"...จำเลย แถลงว่าประสงค์จะสืบพยาน 25 ปาก ...โดยจำเลยอ้างตนเองเป็นพยานในประเด็นและข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง ส่วนพยานบุคคลปากอื่น จำเลยไม่ได้ชี้ช่องพยานให้ปรากฏรายละเอียดว่าจะสืบพยานบุคคลในประเด็นและข้อเท็จจริงอย่างใด..เบื้องต้น ศาลฯ เห็นควรสืบพยานจำเลย 3 ปาก..."
"การชี้มูลความผิดทางคดีอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จนกว่าจะมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดจากศาล และศาลฯ ยังไม่ได้มีคำพิพากษาชี้ขาด นายฐานันดร จึงยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่"
คือ ข้อมูลสุดท้าย ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ทิ้งท้ายไว้
ในการนำเสนอข้อมูลเชิงลึก กรณี นายฐานันดร กิตติวงศากูล อดีตผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องในข้อหาหรือฐานความผิดกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เกี่ยวกับการเรียกรับเงินจำนวนสูงถึง 20 ล้านบาท เพื่อแลกเปลี่ยนกับการวิ่งเต้นช่วยเหลือคดีผู้ต้องหาชาวไต้หวันที่หลบหนีคดีความฉ้อโกงเงินธนาคารในไต้หวันเข้ามาในประเทศไทยให้ได้รับการประกันตัวชั่วคราว ที่อยู่ระหว่างการต่อสู้คดีในชั้นศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ณ ขณะนี้
หากใครยังจำได้ ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับคดีนี้ ที่สำนักข่าวอิศรา นำมาเสนอไปแล้ว ประกอบไปด้วย
1. รายละเอียดพฤติการณ์การกระทำความผิด นายฐานันดร กิตติวงศากูล ที่ปรากฏอยู่ในรายงานผลการสอบสวนคดีนี้ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นเรื่องราวทั้งหมด ในการเจรจาต่อรองเรียกรับเงินเพื่อแลกเปลี่ยนกับการวิ่งเต้นช่วยเหลือคดี นายฉิน เสียง ยวี่ หรือนายหลิน ชิง ฉง ชาวไต้หวัน ผู้ต้องหาในคดีการปลอมแปลงหนังสือเดินทางที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดสมุทรปราการ ระหว่างนายฐานันดรและตัวแทนผู้ต้องหาชาวไต้หวัน ซึ่งเป็นชาวไทยกลุ่มหนึ่ง มีการนัดพบปะพูดคุยที่โรงแรม ขั้นตอนการรับเงิน รวมถึงข้อมูลตัวละครลับผู้พิพากษารายหนึ่ง ที่นายฐานันดรอ้างว่าเป็นรุ่นน้องอยู่ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ มีความสนิทสนมกับนายฐานันดร สามารถช่วยเหลือในทางคดีได้
รวมไปถึงขั้นตอนการยื่นเรื่องขอประกันตัว แต่ไม่สำเร็จ ไม่ได้รับการปล่อยตัว ก่อนที่จะมีการเจรจาต่อรองจ่ายเงินส่วนที่เหลือเพิ่มเติม ซึ่งในช่วงที่มีการนัดรับมอบเงิน ทางตัวแทนผู้ต้องหามีการแอบบันทึกภาพเหตุการณ์เอาไว้ รวมไปถึงการทำสัญญาว่าจ้างเรื่องนี้ด้วยว่า ถ้าหากไม่สามารถดำเนินการให้มีการปล่อยตัวชาวไต้หวันได้จะมีการเงินที่รับไปคืนทั้งหมด รวมการจ่ายเงิน 4 ครั้ง แยกเป็น 1 ล้านบาท, 3 ล้านบาท , 7 ล้านบาท และ 9 ล้านบาท
ก่อนที่จะมีการทำหนังสือขอความเป็นธรรมยื่นต่อประธานศาลอุทธรณ์ภาค 8 กล่าวหาว่า นายฐานันดร หลอกเอาเงิน 20 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวนแต่ไม่สามารถทำได้ ทางศาลฯจึงมีการสอบสวนคดี และส่งผลการสอบสวนให้ ป.ป.ช.จนนำมาสู่การยื่นเรื่องฟ้องร้องคดีอาญาในชั้นศาลดังกล่าว
2. ข้อมูลการจำแนกจัดกลุ่มผู้เกี่ยวข้องในคดีนี้ ที่ปรากฏอยู่ในสำนวนการสอบสวน แบ่งออก 2 กลุ่ม จำนวน 10 คน แยกเป็นฝั่งเรียกสินบน 5 ราย และฝั่งจ่ายสินบน 5 ราย
3. ข้อมูลผู้พิพากษาปริศนารายหนึ่ง ที่เข้าไปเกี่ยวข้องในขั้นตอนการประกันตัว นายฉิน เสียง ยวี่ โดยภายหลังจากที่เรื่องของ นายฐานันดร เข้าสู่กระบวนการสอบสวนของศาลฯ ไปแล้ว ผู้พิพากษารายนี้ได้อนุญาตให้มีการให้ประกันตัว นายฉิน เสียง ยวี่ ออกไป แต่หลังจากประกันตัว นายฉิน เสียง ยวี่ ไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี จึงยังไม่ถือว่ามีความเสียหายในทางคดีเกิดขึ้น และการสอบสวนไม่พบหลักฐานการเงินวิ่งเต้นคดีเพื่อช่วยเหลือให้กันตัวเชื่อมโยงไปถึง จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้พิพากษารายใหม่นี้ ถูกลงโทษวินัยไม่ร้ายแรง และคำสั่งภาคทัณฑ์เท่านั้น
4. ปัจจุบัน นายฐานันดร ก็ถูกไล่ออกจากราชการ เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ไปแล้ว
- เรียกสินบนชาวไต้หวัน 20 ล.! ป.ป.ช.ฟ้องเองคดีอดีต พ.ศาลอุทธรณ์ -ให้ยึดทรัพย์ด้วย (1)
- ทำไม่สำเร็จ-ย้อนขอเงินเพิ่ม! เบื้องลึก คดีอดีต พ.ศาลอุทธรณ์ เรียกสินบนชาวไต้หวัน 20 ล. (2)
- ข้อมูลใหม่คดีสินบน20 ล.! ผู้พิพากษาราย 2 ให้ประกันตัวชาวไต้หวันถูกลงโทษวินัยไม่ร้ายแรง (3)
- เจรจาครั้งแรกขอ 60 ล.! เผยสำนวนสอบคดีอดีต พ.ศาลอุทธรณ์ เรียกสินบนไต้หวันช่วยประกันตัว (4)
- เปิดสำนวนสอบคดีอดีตพ.ศาลอุทธรณ์ เรียกสินบน 20 ล. (1) คุณมีงบประมาณเท่าไหร่? (5)
- สำนวนสอบคดีอดีตพ.ศาลอุทธรณ์ เรียกสินบน20ล.(2) รับเงินเสร็จบินกลับไปปฏิบัติหน้าที่ต่อ (6)
- จำแนก 10 ตัวละคร คดีอดีต พ.ศาลอุทธรณ์เรียกสินบน 20 ล. อ้างผู้พิพากษาหลายคนร่วมขบวนการ? (7)
- INFO : ไขตัวละคร คดีอดีต พ.ศาลอุทธรณ์ เรียกสินบนชาวไต้หวัน 20 ล้าน (8)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับแจ้งข้อมูลความคืบหน้าการต่อสู้คดีนี้ ในชั้นศาล ระหว่าง โจทก์ คือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จำเลย คือ นายฐานันดร กิตติวงศากูล
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้นัดตรวจพยานหลักฐาน โจทก์ จำเลย และทนายจำเลย มาศาล
โจทก์แถลงว่า ประสงค์จะสืบพยานบุคคล 10 ปาก ตามบัญชีระบุพยานโจทก์ ลงวันที่ 27 กันยายน 2565 แต่จากการตรวจพยานหลักฐานระหว่างศาลกับคู่ความแล้ว ศาลเห็นควรสืบพยานโจทก์ 2 ปาก ได้แก่ นาย พ. ในประเด็นและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์และการกระทำของจำเลยในการเรียกรับเงินเป็นค่าดำเนินการจำนวน 20,000,000 บาท โดยอ้างว่าสามารถให้ความช่วยเหลือในการปล่อยชั่วคราว นายฉิน เสียง ยวี่ ผู้ต้องหาในคดีอาญาของศาลจังหวัดสมุทรปราการ
(หมายเหตุ อิศรา : นาย พ. เป็นตัวแทนฝั่งนายฉิน เสียง ยวี่ หรือนายหลิน ชิง ฉง มาเจรจาเกี่ยวกับการช่วยเหลือขอประกันตัวชั่วคราว มีอีกชื่อว่า "โก พ.(ชื่อย่อ)" ซึ่งเป็นชื่อเล่นของนาย พ. ที่เรียกกันทั่วไป และเป็นผู้ทำหนังสือขอความเป็นธรรมยื่นต่อประธานศาลอุทธรณ์ภาค 8 กล่าวหาว่า นายฐานันดร หลอกเอาเงิน 20 ล้านบาท ทั้งนี้ มีข้อมูลเชิงลึกว่า นาย พ. ประกอบอาชีพส่วนตัว ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการท่องเที่ยว โดยบริหารงานให้กับกลุ่มชาวจีน ขณะที่ นายฉิน เสียง ยวี่ เป็นญาติของเจ้านาย นาย พ.)
และนาย ก. ซึ่งเป็นคณะไต่สวนเบื้องต้นผู้รวบรวมพยานหลักฐานในคดีนี้ ในประเด็นและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการไต่สวนพฤติการณ์การกระทำความผิดและการชี้มูลความผิดของจำเลยตามฟ้อง ขอให้ศาลหมายเรียกพยานมาศาลในวันนัด
ขณะที่ จำเลย แถลงว่าประสงค์จะสืบพยาน 25 ปาก ตามบัญชีระบุพยานจำเลย ลงวันที่ 27 กันยายน 2565 บัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ครั้งที่ 2 ลงวันที่ 6 ธันวาคม 2565 บัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ครั้งที่ 3 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2565 และบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ครั้งที่ 4 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2565
โดยจำเลยอ้างตนเองเป็นพยานในประเด็นและข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง ส่วนพยานบุคคลปากอื่น จำเลยไม่ได้ชี้ช่องพยานให้ปรากฏรายละเอียดว่าจะสืบพยานบุคคลในประเด็นและข้อเท็จจริงอย่างใด
เบื้องต้น ศาลฯ เห็นควรสืบพยานจำเลย 3 ปาก ได้แก่
1. จำเลย ในประเด็นและข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง
2. ผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาประดิพัทธ หรือผู้แทน ในประเด็นและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายการเดินบัญชีเงินฝากบัญชีเลขที่ XXXXX ชื่อบัญชีนาย พ. เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2561 ว่ามีการถอนเงินจากหน้าเคาน์เตอร์ธนาคารกสิกรไทย สาขาประดิพัทธ กรุงเทพมหานคร ใช่หรือไม่
และ 3. นาย จ. (ชาวจีน) ในประเด็นและข้อเท็จจริงว่า นาย จ. เป็นเจ้าของเงินที่นาย พ. อ้างว่านำมาใช้จูงใจจำเลยจริงหรือไม่
โดยให้นัดพร้อมก่อนสืบพยาน จำนวน 1 นัด ในวันดังกล่าวจำเลยไม่ต้องมาศาลก็ได้
กำหนดนัดสืบพยานโจทก์ จำนวน 2 ปาก และสืบพยานจำเลย จำนวน 3 ปาก รวม 1 นัด ให้โจทก์นำพยานเข้าสืบก่อน แล้วจึงให้สืบพยานจำเลย โดยให้คู่ความไปกำหนดวันนัดที่ศูนย์นัดความ
ทั้งหมดนี่ คือความคืบหน้าล่าสุดในการต่อสู้คดีนี้ในชั้นศาล หลังจากเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายฐานันดร กิตติวงศากูล อดีตผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ต่อ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในข้อหาหรือฐานความผิดกระทำความผิดฐานทุจริต ต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เกี่ยวกับการเรียกรับเงินจำนวน 20 ล้านบาท เพื่อแลกเปลี่ยนกับการวิ่งเต้นช่วยเหลือคดีชาวไต้หวันกลุ่มหนึ่งที่หลบหนีคดีเข้ามาในประเทศไทย
หลัง ป.ป.ช. ขอให้ศาลลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 171 , 175 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 30 วรรคสอง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 128, 129 ประกอบมาตรา 169 , 194 และประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐ พ.ศ. 2543 ข้อ 5 (2) และประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง พ.ศ. 2563 ข้อ 5 และข้อ 6 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 83 , 84 ประกอบมาตรา 93 วรรคสอง
นอกจากนี้ ยังขอให้ศาลสั่งและบังคับจำเลยตามคำขอ คือ ขอให้ริบทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ของจำเลย รวมเป็นเงินจำนวน 20,000,000 บาท และหรือขอให้จำเลยชำระเงิน หรือทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ตามมูลค่า รวมเป็นเงินจำนวน 20,000,000 บาท ขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน หรือขอให้ริบทรัพย์สินอื่นของจำเลยแทนตามมูลค่าดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 83 และมาตรา 84 ประกอบมาตรา 93 วรรคสอง
โดยคดีนี้ ป.ป.ช.เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีเอง หลังจากการไต่สวนคดีชี้มูลความผิดทางอาญา และส่งสำนวนพยานเอกสารหลักฐานให้อัยการสูงสุด (อสส.) ฟ้องร้องดำเนินคดีแต่อัยการสูงสุด มีคำสั่งไม่ฟ้อง
บทสรุปสุดท้ายคดีนี้ ศาลฯ จะมีคำพิพากษาออกมาอย่างไร ต้องคอยติดตามดูกันอย่างใกล้ชิดต่อไป
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา รายงานระบุไปแล้วว่า พฤติการณ์การกระทำความผิดในข้อกล่าวหานี้ เป็นพฤติการณ์ของ นายฐานันดรเพียงคนเดียว ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรศาลในภาพรวมแต่อย่างใด