“…งบประมาณเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญมีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นมากทุกปี โดยเฉลี่ยร้อยละ 10.82 ต่อปี ในขณะที่งบบุคลากร มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเพียงเล็กน้อยเฉลี่ยร้อยละ 1.73 ต่อปี และจากการประมาณการเบื้องต้น พบว่างบประมาณเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญ มีแนวโน้มจะสูงกว่างบบุคลากรภายในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี…”
.....................................
เรียกได้ว่าเป็นภาระ ‘ก้อนโต’ ที่ภาครัฐต้องแบกรับไว้
สำหรับงบ ‘เงินเบี้ยหวัด-บำเหน็จบำนาญ’ ของข้าราชการ เนื่องจากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นเงินเบี้ยหวัด-บำเหน็จบำนาญของข้าราชการเพิ่มขึ้นทุกปี กระทั่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการจัดสรรงบในอนาคต (อ่านประกอบ : เปิดรายละเอียดงบปี 66 ‘กลาโหม’ลด 2%-กษ.เพิ่ม 1.6 หมื่นล. ค่าใช้จ่ายบุคลากรรัฐเกือบ 40%)
“10 ปีที่ผ่านมา เงินใช้ไปกับบำนาญมากขึ้น 2 เท่า โดยปี 57 บำนาญอยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท ปี 66 อยู่ที่ 3.22 แสนล้านบาท ตอนนี้เรามีข้าราชการเกษียณ 8 แสนคน แต่ในปี 2580 จะมีข้าราชการเกษียณ 1.2 ล้านคน แค่บำนาญของบุคคลากร ก็เกินงบประมาณที่เราจะใช้ไปเยอะมาก กระบวนการรัฐราชการ รัฐอุ้ยอ้าย จึงเป็นช้างป่วยที่ปรับตัวไม่ได้
เราจะแก้ไขเรื่องนี้กันอย่างไร ถ้าปล่อยไว้แบบนี้ประเทศจะพัฒนาได้อย่างไร” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2566 เมื่อวันที่ 31 พ.ค.2565 (อ่านประกอบ : งบประมาณ 2566 : 'ก้าวไกล'ทวงนโยบายช่วงหาเสียง เห็นแต่สวัสดิการอนาถา คนจน-ตกงานถ้วนหน้า)
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ที่มี สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) เป็นฝ่ายเลขานุการ ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างดี
โดยล่าสุดสำนักงาน ก.พ. ได้เสนอ ‘รายงานสรุปภาพรวมการบริหารกำลังคนของส่วนราชการในฝ่ายพลเรือนและแนวโน้มค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร’ ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2565 รับทราบ และ ครม.มีมติ 'เห็นชอบ' กับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการบริหารอัตรากำลังของภาคราชการให้เกิดประสิทธิภาพ ตามข้อเสนอของสำนักงาน ก.พ.
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอรายงานฯฉบับดังกล่าวให้สาธารชนรับทราบ โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@รัฐบาลเพิ่มอัตรากำลัง ‘ตั้งใหม่’ ดันค่าใช้จ่ายบุคลากรเพิ่ม
สถานภาพกำลังคนภาครัฐภายใต้การกำกับดูแลของ คปร. ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอันเนื่อง มาจากสาเหตุหลายประการ อาทิ ความต้องการเพิ่มกรอบอัตรากำลังของส่วนราชการเพื่อรองรับภารกิจสำคัญเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการแก้ปัญหาของประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง
และการตรากฎหมายใหม่ มาบังคับใช้เพื่อแก้ปัญหาหรือตอบโจทย์สถานการณ์ของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งการปรับบทบาทภารกิจและโครงสร้างของส่วนราชการ ซึ่งส่งผลให้เกิดการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นใหม่ตามกฎหมายจำนวนหลายหน่วยงาน ทั้งระดับกระทรวง ระดับกรม และระดับกอง เป็นต้น
ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของกำลังคนภาครัฐดังกล่าว ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มอัตรากำลังตั้งใหม่ให้กับส่วนราชการขนาดใหญ่และหน่วยงานตั้งใหม่ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรภาครัฐของประเทศเพิ่มสูงขึ้น
@เผยปี 64 รัฐจ้าง ‘ข้าราชการ-พนักงาน-ลูกจ้าง’ เกือบ 3 ล้านคน
ข้อมูลภาพรวมกำลังคนและการจ้างงานภาครัฐที่มีอยู่ในปัจจุบัน
จากข้อมูลสถิติประชากรในประเทศ ปี พ.ศ.2564 เมื่อพิจารณาสัดส่วนกำลังคนที่เป็นแรงงานในภาพรวม เทียบกับจำนวนประชากรที่มีอยู่ในประเทศ จำนวน 66.17 ล้านคน พบว่าประเทศไทยมีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานหรือผู้ที่พร้อมจะทำงาน จำนวน 38.63 ล้านคน
โดยเป็นการจ้างงานในส่วนของกำลังคนภาครัฐ จำนวน 2.91 ล้านคน ประกอบด้วย ข้าราชการ จำนวน 1.68 ล้านคน และไม่ใช่ข้าราชการ (พนักงานจ้าง หนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว พนักงานมหาวิทยาลัยพนักงานกระทรวงสาธารณสุข พนักงานรัฐวิสาหกิจ และพนักงานองค์การมหาชน) จำนวน 1.23 ล้านคน
ขณะที่กำลังคนภาครัฐในฝ่ายพลเรือนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปีงบ 2553 - 2563 ในภาพรวมพบว่ามีแนวโน้ม ‘ลดลงเล็กน้อย’ ที่ร้อยละ 1.68 โดยประเภทกำลังคนที่มีแนวโน้มลดลงมากที่สุด คือ ลูกจ้างประจำ ซึ่งลดลงอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันยุบเลิกไปแล้วร้อยละ 49.66 หรือเฉลี่ยร้อยละ 4.97 ต่อปี (จำนวน 117,379 อัตรา)
ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมาตรการของ คปร. ที่กำหนดให้ยุบเลิกอัตราลูกจ้างประจำเพื่อเปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานราชการหรือใช้การจ้างเหมาบริการทดแทน สำหรับตำแหน่งที่มีลักษณะงานที่สามารถดำเนินการได้ รองลงมาคือ ลูกจ้างชั่วคราว ลดลงร้อยละ 41.71 หรือเฉลี่ยร้อยละ 4.17 ต่อปี (จำนวน 163,542 อัตรา)
สำหรับกำลังคนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ได้แก่ พนักงานจ้าง เพิ่มขึ้นร้อยละ 108.88 หรือเฉลี่ยร้อยละ 10.89 ต่อปี (134,627 คน) พนักงานราชการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.82 หรือเฉลี่ยร้อยละ 3.78 ต่อปี (41,033 คน) และข้าราชการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.35 หรือเฉลี่ยร้อยละ 1.54 ต่อปี (69,196 คน)
ในช่วงเวลาเดียวกัน ข้าราชการสังกัดฝ่ายบริหาร (ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ คปร. มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย คิดเป็นร้อยละ 0.12 โดยข้าราชการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น คือ ข้าราชการพลเรือนสามัญเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.18 หรือเฉลี่ยร้อยละ 1.62 ต่อปี
ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ เพื่อบรรจุบุคลากรในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (พนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข หรือลูกจ้างชั่วคราว) ที่ปฏิบัติงานด่านหน้าในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 38,105 อัตรา ในปีงบประมาณ พ.ศ.2563
และการจัดสรรอัตราข้าราชการให้กับส่วนราชการตั้งใหม่ ได้แก่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ส่วนราชการที่ส่งข้าราชการไปปฏิบัติงานที่ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวม 502 อัตรา ในระหว่างปีงบ 2563 - 2565
ส่วนข้าราชการพลเรือนในสถาบัน อุดมศึกษา มีแนวโน้มลดลงร้อยละ 65.75 หรือเฉลี่ยร้อยละ 6.75 ต่อปี ซึ่งเป็นผลมาจากการยุบเลิกอัตราข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา เพื่อเปลี่ยนสถานะเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยตามมติคณะรัฐมนตรี ส่วนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มีแนวโน้มลดลงร้อยละ 6.78 หรือเฉลี่ยร้อยละ 0.68 ต่อปี และข้าราชการตำรวจมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.21 หรือเฉลี่ยร้อยละ 0.02 ต่อปี
ข้าราชการในราชการบริหารส่วนท้องถิ่นและข้าราชการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งทั้งสองกลุ่มไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ คปร. มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่ากรณีข้าราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยข้าราชการส่วนท้องถิ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.06 หรือเฉลี่ยร้อยละ 3.01 ต่อปี (จำนวน 55,866 คน) และข้าราชการนอกฝ่ายบริหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 52.36 หรือเฉลี่ยร้อยละ 5.24 ต่อปี (จำนวน 12,036 คน)
@‘ก.พ.’คาดอีก 10 ปี ‘งบเบี้ยหวัด-บำเหน็จบำนาญ’แซง‘เงินเดือน’
สรุปภาพรวมและแนวโน้มงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านบุคคล ระยะ 10 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2555-2564
ข้อมูลสถิติการคลัง ได้รายงานผลการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 รวมทั้งสิ้น 3,012,143.4 ล้านบาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐคิดเป็นร้อยละ 36.4 ของรายจ่ายประจำปี (จำนวน 1,092,272.5ล้านบาท) โดยจำแนกตามงบรายจ่าย ดังนี้
-งบบุคลากร จำนวน 632,217.8 ล้านบาท โดยมีงบรายจ่ายประจำปี สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เงินเดือน จำนวน567,030.4 ล้านบาท รองลงมา ค่าตอบแทนพนักงานราชการ จำนวน 39,116.7 ล้านบาท และค่าจ้างประจำ จำนวน 23,855.2 ล้านบาท
-งบกลาง จำนวน 464,054.6 ล้านบาท โดยมีงบรายจ่ายสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เงินเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญ จำนวน 308,911.6 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ จำนวน 79,725.2 ล้านบาท และเงินสำรอง เงินสมทบ และเงินชดเชยของข้าราชการ จำนวน 69,822.2 ล้านบาท
สำหรับค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ (งบบุคลากร) ปีงบประมาณ พ.ศ.2564 จำแนกตามระดับกระทรวงและระดับกรม ดังนี้
-หน่วยงานระดับกระทรวง ที่มีการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐสูงสุด 5 อันดับแรกของงบบุคลากร คือ กระทรวงศึกษาธิการ ร้อยละ 34.9 (จำนวน 220,386.8 ล้านบาท) รองลงมา ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข ร้อยละ 17.7 (จำนวน 111,605.5 ล้านบาท) กระทรวงกลาโหม ร้อยละ 14.4 (จำนวน 91,177.3 ล้านบาท)
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร้อยละ 3.9 (จำนวน 24,453.6 ล้านบาท) และกระทรวงมหาดไทย ร้อยละ 3.2 (จำนวน 20,000 ล้านบาท)
-หน่วยงานระดับกรม (รวมหน่วยงานสังกัดกระทรวง และไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี) ที่มีค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐสูงสุด 5 อันดับแรกของงบบุคลากร คือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร้อยละ 32.1 (จำนวน 202.783.8 ล้านบาท)
รองลงมา ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร้อยละ 15.7 (จำนวน 99,069 ล้านบาท) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร้อยละ 13 (จำนวน 82,089.2 ล้านบาท) กองทัพบก ร้อยละ 8 (จำนวน 51,029.6 ล้านบาท) และกองทัพเรือ ร้อยละ 2.9 (จำนวน 18,389.4 ล้านบาท)
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาแนวโน้มงบประมาณค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปีงบ 2555-2564 พบว่า งบประมาณเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญมีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นมากทุกปี โดยเฉลี่ยร้อยละ 10.82 ต่อปี ในขณะที่งบบุคลากร (เงินเดือน ค่าจ้างประจำค่าจ้างชั่วคราว และค่าตอบแทนพนักงานราชการ) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเพียงเล็กน้อยเฉลี่ยร้อยละ 1.73 ต่อปี
และจากการประมาณการเบื้องต้น พบว่างบประมาณเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญ มีแนวโน้มจะสูงกว่างบบุคลากรภายในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี
@ 4 ปี ‘บิ๊กตู่’ รัฐอนุมัติเพิ่มข้าราชการใหม่ 6 หมื่น-รอบรรจุอีก 2.9 หมื่นคน
อัดรากำลังข้าราชการในฝ่ายพลเรือนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ คปร.
คปร. มีนโยบายควบคุมอัตรากำลังมาอย่างต่อเนื่อง
คปร.ได้กำหนดมาตรการปรับขนาดกำลังคนภาครัฐเพื่อให้มีกำลังคนที่เหมาะสมกับบทบาทภารกิจของส่วนราชการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีงบประมาณ พศ.2537 เป็นต้นมา และปัจจุบันได้กำหนดมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ (พ.ศ.2562-2565) ตามความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 มี.ค.2562
โดยกำหนดไม่ให้มีการเพิ่มอัตราตั้งใหม่ในภาพรวมสำหรับข้าราชการทุกประเภท ยกเว้นกรณีจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ และให้ยุบเลิกอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการและทดแทนด้วยการจ้างานรูปแบบอื่น (พนักงานราชการ)
โดยกำหนดสัดส่วนการยุบเลิกอัตราข้าราชการเกษียณอายุตามขนาดของส่วนราชการ (ขนาดใหญ่ ร้อยละ 15 ,ขนาดกลาง ร้อยละ 10 และขนาดเล็ก ร้อยละ 5 ยกเว้นขนาดเล็กที่มีอัตราไม่เกิน 300 อัตราไม่ต้องทดแทน) เพื่อลดขนาดกำลังคนภาครัฐและค่าใช้จ่ายด้านบุคคลในระยะยาว
ลักษณะการเพิ่มขึ้นของอัตรากำลัง
ในการดำเนินการตามมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ (พ.ศ.2562 - 2565) แม้ว่าจะมีการยุบเลิกอัตราข้าราชการที่ว่างจากผลการเกษียณอายุและทดแทนด้วยการจ้างงานรูปแบบอื่นตามสัดส่วนที่ คปร. กำหนด ซึ่งโดยเฉลี่ยสามารถยุบเลิกได้ปีละประมาณ 797 ตำแหน่ง
แต่ในช่วงเดียวกันส่วนราชการได้มีคำขอเพิ่มอัตรากำลังเป็นจำนวนมาก ทั้งอัตรากำลังข้าราชการและพนักงานราชการ โดยมีเหตุผลความจำเป็นเพื่อรองรับภารกิจสำคัญเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาลอาทิ ภารกิจเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขขอรับการจัดสรรอัตรากำลังข้าราชการตั้งใหม่เพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งส่วนราชการขึ้นใหม่ อาทิ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เป็นต้น
โดยในระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ.2562 - 2565 ซึ่งมาตรการฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ได้มีการอนุมัติอัตราข้าราชการตั้งใหม่ให้กับส่วนราชการ จำนวน 23 แห่ง รวมทั้งสิ้น 60,921 อัตรา (ข้อมูล ณ วันที่ 25 พ.ค.2565) ดังนั้น จากข้อมูลดังกล่าว จึงเห็นได้ว่าขนาดกำลังคนในส่วนของข้าราชการพลเรือนในสังกัดฝ่ายบริหาร ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ คปร. จึงไม่ได้ลดลง แต่กลับมีแนวโน้มสูงขึ้น
และขณะนี้ยังมีคำขอรับการจัดสรรอัตรากำลังตั้งใหม่ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงาน กพ. เพื่อดำเนินการนำเสนอ คปร. และคณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ(คพร.) อีกจำนวนทั้งสิ้น 29,697 อัตรา (ข้าราชการ จำนวน 28,511 อัตรา และพนักงานราชการ จำนวน 186 อัตรา)
การบริหารจัดการอัตราว่างของส่วนราชการ
จากการสำรวจข้อมูลอัตราว่างข้าราชการของส่วนราชการที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล ของ คปร. ณ เดือน พ.ค.2565 จำนวนทั้งสิ้น 173 ส่วนราชการ โดยพบว่ามีจำนวนอัตราว่างรวมทั้งสิ้น 68,593 อัตรา
ประกอบด้วย อัตราว่างที่ส่วนราชการมีแผนการบริหารจัดการแล้ว (กันไว้เพื่อสรรหา บรรจุแต่งตั้ง รับโอน เลื่อน ฯลฯ) ร้อยละ 77.66 (จำนวน 53,267 อัตรา) และอัตราว่างคงเหลือจริง ร้อยละ 22.34 (จำนวน 15,326 อัตรา)
ทั้งนี้ เมื่อสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ในภาพรวมจะมีอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของทุกส่วนราชการ รวม 9,705 อัตรา โดยเป็นตำแหน่งที่จะต้องยุบเลิกเพื่อทดแทนด้วยกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการ ประมาณ 1,306 อัตรา และคงเหลืออัตราว่างระดับแรกบรรจุที่สามารถบรรจุได้ทันทีประมาณ 4,697 อัตรา ดังนั้น ส่วนราชการจึงควรเร่งรัดการบริหารอัตราที่จะว่างดังกล่าว
@ครม.รับข้อเสนอแนะ ‘ก.พ.’ สั่งตรึงอัตรากำลัง-ทำแผนลดคน
ข้อเสนอแนะเพื่อให้การบริหารอัตรากำลังของภาคราชการเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล
เพื่อให้การบริหารอัตรากำลังของภาคราชการเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด สอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์ของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป จึงมีข้อเสนอแนวทางการบริหารอัตรากำลังภาครัฐ ดังนี้
1.ให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐเร่งรัดการบริหารอัตราว่างให้แล้วเสร็จโดยเร็วภายใน 1 ปี โดยดำเนินการสรรหา สอบคัดเลือก และบรรจุแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการในอัตรากำลังที่ว่างอยู่ เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำงานของประชาซนและมีกำลังคนเข้าสู่ระบบแรงงานในประเทศเพิ่มขึ้น
2.ให้สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลัง รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการเกี่ยวกับการควบคุมอัตรากำลังบุคลากรและภาระงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรภาครัฐอย่างบูรณาการ โดยการพิจารณาทบทวนบทบาทภารกิจและโครงสร้างองค์กรภาครัฐ และกำหนดกรอบอัตรากำลังที่เหมาะสม
มุ่งเน้นการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Government) ควบคู่กับการปรับรูปแบบและวิธีการทำงนให้เหมาะสมกับลักษณะงาน โอนงานบางประเภทให้เอกชนดำเนินการ หรือ Outsourcing และเร่งรัดการถ่ายโอนภารกิจที่สามารถมอบหรือกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปดำเนินการ รวมทั้งมุ่งเน้นให้มีการใช้รูปแบบการจ้างงานที่หลากหลาย เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐในระยะยาว
นอกจากนี้ หากส่วนราชการมีความจำเป็นต้องขอรับการจัดสรรอัตรากำลังเพิ่ม ควรต้องมีการวางแผนกำลังคนเพื่อลดการเพิ่มกำลังคนที่ซ้ำซ้อน และอาจสนับสนุนอัตรากำลังในรูปแบบสัญญาจ้างรายปี ในลักษณะของพนักงานราชการเฉพาะกิจไปก่อน หากในระยะยาวส่วนราชการพิสูจน์ได้ว่ายังมีความจำเป็นต้องใช้กำลังคนในรูปแบบข้าราชการ จึงจะพิจารณาจัดสรรให้ตามความจำเป็นของภารกิจ
โดยให้มีการกำหนดแนวทางปฏิบัติให้ชัดเจนว่า หากส่วนราชการใดมีการปรับปรุงบทบาทภารกิจที่ต้องมีการตัดโอนภารกิจจากส่วนราชการหนึ่งไปให้อีกส่วนราชการหนึ่ง จะต้องตัดโอนอัตรากำลังและงบประมาณตามภารกิจนั้นไปให้ส่วนราชการที่รับโอนภารกิจด้วย เพื่อไม่ให้ส่วนราชการมีการใช้กำลังคนและงบประมาณที่ซ้ำซ้อน
3.ให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐทุกภาคส่วน นำแนวทางการบริหารอัตรากำลังของ คปร. ไปปรับใช้อย่างจริงจัง เพื่อให้การกำกับดูแลการควบคุมขนาดกำลังคนและภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคคลของรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งจะทำให้การลดขนาดกำลังคนภาครัฐและแผนการลดค่าใช้จ่ายด้านบุคคลของประเทศบรรลุตามเป้าหมายตามแผนที่วางไว้ได้
4.ให้สำนักงาน ก.พ. เร่งจัดทำมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐในระยะต่อไป โดยกำหนดให้มีการตรึงอัตรากำลังคนภาครัฐไว้ระยะหนึ่ง รวมทั้งเข้มงวดกับการพิจารณาจัดสรรอัตรากำลังเพิ่มใหม่ของส่วนราชการอย่างจริงจัง เพื่อลดภาระงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านบุคคลของภาครัฐที่มีอัตราอยู่ในระดับสูงมาก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ ภาครัฐจะต้องมีมาตรการที่จริงจังและเร่งด่วนในการปรับลดขนาดกำลังคนภาครัฐและลดภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคคลในระยะยาว
นอกจากนี้ ในการพิจารณาจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ให้กับส่วนราชการ อาจต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในภารกิจที่เกี่ยวข้องตามคำขอของส่วนราชการมาให้ความเห็นเพิ่มเติมด้วย เพื่อให้การจัดสรรอัตรากำลังโดย คปร. เป็นไปอย่างรอบคอบ มีประสิทธิภาพ และคุ้มค่ากับภาระงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านบุคคลที่เพิ่มสูงขึ้นจากการจัดสรรอัตรากำลังดังกล่าว
5.ให้ส่วนราชการที่มีคำขอรับการจัดสรรอัตรากำลังเพิ่มใหม่ทั้งอัตราข้าราชการและพนักงานราชการที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงาน ก.พ. ทบทวนคำขอดังกล่าว ให้สอดคล้องกับแนวทางการจัดสรรอัตรากำลังตั้งใหม่อย่างเคร่งครัด
โดยจะต้องทบทวนความจำเป็นของภารกิจ การกำหนดตัวชี้วัด ผลผลิตและผลลัพธ์ที่ท้าทายและเป็นรูปธรรม มีแผนการปรับปรุงกระบวนการทำงานมีการเกลี่ยอัตรากำลังภายในส่วนราชการทั้งระดับกรมและกระทรวงและมีการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการทำงานเพื่อทดแทนการใช้กำลังคน รวมทั้งมีรูปแบบการจ้างงานที่หลากหลายเหมาะสมกับภารกิจ เพื่อประกอบการพิจารณาของ คปร. และคณะรัฐมนตรีต่อไป
ทั้งนี้ ครม.มีมติ ‘เห็นชอบ’ ข้อเสนอแนะเพื่อให้การบริหารอัตรากำลังของภาคราชการเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล และให้สำนักงาน ก.พ. นำไปใช้เป็นกรอบแนวทางในการจัดทำมาตรการจัดการกำลังคนภาครัฐในระยะต่อไป
จึงต้องติดตามกันต่อไปว่า จากนี้ไปภาครัฐจะสามารถปรับลดขนาดกำลังคนภาครัฐและลดภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคคลในระยะยาวได้หรือไม่ และอย่างไร?
อ่านประกอบ :
งบประมาณ 2566 : 'ก้าวไกล'ทวงนโยบายช่วงหาเสียง เห็นแต่สวัสดิการอนาถา คนจน-ตกงานถ้วนหน้า
เปิดรายละเอียดงบปี 66 ‘กลาโหม’ลด 2%-กษ.เพิ่ม 1.6 หมื่นล. ค่าใช้จ่ายบุคลากรรัฐเกือบ 40%