"...ทั้งหมดนี้ คือ ภาพรวมสรุปข้อกล่าวหา และคำชี้แจงตอบโต้กันระหว่าง ‘ชูวิทย์’ กับ ‘เศรษฐา’ และ ‘แสนสิริ’ ที่ลากกันมาเกินครึ่งเดือน และน่าจะลากยาวต่อไปอีกระยะ ปลายทางของการแฉไป-ตอบมา กรณีนี้จะไปจบลงที่ใด? จะมีตัวละครใหม่โผล่เพิ่มเติมขึ้นมาอีกหรือไม่? บทสรุปสุดท้าย ใครจะอยู่ใครจะไป กันแน่? ..."
อยู่ในกระแสข่าวอย่างต่อเนื่องสำหรับ ‘ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์’ อดีตนักการเมืองและอดีตนักธุรกิจสีเทาเจ้าของอาบอบนวดชื่อดัง ที่ออกมาแฉข้อมูลบุคคล-กลุ่มบุคคลสำคัญๆ ในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง
ไล่เรียงคู่กรณี ‘ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์’ ตั้งแต่ต้นปีลากยาวถึงการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 พรรคภูมิใจไทย ถูกจองกฐิน ตามค้านสุดตัวทั้งนโยบายกัญชาและโปรเจ็กต์รถไฟฟ้าสายสีส้ม เดินสายทั้งก่อกวนการหาเสียง รวมถึงการไปดักพบบรรดาพรรคการเมืองมากมาย เพื่อต่อต้านพรรคบุรีรัมย์ จนไปฟาดงวงฟาดงากับ ‘สนธิ ลิ้มทองกุล’ ผู้ก่อตั้งสื่อเครือผู้จัดการพัวพันต่อว่าต่อขานในโลกออนไลน์ถึงปัจจุบัน
เมื่อพ้นฤดูกาลเลือกตั้ง ก็สวมบทบาทเป็นโหรการเมืองวิเคราะห์ความเป็น-ความตายในการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล ปูดข่าวดีลลับลังกาวี จนเมื่อโอกาสจัดตั้งรัฐบาลหลุดจากมือก้าวไกลสู่พรรคเพื่อไทย ก็สวมบทวิเคราะห์การกลับบ้านของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี จนเกิดวิวาทะ ‘เพ้อเจ้อ’ กับบุตรสาวของอดีตนายกฯ เข้าให้
เมื่อเข้าสู่เดือน ส.ค. 2566 บทบาทล่าสุดของ ‘ชูวิทย์’ ก็เคลื่อนมาสู่การเปิดประเด็นร้อนเรื่องการซื้อขายที่ดิน ของ ‘เสี่ยนิด-เศรษฐา ทวีสิน’ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ลามถึงที่ทำงานเก่าคือ บมจ.แสนสิริ ด้วย ซึ่ง ‘ชูวิทย์’ เริ่มปฏิบัติการผ่านการโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2566 ว่า นายกฯ คนใหม่ของไทย นายพิธา (ลิ้มเจริญรัตน์) ถือหุ้นไอทีวี 42,000 หุ้น เป็นสื่อที่ปิดไปแล้ว 20 ปี ยังไม่ได้ทำความเสียหายให้กับรัฐแม้แต่บาทเดียว แต่คนอยากเป็น “นายกฯ” อีกคน มีพฤติการณ์ “นิติกรรมอำพราง” เป็นที่ประจักษ์ แทนที่จะ “ซื่อสัตย์สุจริต” เป็นที่ประจักษ์ เคยร่วมทำนิติกรรมอำพรางช่วยหนีภาษี ทำให้รัฐไม่ได้เงินภาษี 500 ล้านบาท อย่างนี้ จะเป็นนายกฯ ที่สง่างามหรือไม่? พบกันอังคาร (25 ก.ค. 66) นี้ ข้อมูลเป็นที่ประจักษ์แน่!
แต่มีการเลื่อนการแฉครั้งดังกล่าวออกไป เพราะมีการเลื่อนการโหวตนายกรัฐมนตรีรอบที่ 3 ออกไป จนในที่สุดจึงมีการตั้งโต๊ะแฉนายเศรษฐาในวันที่ 3 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมาในชื่อ ‘แฉเพื่อชาติ’ มาสู่การตอบโต้กันไปมาระหว่างนายชูวิทย์ พรรคเพื่อไทย และบมจ.แสนสิริ
เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น สำนักข่าวอิศรารวบรวมและไล่เรียงข้อกล่าวหา- ข้อชี้แจงของแต่ละฝ่าย
@เปิดประเด็น โอนที่ เลี่ยงภาษี
ประเด็นแรกที่ ‘ชูวิทย์’ ออกมาแฉคือ การซื้อขายที่ดินย่านถนนสารสิน เนื้อที่ 1 ไร่เศษ ราคากว่า 1,570 ล้านบาท เมื่อปี 2562 ซึ่งเป็นที่ดินตารางวาละ 1 ล้านบาท โดยอ้างว่า เป็นราคาแพงที่สุดในประเทศไทย แต่มีการประเมินซื้อขายของบริษัทตารางวาละ 4 ล้านบาท พบการหลบเลี่ยงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทำให้รัฐขาดรายได้ไปกว่า 521 ล้านบาท ถือเป็นการทำนิติกรรมอำพราง มีการแบ่งโอนที่ดินทั้งแปลงเป็น 12 วัน และให้มีผู้ซื้อขาย 12 คน โดยมีหลักฐานการโอนที่ดินในวันทำการติดต่อกันทั้ง 12 วัน จากเดิมที่ต้องเสียภาษีหากโอนที่ดินในวันเดียวเป็นเงินกว่า 580 ล้านบาท แต่ทางบริษัทเสียภาษีที่ดินเป็นเงินเพียง 59 ล้านบาท เท่านั้น
ข้อมูลการโอนที่ทั้ง 12 ครั้งที่นายชูวิทย์กล่าวอ้าง
@แสนสิริโต้รอบแรก ผู้ขายเป็นผู้เสียภาษี
ทำให้ทาง แสนสิริ ออกเอกสารชี้แจงความว่า สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงดังกล่าวระหว่างแสนสิริกับผู้ขาย กำหนดให้ผู้ขายเป็นผู้รับผิดชอบภาษีอากร ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมด ประกอบกับเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของผู้ขายในการเสียภาษีอากรข้างต้นด้วย แสนสิริ มีหน้าที่ชำระราคาให้ครบถ้วนตามที่ตกลงกัน และรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเท่านั้น
แสนสิริ ไม่ได้รับรู้ หรือ เกี่ยวข้องใดๆ ในวิธีการ หรือการดำเนินการใดๆทางภาษีอากรของผู้ขาย ตามที่ได้มีการกล่าวอ้างดังกล่าว และไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ จากการประหยัดภาษีและค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์ของผู้ขาย
ในการซื้อขายที่ดินของแสนสิรินั้น คุณเศรษฐา เมื่อครั้งซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดและกรรมการของแสนสิริ จะมีส่วนร่วมเฉพาะในขั้นตอนการอนุมัติจัดซื้อที่ดินโดยพิจารณาจากตัวเลข และข้อมูลที่ทีมสรรหาที่ดินของแสนสิริได้จัดทำ และนำเสนอให้ที่ประชุมผู้บริหารเพื่อพิจารณาและนำเสนอคณะกรรมการของบริษัทเพื่ออนุมัติการซื้อที่ดินและการลงทุนตามลำดับ
คุณเศรษฐา ในฐานะที่เป็นผู้บริหารสูงสุดและกรรมการของแสนสิริ จึงอนุมัติเพียงแค่ราคาและมูลค่าเงินลงทุนเท่านั้น ส่วนการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน การชำระราคา และการโอนกรรมสิทธิ์จะเป็นหน้าที่ของทีมสรรหาที่ดินที่จะเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการและประสานงานทั้งหมด
ภายหลังจากที่แสนสิริ ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายและวางมัดจำซื้อที่ดินไปแล้วเป็นระยะเวลาหลายเดือน ก่อนถึงกำหนดการโอนกรรมสิทธิ์ ผู้ขายเป็นผู้แจ้งความประสงค์เกี่ยวกับรายละเอียดวิธีการโอนกรรมสิทธิ์และชำระราคาส่วนที่เหลือให้ทราบว่า ต้องการแยกโอนเฉพาะส่วนตามรายชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ตามที่เป็นข่าวทีมสรรหาที่ดินซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการตามสัญญาพิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวสามารถดำเนินการได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และยังคงเป็นการปฏิบัติตามข้อกำหนดในสัญญา
อีกทั้งไม่กระทบกระเทือนต่อการที่แสนสิริจะได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยสมบูณ์ตามสัญญาที่ตกลงกัน และไม่ได้ทำให้แสนสิริต้องได้รับความเสียหายหรือมีภาระค่าใช้จ่ายใดๆ เพิ่มเติมจากที่ตกลงไว้แต่อย่างใดทีมสรรหาที่ดินจึงตัดสินใจดำเนินการตามที่ผู้ขายแจ้งให้ทราบ
แสนสิริ ชำระราคาที่ดินแปลงดังกล่าวเกือบทั้งหมด โดยเช็คและแคชเชียร์เช็ค มีการชำระเป็นเงินสดเพียง 301,000 บาท (สามแสนหนึ่งพันบาทถ้วน) ไม่ได้มีการชำระเงินสดจำนวนมากตามที่ได้มีการกล่าวอ้างแต่อย่างใด การที่เจ้าพนักงานที่ดินบันทึกว่า การซื้อขายที่ดินมีการชำระด้วย แคชเชียร์เช็ค
ส่วนที่เหลือชำระเป็นเงินสดนั้น เป็นเพราะแสนสิริ ได้ชำระเงินมัดจำให้แก่ผู้ขายตามสัญญาจะซื้อจะขายเสร็จสิ้นไป ก่อนวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินหลายเดือนก่อนหน้า ทางปฏิบัติตามปกติของกรมที่ดินจะบันทึกส่วนต่างของค่าที่ดินที่ไม่มีการแสดงสำเนาแคชเชียร์เช็ค ณ วันโอนกรรมสิทธิ์ว่าเป็นการชำระด้วยเงินสด
การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าว เป็นการดำเนินการที่กรมที่ดินโดยเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง และได้มีการชำระค่าธรรมนียมการจดทะเบียนกาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีธุรกิจเฉพาะ/อากรแสตมป์ ตามที่มีการเรียกเก็บเรียบร้อยแล้ว และแสนสิริได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามราคาที่ตกลงซื้อขายกัน
จากข้อเท็จจริงที่ชี้แจงมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า คุณเศรษฐา ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุด และกรรมการของแสนสิริในขณะนั้น ได้ปฏิบัติหน้ที่ในการดูแลรักษาผลประโยชน์ของบริษัทครบถ้วนแล้ว และไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องและรับรู้ขั้นตอนวิธีการในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามที่กล่าวข้างต้น
(อ่านประกอบ: มีส่วนร่วมเฉพาะอนุมัติจัดซื้อ! 'แสนสิริ'โต้ปมพาดพิง'เศรษฐา'หลีกเลี่ยงภาษีซื้อขายที่ดิน)
ผลกระทบจากการแฉรอบแรกนี้ ทำให้นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความผู้ได้รับมอบอำนาจจาก นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย (พท.) ยื่นฟ้องนายชูวิทย์เรียกค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 500 ล้านบาทถ้วน พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าตำเลยจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ โดยศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องวันที่ 9 ต.ค.นี้
ส่วนฝั่งนายชูวิทย์ก็ตอบโต้กลับด้วยการฟ้องทั้งนายเศรษฐาและทนายในข้อหาฟ้องเท็จ หมิ่นประมาท และละเมิด พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พร้อมเรียกค่าเสียหาย 90,000 บาท และขอให้สภาทนายความฯ สอบมรรยาททนายความ ของ นายวิญญัติ ในกรณีที่เปิดเผย พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล ที่ต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายด้วย
รวมถึงขยายผลโดยยื่นสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สอบสวนเจ้าพนักงานที่ดินเขตพระนคร ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยการสนับสนุนจาก บมจ.แสนสิริ และผู้ขายที่ดินและยื่นกรมสรรพากร ขอให้ตรวจสอบการเสียภาษีอากรกรณีการซื้อขายที่ดินระหว่าง บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ผู้ซื้อ และนางประไพ ชินพิลาศกับพวก ผู้ขาย
@ประเด็นที่ 2 ใช้นอมินี ซื้อที่ย่านทองหล่อ -ปมเงินทอน 435 ล้าน
ต่อมา วันที่ 15 ส.ค. 2566 นายชูวิทย์โพสต์เฟซบุ๊กประกาศแฉนายเศรษฐาและ บมจ.แสนสิริรอบที่ 2 ใช้ชื่อว่า ‘แฉเพื่อชาติ Ep.2 ปั่น บวม ตัดตอน’ ซึ่งการแฉรอบนี้ไม่เกี่ยวข้องและไม่ใช่ภาคต่อของการแฉรอบแรก ในรอบนี้สาระสำคัญอยู่ที่การกล่าวหาทั้งแสนสิริและนายเศรษฐาว่า ใช้นอมินีเป็นแม่บ้านและพนักงานรักษาความปลอดภัยเข้าไปซื้อที่ดินย่านทองหล่อ ซอย 12
โดยกระบวนการคือ ในปี 2551 มีการจัดตั้ง บจ.เอ็น แอนด์ เอ็น แอสเซ็ท ผู้ถือหุ้นประกอบด้วย นายนเรนทร์ มัลโฮตรา ถือหุ้นจำนวน 250,000 หุ้น สัดส่วน 25%, นางควินดาร์กอร์ มัลโฮตรา ถือหุ้นจำนวน 250,000 หุ้น สัดส่วน 25%, นายสมชาย วงศ์จันทร์เพ็ญ ถือหุ้นจำนวน 250,000 หุ้น สัดส่วน 25% และนางนลิณี วงศ์จันทร์เพ็ญ ถือหุ้นจำนวน 250,000 หุ้น สัดส่วน 25% ต่อมาได้เข้าไปซื้อที่ดินปากซอย ทองหล่อ 12 เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2551 ก่อนที่จะมีการจดจำนองที่ดิน 13 โฉนด วงเงินกู้ 465 ล้าน กับธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LH Bank) เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2555
ต่อมา วันที่ 11 ก.พ. 2558 ได้มีการขายหุ้น บจ.เอ็น แอนด์ เอ็น แอสเซ็ท วงเงินรวม 100 ล้านบาท พร้อมกับปรับเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ ประกอบด้วย นางสาวพินิช คำยศ ถือหุ้นสัดส่วน 99.9998% อาชีพแม่บ้าน, นายสมศักดิ์ มติยาภักดิ์ 0.0001% อาชีพ รปภ. (มีอำนาจลงนาม) และนายพีระพงษ์ ทานรัมย์ 0.0001% อาชีพ รปภ. (มีอำนาจลงนาม)
ตามหลักฐานของนายชูวิทย์กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 11 ก.พ. 2558 ซึ่งเป็นวันที่ได้มีการขายบริษัทดังกล่าวและปรับเปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหม่ มีอีกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทับซ้อนคือ บจ.อาณาวรรธน์ ทำสัญญารับจำนองที่ดินผืนดังกล่าวกับ บจ.เอ็น แอนด์ เอ็น แอสเซ็ท เป็นจำนวนเงิน 1,000 ล้านบาท ทำให้ปลอดภาระจำนองกับ LH Bank ที่ติดไว้ 465 ล้านบาท โดยนายชูวิทย์ตั้งข้อสังเกตในจุดนี้ว่า หลังจากได้เงินจากอาวรรธน์และนำไปไถ่ถอนที่จาก LH Bank ส่วนต่างที่เหลือประมาณ 435 ล้านบาทหายไปไหน?
ผู้ถือหุ้น บจ.เอ็น แอนด์ เอ็น แอสเซ็ท เดิม
ผู้ถือหุ้นบจ.เอ็น แอนด์ เอ็น แอสเซ็ท ช่วงปี 2558
สัญญาจำนองที่ดินทองหล่อกับธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์
นอกจากนี้ ยังได้เปิดเผยข้อมูลของบจ.อาณาวรรธน์ด้วยว่า อาจมีความเกี่ยวข้องกับแสนสิริ เพราะผู้ถือหุ้นมีตัว บมจ.แสนสิริเองเข้าไปถือหุ้น และมีนายอภิชาต จูตระกูล ประธานกรรมการ ประธานกรรมการลงทุน กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท ร่วมอยู่ด้วย แถมนายเศรษฐา ทวีสิน ยังเป็นหนึ่งในกรรมการของบริษัทนี้อีกต่างหาก
เหตุการณ์ต่อไปในเดือน ก.ย. 2559 บจ.เอ็น แอนด์ เอ็น แอสเซ็ท ประสงค์จะไถ่ถอนจำนองกับ บจ.อาณาวรรธน์ และเมื่อไถ่ถอนได้แล้ว มีการนำที่ดินดังกล่าวขายให้กับ บมจ.แสนสิริในราคา 957 ล้านบาท จุดนี้ นายชูวิทย์อ้างว่า หลังจากได้ที่ดินดังกล่าวแล้ว แสนสิริก็นำไปกู้กับธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ได้เงินมาประมาณ 1,629 ล้านบาท ซึ่งที่ดินปัจจุบันถูกพัฒนาเป็นโครงการ KHUN by YOO คอนโดมิเนียมสุดหรูสูง 27 ชั้น มูลค่า 4,400 ล้านบาท
ส่วนบจ.เอ็น แอนด์ เอ็น แอสเซ็ท หลังจากขายที่ไปแล้ว ในปี 2560 ก็ได้เปลี่ยนผู้ถือหุ้น จาก นางสาวพินิช คำยศ เป็นนายยงยุทธ ประกิ่ง ที่มีอาชีพเป็นรปภ. และทิ้งบริษัทให้ร้างโดยไม่ส่งงบการเงินตั้งแต่ปี 2560-2564
จึงทำให้นายชูวิทย์ตั้งข้อสังเกตถึงกระบวนการดังกล่าวว่า กรรมการผู้ถือหุ้นใหญ่ของบจ.เอ็น แอนด์ เอ็น แอสเซ็ท จะสามารถมีเงินไปซื้อที่ดินทองหล่อได้หรือไม่ และเงินทอนจำนวน 435 ล้านบาทตกหล่นไปอยู่ที่ใคร
นอกจากนี้ นายชูวิทย์ ยังมีการกล่างอ้างว่า มีการใช้ รปภ. ยื่นขอ EIA โครงการ Khun by YOO ด้วย
สัญญาจำนองที่ดินย่านทองหล่อระหว่าง บจ.เอ็น แอนด์ เอ็น แอสเซ็ท กับ บจ.อาณาวรรธน์
หลักฐานการไถ่ถอนที่จากธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ สู่ บจ.อาณาวรรธน์
หนังสือรับรอง บจ.อาณาวรรธน์
ผู้ถือหุ้นบจ.อาณาวรรธน์
@แสนสิริ-เศรษฐา สองแรงโต้ ยันซื้อที่ทองหล่ออย่างถูกต้อง
ด้านแสนสิริก็ออกมาตอบโต้ผ่านแถลงการณ์ระบุว่า บุคคลตามที่กล่าวอ้าง ได้แก่ นางสาวพินิช ค่ายศ, นายพีระพงษ์ ทานรัมย์, นายสมศักดิ์ มติยาภักดิ์ และนายยงยุทธ ประกิ่ง ไม่ใช่นอมินี และ/หรือ ตัวแทนของบริษัท แสนสิริ บริษัทในเครือของแสนสิริ กรรมการ หรือผู้บริหารแต่อย่างใด บุคคลดังกล่าวเป็นคนของบริษัท เอ็น แอนด์ เอ็น แอสเซ็ท จํากัด ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินตั้งแต่ปี 2551
ทั้งนี้ แสนสิริ ซื้อและโอนที่ดินแปลงนี้โดยตรง จากบริษัท เอ็น แอนด์ เอ็น แอสเซ็ท จํากัด เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน ไม่ใช่การซื้อผ่านตัวกลาง หรือรับโอนหุ้นตามที่เป็นข่าว
แสนสิริ ไม่เคยให้กู้ยืมเงินแก่ผู้ขายแต่อย่างใด การจดจํานองเป็นการจํานอง เพื่อประกันการปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายของผู้ขาย ซึ่งวงเงินจํานวน 1,000 ล้านบาท เป็นวงเงินที่ครอบคลุมราคาที่ดิน และค่าเสียหาย ที่อาจเกิดขึ้น อันเนื่องมาจากการไม่ปฏิบัติตามสัญญาของผู้ขาย อย่างไรก็ตาม แสนสิริ ชําระเงินค่าที่ดินให้แก่ บริษัท เอ็น แอนด์ เอ็น แอสเซ็ท จํากัด ครบถ้วน และได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญาเรียบร้อยถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ
ที่มา: Facebook แสนสิริ
พร้อมสำทับด้วยการออกคลิปวิดีโอของนายเศรษฐา ทวีสิน ชี้แจงประเด็นดังกล่าวความยาวเกือบ 8 นาที โดยระบุว่า
“บริษัทแสนสิริคือผู้ซื้อ ซึ่งไม่สามารถที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการบริหารภายในของฝ่ายผู้ขายได้ในทุกขั้นตอน ฝั่งผู้ซื้อไม่มีนอมินี ไม่มีการปล่อยกู้ให้ผู้ขาย ความจริงเป็นการจดจำนองเพื่อเป็นการประกันการปฏิบัติตามสัญญาและห้ามผิดสัญญาของบริษัทผู้ขาย และรับประกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นเป็นจำนวนเงิน 1,000 ล้านบาท มีหลักฐานชัดเจน ผมยืนยันไม่มีการทำสัญญากู้ อีกทั้งไม่มีการสมคบคิดใดๆและไม่เคยมีเงินทอนใดๆกลับมาที่ผมหรือพนักงานแสนสิริคนไหนทั้งสิ้น”
ก่อนแฉกลับเจ้าพ่ออ่างทองคำว่า “คุณโกรธเคืองที่บริษัทไม่ซื้อที่ดินคุณที่ซอยสุขุมวิท 24 เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว (2565) เราตกลงกันจากราคา 2,000 ล้านบาทเหลือ 1,800 ล้านบาทแต่ที่ดินของคุณชูวิทย์มีเงื่อนไขติดพันกับบริษัทไลมอนด์แลนด์ แสนสิริไม่สามารถซื้อที่ดินที่มีนิติกรรมซ้อนได้ แสนศิริเป็นบริษัทมหาชน ผมทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย 100% และไม่มีอะไรที่ผิดกฎหมายรวมถึงไม่ผิดจริยธรรมใดๆที่ผ่านมา...คุณติดต่อผู้ใหญ่มากมายให้มาบอกผมว่า คุณจะแฉผมแล้วจะทำทุกอย่างเพื่อให้ผมไม่เหมาะสมในการเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ถ้าจะให้ไม่แฉ ให้ผมตกลงซื้อที่ดินในราคา 2,000 ล้านบาททันทีแบบไม่มีเงื่อนไข ไม่งั้นคุณชูวิทย์จะเดินหน้าดิสเครดิตและด้อยค่าที่สุดต่อไป”
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นที่ 2 นี้ นายชูวิทย์เดินทางเข้าพบ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2566 เพื่อยื่นกล่าวโทษต่อคณะกรรมการบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) และกลุ่มบุคคลที่มีพฤติการณ์เป็นนอมินีซื้อขายที่ดิน ในข้อหาทำเอกสารอันเป็นเท็จ , จัดตั้งบริษัทนอมินี และฟอกเงิน
@เตรียมแฉประเด็นสุดท้าย
ล่าสุด วานนี้ (20 ส.ค. 2566) นายชูวิทย์นัดหมายสื่อมวลชนแถลงอีกครั้ง โดยขอให้นายเศรษฐาถอนตัวจากการเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่จะมีการโหวตในวันที่ 22 ส.ค.นี้ ถ้าไม่ทำจะแฉรอบ 3 เกี่ยวกับการกลับมาของ นายทักษิณ ชินวัตร ว่ามีเงื่อนงำเชื่อมโยงกับดีล ที่พรรคเพื่อไทยเสนอชื่อของ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี รวมถึงจะเปิดโปงพฤติกรรมนิติกรรมอำพราง ของนายเศรษฐาว่าเป็นนอมินีของใคร? ซื้อที่ราคาสมเหตุสมผลหรือไม่? เปิดตัว ‘ขงเบ้งง ผู้มีอุปการคุณของนายเศรษฐาช่วงบ่ายวันนี้ (21 ส.ค.2566)
********
ทั้งหมดนี้ คือ ภาพรวมสรุปข้อกล่าวหา และคำชี้แจงตอบโต้กันระหว่าง ‘ชูวิทย์’ กับ ‘เศรษฐา’ และ ‘แสนสิริ’ ที่ลากกันมาเกินครึ่งเดือน และน่าจะลากยาวต่อไปอีกระยะ
ปลายทางของการแฉไป-ตอบมา กรณีนี้จะไปจบลงที่ใด?
จะมีตัวละครใหม่โผล่เพิ่มเติมขึ้นมาอีกหรือไม่?
ผลการหน่วยงานตรวจสอบแห่งใด ที่จะสามารถทำความจริงเรื่องนี้ให้ปรากฏชัดเจนได้
บทสรุปสุดท้าย ใครจะอยู่ใครจะไป กันแน่?
อีกไม่นานสังคมไทย คงได้รับทราบคำตอบที่ชัดเจนกัน
อ่านประกอบ