ส.ส.ก้าวไกล ถามหานโยบาย 'มารดาประชารัฐ-เกิดปั๊บรับแสน' เห็นแต่สวัสดิการอนาถา เจอคนจน-ตกงานถ้วนหน้า 'จุติ' ร่ายยาวตั้งงบ 6.3 แสนล้าน ดูแลตั้งแต่เด็กถึงคนชรา ยอมรับทำตามสัญญาหาเสียงไม่ได้ เพราะใช้เงินดูแลคนไทยช่วงโควิด รวม 1.5 ล้านล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 31 พ.ค.2565 สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 3,185,000 ล้านบาทเป็นวันแรก ในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ โดยมีกำหนดการพิจารณาระหว่างวันที่ 31 พ.ค. – 2 มิ.ย.2565
เมื่อเวลา 20.20 น. น.ส.วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงงบด้านสวัสดิการ โดยระบุว่า เป็นงบที่มีอยู่ต่ำเตี้ยและปีนี้ถูกตั้งไว้โดยไม่ได้คำนึงถึงอนาคตคนส่วนใหญ่ หากย้อนไปปี 2562 หลายคนลืมไปแล้วหรือแสร้งทำเป็นจำไม่ได้ว่าเคยสัญญาหาเสียงอะไรไว้กับประชาชนทั้งประเทศ
นโยบายหลักของรัฐบาลไม่ได้เยอะเหมือนผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ อยากให้ย้อนดูนโยบายพรรคท่านว่าทำได้ตามที่หาเสียงหรือไม่ ยกตัวอย่าง มารดาประชารัฐถ้วนหน้า ทุกวันนี้คนจนถ้วนหน้า ตกงานถ้วนหน้า ธุรกิจเจ๊งถ้วนหน้า ซึ่งก็แอบลุ้นว่าปีสุดท้ายจะมีนโยบายอะไรบ้าง แต่สุดท้ายก็ไม่มีการตั้งงบประมาณอะไรที่ตรงไว้ตามที่หาเสียงไว้แม้แต่ข้อเดียว
ไม่ว่าจะนโยบายมารดาประชารัฐที่ให้เงินเลี้ยงดูเด็กเล็ก 0-6 ปี คนละ 2,000 บาท หรือนโยบายเกิดปั๊บรับแสน ที่ให้เด็ก 0-8 ปี คนละ 1,000 บาท แต่เมื่อดูงบประมาณแต่ละปีของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่พรรคการเมืองของรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงมีนโยบายหาเสียงเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ 1,000 บาทถ้วนหน้า ซึ่งจะต้องใช้เงินปีละ 81,500 ล้านบานท แต่ดูตั้งแต่ปี 2563-2565 ก็ตั้งงบประมาณไว้ไม่แตกต่างจากเดิม และดูปี 2566 เห็นแล้วใจหาย เพราะลดลงเหลือ 16,321 ล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าปีที่แล้ว เท่ากับว่าเงิน 600 บาทถ้วนยังไม่สามารถทำได้
ส่วนสวัสดิการที่รัฐบาลภูมิใจนักหนา แต่ในงบประมาณ 2566 ตั้งไว้ไม่พอใช้คือ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ต้องมีอย่างต่ำปีละ 5 หมื่นล้านบาท แต่พบว่าตั้งงบไว้เพียง 3.5 หมื่นล้านบาท เหมือนสวัสดิการชิงโชค ซ้ำยังบอกว่าจะเพิ่มคนได้รับสิทธิ์จาก 14.6 ล้านคนเป็น 20 ล้านคน เฉพาะของเดิมยังไม่พอ และเป็นอีกครั้งที่พูดแล้วทำไม่ได้ตามเป้าและสารภาพผ่านการตั้งงบประมาณ ประชาชนต้องไปหวังเอาดาบหน้า เพราะบัตรนี้ไม่ได้ให้ถ้วนหน้า ต้องผ่านการคัดกรองจนพิสูจน์ว่าจนจริงๆถึงจะได้
“สิ่งที่พูดทุกครั้งในวาระงบประมาณ ไม่ได้มีอะไรเกินเลยไปกว่าการกระตุ้นเตือนให้รัฐบาลทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ แต่พอเข้ามาก็เป็นแค่การโฆษณาเท่านั้น ขอย้ำว่าไม่ว่าจะเรื่องเด็ก แรงงานนอกระบบ เบี้ยผู้สูงอายุ หากพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลจะไม่ใช่แค่การโฆษณา เพราะเราจะทำด้วยการเปลี่ยนสวัสดิการอนาถาให้เป็นสวัสดิการถ้วนหน้า” น.ส.วรรณวิภา กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้ายของการอภิปราย ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้พร้อมใจกันชูภาพนโยบายที่พรรคพลังประชารัฐใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2562 โดย น.ส.วรรณวิภา กล่าวด้วยว่า “เพื่อไม่ให้นายกรัฐมนตรีลืมเรื่องเหล่านี้ ดิฉันจึงมีของมาเตือนความจำ เพื่อไม่ให้หลงลืม เพราะป้ายหาเสียงนี้ติดไว้ทุกช่องทางในช่วงที่มีการเลือกตั้ง ก็ได้แต่หวังว่าอย่าได้เอาเรื่องเหล่านี้ไปหลอกลวงประชาชนในการหาเสียงครั้งหน้าอีก
ต่อมา นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ชี้แจงว่า สวัสดิการรัฐไม่ได้อนาถา ส่วนที่ทำถ้วนหน้าไม่ได้ อยากกราบเรียนว่าตัวเลขไม่ได้โกหก และไม่อยากให้ดูแค่มิติเดียว เพราะร่างงบประมาณ 2566 ที่ดูแลประชาชน ไม่อนาถาแน่นอน ในกลุ่มเด็ก มีงบสนับสนุนเด็กแรกเกิด งบสงเคราะห์ครอบครัวเด็กขาดแคลนและเด็กฝากเลี้ยงตามบ้าน งบช่วยเหลือค่าเลี้ยงดูครอบครัวอุปถัมภ์ งบจัดการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 15 ปี งบกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา งบอุดหนุนสภาเด็กและเยาวชน งบอาหารกลางวันนักเรียน งบนมโรงเรียน
เมื่อเข้าสู่วัยทำงาน ก็มีเงินชดเชยกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย เงินชดเชยกรณีว่างงานจากการถูกเลิกจ้าง เงินชดเชยกรณีว่างงานจากการลาออก
ผู้สูงอายุ มีเบี้ยสนับสนุนผู้สุงอายุ สวัสดิการจัดงานศพผู้สุงอายุตามประเพณี งบปรับปรุงซ่อมแซมบ้านผู้สูงอายุ
นอกจากนั้นยังมี งบช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยตามบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ งบเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยและคนไร้ที่พึ่ง งบพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อย งบปรับปรุงที่อยู่อาศัยเพื่อแก้ปัญหาชุมชนแออัด งบสนับสนุนเบี้ยยังชีพความพิการ
และยังมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบบประกันสังคม ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ พนักงานของรัฐ พนักงานท้องถิ่นลูกจ้าง และงบสนับสนุนค่าป่วยและค่าพัฒนาศักยภาพ อสม.
ทั้งหมดเป็นงบประมาณดูแลสวัสดิการประชาชนแบบครบวงจร และใช้เงินทั้งหมด 632,582 ล้านบาท จึงอยากชี้แจงให้เข้าใจ
นายจุติ กล่าวด้วยว่า หลายท่านบอกว่ารัฐบาลไม่ทำตามสัญญา ก็บอกได้เลยว่า ทั้งงบเด็กแรกเกิด เราเลือกตั้งปี 2562 ต่อมาปี 2563 -2564 ก็เจอโควิดทั้งปี จนวันนี้ปี 2565 อภิปรายงบประมาณก็ยังต้องใส่หน้ากาก และที่ผ่านมาใช้เงินทุกบาททุกสตางค์รักษาชีวิตของคนไทยให้ป่วยโควิดน้อยที่สุด เสียชีวิตให้น้อยที่สุด ไม่เคยมีรัฐบาลชุดไหนที่จะดูแลประชาชนในช่วงมีภัยอย่างนี้ รวมทุกหมวด ค่ารักษาพยาบาล โรงพยาบาลสนาม เงินเยียวยา ใช้ดูแลประชาชนไป 1.5 ล้านล้านบาท
“ท่านก็รักประชาชน รักประเทศ รัฐบาลก็รักประชาชน รักประเทศ เราไม่มีสีครับ ไม่มีฝ่ายค้าน รัฐบาล วันนี้ถ้าจะจับมือทำงานด้วยกัน สิ่งที่ชี้แนะเป็นประโยชน์ก็จะรับไปปรับปรุง สิ่งใดที่เข้าใจผิดหรือมองไม่ครบวงจร ก็ขอความกรุณาทำความเข้าใจกับสิ่งที่รัฐบาลพยายามอธิบายกับท่านด้วย” นายจุติ กล่าว
'พิธา'เปรียบรัฐเหมือนช้างป่วย ปรับตัวไม่ได้'ไพบูลย์'ฉะฝ่ายค้านด้อยค่า
เมื่อเวลา 12.30 น.นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายว่า งบประมาณปีนี้เป็นปีหัวเลี้ยวหัวต่อและสำคัญ ถ้าเราจัดงบปีนี้ดีประเทศจะทะยานไปข้างหน้า เป็นจุดตัด จุดเปลี่ยนของประเทศ แต่ถ้าจัดงบไม่ดี ทศวรรษที่แล้วไม่ดีอย่างไร ทศวรรษหน้าก็จะเป็นเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งจากการพิจารณาปีนี้เป็นงบช้างป่วยที่ปรับตัวไม่ได้ รายได้ผันผวน รายจ่ายแข็งตัว การกู้จะหลุดกรอบ เพราะรายได้ 2.49 ล้านล้านบาท ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย เราจำเป็นต้องกู้เพิ่มอีก 6.95 แสนล้านบาท แต่ปัจจัยเสี่ยงการเก็บภาษีของเราถดถอยลง ประกอบกับภาวะเงินเฟ้อที่สูงทำให้ภาระเงินกู้สูงขึ้นด้วย ในส่วนของเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ข้าราชการ วงเงินงบประมาณ 3 แสนกว่าล้านบาท คือรายจ่ายที่สูงเท่ากับกระทรวงศึกษาทั้งกระทรวง
นี่คือปัญหาของช้างป่วยที่ปรับตัวไม่ได้ โครงสร้างงบประมาณตั้งแต่ปี 57- 65 งบประมาณ 75% เป็นงบประจำทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรในประเทศ การตั้งงบประมาณไม่ได้ตอบสนองกับวิกฤตหรือโอกาสในปีหน้าแต่อย่างใด นี่เป็นยาขมที่ทุกคนต้องกลืน เป็นโครงสร้างงบประมาณที่น่ากลัว
“ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เงินใช้ไปกับบำนาญมากขึ้น 2 เท่า โดยปี 57 บำนาญอยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท ปี 66 อยู่ที่ 3.22 แสนล้านบาท ตอนนี้เรามีข้าราชการเกษียณ 8 แสนคน แต่ในปี 2580 จะมีข้าราชการเกษียณ 1.2 ล้านคน แค่บำนาญของบุคคลากรก็เกินงบประมาณที่เราจะใช้ไปเยอะมาก กระบวนการรัฐราชการ รัฐอุ้ยอ้าย จึงเป็นช้างป่วยที่ปรับตัวไม่ได้ เราจะแก้ไขเรื่องนี้กันอย่างไร ถ้าปล่อยไว้แบบนี้ประเทศจะพัฒนาได้อย่างไร” นายพิธา กล่าว
นายพิธา กล่าวต่อว่า 70% ของงบประมาณ หมดไปกับอดีต เหลือใช้จริงไม่ถึง 1 ล้านล้านบาทที่จะนำมาฟื้นฟูประเทศ สร้างความหวังให้ประชาชน ถือว่าเป็นปัญหา แต่ยังสามารถทำให้ประชาชนมีความหวังได้ ด้วยการใช้งบอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างสรรค์ ยุติธรรม แต่พอดูรายละเอียดปรากฏว่า งบภาคการเกษตร 5.7 หมื่นล้านบาท เป็นการชำระหนี้ให้กับนโยบายประกันกับจำนำข้าวย้อนหลังไปถึงปี 2551
นายพิธา กล่าวอีกว่า ประเทศจะมีความหวังประเทศต้องมีความเป็นธรรม ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจ เมื่อนำงบประมาณที่ตั้งไว้ให้กับอีอีซี 1.1 หมื่นล้านบาท มาเทียบกับงบเอสเอ็มอี 2.7 พันล้านบาท เป็นการตั้งงบที่ละเลยทุนตัวเล็กตัวน้อย ไม่ยุติธรรม จึงเป็นปัญหาที่ทำให้ประเทศในช่วงที่ประชาชนควรจะมีความหวัง การฟื้นฟูเศรษฐกิจไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะไม่ยุติธรรม ไม่สร้างสรรค์ และไม่มีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุผลเหล่านี้ทำให้ตนไม่สามารถรับหลักการร่างพ.ร.บ.งบฯ ฉบับนี้ได้
ขณะที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อภิปรายว่า ตนชอบการจัดงบประมาณปีนี้ แต่เสียดายที่แกนนำพรรคฝ่ายค้านตั้งฉายาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ เป็นขอทานจัดงานวันเกิด เป็นการด้อยค่าเงินที่จะถึงมือประชาชน จึงขอถามว่าพูดอย่างนี้ทำไม ขณะเดียวกัน แกนนำพรรคฝ่ายค้านอีกคนเปรยว่าเป็นงบประมาณเหมือนช้างป่วยที่ปรับตัวไม่ได้ ตนขออนุญาตแก้ต่างแทนว่า ช้างนี้ไม่ได้ป่วย แม้จะพบสารพัดโรคกระหน่ำรุนแรง แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังดูแลขับเคลื่อนประเทศไทย ที่เสมือนช้างทรงพลังเดินหน้าฝ่าวิกฤติได้ ไม่เช่นนั้นมาไม่ได้ถึงขนาดนี้ ดังนั้นถือว่าเป็นช้างที่ปรับตัวได้อย่างดี พร้อมต่อสู้วิกฤติต่างๆ ย้ำว่าเราเป็นช้างมีพลังเดินหน้าไปสู่ความมั่งคงยั่งยืน
นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณี ส.ส.ฝ่ายค้านประกาศโหวตคว่ำร่างพ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ ท่านมีเงินเดือน มีเงินประจำตำแหน่งกันทุกคน ไม่กลัวเดือดร้อน แต่ประชาชนที่รอความช่วยเหลือจากงบประมาณนี้เดือดร้อนกัน จึงไม่เห็นด้วยที่จะไม่โหวตสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชน เชื่อว่า ส.ส.ที่รักประชาชนมุ่งมั่นดูแลให้ประชาชนได้งบประมาณนั้น จะช่วยกันโหวตให้ร่างฉบับนี้ผ่านสภาฯ
“ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ เปรียบเสมือนสายฝนพร่างพรม โปรยปรายทั่วทั้งแผ่นดิน อำนวยความสดชื่นชื่นฉ่ำให้ชีวิตชีวาให้กับประชาชนทั้งแผ่นดินที่รอคอยความช่วยเหลือจากรัฐ ซึ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็ยืนยันว่าพรรคจะสนับสนุนเห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้” นายไพบูลย์ กล่าว
ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงว่า งบลงทุน 6.9 แสนล้านบาทหรือ 21.8% ของวงเงินงบประมาณ เป็นไปตามกฎหมาย นอกจากนี้ภาครัฐยังลงทุนในส่วนอื่นๆ อีกด้วย เช่น เงินกู้ การร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน จึงอยากบอกว่างบลงทุนไม่ได้มีแค่เฉพาะในงบประมาณรายจ่ายเท่านั้น
ส่วนการพัฒนาด้านการเกษตรนั้น สิ่งที่ทำวันนี้คือเพื่ออนาคต นอกจากประกันสินค้าการเกษตร 6 ชนิด เรายังเพิ่มและปรับปรุงทำให้เกษตรกรแข็งแรงไปด้วยกัน อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปี 2554 โครงการรับจำนำข้าว ขาดทุน 9.5 แสนล้านบาท รัฐบาลชุดนี้ตั้งงบประมาณชำระหนี้ไปแล้ว 7.8 แสนล้านบาท คงเหลือเงินต้นและดอกเบี้ย 3 แสนล้านบาท ย้ำว่าเราต้องให้เบ็ดตกปลา และต้องให้ปลาไปด้วย เพื่อให้ประชาชนอยู่ได้ อยู่รอดปลอดภัย
มติฝ่ายค้านไม่รับหลักการ'ชลน่าน'จี้นายกฯคืนความสุขด้วยการยุบสภา-ลาออก
ต่อมาเวลา 11.00 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายว่า ทุกปีงบประมาณมีความสำคัญ สภาไม่เคยปฏิเสธ แม้ 2-3 ปีที่ผ่านมา การพิจารณางบประมาณ พรรคร่วมฝ่ายค้านส่วนใหญ่มีมติไม่เห็นชอบในวาระรับหลักการ แต่เราเข้าใจว่ามีความจำเป็นในการใช้งบประมาณ ก็มีข้อเสนอแนะ ข้อติตง เพื่อเข้านำไปสู่การพิจารณาในวาระที่ 2-3 ทำทุกอย่างเพื่อตอบสนองกับสิ่งที่รัฐบาลบอกว่าจะแก้ปัญหาให้กับประเทศ แต่ที่ผ่านมา บอกได้เลยว่า สิ่งที่รัฐบาลเสนอมา ไม่เห็นความสำคัญของการบริหารประเทศ ไม่เห็นหัวประชาชน โดยเฉพาะผลสัมฤทธิ์ที่นำงบประมาณไปใช้ไม่ได้ตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาประเทศ
“กราบเรียนท่านประธานและไม่อ้อมค้อมแบบตรงไปตรงมา มติพรรคร่วมฝ่ายค้านเราบอกชัดเจนว่า จากการดูเอกสารทั้งหมด ประกอบกับสภาวะ สถานการณ์ของประเทศขณะนี้ ประกอบกับผู้บริหารงบประมาณคือคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐบาลที่นำเม็ดเงินไปใช้ให้เกิดประโยชน์ นำเรียนเบื้องต้นเลยว่า เราไม่สามารถที่จะรับหลักการได้เลย เพราะการรับหลักการเป็นการทำลายประเทศ สู้เสียโอกาสไปบ้าง ใช้เวลาไม่มากนัก แล้วนำเม็ดเงินไปจัดสรรใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด” นพ.ชลน่าน กล่าว
เหตุผลแรกสุดที่ไม่อาจอนุญาตให้รัฐบาลบริหารงบประมาณก้อนนี้ต่อไป เพราะเป็นรัฐบาลหมดสภาพ ทั้งเรื่องการบริหารจัดการ ขาดวิสัยทัศน์ บริหารในลักษณะที่คนทั่วไปบอกว่าบริหารด้วยวาจา แก้ตัวโยนโทษให้คนอื่น นี่คือความหมดสภาพของรัฐบาลชุดนี้ แต่ที่สำคัญ เจตนารมณ์มุ่งมั่นที่พยายามเหนี่ยวรั้ง หาโอกาสในการอยู่ต่อสืบทอดอำนาจทั้งที่ตัวเองไร้ความรู้ความสามารถ
“ผมเคารพท่านนายกรัฐมนตรีนะครับ ในฐานะเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศเรา ผมเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังเคารพท่าน แต่สิ่งที่ปรากฎต่อสายตาประชาชนเสมือนว่าท่านไม่เคารพตัวท่านเอง นอกจากขาดความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการแล้ว สิ่งที่พยายามจะบอกประชาชนตลอดเวลาว่าจะอยู่ในอำนาจได้ไม่นาน จะคืนความสุขให้ประชาชน 8 ปีนี้ มีหรือไม่ครับ” นพ.ชลน่าน กล่าว
นพ.ชลน่าน กล่าวด้วยว่า ในสถานการณ์ขณะนี้ กระแสประชาธิปไตยฟีเวอร์มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ประชาชนทุ่มเทเกือบ 1.4 ล้านเสียง กระแสเรียกร้องผู้นำที่เป็นคู่เทียบกับนายกรัฐมนตรี ยิ่งตอกย้ำเลยว่า บุคลิกลักษณะภาวะผู้นำการแสดงออก ให้ยิ่งเห็นเด่นชัดขึ้น ประชาชนจึงเรียกร้องนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง เรียกร้องผู้ว่าฯกทม.น่าจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะเอามาเปรียบเทียบภาวะผู้นำ วิธีการต่างๆที่ท่านแสดงออกมันเด่นชัดมาก 7-8 วันหลังเลือกตั้งห่างกันฟ้ากับดิน
นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า หากต้องแก้วิกฤติ ทำให้การบริหารงบประมาณเป็นไปด้วยดี นายกรัฐมนตรีเป็นกองปัญหาของประเทศ หากจะแก้ไข สิ่งแรกคือต้องเปลี่ยนผู้นำ จะเปลี่ยนด้วยวิธีการอะไรก็แล้วแต่ เชื่อว่าจะผู้นำคนใหม่จะพาพ้นวิกฤติได้ หากสภาเห็นพ้องต้องกัน ก็ลงมติไม่รับหลักการ และเชื่อว่านายกรัฐมนตรีมีจิตสำนึกที่จะรับผิดชอบในสิ่งที่ไม่สามารถบริหารประเทศต่อไปได้ มี 2 อย่างที่ตัดสินใจได้คือ ยุบสภากับลาออก
“นายกรัฐมนตรีขาดความรู้ความสามารถ รัฐบาลหมดสภาพ หากลงมติไม่อนุญาตให้บริหารงบประมาณ เราก็สามารถเปลี่ยนผู้นำได้ นั่นคือเหตุผลที่ฝ่ายค้านเรามาวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งว่าอยากจัดงบใหม่ และไม่รับงบประมาณนี้” นพ.ชลน่าน
นพ.ชลน่าน กล่าวทิ้งท้ายว่า โดยสรุปเราไม่อาจรับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2566 ที่จัดโดย พล.อ.ประยุทธ์ได้ เราไม่เห็นชอบ และไม่ต้องไปแก้ไขในชั้นกรรมาธิการ เราต้องการให้ตกไป จากรัฐบาลหมดสภาพ มีแต่ทางตันในการจัดงบประมาณ จัดงบแบบสิ้นหวัง ส่อโกง ส่อเอาไปเอื้อประโยชน์ เราจึงรับงบประมาณฉบับนี้ไม่ได้ ให้มันตกไปพร้อมกับรัฐบาล เราจะได้เปลี่ยนรัฐบาลกันใหม่ ประชาชนจะได้มีความสุข
“ถ้างบประมาณนี้ไม่ผ่านขั้นรับหลักการ ท่านจะเป็นผู้คืนความสุขให้กับประชาชน ท่านไม่เชื่อผมใช่ไหมครับ ไม่เชื่อ ท่านลองทำดู ประชาชนจะขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีที่มีกระจิตกระใจคืนความสุขให้เราบ้าง หลังจากชอกช้ำมา 8 ปี รีบทำเถอะครับ สมาชิกพรรคร่วมรัฐบาล หากได้ฟังคำอภิปราย โปรดช่วยกันลงมติไม่รับร่างงบประมาณ 2566 เพื่อสร้างโอกาส อนาคต สร้างความหวังให้ประเทศชาติบ้านเมืองต่อไป” นพ.ชลน่าน กล่าว
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ อภิปรายชี้แจงว่า ทุกปีที่เสนองบประมาณเข้ามา แม้จะตั้งไว้ 3 ล้านล้านบาท แต่เสนอมากว่าจะปรับลดมาได้ก็ต้องสอดคล้องความต้องการกับประชาชนในพื้นที่ ไม่เหมือนสมัยก่อนบางคน ท่านพูดมา ตนก็พูดไป มีการประกาศว่าถ้าไม่เลือก ก็ไม่ให้ ไปดูว่าแผนงานโครงการลงทุกพื้นที่ทุกจังหวัดหรือไม่
“เรื่องของการส่อโกงอะไรต่างๆ ก็ไปพิสูจน์ในกระบวนกรยุติธรรม มีหลักฐานก็ฟ้องร้องกันไป กรุณาย้อนกลับไปดูด้วยว่า ที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้น ในกระบวนการยุติธรรม มีติดคุก หนีคดีหรือไม่” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกฯแถลงหลักการ ทำงบแบบขาดดุล 6.95 แสนล้าน หนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ
เมื่อเวลา 10.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แถลงหลักการและเหตุผลว่า เราได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 3,185,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากปีก่อน โดยใช้งบประมาณเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศตามแผนงานต่างๆ
สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ตามคำแถลงของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อ 17 พ.ค.2565 การขยายตัวจีดีพีอยู่ที่ 2.5-3.5% และอัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วง 4.2-5.2% ส่วนเศรษฐกิจไทยปี 2566 คาดว่าจะขยายตัว 3.2-4.2% คาดว่าอัตราเงินเฟ้อ อยู่ในช่วง 0.5-1.5% มีปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวต่อเนื่องของอุปสงค์ในประเทศ การท่องเที่ยวขยายตัว ส่งออกสินค้าขยายตัวในเกณฑ์ดี ขณะเดียวกันยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงจากควาผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก การกลายพันธุ์ของและการระบาดของไวรัส รวมทั้งการลดแรงขับเคลื่อนทางการคลัง
ภายใต้สภาวการณ์เศรษฐกิจดังกล่าว รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัว ทำงบแบบขาดุลเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยปีงบประมาณ 2566 คาดว่ารายได้จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ประมาณการว่าจะจัดเก็บรายได้ 2,614,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.1% และหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 124,100 ล้านบาท คงเหลือรายได้สุทธิ 2,490,000 ล้านบาท
งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 จำนวน 3,185,000 ล้านบาท เป็นการทำงบแบบขาดดุล มีรายได้ 2,490,000 ล้านบาท เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 695,000 ล้านบาท
สำหรับฐานะการคลัง หนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มี.ค.2565 มีจำนวน 9,951,962.7 ล้านบาท คิดเป็น 60.6% ของจีดีพี อยู่ภายใต้กรอบการบริหารนี้สาธารณะตามกฎหมายที่กำหนดไว้ 70% โดยหนี้สาธารณะที่เป็นข้อผูกพันของรัฐบาลซึ่งเกิดจากการกู้ยืมเงินโดยตรงและการค้ำประกันเงินกู้โดยรัฐบาล มีจำนวน 9,478,592.1 ล้านบาท สถานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 30 เม.ย.2565 มีจำนวน 398,825.2 ล้านบาท รัฐบาลจะบริหารให้อยู่ในระดับเหมาะสมและบริหารรายรับรายจ่ายให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด
ขณะที่นโยบายการจัดทำงบประมาณปีนี้ รัฐบาลได้ทำให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน กำหนดแนวทางการจัดสรรงบประมาณที่สำคัญ ดังนี้ 1.สอดคล้องแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนระดับต่างๆ โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางจัดสรรงบประมาณ 2.ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า 3.ส่งเสริมการกระจายอำนาจให้ อปท. 4.จัดทำงบประมาณครอบคลุมทุกแหล่งเงิน 5.ดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ และมติ ครม.ที่เกี่ยวข้อง
ส่วนโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วงเงิน 3,185,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 2,396,942.2 ล้านบาท คิดเป็น 75.26% รายจ่ายลงทุน 695,077.4 ล้านบาท คิดเป็น 21.82% รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 100,000 ล้านบาท คิดเป็น 3.14%
เมื่อจำแนกกลุ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 แบ่งเป็น งบกลาง 590,470 ล้านบาท รายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ 1,090,329.6 ล้านบาท รายจ่ายบูรณาการ 218,477.7 ล้านบาท รายจ่ายบุคลากร 772,119.1 ล้านบาท รายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน 206,985.6 ล้านบาท และรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ 306,618 ล้านบาท
ขณะที่ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ แบ่งออกเป็น 6 ยุทธศาสตร์ 61 แผนงาน คือ 1.ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง 296,003.6 ล้านบาท หรือ 9.3% 2.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 396,125.5 ล้านบาท หรือ 12.4% 3.ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 549,514 ล้านบาท หรือ 17.2% 4.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 759,861.3 ล้านบาทหรือ 23.9% 5.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 122,964.9 ล้านบาท หรือ 3.9% 6.ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ 658,012.7 ล้านบาท หรือ 20.7%
ทั้งนี้ยังได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายสำหรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น บริหารจัดการหนี้ภาครัฐ วงเงิน 402,518 ล้านบาทหรือ 12.6% แบ่งเป็น แผนบริหารเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 95,900 ล้านบาท และแผนงานบริหารจัดการหนี้ 306,618 ล้านบาท