‘ชูวิทย์’ ลุยยื่นหนังสือถึงกรมสรรพากร สอบ‘เศรษฐา - แสนสิริ’ ปมซื้อที่ดินเลี่ยงภาษี เปิดพฤติการณ์ซื้อที่จากบุคคล 12 คน แล้วโอนที่คนละวัน เลี่ยงการซื้อจากคณะบุคคล เพื่อไม่ต้องเสียภาษีจำนวน 521 ล้าน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 4 สิงหาคม 2566 จากกรณีที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตหัวหน้าพรรครักประเทศไทย เปิดเผยถึงนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย และอดีตประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. แสนสิริ ทำการซื้อขายที่ดินย่านถนนสารสิน เนื้อที่ 1 ไร่เศษ ราคากว่า 1,570 ล้านบาท เมื่อปี 2562
โดยนายชูวิทย์ กล่าวว่า ที่ดินตารางวาละ 1 ล้านบาท แต่มีการประเมินซื้อขายตารางวาละ 4 ล้านบาท มีการหลบเลี่ยงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทำให้รัฐขาดรายได้ไปกว่า 521 ล้านบาท ถือเป็นการทำนิติกรรมอำพราง มีการแบ่งโอนที่ดินทั้งแปลงเป็น 12 วัน และให้มีผู้ซื้อขาย 12 คน โดยมีหลักฐานการโอนที่ดินในวันทำการติดต่อกันทั้ง 12 วัน จากเดิมที่ต้องเสียภาษีหากโอนที่ดินในวันเดียวเป็นเงินกว่า 580 ล้านบาท แต่ทางบริษัทเสียภาษีที่ดินเป็นเงินเพียง 59 ล้านบาท เท่านั้น
ซึ่งทางแสนสิริชี้แจงว่า นายเศรษฐามีส่วนร่วมเฉพาะขั้นตอน 'อนุมัติจัดซื้อ' ส่วนการเสียภาษี 'ผู้ขาย' เป็นผู้รับผิดชอบ
@ชูวิทย์ ยื่นหนังสือถึงกรมสรรพกร เรียกสอบภาษี
ล่าสุด วันนี้ (4 ส.ค. 66) นายชูวิทย์เดินทางไปที่กรมสรรพากร ขอให้ตรวจสอบการเสียภาษีอากรกรณีการซื้อขายที่ดินระหว่าง บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ผู้ซื้อ และนางประไพ ชินพิลาศกับพวก ผู้ขาย โดยเนื้อหาในหนังสือที่ทำถึงนายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร มีเนื้อหา ดังนี้
ด้วยข้าพเจ้า นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ได้พบหลักฐานการชำระภาษีที่ดินที่ผิดปกติ ในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่าง บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ผู้ซื้อ และนางประไพ ชินพิลาศ กับพวกผู้ขาย เหตุเกิดระหว่างวันที่ 22 สิงหาคม 2566 – 6 กันยายน 2566 ณ สำนักงานที่ดินเขตพระนคร
รายละเอียดดังนี
@ย้อนที่มา ‘แสนสิริ’ ซื้อที่จากบุคคล 12 ราย
เมื่อปี พ.ศ. 2562 บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้ทำการซื้อที่ดินบนถนนสารสิน โฉนดเลขที่ 16515 ขนาดพื้นที่ 0-3-99.7 ไร่ จากบุคคลจำนวน 12 ราย ซึ่งถือครองที่ดินแปลงดังกล่าวในลักษณะกรรมสิทธิ์รวมตามมาตรา 1356 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,570,821,000 บาท โดยกลุ่มผู้ขายได้รับที่ดินมาจากการจดทะเบียนเลิก บริษัท ประไพทรัพย์ จำกัด เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 และแบ่งคืนที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์สินของบริษัทตามสัดส่วนหุ้นของผู้ถือหุ้นแต่ละราย โดยมิได้มีการจดทะเบียนบรรยายถึงว่า ของใคร อยู่ส่วนไหน เป็นจำนวนเนื้อที่เท่าใดชัดแจ้ง
และที่ดินผืนดังกล่าวยังติดภาระเช่า กรณีถือได้ว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม และรับผลประโยชน์ร่วมกัน ย่อมต้องทำธุรกรรมซื้อขายที่ดินเป็นคณะบุคคล หรือ ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนตามแนววินิจฉัยกรมสรรพากรอ้างอิงถึงหนังสือตอบข้อหารือเลขที่ กค 0811/02985 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2542 ซึ่งกลุ่มผู้ขายทั้ง 12 ราย จะมีภาระต้องชำระภาษีและที่ค่าธรรมเนียมที่สำนักงานที่ดิน รวมทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90) จากส่วนแบ่งกำไร ตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 580,378,106.05 บาท
แต่กลุ่มผู้ขายได้ร่วมมือกับ บริษัท แสนสิริฯ ทำนิติกรรมอำพรางเพื่อหลบเลี่ยงภาษีที่พึงชำระอย่างเป็นกระบวนการ ดังนี้
บริเวณที่ดินบนถนนสารสิน ที่นายชูวิทย์กล่าวถึง
@นัดโอนที่ 12 ครั้ง รัฐสูญรายได้ 521 ล้าน
1. เมื่อวันพุธที่ 14 สิงหาคม 2562 บริษัท แสนสิริฯ จัดการประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 9/2562 บรรจุวาระการประชุมข้อ 10.5 เพื่อพิจารณาอนุมัติการซื้อที่ดิน (ระหว่างเช่า) บริเวณถนนสารสิน แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เพื่อนำมาพัฒนาเป็นโครงการอาคารชุดอยู่อาศัย โดยที่ประชุมนำโดย นายอภิชาติ จูตระกูล ประธานในที่ประชุม, นายวันจักร์ บุรณศิริ กรรมการและประธานผู้บริหารสายงานการเงินและสนับสนุนธุรกิจ และนายเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ พร้อมกรรมการรายอื่น มีการลงมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติการซื้อที่ดินดังกล่าว โดยแบ่งการซื้อและการโอนจากผู้ครอบครองที่ดินทั้ง 12 ราย เป็นรายคนตามสัดส่วนหุ้น ปรากฎตามเอกสารหมายเลข 7 ของสำเนาคัดย่อเฉพาะวาระรายงานการประชุมคณะกรรมการ บริษัท แสนสิริฯ ทั้ง 12 ฉบับ ลงลายมือชื่อรับรองโดย นายเศรษฐา นายอภิชาติ และนายวันจักร
2. หลังจากคณะกรรมการ บริษัท แสนสิริฯ มีมติอนุมัติการซื้อที่ดินดังกล่าว และจัดเตรียมสำเนาคัดย่อเฉพาะวาระฯ แยกตามผู้ขายทั้ง 12 ราย เป็นรายคนแล้ว บริษัท แสนสิริฯ ได้ทำการนัดหมายผู้ขายแต่ละรายเพื่อชำระเงินและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวที่สำนักงานที่ดินเขตพระนคร โดยใช้วิธีการนัดหมายวันละ 1 ราย ติดต่อกัน 12 วัน แบ่งเป็นวันพฤหัสบดีที่ 22 - วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม 2562, วันจันทร์ที่ 26 - วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม 2562 และวันจันทร์ที่ 2 - วันศุกร์ที่ 6 กันยายน 2562 การกระทำดังกล่าวเป็นการทำนิติกรรมอำพรางเพื่อให้เข้าใจว่าผู้ขายทั้ง 12 ราย ต่างคนต่างขายที่ดินให้กับ บริษัท แสนสิริฯ เพื่อหลีกเลี่ยงการขายที่ดินเป็นคณะบุคคลในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมตามมาตรา 1356 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทำให้ผู้ขายทั้ง 12 ราย ต่างคนต่างชำระภาษีและค่าธรรมเนียมเฉพาะที่สำนักงานที่ดินฯ เป็นเงินรวมกันเพียง 59,247,317 บาท
ทั้งที่ ความเป็นจริงแล้วการขายที่ดินดังกล่าวเข้าลักษณะการขายในรูปแบบคณะบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ซึ่งผู้ขายทั้ง 12 ราย จะมีภาระค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปี จากการแบ่งกำไรตามอัตราก้าวหน้าสูงสุดร้อยละ 35 แต่บริษัท แสนสิริฯ โดยนายเศรษฐาฯ กับพวก กลับร่วมกันกับกลุ่มผู้ขายในการหลีกเลี่ยงภาษีดังกล่าว ส่งผลให้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษีที่พึงชำระเป็นเงินทั้งสิ้น 521,130,789.05 บาท
สไลด์การนำเสนอของนายชูวิทย์ กรณีการโอนที่ทั้ง 12 ครั้ง
3. หลังจาก บริษัท แสนสิริฯ และผู้ขายกระทำนิติกรรมอำพรางตามข้อ 2 แล้ว วันจันทร์ที่ 24 กันยายน 2562 บริษัท แสนสิริฯ ได้มีการประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 10/2562 ลงมติอนุมัตินำที่ดินแปลงดังกล่าวจำนองทั้งแปลงแก่ผู้รับจำนอง คือ บริษัท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อเป็นประกันหนี้สินของ บริษัท แสนสิริฯ อันจะพึงมีต่อ บริษัท ธนาคารกสิกรไทยฯ เป็นจำนวนเงิน 1,103,000,000.00 บาท อันเป็นการผิดวิสัยของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ทั่วไปที่โดยปกติจะชำระเงินมัดจำแก่ผู้ขายเพื่อนำโฉนดที่ดินทั้งแปลงเข้าจดจำนองเป็นหลักประกันเงินกู้กับสถาบันการเงิน และนำเงินกู้จำนวนดังกล่าวมาชำระเป็นค่าที่ดินบางส่วน
แต่เนื่องจากพฤติการณ์ร่วมกันทำนิติกรรมอำพรางระหว่าง บริษัท แสนสิริฯ และผู้ขาย ที่กระทำการหลบเลี่ยงภาษีโดยการแบ่งชำระและโอนที่ดินแบบแบ่งเป็นรายบุคคลแยกกันไปในแต่ละวัน จะทำให้สถาบันการเงินทั่วไปไม่สามารถออกแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายแยกเป็นรายคนได้เนื่องจากเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน จึงทำให้ บริษัท แสนสิริฯ จำเป็นต้องสั่งจ่ายเช็ค และเงินสดบางส่วน ให้แก่ผู้ขายไปก่อน อันแสดงให้เห็นถึงเจตนาอันไม่บริสุทธิ์ของ บริษัท แสนสิริฯ ที่ร่วมกันกับผู้ซื้อในการหลบเลี่ยงค่าภาษีอากรอันพึงชำระ
จากพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า บริษัท แสนสิริฯ ได้ให้ความร่วมมือกับผู้ซื้อกระทำนิติกรรมอำพราง เพื่อหลบเลี่ยงภาษีอากรอันพึงชำระ ทำให้รัฐสูญเสียรายได้รวม 521,130,789.05 บาท ซึ่ง บริษัท แสนสิริฯ เป็นผู้เชี่ยวชาญการทำธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีความชำนาญด้านกฎหมายเกี่ยวกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าการกระทำดังกล่าวข้างต้นเป็นเจตนาหลบเลี่ยงภาษี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแบ่งแยกสำเนาคัดย่อรายงานการประชุมฯ เพื่อทำนิติกรรมที่สำนักงานที่ดินร่วมกับผู้ขายแบบแบ่งเป็นรายคน แทนที่จะกระทำการเพียงวันเดียวตามวิสัยปกติของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ทำการซื้อที่ดินแปลงเดียวย่อมดำเนินการโอนเพียงครั้งเดียวทั้งแปลง
จึงเชื่อได้ว่ามีการร่วมมือกันทำนิติกรรมอำพรางอย่างเป็นกระบวนการ อันเป็นการผิดหลักธรรมาภิบาลของบริษัทมหาชน และเป็นความผิดตามมาตรา 37 (2) แห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 อีกทั้ง ยังร่วมกันสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86
จึงเรียนมายังท่าน (กรมสรรพากร) โปรดดำเนินการตรวจสอบการชำระภาษีอากรของที่ดินแปลงดังกล่าว ว่ากระทำโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน หลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรหรือไม่ หากได้ผลเป็นประการใดกรุณาแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบด้วยจักขอบพระคุณอย่างสูง" หนังสือนายชูวิทย์ระบุ
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรค พท. ออกมายืนยันต่อสาธารณชนว่า เคยทำธุรกิจมานานก็มั่นใจว่าบริษัทเก่าที่ตนได้ทำมาก็ทำมาด้วยดี ไม่ได้มีปัญหาอะไร และเข้าใจเมื่อมาอยู่ตรงจุดนี้ก็ต้องระมัดระวัง พร้อมมั่นใจในความบริสุทธิ์ของตัวเอง