“ส่วนที่ยากที่สุด คือ แบบที่สาม เงื่อนไขที่รัฐไปสัญญากับภาคเอกชนไว้แล้ว หรือเราเปิดโอกาสให้เอกชนทำอะไรที่อาจย้อนกลับยากไปแล้ว เช่น กำลังการผลิตไฟฟ้าที่ล้นเกิน ซึ่งปัจจุบันเรามี ‘ค่าพร้อมจ่าย’ ที่จะต้องเสียเป็นประจำ แม้ว่าโดยตรรกะแล้วเราไม่ควรต้องจ่าย แต่เมื่อมีการเซ็นสัญญาไปแล้ว การแก้ไขสัญญาก็ไม่ง่าย…”
..................................
แม้ว่าในขณะนี้ยังคงต้องลุ้นว่า ‘พรรคก้าวไกล’ จะสามารถฝ่าด่าน 'ส.ว.' จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก ‘ก้าวไกล-เพื่อไทย’ ร่วมกับพรรคการเมืองขนาดเล็กอีก 6 พรรค ได้สำเร็จหรือไม่ และหากการจัดตั้งรัฐบาลผ่านพ้นไปได้ด้วยดี หนึ่งในนโยบายที่ ‘รัฐบาลใหม่’ จะเดินหน้าผลักดันนั่นก็คือนโยบาย ‘ทลายทุนผูกขาด’
ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา 101 Public Policy Think Tank หรือ ‘101 PUB’ จัดเวที Policy Forum ชวนว่าที่รัฐบาลใหม่ตอบโจทย์ประเทศไทย ในหัวข้อ ‘ทลายทุนผูกขาดเพื่อผู้บริโภค’ โดย เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต พรรคก้าวไกล ได้ตอกย้ำทิศทางและเป้าหมาย ‘นโยบายทลายทุนผูกขาด’ ที่พรรคก้าวไกลจะดำเนินการหากได้เข้ามาเป็นรัฐบาล สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
@เป้าหมายระยะสั้น‘ปลดล็อก’ผูกขาดผลิต‘สุรา-ไฟฟ้าโซลาร์เซล’
เดชรัต ระบุว่า เป้าหมายปลายทางที่พรรคก้าวไกลอยากเห็น คือ การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีการบิดเบือนและทำให้ภาระตกมาอยู่กับผู้บริโภค เช่น ภาระค่าไฟฟ้า หรือกติกาซื้อขายไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ที่มีความไม่เป็นธรรม รวมถึงกติกาที่ไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ผลิตด้วยกัน เช่น กรณีสุรา เป็นต้น
“ปลายทางเราอยากเห็น ‘fair game’ คือ กติกาที่มีความเป็นธรรม” เดชรัต ย้ำ
อย่างไรก็ดี ในระยะสั้น พี่น้องประชาชนต้องการเห็นพรรคก้าวไกลแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในหลายเรื่อง แต่ขอยกตัวอย่างใน 2 ประเด็น ที่พรรคฯจะเข้าไปดำเนินการภายใน 100 วัน เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาล ได้แก่
ประเด็นแรก เรื่องค่าไฟฟ้า ซึ่งมี 2 ส่วน ที่พรรคฯจำเป็นต้องเข้าไปแก้ไข ส่วนแรก คือ การปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าของเราใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติคิดเป็นประมาณ 60% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ทั้งหมด แต่กลับพบว่าโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติที่เป็นอยู่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค
“ปัจจุบันก๊าซธรรมชาติมาจาก 3 แหล่ง คือ อ่าวไทย พม่า และการนำเข้าในรูปก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แต่โครงสร้างของเรา เราให้ก๊าซในอ่าวไทยที่มีราคาถูกที่สุดแก่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีก่อนเป็นลำดับแรก ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องแบกรับต้นทุนของก๊าซธรรมชาติในราคาสูงขึ้น เพราะต้องไปใช้ LNG เป็นหลัก
พรรคก้าวไกล จึงอยากให้มีการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ ให้ผู้ใช้ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นประชาชนและภาคอุตสาหกรรมใช้ก๊าซธรรมชาติในราคาเดียวกัน ไม่ใช่ภาคอุตสาหกรรมใช้ก๊าซราคาถูก แต่ประชาชนต้องซื้อก๊าซราคาแพง ถ้าทำได้ต้นทุนค่าไฟฟ้าจะลดลงได้ 70 สตางค์/หน่วย” เดชรัต กล่าว
ส่วนที่สอง ปัจจุบันเรามีผู้ใช้ไฟฟ้าจำนวนหนึ่งที่มีสถานะเป็นผู้ผลิตด้วย เพราะมีติดตั้งโซลาร์เซลบนหลังคา แต่ปรากฎว่าไฟฟ้าโซลาร์เซลที่ผู้ใช้ไฟฟ้าผลิตได้และขายให้กับการไฟฟ้าฯนั้น มีราคาเพียง 2.20 บาท/หน่วย ต่างจากราคาที่ผู้ใช้ไฟฟ้าซื้อจากการไฟฟ้าฯ ซึ่งมีราคาอยู่ที่ประมาณ 4.7 บาท/หน่วย
พรรคฯจึงเสนอว่า ในระยะถัดไป การซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีการติดตั้งโซลาร์เซลบนหลังคากับการไฟฟ้าฯ ควรเป็นลักษณะ Net Metering (ระบบหักลบกลบหน่วย) ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถ ‘ซื้อและขาย’ ไฟฟ้าได้ในราคาเดียวกัน หรือก็คือการ ‘หักลบกลบหน่วยกัน’ นี่คือสิ่งที่เราคิดว่าจะทำได้ในระยะสั้น
“ในระยะถัดไป ผู้ใช้ไฟฟ้าจำนวนหนึ่งจะสามารถเป็นผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้น และติดตั้งโซลาร์เซลได้มากขึ้น รวมทั้งเราจะมีสินเชื่อปลอดดอกเบี้ย เพื่อมาช่วยทำให้การติดตั้งโซลาร์เซลเป็นไปได้ดีขึ้น” เดชรัต ระบุ
ประเด็นที่สอง เรื่องสุราก้าวหน้า แม้ว่าสุราก้าวหน้า จะไม่ได้มีปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคโดยตรง แต่ว่ามีประเด็นที่ไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ผลิตด้วยกันเอง ดังนั้น พรรคก้าวไกลจะ ‘ปลดล็อก’ เงื่อนไขที่ทำให้ผู้ผลิตรายใหญ่ไม่กี่รายเท่านั้นที่ผูกขาดผลิตสุราได้ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น
@ลุยแก้กฎหมายแข่งขันทางการค้าฯ-กระจายบทบาทผลิตไฟฟ้า
เดชรัต กล่าวต่อว่า ยังมีเรื่องใหญ่ที่เป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งพรรคก้าวไกลอยากทำและตั้งใจจะทำอย่างมาก คือ การแก้ไข พ.ร.บ.ในเรื่องการผูกขาดทางการค้าหรือการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เพราะตราบใดที่ พ.ร.บ.เหล่านี้ ไม่มีประสิทธิผลในการป้องกันผูกขาด หรือแม้แต่การเข้าไปติดตามดูการควบรวมธุรกิจต่างๆ โอกาสที่เราจะแก้ปัญหาอื่นๆที่ตามมาคงเป็นไปได้ยาก
“อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่สุด แม้ว่าเราจะทำไม่ได้ภายใน 100 วันแรก หรือในปีแรกก็ตาม แต่เราจะทำให้สำเร็จภายใน 4 ปี เพราะตัวนี้จะเป็นตัวรากฐานสำคัญ” เดชรัต กล่าว พร้อมทั้งระบุว่า พรรคก้าวไกล ได้มีการเตรียมการเพื่อให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 เอาไว้แล้ว
เดชรัต ยังอธิบายถึงนโยบายลดการ ‘ผูกขาด’ ในธุรกิจผลิตไฟฟ้า ที่จะต้องลดบทบาทของบริษัทผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ โดยระบุว่า ระบบไฟฟ้าที่มีความมั่นคงและเข้มแข็งนั้น ไม่ได้หมายความว่ารัฐจะต้องถือครองการผลิตไฟฟ้าเท่าไหร่ แต่ควรเริ่มต้นจากการมองว่า ผู้บริโภคแต่ละคนหรือท้องถิ่นควรจะถือครองการผลิตไฟฟ้าเท่าไหร่ แล้วค่อยดูว่าเอกชนรายย่อย ภาครัฐและบริษัทขนาดใหญ่ ควรจะถือครองการผลิตไฟฟ้าเท่าไหร่ เป็นต้น
“ต้องเริ่มต้นว่าผู้บริโภคแต่ละคนถือครองได้เท่าไหร่ ท้องถิ่น กลุ่มหรือสหกรณ์ถือครองเท่าไหร่ เอกชนรายย่อยเท่าไหร่ แล้วถึงจะมาเป็นรัฐและบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าบทบาทของรัฐไม่สำคัญ แต่จะเริ่มต้นจากผู้บริโภค ท้องถิ่นก่อน เมื่อแก้โครงสร้างฯแล้ว จึงไปวางแผนไม่ให้เกิดการผลิตไฟฟ้าที่ล้นเกิน
แล้วถ้าพ่วงเรื่องกระจายโอกาสในการเป็นผู้ผลิตและมีส่วนร่วมในระบบพลังงาน เราจะค่อยๆเห็นภาพชัดเจนว่า ความมั่นคงของระบบพลังงานในอนาคตจะเป็นบทบาทของใครบ้าง แต่แน่นอนที่สุด คงไม่ใช่บทบาทของเอกชนรายใหญ่ที่จะผลิตไฟฟ้ามากถึง 60% และสิ่งที่จะค้ำประกัน ก็คงไม่ใช่ให้รัฐผลิตไปถึง 50% เช่นกัน แต่จะต้องมาจากการกระจายมากกว่านั้น” เดชรัต กล่าว
นอกจากนี้ สิ่งที่พรรคก้าวไกลเห็นว่าเป็นหัวใจ คือ ระบบสายส่งไฟฟ้า โดยพรรคฯเสนอว่า ระบบสายส่งควรเป็นของรัฐ 100% และรัฐต้องปฏิบัติต่อคนอื่นอย่างเป็นธรรมด้วย เพราะที่ผ่านมามีความกังวลว่า การที่การไฟฟ้าฯดูแลทั้งระบบสายส่งและการผลิต อาจทำให้การจัดสรรไฟฟ้าเข้าสู่ระบบสายส่งไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคกับผู้ผลิตรายย่อยมากนัก
(เดชรัต สุขกำเนิด ที่มาภาพ : พรรคก้าวไกล)
@แบ่งการแก้ปัญหา‘กลุ่มทุนผูกขาด’ เป็น 3 แนวทางหลัก
ส่วนคำถามที่ว่าการแก้ปัญหาทุนผูกขาด ซึ่งมีหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องระบบสัมปทานและใบอนุญาต หรือบางกิจการมีการควบรวมกันสำเร็จแล้ว และมีการเซ็นสัญญาไปแล้ว จะแนวทางแก้ปัญหาอย่างไร นั้น เดชรัต บอกว่า “เบื้องต้นแบ่งเป็น 3 ระดับ ระดับที่ 1 เราทำได้แน่นอน ระดับที่ 2 เราควรทำให้ได้ ส่วนระดับที่ 3 ต้องขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรอง”
“แบบที่หนึ่ง เป็นเรื่องของความไม่เป็นธรรมที่อยู่ในมือภาครัฐเอง ยกตัวอย่างเช่น การวางแผนกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ล้นเกิน แน่นอนว่าคนได้ประโยชน์ คือ ภาคเอกชน ซึ่งการวางแผนต่างๆเหล่านี้ เอกชนไม่ได้มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรง แต่ภาครัฐเป็นคนวางแผนเอง
แม้แต่โครงสร้างราคาก๊าซ ซึ่งมีเอกชนกลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์ ก็เป็นเพราะกติกาของรัฐเอง หรือกรณีโครงสร้างราคาน้ำมันก็เช่นกัน เป็นกติกาของภาครัฐเอง และทำให้เอกชนได้ประโยชน์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเอกชน ตรงนี้เราสามารถปรับแก้ได้ แต่แน่นอนว่าเราต้องมีการส่งสัญญาณ พูดคุย และการปรับมีระยะเวลาให้เอกชนปรับตัวได้
แบบที่สอง มีสัญญาบางอย่างที่เราสามารถมีสัญญาในรูปแบบอื่นๆมาทดแทนได้ ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่พูดเรื่องขนส่งสาธารณะแล้วมีคนเป็นห่วงมาก คือ รถเมล์ เรามีสัมปทานอยู่แล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นรถเมล์ไฟฟ้าได้ หากเป็นลักษณะแบบนี้ เราสามารถให้ผลประโยชน์ที่จะชดเชยสัมปทานเดิม แล้วให้เขามาอยู่ในระบบแบบใหม่ได้
และเนื่องจากระบบขนส่งสาธารณะของประเทศไทย จะไม่สามารถพัฒนาให้มีคุณภาพได้อย่างดี และมีราคาสมเหตุสมผลได้ หากเรายังใช้ระบบสัมปทานอยู่ เพราะระบบการให้สัมปทาน คือ ให้อำนาจกับเอกชนไปทำกำไรในเส้นทางใดเส้นทางหนึ่ง ดังนั้น แนวทางต่อไป เราจะใช้ระบบรับจ้างวิ่งแทน
หมายความว่า ต่อไปผู้ประกอบการจะไม่ต้องมากังวลเรื่องกำไรแล้ว เพราะเมื่อมารับจ้างวิ่งตามเส้นทางต่างๆแล้ว จะได้เงินที่ชัดเจน ถ้าไม่คนขึ้น ก็ไม่ต้องห่วงว่าขาดทุน เพราะรัฐบาลจ่ายให้คุณ ซึ่งเราจำเป็นต้องไปตกลงกับเอกชน และคิดว่าไม่ยากนัก เพราะสามารถเสนอสัญญาบางอย่างที่ครอบคลุมผลประโยชน์ตามสัญญาเดิมได้
แต่ส่วนที่ยากที่สุด คือ แบบที่สาม เงื่อนไขที่รัฐไปสัญญากับภาคเอกชนไว้แล้ว หรือเราเปิดโอกาสให้เอกชนทำอะไรที่อาจย้อนกลับยากไปแล้ว เช่น กำลังการผลิตไฟฟ้าที่ล้นเกิน ซึ่งปัจจุบันเรามี ‘ค่าพร้อมจ่าย’ ที่จะต้องเสียเป็นประจำ แม้ว่าโดยตรรกะแล้วเราไม่ควรต้องจ่าย แต่เมื่อมีการเซ็นสัญญาไปแล้ว การแก้ไขสัญญาก็ไม่ง่าย
ดังนั้น สิ่งที่พรรคก้าวไกลจะทำ คือ เจรจาต่อรองขอลดสิ่งที่จะต้องจ่าย ณ ขณะนี้ เพื่อไปบอกว่า เขาน่าจะได้รับประโยชน์อะไรหลังจากนี้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เรายังไม่ได้เริ่มต้นเจรจา แต่ยกตัวอย่างเปรียบเทียบว่า มันคงต้องทำในลักษณะแบบนี้ เช่นเดียวกับสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ก็อาจต้องเข้าสู่กระบวนการคล้ายๆแบบนี้ด้วยเช่นกัน
แม้แต่กรณีการควบรวมบริษัทโทรคมนาคมก็เช่นกัน หากพูดอย่างตรงไปตรงมา เรารู้ว่ามันคือการผูกขาด ไม่สมเหตุสมผล โดยเฉพาะในแง่สังคมที่ต้องการส่งเสริมให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม แต่เมื่อควบรวมไปแล้ว จะย้อนกลับมา ต้องบอกว่าไม่ง่ายแล้ว ซึ่งส่วนที่อยู่ในแบบที่สามนี้ เราต้องดูว่า แต่ละเรื่องควรทำอย่างไร
เช่น เรื่องโทรคมนาคม เราอาจต้องทำให้มีรายที่ 3 อีกครั้งได้หรือไม่ ในขณะที่รายที่ 1 และรายที่ 2 จะต้องมีส่วนรับผิดชอบอย่างไรบ้างในการช่วยให้เกิดรายที่สาม แต่ถ้ารัฐบาลบอกว่าเขาคงรับผิดชอบไม่ได้ หรือไปบีบให้เขารับผิดชอบไม่ได้ คราวนี้ก็เป็นภารกิจของรัฐบาลที่จำเป็นต้องทำให้มีรายที่ 3 ในกิจการโทรคมนาคมให้ได้” เดชรัต กล่าว
เดชรัต ระบุว่า 'ต่อไปนี้ เราต้องพูดให้ชัดเจนว่า ต้องยุติการควบรวมในลักษณะที่ทำให้เกิดการผูกขาด'
เดชรัต กล่าวถึงการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าและระบบขนส่งสาธารณะ ว่า เมื่อจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ จะมีการหารือกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อตกลงกันว่า ค่าโดยสารรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯควรเป็นเท่าไหร่ แต่จะต้องทำให้ถูกลงกว่าเดิมแน่นอน ส่วนจะเป็นค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายตามที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ หรือจะเป็นค่ารถเมล์และรถไฟฟ้า 8-45 บาทของพรรคก้าวไกล นั้น จะต้องมาหารือรายละเอียดกัน
@ชี้คนไทยส่วนใหญ่ยังติดอยู่ในวัฒนธรรม ‘นายทุนนิยม’
เดชรัต ยังระบุว่า อุปสรรคสำคัญของนโยบายทลายทุนผูกขาด คือ จินตนาการของผู้บริโภค เช่น หากผู้บริโภคมีจิตนาการไม่ค่อยชัดเจนนักว่าตัวเขาเสียประโยชน์อย่างไร จากควบรวมธุรกิจหรือการผูกขาดทางธุรกิจ ในขณะที่คนส่วนใหญ่ยังคงคุ้นเคยกับสิ่งที่เรียกว่า ‘นายทุนนิยม’ มากกว่า ‘ทุนนิยม’
“ถ้าเข้าใจเรื่องเหล่านี้ (ทุนนิยม) จะนำไปสู่การแก้กติกาไม่เป็นธรรม และเมื่อการแข่งขัน คุณภาพจะดีขึ้น แต่ตอนนี้เราอาจจะยังแยกไม่ออก ระหว่างการแข่งขันที่นำไปสู่การเติบโตและขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ ‘ทุนนิยม’ กับสิ่งที่เราเรียกว่า ‘นายทุนนิยม’ เพราะคนไทยส่วนใหญ่ยังคุ้นเคยกับนายทุนนิยม ซึ่งหมายถึงนายทุน เขาพูดอะไรก็เอาแบบนั้น อะไรบ้างที่ต้องเกรงใจนายทุน
ในขณะที่ ทุนนิยม คือ ทุกคนไม่ว่าจะเป็นรายเล็กรายใหญ่ ต้องมีโอกาสแข่งขันได้เท่าเทียมกัน แต่ในหลายๆกรณีกลับมีความเป็นห่วงว่า ถ้าทำแบบนี้แบบนั้นแล้ว รายใหญ่เขาจะว่าอย่างไร นี่แปลว่าเราติดอยู่กับวัฒนธรรมที่เป็น ‘นายทุนนิยม’ มากกว่าเป็นทุนนิยมอย่างแท้จริง” เดชรัต กล่าว
@หนุน'ก้าวไกล'ทลายทุนผูกขาด-ให้ภาคปชช.มีส่วนร่วม
ด้าน สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า นโยบายที่พรรคก้าวไกลจะทำเมื่อได้เป็นรัฐบาลนั้น มีหลายเรื่องสอดคล้องกับสิ่งที่ สอบ.กำลังผลักดัน เช่น เรื่อง Net Metering หรือ ระบบหักลบกลบหน่วย และเราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในระบบการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะนำไปสู่การลดต้นทุนและลดราคาค่าไฟฟ้าให้ผู้บริโภค
“จริงๆมันควรจะถูกตั้งคำถามตั้งแต่ว่า ทำไมผู้บริโภคต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพง แล้วทำไมเราต้องสำรองไฟมากขนาดนี้ ซึ่งแน่นอนว่าเราควรมีระบบสำรองไฟฟ้า แต่ไม่ใช่ว่ามีมากจนเป็นภาระกับผู้บริโภคแบบนี้ หรือถ้าเราอยากผลิตไฟฟ้าเอง ทำไมจึงยากเหลือเกิน” สารี กล่าว
สารี ระบุว่า สอบ.เห็นว่า การลดการผูกขาดเป็นสิ่งสำคัญ รวมทั้งจะทำอย่างไรให้คนเล็กคนน้อยเข้ามามีส่วนร่วมได้ โดยเฉพาะในกิจการไฟฟ้า และนอกจากการลดการผูกขาดในธุรกิจไฟฟ้าแล้ว รัฐบาลชุดใหม่จะต้องเข้าไปแก้ปัญหาการผูกขาดในเรื่องพลังงาน เพราะมีบริษัทขนาดใหญ่บางแห่งที่ได้ประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า สอบ.ไม่สนับสนุนให้คนบริโภคสุรา ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องรณรงค์กันต่อไป แต่เราสนับสนุนการทลายการผูกขาดในการผลิตสุรา เพราะตลาดสุราในเมืองไทยมีการผูกขาดและมีทางเลือกน้อยมาก และเราไม่เห็นด้วยกับการควบรวมธุรกิจอินเตอร์เน็ตบ้าน ระหว่าง AIS และ 3BB เพราะไม่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค
สารี ระบุว่า สอบ.พร้อมร่วมมือกับพรรคก้าวไกลในการแก้ไข พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ เพราะเป็นได้อย่างไรที่กรณีการควบรวมธุรกิจโทรศัพท์มือถือจาก 3 เจ้าเหลือ 2 เจ้า และมีมูลค่าเป็นแสนล้านบาท คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) กลับบอกว่า ไม่ใช่อำนาจของตัวเอง เพราะมีกฎหมายเฉพาะกำกับดูแลอยู่แล้ว
“เขามีอำนาจเหนือตลาดแล้ว แต่ยังไปตีความว่า ไม่ผูกขาด และก็เห็นกันอยู่ว่า ธุรกิจบางธุรกิจครองตลาด 80-90% เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุด และเราเห็นว่าการกฎหมายฉบับนี้ ได้อยู่ในบัญชีกฎหมายที่พรรคก้าวไกลเตรียมแก้ไข เราพร้อมร่วมทำงาน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง” สารี กล่าว
สารี ระบุว่า ในฐานะที่ สอบ. เป็นตัวแทนของผู้บริโภค เราอยากเห็นผู้บริโภคเข้าไปมีส่วนร่วมกับรัฐบาลในเรื่องต่างๆ เช่น การเจรจาสัญญารถไฟฟ้า เพื่อทำให้คนทุกคนขึ้นรถไฟฟ้าได้ รวมถึงการเข้าร่วมเป็นกรรมการชุดต่างๆ เช่น Egg Board หรือ Pig Board เพราะไม่มีตัวแทนของฝั่งผู้บริโภคเลย ทำให้การกำหนดโครงสร้างราคามาจากฝั่งผู้ผลิตเป็นหลัก
“นโยบายการขนส่งจะไม่เป็นภาระของผู้บริโภค ซึ่งเราคิดว่าค่าโดยสารที่ 10% ของรายได้ (ค่าจ้างขั้นต่ำ) น่าจะเป็นระดับที่เหมาะสม และหากรายได้ของประชาชนเพิ่ม ค่าโดยสารก็เพิ่มขึ้น ถ้าทำได้ 4 ปี ก็น่าสนใจ” สารี กล่าว
สารี ยังเห็นว่า “เมื่อมีธุรกิจที่ผูกขาด การกำกับดูแลที่ต้องเข้มข้น แต่ถ้าเป็นธุรกิจที่ไม่ผูกขาด รัฐบาลก็อย่าไปยุ่งมาก ปล่อยให้เขาทำงานกันต่อไป”
เหล่านี้เป็นทิศทางและแนวนโยบายของว่าที่ ‘รัฐบาลใหม่’ ที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ ในการเดินหน้านโยบาย ‘ทลายทุนผูกขาด’ และยังคงต้องติดตามต่อไปว่า การจัดตั้งรัฐบาลที่มี ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี จะสำเร็จหรือไม่?
อ่านประกอบ :
คนรวย1%ถือทรัพย์สิน77%! ย้อนดูปัญหา‘เหลื่อมล้ำฯ’ ก่อนว่าที่‘รบ.ใหม่’ปักธง‘ทลายทุนผูกขาด’
เผยไทย'เหลื่อมล้ำด้านรายได้'สูงอันดับ 4 ในเอเชียตะวันออก-แปซิฟิก ปี 64 คนจน 4.4 ล้าน
ส่องกลยุทธ์'แผนพัฒนาชาติฯฉบับ 13' แก้โจทย์'ยากจนข้ามรุ่น'-TDRI จี้สกัดทุนใหญ่ผูกขาด
'อดีตผู้ว่าฯธปท.'ห่วง 5 ปีคอร์รัปชันไทยแย่ลง-เหลื่อมล้ำสูง-ทุนใหญ่เอาเปรียบผู้บริโภค
วิรไท สันติประภพ : เกษตรกรตกไปอยู่ใน ‘กับดักหนี้’ โจทย์สำคัญที่ต้องแก้ไข
'วิรไท'ชี้'เกษตรกรรายย่อย'ปรับตัวยาก เหตุติด'กับดักหนี้'-TDRI แนะรัฐลดอุดหนุนซ้ำซ้อน