"...เมื่อพิจารณาระยะเวลาที่จำเลยโทรศัพท์พูดคุยกับนายศักดิ์ดาประมาณ 15 นาที หากเพียงแค่ขอเอกสารไม่น่าจะต้องใช้เวลานานมากเพียงนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวยังเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับบุคคลหลายคน จึงไม่น่าเป็นไปได้ที่นายศักดิ์ดาจะคิดวางแผนสร้างเรื่องไปบอกพยานทั้งสามว่าจำเลยเรียกเงินและของาน..."
"จำคุก 6 ปี ให้จำเลยพ้นจากตำแหน่งตั้งแต่ 19 เม.ย. 2565 ซึ่งเป็นวันที่ศาลมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ เพิกถอนสิทธิ์รับสมัครเลือกตั้งและเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไป และไม่มีสิทธิ์ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ"
คือ บทสรุปคำพิพากษาตัดสินของ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2566 ในคดีหมายเลขดำที่ อม. 4/2565 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 8/2566 ระหว่างอัยการสูงสุด โจทก์ นายอนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ ส.ส.มุกดาหาร พรรคเพื่อไทย จำเลย กรณีเรียกรับเงินจำนวน 5 ล้านบาท จากอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลแลกกับการผ่านงบประมาณ
ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
ต่อไปนี้ เป็นรายละเอียดคำพิพากษาตัดสินคดีนี้ ของ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่มีการเผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นทางการ
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ระบุว่า คดีนี้เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 โจทก์ยื่นฟ้องว่า ขณะเกิดเหตุ จำเลย (นายอนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์) ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 ในคณะกรรมาธิการวิสามัญดังกล่าว
วันที่ 4 สิงหาคม 2563 จำเลยได้เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากนายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 5,000,000 บาท เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งของจำเลย ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ และเป็นการปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172, 173 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149, 157
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลเริ่มไต่สวนนัดแรกวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เห็นว่า การไต่สวนรวบรวมพยานหลักฐานเป็นดุลพินิจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
คดีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนเพื่อดำเนินการไต่สวนและแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยทราบแล้ว
จำเลยไม่ได้ร้องขอให้คณะกรรมการไต่สวนหมายเรียกเอกสารจากกรมกรัพยากรน้ำบาดาลมาเป็นพยานหลักฐานของคณะกรรมการไต่สวนโดยตรง เพียงแต่ขอให้ติดตามเร่งรัดให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจัดส่งเอกสารให้จำเลยเพื่อนำมาประกอบการทำคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของจำเลยเท่านั้น
เมื่อขณะนั้นจำเลยยังไม่ได้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา จึงไม่มีประเด็นตามคำชี้แจงของจำเลยที่คณะกรรมการไต่สวนจะต้องพิจารณาเรียกเอกสารมา
การที่คณะกรรมการไต่สวนใช้ดุลพินิจไม่ดำเนินการติดตามเร่งรัดเอกสารตามที่จำเลยร้องขอในกรณีเช่นนี้ถือไม่ได้ว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ส่วนที่คณะกรรมการไต่สวนไม่เรียกพยานบุคคล 3 ปาก มาไต่สวนตามที่จำเลยร้องขอนั้น คณะกรรมการไต่สวนได้บันทึกเหตุผลไว้ในรายงานการไต่สวนตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว และมีการไต่สวนพยานบุคคลมากถึง 17 ปาก มิได้ไต่สวนข้อเท็จจริงอย่างรวบรัด
ทั้งอนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาหลายครั้ง
จนกระทั่งจำเลยได้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาพร้อมเอกสารแล้ว อันเป็นการให้โอกาสจำเลยชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาอย่างเต็มที่
หลังจากนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติชี้มูล
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มิได้เร่งรีบสรุปสำนวนตามที่จำเลยอ้าง การไต่สวนคดีนี้ในชั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงชอบด้วยกฎหมาย
องค์คณะผู้พิพากษา มีมติเสียงข้างมากเห็นว่า โจทก์มีนายศักดิ์ดาเป็นประจักษ์พยานที่รู้เห็นเรื่องที่จำเลยโทรศัพท์มาพูดเรียกเงินและของานจากนายศักดิ์ดา
แต่จำเลยเบิกความปฏิเสธ
คำเบิกความของนายศักดิ์ดาและคำเบิกความของจำเลยมีลักษณะโต้แย้งยันกันอยู่ จึงต้องพิจารณาพยานพฤติเหตุแวดล้อมประกอบกัน
จำเลยไม่ได้ซักถามเรื่องงบประมาณของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลในฐานะอนุกรรมาธิการตามปกติทั่วไป
จำเลยเป็นรองประธานคณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 คนที่หนึ่ง หากจำเลยต้องการเอกสารแบบแปลนและประมาณราคาก็สามารถมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการของคณะอนุกรรมาธิการดำเนินการให้ได้ ไม่มีความจำเป็นต้องโทรศัพท์ติดต่อกับนายศักดิ์ดาด้วยตนเองโดยไม่มีบุคคลอื่นได้ยิน
ข้อความสนทนา ทั้งถ้อยคำที่จำเลยพูดคุยกับนายศักดิ์ดายังเกี่ยวพันไปถึงการขอเข้าเป็นผู้รับจ้างงานก่อสร้างของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลอันเป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลย
@ ศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์
หลังเกิดเหตุนายศักดิ์ดาเล่าให้นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ และนายสุรินทร์ วรกิจธำรง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาน้ำบาดาลฟังในคืนเกิดเหตุทันที และวันรุ่งขึ้นได้เล่าให้นายนริศ ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฟังด้วย
เมื่อพิจารณาระยะเวลาที่จำเลยโทรศัพท์พูดคุยกับนายศักดิ์ดาประมาณ 15 นาที หากเพียงแค่ขอเอกสารไม่น่าจะต้องใช้เวลานานมากเพียงนี้
เหตุการณ์ดังกล่าวยังเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับบุคคลหลายคนจึงไม่น่าเป็นไปได้ที่นายศักดิ์ดาจะคิดวางแผนสร้างเรื่องไปบอกพยานทั้งสามว่าจำเลยเรียกเงินและของาน
ทั้งยังปรากฎว่านางนันทนา สงฆ์ประชา เลขานุการคณะอนุกรรมาธิการแผนงาน บูรณาการ 2 ติดต่อกับนายศักดิ์ดาให้โทรศัพท์ไปหาจำเลยก่อน
พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นไม่อยู่ในวิสัยที่นายศักดิ์ดาจะวางแผนให้จำเลยเป็นฝ่ายเริ่มติดต่อมาก่อน
ยิ่งกว่านั้นในวันรุ่งขึ้น นายศักดิ์ดาได้พูดในที่ประชุมว่า เมื่อคืนนี้มีอนุกรรมาธิการคนหนึ่งโทรไปหาผม ตบทรัพย์ผม 5,000,000 บาท ซึ่งมีลักษณะเป็นการพูดโต้ตอบด้วยความอัดอั้นกดดันจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคืนเกิดเหตุ โดยยังไม่ระบุชื่อจำเลยว่าเป็นผู้เรียกเงินหรือของาน
หากจำเลยไม่โทรศัพท์เรียกเงินและของาน ก็ไม่มีเหตุที่นายศักดิ์ดาจะต้องพูดเรื่องร้ายแรงเช่นนี้ในที่ประชุม
หลังจากนั้นในช่วงบ่ายจำเลยก็ไม่เข้าประชุมอีก
จำเลยยังโทรศัพท์ไปพูดกับนายภาดล ซึ่งเป็นการกระทำในลักษณะเดียวกับที่จำเลยพูดกับนายศักดิ์ดา
ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน นายศักดิ์ดาและนายภาดลต่างดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมที่ต้องไปชี้แจงเกี่ยวกับงบประมาณต่อคณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 ที่มีจำเลยเป็นรองประธานในวันรุ่งขึ้น
พฤติการณ์บ่งชี้ว่า จำเลยโทรศัพท์ไปเจรจาต่อรองผลประโยชน์จากโครงการที่ จำเลยกำลังมีส่วนในการพิจารณางบประมาณดังที่นายศักดิ์ดาและนายภาดลเบิกความ คำเบิกความของนายศักดิ์ดาจึงมีเหตุผลและสอดคล้องเชื่อมโยงกับพยานอื่นทำให้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ
พยานหลักฐานที่ไต่สวนมามีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่า จำเลยได้ กระทำตามข้อกล่าวหาในฟ้องจริง
จำเลยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และอนุกรรมาธิการแผ่นงานบูรณาการ 2 ในคณะกรรมาธิการวิสามัญดังกล่าว จึงเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าพนักงานของรัฐตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ กำหนดกรอบแนวทางการพิจารณาของคณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2
จำเลยในฐานะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 ย่อมมีอำนาจหน้าที่เสนอความเห็นตามกรอบแนวทางการพิจารณา รวมถึงสามารถเสนอความเห็นในการปรับลดงบประมาณของหน่วยงานต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 เพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาลงมติเห็นชอบและเสนอคณะกรรมาธิกรวิสามัญฯ พิจารณาต่อไป
แม้จำเลยเพียงคนเดียวจะไม่มีอำนาจเด็ดขาดในการปรับลดงบประมาณของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลดังที่จำเลยอ้าง เพราะผลการพิจารณาต้องเป็นไปตามมติที่ประชุมก็ตาม
แต่การเสนอความเห็นเกี่ยวกับงบประมาณในขั้นตอนต่าง ๆ ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของจำเลย ซึ่งจำเลยอาจเสนอความเห็นให้คุณหรือให้โทษแก่งบประมาณของหน่วยราชการที่พิจารณา
การที่จำเลยโทรศัพท์ไปเรียกเงินและของานจากนายศักดิ์ดาในการพิจารณางบประมาณของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ย่อมเป็นการกระทำในตำแหน่งและอยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยโดยตรง
การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับจำเลยโดยมิชอบเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งของจำเลย ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่และเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และราชการ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามฟ้อง
อนึ่ง เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 173 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว
จึงไม่จำต้องปรับบทความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก
จำเลยกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ย่อมมีผลให้จำเลยพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และต้องถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดไป โดยไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 81 วรรคหนึ่งและวรรคสอง กับให้ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกินสิบปีด้วยหรือไม่ก็ได้
แต่เนื่องจากในคดีหมายเลขแดงที่ คมจ. 1/2566 ของศาลฎีกา ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้าน (จำเลยคดีนี้) มีกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ 6 มกราคม 2566 อันเป็นวันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีดังกล่าว ซึ่งการกระทำในคดีดังกล่าวเป็นการกระทำเดียวกันกับคดีนี้ จึงเห็นสมควรไม่สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยในคดีนี้อีก
@ อนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 173 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90
องค์คณะผู้พิพากษามีมติเสียงข้างมาก ลงโทษจำคุก 6 ปี กับให้จำเลยพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่ 14 เมษายน 2565 อันเป็นวันที่ศาลมีคำสั่งให้จำเลยหยุดปฏิบัติหน้าที่ในคดีนี้ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของจำเลยตลอดไป โดยไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ
ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 81 วรรคหนึ่งและวรรคสอง.
**************
อย่างไรก็ดี คดีนี้ยังไม่สิ้นสุด มีรายงานข่าวว่า นายอนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ จะขออุทธรณ์เพื่อต่อสู้คดีพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองต่อ
ข่าวประกอบ :
- เผยมติ ป.ป.ช.ชี้มูล 'ส.ส.อนุรักษ์' ไม่เอกฉันท์ 7 ต่อ 2 ขาดเสียงสนทนา-เส้นทางเงินมัด
- 'ส.ส.อนุรักษ์' โต้ ป.ป.ช. ชี้มูลคดีตบทรัพย์ 5 ล. เผยขอแปลน 5 รอบแล้วแต่ไม่ให้
- สั่ง‘อนุรักษ์'หยุดปฏิบัติหน้าที่ ศาลฎีการับคำร้องคดีฝ่าฝืนจริยธรรม ปมเรียกรับเงิน 5 ล.
- เรียกค่าเสียหาย 50 ล.! เลขาฯ ป.ป.ช.โดน อนุรักษ์ ฟ้องกลับปมแถลงคดีเงิน 5 ล.-ยันทำตาม กม.
- ศาลฎีกาพิพากษา 'อนุรักษ์' พ้น ส.ส.เพื่อไทย เรียกเงินอธิบดีกรมน้ำบาดาล 5 ล.
- ฉบับเต็ม! คำพิพากษา 'อนุรักษ์' พ้น ส.ส.-เพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง 10 ปี คดีเรียกเงิน 5 ล.
- วางหลักทรัพย์ 1ล.ได้ประกันตัว! 'อนุรักษ์' ยันไม่เคยเรียกเงิน อธิบดีโทรหาก่อน-ขออุทธรณ์สู้