เปิดคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับเต็ม คดี ‘อนุรักษ์ ตั้งปณิธนนท์’ ส.ส.มุกดาหาร พรรคเพื่อไทย กมธ.พิจารณาร่างงบประมาณ เรียกรับเงิน 5 ล. ขอเป็นเงินสด แลกไม่ตัดงบฯกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เผยบทสนทนา-พฤติการณ์ละเอียดยิบ โทร.หาอธิบดี ถ้าไม่ได้ขอโครงการไม่เกิน 5 แสน ไม่งั้นตัดงบฯ 10% สั่งจำคุก 6 ปี เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง-ห้ามดำรงตำแหน่งการเมืองตลอดชีพ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2566 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อม. 4/2565 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 8/2566 ระหว่างอัยการสูงสุด โจทก์ นายอนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ ส.ส.มุกดาหาร พรรคเพื่อไทย จำเลย ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 กรณีเรียกรับเงินจำนวน 5 ล้านบาท จากอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลแลกกับการไม่ตัดงบประมาณของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล
ศาลฯ พิพากษาจำคุก จำเลย 6 ปี ให้พ้นจากตำแหน่งตั้งแต่ 19 เม.ย. 2565 ซึ่งเป็นวันที่ศาลมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ เพิกถอนสิทธิ์รับสมัครเลือกตั้งและเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไป และไม่มีสิทธิ์ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ ตามที่รายงานแล้ว
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เรียบเรียงคำพิพากษาศาลฎีกาฯในคดีดังกล่าวมารายงาน
@ คำฟ้อง ป.ป.ช.แฉพฤติกรรมละเอียดยิบ
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง วันที่ 25 เดือน เมษายน 2566 ระหว่าง
อัยการสูงสุด โจทก์ นายอนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ จําเลย
เรื่อง ความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย
การป้องกันและปราบปรามการทุจริต
โจทก์ฟ้องว่า ขณะเกิดเหตุ จําเลยดํารงตําแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขต เลือกตั้ง จังหวัดมุกดาหาร สังกัดพรรคเพื่อไทย ตําแหน่งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และได้รับแต่งตั้งให้เป็น อนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ งบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สภาผู้แทนราษฎร มีอํานาจหน้าที่เกี่ยวกับ การเสนอญัตติ และพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ร่างพระราชบัญญัติต่าง ๆ การควบคุมบริหารราชการแผ่นดินโดยการตั้งกระทู้ถาม การเปิดอภิปรายทั่วไป การตั้งกรรมาธิการ การเข้าชื่อถอดถอนผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองและผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ การให้ความ เห็นชอบแต่งตั้งบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และในฐานะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 มีอํานาจหน้าที่พิจารณางบประมาณเกี่ยวกับการบูรณาการ ทรัพยากรน้ำของ 9 กระทรวง 17 หน่วยงาน และการบูรณาการด้านการคมนาคมและโลจิสติกส์ของ 8 กระทรวง 21 หน่วยงาน และสรุปผลรายงานผลการพิจารณาเสนอคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่งคณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 คัดเลือกให้จําเลยเป็นรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง จําเลยจึงเป็นเจ้าพนักงาน และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ ตามประมวลกฎหมายอาญา กับเป็น ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง และเจ้าพนักงานของรัฐ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
@จิกโครงการเจาะบ่อบาดาล
เมื่อระหว่างวันที่ 17 กรกฎาคม 2563 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน ในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สภาผู้แทนราษฎร ที่ประชุม ได้พิจารณางบประมาณภาพรวมของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จําเลยในฐานะ กรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ซักถามและโต้แย้งงบประมาณของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลหลายครั้งเกี่ยวกับโครงการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ว่า เป็นการจัดซื้อจัดจ้างแบบเฉพาะเจาะจงให้ผู้รับจ้างรายใดรายหนึ่ง และมีการกําหนดราคาในส่วนของอัตราราคางานต่อหน่วยของค่าขุดเจาะ น้ำบาดาลสูงเกินไป พร้อมทั้งขอแบบแปลนและประมาณราคาโครงการจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาลและตั้งข้อซักถามในโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร ค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ค่าก่อสร้างแหล่งน้ำเกี่ยวกับการประมาณราคาก่อสร้างและตั้งวงเงินงบประมาณในการก่อสร้างแหล่งน้ำของแต่ละจังหวัด
ในการประชุมดังกล่าวนายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล พร้อมเจ้าหน้าที่ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ชี้แจงตอบข้อซักถามของจําเลยครบถ้วนแล้ว แต่จําเลยยังคงซักถามโต้แย้งในประเด็นเดิมเกี่ยวกับราคาค่าก่อสร้างในแต่ละโครงการที่สูงเกินไป ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 กรมทรัพยากรน้ำบาดาลมีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ทส 0702/3745 ชี้แจงตอบประเด็นคําถามดังกล่าว และจัดส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมเกี่ยวกับแบบแปลนและประมาณราคาของโครงการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลทั้งหมดให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ งบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สภาผู้แทนราษฎร ครบถ้วน รวมถึงส่งเอกสาร ดังกล่าวให้จําเลยด้วย
ต่อมาวันที่ 4 สิงหาคม 2563 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จําเลยได้บังอาจเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินเป็นเงิน 5,000,000 บาท โดยมิชอบจากนายศักดิ์ดา เพื่อกระทําการหรือไม่ กระทําการอย่างใดในตําแหน่งหน้าที่ของจําเลย โดยจําเลยโทรศัพท์พูดคุยกับนายนายศักดิ์ดาว่า “พรุ่งนี้ขอเงิน 5,000,000 บาท” นายศักดิ์ดาจึงถามว่า “เหตุใดจึงตัดงบประมาณเยอะจัง” จําเลย ตอบว่า “ไม่ได้ตัดงบประมาณ แต่ขอเป็นเงินสด” นายศักดิ์ดาตอบว่า “เงินเยอะขนาดนั้น จะไปหาจากที่ไหน” จําเลยตอบว่า “ถ้าอย่างนั้น ของานโครงการในภาคอีสานทั้งหมด” นายศักดิ์ดาตอบว่า “ไม่ได้ เนื่องจากงานโครงการของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเป็นงานประเภท e-bidding” จําเลยตอบว่า “ถ้าอย่างนั้น ของานที่ต่ำกว่า 500,000 บาท” นายศักดิ์ดาจึงตอบว่า “ไม่ได้ เนื่องจากโครงการที่ต่ำกว่า 500,000 บาท เจ้าหน้าที่ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลก็จะเป็นผู้ดําเนินการเองอยู่แล้ว” จําเลย ตอบว่า “ถ้าไม่ให้ก็จะตัดงบประมาณของกรม 10 เปอร์เซ็นต์” นายศักดิ์ดาตอบว่า “หากจะตัดงบประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ของแต่ละโครงการแบบนั้น กรมทรัพยากรน้ำบาดาลก็จะทํางานไม่ได้ หากจะตัดให้ตัดเป็นโครงการ หรือเป็นรายแห่ง”
จากนั้นต่อมาวันที่ 5 สิงหาคม 2563 ในการประชุม ครั้งที่ 4/2563 คณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 ได้พิจารณางบประมาณรายจ่ายแผนงาน บูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จําเลยในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง ได้ซักถามและตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับงบประมาณของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลในประเด็นเดิมถึงราคาค่าก่อสร้างต่อพื้นที่ของการเจาะบ่อน้ำบาดาลในแต่ละพื้นที่ที่สูงกว่าเอกชนดําเนินการ และเหตุใดจึงไม่จ้างเอกชน ซึ่งประเด็นดังกล่าวผู้แทน จากกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ชี้แจงพร้อมส่งเอกสารต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ และยังได้ ส่งเอกสารแบบแปลนและประมาณราคาของโครงการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลดังกล่าวให้แก่จําเลยแล้วเช่นกัน แต่จําเลยยังคงซักถามในประเด็นเดิม ซึ่งทําให้การประชุมพิจารณางบประมาณล่าช้าไม่อาจหาข้อสรุปเพื่อลงมติได้ หากการพิจารณางบประมาณของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ไม่ผ่านการพิจารณา จากคณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 และคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สภาผู้แทนราษฎร ย่อมไม่อาจตราเป็นพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ในส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ อันเกิดความเสียหายแก่กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเสียหายแก่ทางราชการ การกระทําของจําเลยดังกล่าวเป็นการเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์ อื่นใดสําหรับจําเลยโดยมิชอบ เพื่อกระทําการหรือไม่กระทําการอย่างใดในตําแหน่งของจําเลย ไม่ว่า การนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ และเป็นการปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เหตุเกิดที่แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต และแขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ต่อเนื่องกัน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172, 173 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149, 157
จำเลยให้การปฏิเสธ
@ ศาลเปิดที่มาของคดี
พิเคราะห์คำฟ้อง คำให้การ พยานหลักฐานตามทางไต่สวนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประกอบสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตลอดจนคําแถลงปิดคดีของจําเลยแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจําเลยดํารงตําแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดมุกดาหาร สังกัดพรรคเพื่อไทย โดยได้รับการเลือกตั้งให้ดํารงตําแหน่งตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2562 และพ้นจากตําแหน่งเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 อันเป็นวันที่ศาลฎีกามีคําสั่งให้จําเลยคดีนี้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ตามคําพิพากษาศาลฎีกาคดีหมายเลขแดงที่ คมจ.1/2566 ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 2 ครั้งที่ 9 (สมัยสามัญประจําปีครั้งที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 แล้วลงมติรับหลักการ และตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ขึ้นคณะหนึ่งจํานวน 72 คน โดยจําเลยได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมาธิการวิสามัญในคณะดังกล่าวด้วย ตามเอกสารหมาย จ.15 ในการประชุมครั้งที่ 8/2563 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2563 คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ประชุมพิจารณางบประมาณภาพรวมของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการประชุมครั้งที่ 10/2563 และครั้งที่ 11/2563 วันที่ 21 และวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 ประชุมพิจารณางบประมาณของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลและกรมทรัพยากรน้ำ ในการประชุมดังกล่าว จําเลยในฐานะกรรมาธิการวิสามัญฯ ตั้งข้อสังเกตและซักถามเกี่ยวกับโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ และโครงการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลระยะไกล เพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่แล้งซ้ำซากหรือน้ำเค็มว่า เหตุใดมีการตั้งวงเงินงบประมาณในการก่อสร้างแหล่งน้ำของแต่ละจังหวัดมีจํานวนเงินเท่ากัน พร้อมกับขอรายละเอียดโครงการและเอกสารแบบแปลนและประมาณราคาเพื่อพิจารณาว่ามีราคาแพงหรือไม่ ซึ่งนายศักดิ์ดาได้ชี้แจงตอบข้อซักถามและแจ้งว่า สําหรับแบบแปลนและประมาณราคาจะจัดส่งให้ในภายหลัง ตามรายงานการประชุมเอกสารหมาย จ.17 หน้า 794
และในการประชุมครั้งที่ 13/2563 เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 คณะกรรมาธิการวิสามัญฯมีมติแต่งตั้งอนุกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จํานวน 8 คณะ คณะละ 10 คน คณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 เป็นคณะที่ 8 ประกอบด้วยจําเลยและบุคคลอื่นอีก 9 คน มีอํานาจหน้าที่พิจารณางบประมาณเกี่ยวกับการบูรณาการทรัพยากรน้ำของ 9 กระทรวง 17 หน่วยงาน และการบูรณาการด้านการคมนาคมและโลจิสติกส์ของ 8 กระทรวง 21 หน่วยงาน และ สรุปผลรายงานผลการพิจารณาเสนอคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ซึ่งที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 คัดเลือกให้นางสาวแนน บุณย์ธิดา สมชัย เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการ จําเลยเป็นรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง และนางนันทนา สงฆ์ประชา เป็นเลขานุการ คณะอนุกรรมาธิการ ตามเอกสารหมาย จ.18 หน้า 667 ถึง 672
วันที่ 31 กรกฎาคม 2563 กรมทรัพยากรน้ำบาดาลมีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ทส 0702/3745 ถึงประธานคณะกรรมาธิการ วิสามัญฯ ขอส่งเอกสารประกอบการชี้แจง (เพิ่มเติม) ตามเอกสารหมาย จ.20 หน้า 933 ถึง 1016 วันที่ 4 สิงหาคม 2563 ในการประชุมคณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 ครั้งที่ 3/2563 ก่อนเลิกประชุม นางสาวแนนแจ้งที่ประชุมว่า นัดประชุมครั้งต่อไปวันพุธที่ 5 สิงหาคม 2563 เพื่อพิจารณางบประมาณของกรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และกรมโยธาธิการและผังเมืองตามลําดับ เลิกประชุมเวลา 18.40 นาฬิกา ตามเอกสารหมาย จ.21 หน้า 1141/1 หลังเลิกประชุม จําเลย นางสาวแนน นางนันทนา และนายจักรัตน์ พั้วช่วย อนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 นั่งอยู่ในห้องประชุมเพื่อรับประทานอาหารเย็น และมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายเลขานุการอยู่สรุปการประชุมในวันนั้นและเตรียมเอกสารการประชุมในวันถัดไป ต่อมาเวลา 19.07 นาฬิกา นางนันทนาได้โทรศัพท์ไปหานายศักดิ์ดาซึ่งขณะนั้นอยู่กับพลตํารวจตรีวิวัฒน์ ชัยสังฆะ และเพื่อนชื่อนายเต๋อที่ร้านอาหารเบียร์หิมะในหมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 ถนนเทศบาลสงเคราะห์ แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร
@ ‘นันทนา’ ต่อสายหาอธิบดีศักดิ์ดาขณะกินข้าวร้านดัง
นางนันทนาบอกนายศักดิ์ดาว่า มีเรื่องด่วนเป็นเรื่องสําคัญให้นายศักดิ์ดาโทรศัพท์ไปที่หมายเลข 08 1872 5959 โดยไม่บอกว่าเป็นหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ใดและเรื่องอะไร นายศักดิ์ดาโทรศัพท์ ไปยังหมายเลขดังกล่าวแต่ไม่มีผู้รับสาย ต่อมาจําเลยเป็นผู้ใช้โทรศัพท์หมายเลขดังกล่าวติดต่อกลับมาหานายศักดิ์ดา 2 ครั้ง เวลา 19.20 นาฬิกา สนทนาเป็นระยะเวลา 565 วินาที และเวลา 19.34 นาฬิกา สนทนาเป็นระยะเวลา 365 วินาที ตามข้อมูลการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่เอกสารหมาย จ.25 หน้า 1564 ถึง 1567
@แฉกลางวงประชุมถูก โทร.ตบทรัพย์
วันที่ 5 สิงหาคม 2563 ในการประชุมคณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 ครั้งที่ 4/2563 ในช่วงเช้า จําเลยเข้าร่วมประชุมมีข้อสังเกตและซักถามเกี่ยวกับโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรที่หน่วยงานเป็นผู้ดําเนินการเอง ราคาต่อแห่ง 171,000 บาท และการเบิกจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าน้ำมัน เนื่องจากรถที่เจาะเป็นของราชการ พร้อมกับขอแบบแปลนและ ประมาณราคาจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ซึ่งนายศักดิ์ดา นายกุศล โชติรัตน์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล นายสุรินทร์ วรกิจธํารง ผู้อํานวยการสํานักพัฒนาน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้ชี้แจงตอบข้อซักถามว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาลมีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ นักธรณีวิทยา และช่างเจาะที่มีประสบการณ์ รวมถึงมีเครื่องเจาะบ่อบาดาลสามารถขุดเจาะได้งานคุณภาพสูงกว่า การว่าจ้างเอกชน พร้อมกับนําแบบแปลนฉายขึ้นจอโปรเจคเตอร์ประกอบการชี้แจง และผู้แทนจากสํานักงบประมาณชี้แจงว่า ราคา 171,000 บาท เป็นราคาตามบัญชีราคามาตรฐานในลักษณะงาน ดําเนินการเอง ซึ่งจะกําหนดค่าน้ำมัน ค่าวัสดุ ตามอัตราราคางานต่อหน่วย ตามมาตรฐานของ สํานักงบประมาณไม่มีการตั้งงบประมาณซ้ำซ้อน ซ้อน ตามรายงานการประชุมเอกสารหมาย จ.21 หน้า 1154/1 ในการชี้แจงช่วงหนึ่ง นายศักดิ์ดาพูดต่อที่ประชุมว่า “ท่าน (จําเลย) ก็คุยกับผมหลายรอบ ผมอัดเทปไว้นะครับ” และช่วงใกล้เที่ยงนายศักดิ์ดาพูดต่อที่ประชุมว่า “พูดกันไม่รู้เรื่องหรอก เพราะ เมื่อคืนนี้มีอนุกรรมาธิการคนหนึ่งโทรไปหาผมตบทรัพย์ผม 5,000,000 บาท ผมจะไปแถลงข่าว” แต่ข้อความหลังไม่มีการบันทึกไว้ในรายงานการประชุม และพักการประชุมเวลา 11.55 นาฬิกา
ในช่วงบ่ายมีการประชุมพิจารณางบประมาณของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลต่อ แต่จําเลยไม่ได้เข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 พิจารณามีมติเห็นควรปรับลดงบประมาณของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล 15,000,000 บาท เหตุผลการปรับลดเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย/ปรับลด เป้าหมาย ตามรายงานการประชุมเอกสารห0มาย จ.21 หน้า 1557 ถึง 1168 และรายงานผลการพิจารณาเอกสารหมาย จ.26 หน้า 1592
@ ป.ป.ช.ฟันอาญาพ่วงจริยธรรมร้ายแรง
ต่อมามีผู้ร้องเรียนการกระทําของจําเลยและนางนันทนาต่อ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติรับเรื่องและมีคําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวน เพื่อดําเนินการไต่สวน คณะกรรมการไต่สวนดําเนินการไต่สวนและแจ้งข้อกล่าวหาให้จําเลยและนางนันทนาทราบแล้ว และสรุปสํานวนพร้อมความเห็นเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณา คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติสําหรับการกระทําของนางนันทนาว่าไม่มีมูลให้ข้อกล่าวหาตกไป แต่ให้ส่งเรื่องให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรดําเนินการตามอํานาจหน้าที่เกี่ยวกับการกระทําที่อาจจะฝ่าฝืนจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามกฎหมายต่อไป และมีมติสําหรับการกระทําของจําเลยว่ามีมูลความผิดอาญาตามข้อกล่าวหาและเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ในส่วนคดีอาญาให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังโจทก์ยื่นฟ้องเป็นคดีนี้
ในส่วนคดีฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้ร้องยื่นคําร้องต่อศาลฎีกาเป็น คดีหมายเลขดําที่ คมจ. 4/2564 คดีดังกล่าวศาลฎีกามีคําพิพากษาว่า ผู้คัดค้าน (จําเลย) ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 235 วรรคหนึ่ง (1) และมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ.2561 ข้อ 7 ข้อ 8 ข้อ 9 ประกอบข้อ 27 วรรคหนึ่ง ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ คมจ.1/2566 ของศาลฎีกา
คดีนี้ ศาลฎีกาตั้งประเด็นพิจารณาไว้ 3 ประการ
1.การไต่สวนในชั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
2.จำเลยได้กระทำตามข้อกล่าวหาในฟ้องหรือไม่
3.การกระทำของจำเลย เป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่
ประเด็นพิจารณาประการแรก ศาลวินิจฉัยสรุปได้ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มิได้เร่งรีบสรุปสำนวนตามที่จำเลยอ้าง การไต่สวนคดีนี้ในชั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชอบด้วยกฎหมาย ข้ออ้างของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สำนักข่าวอิศราเรียบเรียงคำวินิจฉัยในประเด็นที่ 2 และ ประเด็นที่ 3 มารายงานอย่างละเอียด
@ติดใจซักถาม 3 วัน โจมตีใช้งบไม่คุ้มค่า ขุดบ่อมีราคาแพง ทำไมไม่จ้างเอกชน
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า จำเลยได้กระทำตามข้อกล่าวหาในฟ้องหรือไม่
ทางไต่สวนได้ความจากนายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เบิกความว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เมื่อวันที่ 17 วันที่ 21 และวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 จำเลยซึ่งเป็นกรรมาธิการวิสามัญฯ ซักถามและโจมตีเกี่ยวกับงบประมาณและโครงการของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลว่า มีการกำหนดงบประมาณไม่คุ้มค่า การขุดเจาะบ่อบาดาลมีราคาแพง การบริหารจัดการไม่จัดจ้างเอกชนเป็นผู้ดำเนินการ รวมถึงการทุจริต โดยมีการนำภาพโครงการมาเสนอต่อที่ประชุมแต่ภาพดังกล่าวไม่ใช่ลักษณะบ่อของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ซึ่งนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ชี้แจงตอบข้อซักถาม และพยานกับคณะเจ้าหน้าที่ก็ได้ชี้แจงตอบข้อซักถามไปแล้วเช่นกัน แต่จำเลยยังคงติดใจซักถามในคำถามเติมอยู่
@ อธิบดีฯ รับสาย‘นันทนา’ ให้โทร.กลับเบอร์ปริศนา
วันที่ 31 กรกฎาคม 2563 กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจัดส่งเอกสารประกอบการชี้แจงเพิ่มเติมให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ตามเอกสารหมาย จ.20 และส่งไปให้จำเลยด้วย
ต่อมาวันที่ 4 สิงหาคม 2563 เวลา 19.07 นาฬิกาขณะที่พยานอยู่กับพลตำรวจตรีวิวัฒน์ ชัยสังฆะ และเพื่อนชื่อนายเต๋อที่ร้านอาหารเบียร์หิมะในหมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 นางนันทนา อนุกรรมาธิการแผนงานบูรณการ 2 โทรศัพท์มาหาพยานบอกว่า มีเรื่องด่วนสำคัญให้พยานโทรศัพท์ไปที่หมายเลข 08 1872 5959 โดยไม่บอกว่าเป็นหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ใดและเรื่องอะไร ซึ่งพยานคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับงบประมาณของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลที่จะเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2
@ แนะนำตัวเองว่าเป็นรองประธานอนุกมธ.“พรุ่งนี้ขอเงิน 5,000,000 บาท”
ต่อมาเวลา 19.10 นาฬิกา พยานจึงโทรศัพท์ไปยังหมายเลขดังกล่าวแต่ไม่มีผู้รับสาย
เวลา 19.20 นาฬิกา ผู้ใช้หมายเลขดังกล่าวโทรศัพท์กลับมาหาพยาน พยานจำเสียงได้ว่าคือจำเลย เพราะจำเลยเป็นกรรมาธิการวิสามัญฯ และเคยซักถามเรื่องงบประมาณของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ใช้เวลาสนทนากัน 9 นาทีเศษ และเวลา 19. 34 นาฬิกา จำเลยโทรศัพท์มาหาพยานอีกครั้ง ใช้เวลาสนทนากัน 6 นาทีเศษ โดยเรื่องที่สนทนากันทั้งสองครั้งดังกล่าวมีใจความสำคัญว่า จำเลยแนะนำตัวเองว่า เป็นรองประธานคณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 คนที่หนึ่ง แจ้งว่า “พรุ่งนี้ขอเงิน 5,000,000 บาท”
พยานจึงถามว่า “เหตุใดจึงตัดงบประมาณเยอะจัง”
จำเลยบอกว่า “ไม่ได้ตัดงบประมาณ แต่ขอเป็นเงินสด”
พยานตอบว่า “เงินเยอะขนาดนั้น จะไปหาจากที่ไหน”
จำเลยบอกว่า “ถ้าอย่างนั้น ของานโครงการในภาคอีสานทั้งหมด”
พยานจึงตอบว่า “ไม่ได้ เนื่องจากงานโครงการของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นงานประเภท e-bidding”
@ ขู่ถ้าไม่ให้ก็จะตัดงบฯกรม 10 %
จำเลยบอกว่า “ถ้าอย่างนั้น ของานที่ต่ำกว่า 500,000 บาท” ซึ่งพยานเข้าใจว่างานดังกล่าวเป็นงานที่ใช้เพียงวิธีตกลงราคาซึ่งมีประมาณ 360 แห่ง พยานจึงตอบว่า “ไม่ได้ เนื่องจากโครงการที่ต่ำกว่า 500,000 บาท เจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะเป็นผู้ดำเนินการเองอยู่แล้ว”
จำเลยบอกว่า “ถ้าไม่ให้ก็จะตัดงบประมาณของกรม 10 เปอร์เซ็นต์”
พยานจึงบอกว่า “หากจะตัดงบประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ของแต่ละโครงการแบบนั้น กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะทำงานไม่ได้ หากจะตัดให้ตัดเป็นโครงการ หรือเป็นรายแห่ง”
การสนทนาดังกล่าวมิได้สนทนาต่อเนื่องในครั้งเดียวเนื่องจากมีปัญหาสัญญาณโทรศัพท์หลุด ต้องโทรศัพท์ติดต่อหากันหลายครั้ง ตามข้อมูลการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่เอกสารหมาย จ.25 หลังจากพยานเดินทางออกจากร้านอาหารเบียร์หิมะแล้ว
@ ไลน์หาอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ-ส.ส.ปชป. บอกถูกเรียกเงิน
ในคืนนั้นเวลา 21.25 นาฬิกา พยานโทรศัพท์ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ไปหานายภาดล ถาวรกฤซรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ เล่าให้นายภาดลฟังว่า จำเลยโทรศัพท์มาเรียกเงินพยาน 5,000.000 บาท และโทรศัพท์ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ไปเล่าเรื่องดังกล่าวให้นายสุรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาน้ำบาดาลฟังด้วย บอกให้นายสุรินทร์เตรียมข้อมูลเพื่อไปชี้แจงให้พร้อม นอกจากนี้วันรุ่งขึ้นเวลา 7.55 นาฬิกา พยานยังได้โทรศัพท์ไปเล่าให้นายนริศ ขำนุรักษ์ ซึ่งเป็นเพื่อนพยานและเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฟังอีกคนด้วย
@โดนซักประเด็นเดิมอีก
วันที่ 5 สิงหาคม 2563 ช่วงเช้า คณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 ประชุมพิจารณางบประมาณกรมทรัพยากรน้ำบาดาล จำเลยเข้าร่วมประชุมตั้งข้อสังเกตและซักถามเกี่ยวกับโครงการที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเป็นผู้ดำเนินการเองเกี่ยวกับค่าเจาะบ่อบาดาลราคา 171,000 บาทการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ และการกำหนดอัตราราคางานต่อหน่วยที่เท่ากันทุกจังหวัด ในช่วงแรกพยานเป็นผู้ชี้แจงด้วยตัวเอง แล้วให้นายกุศล โซติรัตน์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และนายสุรินทร์เป็นผู้ชี้แจงเกี่ยวกับงานด้านเทคนิคการขุดเจาะบ่อบาดาลที่หน่วยงานดำเนินการเอง แต่จำเลยยังคงติดใจซักถามว่ามีการกำหนดราคาแพง และซักถามเกี่ยวกับการเบิกจ่ายค่าน้ำมันกับค่าเบี้ยเลี้ยงต่าง ๆ ระหว่างนั้นพยานลุกเดินออกจากห้องประชุมไปเข้าห้องน้ำ ได้พบกับนางวันทนา อาชีววิทย์ ผู้อำนวยการส่วนงบประมาณกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 1 สำนักงบประมาณพยานพูดกับนางวันทนาว่า ตนอายที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลถูกคณะอนุกรรมาธิการซักถามเยอะเล่าให้นางวันทนาฟังว่า คืนวันที่ 4 สิงหาคม 2563 มีอนุกรรมาธิการโทรศัพท์มาเรียกเงิน 5,000,000 บาท จากนั้นพยานกลับเข้าห้องประชุม และยืนขึ้นพูดว่า “พูดกันไม่รู้เรื่องหรอก เพราะเมื่อคืนนี้มีอนุกรรมาธิการคนหนึ่งโทรไปหาผม ตบทรัพย์ผม 5,000,000 บาท ผมจะไปแถลงข่าว” และมีนายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ อนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 พูดขึ้นว่าจะพาพยานไปแถลงข่าว ประธานจึงสั่งพักการประชุม
@ยอมให้ตัดงบฯกรม 15 ล้าน
ในช่วงบ่ายจำเลยไม่เข้าร่วมประชุม บรรยากาศในการประชุมเปลี่ยนไปจากช่วงเช้า คณะอนุกรรมาธิการสอบถามพยานว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะตัดลดงบประมาณเท่าใด พยานขอตัดร้อยละ 1 เป็นเงินประมาณ 12,000,000 บาท แต่ประธานคณะอนุกรรมาธิการขอให้ตัดงบประมาณ 15,000,000 บาท และพยานยินยอมให้ปรับลดงบประมาณตามจำนวนดังกล่าว ตามรายงานการประชุมเอกสารหมาย จ.21 หน้า 1157/1 ถึง 1168/1
@เจ้าตัวเบิดความอ้างโทร.หาแค่พูดคุยเรื่องเอกสาร ปัดเรียกเงิน
พยานไม่ได้บันทึกเสียงสนทนาระหว่างพยานกับจำเลยไว้
ส่วนจำเลยนำสืบอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่าจำเลยโทรศัพท์ไปหานายศักดิ์ดาพูดคุยเรื่องเอกสารแบบแปลนและประมาณการโครงการขุดเจาะบ่อบาดาล จำเลยไม่ได้เรียกเงินนายศักดิ์ดา นั้น องค์คณะผู้พิพากษามีมติเสียงข้างมากเห็นว่า โจทก์มีนายศักดิ์ดาเป็นประจักษ์พยานที่รู้เห็นเรื่องที่จำเลยโทรศัพท์มาพูดเรียกเงินและของานจากนายศักดิ์ดาแต่จำเลยเบิกความปฏิเสธ คำเบิกความของนายศักดิ์ดาและคำเบิกความของจำเลยมีลักษณะโต้แย้งยันกันอยู่ จึงต้องพิจารณาพยานพฤติเหตุแวดล้อมประกอบกัน
@ ศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์
@มีข้อบ่งชี้ไม่ได้ซักถามตามปกติทั่วไป
เมื่อพิจารณาคำเบิกความของนายศักดิ์ดาระบุเหตุการณ์เริ่มตั้งแต่ในการประชุมคณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 จำเลยได้พยายามซักถามซ้ำประเด็นเดิมในลักษณะโจมตีงบประมาณอย่างผิดปกติ จนกระทั่งสุดท้ายเมื่อจำเลยไม่เข้าประชุมงบประมาณของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลจึงผ่านไปได้โดยใช้เวลาไม่นาน อันเป็นข้อบ่งชี้ว่าจำเลยไม่ได้ซักถามเรื่องงบประมาณดังกล่าวในฐานะอนุกรรมาธิการตามปกติทั่วไป
อีกทั้งจำเลยดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานคณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 คนที่หนึ่ง หากจำเลยเพียงแต่ต้องการเอกสารแบบแปลนและประมาณราคา จำเลยก็สามารถมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการของคณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 ดำเนินการให้ตามทางปฏิบัติที่เคยกระทำกันมาได้อยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นถึงขนาดที่จำเลยจะต้องโทรศัพท์ติดต่อกับนายศักดิ์ดาด้วยตนเองโดยไม่มีบุคคลอื่นได้ยินข้อความสนทนาระหว่างจำเลยกับนายศักดิ์ดา ทั้งถ้อยคำที่จำเลยพูดคุยกับนายศักดิ์ดายังเกี่ยวพันไปถึงการขอเข้าเป็นผู้รับจ้างงานก่อสร้างของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลอันเป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลย
@ไม่เชื่ออธิบดีศักดิ์ดาสร้างเรื่องใส่ร้ายแม้ ส.ส. ชาดา-ทวี บอกมีอารมณ์ขุ่นมัว
ประกอบกับนายศักดิ์ดาเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เพิ่งรู้จักจำเลยครั้งแรกในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ แม้จำเลยจะมีข้อสังเกตและคำซักถามเกี่ยวกับงบประมาณของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลหลายประเด็น รวมทั้งมีการขอเอกสารแบบแปลนและประมาณราคาก่อสร้างด้วย ซึ่งทำให้การชี้แจงตอบข้อซักถามของหน่วยงานมีความยุ่งยากมากกว่าปีที่ผ่านมาดังที่นายชาดา ไทยเศรษฐ์ และพันตำรวจเอกหวี สอดส่อง ได้เบิกความในคดีหมายเลขดำที่คมจ. 4/2564 ของศาลฎีกา ว่า นายศักดิ์ดามีอารมณ์ขุ่นเคืองจำเลยก็ตาม แต่ข้อนี้ก็เป็นความขัดแย้งกันเพียงเล็กน้อยเห็นได้จากที่ทั้งสองฝ่ายยังคงโทรศัพท์พูดคุยกันเป็นเวลานาน เหตุดังกล่าวจึงไม่น่าจะทำให้นายศักดิ์ดาโกรธเคืองถึงขนาดสร้างเรื่องขึ้นมาใส่ร้ายจำเลยซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยเรื่องร้ายแรงโดยปราศจากมูลความจริง เพราะเป็นการเสี่ยงที่นายศักดิ์ดาอาจถูกดำเนินคดีทั้งทางอาญาและทางวินัยซึ่งจะมีผลกระทบต่อหน้าที่การงานของตนได้
@ พยาน 3 คนยืนยันอธิบดีเล่าให้ฟังถูกเรียกเงิน
หลังเกิดเหตุนายศักดิ์ดาได้โทรศัพท์ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ไปเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้นายภาดล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ และนายสุรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาน้ำบาดาล ฟังว่าจำเลยโทรศัพท์มาเรียกเงินหรือของาน และนายนริศ ขำนุรักษ์ พยานโจทก์ซึ่งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นพยานเบิกความว่า วันที่ 5 สิงหาคม 2563 เวลา 7.55 นาฬิกา นายศักดิ์ดาโทรศัพท์มาเล่าว่ามีอนุกรรมาธิการโทรศัพท์มาเรียกเงิน 5,000,000 บาท หากไม่ให้จะตัดงบประมาณ แต่ไม่บอกว่าผู้เรียกเงินคือใคร พยานโจทก์ทั้งสามปากต่างเบิกความยืนยันตรงกันว่า นายศักดิ์ดาแจ้งว่ามีอนุกรรมาธิการคนหนึ่งเรียกเงิน 5,000,000 บาท จากนายศักดิ์ดาโดยนายภาดลและนายสุรินทร์เบิกความว่า นายศักดิ์ดาบอกว่าคนที่เรียกเงินคือจำเลย โดยบอกในคืนเกิดเหตุทันทีหลังจากพูดคุยทางโทรศัพท์กับจำเลย ทั้งเมื่อพิจารณาจากระยะเวลาที่จำเลยโทรศัพท์คุยกับนายศักดิ์ดาเมื่อเวลา 19.20 นาฬิกา เป็นเวลา 9 นาทีเศษ และเวลา 19.34 นาฬิกา เป็นเวลา 6 นาทีเศษ รวมประมาณ 15 นาที ตามข้อมูลการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่เอกสารหมาย จ.25 แสดงให้เห็นว่าจำเลยและนายศักดิ์ดาพูดคุยทางโทรศัพท์เป็นระยะเวลานานสอดคล้องกับที่นายศักดิ์ดากล่าวอ้างว่ามีการเจรจาต่อรองจนนำไปสู่การเรียกเงินจำนวน 5,000,000 บาท เมื่อไม่ได้จึงเปลี่ยนมาของานแทนตามลำดับ ซึ่งหากเป็นการพูดคุยแค่เรื่องขอเอกสารแบบแปลนก็ไม่น่าจะต้องใช้ระยะเวลานานมากถึงเพียงนี้
@เชื่อมโยงหลายคน ไม่น่าเป็นไปได้อธิบดีสร้างเรื่อง
นอกจากนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับบุคคลดังกล่าวหลายคน จึงไม่น่าเป็นไปได้ที่นายศักดิ์ดาจะคิดวางแผนสร้างเรื่องโดยโทรศัพท์ไปบอกพยานโจทก์ทั้งสามว่าถูกจำเลยเรียกเงินหรือของานตั้งแต่หลังการประชุมคณะอนุกรรมาธิการ ทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงว่านางนันทนาเป็นฝ่ายติดต่อกับนายศักดิ์ดาให้โทรศัพท์ไปหาจำเลยก่อน พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นจึงไม่อยู่ในวิสัยที่นายศักดิ์ดาจะวางแผนให้จำเลยเป็นฝ่ายเริ่มติดต่อมาก่อน
ยิ่งกว่านั้น ในวันรุ่งขึ้น เมื่อมีการประชุมคณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 นายศักดิ์ดาก็ได้พูดขึ้นมาในที่ประชุมยืนยันว่า เมื่อคืนนี้มีอนุกรรมาธิการคนหนึ่งโทรไปหาผม ตบทรัพย์ผม 5,000,000 บาท ซึ่งมีลักษณะเป็นการพูดโต้ตอบด้วยความอัดอั้นกดดันจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคืนเกิดเหตุโดยยังไม่ระบุชื่อจำเลยว่าเป็นผู้เรียกเงินหรือของาน แสดงว่านายศักดิ์ดาเพียงแต่ต้องการให้จำเลยหยุดซักถามเท่านั้น ซึ่งหากจำเลยไม่โทรศัพท์เรียกเงินและของานก็ไม่มีเหตุที่นายศักดิ์ดาจะต้องพูดเรื่องที่ร้ายแรงเช่นนี้ในที่ประชุม หลังจากนั้นช่วงบ่ายจำเลยก็ไม่เข้าประชุมคณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 เพื่อซักถามโต้แย้งงบประมาณของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลอีก
@ แฉ‘อนุรักษ์’ โทร.หาอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำด้วย บอกเป็นผู้รับเหมามาช่วยไหม
นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังได้ความจากที่นายภาดลพยานโจทก์เบิกความอีกว่าในคืนเกิดเหตุเวลาประมาณ 19 นาฬิกา นางนันทนาโทรศัพท์ผ่านแอปพลิเคชันไลน์มาบอกให้พยานโทรศัพท์ไปหาจำเลย เรื่องงบประมาณกรมทรัพยากรน้ำที่จะเข้าที่ประชุมพรุ่งนี้ พยานจึงโทรศัพท์ไปหาจำเลยก่อน ต่อมาเวลา 19.15 นาฬิกา จำเลยโทรศัพท์กลับมาหาพยาน สอบถามเกี่ยวกับงบประมาณกรมทรัพยากรน้ำว่า มีงบอะไรบ้าง ลงที่ไหน และเวลา 19.50 นาฬิกา จำเลยโทรศัพท์มาหาพยานอีกครั้ง สอบถามเกี่ยวกับงานก่อสร้างของกรมทรัพยากรน้ำว่า ทำอย่างไรบ้าง ตนเป็นผู้รับเหมางานก่อสร้าง งบประมาณกรมทรัพยากรน้ำมีกี่ประเภท พยานอธิบายและขอร้องว่าอย่าตัดงบประมาณเลยแล้วจำเลยสอบถามว่า บริหารงบประมาณอย่างไร พยานตอบว่า ต้องทำ e-bidding ตั้งแต่มีe-bidding มีการฟันราคามา 4 ถึง 5 ปี แล้ว ซึ่งจำเลยพูดว่า อย่างนี้ก็บริหารไม่ได้สิ ผมเป็นผู้รับเหมาผมมาคุมช่วยมั้ย พยานตอบว่า ยินดี เนื่องจากเป็นการทำ e-bidding ซึ่งพยานเข้าใจว่าการพูดดังกล่าวเป็นการพูดของาน
@คำเบิกความอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ มีน้ำหนัก
หลังจากนั้นเวลา 21.25 นาฬิกา นายศักดิ์ดาโทรศัพท์ผ่านแอปพลิเคชันไลน์มา สอบถามพยานว่า มีอนุกรรมาธิการโทรศัพท์มาหาหรือไม่ พยานตอบว่า มีอนุกรรมาธิการโทรศัพท์มา เกี่ยวกับเรื่องงบประมาณที่จะเข้าพรุ่งนี้ว่ามีงบอะไรบ้าง นายศักดิ์ดาเล่าว่า ของผม เขาเรียกเงินผม 5,000,000 บาท แต่ผมไม่ให้เพราะไม่มี ซึ่งนายศักดิ์ดาบอกชื่อจําเลยให้ทราบด้วย นายภาดลไม่ได้สร้างเรื่องกล่าวหาจําเลยจึงมีลักษณะเป็นคนกลาง คําเบิกความของนายภาดลจึงมีน้ำหนักให้รับฟัง
จากคําเบิกความของนายภาดลในส่วนนี้แสดงให้เห็นว่าจําเลยขอรับงานจากนายภาดล ซึ่งเป็นการ กระทําในลักษณะเดียวกันกับที่จําเลยพูดคุยกับนายศักดิ์ดาในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน เมื่อพิจารณา ประกอบกับว่านายศักดิ์ดาและนายภาดลต่างดํารงตําแหน่งอธิบดีกรมที่จะต้องไปชี้แจงเกี่ยวกับงบประมาณต่อคณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 ที่มีจําเลยเป็นรองประธานในวันรุ่งขึ้น พฤติการณ์บ่งชี้ว่าจําเลยโทรศัพท์ไปเจรจาต่อรองผลประโยชน์จากโครงการที่จําเลยกําลังมีส่วนในการ พิจารณางบประมาณดังที่นายศักดิ์ดาและนายภาดลพยานโจทก์ทั้งสองปากเบิกความ คําเบิกความของนายศักดิ์ดาจึงมีเหตุผลและสอดคล้องเชื่อมโยงกับพยานอื่นทําให้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ
ส่วนข้อที่นายศักดิ์ดาพูดต่อที่ประชุมว่า ได้บันทึกเสียงสนทนาระหว่างนายศักดิ์ดากับจําเลยไว้ แต่ความจริงไม่มีการ บันทึกเสียงสนทนานั้น ได้ความตามรายงานการประชุมเอกสารหมาย จ.21 หน้า 1155/1 ถึง 1156/1 ว่า ก่อนที่นายศักดิ์ดาจะพูดถ้อยคําดังกล่าว จําเลยกับนายศักดิ์ดามีการซักถามชี้แจงโต้ตอบกันไปมา โดยจําเลยยังคงซักถามเกี่ยวกับโครงการเจาะบ่อบาดาลแห่งละ 171,000 บาท ที่ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลดําเนินการเองว่า มีราคาแพงกว่าการว่าจ้างเอกชน และมีข้อสงสัยเกี่ยวกับ การเบิกจ่ายเงินค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าน้ำมัน นายศักดิ์ดาได้พูดว่า ถ้าจะประมูลเพื่อเอกชนเจาะ ถ้าบ่อ เสียหายขอให้ท่านรับผิดชอบ ผมยินดี เพื่อท่านจะมาประมูลงาน แล้วจําเลยพูดตอบว่า ผมไม่ใช่ ผู้รับเหมา ซึ่งราคาเจาะบ่อบาดาล ผู้แทนสํานักงบประมาณได้ชี้แจงไปแล้วว่า กําหนดตามอัตราราคางานต่อหน่วยตามบัญชีมาตรฐานของสํานักงบประมาณ พฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าขณะนั้น นายศักดิ์ดา พูดถ้อยคําดังกล่าวออกไปด้วยอารมณ์เพียงเพื่อที่จะโต้ตอบจําเลย ทั้งภายหลังนายศักดิ์ดาก็ยอมรับเองว่าไม่มีการบันทึกเสียง ข้อนี้จึงไม่ถึงกับเป็นพิรุธทําให้คําเบิกความของนายศักดิ์ดามีน้ำหนักลดน้อยลงจนไม่น่าเชื่อถือ แม้นายศักดิ์ดาจะเบิกความตอนหนึ่งว่า พยานเคยไปให้ถ้อยคําต่อคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร แต่พยานไม่ได้บอกชื่อและหมายเลขโทรศัพท์ของบุคคลที่โทรศัพท์มาก็ตาม แต่นายศักดิ์ดาก็ได้ทําบันทึกชี้แจงข้อเท็จจริงต่อปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฉบับลงวันที่ 10 สิงหาคม 2563 กับไปให้ถ้อยคําต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2563 ตามเอกสารหมาย จ.24 และ จ.28 โดยระบุหมายเลขโทรศัพท์และตําแหน่งของผู้ที่ติดต่อมาเรียกเงินหรือของานแล้วซึ่งเป็นการระบุถึงข้อเท็จจริงที่สามารถเชื่อมโยงถึงตัวจําเลยได้แล้ว จึงนําไปสู่การตรวจสอบข้อมูลการใช้โทรศัพท์ระหว่างนายศักดิ์ดากับจําเลยตามเอกสารหมาย จ.25 ทั้งต่อมานายศักดิ์ดาก็ให้ถ้อยคํา เพิ่มเติมยืนยันข้อเท็จจริงว่าบุคคลที่โทรศัพท์มาเรียกเงินหรือของานคือจําเลย
@อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำเล่าเรื่องถูกขอด้วย 10 ล.
ส่วนที่นายศักดิ์ดาทํา บันทึกชี้แจงข้อเท็จจริงต่อปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และไปให้ถ้อยคําต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า นายศักดิ์ดาโทรศัพท์ไปเล่าให้นายภาดลฟังและถามว่า มีคนโทรมาหาและขอเงินหรือไม่ นายภาดลตอบว่า มี ขอผม 10,000,000 บาท แต่ผมไม่ยอม ซึ่งไม่ตรงกับที่นายภาดลได้ให้ถ้อยคําว่า จําเลยไม่ได้เรียกเงินจากนายภาดล นั้น
เห็นว่า นายภาดลให้ ถ้อยคําและเบิกความตรงกับคําเบิกความของนายศักดิ์ดาในสาระสําคัญว่า นายศักดิ์ดาเล่าเรื่องจําเลยโทรศัพท์มาเรียกเงินจากนายศักดิ์ดา ส่วนที่จําเลยจะเรียกเงินจากนายภาดลด้วยหรือไม่เป็นเรื่อง ระหว่างจําเลยกับนายภาดลซึ่งเป็นคนละส่วนกัน จึงไม่ใช่ข้อพิรุธอีกเช่นกัน
@ข้ออ้าง เพียงโทร.คุยขอแบบแปลนไม่ได้เรียกเงิน ไม่มีน้ำหนัก
ส่วนที่จําเลยเบิกความว่าจําเลยโทรศัพท์ไปขอแบบแปลนจากนายศักดิ์ดา โดยไม่ได้เรียกเงินหรือของานจากนายศักดิ์ดานั้น หากจําเลยพูดคุยในเรื่องขอแบบแปลนในห้องประชุมดังที่อ้าง จําเลยย่อมจะพูดได้อย่างเปิดเผยจึงน่าจะมี บุคคลอื่นได้ยินข้อความสนทนาได้บ้าง แต่นางนันทนาที่โทรศัพท์ติดต่อนายศักดิ์ดาหรือนายจักรัตน์ต่าง ก็ไม่ทราบว่าจําเลยพูดคุยกับนายศักดิ์ดาในเรื่องใด คําเบิกความของจําเลยจึงเลื่อนลอยไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง
ที่จําเลยอ้างว่าขณะที่จําเลยกําลังพูดคุยโทรศัพท์กับนายศักดิ์ดา นางนันทนามาขอโทรศัพท์จากจําเลยไปพูดคุยกับนายศักดิ์ดา โดยนางนันทนาเดินออกไปพูดคุยโทรศัพท์กับนายศักดิ์ดานอกห้องประชุมแล้วนําโทรศัพท์ซึ่งได้วางสายไปก่อนแล้วมาคืนจําเลยนั้น ข้อนี้ได้ความจากนางนันทนาเบิกความว่า นางนันทนาไม่ได้ขอโทรศัพท์จากจําเลยในขณะที่จําเลยกําลังพูดคุยอยู่กับนายศักดิ์ดา
@พยานไม่เล่าให้เพื่อนฟังกรณีถูกเรียกเงิน-ไม่ร้องทุกข์กล่าวโทษ ไม่ใช่ข้อพิรุธ
ที่จําเลยอ้างว่านายศักดิ์ดาไม่เล่าเหตุการณ์ให้พลตํารวจตรีวิวัฒน์และนายเต๋อฟังนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะจําเลย มีตําแหน่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องร้ายแรงและไม่เกี่ยวข้องกับบุคล ทั้งสอง การที่นายศักดิ์ดาไม่เล่าให้บุคคลทั้งสองฟังจึงไม่ใช่ข้อพิรุธ
และที่จําเลยอ้างว่า หลังเกิดเหตุ นายศักดิ์ดาไม่ร้องทุกข์กล่าวโทษดําเนินคดีแก่จําเลยนั้น ได้ความว่าหลังเกิดเหตุคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นและต่อมาได้แต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนเพื่อดําเนินการไต่สวนเรื่องนี้แล้ว นายศักดิ์ดาจึงไม่จําต้องไปร้องทุกข์กล่าวโทษจําเลยอีก ข้ออ้างของจําเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
@ อนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์
@พยานหลักฐานน้ำหนักมั่นคง ‘กระทําตามข้อกล่าวหาในฟ้องจริง’
จากเหตุผลที่วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น พยานหลักฐานที่ไต่สวนมามีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่า จําเลยได้ กระทําตามข้อกล่าวหาในฟ้องจริง พยานหลักฐานของจําเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้
@มีสถานะเสนอความเห็นปรับลดงบประมาณได้-โทร.ไปขอเงิน กระทำทุจริต
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า การกระทําของจําเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่
เห็นว่า จําเลยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ งบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 ใน คณะกรรมาธิการวิสามัญดังกล่าว จึงเป็นผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง และเจ้าพนักงานของรัฐตาม
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และ เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มีมติให้กําหนดกรอบแนว ทางการพิจารณาของคณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 ดังนี้
1. ขอบเขตอํานาจหน้าที่ในการพิจารณางบประมาณ
2. กรอบแนวทางในการพิจารณา
และ 3. หลักเกณฑ์การปรับลดงบประมาณ รายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จํานวน 9 ข้อ ตามเอกสารหมาย จ.19 หน้า 926 ถึง 932 จําเลยในฐานะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 ย่อมมีอํานาจหน้าที่เสนอความเห็นตามกรอบแนวทางการพิจารณา รวมถึงสามารถเสนอความเห็นในการปรับลดงบประมาณของหน่วยงานต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 เพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาลงมติเห็นชอบได้และ เสนอคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาต่อไป ดังนั้น จําเลยจึงสามารถซักถามและเสนอความเห็นต่อที่ประชุมได้ และมีสิทธิลงมติในทุกขั้นตอนของการพิจารณางบประมาณ โดยเฉพาะในฐานะ กรรมาธิการวิสามัญฯ จําเลยมีสิทธิชี้แจงเสนอความเห็นเกี่ยวกับงบประมาณต่อที่ประชุม หากจําเลยยังติดใจในงบประมาณส่วนใดก็มีสิทธิขอสงวนความเห็นเพื่ออภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรได้ด้วย
และข้อนี้นายสรเดช ธรรมสาร นิติกรชํานาญการ กลุ่มงานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปี สํานักกรรมาธิการ 1 สํานักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการในคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ และผู้ช่วยเลขานุการ ประจําคณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 เป็นพยานเบิกความว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ยังคงมีอํานาจพิจารณาปรับลดงบประมาณที่ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมาธิการมาแล้วหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้ หน่วยงานที่ถูกปรับลดงบประมาณสามารถยื่นอุทธรณ์ผลการพิจารณาของคณะ อนุกรรมาธิการต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ ซึ่งข้อเท็จจริงก็ฟังเป็นยุติว่า ท้ายที่สุดคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ได้พิจารณาปรับลดงบประมาณของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล 15,000,000 บาท ตามที่คณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 เสนอ ดังนี้
แม้จําเลยเพียงคนเดียวจะไม่มีอํานาจเด็ดขาดในการปรับลดงบประมาณของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลดังที่จําเลยอ้าง เพราะผลการพิจารณาต้องเป็นไปตามมติที่ประชุมก็ตาม แต่การเสนอความเห็นเกี่ยวกับงบประมาณในขั้นตอนต่าง ๆ ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นอํานาจหน้าที่ของจําเลยซึ่งจําเลยอาจเสนอความเห็นให้คุณหรือให้โทษแก่งบประมาณของหน่วยราชการที่พิจารณา การที่จําเลยโทรศัพท์ไปเรียกเงินและของานจากนายศักดิ์ดาในการพิจารณางบประมาณของ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ย่อมเป็นการกระทําในตําแหน่งและอยู่ในอํานาจหน้าที่ของจําเลยโดยตรง การกระทําของจําเลยดังกล่าวจึงเป็นการเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสําหรับ จําเลยโดยมิชอบ เพื่อกระทําการหรือไม่กระทําการอย่างใดในตําแหน่งของจําเลย ไม่ว่าการนั้นจะชอบ หรือมิชอบด้วยหน้าที่ และเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความ เสียหายแก่กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และราชการ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามฟ้อง อนึ่ง เมื่อการกระทําของจําเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 173 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ซึ่งเป็นบท เฉพาะแล้ว จึงไม่จําต้องปรับบทความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก
อนึ่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 81 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “...ในกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่ง ทางการเมืองมีคําพิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหากระทําความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ให้ผู้ต้องคําพิพากษานั้น พ้นจากตําแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น และจะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกําหนดเวลาไม่เกินสิบปีด้วยหรือไม่ก็ได้” และวรรคสอง บัญญัติว่า “ผู้ใดถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไม่ว่าในกรณีใด ผู้นั้นไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไป และไม่มีสิทธิดํารงตําแหน่งทางการเมืองใด ๆ”
เห็นว่า ตามบทบัญญัติดังกล่าว ในกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองมีคําพิพากษาว่า จําเลยกระทําความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ย่อมมีผลให้จําเลยพ้นจากตําแหน่งนับแต่วันที่ 19 เมษายน 2565 อันเป็นวันที่ศาลมีคําสั่งให้จําเลยหยุดปฏิบัติหน้าที่ในคดีนี้ และต้องถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดไป โดยไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือ ผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไป และไม่มีสิทธิดํารงตําแหน่งทางการเมืองใด ๆ กับให้ศาลมีอํานาจสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกําหนดเวลาไม่เกินสิบปีด้วยหรือไม่ก็ได้ แต่เนื่องจากในคดีหมายเลขแดงที่ คมจ. 1/2566 ของศาลฎีกา ศาลฎีกามีคําสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้าน (จําเลยคดีนี้) มีกําหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ 6 มกราคม 2566 อันเป็นวันที่ศาลฎีกามีคําพิพากษาในคดีดังกล่าว ซึ่งการกระทําในคดีดังกล่าวเป็นการกระทําเดียวกันกับคดีนี้ จึงเห็นสมควรไม่สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจําเลยในคดีนี้อีก
@ ลงโทษหนักจำคุก 6 ปี - ห้ามเป็นนักการเมืองตลอดชีวิต
พิพากษาว่า จําเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 173 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 การกระทําของจําเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 องค์คณะ ผู้พิพากษามีมติเสียงข้างมาก ลงโทษจําคุก 6 ปี กับให้จําเลยพ้นจากตําแหน่งนับแต่วันที่ 19 เมษายน 2565 อันเป็นวันที่ศาลมีคําสั่งให้จําเลยหยุดปฏิบัติหน้าที่ในคดีนี้ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของจําเลยตลอดไป โดยไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไป และไม่มีสิทธิดํารงตําแหน่งทางการเมืองใด ๆ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 81 วรรคหนึ่งและวรรคสอง (คดีหมายเลขแดงที่ อม. 8/2566 วันที่ 25 เม.ย.2566)
ข่าวประกอบ :
- เผยมติ ป.ป.ช.ชี้มูล 'ส.ส.อนุรักษ์' ไม่เอกฉันท์ 7 ต่อ 2 ขาดเสียงสนทนา-เส้นทางเงินมัด
- 'ส.ส.อนุรักษ์' โต้ ป.ป.ช. ชี้มูลคดีตบทรัพย์ 5 ล. เผยขอแปลน 5 รอบแล้วแต่ไม่ให้
- สั่ง‘อนุรักษ์'หยุดปฏิบัติหน้าที่ ศาลฎีการับคำร้องคดีฝ่าฝืนจริยธรรม ปมเรียกรับเงิน 5 ล.
- เรียกค่าเสียหาย 50 ล.! เลขาฯ ป.ป.ช.โดน อนุรักษ์ ฟ้องกลับปมแถลงคดีเงิน 5 ล.-ยันทำตาม กม.
- ศาลฎีกาพิพากษา 'อนุรักษ์' พ้น ส.ส.เพื่อไทย เรียกเงินอธิบดีกรมน้ำบาดาล 5 ล.
- ฉบับเต็ม! คำพิพากษา 'อนุรักษ์' พ้น ส.ส.-เพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง 10 ปี คดีเรียกเงิน 5 ล.
- วางหลักทรัพย์ 1ล.ได้ประกันตัว! 'อนุรักษ์' ยันไม่เคยเรียกเงิน อธิบดีโทรหาก่อน-ขออุทธรณ์สู้
- ขอเอกสารไม่น่าโทรฯนาน! เปิดคำพิพากษาคุก 6 ปี 'อนุรักษ์' อดีตส.ส.เพื่อไทย เรียกเงิน 5 ล.