"...เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งผู้คัดค้านยอมรับว่าโทรศัพท์หานายศักดิ์ดาและนายภาดลจริง เพียงแต่ปฏิเสธว่าไม่ได้เรียกรับเงินแล้วจะเห็นได้ว่าการโทรศัพท์ติดต่อระหว่างผู้คัดค้านกับนายศักดิ์ดาและนายภาดลเกิดขึ้นใน ระยะเวลาต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน..."
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2566 ศาลฎีกา มีคำพิพากษาให้ นายอนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ พ้นตำแหน่ง ส.ส.มุกดาหาร พรรคเพื่อไทย เหตุฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง จากกรณีการเรียกรับเงินจำนวน 5 ล้านบาท จากนายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เพื่อแลกกับการผ่านงบประมาณ โดยให้พ้นจาก ตำแหน่ง ส.ส.มุกดาหาร พรรคเพื่อไทย นับตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 2564 ซึ่งเป็นวันที่ศาลฎีกามีคำสั่งให้หยุดปฎิบัติหน้าที่ ให้เพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งตลอดไป และไม่มีสิทธิ์ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ และเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาและแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบต่อไป
ต่อไปนี้ เป็นรายละเอียดคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ปรากฎอยู่ในเอกสารประชาสัมพันธ์ข่าวศาลฎีกา
ระบุว่า เวลา 10.30 นาฬิกา ศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ คมจ. 4/2564 คดี หมายเลขแดงที่ 1/2566 ระหว่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้ร้อง นายอนุรักษ์ ตั้ง ปณิธานนท์ ผู้คัดค้าน เรื่อง การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
คดีนี้ สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2564 ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าผู้คัดค้านในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 ในคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ กระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ ตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 7, 8, 9 ประกอบข้อ 27 ขอให้ศาลฎีกามีคำพิพากษาหรือคำสั่งว่า ผู้คัดค้านฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้ผู้คัดค้านหยุดปฏิบัติหน้าที่นับแต่วันที่ศาลฎีการับคำร้อง จนกว่าจะมีคำพิพากษา ให้พ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้านมีกำหนดเวลาไม่เกิน 10 ปี ต่อมาวันที่ 15 ธ.ค 2564 ศาลฎีกามีคำสั่งให้รับคำร้อง ของผู้ร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และให้ผู้คัดค้านหยุดปฏิบัติหน้าที่
ผู้คัดค้านให้การปฏิเสธ
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า การสอบสวนของผู้ร้องชอบหรือไม่ องค์คณะผู้พิพากษาเห็นว่า คณะกรรมการไต่สวนมีดุลพินิจที่จะพิจารณาว่าพยานหลักฐานใดน่าจะพิสูจน์ได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหามีความผิดหรือบริสุทธิ์และสมควรนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานในสำนวนการไต่สวนของตนเพื่อวินิจฉัย ชี้มูลความผิดแก่ผู้ถูกกล่าวหา ทั้งกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาประสงค์จะให้เรียกพยานหลักฐานใด กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องมิได้กำหนดให้คณะกรรมการไต่สวนจะต้องเรียกพยานหลักฐานนั้นทุกกรณี
หากแต่เป็นดุลพินิจของ คณะกรรมการไต่สวน ถ้าเห็นว่าเป็นกรณีจงใจประวิงเวลา ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต หรือพยานหลักฐานนั้นไม่มีผลต่อ การวินิจฉัยก็สามารถปฏิเสธได้ เพียงแต่ต้องบันทึกเหตุนั้นไว้ในสำนวน
ซึ่งปรากฎตามสำนวนของผู้ร้องว่า คณะกรรมการไต่สวนปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบดังกล่าวแล้ว เมื่อการแสวงหาพยานหลักฐานมาประกอบใน การดำเนินคดีเป็นดุลพินิจของคณะกรรมการไต่สวน กับทั้งในการไต่สวนของศาล ผู้คัดค้านมีสิทธิอ้างและขอนำ พยานหลักฐานต่าง ๆ มานำสืบเพื่อแก้ข้อกล่าวหาในประเด็นที่ถูกกล่าวหาได้
โดยข้อเท็จจริงจากการไต่สวน ไม่ปรากฎพฤติการณ์อันแสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการไต่สวนปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบดังที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้าง การไต่สวนของผู้ร้องชอบแล้ว
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า ผู้คัดค้านกระทำการอันถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ถือ ผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อ ตนเองหรือผู้อื่น ขอ เรียก รับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดในประการที่อาจทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติ หน้าที่ อันถือว่ามีลักษณะร้ายแรงตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งใน องค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 7, 8, 9 ประกอบข้อ 27 วรรคหนึ่ง หรือไม่
เห็นว่า ผู้ร้องมีนายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลซึ่งเป็นประจักษ์พยาน นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ นายสุรินทร์ วรกิจธำรง รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และนางนันทนา สงฆ์ประชา อนุกรรมาธิการและเลขานุการของ คณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 มาเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงต้องกันในสาระสำคัญ ว่าเมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2563 เวลาประมาณ 19 นาฬิกา ผู้คัดค้านให้นางนันทน โทรศัพท์หานายศักดิ์ดา อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และนายภาดล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ
ซึ่งมีกำหนดเข้าชี้แจงงบประมาณในวันรุ่งขึ้นให้โทรศัพท์หาผู้คัดค้าน และในช่วงเวลาประมาณ 19 ถึง 20 นาฬิกา ผู้คัดค้านพูดคุยโทรศัพท์กับนายศักดิ์ดาและนายภาดลหลายครั้ง เรียกเงินหรือขอผลประโยชน์จากโครงการในการจัดทำคำของบประมาณ
เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งผู้คัดค้านยอมรับว่าโทรศัพท์หานายศักดิ์ดาและนายภาดลจริง เพียงแต่ปฏิเสธว่าไม่ได้เรียกรับเงินแล้วจะเห็นได้ว่าการโทรศัพท์ติดต่อระหว่างผู้คัดค้านกับนายศักดิ์ดาและนายภาดลเกิดขึ้นใน ระยะเวลาต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน
นอกจากนี้ ผู้ร้องยังมีพยานบุคคลแวดล้อมอื่นมาเบิกความยืนยันสนับสนุน ชี้ให้เห็นถึงพฤติการณ์ตามคำร้อง สนับสนุนคำเบิกความของประจักษ์พยานให้มีน้ำหนัก โดยพยานผู้ร้องต่างเป็นข้าราชการ ชั้นผู้ใหญ่หรือมีตำแหน่งหน้าที่ระดับสูง การเข้าชี้แจงงบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็นการปฏิบัติราชการตามอำนาจหน้าที่ ข้อที่กล่าวหาผู้คัดค้านเป็นเรื่องที่ร้ายแรง และเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีอาญาหากไม่เป็นความจริง
ส่วนที่ผู้คัดค้านอ้างว่าไม่ได้โทรศัพท์เรียกเงินจากนายศักดิ์ดา เพียงแต่ขอให้เตรียมแบบแปลนและประมาณราคามาเพื่อ พิจารณาในวันรุ่งขึ้นตามหน้าที่นั้น คงมีผู้คัดค้านเบิกความเพียงลำพัง ทั้งยังขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการไต่สวนพยานบุคคลอื่น และแนวปฏิบัติของคณะกรรมาธิการหรืออนุกรรมาธิการที่ชอบจะแจ้งให้ฝ่ายเลขานุการ การประชุมดำเนินการแทน โดยไม่จำเป็นจะต้องโทรศัพท์ติดตามเอกสารด้วยตนเอง อันจะเป็นเหตุให้ผู้ซึ่งมีหน้าที่ต้องชี้แจงทราบล่วงหน้าและเป็นช่องทางให้เกิดการสมรู้เพื่อให้มีการผ่านการพิจารณางบประมาณได้
ส่วนที่ต่อสู้ว่า นายศักดิ์ดามีสาเหตุโกรธเคืองมาก่อนนั้น แม้จะมีพยานบุคคลมาเบิกความตรงกับที่ผู้คัดค้านให้การไว้ในชั้นไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ตาม แต่ผู้คัดค้านไม่ได้ยกเหตุดังกล่าวขึ้นทันทีที่มีโอกาสกลับปล่อยเวลาให้เนิ่นนานออกไป ทั้งเหตุที่อ้างก็ไม่ใช่สาเหตุส่วนตัวอันร้ายแรงถึงขนาดต้องปั้นแต่งเรื่องขึ้น
จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง และที่ต่อสู้ว่าอนุกรรมาธิการไม่มีอำนาจปรับลดงบประมาณนั้น แม้คณะอนุกรรมาธิการจะไม่มีอำนาจในการพิจารณา ปรับลดงบประมาณโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ก็มีอำนาจทำรายงานเสนอความเห็นต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เพื่อให้ความเห็นชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คัดค้านเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เองด้วยย่อมมีอำนาจ แสดงความคิดเห็นสนับสนุนรายงานที่คณะอนุกรรมาธิการฯ จัดทำขึ้น ซึ่งอาจให้คุณและให้โทษแก่หน่วยงานที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณได้
ข้อต่อสู้ของผู้คัดค้านจึงฟังไม่ขึ้น
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้คัดค้านในฐานะอนุกรรมาธิการฯ โทรศัพท์หาอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลซึ่งมีกำหนดเข้าชี้แจงงบประมาณในวันรุ่งขึ้น เพื่อเรียก เงินหรือขอผลประโยชน์จากโครงการในการจัดทำคำของบประมาณ โดยอาศัยที่ตนมีอำนาจหน้าที่เสนอปรับลดงบประมาณ อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
พิพากษาว่า ผู้คัดค้านผ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 235 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการ ของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 7, 8, 9 ประกอบข้อ 27 วรรคหนึ่ง ให้ผู้คัดค้านพ้นจาก ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมุกดาหาร นับแต่วันที่ 15 ธ.ค. 2564 อันเป็นวันที่ศาลฎีกามีคำสั่งให้ ผู้คัดค้านหยุดปฏิบัติหน้าที่ ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านตลอดไปและไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทาง การเมืองใดๆ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้านมีกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 235 วรรคสามและวรรคสี่ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 87 ประกอบมาตรา 81.