"...พฤติกรรม ของจําเลยที่ 1 ที่อาศัยโอกาสจากตําแหน่งหน้าที่ราชการในฐานะผู้อํานวยการโรงเรียนบ้านศาลเจ้าพ่อบริหารเงินของโรงเรียนที่ได้รับบริจาคมาแบบไม่โปร่งใสตรงไปตรงมา และใช้อํานาจในตําแหน่งโดยทุจริตเขียนโครงการทําเอกสารเท็จขึ้นมา โดยรู้อยู่แล้วว่าข้อเท็จจริงที่จําเลยที่ 1 รับรองเป็นเอกสารเท็จ เพื่อเบิกเงินมาจ่ายค่าวัสดุก่อสร้างและค่าแรงที่ค้างชําระโดยไม่มีการสร้างห้องส้วมนักเรียนตามโครงการจริง นับว่าเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีต่อองค์กรและเป็นภัยร้ายแรงต่อระบบราชการ..."
การที่จําเลยทั้งสามร่วมกันจัดทําเอกสารดังกล่าวขึ้นนั้น เป็นการร่วมกันทําเอกสารโดยรับรองเป็นหลักฐานว่า ตนได้กระทําการอย่างใดขึ้น หรือว่าการอย่างใดได้กระทําต่อหน้าตน อันเป็นความเท็จ และรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้น มุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ
ทั้งที่จําเลยทั้งสามทราบดีอยู่แล้วว่า ร้านพลอยรับเหมาก่อสร้างไม่เคยตกลงรับจ้าง สร้างห้องส้วมนักเรียน 10 ห้อง (งบเหลือจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ.2561) จํานวน 129,300 บาท ของโรงเรียนบ้านศาลเจ้าพ่อ และไม่มีการสร้างห้องส้วมตามโครงการจริงแต่อย่างใด
คือ เนื้อหาคำสำคัญเกี่ยวกับพฤติการณ์การกระทำความผิด ที่ปรากฎอยู่ในคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 คดีกล่าวหา นางลภาภัทร พลสิทธิ์ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปัตตานี เขต 3 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านศาลเจ้าพ่อ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา กับพวก คือ นางประคอง ธนูปกรณ์ และนางสาวสายสุณีย์ แสงก่ำ กรณีเบิกงบก่อสร้างห้องน้ำซ้ำซ้อน ทั้ง ๆ ที่ได้รับบริจาคมาจากภาคเอกชนอยู่แล้ว
ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
- ตัดสินแล้ว! คุก 5 ปี อดีตผอ.ร.ร.ทุจริตงบสร้างห้องน้ำ-พวก2 ราย รอลงอาญา-ร่วมชดใช้1.2 แสน
- ทำเอกสาร-หลักฐานเท็จ ฉบับเต็ม (1) คำพิพากษาคุก 5 ปี อดีตผอ.ร.ร.ทุจริตเงินสร้างส้วม
ต่อไปนี้ เป็นรายละเอียดคำพิพากษาส่วนที่เหลือ เกี่ยวกับคำวินิจฉัยตัดสินคดีนี้ของศาลฯ
ปรากฏข้อมูลดังต่อไปนี้
พิเคราะห์พยานหลักฐาน
ศาลฯ พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ จําเลยทั้งสาม รายงานและสํานวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว
ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่โต้แย้งกัน รับฟังเป็นยุติว่า ขณะเกิดเหตุ จําเลยทั้งสามเป็นข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา
จําเลยที่ 1ดํารงตําแหน่งผู้อํานวยการโรงเรียนบ้านศาลเจ้าพ่อ ตําบลวังน้ำเขียว อําเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
จําเลยที่ 2 ดํารงตําแหน่งครูชํานาญการพิเศษ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่ การเงินของโรงเรียนบ้านศาลเจ้าพ่อ
ส่วนจําเลยที่ 3 ดํารงตําแหน่งครูชํานาญการ ได้รับแต่งตั้ง ให้เป็นเจ้าหน้าที่พัสดุ ตามคําสั่งโรงเรียนบ้านศาลเจ้าพ่อ ที่ 29/2561 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2561 และที่ 93/2561 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2561
จําเลยทั้งสามจึงเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย
เมื่อประมาณเดือนมกราคม 2561 นาง ล. หรือคุณไก่ ห้างปืนวังบูรพา และคณะ ขอบริจาค เงินสร้างห้องส้วมนักเรียนให้แก่โรงเรียนบ้านศาลเจ้าพ่อในนาม “ห้างปืนวังบูรพา” 10 ห้อง ประมาณการค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างเป็นเงิน 255,172 บาท แยกเป็นค่าวัสดุก่อสร้าง 151,542 บาท ค่าแรง 94,340 บาท และงานไฟฟ้า 9,250 บาท
ต่อมาวันที่ 2 เมษายน 2561 ได้เปิดบัญชีที่ธนาคารกสิกรไทย จํากัด (มหาชน) สาขาวังน้ำเขียว บัญชีเลขที่ XXX ชื่อบัญชี นาย พ. และนางลภาภัทร พลสิทธิ์ (จําเลยที่ 1) เพื่อให้นาง ล. และคณะ โอนเงินเข้าบัญชีดังกล่าว
โดยในวันเปิดบัญชีนาง ล. ให้เงินฝากเข้าบัญชี 100,000 บาท ต่อมานาง ล. และคณะได้โอนเงินเข้าบัญชีอีก 2 ครั้ง วันที่ 16 พฤษภาคม 2561 จํานวน 100,000 บาท และวันที่ 10 มกราคม 2562 จํานวน 49,500 บาท รวมเป็นเงิน249,500 บาท
ในการสร้างห้องส้วมดังกล่าว โรงเรียนบ้านศาลเจ้าพ่อให้นาย ม. นักการภารโรงเป็นผู้เขียนแบบ และจ้างร้านพลอยรับเหมาก่อสร้างเป็นผู้รับจ้าง
ต่อมาวันที่ 25 พฤษภาคม 2561 นาง ล. และคณะเดินทางไปที่โรงเรียนบ้านศาลเจ้าพ่อ มีการถ่ายรูปมอบห้องส้วมให้โรงเรียน และบริษัท เหล็กแผ่นรีดไทย จํากัด (มหาชน) ได้มอบเครื่องคอมพิวเตอร์ให้แก่โรงเรียนอีก 6 เครื่อง
หลังจากนั้นวันที่ 10 ตุลาคม 2561 โรงเรียนบ้านศาลเจ้าพ่อโดยจําเลยที่ 1 เสนอ และอนุมัติโครงการสร้างส้วมนักเรียนการศึกษาภาคบังคับอีก 10 ห้อง และทําเอกสารว่า ร้านพลอยรับเหมาก่อสร้างเป็นผู้รับจ้าง และมีการเบิกจ่ายค่าจ้างให้แก่ร้านดังกล่าวไป 129,300 บาท
เพจ “ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน” แฉ-ป.ป.ช.ลุยตรวจ
ต่อมาวันที่ 28 พฤศจิกายน 2561 มีการโพสในเฟซบุ๊กในเพจ “ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน”เกี่ยวกับการกระทําของจําเลยที่ 1 และนักสืบสวนทุจริตสํานักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 3 เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง
เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้ว ชี้มูลความผิดอาญา แก่จําเลยทั้งสาม จําเลยทั้งสามจึงถูกโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จําเลยทั้งสามกระทําความผิดตามฟ้องหรือไม่
โจทก์มี นาง ส. และนาง ม. ครูโรงเรียนบ้านศาลเจ้าพ่อ ซึ่งไม่มีสาเหตุโกรธเคือง กับจําเลยทั้งสามมาก่อน และได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ และกรรมการตรวจรับพัสดุ (ที่ถูกคือตรวจรับการจ้าง) ตามลําดับ มาเป็นพยานเบิกความประกอบบันทึกยืนยันข้อเท็จจริง
สรุปได้ว่า ในปี 2561 นาง ล. และคณะ ติดต่อจําเลยที่ 1 ขอบริจาคเงินสร้างห้องส้วมนักเรียน ให้กับโครงการบ้านศาลเจ้าพ่อ 10 ห้อง โดยเริ่มก่อสร้างประมาณเดือนเมษายน 2561 และโรงเรียนสั่งวัสดุ รวมทั้งจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างเอง
ต่อมาเดือน พฤษภาคม 2561 มีการทําพิธีมอบห้องส้วมให้แก่โรงเรียนบ้านศาลเจ้าพ่อ และคณะผู้บริจาคยังได้มอบเครื่องคอมพิวเตอร์ให้แก่โรงเรียนอีก 6 เครื่องด้วย
จากนั้นมีการเขียนโครงการ สร้างห้องส้วมสําหรับนักเรียนการศึกษาภาคบังคับขึ้นมาอีก 10 ห้อง อ้างว่าเงินที่โรงเรียนได้รับ บริจาคไม่เพียงพอ และจําเลยที่ 1 ก็มิได้ชี้แจงค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างแต่อย่างใด
พยานทั้งสองไม่ลงชื่อ
กลับสั่งให้จําเลยที่ 3 นําเอกสารโครงการสร้างห้องส้วมนักเรียนดังกล่าวเกี่ยวกับการสั่งซื้อสั่งจ้าง และใบตรวจรับการจ้าง ซึ่งเป็นเอกสารเท็จมาให้พยานลงชื่อ
แต่พยานทั้งสองไม่ลงชื่อ เนื่องจากเห็นว่าห้องส้วมตามโครงการ ที่เขียนไม่มีการสร้างจริง และทราบว่าโรงเรียนบ้านศาลเจ้าพ่อค้างชําระค่าวัสดุก่อสร้างกับ ร้านโก้วัสดุก่อสร้าง
เห็นว่า พยานโจทก์ดังกล่าวแม้จะเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาจําเลยที่ 1 และเป็นเพื่อนร่วมงาน กับจําเลยที่ 2 และที่ 3 แต่ก็มิได้เบิกความเพื่อช่วยเหลือจําเลยทั้งสาม เชื่อว่าพยานโจทก์ทั้งสอง เบิกความไปตามความจริงที่รับรู้มา จึงมีน้ำหนักในการรับฟัง
ประกอบกับคําเบิกความของนาง ส. และ นาง ม. ยังสอดคล้องกับคําเบิกความนาย ย. นทร์ ประธานคณะกรรมการสถานศึกษา และประธานคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ (ที่ถูกคือตรวจรับการจ้าง) พยานโจทก์อีกปากหนึ่งที่ เบิกความประกอบบันทึกยืนยันข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2561 ที่มีการทําพิธีส่งมอบ ห้องส้วมให้กับโรงเรียนบ้านศาลเจ้าพ่อนั้น พยานได้ไปร่วมงานด้วย และเห็นว่าห้องส้วมสร้างเสร็จแล้ว คงเหลือเพียงระบบไฟและอุปกรณ์ที่ใช้ในห้องส้วมบางห้อง รวมทั้งยังมิได้มีการเก็บรายละเอียดของงาน
หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน จําเลยที่ 1 บอกแก่พยานว่าได้รับเงินบริจาคมาเพียง 100,000 บาท และโรงเรียนค้างค่าวัสดุก่อสร้าง รวมทั้งค่าแรงช่าง โดยอ้างว่า ติดต่อนางล. ไม่ได้ เนื่องจากเดินทางไปต่างประเทศ
พยานเชื่อตามที่จําเลยที่ 1 บอก
ต่อมามี การเขียนโครงการสร้างส้วมนักเรียนขึ้นมา 10 ห้อง และจําเลยที่ 1 ให้พยานลงชื่อในรายงานการประชุมคณะกรรมการสถานศึกษา ใบตรวจรับพัสดุ (ที่ถูกคือตรวจรับการจ้าง) กับเอกสาร ที่เกี่ยวข้องของโครงการ ทั้งที่ไม่มีการประชุมคณะกรรมการสถานศึกษาจริง
พยานเห็นว่า หากไม่ลงชื่อจะทําให้โรงเรียนเสียหายเสื่อมเสียชื่อเสียง จึงยอมลงชื่อไป
ประกอบกับคดีความที่ได้จากบันทึกถ้อยคําของนาง ล. ผู้บริจาค ที่ให้ถ้อยคําต่อพนักงานไต่สวนเบื้องต้น ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า ในการบริจาคเงินสร้างห้องส้วมนักเรียน ตามฟ้อง พยานกับเพื่อนประสงค์จะสร้างห้องส้วม 10 ห้อง หากค่าใช้จ่ายไม่พอ พยานกับเพื่อน ก็ยินดีที่จะบริจาคเพิ่ม
ในการนี้จําเลยที่ 1 บอกแก่พยานว่าใช้เงินไม่เกิน 250,000 บาท
ครั้นเมื่อ เดือนเมษายน 2561 พยานเดินทางไปอําเภอวังน้ำเขียว และมอบเงิน 100,000 บาท ให้จําเลยที่ 1 และ นาย พ. เปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่ธนาคารกสิกรไทย สาขาวังน้ำเขียว บัญชีเลขที่ XXX เพื่อโอนเงินเข้าโดยพยานไปด้วย
ต่อมาเดือนพฤษภาคม 2561 จําเลยที่ 1 โทรศัพท์บอกพยานว่าเงินใกล้จะหมดแล้ว วันที่ 16 พฤษภาคม 2561 พยานจึงโอนเงินเข้าบัญชี ดังกล่าวอีก 100,000 บาท
หลังจากนั้นโรงเรียนบ้านศาลเจ้าพ่อแจ้งให้พยานไปทําพิธีมอบห้องส้วมนักเรียนให้แก่โรงเรียน
ครั้นวันที่ 25 พฤษภาคม 2561 พยานและคณะจึงเดินทางไป เมื่อจําเลยที่ 1 และคณะพาพยานเดินดูห้องส้วม พยานเห็นว่าห้องส้วม 10 ห้องดังกล่าวสร้างเสร็จแล้ว และมีอุปกรณ์พร้อมใช้งาน ยกเว้นระบบไฟฟ้า
ต่อมาเมื่อต้นปี 2562 นาย ป. โทรศัพท์สอบถามพยานว่าเหตุใดจึงยังไม่จ่ายเงินค่าแรงช่าง พยานจึงบอกไปว่าจําเลยที่ 1 ไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดของการใช้เงินให้ทราบ เมื่อพยานโทรศัพท์สอบถามจําเลยที่ 1 จําเลยที่ 1 แจ้งว่า ในการสร้างห้องส้วมนักเรียนดังกล่าวใช้เงินทั้งหมด 249,500 บาท
ในวันที่ 10 มกราคม 2562 พยานจึงโอนเงินเข้าบัญชีอีก 49,500 บาท
เมื่อคํานึงถึงว่าพยานโจทก์ปากนาย ย. และ นาง ล. ต่างมีเจตนาดีต่อโรงเรียนบ้านศาลเจ้าพ่อ และไม่มีเรื่องบาดหมางใจกับจําเลยที่ 1
ย่อมไม่มีเหตุที่จะเบิกความให้ร้ายใส่ความจําเลยที่ 1 เพื่อให้ได้รับโทษโดยปราศจากมูลความจริง
คําเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองย่อมสนับสนุนให้พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมั่นคง เกี่ยวกับ การสร้างห้องส้วมนักเรียน นาย ช. ช่างที่ก่อสร้างก็มาเบิกความเป็นพยานจําเลยทั้งสามรับว่า ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2561 ที่คณะผู้บริจาคมาทําพิธีมอบห้องส้วมนั้น ห้องส้วมสร้าง เสร็จแล้ว และพยานปากนี้ยังได้ให้การต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามอีกว่า เมื่องานเสร็จแล้ว พยานยังไม่ได้รับเงินค่าจ้างแต่อย่างใด
อันเป็นการเจือสมกับคําพยานโจทก์
ยิ่งกว่านั้นเมื่อศาลตรวจดูชื่อโครงการสร้างส้วมสําหรับนักเรียนการศึกษาภาคบังคับของโรงเรียนบ้านศาลเจ้าพ่อที่จําเลยที่ 1 เป็นผู้เสนอโครงการ ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือมีการเท้าความว่าเหตุที่จัดทําโครงการนี้ขึ้นมา เนื่องจากเงินที่ได้รับจากผู้บริจาคไม่เพียงพอ
นับว่าเป็นพิรุธ และทําให้ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ข้อต่อสู้จำเลยทั้งสาม
ที่จําเลยทั้งสามต่อสู้ว่า เงินที่ได้รับบริจาคมาไม่พอจึงเขียนโครงการขึ้นมาเพื่อเบิกเงินไปชําระค่าวัสดุก่อสร้างและค่าแรงช่างที่ค้างชําระ ก็ขัดกับ คําเบิกความของพยานโจทก์ปากนาย ศ. บุตรชายนาย พ. ที่ร่วมเปิดบัญชีกับ จําเลยที่ 1 ที่เบิกความเกี่ยวกับเงินบริจาคว่า ในช่วงเดือนธันวาคม 2562 จําเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ บุตรชายจําเลยที่ 2 นําเงิน 100,000 บาท ไปคืนให้แก่นาย พ. เพื่อให้คืนแก่นาง ล. และคณะผู้บริจาค ซึ่งหากข้อเท็จจริงเป็นดังที่จําเลยทั้งสามอ้างก็ย่อมไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องนําเงินไปคืนให้แก่ผู้บริจาค
ทั้งจําเลยที่ 1 ก็เบิกความตอบศาลรับว่า ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2561 ที่นาง ล. และคณะไปที่โรงเรียนนั้น จําเลยที่ 1 ไม่ได้บอกแก่นาง ล. ว่าค่าใช้จ่ายในการ สร้างห้องส้วมไม่พอ นับว่าเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยของผู้รับบริจาคที่จะแจ้งให้ผู้บริจาคทราบ
ทั้งที่เป็นเรื่องสําคัญ
พยานหลักฐานจําเลยเป็นพิรุธ
พยานหลักฐานของจําเลยทั้งสามจึงเป็นพิรุธ และที่จําเลยทั้งสามต่อสู้ว่า ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2561 ยังสร้างห้องส้วมไม่เสร็จนั้น ก็ขัดต่อข้อเท็จจริงและเหตุผลดังที่ศาลวินิจฉัย มาแล้วข้างต้น
ส่วนข้อต่อสู้อื่นของจําเลยทั้งสามก็เป็นข้อปลีกย่อย ไม่ทําให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป
จึงไม่จําต้องวินิจฉัย
พยานหลักฐานของจําเลยทั้งสามไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะหักล้างพยานหลักฐาน ของโจทก์ได้
รูปคดีเชื่อว่าหลังจากโรงเรียนบ้านศาลเจ้าพ่อได้รับเงินบริจาคจากนาง ล. และคณะแล้ว จําเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บริหารเงินดังกล่าว และเป็นผู้ดําเนินการจัดหาวัสดุก่อสร้างบริหารเงินไม่โปร่งใส โดยไม่นําเงินไปชําระค่าวัสดุก่อสร้าง ทําให้ค้างชําระ แล้วเขียนโครงการสร้าง ห้องส้วมนักเรียนตามฟ้องขึ้นมา และทําเอกสารเท็จ เพื่อเบิกเงินไปชําระค่าวัสดุก่อสร้างดังกล่าว ทั้งที่เงินที่ได้รับบริจาคเพียงพอแล้ว โดยไม่ได้มีการสร้างห้องส้วมนักเรียนในโครงการจริง
เช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นการทุจริตให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
การกระทําของจําเลยทั้งสามจึงเป็นความผิดตามฟ้อง เมื่อการกระทําของจําเลยที่ 1 เป็นความผิดตามประมวล กฎหมายอาญามาตรา 147 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 151 ซึ่งเป็นบทเฉพาะของบททั่วไป ตามมาตรา 157 แล้ว
ย่อมไม่จําต้องปรับบทความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ซึ่ง เป็นบททั่วไปอีก
ส่วนการกระทําของจําเลยที่ 2 ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 และการกระทําของจําเลยที่ 3 ซึ่ง เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 ประกอบมาตรา 86 และมาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 ซึ่งเป็นบทเฉพาะของบททั่วไปตามมาตรา 157 แล้ว
จึงไม่จําต้องปรับบทความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีกเช่นกัน
พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี
เมื่อคดีได้ความดังกล่าวมา ศาลพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่า พฤติกรรม ของจําเลยที่ 1 ที่อาศัยโอกาสจากตําแหน่งหน้าที่ราชการในฐานะผู้อํานวยการโรงเรียนบ้านศาลเจ้าพ่อบริหารเงินของโรงเรียนที่ได้รับบริจาคมาแบบไม่โปร่งใสตรงไปตรงมา และใช้อํานาจในตําแหน่งโดยทุจริตเขียนโครงการทําเอกสารเท็จขึ้นมา โดยรู้อยู่แล้วว่าข้อเท็จจริงที่จําเลยที่ 1 รับรองเป็นเอกสารเท็จ เพื่อเบิกเงินมาจ่ายค่าวัสดุก่อสร้างและค่าแรงที่ค้างชําระโดยไม่มีการสร้างห้องส้วมนักเรียนตามโครงการจริง
นับว่าเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีต่อองค์กรและเป็นภัยร้ายแรงต่อระบบราชการ
แม้จําเลยที่ 1 จะไม่เคยต้องโทษจําคุกมาก่อน หรือมีคุณความดีมาก่อนก็ยังไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจําคุกให้แก่จําเลยที่ 1
ส่วนจําเลยที่ 2 และที่ 3 แม้จะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการนี้จนนําไปสู่ขั้นตอนการเบิกจ่ายเงินของทางราชการ แต่ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่ไปตามคําสั่งของจําเลยที่ 1 ที่ได้รับมอบหมายในสายงานบังคับบัญชา
ประกอบ กับจําเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ถูกลงโทษทางวินัยโดยถูกปลดออกจากราชการน่าจะหลาบจําบ้างแล้ว
เมื่อไม่ปรากฏว่า จําเลยที่ 2 และที่ 3 โดยต้องโทษจําคุกมาก่อน จึงเห็นควรให้ความปรานีและ ให้โอกาสแก่จําเลยที่ 2 และที่ 3 ในการกลับตัวเป็นพลเมืองดี โดยรอการลงโทษจําคุกให้แก่ จําเลยที่ 2 และที่ 3
แต่เพื่อให้จําเลยที่ 2 และที่ 3 หลาบจําในการกระทําความผิดของตนจึงเห็นควรลงโทษปรับอีกสถานหนึ่งและคุมความประพฤติจําเลยที่ 2 และที่ 3 ไว้ด้วย
อนึ่ง เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560 มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวล กฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560 ใช้บังคับ โดยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 162 และมาตรา 3 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 147 และมาตรา 151 แล้วให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน แต่อัตราโทษใหม่ตามกฎหมายที่แก้ไขซึ่งเป็นกฎหมาย ที่ใช้ภายหลังกระทําความผิดไม่เป็นคุณแก่จําเลยทั้งสาม จึงให้ใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทําความผิดบังคับแก่จําเลยทั้งสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
คำพิพากษา
พิพากษาว่า จําเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 (เดิม)ประกอบมาตรา 83, มาตรา 151 (เดิม), มาตรา 162 (1) (4) (เดิม) ประกอบมาตรา 43 จําเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 (เดิม) ประกอบมาตรา 83,มาตรา 151 (เดิม) ประกอบมาตรา 46 มาตรา 162(1) (4) (เดิม) ประกอบมาตรา 83 และจําเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 (เดิม), มาตรา 151 (เดิม) 83
การกระทําของจําเลยทั้งสามประกอบมาตรา 86 มาตรา 162 (1)(4) ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
สําหรับจําเลยที่ 1 เนื่องจากความผิด ตามมาตรา 147 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 151 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษ หนักที่สุดมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษจําเลยที่ 1 ฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันยักยอกทรัพย์ ตามมาตรา 147 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 เพียงบทเดียว ส่วนจําเลยที่ 2 ให้ลงโทษฐาน เป็นเจ้าพนักงานร่วมกันยักยอกทรัพย์ ตามมาตรา 147 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 ซึ่งเป็น กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด สําหรับจําเลยที่ 3 เนื่องจากความผิดตามมาตรา 147 (เดิม) ประกอบมาตรา 86 และมาตรา 151 (เดิม) ประกอบมาตรา 86 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษ หนักที่สุด มีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษจําเลยที่ 3 ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ตามมาตรา 147 (เดิม) ประกอบมาตรา 86 เพียงบทเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90
จําคุกจําเลยที่ 1 มีกําหนด 5 ปี
จําคุกจําเลยที่ 2 มีกําหนด 5 ปี และปรับ 21,000 บาท
จําคุกจําเลยที่ 3 มีกําหนด 3 ปี 4 เดือน และปรับ 14,000 บาท
ในส่วนจําเลยที่ 2 และที่ 3 โทษจําคุกให้รอการลงโทษไว้คนละ 2 ปี ให้คุมความประพฤติจําเลยที่ 2 และที่ 3 ไว้คนละ 1 ปี โดยให้จําเลยที่ 2 และที่ 3 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติคนละ 4 ครั้ง ให้จําเลยที่ 2 และที่ 3 ทํางานบริการสังคมหรือบําเพ็ญสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร เป็นเวลาคนละ 18 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56
หากจําเลยที่ 2 และที่ไม่ชําระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และให้จําเลยทั้งสาม ร่วมกันคืนหรือชดใช้เงิน 129,300 บาท แก่โรงเรียนบ้านศาลเจ้าพ่อ
*****
อนึ่ง เกี่ยวกับคดีนี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า คดีนี้ยังไม่สิ้นสุด จำเลยทั้งสาม มีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้ได้อีก
ขณะที่ ในส่วน นางลภาภัทร พลสิทธิ์ จำเลยที่ 1 นั้น เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทำหนังสือถึง ป.ป.ช. แจ้งเรื่องวินัยข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากรณี นางลภาภัทร พลสิทธิ์ ว่า ได้พิจารณาและมีมติลงโทษไล่นางลภาภัทร พลสิทธิ์ ออกจากราชการ เป็นไปแล้ว
ปัจจุบันยังไม่มีรายงานข่าวยืนยันว่า นางลภาภัทร พลสิทธิ์ ได้ยื่นเรื่องขออุทธรณ์ต่อ ก.ค.ศ. ไปแล้วหรือไม่? ผลเป็นอย่างไร?
แต่ไม่ว่า บทสรุปสุดท้ายผลการตรวจสอบคดีอาญาจะออกมาเป็นอย่างไร
คดีนี้ นับเป็นอีกหนึ่งกรณีตัวอย่างสำคัญ ไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐข้าราชการไทย เดินย้ำซ้ำรอยทำผิดตาม ทั้งในปัจจุบันและอนาคตสืบไป ดังเช่นหลายคดีที่ผ่านมา
- ไล่ออกราชการแล้ว! เลขาธิการ กพฐ. แจ้ง ป.ป.ช.ลงโทษอดีต ผอ.รร.คดีทุจริตสร้างห้องน้ำ
- ฉบับเต็ม! คำสั่ง สพฐ.ไล่ออกราชการ อดีต ผอ.รร. คดีทุจริตเบิกงบสร้างห้องน้ำ
อ่านเพิ่มเติม:
- เปิดข้อกล่าวหา ผอ.โรงเรียนคดีทุจริตสร้างส้วม-เหตุฟันวินัยอืด
- ฮือฮา “ผอ.กินส้วม” จากอีสานโผล่ปัตตานี
- ป.ป.ช.ไม่ทบทวนมติเดิม! 'ผอ.รร.คดีทุจริตสร้างห้องน้ำ' พร้อมขอให้สั่งลงโทษทางวินัยภายใน 30 วัน
- ไล่ออกราชการแล้ว! เลขาธิการ กพฐ. แจ้ง ป.ป.ช.ลงโทษอดีต ผอ.รร.คดีทุจริตสร้างห้องน้ำ
- ฉบับเต็ม! คำสั่ง สพฐ.ไล่ออกราชการ อดีต ผอ.รร. คดีทุจริตเบิกงบสร้างห้องน้ำ