“…เมื่อพิจารณาแนวโน้มงบประมาณค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2555-2564 พบว่างบประมาณเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญมีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นมากทุกปี โดยเฉลี่ยร้อยละ 10.82 ต่อปี…และจากการประมาณการเบื้องต้น พบว่างบประมาณเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญมีแนวโน้มจะสูงกว่างบบุคลากรภายในปีงบประมาณ พ.ศ.2572…”
...........................................
สืบเนื่องจากเมื่อเดือน มิ.ย.2565 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบ ‘รายงานสรุปภาพรวมการบริหารกำลังคนของส่วนราชการในฝ่ายพลเรือนและแนวโน้มค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร’ และเห็นชอบข้อเสนอแนะการบริหารอัตรากำลังภาคราชการ นั้น (อ่านประกอบ : รัฐขยับแผนลดคน! ก.พ.ฟันธง 10 ปี งบ'บำนาญ'แซง'เงินเดือน' ยุค'บิ๊กตู่'เพิ่มขรก. 6 หมื่น)
ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา ครม. มีมติเห็นชอบ ‘มาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ พ.ศ.2566-2570’ ตามที่ คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) เสนอ โดยมีเป้าหมายในการ 'ตรึงกำลังคน' ของภาครัฐให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และเนื่องด้วยในวันที่ 1 เม.ย.นี้ เป็นวันข้าราชการพลเรือน สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอรายละเอียดมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐฯฉบับดังกล่าว สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
@ประเมินปี 72‘งบบำนาญ’สูงกว่า‘งบบุคลากร’คาดเกิน 6 แสนล้าน
ภาพรวมและแนวโน้มกำลังคนภาครัฐในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ สถิติประชากรในประเทศ ปี พ.ศ.2564 เมื่อพิจารณาสัดส่วนกำลังคนที่เป็นแรงงานในภาพรวม เทียบกับจำนวนประชากรที่มีอยู่ในประเทศจำนวน 66.17 ล้านคน พบว่า ประเทศไทยมีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานหรือผู้ที่พร้อมจะทำงานจำนวน 38.63 ล้านคน
โดยเป็นการจ้างงานในส่วนของกำลังคนภาครัฐ จำนวน 3 ล้านคน ประกอบด้วย ข้าราชการ จำนวน 1.75 ล้านคน และประเภทอื่นที่ไม่ใช่ข้าราชการ (พนักงานจ้าง พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว พนักงานมหาวิทยาลัย พนักงานกระทรวงสาธารณสุขพนักงานรัฐวิสาหกิจ และพนักงานองค์การมหาชน) จำนวน 1.24 ล้านคน
ข้อมูลภาพรวมงบประมาณค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐและแนวโน้มในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
จากข้อมูลสถิติการคลัง ได้มีการรายงานผลการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 รวมทั้งสิ้น 3,012,143.4 ล้านบาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ จำนวน 1,096,272.5 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 36.4 ของรายจ่ายประจำปี โดยจำแนกตามงบรายจ่าย ดังนี้
-งบบุคลากร จำนวน 632,217.8 ล้านบาท โดยมีงบรายจ่ายประจำปีสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เงินเดือน จำนวน 567,030.4 ล้านบาท รองลงมา ค่าตอบแทนพนักงานราชการ จำนวน 39,116.7 ล้านบาท และค่าจ้างประจำ จำนวน 23,855.2 ล้านบาท
-งบกลาง จำนวน 464,054.6 ล้านบาท โดยมีงบรายจ่ายสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญ จำนวน 308,911.6 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ จำนวน 79,725.2 ล้านบาท และเงินสำรอง เงินสมทบและเงินชดเชยของข้าราชการ จำนวน 69,822.2 ล้านบาท
ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ (งบบุคลากร) ปีงบประมาณ พ.ศ.2564 จำแนกตามระดับกระทรวงและระดับกรม ดังนี้
1.หน่วยงานระดับกระทรวง ที่มีการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐสูงสุด 5 อันดับแรกของงบบุคลากร คือ กระทรวงศึกษาธิการ ร้อยละ 34.9 (จำนวน 220,386.0 ล้านบาท) รองลงมา ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข ร้อยละ 17.7 (จำนวน 111,605.5 ล้านบาท) กระทรวงกลาโหมร้อยละ 14.4 (จำนวน 91,177.3 ล้านบาท)
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร้อยละ 3.9 (จำนวน 24,453.6 ล้านบาท) และกระทรวงมหาดไทย ร้อยละ 3.2 (จำนวน 20,000 ล้านบาท)
2.หน่วยงานระดับกรม (รวมหน่วยงานสังกัดกระทรวง และไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี) ที่มีค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐสูงสุด 5 อันดับแรกของงบบุคลากร คือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาชั้นพื้นฐาน ร้อยละ 32.1 (จำนวน 202,783.8 ล้านบาท)
รองลงมา ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร้อยละ 15.7 (จำนวน 99,069 ล้านบาท) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร้อยละ 13.0 (จำนวน 82,089.2 ล้านบาท) กองทัพบก ร้อยละ 8.0 (จำนวน 50,029.6 ล้านบาท) และกองทัพเรือ ร้อยละ 2.9 (จำนวน 18,389.4 ล้านบาท)
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาแนวโน้มงบประมาณค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2555-2564 พบว่างบประมาณเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญมีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นมากทุกปี โดยเฉลี่ยร้อยละ 10.82 ต่อปี
ในขณะที่งบบุคลากร (เงินเดือน ค่าจ้างประจำ ค่าจ้างชั่วคราว และค่าตอบแทนพนักงานราชการ) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเพียงเล็กน้อยเฉลี่ยร้อยละ 1.73 ต่อปี และจากการประมาณการเบื้องต้น พบว่างบประมาณเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญมีแนวโน้มจะสูงกว่างบบุคลากรภายในปีงบประมาณ พ.ศ.2572 (ปีงบ 2564 งบบุคลากร มีจำนวน 632,217.8 ล้านบาท)
@ช่วงโควิด ‘ส่วนราชการ’ ส่งคำขอเพิ่มอัตรากำลังเป็นจำนวนมาก
ผลการดำเนินการตามมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ (พ.ศ.2562-2565)
1.ผลการจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการและลูกจ้างประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562-2564
จากข้อมูลผลการดำเนินการตามมาตรการฯ ในช่วงระหว่างปีงบประมาณพ.ศ.2562-2564 อ.ก.พ. กระทรวง อ.ก.พ. กรม ปฏิบัติหน้าที่ อ.ก.พ. กระทรวงของส่วนราชการต่างๆ คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ได้พิจารณาจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการตามมาตรการฯ โดยมีผลการดำเนินการในภาพรวมเมื่อสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ.2564 (ข้อมูล ณ วันที่ 20 ม.ค.2566) ดังนี้
(1) ข้าราชการพลเรือนสามัญ
มีอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการพลเรือนสามัญรวมทั้งสิ้น 26,781 อัตรา ซึ่ง อ.ก.พ. กระทรวง ได้พิจารณาจัดสรรคืนให้ส่วนราชการเดิมทันทีจำนวน 19,121 อัตรา คิดเป็นร้อยละ 71.40 ทดแทนด้วยการจ้างงานรูปแบบอื่น จำนวน 2,439 อัตรา คิดเป็นร้อยละ 9.10 และจัดสรรคืนให้ส่วนราชการเดิมหรือเกลี่ยให้ส่วนราชการอื่นในสังกัดกระทรวงจำนวน 5,221 อัตรา คิดเป็นร้อยละ 19.50
(2) ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
มีอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งสิ้น 69,134 อัตรา ซึ่งคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ดำเนินการจัดสรรอัตราว่างคืนให้ส่วนราชการ จำนวน 69,019 อัตรา คิดเป็นร้อยละ 99.83 และทดแทนด้วยการจ้างงานรูปแบบอื่น จำนวน 115 อัตรา คิดเป็นร้อยละ 9.60 จากจำนวนผลการเกษียณอายุของตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2)
(3) ข้าราชการตำรวจ
มีอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการตำรวจ รวมทั้งสิ้น 17,696 อัตรา โดยเป็นชั้นสัญญาบัตร จำนวน 3,854 อัตรา คิดเป็นร้อยละ 21.78 และชั้นประทวน จำนวน 13,842 อัตรา คิดเป็นร้อยละ 78.22 ซึ่งคณะกรรมการข้าราชการตำรวจได้ดำเนินการจัดสรรอัตราว่างตามเงื่อนไขคืนให้ส่วนราชการทั้งหมด
(4) ลูกจ้างประจำ
มีอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุหรือว่างโดยเหตุอื่นในระหว่างปีของลูกจ้างประจำ รวมทั้งสิ้น 22,794 อัตรา ซึ่งเป็นอัตราที่ต้องยุบเลิกทั้งหมด
2.ผลการจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ ปีงบประมาณ พ.ศ.2562-2565
แม้ว่า คปร. ได้กำหนดมาตรการปรับขนาดกำลังคนภาครัฐเพื่อให้มีกำลังคนที่เหมาะสมกับบทบาทภารกิจของส่วนราชการมาอย่างต่อเนื่อง และมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ (พ.ศ.2562-2565) ในปัจจุบันกำหนดไม่ให้มีการเพิ่มอัตราตั้งใหม่ในภาพรวมสำหรับข้าราชการทุกประเภท ยกเว้นกรณีจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้
และให้ยุบเลิกอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการและทดแทนด้วยการจ้างงานรูปแบบอื่นตามสัดส่วนที่ คปร. กำหนดเพื่อลดขนาดกำลังคนภาครัฐและค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรในระยะยาว ซึ่งสามารถยุบเลิกอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุได้โดยเฉลี่ยปีละประมาณ 797 ตำแหน่ง
แต่ในช่วงเดียวกันส่วนราชการได้มีคำขอเพิ่มอัตรากำลังเป็นจำนวนมาก ทั้งอัตรากำลังข้าราชการและพนักงานราชการ โดยมีเหตุผลความจำเป็นเพื่อรองรับภารกิจสำคัญเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาล อาทิ ภารกิจเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ภารกิจด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัย และความสงบเรียบร้อยของประเทศ
รวมถึงภารกิจของส่วนราชการตั้งใหม่ เช่น สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เป็นต้น โดยในระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ.2562-2565 ซึ่งมาตรการฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ได้มีการอนุมัติอัตราข้าราชการตั้งใหม่ให้กับส่วนราชการ จำนวน 27 แห่ง รวมทั้งสิ้น 60,921 อัตรา (ข้อมูล ณ วันที่ 1 ก.ย.2565)
3.การบริหารจัดการอัตราว่างของส่วนราชการ
จากการสำรวจข้อมูลอัตราว่างข้าราชการของส่วนราชการที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ คปร. ณ เดือน พ.ค.2565 จำนวนทั้งสิ้น 155 ส่วนราชการ พบว่ามีจำนวนอัตราว่างรวมทั้งสิ้น 68,593 อัตรา ประกอบด้วย อัตราว่างที่ส่วนราชการมีแผนการบริหารจัดการแล้ว (กันไว้เพื่อสรรหา บรรจุแต่งตั้ง รับโอน เลื่อน ฯลฯ) จำนวน 53,267 อัตรา คิดเป็นร้อยละ 77.66 และอัตราว่างคงเหลือจริง จำนวน 15,326 อัตรา คิดเป็นร้อยละ 22.34
ทั้งนี้ เมื่อสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ในภาพรวมจะมีอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของทุกส่วนราชการ รวม 9,705 อัตรา โดยเป็นตำแหน่งที่จะต้องยุบเลิกเพื่อทดแทนด้วยอัตรากำลังพนักงานราชการ ประมาณ 1,306 อัตรา และคงเหลืออัตราว่างระดับแรกบรรจุที่สามารถบรรจุได้ทันที ประมาณ 4,697 อัตรา
@ตรึงอัตรากำลังคนภาครัฐทุกประเภท หวังลดภาระค่าใช้ประเทศ
ข้อวิเคราะห์และข้อเสนอแนะให้การจัดทำมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ พ.ศ.2566-2570 เช่น
-แนวโน้มสถานภาพกำลังคนและการใช้ประโยชน์จากกำลังคนของส่วนราชการ
ปัจจุบันหลายส่วนราชการมีรูปแบบการจ้างงานที่หลากหลาย ทั้งข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว พนักงานมหาวิทยาลัย และพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งยังไม่รวมพนักงานจ้างเหมาบริการ
เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มสถานภาพกำลังคนและการใช้ประโยชน์จากกำลังคนของส่วนราชการที่ผ่านมา ส่วนราชการหลายแห่งอาจยังไม่ให้ความสำคัญและตระหนักถึงภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรของประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น
โดยสัดส่วนคำของบประมาณด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของส่วนราชการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่มิได้ถูกนำไปใช้เพื่อทดแทนกำลังคนที่มีอยู่อย่างจริงจังและเกิดประสิทธิภาพ ส่วนราชการหลายแห่งยังมีคำขอรับการจัดสรรอัตรากำลังเพิ่มใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก
และจากการพิจารณาข้อมูลเบื้องต้น พบว่าคำขอรับการจัดสรรอัตรากำลังตั้งใหม่ ทั้งอัตรากำลังข้าราชการและพนักงานราชการ ส่วนใหญ่ไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางการขอรับการจัดสรรอัตรากำลังตั้งใหม่ตามหลักการและแนวทางของมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐอย่างเคร่งครัดเท่าที่ควร
ประกอบกับส่วนราชการที่มีการตัดโอนภารกิจให้กับส่วนราชการอื่นหรือส่วนราชการตั้งใหม่ ไม่ดำเนินการตัดโอนอัตรากำลังไปตามภารกิจ ส่งผลให้การใช้กำลังคนและงบประมาณด้านบุคลากรไม่มีประสิทธิภาพและเกิดความซ้ำซ้อน
ดังนั้น การบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐในสถานการณ์ปัจจุบันที่ประเทศอยู่ในสภาวะหดตัวทางเศรษฐกิจและวิกฤตด้านงบประมาณ การควบคุมกำลังคนและค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรภาครัฐของประเทศจึงมีความสำคัญ และจำเป็นที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจังและเร่งด่วน
โดยควรมีการตรึงอัตรากำลังคนภาครัฐทุกประเภทไว้ระยะหนึ่ง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรของประเทศ ควบคู่ไปกับการปรับขนาดกำลังคนภาครัฐ เพื่อให้มีจำนวนและคุณภาพที่เหมาะสม สามารถใช้กำลังคนที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ประหยัด เต็มศักยภาพ เป็นต้น
@ทดแทนอัตรากำลัง ‘ข้าราชการเกษียณ’ ด้วย ‘พนักงานราชการ’
-การจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ให้กับส่วนราชการและแนวโน้มภาระงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรในระยะยาว
ในระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ.2562-2565 ครม.โดยความเห็นชอบตามข้อเสนอของ คปร. ได้อนุมัติอัตราข้าราชการตั้งใหม่ให้กับส่วนราชการ 27 แห่ง รวมทั้งสิ้น 60,821 อัตรา ดังนั้น จากข้อมูลดังกล่าว จึงเห็นได้ว่า ขนาดกำลังคนในส่วนของข้าราชการพลเรือนในสังกัดฝ่ายบริหาร ซึ่งอยู่กายใต้การกำกับดูแลของ คปร. มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของกำลังคนภาครัฐดังกล่าว ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มอัตรากำลังตั้งใหม่ให้กับส่วนราชการขนาดใหญ่ และหน่วยงานตั้งใหม่ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรภาครัฐของประเทศเพิ่มสูงขึ้น
ดังนั้น จึงเห็นว่ามาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ (พ.ศ.2566-2570) ควรต้องดำเนินการควบคุมอัตราการเพิ่มของกำลังคนภาครัฐอย่างจริงจัง โดยให้ทุกสวนราชการตรึงอัตรากำลังและบริหารตำแหน่งที่มีอยู่โดยไม่ให้มีการเพิ่มกรอบอัตรากำลังตั้งใหม่ในภาพรวม
โดยอาจต้องชะลอการทดแทนอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการ ด้วยกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อการบริหารและการปฏิบัติราชการ
และหากส่วนราชการมีภารกิจที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องขอรับการจัดสรรอัตรากำลังตั้งใหม่ คปร. หรือ อ.ก.พ. กระทรวงอาจต้องพิจารณาตำแหน่งว่างในส่วนราชการอื่นที่มีเกินร้อยละ 5 มาพิจารณาจัดสรรให้เพื่อควบคุมกรอบอัตรากำลังในภาพรวม ควบคู่กับการกำหนดแนวทางและกลไกในการพิจารณาการจัดสรรอัตรากำลังตั้งใหม่อย่างเข้มข้น
-การบริหารอัตรากำลังที่เป็นตำแหน่งว่างของส่วนราชการ
เมื่อพิจารณาผลสำรวจข้อมูลอัตรากำลังข้าราชการที่เป็นตำแหน่งว่างของส่วนราชการต่างๆ ซึ่งมีอัตราว่างรวมทั้งสิ้น 68,543 อัตรา (มีแผนการบริหารจัดการแล้ว จำนวน 53,267 อัตรา และอัตราว่างคงเหลือจริง จำนวน 15,326 อัตรา) และเมื่อนำมาพิจารณารวมกับอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของทุกส่วนราชการ เมื่อสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ.2565 จะพบว่ามีอัตราว่างในระดับแรกบรรจุที่สามารถแต่งตั้งบุคคลได้ทันทีอีกประมาณ 4,697 อัตรา
ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนว่า ภาคราชการยังมีกรอบอัตราว่างในระบบอีกเป็นจำนวนมาก โดย อ.ก.พ. กระทรวงหรือ อ.ก.พ. กรม ปฏิบัติหน้าที่ อ.ก.พ. กระทรวง และองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของส่วนราชการและส่วนราชการ ควรพิจารณาทบทวนบทบาทภารกิจและใช้อัตรากำลังที่ว่างอยู่ เพื่อนำไปจัดสรรให้กับหน่วยงานที่มีภารกิจสำคัญเร่งด่วนตามนโยบายและยุทธศาสตร์ประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มกรอบอัตรากำลังตั้งใหม่
ดังนั้น เพื่อให้การบริหารอัตรากำลังในภาคราซการเกิดประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุด จึงเห็นว่ามาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ (พ.ศ.2566-2570) ควรกำหนดเงื่อนไขและกลไกการติดตามการบริหารอัตรากำลังโดยส่วนราชการไม่ควรมีตำแหน่งข้าราชการว่างเกินร้อยละ 5 ของกรอบอัตราข้าราชการทั้งหมด และไม่ควรมีตำแหน่งว่างติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกินกว่า 1 ปี
ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ. ในฐานะฝ้ายเลขานุการร่วม คปร. จะติดตามผลการบริหารอัตราว่างและระยะเวลาที่ว่างของตำแหน่งทุกสิ้นปีงบประมาณ โดยจะรายงาน คปร. เพื่อทราบหรือพิจารณานำตำแหน่งว่างที่ไม่ได้มีการบริหารให้เกิดประโยชน์มาจัดสรรให้กับสวนราชการที่มีความจำเป็นต่อไป
@กำหนด 3 ยุทธศาสตร์มาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ
มาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ พ.ศ.2566-2570 ประกอบด้วย 2 มาตรการ ดังนี้
1.มาตรการบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์
เป็นมาตรการที่มุ่งเน้นให้ส่วนราชการมีการบริหารจัดการ การพัฒนาประสิทธิภาพ และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรบุคคลให้มีความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อรองรับการปฏิบัติงานของภาครัฐที่ต้องปรับเปลี่ยนไปสู่การเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
1.1 ยุทธศาสตร์การวางแผนกำลังคน มุ่งเน้นการให้ส่วนราชการวางแผนอัตรากำลังให้เหมาะสมกับบทบาทภารกิจของภาครัฐในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมีการทบทวนบทบาทภารกิจที่จำเป็นต้องดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติยุทธศาสตร์ระดับกระทรวง/กรม
การตรวจสอบการใช้ประโยชน์และความเหมาะสมในการใช้อัตรากำลัง เพื่อกำหนดขนาดกำลังคนที่เหมาะสม และการพิจารณาเกลี่ยอัตรากำลังไปปฏิบัติภารกิจที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนอัตรากำลังในภารกิจสำคัญที่ได้รับมอบหมาย
1.2 ยุทธศาสตร์การบริหารทรัพยากรบุคคล มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า การส่งเสริมให้มีรูปแบบการจ้างงานที่หลากหลายเพื่อทดแทนการขอเพิ่มอัตราข้าราชการ การปรับปรุงกระบวนงาน และการพัฒนารูปแบบวิธีการทำงานที่มีความยืดหยุ่นเพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะภารกิจ ตลอดจนการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เหมาะสมมาใช้สนับสนุนการทำงาน
1.3 ยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรบุคคล มุ่งเน้นให้มีการพัฒนาทักษะและสมรรถนะของบุคลากรภาครัฐให้มีความพร้อมเพื่อรองรับการปฏิบัติงานภายใต้ชีวิตวิถีใหม่การสร้างแรงจูงใจในการทำงาน การส่งเสริมให้มีการเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่องในลักษณะSelf-Learning และการมีกลไกในการถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์อย่างเป็นระบบ
@กำหนดตรึงอัตรากำลัง‘ข้าราชการพลเรือน’ในช่วงปี 66-67
2.มาตรการบริหารอัตรากำลังปกติ
เป็นมาตรการที่กำหนดขึ้นสำหรับการบริหารอัตรากำลังของส่วนราชการและองค์กรกลางบริหารทรัพยากรบุคคลที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ อ.ก.พ. กระทรวง หรือ อ.ก.พ. กรมปฏิบัติหน้าที่ อ.ก.พ. กระทรวง คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.)และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)
โดยกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ตลอดจนเงื่อนไขสำหรับบริหารอัตรากำลังประเภทต่างๆ ดังนี้
2.1 กรณีข้าราชการพลเรือนสามัญ
แบ่งการบริหารอัตรากำลังออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่
(1) ช่วงปีงบประมาณ พ.ศ.2566-2567 ให้ทุกส่วนราชการตรึงอัตรากำลัง โดยให้บริหารอัตรากำลังที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุดโดยไม่เพิ่มกรอบอัตรากำลังตั้งใหม่ในภาพรวม ตามแนวทาง ดังนี้
(1.1) ให้คืนอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการทั้งหมดให้แก่ส่วนราชการเดิม โดยชะลอการทดแทนอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการด้วยกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อให้ส่วนราชการสามารถบริหารอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการได้อย่างต่อเนื่องทันที และมิให้ส่งผลกระทบต่อการบริหารและการปฏิบัติราชการในช่วงที่มีการตรีงอัตรากำลัง
(1.2) ให้ส่วนราชการทบทวนบทบาทภารกิจ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงหน้าที่และอำนาจ หรือการปรับโครงสร้างส่วนราชการ ยุบเลิกภารกิจที่หมดความจำเป็น ยุบรวมภารกิจที่มีความซ้ำซ้อน หรือถ่ายโอนภารกิจที่ไม่จำเป็นต้องดำเนินการเองให้ภาคส่วนอื่นดำเนินการแทนรวมทั้งปรับปรุงกระบวนงานหรือวิธีการทำงานเพื่อลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน หรือปฏิรูปองค์กรให้มีความทันสมัยด้วยนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ
(1.3) ให้ส่วนราชการบริหารตำแหน่งว่างที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุด โดยไม่ควรมีตำแหน่งข้าราชการว่างเกินร้อยละ 5 ของกรอบอัตราข้าราชการทั้งหมดและไม่ควรมีตำแหน่งว่างติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกิน 1 ปี
ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการร่วม คปร. จะติดตามผลการบริหารอัตราว่างและระยะเวลาที่ว่างของตำแหน่งทุกสิ้นปีงบประมาณ โดยจะรายงาน คปร. เพื่อทราบหรือพิจารณานำตำแหน่งว่างเกินร้อยละ 5 หรือว่างนานเกิน 2 ปี มาจัดสรรให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนราชการที่มีความจำเป็นต่อไป
(1.4) การพิจารณาจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ จะดำเนินการเฉพาะในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ได้แก่ การจัดตั้งส่วนราชการระดับกระทรวง กรม หรือจังหวัดขึ้นใหม่ โดยใช้กลไกการพิจารณาของ คปร. หรือ อ.ก.พ. กระทรวง แล้วแต่กรณี พิจารณานำตำแหน่งว่างที่มีอยู่ในระบบก่อน เพื่อควบคุมการเพิ่มกรอบอัตรากำลังในภาพรวม
(2) ช่วงปีงบประมาณ พ.ศ.2568-2570 ให้ อ.ก.พ. กระทรวงพิจารณาจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการตามแนวทางมาตรการบริหารอัตรากำลังปกติ ดังนี้
(2.1) กำหนดแนวทางการจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุคืนให้แก่ส่วนราชการ ตามขนาดของส่วนราชการที่ได้มีการจัดกลุ่มเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่ 1 ส่วนราชการขนาดเล็ก
อัตราข้าราชการไม่เกิน 1,000 อัตรา แบ่งเป็น อัตราข้าราชการไม่เกิน 300 อัตรา และอัตราข้าราชการตั้งแต่ 301-1,000 อัตรา
กลุ่มที่ 2 ส่วนราชการขนาดกลาง
อัตราข้าราชการตั้งแต่ 1,001-5,000 อัตรา
กลุ่มที่ 3 ส่วนราชการขนาดใหญ่
อัตราข้าราชการตั้งแต่ 5,0001 อัตราขึ้นไป
(2.2) กำหนดแนวทางการจัดสรร/เกลี่ยอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุและสัดส่วนอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุที่ต้องทดแทนด้วยการจ้างงานรูปแบบอื่น ประกอบด้วย
-จำนวนร้อยละของอัตราว่างที่ จัดสรรให้ส่วนราชการ/หน่วยงานสามารถบริหารอัตรากำลังได้อย่างต่อเนื่องทันที
-จำนวนร้อยละของอัตราว่างที่ต้องทดแทนด้วยการจ้างงานรูปแบบอื่น
-จำนวนร้อยละของอัตราว่างที่ อ.ก.พ. กระทรวง หรือองค์กรกลางบริหารทรัพยากรบุคคลสามารถพิจารณาจัดสรรคืนส่วนราชการ/หน่วยงานตามความจำเป็นของภารกิจ
(2.3) ให้ส่วนราชการรายงานผลการจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการ ผลการทดแทนอัตราว่างจากการเกษียณอายุด้วยการจ้างงานรูปแบบอื่น (พนักงานราชการ) และผลการบริหารอัตราว่างและระยะเวลาที่ว่างของตำแหน่งทุกสิ้นปีงบประมาณให้กับสำนักงาน ก.พ. เพื่อเสนอ คปร. รับทราบหรือพิจารณานำตำแหน่งว่างเกินร้อยละ 5 หรือว่างนานเกิน 1 ปี มาจัดสรรให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนราชการที่มีความจำเป็นต่อไป
@หลักเกณฑ์คืนตำแหน่ง‘ครูเกษียณ’-ยุบภารกิจหมดความจำเป็น
2.2 กรณีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
ให้ทุกส่วนราชการ/หน่วยงานตรึงอัตรากำลัง โดยบริหารอัตรากำลังที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุดรวมทั้งไม่เพิ่มกรอบอัตรากำลังตั้งใหม่ในภาพรวม โดยให้พิจารณาจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการตามแนวทาง ดังนี้
(1) ตำแหน่งที่จัดสรรคืนทั้งหมด ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญต่อการบริหารงานของสถานศึกษาในการขับเคลื่อนภารกิจการปฏิรูปการศึกษาและนโยบายสำคัญของรัฐบาลด้านการศึกษา โดยส่วนราชการสามารถบริหารตำแหน่งได้อย่างต่อเนื่องทันที ได้แก่
(1.1) ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา
(1.2) ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 120 คนขึ้นไป ซึ่งไม่อยู่ในแผนการถ่ายโอนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือไม่อยู่ในแผนการควบรวมสถานศึกษา
(1.3) ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค. (2) เฉพาะตำแหน่งที่ ก.ค.ศ. กำหนดให้เป็นตำแหน่งประเภทอำนวยการ
ทั้งนี้ ให้ส่วนราชการ/หน่วยงานรายงานอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการดังกล่าวต่อ ก.ค.ศ. เพื่อทราบ
(2) ตำแหน่งที่ ก.ค.ศ. พิจารณาจัดสรรตามเงื่อนไขเฉพาะกรณี ดังต่อไปนี้
(2.1) ตำแหน่งสำหรับบรรจุนักเรียนทุนรัฐบาล
(2.2) ตำแหน่งซึ่งมีหน้าที่เป็นผู้สอนในโรงเรียนระดับประถมศึกษา โรงเรียนขยายโอกาส และโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา หรือกลุ่มสถานศึกษา ที่มีการจัดการเรียนการสอนแบบรวมสถานศึกษา ที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 120 คนขึ้นไป ในพื้นที่ปกติ และไม่อยู่ในแผนการถ่ายโอนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ทั้งนี้ ให้ ก.ค.ศ. สามารถพิจารณานำตำแหน่งที่มีอัตรากำลังครูผู้สอนเกินเกณฑ์อัตรากำลังของ ก.ค.ศ. มากำหนดเป็นตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาให้กับโรงเรียนที่มีนักเรียน 61-119 คน ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีผู้บริหารสถานศึกษา ในระหว่างที่รอดำเนินการตามแผนควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก
(2.3) ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาและตำแหน่งซึ่งมีหน้าที่เป็นผู้สอนในโรงเรียนระดับประถมศึกษา โรงเรียนขยายโอกาส และโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดสตูล ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ได้แก่ อำเภอจะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย) และในพื้นที่พิเศษ เสี่ยงภัย ทุรกันดาร ชนกลุ่มน้อยเกาะ ภูเขา และพื้นที่ในเขตชายแดนที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน
(2.4) ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาและตำแหน่งซึ่งมีหน้าที่เป็นผู้สอนในโรงเรียนการศึกษาเพื่อคนพิการ โรงเรียนการศึกษาสงเคราะห์ และโรงเรียนตามโครงการพระราชดำริหรือเป็นโรงเรียนในโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School Project) หรือโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งโรงเรียนคุณภาพ
(2.5) ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาและตำแหน่งซึ่งมีหน้าที่เป็นผู้สอนในสถานศึกษาระดับปริญญาและระดับต่ำกว่าปริญญา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
(2.6) ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาและตำแหน่งซึ่งมีหน้าที่เป็นผู้สอนในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
(2.7) ตำแหน่งศึกษานิเทศกในหน่วยงานการศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
(3) ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค. (2) เฉพาะตำแหน่งที่ ก.ค.ศ. กำหนดเป็นตำแหน่งประเภทวิชาการและตำแหน่งประเภททั่วไป แบ่งการบริหารอัตรากำลังออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่
(3.1) ช่วงปีงบประมาณ พ.ศ.2566-2567 ให้ทุกส่วนราชการตรึงอัตรากำลังโดยให้บริหารอัตรากำลังที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุดรวมทั้งไม่เพิ่มกรอบอัตรากำลังตั้งใหม่ในภาพรวม ตามแนวทาง ดังนี้
(3.1.1) ให้คืนอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) เฉพาะตำแหน่งที่ ก.ค.ศ. กำหนดเป็นตำแหน่งประเภทวิชาการและตำแหน่งประเภททั่วไปทั้งหมดให้แก่ส่วนราชการเดิม
โดยชะลอการทดแทนอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการด้วยกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อให้ส่วนราชการสามารถบริหารอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการได้อย่างต่อเนื่องทันทีและมิให้ส่งผลกระทบต่อการบริหารและการปฏิบัติราชการในช่วงที่มีการตรึงอัตรากำลัง
(3.1.2) ให้ส่วนราชการทบทวนบทบาทภารกิจ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงหน้าที่และอำนาจ หรือการปรับโครงสร้างส่วนราชการ ยุบเลิกภารกิจที่หมดความจำเป็นยุบรวมภารกิจที่มีความซ้ำซ้อน หรือถ่ายโอนภารกิจที่ไม่จำเป็นต้องดำเนินการเองให้ภาคส่วนอื่นดำเนินการแทน ปรับปรุงกระบวนงานหรือวิธีการทำงานเพื่อลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน หรือปฏิรูปองค์กรให้มีความทันสมัยด้วยนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ
(3.1.3) ให้ส่วนราชการบริหารตำแหน่งว่างที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุด โดยไม่ควรมีตำแหน่งข้าราชการว่างเกินร้อยละ 5 ของกรอบอัตราข้าราชการทั้งหมด และไม่ควรมีตำแหน่งว่างติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกิน 1 ปี
ทั้งนี้ ให้มีการรายงานผลการบริหารอัตราว่างและระยะเวลาที่ว่างของตำแหน่งทุกสิ้นปีงบประมาณ ให้กับสำนักงาน ก.พ. เพื่อเสนอ คปร.รับทราบหรือพิจารณานำตำแหน่งว่างเกินร้อยละ 5 หรือว่างนานเกิน 1 ปี มาจัดสรรให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนราชการที่มีความจำเป็นต่อไป
(3.2) ช่วงปีงบประมาณ พ.ศ.2568-2570 ให้ ก.ค.ศ. พิจารณาจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) เฉพาะตำแหน่งที่ ก.ค.ศ. กำหนดเป็นตำแหน่งประเภทวิชาการและตำแหน่งประเภททั่วไปด้วยการจ้างงานรูปแบบอื่น ร้อยละ 10 โดยให้พิจารณาในภาพรวมของอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุทั้งหมดของส่วนราชการในปีงบประมาณนั้น ๆ
(4) ตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ สถาบันวิทยาลัยชุมชน มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ และหน่วยงานอื่นๆซึ่ง ก.ค.ศ. มิได้มีอำนาจในการพิจารณาจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของหน่วยงานดังกล่าวให้ผู้มีอำนาจตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นผู้พิจารณาดำเนินการ
@ใช้ ‘ขรก.ตำรวจ’ ไม่มียศ ทำงานในภารกิจสนับสนุนงานสำนักงานฯ
2.3 กรณีข้าราชการตำรวจ
ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติตรึงอัตรากำลัง โดยให้บริหารอัตรากำลังที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด โดยไม่เพิ่มกรอบอัตรากำลังตั้งใหม่ในภาพรวม โดยให้คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) พิจารณาจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการตำรวจ ตามเงื่อนไขที่กำหนด ดังนี้
(1) ตำแหน่งในภารกิจด้านการถวายความปลอดภัย
(2) ตำแหน่งในภารกิจด้านการรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
(3) ตำแหน่งในภารกิจด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม
(4) ตำแหน่งในภารกิจด้านการปราบปรามยาเสพติด
(5) ตำแหน่งในภารกิจที่มีเหตุผลความจำเป็นพิเศษ
นอกจากนี้ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พิจารณาการใช้อัตรากำลังข้าราชการตำรวจประเภทไม่มียศ ในภารกิจสนับสนุนการจัดการภายในสำนักงาน ควบคู่กับการใช้อัตรากำลังประเภทอื่น หรือภารกิจอื่นที่มิได้เกี่ยวข้องกับลักษณะงานตามภารกิจหลักของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
@ยุบเลิกอัตรากำลัง ‘ลูกจ้างประจำ’ กรณีว่างจากการเกษียณอายุ
2.4) กรณีการบริหารอัตรากำลังลูกจ้าง
(1) ให้ยุบเลิกอัตราลูกจ้างประจำที่ว่างจากผลการเกษียณอายุและว่างโดยเหตุอื่นในระหว่างปีของทุกส่วนราชการ เว้นแต่มีเหตุผลความจำเป็น ให้เสนอ คปร. พิจารณาเป็นกรณีๆ ไป
(2) ไม่ให้มีการจ้างลูกจ้างชั่วคราวจากงบประมาณประเภทงบบุคลากร ยกเว้นการจ้างลูกจ้างชั่วคราว 4 ประเภท ดังนี้
(2.1) ลูกจ้างชาวต่างประเทศที่มีสัญญาจ้าง
(2.2) ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการที่มีสำนักงานในต่างประเทศ
(2.3) ลูกจ้างชั่วคราวตามระเบียบของสถาบันอุดมศึกษาว่าด้วยการจ้างผู้มีความรู้ความสามารถพิเศษเป็นอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา
(2.4) ลูกจ้างชั่วคราวอื่นที่มีข้อตกลงพิเศษกับกระทรวงการคลัง
กรณีที่ส่วนราชการ/หน่วยงาน มีแผนงาน โครงการ และจำเป็นต้องจ้างลูกจ้างชั่วคราว 4 ประเภทตามความจำเป็นของภารกิจ ให้จัดทำคำขออนุมัติอัตรากำลังลูกจ้างชั่วคราวเสนอให้สำนักงาน ก.พ. พิจารณาเป็นรายกรณี
(3) การทบทวนความจำเป็นของการใช้อัตราลูกจ้างชั่วคราวตามข้อ (2) ให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เคยได้รับการจัดสรรอัตราลูกจ้างชั่วคราวพิจารณาทบทวนและจัดทำข้อมูลการจ้างลูกจ้างชั่วคราวทั้ง 4 ประเภท พร้อมทั้งรายงานผลให้สำนักงาน ก.พ. ทราบปีละ 1 ครั้ง (ณ วันที่ 1 ต.ค.ของปีงบประมาณ) เพื่อรายงานให้ คปร. ทราบต่อไป
@ชะลอทดแทนอัตรากำลัง ‘พนักงานราชการ’ ที่เกษียณอายุ
2.5 กรณีการบริหารกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการที่ทดแทนอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการ
(1) เห็นควรให้ชะลอการทดแทนอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการด้วยกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ.2566-2567
(2) เห็นควรให้สำนักงาน ก.พ. จัดทำข้อเสนอไปยังคณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ (คพร.) เพื่อพิจารณานำกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการที่ทดแทนอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการในรอบที่ 5 (ปีงบประมาณ พ.ศ.2564-2567) มานับรวมอยู่ในกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการที่ คพร. จัดสรรให้กับส่วนราชการในรอบถัดไป คือ รอบที่ 6 (ปีงบประมาณ พ.ศ.2568-2571) ด้วย
@จัดสรรอัตรา ‘ข้าราชการตั้งใหม่’ ให้ทำได้เฉพาะบางกรณี
2.6 กรณีการจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ ให้ดำเนินการได้เฉพาะกรณีดังต่อไปนี้
(1) เป็นภารกิจหลักของส่วนราชการที่มีความสำคัญเร่งด่วน ซึ่งต้องดำเนินการตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล แผนแม่บท และยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคมที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน หรือเป็นภารกิจหลักที่มีผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงของชาติในระดับที่จะก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง หรือส่งผลต่อความเชื่อมั่นและการยอมรับบทบาทท่าทีของประเทศไทยในระดับนานาชาติ
และมีกฎหมายกำหนดให้ต้องดำเนินการ ซึ่งจำเป็นต้องมีการเพิ่มอัตรากำลังตั้งใหม่ โดยต้องเป็นลักษณะงานที่จำเป็นต้องใช้ข้าราชการเป็นผู้ปฏิบัติหลักและไม่สามารถใช้อัตรากำลังประเภทอื่น หรือการจ้างงานรูปแบบอื่นทดแทนข้าราชการได้
(2) เป็นภารกิจหลักของสวนราชการที่เกิดจากการปรับบทบาทภารกิจโครงสร้างส่วนราชการและจัดตั้งส่วนราชการระดับกระทรวงหรือระดับกรมหรือจังหวัดขึ้นใหม่ โดย คปร. จะพิจารณาจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ให้ตามความจำเป็นของภารกิจ
ทั้งนี้ หากเป็นการตัดโอนภารกิจจากส่วนราชการที่มีอยู่เดิมมาจัดตั้งเป็นส่วนราชการใหม่ ให้ อ.ก.พ. กระทรวงพิจารณาตัดโอน หรือเกลี่ยอัตรากำลังในภารกิจที่เกี่ยวข้อง หรืออัตราว่างที่มีอยู่ของส่วนราชการที่ตัดโอนภารกิจ และอัตราว่างของส่วนราชการที่มีอยู่ในกระทรวง ให้กับส่วนราชการตั้งใหม่ในระยะแรกก่อน
และต้องไม่เป็นเหตุให้ส่วนราชการที่ตัดโอนภารกิจและอัตรากำลังมีคำขอเพิ่มอัตรากำลังตั้งใหม่ เพื่อให้การบริหารกำลังคนและอัตราว่างที่มีอยู่ ตลอดจนการใช้งบประมาณด้านบุคลากรในภาพรวมของส่วนราชการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เกิดความซ้ำซ้อน
หากส่วนราชการตั้งใหม่ยังมีความจำเป็นต้องขอรับการจัดสรรอัตรากำลังเพิ่มใหม่ อาจเสนอคณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ (คพร.) พิจารณาจัดสรรอัตรากำลังเป็นพนักงานราชการเพื่อปฏิบัติภารกิจไประยะหนึ่งก่อน (1-2 ปี) จากนั้นให้สำนักงาน ก.พ. และสำนักงาน ก.พ.ร.ร่วมกันประเมินประสิทธิภาพและความคุ้มค่าของการใช้อัตรากำลังตั้งใหม่ดังกล่าว เพื่อกำหนดรูปแบบการจ้างงานให้เหมาะสมสอดคล้องกับภารกิจและลักษณะงานที่ปฏิบัติ
ทั้งนี้ การขอจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ ให้จัดทำคำขอในภาพรวมกระทรวง และส่วนราชการ/หน่วยงานจะต้องชี้แจงเหตุผลความจำเป็นและผลการดำเนินการที่แสดงให้เห็นว่าได้มีการบริหารอัตรากำลังอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ได้แก่
(2.1) การทบทวนบทบาทภารกิจ
(2.2) เหตุผลความจำเป็นที่ต้องใช้ข้าราชการเป็นผู้ปฏิบัติหลักและเป็นงานที่ไม่สามารถใช้อัตรากำลังประเภทอื่น หรือการจ้างงานรูปแบบอื่นทดแทนข้าราชการได้
(2.3) การปรับปรุงกระบวนงานหรือวิธีการทำงานใหม่
(2.4) การนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานหรือทดแทน
(2.5) การเกลี่ยอัตรากำลังภายในกรม/กระทรวง
(2.6) การจัดทำแผนอัตรากำลังระยะสั้น
(2.7) การกำหนดตัวขี้วัดเพื่อกำหนดเป้าหมายของผลผลิตหรือผลลัพธ์ที่คาดว่าจะได้รับ
พร้อมทั้งรายละเอียดข้อมูลที่เกี่ยวข้อง อาทิ ข้อมูลอัตรากำลังปัจจุบันในภาพรวม ข้อมูลตำแหน่งว่างและการบริหารตำแหน่ง ข้อมูลการสูญเสียอัตรากำลังในระยะ 5 ปีย้อนหลัง ข้อมูลอัตราเกษียณอายุในระยะ 5 ปีถัดไป ข้อมูลงบประมาณประเภทงบบุคลากรที่ได้รับจัดสรรและใช้จริงในแต่ละปีงบประมาณย้อนหลัง 3 ปี เป็นต้น
เหล่านี้เป็นรายละเอียดของ 'มาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ พ.ศ.2566-2570' ซึ่งเป็นความพยายามของภาครัฐในการตรึงอัตรากำลังข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐเอาไว้อย่างน้อย 2 ปี ท่ามกลางสถานการณ์ที่ภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคลากรภาครัฐเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในปี 2572 ที่มีแนวโน้มว่างบบำนาญเจ้าหน้าที่รัฐจะพุ่งสูงเกิน 6 แสนล้านบาท!
อ่านเพิ่มเติม : มาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ พ.ศ.2566-2570
อ่านประกอบ :
ปิดบัญชีงบปี 65 รัฐโอนเงินฉุกเฉินฯ 1.4 หมื่นล. สมทบ‘จ่ายเบี้ยหวัด-ค่ารักษาพยาบาลขรก.’
'กมธ.' 2 สภาชำแหละงบ 66 รายจ่ายประจำสูง-หนี้รอชดเชย 1 ล้านล. ก่อนครม.เคาะแนวทางทำงบปี 67
รัฐขยับแผนลดคน! ก.พ.ฟันธง 10 ปี งบ'บำนาญ'แซง'เงินเดือน' ยุค'บิ๊กตู่'เพิ่มขรก. 6 หมื่น
งบประมาณ 2566 : 'ก้าวไกล'ทวงนโยบายช่วงหาเสียง เห็นแต่สวัสดิการอนาถา คนจน-ตกงานถ้วนหน้า
เปิดรายละเอียดงบปี 66 ‘กลาโหม’ลด 2%-กษ.เพิ่ม 1.6 หมื่นล. ค่าใช้จ่ายบุคลากรรัฐเกือบ 40%