‘ชูวิทย์’ บุก ป.ป.ช. ยื่นเอาผิด 2 เจ้าพนักงานที่ดิตเขตพระนคร ผิดมาตรา 157 ฐานปล่อยให้แสนสิริรับโอนที่ดิน 12 ครั้ง เลี่ยงภาษี ทำให้รัฐสูญรายได้ 521 ล้านบาท งัดหนังสือกรมที่ดิน 2 ฉบับเอาผิด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 7 สิงหาคม 2566 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตหัวหน้าพรรครักประเทศไทย เดินทางมายื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยมีผู้แทน ป.ป.ช. มารับหนังสือแทน
เนื้อหาในหนังสือที่ทำถึง ประธาน ป.ป.ช. มีเนื้อหาดังนี้
ด้วยข้าพเจ้า นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ได้พบหลักฐานการชำระภาษีที่ดินที่ผิดปกติ ในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่าง บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ผู้ซื้อ และนางประไพ ชินพิลาศ กับพวก ผู้ขาย เหตุเกิดระหว่างวันที่ 22 สิงหาคม - 6 กันยายน 2566 ณ สำนักงานที่ดินเขตพระนคร โดยเจ้าพนักงานที่ดินเขตพระนคร นายสุระ พินธุรักษ์ และนายอนุ สุริยาวงษ์ ได้ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่ระงับยับยั้งความเสียหาย แต่กลับร่วมมือกระทำการเป็นขั้นเป็นตอน อย่างเป็นกระบวนการกับผู้ซื้อและผู้ขายในการหลีกเลี่ยงภาษี ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากค่าภาษีเป็นเงินทั้งสิ้น 521,130,789.05 บาท พฤติการณ์ตามรายละเอียดดังนี้
@ไล่เรียงพฤติกรรมการซื้อขายที่ดิน
เมื่อปี พ.ศ. 2562 บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้ทำการซื้อที่ดินบนถนนสารสิน โฉนดเลขที่ 16515 ขนาด พื้นที่ 0-3-99.7 ไร่ จากบุคคลจำนวน 12 ราย (ปรากฎตามสิ่งที่ส่งมาด้วยลำดับที่ 1) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,570,821,000 บาท (ปรากฎตามสิ่งที่ส่งมาด้วยลำดับที่ 2, 3 และ4) ซึ่งบุคคลทั้ง 12 ราย ถือครองที่ดินแปลงดังกล่าวในลักษณะกรรมสิทธิ์รวมตามมาตรา 1356 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
โดยกลุ่มผู้ขายได้รับที่ดินมาพร้อมกันจากการจดทะเบียนเลิก บริษัท ประไพทรัพย์ จำกัด เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 และแบ่งคืนที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์สินของบริษัทตามสัดส่วนหุ้นของผู้ถือหุ้นแต่ละรายโดยมิได้มีการจดทะเบียนบรรยายถึงว่าของใครอยู่ส่วนไหนเป็นจำนวนเนื้อที่เท่าใดชัดแจ้ง และที่ดินผืนดังกล่าวยังติดภาระเช่า กรณีถือได้ว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม และรับผลประโยชน์ร่วมกัน ย่อมต้องทำธุรกรรมซื้อขายที่ดินในรูปแบบคณะบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนตามแนววินิจฉัยกรมสรรพากรอ้างอิงถึงหนังสือตอบข้อหารือ เลขที่ กค 0811/02985 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2542
ซึ่งกลุ่มผู้ขายทั้ง 12 ราย จะมีภาระต้องชำระภาษีและที่ค่าธรรมเนียมที่สำนักงานที่ดิน รวมทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90) จากส่วนแบ่งกำไร ตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 580,378,106.05 บาท แต่กลุ่มผู้ขายได้ร่วมมือกับ บริษัท แสนสิริทำนิติกรรมอำพรางเพื่อหลบเลี่ยงภาษีที่พึงชำระอย่างเป็นกระบวนการโดยสำเร็จ อันเนื่องมาจากการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของนายสุระและนายอนุ ดังนี
1. วันพุธที่ 14 สิงหาคม 2562 บริษัท แสนสิริ จัดการประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 9/2562 บรรจุวาระการประชุมข้อ 10.5 เพื่อพิจารณาอนุมัติการซื้อที่ดิน (ระหว่างเช่า) บริเวณถนนสารสิน แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เพื่อนำมาพัฒนาเป็นโครงการอาคารชุดอยู่อาศัย โดยที่ประชุมนำโดย นายอภิชาติ จูตระกูล ประธานในที่ประชุม, นายวันจักร์ บุรณศิริ กรรมการและประธานผู้บริหารสายงานการเงินและสนับสนุนธุรกิจ และนายเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ พร้อมกรรมการรายอื่น
มีการลงมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติการซื้อที่ดินดังกล่าว โดยแบ่งการซื้อและการโอนจากผู้ครอบครองที่ดินทั้ง 12 ราย เป็นรายคน ปรากฎตามเอกสารหมายเลข 7 ของสำเนาคัดย่อเฉพาะวาระรายงานการประชุมคณะกรรมการ บริษัท แสนสิริฯ ทั้ง 12 ฉบับ ลงลายมือชื่อรับรองโดย นายเศรษฐา นายอภิชาติ และนายวันจักร์ ซึ่งการกระทำดังกล่าว เป็นการเตรียมการกระทำนิติกรรมอำพรางโดยอุบายฉ้อฉลเพื่อหลบเลี่ยงภาษีอันพึงชำระ
2. หลังจากคณะกรรมการ บริษัท แสนสิริ มีมติอนุมัติการซื้อที่ดินดังกล่าว และจัดเตรียมสำเนาคัดย่อเฉพาะวาระ แยกตามผู้ขายทั้ง 12 ราย เป็นรายคนแล้ว บริษัท แสนสิริ ได้ทำการนัดหมายผู้ขายแต่ละรายเพื่อชำระเงินและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวที่สำนักงานที่ดินเขตพระนคร โดยใช้วิธีการนัดหมายวันละ 1 ราย ติดต่อกัน 12 วัน แบ่งเป็นวันพฤหัสบดีที่ 22 - วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม 2562, วันจันทร์ที่ 26 - วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม 2562 และวันจันทร์ที่ 2 - วันศุกร์ที่ 6 กันยายน 2562
การกระทำดังกล่าวเป็นการทำนิติกรรมอำพรางเพื่อให้เข้าใจว่าผู้ขายทั้ง 12 ราย ต่างคนต่างขายที่ดินให้กับ บริษัท แสนสิริ เพื่อหลีกเลี่ยงการขายที่ดินเป็นคณะบุคคลในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมตามมาตรา 1356 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทำให้ผู้ขายทั้ง 12 ราย ต่างคนต่างชำระภาษีและค่าธรรมเนียมเฉพาะที่สำนักงานที่ดินฯ เป็นเงินรวมกันเพียง 59,247,317 บาท ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วการขายที่ดินดังกล่าวเข้าลักษณะการขายในรูปแบบคณะบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ซึ่งผู้ขายทั้ง 12 ราย จะมีภาระค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปีจากการแบ่งกำไรตามอัตราก้าวหน้าสูงสุดร้อยละ 35 แต่เจ้าพนักงานที่ดิน
@เจ้าพนักงานที่ดินเขตไม่ยับยั้ง
โดยนายสุระ และนายอนุ นอกจากมิได้ระงับยับยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้น กลับยังให้ความร่วมมือกับ บริษัท แสนสิริ โดยนายเศรษฐาฯฃ กับพวก ร่วมกันกับกลุ่มผู้ขายทั้ง 12 ราย ในการหลีกเลี่ยงภาษีดังกล่าวส่งผลให้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษีที่พึงชำระเป็นเงินทั้งสิ้น 521,130,789.05 บาท
3. หลังจาก บริษัท แสนสิริ และผู้ขายกระทำนิติกรรมอำพรางตามข้อ 2 แล้ว วันจันทร์ที่ 24 กันยายน 2562 บริษัท แสนสิริ ได้มีการประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 10/2562 ลงมติอนุมัตินำที่ดินแปลงดังกล่าวจำนองทั้งแปลงแก่ผู้รับจำนอง คือ บริษัท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อเป็นประกันหนี้สินของ บริษัท แสนสิริ อันจะพึงมีต่อ บริษัท ธนาคารกสิกรไทยฯ เป็นจำนวนเงิน 1,103,000,000.00 บาท (ปรากฎตามสิ่งที่ส่งมาด้วยลำดับที่ 5) อันเป็นการผิดวิสัยของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ทั่วไปที่โดยปกติจะชำระเงินมัดจำแก่ผู้ขายเพื่อนำโฉนดที่ดินทั้งแปลงเข้าจดจำนองเป็นหลักประกันเงินกู้กับสถาบันการเงิน และนำเงินกู้จำนวนดังกล่าวมาชำระเป็นค่าที่ดินบางส่วน
แต่เนื่องจากพฤติการณ์ร่วมกันทำนิติกรรมอำพรางระหว่าง บริษัท แสนสิริ และผู้ขายโดยการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของ นายสุระ และนายอนุ ที่ร่วมกระทำนิติกรรมอำพรางเพื่อหลบเลี่ยงภาษีโดยการแบ่งชำระและโอนที่ดินแบบแบ่งเป็นรายบุคคลแยกกันไปในแต่ละวัน ทำให้สถาบันการเงินทั่วไปไม่สามารถออกแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายแยกเป็นรายคนได้ เนื่องจากเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน บริษัท แสนสิริ จึงจำเป็นต้องนำเงินของ บริษัท แสนสิริ เอง สั่งจ่ายเช็ค และเงินสดเป็นค่าที่ดินให้แก่ผู้ขายไปก่อนทั้งหมด อันแสดงให้เห็นถึงเจตนาอันไม่บริสุทธิ์ของ บริษัท แสนสิริ ที่ร่วมกันกับผู้ซื้อในการหลบเลี่ยงค่าภาษีอากรอันพึงชำระ โดยความร่วมมือของเจ้าพนักงานที่ดิน นายสุระ และนายอนุ
4. ในหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินของสำนักงานที่ดิน ข้อ 7 ระบุวิธีการชำระเงินระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย โดยระบุยอดเงินในเช็คที่ทำการจ่าย ณ วันโอนที่สำนักงานที่ดินส่วนหนึ่ง และส่วนที่เหลือได้ชำระเป็นเงินสดเรียบร้อยแล้ว ต่อมา บริษัท แสนสิริ ชี้แจงว่า เงินส่วนที่เหลือที่ระบุในสัญญาว่าชำระเป็นเงินสดแท้จริงแล้วสั่งจ่ายโดยเช็คและแคชเชียร์เช็คในสถานะเงินมัดจำค่าที่ดิน ซึ่งเงินมัดจำดังกล่าวมีมูลค่ารวมกันถึง 698,301,000 บาท แต่กลับไม่พบว่า นายสุระและนายอนุ ได้แจ้งให้ผู้ซื้อนำส่งสำเนาเช็คและแคชเชียร์เช็คจำนวนดังกล่าวมาแสดงเพื่อบันทึกไว้ในสารบบที่ดิน ทั้งที่เป็นจำนวนเงินสูงผิดปกติ
@ยก 2 หนังสือกรมที่ดิน อัดเจ้าพนักงานละเว้นการแฏิบัติหน้าที่
5. ตามหนังสือกรมที่ดิน ที่ มท 0515.1/ว 8900 ลงวันที่ 2 เมษายน 2556 เรื่อง การเรียกเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จากผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันแล้วจดทะเบียนขายเฉพาะส่วนของตน โดย นายบุญเชิด คิดเห็น อธิบดีกรมที่ดิน ณ ขณะนั้น ได้มีการแจ้งหนังสือดังกล่าวเพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินทราบแนวทางปฏิบัติจากการตอบข้อหารือของกรมที่ดินที่ได้สอบถามไปยังกรมสรรพากรในการทำธุรกรรมการโอนที่ดินกรณีการถือที่ดินแบบกรรมสิทธิ์รวม โดยมีใจความสำคัญระบุว่า
“กรณีบุคคลธรรมดาหลายคนได้ร่วมกันซื้อที่ดินในวันเดียวกันและเข้าถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมกัน ไม่ได้มีการแบ่งแยกที่ดินหรือบรรยายส่วนกันไว้อย่างชัดเจน ต่อมาบุคคลเหล่านั้นได้ขายที่ดินให้แก่ผู้ซื้อรายเดียวกัน แม้จะได้ทำสัญญาซื้อขายแยกกันคนละฉบับ และเจ้าพนักงานที่ดินได้จดทะเบียนขายเฉพาะส่วนตามคำขอของผู้ขอแต่ละคนก็ตาม แต่เมื่อการถือกรรมสิทธิ์รวมเกิดขึ้นเนื่องจากการทำนิติกรรมซื้อขายและได้เข้าถือกรรมสิทธิ์รวมพร้อมกัน ผู้ขายทั้งหมดจึงต้องเสียภาษีเงินได้ในฐานะห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล”
6.ตามหนังสือกรมที่ดิน ที่ มท 0515.1/ว 27470 ลงวันที่ 21 กันยายน 2552 เรื่อง การประเมินราคาทุนทรัพย์ที่ดิน และการเรียกเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย โดย นายอนุวัฒน์ เมธิวิบูลวุฒิ อธิบิดีกรมที่ดิน ณ ขณะนั้น ได้มีการแจ้งหนังสือดังกล่าวเพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินทราบแนวทางปฏิบัติจากการตอบข้อหารือของกรมที่ดินที่ได้สอบถามไปยังกรมสรรพากร ในข้อ 2 กรณีมีการโอนที่ดินด้วยวิธีการให้ผู้ขอรายเดียวกันเข้าถือกรรมสิทธิ์รวมเพียงบางส่วน ส่วนที่เหลือไว้โอนวันหลังมีใจความสำคัญว่า
“ในการจดทะเบียนโอนครั้งต่อไปให้คำนวณเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณที่จ่าย โดยคำนวณจากการขายอสังหาริมทรัพย์ในแต่ละครั้งที่มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม แต่ไม่ได้หมายความว่าพนักงานเจ้าหน้าที่จะรับจดทะเบียนขายที่ดินด้วยวิธีการให้ผู้ซื้อรายเดียวกันเข้าถือกรรมสิทธิ์รวมเป็นส่วนๆ แล้วโอนขายส่วนที่เหลือให้ในวันเดียวกัน โดยแบ่งการโอนออกเป็นช่วงๆ ได้ เพราะการกระทำเช่นนี้ส่อเจตนาว่าประสงค์จะหลีกเลี่ยงภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย โดยการกระจายฐานภาษีให้แคบลง เพื่อจะได้เสียภาษีเงินได้ในอัตราที่ต่ำกว่าโอนขายทีเดียวทั้งแปลง”
ข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า หนังสือแจ้งแนวทางปฏิบัติของอธิบดีกรมที่ดินมีวัตถุประสงค์เพื่อเน้นย้ำให้เจ้าพนักงานที่ดินปฏิบัติหน้าที่อย่างรอบคอบ โดยยึดถือการเก็บภาษีอย่างครบถ้วนอันเป็นผลประโยชน์ของรัฐเป็นหลัก มิใช่ทำนิติกรรมเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ผู้เสียภาษีได้รับการยกเว้น หรือช่วยให้เสียภาษีน้อยลง
7. คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 153/2563
“การที่นาย ก โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้ง 8 แปลง ในวันทำการของทางราชการ 4 วันติดต่อกัน โดยไม่ปรากฏข้อห้าม ข้อจำกัด หรือพฤติกรรมพิเศษ ที่จะทำให้ไม่สามารถทำการโอนดังกล่าวในคราวเดียวกันได้ ย่อมเป็นการขาดเหตุผลตามปกติทางการค้า ทั้งเป็นการแจ้งชัด ว่าโจทก์ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินและมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 (5) (ข) จากฐานภาษี ในการโอนที่ดินทั้ง 8 แปลง แต่กลับสมรู้กับนาย ก เพื่อทำให้มีการหักภาษีนำส่งไม่ครบถ้วนถูกต้อง ทำให้นาย ก ได้รับประโยชน์ทางภาษีอากร โดยคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายต่ำกว่าฐานภาษีที่แท้จริงถึงจำนวน 12,716,161 บาท ทำให้รัฐเสียหาย บริษัท ข จึงต้องรับผิดร่วมกับนาย ก ในการเสียภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนเงินภาษีที่ขาดไปตามมาตรา 54 วรรคหนึ่ง การประเมินของเจ้าพนักงานฯ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จึงถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย”
8. นายสุระ และนายอนุ นอกจากไม่ได้ยึดแนวทางปฏิบัติตามหนังสือแจ้งของอธิบดีกรมที่ดินตามข้อ 5และข้อ 6 แล้วยังดำเนินการช่วยเหลือผู้ซื้อและผู้ขายโดยการจดทะเบียนขายเฉพาะส่วนให้กับผู้ขายทั้ง 12 ราย แบบแยกรายคนแบ่งเป็นคนละวันติดต่อกันจนครบ 12 วัน เพื่อให้ผู้ซื้อและผู้ขายร่วมมือกันกระทำนิติกรรมอำพราง เสียภาษีเงินได้ในฐานะบุคคลธรรมดาแทนการเสียภาษีเงินได้ในฐานะห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล จนทำให้กรมสรรพากรในฐานะผู้ทำหน้าที่เรียกเก็บภาษีตามกฎหมายสูญเสียรายได้จากภาษีอากรเป็นเงินทั้งสิ้น 521,130,789.05 บาท
จากพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า นายสุระและนายอนุ ในฐานะเจ้าพนักงานที่ดินเขตพระนครปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับ บริษัท แสนสิริ ในฐานะผู้ซื้อ ร่วมมือกับผู้ขายทั้ง 12 ราย กระทำนิติกรรมอำพราง หลบเลี่ยงภาษีอากรอันพึงชำระ ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ ทั้งที่นายสุระ และนายอนุ เป็นเจ้าพนักงานที่ดินผู้เชี่ยวชาญ ย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าการกระทำดังกล่าวข้างต้นเป็นเจตนาหลบเลี่ยงภาษีตามมาตรา 37 (2) แห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 แต่ทั้งสองนอกจากไม่ระงับยับยั้งความเสียหายต่อรัฐที่จะเกิดขึ้นแล้ว ยังให้ความร่วมมือกับผู้ซื้อและผู้ขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแบ่งแยกสำเนาคัดย่อรายงานการประชุมฯ เพื่อทำนิติกรรมอำพรางที่สำนักงานที่ดินร่วมกับผู้ขายแบบแบ่งเป็นรายคน แทนที่จะกระทำการเพียงวันเดียวตามแนวปฏิบัติการซื้อขายที่ดินแบบกรรมสิทธิ์ รวมในฐานะห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล ทั้งหมดจะกระทำสำเร็จมิได้หากเจ้าพนักงานที่ดินไม่ให้ความยินยอมร่วมมือกันกระทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
จึงเชื่อได้ว่า นายสุระ และนายอนุ กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 อีกทั้งบริษัท แสนสิริ และกลุ่มผู้ขายทั้ง 12 ราย ยังถือเป็นผู้ร่วมสนับสนุนให้นายสุระ และนายอนุ ในฐานะเจ้าพนักงานที่ดินอันเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86
จึงเรียนมายังท่านโปรดดำเนินการไต่สวนพฤติการณ์ดังนี้
1. นายสุระ พินธุรักษ์ และนายอนุ สุริยาวงษ์ ในฐานะเจ้าพนักงานที่ดินผู้จดทะเบียนทำสัญญาซื้อขายที่ดินทั้ง 12 ฉบับของที่ดินแปลงดังกล่าว ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยใช้ดุลยพินิจถูกต้องครบถ้วนตามแนวปฏิบัติและหลักกฎหมายหรือไม่
2. นายสุระ พินธุรักษ์ และนายอนุ สุริยาวงษ์ได้ให้ความร่วมมือกับผู้ซื้อและผู้ขายในการหลบเลี่ยงภาษีหรือไม่
3. หาก นายสุระ พินธุรักษ์ และนายอนุ สุริยาวงษ์ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ผู้ซื้อและผู้ขายทำนิติกรรมอำพรางเพื่อเลี่ยงภาษีทั้งสองกระทำการไปโดยได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากผู้ซื้อและผู้ขายซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหรือไม่ อย่างไร
อ่านประกอบ