เปิดแบบนำส่งงบการเงิน 8 ปี บ.ไอทีวี รอบปี 2558 - 2565 จาก ‘ไม่ได้ประกอบกิจการ’ ล่าสุด 10 พ.ค.2566 ระบุธุรกิจ ‘สื่อโทรทัศน์’ สินค้า/บริการ ‘สื่อโฆษณาและผลตอบแทนจากการลงทุน’ รายได้ 100% ชนวน‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ อ้างมีขบวนการเปลี่ยนแปลงข้อความเพื่อฟื้นคืนชีพความเป็นสื่อมวลชน สกัดนั่งเก้าอี้นายกฯ
ประเด็นกล่าวหา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ตัวแสดงใหญ่ทางการเมืองขณะนี้ ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) 42,000 หุ้น มีคุณสมบัติต้องห้ามเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) บัญญัติห้ามมิให้บุคคลที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ลงสมัครรับเลือกตั้ง
เจ้าตัวชี้แจงว่าเป็นหุ้นกองมรดก (อันเนื่องจากบิดาเสียชีวิตปี 2549)
ล่าสุดวันที่ 6 มิ.ย.2566 เจ้าตัวได้โพสต์ข้อความว่าได้โอนหุ้นไอทีวีให้แก่ทายาทไปแล้วโดยอ้างว่ามีขบวนการพยายาทฟื้นคืนชีพไอทีวีจากที่สิ้นสุดความเป็นสื่อมวลชนไปแล้วตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค. 2550 ให้กลับมาเป็นสื่ออีกครั้งเพื่อนำมาเป็นประเด็นขัดขวางนายพิธามิให้เป็นนายกรัฐมนตรี
นายพิธาได้ยกตัวอย่างข้อมูล “แบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3) ของ ITV เช่น ปีบัญชี 2561-2562 ระบุประเภทธุรกิจว่า “กิจกรรมของบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่ได้ลงทุนในธุรกิจการเงินเป็นหลัก”
ปีบัญชี 2563-2564 ระบุประเภทธุรกิจว่า “สื่อโทรทัศน์” โดยในส่วนสินค้า/บริการ ระบุว่า “ปัจจุบันไม่ได้ดำเนินการเนื่องจากติดคดีความ”
ส่วนในปีบัญชี 2565 ระบุประเภทธุรกิจว่า “สื่อโทรทัศน์” โดยในส่วนสินค้า/บริการ ระบุว่า “สื่อโฆษณาและผลตอบแทนจากการลงทุน” ทั้งนี้ เนื้อหาในหมายเหตุงบการเงินไม่ปรากฏรายได้จากกิจการสื่อโทรทัศน์และสื่อโฆษณาตามที่ระบุประเภทธุรกิจไว้แต่อย่างใด โดยงบการเงินปีบัญชี 2565 มีการนำส่งงบการเงินต่อ DBD ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 (ก่อนวันเลือกตั้ง เพียง 4 วัน)
แสดงให้เห็นว่า การจัดทำแบบนำส่งงบการเงินและข้อมูลในหมายเหตุประกอบงบการเงินมีความไม่สอดคล้องกัน และเป็นข้อพิรุธที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อความที่ระบุในแบบนำส่งงบการเงิน จากเดิม “กิจกรรมของบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่ได้ลงทุนในธุรกิจการเงินเป็นหลัก” แก้เป็น “สื่อโทรทัศน์” ทั้งๆ ที่ประกอบกิจการไม่ได้ และปีล่าสุดแก้เป็น “สื่อโฆษณาและผลตอบแทนจากการลงทุน” ทั้งๆ ที่ในหมายเหตุประกอบงบการเงินระบุรายได้จากดอกเบี้ยและการลงทุนในตราสารหนี้
และในรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น ITV เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 มีการตั้งคำถามของผู้ถือหุ้นบางรายว่า “บริษัท ไอทีวี มีการดำเนินการเกี่ยวกับสื่อหรือไม่” ซึ่งเป็นการตั้งคำถามที่ขอให้ทุกท่านที่มีใจเป็นธรรมพิจารณาว่า เป็นคำถามมีความมุ่งหมายทางการเมืองหรือไม่ และให้ท่านตอบตัวท่านเอง ว่านี่คือพฤติการณ์ความพยายามฟื้นคืนชีพ ITV ให้กลับมาเป็นสื่อมวลชน ใช่หรือไม่?
ด้วยข้อพิรุธหลายประการที่เกิดขึ้น เป็นเหตุให้ผมตัดสินใจหารือทายาทที่มอบหมายให้ผมถือครองหุ้น ITV ซึ่งเป็นมรดกของคุณพ่อไว้แทนทายาทอื่นจนได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ให้ผมจัดการแบ่งมรดกหุ้น ITV ให้แก่ทายาทอื่นไปโดยสิ้นเชิง เพื่อป้องกันปัญหาจากกระบวนการฟื้นคืนชีพความเป็นสื่อมวลชนให้กับบริษัท ITV ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ ดังข้อพิรุธดังกล่าวข้างต้น” นายพิธาระบุ
จากกรณีดังกล่าว ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำแบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3) ของ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ที่ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตั้งแต่รอบปีสิ้นสุด 2558-2565 มารายงาน อย่างชัดๆ
1.แบบนำส่งงบการเงินรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2558 รับวันที่ 29 เมษายน 2559 (วันนำส่ง) ประเภทธุรกิจ 1. “ไม่ได้ประกอบกิจการ, ผลตอบแทนจากเงินลงทุน,ดอกเบี้ยรับ” (ดูเอกสาร)
2. แบบนำส่งงบการเงินรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2559 รับวันที่ 17 พ.ค. 2560 (วันนำส่ง) ประเภทธุรกิจ 1. “ไม่ได้ประกอบกิจการ, ผลตอบแทนจากเงินลงทุน,ดอกเบี้ยรับ” (ดูเอกสาร)
3.แบบนำส่งงบการเงินรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2560 รับวันที่ 27 เมษายน 2561 (วันนำส่ง) ประเภทธุรกิจ 1. “กิจกรรมของบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่ได้ลงทุนในธุรกิจการเงินเป็นหลัก” (ดูเอกสาร)
4. แบบนำส่งงบการเงินรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2561 รับวันที่ 30 เมษายน 2562 (วันนำส่ง) ประเภทธุรกิจ 1. “กิจกรรมของบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่ได้ลงทุนในธุรกิจการเงินเป็นหลัก” (ดูเอกสาร)
5.แบบนำส่งงบการเงินรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2562 รับวันที่ 24 สิงหาคม 2563 (วันนำส่ง) ประเภทธุรกิจ 1. “กิจกรรมของบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่ได้ลงทุนในธุรกิจการเงินเป็นหลัก” (ดูเอกสาร)
6. แบบนำส่งงบการเงินรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 รับวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 (วันนำส่ง) ข้อ 6 ประเภทธุรกิจสินค้า/บริการและรหัสธุรกิจ ช่อง ‘ประเภทธุรกิจ’ 1. ‘สื่อโทรทัศน์’ ช่อง ‘สินค้า/บริการ’ ระบุ ‘ปัจจุบันไม่ได้ดำเนินการเนื่องจากติดคดีความ’ ช่อง ‘ร้อยละของรายได้รวม’ ระบุ “100%”(ดูเอกสาร)
7. แบบนำส่งงบการเงินรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 รับวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 (วันนำส่ง) ข้อ 6 ประเภทธุรกิจสินค้า/บริการและรหัสธุรกิจ ช่อง ‘ประเภทธุรกิจ’ ระบุ 1.‘สื่อโทรทัศน์’ ช่อง ‘สินค้า/บริการ’ ระบุ ‘ปัจจุบันไม่ได้ดำเนินการเนื่องจากติดคดีความ’ ช่อง ‘ร้อยละของรายได้รวม’ ระบุ “100%”(ดูเอกสาร)
8. แบบนำส่งงบการเงินรอบปีบัญชีสิ้นสุด วันที่ 31 ธ.ค.2565 รับวันที่ 10 พ.ค.2566 (วันนำส่ง) ข้อ 6 ประเภทธุรกิจสินค้า/บริการและรหัสธุรกิจ ช่อง ‘ประเภทธุรกิจ’ ระบุ 1.‘สื่อโทรทัศน์’ ช่อง ‘สินค้า/บริการ’ ระบุ ‘สื่อโฆษณาและผลตอบแทนจากการลงทุน’ ช่อง ‘ร้อยละของรายได้รวม’ ระบุ “100%” (ดูเอกสาร)
จากข้อมูล แบบนำส่งงบการเงิน
ปี 2558 - 2559 ระบุ ไม่ได้ประกอบกิจการผลตอบแทนจากเงินลงทุน,ดอกเบี้ยรับ
ปี 2560 - 2562 ระบุ กิจกรรมของบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่ได้ลงทุนในธุรกิจการเงินเป็นหลัก
ปี 2563-2564 ระบุ ประเภทธุรกิจ ‘สื่อโทรทัศน์’ ช่อง ‘สินค้า/บริการ’ ระบุ ‘ปัจจุบันไม่ได้ดำเนินการเนื่องจากติดคดีความ’ ช่อง ‘ร้อยละของรายได้รวม’ ระบุ “100%”
กระทั่งปี 2565 ประเภทธุรกิจ ระบุ ‘สื่อโทรทัศน์’ ช่อง ‘สินค้า/บริการ’ ระบุ ‘สื่อโฆษณาและผลตอบแทนจากการลงทุน’ และ ช่อง ‘ร้อยละของรายได้รวม’ ระบุ “100%”
เห็นได้ว่า
1.จาก ‘ไม่ได้ประกอบกิจการ’ มาเป็น ‘สื่อโทรทัศน์’ สื่อโฆษณาและผลตอบแทนจากการลงทุน มีรายได้ 100% ในปัจจุบัน
2. บริษัท ไอทีวี นำส่งงบการเงินประจำปีระหว่างเดือน เม.ย. -พ.ค. มาโดยตลอด ยกเว้นงบการเงินรอบปี 2562 ที่นำส่งในเดือนสิงหาคม 2563 การที่ บริษัท ไอทีวี นำส่งงบการเงินรอบปีบัญชี 2565 ต่อ DBD (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า) ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 ก่อนวันเลือกตั้งเพียง 4 วัน ในความเป็นจริงในขณะนั้นยังไม่มีการเลือกตั้ง และพรรคก้าวไกลยังไม่ชนะการเลือกตั้ง การที่กล่าวอ้างว่าการส่งแบบนำส่งงบการเงินก่อนการเลือกตั้งเป็นข้อพิรุธ เป็นไปได้หรือไม่?
ทั้งนี้ แบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3) เป็นข้อมูลที่ใช้ประกอบพิจารณาคดีหุ้นสื่อของศาลรัฐธรรมนูญและศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยว่าบริษัทที่บุคคลถูกกล่าวหาในคดีถือหุ้นสื่อ ประกอบกิจการสื่อมวลชนหรือไม่
เรื่องเกี่ยวข้อง:
- เปิดข้อมูลประกอบพิจารณา '6 ข้อ' กรณีหุ้นไอทีวี ‘พิธา’
- จ่อยื่นศาลรธน.ตีความ! 'เรืองไกร' ส่งหลักฐาน'พิธา' ปมถือหุ้น ITV ให้ กกต.เพิ่ม 2 รายการ
- 'เรืองไกร' ยื่นหลักฐาน 'พิธา' ปมถือหุ้น ITV เพิ่มให้ กกต.
- ดูชัด ๆ หุ้น ITV ‘พิธา’ 42,000 หุ้น ปี 2551-2566 ไม่ระบุ ‘ผจก.กองมรดก’
- ‘เรืองไกร’ ยื่นหลักฐานเพิ่มปม ‘พิธา’ ถือหุ้น ITV เทียบกรณี ‘ธัญญ์วาริน’ พ้น ส.ส.
- พลิกคำพิพากษาศาล รธน.คดีหุ้นสื่อ ส.ส.‘ธัญญ์วาริน’ เพียง‘ถือ-ประกอบการ’ ไม่รอด
- ย้อนคำพิพากษา 4 คดีหุ้นสื่อในศาลฎีกาเทียบไอทีวี‘พิธา’: ถือ-หยุดกิจการ-ไม่จดเลิก ไม่รอด
- พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ : แจงยิบปมหุ้น ITV โอนให้ทายาทอื่นแล้ว มั่นใจพร้อมชี้แจง กกต.