“…พยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสามนำสืบ ไม่มีความเชื่อมโยงแสดงให้เห็นถึงความไม่สุจริตหรือพฤติการณ์อันไม่สมควรของจำเลยที่ 7 ในการพิจารณาขายหุ้นบริษัทวินด์ฯ ให้แก่จำเลยที่ 13 ดังนั้น เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสามนำสืบประกอบพยานหลักฐานที่ฝ่ายจำเลยนำสืบหักล้างแล้วจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 ร่วมกันกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้…”
...........................................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 31 ก.ค.2566 ศาลอังกฤษพิพากษาให้ ณพ ณรงค์เดช กับพวก จ่ายค่าเสียหายราว 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 3 หมื่นล้านบาท ให้แก่ นพพร ศุภพิพัฒน์ ผู้ก่อตั้งและอดีต CEO ของบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) หลังถูกนพพรฟ้องในข้อหา ‘สมคบกันชักจูงใจด้วยข้อมูลลวงให้ขายหุ้น WEH’
ส่วน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) จำเลยที่ 10 , อาทิตย์ นันทวิทยา อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCB จำเลยที่ 11 และ คาดีจา บิลาล ซิดดีกี จำเลยที่ 5 นั้น ศาลอังกฤษพิพากษายกฟ้อง (อ่านประกอบ : สรุปคำพิพากษาศาลอังกฤษ พฤติการณ์ 'ณพ ณรงค์เดช' คดีหุ้น WEH 3 หมื่นล.-SCB ไม่เกี่ยวข้อง)
ต่อมาวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา ณพ ,คุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา และทีมกฎหมาย เปิดแถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีหุ้น WEH ซึ่งในการแถลงดังกล่าว ทีมกฎหมายของ ณพ ได้ตั้ง ‘ข้อสังเกต’ กรณีที่ศาลอังกฤษพิพากษาว่า ณพกับพวก ร่วมกันโกงเจ้าหนี้ (กลุ่มนายนพพร) ในหลายประเด็น
พร้อมทั้งระบุว่า คำพิพากษาของศาลอังกฤษดังกล่าว ‘หมดสภาพบังคับ’ ในประเทศไทยแล้ว เนื่องจากศาลไทย (ศาลแขวงพระนครใต้) มีคำพิพากษากลับว่า ณพกับพวก ไม่ได้ร่วมกันโกงกลุ่มนายนพพร เพราะไม่มีเจตนาพิเศษ นั้น (อ่านประกอบ : สู้ 6 ปีชนะทุกคดี! ‘ณพ-คุณหญิงกอแก้ว’ตั้งโต๊ะแถลงปมหุ้นWEH-ยันเงินลงทุนไม่ได้มาจาก‘กงสี’)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอสรุปเนื้อหาคดีและรายละเอียดคำพิพากษาของ ‘ศาลแขวงพระนครใต้’ ในคดีกลุ่มนายนพพร (บริษัท ซิมโฟนี่ พาร์ตเนอร์ส จำกัด ,บริษัท เน็กซ์โกลบอล อินเวสต์เมนต์ จำกัด และบริษัท ไดนามิค ลิงค์ เวนเจอร์ส จำกัด) ฟ้อง ณพกับพวกรวม 13 ราย ในข้อหา ‘โกงเจ้าหนี้’ ดังนี้
@ย้อนเหตุคดี‘กลุ่มนพพร’ฟ้อง‘ณพ-พวก’ข้อหาโกงเจ้าหนี้
คดีหมายเลขดำที่ อ 157/2561 คดีหมายเลขแดงที่ อ 483/2564 ลงวันที่ 31 ต.ค.2566 ศาลแขวงพระนครใต้ (คดีโกงเจ้าหนี้)
โจทก์ ได้แก่ บริษัท ซิมโฟนี่ พาร์ตเนอร์ส จำกัด ,บริษัท เน็กซ์โกลบอล อินเวสต์เมนต์ จำกัด และบริษัท ไดนามิค ลิงค์ เวนเจอร์ส จำกัด (โจทก์ที่ 1-3)
จำเลย ได้แก่ ณพ ณรงค์เดช กับพวก รวม 13 ราย (จำเลยที่ 1-13)
ศาลฯพิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์ทั้ง 3 จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 นำสืบแล้ว
ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เดิมโจทก์ทั้ง 3 (บริษัท ซิมโฟนี่ พาร์ตเนอร์ส จำกัด ,บริษัท เน็กซ์โกลบอล อินเวสต์เมนต์ จำกัด และบริษัท ไดนามิค ลิงค์ เวนเจอร์ส จำกัด) เป็นผู้ถือหุ้นบริษัท รีนิวเอเบิล เอนเนอร์ยี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในสัดส่วน 98.84%
และ บริษัท รีนิวเอเบิล เอนเนอร์ยี คอร์ปอเรชั่นฯ ถือหุ้นในบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) หรือ ‘บริษัทวินด์ฯ’ ในสัดส่วน 59.46% โดยบริษัท รีนิวเอเบิล เอนเนอร์ยี คอร์ปอเรชั่นฯ และบริษัท วินด์ฯ ประกอบธุรกิจในรูปแบบเข้าร่วมลงทุนในบริษัทที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมใประเทศไทย
เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2558 และวันที่ 3 ก.ย.2558 โจทก์ทั้ง 3 ได้ทำสัญญาขายหุ้นบริษัท นิวเอเบิล เอนเนอร์ยี คอร์ปอเรชั่นฯ ให้แก่ บริษัท ฟุลเลอร์ตัน เบย์ อินเวสต์เมนต์ จำกัด และจำเลยที่ 2 (บริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี โฮลดิ้ง จำกัด) รวม 2 สัญญา ราคาหุ้นที่ซื้อขาย 2 สัญญา เป็นจำนวนเงิน 700 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 24,500 ล้านบาท)
โดยแบ่งการชำระค่าหุ้นออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก ชำระค่าหุ้นรวม 2 สัญญา เป็นเงิน 175 ล้านเหรียญสหรัฐ และส่วนที่เหลือ 525 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้ชำระตามกำหนดเวลาและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญา
หลังทำสัญญาโจทก์ทั้ง 3 ได้โอนหุ้น บริษัท นิวเอเบิล เอนเนอร์ยี คอร์ปอเรชั่นฯ ให้แก่ บริษัท ฟุลเลอร์ตัน เบย์ อินเวสต์เมนต์ฯ และจำเลยที่ 2 (บริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี โฮลดิ้งฯ)
ต่อมาวันที่ 26 ส.ค.2558 จำเลยที่ 6 และจำเลยที่ 9 ยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการของ บริษัท นิวเอเบิล เอนเนอร์ยี คอร์ปอเรชั่นฯ โดยนำชื่อ นพพร ศุภพิพัฒน์ ออกจากการเป็นกรรมการ และเปลี่ยนชื่อ บริษัท นิวเอเบิล เอนเนอร์ยี คอร์ปอเรชั่นฯ เป็น บริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี (ประเทศไทย) จำกัด
เมื่อถึงกำหนดชำระค่าหุ้นส่วนแรก บริษัท ฟุลเลอร์ตัน เบย์ อินเวสต์เมนต์ฯ และจำเลยที่ 2 (บริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี โฮลดิ้งฯ) ไม่ชำระหนี้ตามกำหนด เมื่อโจทก์ทั้ง 3 ทวงถาม แต่ บริษัท ฟุลเลอร์ตัน เบย์ อินเวสต์เมนต์ฯ ไม่ชำระค่าหุ้นส่วนแรก ส่วนจำเลยที่ 2 ชำระค่าหุ้นครบ แต่ไม่ชำระดอกเบี้ย
ต่อมาโจทก์ที่ 1-3 ได้เสนอข้อพิพาทตามสัญญา ต่อศาลระหว่างประเทศเพื่อการอนุญาโตตุลาการแห่งหอการค้าสากล ประเทศสิงคโปร์ และเมื่อวันที่ 22 ก.ย.2560 คณะอนุญาโตตุลาการ มีคำชี้ขาดให้ บริษัท ฟุลเลอร์ตัน เบย์ อินเวสต์เมนต์ฯ และจำเลยที่ 2 (บริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี โฮลดิ้งฯ) ชำระค่าหุ้นส่วนแรก
ทั้งนี้ ในระหว่างการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 25 เม.ย.2559 จำเลยที่ 7 (บริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี (ประเทศไทย) จำกัด) ได้ทำสัญญาขายหุ้นบริษัทวินด์ ให้แก่จำเลยที่ 13 (เกษม ณรงค์เดช) บิดาของจำเลยที่ 1 (ณพ ณรงค์เดช) ราคา 2,400 ล้านบาท ซึ่งโจทก์ทั้ง 3 เห็นว่า จำเลยที่ 1 กับพวก กระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
@องค์ประกอบความผิด‘โกงเจ้าหนี้’ต้องมีเจตนาพิเศษ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 (ณพ ณรงค์เดช) ที่ 2 (บริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี โฮลดิ้งฯ) ที่ 3 (พอฤทัย ณรงค์เดช) ที่ 4 (กฤษณ์ ณรงค์เดช) ที่ 6 (ธันว์ เหรียญสุวรรณ) ที่ 7 (บริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี (ประเทศไทย) จำกัด) และที่ 8 (ณัฐวุฒิ เภาโบรมย์) ร่วมกันกระทำผิดตามฟ้อง (โกงเจ้าหนี้) หรือไม่
เห็นว่า องค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ลูกหนี้ต้องมีเจตนาพิเศษ ในการจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินเพื่อมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน คือ ต้องการให้เจ้าหนี้ไม่สามารถบังคับชำระหนี้ได้
หากปรากฎว่าลูกหนี้โอนย้ายทรัพย์สินขณะเป็นหนี้จริง แต่ทำไปโดยไม่มีเจตนาทุจริตหรือมีเหตุจำเป็น ไม่มีเจตนาจะให้เจ้าหนี้ไม่ได้รับชำระหนี้ก็ไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350
ซึ่งเมื่อพิจารณาคำชี้ขาดของศาลระหว่างประเทศเพื่อการอนุญาโตตุลาการแห่งหอการค้าสากล เอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 อันเป็นส่วนหนึ่งของเอกสารที่พยานโจทก์ทั้งสามตรวจสอบและนำสืบ
ปรากฏว่า ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ มีการระบุข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีที่นายนพพร ถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในช่วงปลายปี 2557 และหลบหนีออกนอกราชอาณาจักรทันทีในช่วงเวลาดังกล่าว
ข้อหาที่นายนพพรซึ่งในขณะนั้น ถือว่าเป็นผู้บริหารสูงสุดของกลุ่มบริษัทวินด์ฯ ถูกกล่าวหาเป็นเหตุให้กลุ่มบริษัทวินด์ฯ เกิดปัญหาในการจัดหาเงินทุน และทำให้ขั้นตอนที่จะเสนอขายหุ้นบริษัทวินด์ฯ ครั้งแรกต่อสาธารณชนหยุดชะงัก
เหตุที่เกิดทำให้นายนพพรเริ่มเจรจาเพื่อขายกลุ่มธุรกิจวินด์ฯ ให้แก่นักธุรกิจในประเทศไทยหลายราย กระทั่งตกลงเจรจากับจำเลยที่ 1 (ณพ ณรงค์เดช) จนนำไปสู่การตกลงซื้อขายหุ้นบริษัท รีนิวเอเบิล เอนเนอร์ยี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งถือหุ้นในบริษัทวินด์ฯ ระหว่างโจทก์ทั้งสามกับบริษัทฟุลเลอร์ตัน เบย์ อินเวสต์เมนต์ จำกัด และจำเลยที่ 2
ข้อเท็จจริงดังกล่าว เจือสมกับข้อต่อสู้ที่ฝ่ายจำเลย นำสืบถึงเหตุจำเป็นที่ต้องแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับกลุ่มบริษัทวินด์ฯ อันเนื่องมาจากพฤติการณ์ของนายนพพรที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2557 ต่อเนื่องมาจนถึงช่วงที่จำเลยที่ 7 (บริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี (ประเทศไทย) จำกัด) ทำสัญญาซื้อขายหุ้นบริษัทวินด์ฯ ให้จำเลยที่ 13 (เกษม ณรงค์เดช)
แต่ในทางนำสืบของโจทก์ทั้งสาม กลับไม่มีการกล่าวถึงข้อเท็จจริงในส่วนที่เกี่ยวกับนายนพพร ทั้งที่โจทก์ทั้งสามทราบดีว่า มีอยู่จากการตรวจสอบคำชี้ขาดของศาลระหว่างประเทศเพื่อการอนุญาโตตุลาการแห่งหอการค้าสากล ซึ่งเป็นข้อพิพาทที่โจทก์ทั้งสาม เป็นฝ่ายเสนอ
ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสามนำสืบ โดยอ้างว่าได้จากการตรวจสอบเอกสาร ล้วนเป็นการนำเฉพาะรายละเอียดที่โจทก์ทั้งสามพยายามกล่าวหา ว่า ขั้นตอนการโอนหุ้นของบริษัทวินด์ฯ ซึ่งดำเนินการโดยจำเลยที่ 7 รวมทั้งจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 8 ซึ่งโจทก์ทั้งสาม อ้างว่ามีส่วนเกี่ยวข้องมีพฤติการณ์น่าสงสัยและไม่สุจริต
แต่กลับไม่กล่าวถึงข้อเท็จจริงที่นายนพพร ซึ่งเป็นผู้บริหารและมีอำนาจครอบงำกิจการของกลุ่มบริษัทวินด์ฯ ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อันเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาต่อการดำเนินกิจการของกลุ่มบริษัทวินด์ฯ ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557
การนำเสนอพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสาม มีลักษณะหลีกเลี่ยงโดยการไม่แสดงให้เห็นถึงข้อเท็จจริงในทางเสื่อมเสียของนายนพพร ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดเดิมของกลุ่มบริษัทวินด์ฯ ส่อไปในทางปกปิดข้อเท็จจริงในส่วนที่เป็นสาเหตุของปัญหาที่นายนพพรสร้างขึ้นเอง และส่งผลให้การดำเนินธุรกิจเกิดอุปสรรคขาดความน่าเชื่อถือแก่นักลงทุน
รวมทั้งสถาบันการเงินที่จะเข้าให้การสนับสนุนด้านเงินลงทุน โดยเฉพาะข้อเท็จจริง อันเป็นสาเหตุที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ไม่อนุมัติให้บริษัท วะตะแบก วินด์ จำกัด ซึ่งเป็นกิจการส่วนหนึ่งของกลุ่มบริษัทวินด์ฯ เบิกจ่ายเงินสินเชื่อที่บริษัทจำเป็นต้องใช้ในการดำเนินกิจการที่ถือว่าเร่งด่วน นั้น
ฝ่ายจำเลยมีนายภานุ โชติประสิทธิ์ รองผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจของกลุ่มบริษัทวินด์ฯ และถือว่าเป็นพยานคนกลางเบิกความว่า ช่วงปลายปี 2557 หลังจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ทราบข่าวว่านายนพพร ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในกลุ่มบริษัทวินด์ฯ ถูกดำเนินคดีและถูกออกหมายจับในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
ธนาคารได้แจ้งแก่กลุ่มบริษัทวินด์ฯ ผ่านจำเลยที่ 6 (ธันว์ เหรียญสุวรรณ) ซึ่งเป็นผู้บริหารในเวลานั้นทันทีว่า ไม่สามารถอนุมัติการทำสัญญาสินเชื่อให้แก่โครงการวะตะแบกได้
ต่อมาประมาณปลายปี 2558 จำเลยที่ 6 แจ้งว่ากลุ่มบริษัทวินด์ฯ ดำเนินการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่และเจรจาขอสินเชื่อให้แก่โครงการวะตะแบกอีกครั้ง ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) พิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้โครงการวะตะแบกในวงเงิน 4,000 ล้านบาท
โดยกำหนดเงื่อนไขการเบิกถอนเงินกู้ไว้ว่า บริษัทวินด์ฯ ต้องลงทุนด้วยเงินในส่วนของบริษัทวินด์ฯ ให้ครบถ้วนตามข้อสัญญาเสียก่อน ธนาคารจึงจะอนุมัติให้เบิกเงินกู้ตามสัญญาสินเชื่อได้ ซึ่งในขณะนั้นบริษัทวินด์ฯ ได้ลงทุนเป็นเงินจำนวน 1,500 ล้านบาทแล้ว
หลังจากธนาคารอนุมัติและมีการทำสัญญาสินเชื่อให้โครงการวะตะแบก แต่ยังไม่ได้เบิกถอนเงินสินเชื่อ ธนาคารทราบว่า นายนพพรเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการประเทศสิงคโปร์ ขอเลิกสัญญาซื้อขายหุ้นบริษัท รีนิวเอเบิล เอนเนอร์ยี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ระหว่างโจทก์ทั้งสาม และบริษัทฟุลเลอร์ตัน เบย์ อินเวสต์เมนต์ จำกัด กับจำเลยที่ 2
ธนาคารพิจารณาข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วเห็นว่า กรณีที่เกิดขึ้นดังกล่าวอาจทำให้นายนพพร มีโอกาสกลับมาเป็นผู้ถือหุ้นในธุรกิจของกลุ่มบริษัทวินด์ฯ อีกครั้ง
อันเป็นกรณีที่ธนาคารไม่อาจรับได้เพราะขัดกับนโยบายหลักของธนาคาร ที่ไม่ต้องการให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจของบุคคลที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ธนาคารจึงแจ้งระงับการเบิกเงินสินเชื่อให้แก่โครงการวะตะแบก
จากนั้นบริษัทวินด์ฯ ขอให้สำนักงานกฎหมายวีระวงค์,ชินวัฒน์ และพาร์ทเนอร์ส ติดต่อธนาคาร เพื่อให้ความเห็นทางกฎหมายยืนยันว่า ไม่มีความเสี่ยงกรณีนายนพพร จะกลับมาเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทวินด์ฯ อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังคงมีความกังวลว่า หากยังไม่มีคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ก็ยังมีความเสี่ยงที่นายนพพรอาจกลับมาเป็นผู้ถือหุ้นในกลุ่มบริษัทวินด์ฯ ได้
ต่อมาสำนักงานกฎหมายวีระวงค์แจ้งธนาคาร ว่า มีการเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นของกลุ่มบริษัทวินด์ฯ โดยจำเลยที่ 7 ได้โอนขายหุ้นบริษัทวินด์ฯ ให้แก่จำเลยที่ 13 ซึ่งสำนักงานกฎหมายวีระวงค์ ให้ความเห็นยืนยันว่า การกระทำของจำเลยที่ 7 ดังกล่าวนั้น ทำให้นายนพพรไม่อาจกลับเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในกลุ่มบริษัทวินด์ฯได้อีก
หลังจากธนาคารทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว ได้พิจารณาตรวจสอบประวัติจำเลยที่ 13 (เกษม ณรงค์เดช) ตามหลักเกณฑ์มาตรฐานในการอนุมัติสินเชื่อ พบว่าจำเลยที่ 13 มีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ ในการพิจารณาของฝ่ายกฎหมายในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
แม้จะได้รับความเห็นยืนยันจากสำนักงานกฎหมายวีระวงศ์ว่า นายนพพรไม่อาจกลับเข้ามาเกี่ยวข้องในกลุ่มบริษัทวินด์ฯ ได้อีก ธนาคารก็ยังมีความกังวล จึงกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมจากสัญญาเงินกู้โครงการวะตะแบกเป็นเงื่อนไขบังคับหลังระบุว่า ให้จำเลยที่ 2 (บริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี โฮลดิ้งฯ) และบริษัท ฟุลเลอร์ตัน เบย์ อินเวสต์เมนต์ จำกัด จัดหาเงินจำนวน 85.75 ล้านเหรียญสหรัฐ นำไปชำระค่าหุ้นตามสัญญาที่ทำไว้กับโจทก์ทั้งสามเสียก่อน
ต่อมาจำเลยที่ 2 และบริษัท ฟุลเลอร์ตัน เบย์ อินเวสต์เมนต์ จำกัด แจ้งธนาคารว่าได้ดำเนินการตามเงื่อนไขดังกล่าวครบถ้วนแล้ว ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จึงอนุมัติให้เบิกจ่ายสินเชื่อให้โครงการวะตะแบกตามสัญญา
ดังนั้น การโอนขายหุ้นของบริษัทวินด์ฯ ที่โจทก์ทั้งสาม อ้างว่าเป็นทรัพย์สินที่มีค่าเพียงอย่างเดียวของบริษัท ฟุลเลอร์ตัน เบย์ อินเวสต์เมนต์ จำกัด และจำเลยที่ 2 ซึ่งมีฐานะเป็นลูกหนี้ตามสัญญาซื้อขายหุ้น เอกสารหมาย จ.26 และ จ.28 ที่ทำกับโจทก์ทั้งสาม
จึงเป็นการกระทำที่มีเหตุจำเป็น และเป็นผลสืบเนื่องมาจากคุณสมบัติที่เป็นข้อด่างพร้อยของนายนพพร ซึ่งเป็นผู้บริหารและเจ้าของกิจการที่แท้จริงของโจทก์ทั้งสามเอง เป็นเหตุให้การดำเนินกิจการเกิดอุปสรรคสำคัญด้านการลงทุน ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยในการดำเนินธุรกิจ
ทั้งหากไม่พยายามแก้ไข ย่อมส่งผลเสียหายต่อมูลค่าทรัพย์สินที่ลงทุนไปแล้ว รวมทั้งมูลค่าของธุรกิจที่ต้องดำเนินต่อไปในภายหน้า ซึ่งความเสียหายดังกล่าว มิได้เกิดแก่โจทก์ทั้งสาม และฝ่ายจำเลยเพียงด้านเดียว แต่ยังก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ลงทุนรายอื่นที่เกี่ยวข้องในกิจการดังกล่าวด้วย
และแม้โจทก์ทั้งสาม จะนำพยานบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนการโอนหุ้นบริษัทวินด์ฯ ที่จำเลยที่ 7 (บริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี (ประเทศไทย) จำกัด) ขายให้แก่จำเลยที่ 13 (เกษม ณรงค์เดช) มาเบิกความในทำนอง พยายามชี้ให้เห็นถึงความไม่สุจริตในรายละเอียด
ตั้งแต่การที่จำเลยที่ 7 ว่าจ้างให้บริษัท เพลินจิต แคปปิตอล จำกัด ทำการประเมินมูลค่าหุ้นบริษัทวินด์ฯ เพื่อประกอบการทำสัญญาซื้อขายหุ้นบริษัทวินด์ฯ ให้แก่จำเลยที่ 13 ตามเอกสารหมาย จ.36
แต่กลับได้ความจากนาย ช. เบิกความเป็นพยานโจทก์ทั้งสามในข้อเท็จจริงส่วนนี้ว่า รายงานประเมินมูลค่าหุ้นของบริษัทวินด์ฯ ที่บริษัทเพลินจิต แคปปิตอล จำกัด เป็นผู้จัดทำตามเอกสารหมาย จ.39 เป็นการประเมินที่ถูกต้อง
และตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 1 และที่ 6 ถามค้านว่า ในการประเมินราคาหุ้นบริษัทวินด์ฯ นั้น พยานใช้เหตุผลต่างๆ อันสมควรมาใช้ในการประเมิน เพื่อให้ได้ข้อมูลตามความเป็นจริง มิได้นำวัตถุประสงค์ในการนำรายงานดังกล่าวไปใช้มาประกอบการประเมิน
ส่วนการตรวจสอบบัญชีของจำเลยที่ 7 (บริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี (ประเทศไทย) จำกัด) ในปี 2558 และ 2559 ก็ได้ความจากนายพงศธร พยานโจทก์ทั้งสาม เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 7 ว่า สัญญาซื้อขายหุ้นบริษัทวินด์ฯ ระหว่างจำเลยที่ 7 กับจำเลยที่ 13 เป็นการทำสัญญาซื้อขายทรัพย์สินตามปกติ
และจากการตรวจสอบก็พบว่า มีการโอนเงินตามสัญญาซื้อขายหุ้นดังกล่าวเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 7 ตามจำนวนเงินที่มีการซื้อขายกันครบถ้วน
@ไม่มีความเชื่อมโยงแสดงให้เห็นถึงความไม่สุจริต
ส่วนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ของจำเลยที่ 7 ในช่วงก่อนทำสัญญาซื้อขายหุ้นบริษัทวินด์ฯ ที่โจทก์ทั้งสามนำสืบในทำนองว่า เป็นไปทางฉ้อฉล
โดยจำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 8 และที่ 9 ต่างยื่นหนังสือลาออกจากกรรมการจำเลยที่ 7 และแต่งตั้งจำเลยที่ 10 ที่ 11 และที่ 12 เข้าเป็นกรรมการจำเลยที่ 7 เพื่อให้จำเลยที่ 10 และที่ 11 ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งลงชื่อในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจจำเลยที่ 7 ในสัญญาซื้อขายหุ้นวินด์ฯ กับจำเลยที่ 13
กลับได้ความจากจำเลยที่ 11 เบิกความเป็นพยานโจทก์ทั้งสาม ตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 1 และที่ 6 ว่าการตัดสินใจเข้าเป็นกรรมการจำเลยที่ 7 เกิดจากความสมัครใจ และตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 4 ว่า ความจริงแล้วจำเลยคดีนี้ทั้งหมด จะมีพฤติการณ์กระทำความผิดในข้อหาโกงเจ้าหนี้หรือไม่พยาน ก็ไม่ทราบ
เช่นเดียวกับจำเลยที่ 12 เบิกความเป็นพยานโจทก์ทั้งสาม ตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยอมรับว่า ความจริงแล้วพยานไม่ได้ยืนยันว่า จำเลยอื่นกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ เหตุที่พยานเบิกความไปดังกล่าวเนื่องจากได้ข้อเท็จจริงมาจากคำฟ้องของโจทก์ทั้งสาม
ส่วนราคาหุ้นบริษัทวินด์ฯ ที่โจทก์ทั้งสามกล่าวหาว่า จำเลยที่ 7 โอนขายให้จำเลยที่ 13 ในราคาต่ำกว่าราคาที่โจทก์ทั้งสามขายให้แก่บริษัท ฟุลเลอร์ตัน เบย์ อินเวสต์เมนต์ จำกัด กับจำเลยที่ 2 ประมาณ 10 เท่า นั้น
ก็ได้ความว่า วัตถุแห่งสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์ทั้งสามกับ บริษัท ฟุลเลอร์ตัน เบย์ อินเวสต์เมนต์ จำกัด กับจำเลยที่ 2 ตามสัญญาซื้อขายและสัญญาค้ำประกัน เอกสารหมาย จ.26 ถึง จ.29 เป็นหุ้นของบริษัท รีนิวเอเบิล เอนเนอร์ยี คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ จำเลยที่ 7
แต่วัตถุแห่งสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 7 กับจำเลยที่ 13 ตามสัญญาซื้อขาย เอกสารหมาย จ.36 คือ หุ้นของบริษัทวินด์ฯ ซึ่งถือว่ามิใช่ทรัพย์สินรายการเดียวกัน ประกอบกับการซื้อขายวัตถุแห่งสัญญาซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.26 จ.28 และ จ.36 อยู่บนสถานการณ์และปัจจัยแวดล้อมสำคัญ ซึ่งแตกต่างกันจึงไม่อาจนำมาเปรียบเทียบมูลค่ากันได้
พยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสามนำสืบ ไม่มีความเชื่อมโยงแสดงให้เห็นถึงความไม่สุจริตหรือพฤติการณ์อันไม่สมควรของจำเลยที่ 7 ในการพิจารณาขายหุ้นบริษัทวินด์ฯ ให้แก่จำเลยที่ 13
ดังนั้น เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสามนำสืบประกอบพยานหลักฐานที่ฝ่ายจำเลยนำสืบหักล้างแล้วจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 ร่วมกันกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
พิพากษายกฟ้อง
เหล่านี้เป็นคำพิพากษาในคดีที่ ‘กลุ่มนพพร’ ฟ้อง ‘ณพ ณรงค์เดช-พวก’ ในคดีโกงเจ้าหนี้ กรณีบริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี (ประเทศไทย) จำกัด โอนขายหุ้นวินด์ให้กับ ‘เกษม ณรงค์เดช’ ซึ่ง ‘ศาลแขวงพระนครใต้’ พิพากษายกฟ้องจำเลย
อ่านประกอบ :
สู้ 6 ปีชนะทุกคดี! ‘ณพ-คุณหญิงกอแก้ว’ตั้งโต๊ะแถลงปมหุ้นWEH-ยันเงินลงทุนไม่ได้มาจาก‘กงสี’
สรุปคำพิพากษาศาลอังกฤษ พฤติการณ์ 'ณพ ณรงค์เดช' คดีหุ้น WEH 3 หมื่นล.-SCB ไม่เกี่ยวข้อง
พยานเท็จเพียบ เปิดคำพิพากษาศาลอังกฤษสั่ง 'ณพ ณรงค์เดช-พวก'ชดใช้ 3 หมื่น ล. คดีหุ้นวินด์
ศาลอังกฤษยกฟ้อง SCB- พิพากษาให้ 'ณพ ณรงค์เดช' ร่วมชดใช้ 3 หมื่นล้านคดีโกง 'หุ้นวินด์'
สื่อนอกตีข่าวผู้ต้องหา112 ฟ้อง’SCB-ณพ ณรงค์เดช’ เรียก 5.7 หมื่น ล.ปมขายหุ้นวินด์
‘คุณหญิงกอแก้ว-โกลเด้นมิวสิคฯ’ฟ้อง‘เกษม ณรงค์เดช’ชดใช้ค่าทนายคดีโอนหุ้นที่ฮ่องกง 64 ล.
ศึกสายเลือด'ณรงค์เดช' : พลิกคำพิพากษาศาลอาญา ใครเป็นเจ้าของ'หุ้นวินด์ฯ'หมื่นล.?
ฟ้องนัว 9 คดี-รอศาลชี้ขาด! ย้อนศึกสายเลือด‘ณรงค์เดช’ ชิงหุ้น‘วินด์เอนเนอร์ยี่ฯ’หมื่นล.
หลังโดนพ่อแท้ๆ แจ้งความ! 'ณพ-คุณหญิงกอแก้ว' ให้ปากคำคดีปลอมเอกสารซื้อขายหุ้นวินด์ฯ แล้ว
สดจากครอบครัว'ณรงค์เดช' ในวันที่ พ่อ-ลูก-แม่ยาย แตกหักฟ้องร้องคดี
เปิดตัว 3 บ.ฮ่องกง คู่กรณี 'ณพ ณรงค์เดช' ในคดีศึกชิงหุ้น วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ หมื่นล.
เปิดธุรกิจหมื่นล. 3 พี่น้องเคพีเอ็นกรุ๊ป ก่อนขับ‘ณพ’พ้นกงสี ปมหุ้น WEH ขุมข่าย 50 บริษัท
บ.วินด์ แจง'กรณ์ ณรงค์เดช' ปูดจัดประชุมด่วนช่วงไปตปท.ไม่จริง-ยันให้แสดงความเห็นทุกวาระ