับตัวการผู้กระทำผิด และผู้สนับสนุน พบหลักฐานเท่าใด หลักฐานไปถึงไหน ก็จะมีการดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ส่วนที่สอง สอบเส้นทางการเงินและการร่ำรวยผิดปกติของผู้ที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวทุกคน
3. ข้อมูลในส่วนของกรมสรรพากร ที่สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันเป็นทางการ คือ
3.1 คดีนี้ กรมสรรพากร มีคำสั่งให้ผู้เกี่ยวข้องออกจากราชการไปแล้ว จำนวน 4 ราย แยกเป็น ข้าราชการสรรพากร 3 ราย และผู้เกี่ยวข้องที่เป็นลูกจ้างชั่วคราว 1 ราย หลังจากให้ออกจากราชการแล้ว ทางสรรพากรยังจะทำเรื่องการสอบสอนทางวินัยต่อ ว่ามีผู้เกี่ยวข้องอีกหรือไม่
3.2 ในการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น มีตัวเลขความเสียหายที่เกิดขึ้นประมาณ 159 ล้านบาท เอกชนที่ได้รับความเสียหายมีประมาณ 20 กว่าแห่ง
ทั้งนี้ ผู้บริหารระดับสูงของกรมสรรพากร ยืนยันว่า จะมีการร้องทุกข์กล่าวโทษกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน ไม่ว่าจะเป็นตัวการใหญ่ และผู้สนับสนุน จะมีการดำเนินการในการคดีอย่างเด็ดขาด
สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาบางเสาธง
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากข้อมูลที่ได้รับทั้งหมด จะพบว่าคดีนี้มีข้อน่าเป็นห่วงสำคัญ 3 ส่วนหลัก คือ
หนึ่ง. เงื่อนเวลา
กล่าวคือ สรรพากร ตรวจสอบพบปัญหาเรื่องนี้ในช่วงเดือน ก.ค.2565 และมีการเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรบางเสาธง เพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องต่อ หากนับเงื่อนเวลาจนถึงปัจจุบันจะเห็นได้ว่า ผ่านมาแล้วหลายเดือน
คำถาม คือ ณ วันนี้สรรพากรและหน่วยงานตรวจสอบที่เกี่ยวข้อง พอจะทราบข้อมูลชัดเจนแล้วหรือไม่ว่า เงินคืนภาษีจำนวนมาก ที่ถูกโกงไป ปัจจุบันไปอยู่ที่ไหน?
เพราะต้องไม่ลืมข้อมูลสำคัญว่า หลังจากที่ ป.ป.ช. มีการอายัดบัญชีของสรรพากรอำเภอบางเสาธงที่เกี่ยวข้อง พบว่า มีเงินเหลือในบัญชีน้อยมาก
ถ้ายิ่งช้าเงินก็จะยิ่งถูกกระจายต่อไปเรื่อย ๆ จนอาจจะไม่สามารถติดตามกลับมาได้
ซึ่งบทเรียนจากคดีทุจริตคืนภาษี 4.3 พันล้าน ในอดีตก็มีให้เห็นเป็นตัวอย่างชัดเจนอยู่แล้ว ที่ปัจจุบันผู้กระทำความผิด-เงินภาษีจำนวนมากยังไม่สามารถติดตามได้
หรือมีกระบวนการพิเศษอะไรอื่น เข้ามาเกี่ยวข้องเพิ่มเติมในเรื่องนี้ด้วย? จึงทำให้กระบวนการสอบสวนต้องใช้เวลานานเป็นพิเศษ
สอง. มูลค่าความเสียหายเท่าไรกันแน่?
ประเด็นนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างมากเช่นกัน เพราะตามรายงานข่าวครั้งแรก ที่สำนักข่าวอิศราได้รับ ตัวเลขความเสียหายถูกระบุยอดถึง 800 ล้านบาท แต่เมื่อสอบถามไปยังผู้บริหารกรมสรรพากร ได้รับการยืนยันตัวเลขอยู่ที่ 159 ล้านบาท เท่านั้น
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบยืนยันข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า การที่กรมสรรพากร ออกมาระบุว่า ตัวเลขความเสียหายอยู่ที่ตัวเลขเพียง 159 ล้านบาท นั้น
วิธีการนับของกรมสรรพากร มาจากบริษัทไหนที่ยังไม่ได้รับเงินคืนภาษี ก็จะจ่ายเงินชดเชยตัวเลขความเสียหายที่ถูกยักยอกไปให้
แต่ความเป็นจริงแล้ว พฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ คือ การแก้ไขเช็คของผู้ประกอบการ ที่กรมสรรพากรจ่ายเงินภาษีคืนให้เป็นชื่อของตนเองแล้วนำเข้าบัญชีธนาคารของตนเอง
จากนั้นเมื่อกรมสรรพากรตีเช็คฉบับใหม่ ๆ ออกมาให้กับผู้ประกอบการรายอื่น ก็จะไปแก้ไขเช็คทยอยนำเงินมาคืนให้กับผู้ประกอบการที่ถูกยักยอกเงินไปแล้วก่อนหน้านั้น
คล้ายกับกระบวนการแชร์ลูกโซ่ นำเงินผู้ประกอบการรายใหม่ มาจ่ายคืนให้กลับผู้ประกอบการรายเดิมวนไปเรื่อย ๆ
ซึ่งการทยอยคืนเงินอาจจะช้าไป 5 - 6 เดือน แล้วก็ทำในลักษณะนี้เรื่อย ๆ ไปเพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการที่ถูกยักยอกเงินไปโวย แต่ให้เข้าใจว่า ได้เงินคืนล่าช้า (ดูอินโฟประกอบท้ายเรื่อง)
แต่สุดท้ายความก็มาแตกในภายหลัง ซึ่งถ้านับจำนวนเช็คที่ถูกแก้ไขมีการยักยอกเงินไปแล้วนำเงินผู้ประกอบการรายใหม่มาคืน ตัวเลขความเสียหายจะอยู่ที่ 800 ล้านบาท
เบื้องต้น สำหรับบริษัทที่เสียหายมีข้อมูลชัดเจนแล้ว ประมาณ 20 แห่ง ที่ต้องจ่ายเงินชดเชยรวมตัวเลขประมาณ 159 ล้านบาท ยังรอการยืนยันข้อมูลเพิ่มอีก 10 บริษัท ซึ่งบริษัทกลุ่มใหม่ คาดว่าน่าจะเป็นบริษัทรายใหญ่ ตัวเลขความเสียหายค่อนข้างสูง
ขณะที่กรมสรรพากร ในท้ายที่สุดแล้ว ถ้าไม่สามารถตามเงินเก่าที่ถูกยักยอกไปกลับคืนมา แล้วจะต้องเสียเงินชดใช้ผู้ประกอบการอีก ความเสียหายอาจจะต้องนับเป็น 2 เท่าก็ได้
สาม. โมเดลทุจริตคืนภาษีรูปแบบใหม่
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับรูปแบบปัญหาการกระทำความผิดที่ถูกตรวจสอบพบดังกล่าว จะเห็นได้ว่ากระบวนการคืนภาษีของกรมสรรพากร มีช่องโหว่สำคัญเกิดขึ้นอย่างชัดเจน
แต่ที่น่าสนใจมากกว่านั้น รูปแบบการกระทำความผิดดังกล่าว ที่อาจจะนับได้ว่าเป็นโมเดลทุจริตคืนภาษีรูปแบบใหม่
เกิดขึ้นเฉพาะแค่ในพื้นที่อำเภอบางเสาธงหรือไม่? พื้นที่อื่นมีปัญหาแบบเดียวกันหรือไม่?
เพราะถ้าหากขยายผลสอบไปยังพื้นที่อื่น ๆ แล้วพบว่ามีรูปแบบนี้เกิดขึ้นด้วย
กรณีการโกงเงินคืนภาษีในพื้นที่บางเสาธง จะกลายเป็นยอดภูเขาน้ำแข็งใต้ผิวน้ำลูกใหม่ ที่ซ่อนความเสียหายครั้งใหญ่ให้กับกระบวนการทำงานคืนภาษีของกรมสรรพากรอีกครั้ง
ต่อเนื่องจากคดีทุจริตคืนภาษีมูลค่าเพิ่มมูลค่าความเสียหายกว่า 4.3 พันล้านบาท เมื่อปี 2556 ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และยังคอยตามหลอกหลอนคนสรรพากรมาถึงทุกวันนี้
ซึ่งนับเป็นเรื่องสำคัญที่กรมสรรพากร รวมไปถึงหน่วยงานตรวจสอบที่เกี่ยวข้องต้องรีบวางแผนหาแก้ไขปัญหาทั้งระบบ โดยเร็วที่สุด
อ่านประกอบ :
- โกงคืนภาษี 800 ล.! สรรพากร กล่าวโทษ จนท.บางเสาธง แก้ไขเช็คเอาเงินเข้าบัญชีตัวเอง (1)
- ไม่ใช่แค่สรรพากรอำเภอ! พฤติการณ์โกงคืนภาษี800 ล. มีผู้เกี่ยวข้องอีกกว่า3 ราย คอยช่วย (2)
- เสียหาย 159 ล.! อธิบดีสรรพากร แจงคดีโกงเงินคืนภาษีบางเสาธง ให้จนท.ออกราชการไปแล้ว (3)
- ป.ป.ช.ล่าตัวการใหญ่! คดีโกงคืนภาษี800 ล.บางเสาธง 'สรรพากร' ให้ออกราชการไปแล้ว 2 คน (4)