“...จะเห็นได้ว่า กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่เพิ่มขึ้นไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้สูงขึ้น ในทางกลับกันราคาก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้น ทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ จึงเป็นกรณีที่อัตราค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชน ไม่ได้แปรผันโดยตรงกับการเปิดโอกาสให้เอกชนมีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าและขายให้แก่รัฐแต่อย่างใด…”
........................................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กรณีที่กระทรวงพลังงานกำหนดยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน (พ.ศ.2559-2563) และแผนพัฒนากําลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ทำให้สัดส่วนกําลังการผลิตไฟฟ้าของรัฐลดลงต่ำกว่าร้อยละ 51 เป็นการกระทำที่ ‘ไม่ขัด’ หรือ ‘แย้ง’ ต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง
โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 วินิจฉัยว่า การกระทำของกระทรวงพลังงาน (ผู้ถูกร้องที่ 1) และคณะรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 2) ที่ให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า เป็นการปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 วรรคสอง ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง
และมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 วินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 และผู้ถูกร้องที่ 2 ที่ให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า เป็นการปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 วรรคสามและวรรคสี่ ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง นั้น (อ่านประกอบ : 'ศาล รธน.'ชี้รัฐให้เอกชนผลิตไฟฟ้าเกิน 51% ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ-แนะกำหนด'เพดาน'กำลังการผลิต)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอรายละเอียดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีดังกล่าวมาให้สาธารณชนรับทราบ สรุปได้ดังนี้
@เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ม.56 วรรคสอง ห้ามแปรรูป ‘รัฐวิสาหกิจ’
คดีนี้ สุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า กระทรวงพลังงานกำหนดยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน (พ.ศ.2559-2563) และแผนพัฒนากําลังการผลิตไฟฟ้าฯ พ.ศ.2561-2580 ทำให้สัดส่วนกําลังการผลิตไฟฟ้าของรัฐลดลงต่ำกว่าร้อยละ 51 เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 ประกอบ มาตรา 3 วรรคสอง หรือไม่
ทั้งนี้ ศาลฯได้กำหนดประเด็นวินิจฉัยว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 และผู้ถูกร้องที่ 2 ที่ให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า เป็นการปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง หรือไม่
โดยศาลฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 56 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่มีหลักการมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 84 อนุ 11 ซึ่งบัญญัติขึ้นในสถานการณ์ที่บ้านเมืองในขณะนั้น ประสบปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ยังไม่มีความชัดเจน
จึงกำหนดหลักการบังคับมิให้รัฐกระทำการใด ให้โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่เป็นของรัฐ ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน หรือทำให้รัฐถือหุ้นน้อยกว่าเอกชนในการกิจการดังกล่าวไม่ได้
เพื่อเป็นหลักประกันไม่ให้มีการนำทรัพย์สินของรัฐไปแสวงหาประโยชน์ที่อาจทำให้รัฐได้รับความเสียหายได้ เนื่องจากการที่รัฐต้องจัดหรือจัดการให้สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ในบางครั้งมีความจำเป็นต้องใช้อำนาจมหาชนที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนบางประการ
เช่น พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 28 กำหนดให้รัฐมีอำนาจใช้สอย หรือเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์ในความครอบครองของบุคคลใดๆ เพื่อสร้างหรือบำรุงรักษาระบบไฟฟ้า และมาตรา 29 กำหนดให้รัฐมีอำนาจเดินสายส่งไฟฟ้า หรือสายจำหน่ายไฟฟ้า ไปใต้ เหนือ กลาง หรือข้ามพื้นดินของบุคคลใด เป็นต้น
ซึ่งเป็นอำนาจในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ หรือมีสิทธิเหนือทรัพย์สินของเอกชน และการที่รัฐมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มาจากการใช้อำนาจมหาชน และมาจากการลงทุนของรัฐที่ใช้งบประมาณ หรือเงินของแผ่นดิน จึงจำเป็นต้องกำหนดข้อห้ามมิให้รัฐกระทำด้วยประการใด ให้โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานดังกล่าวตกเป็นของเอกชนด้วย
สอดคล้องกับเอกสารการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 18 วันที่ 30 ต.ค.2558 และครั้งที่ 90 วันที่ 23 ก.พ.2559 สรุปได้ว่า การจัดหรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเป็นหน้าที่ของรัฐ และรัฐต้องมีการควบคุมกำกับที่ดี และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
เพื่อบังคับรัฐ มิให้นำเอาทรัพย์สินที่เป็นของรัฐอยู่เดิม ด้วยวิธีการแปรรูป การให้สาธารณูปโภคดังกล่าวตกเป็นของเอกชน แต่การจัดโครงสร้างหรือโครงข่ายบริการสาธารณูปโภคขึ้นใหม่ในอนาคต รัฐอาจเปิดโอกาสให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนและได้รับสัมปทานในการดำเนินการให้บริการแก่ประชาชนได้ โดยรัฐอาจมีหุ้นน้อยกว่าร้อยละ 51 ก็ได้
รัฐธรรมนูญ มาตรา 56 วรรคสอง และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 84 อนุ 11 มีหลักการเดียวกัน เพื่อกำหนดหลักการบังคับมิให้รัฐกระทำการโดยประการใด เพื่อให้โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่เป็นของรัฐ ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน หรือทำให้รัฐถือหุ้นน้อยกว่าเอกชน
โดยห้ามมิให้แปรรูปโครงสร้างหรือโครงข่ายสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน หากจำเป็นให้ทำได้เฉพาะการดำเนินการกิจการบางส่วนเท่าที่จำเป็น ซึ่งไม่ใช่โครงสร้างและโครงข่ายสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน
นอกจากนี้ การที่บทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 56 วรรคสอง บัญญัติถ้อยคำว่า “รัฐจะกระทำด้วยประการใดให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน หรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดมิได้” มีนัยยะแสดงให้เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าว มีความเกี่ยวข้องกับความหมายของรัฐวิสาหกิจตามที่กฎหมายต่างๆได้กำหนดนิยามไว้ เช่น พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 หรือ พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 เป็นต้น
@เอกชนร่วมผลิตไฟฟ้า ไม่ทำให้รัฐเป็นเจ้าของ ‘โครงข่ายฯ’ น้อยลง
ข้อที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 วรรคสอง กำหนดสัดส่วนความเป็นเจ้าของโครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐ อันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐร้อยละ 51 หมายถึงโครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐ ที่รัฐมีอยู่ก่อนแล้ว และรวมถึงที่จะมีต่อไปในอนคตด้วย
เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 56 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่มุ่งคุ้มครองกรรมสิทธิ์ของรัฐ หรือความเป็นเจ้าของของรัฐที่มีอยู่เดิมในโครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานดังกล่าว แต่ไม่ได้ห้ามเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัด หรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน
การให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า เป็นกรณีที่รัฐดำเนินการให้มีพลังงานไฟฟ้าที่เป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอย่างเพียงพอ และทั่วถึง อันสอดคล้องกันเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 เป็นการเพิ่มช่องทางหรือแหล่งในการจัดหาพลังงานไฟฟ้าให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ผ่านกลไกภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ที่มีการกำหนดวิธีการกำกับดูแลการประกอบกิจการไฟฟ้าของผู้รับใบอนุญาต เพื่อให้ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานและความปลอดภัย และสามารถแข่งขันอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม รวมถึงมาตรฐานเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าที่จะได้รับการบริการอย่างทั่วถึง ภายใต้อัตราค่าบริการที่เป็นธรรม
การให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า เอกชนที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการไฟฟ้า ต้องจัดหาหรือจัดให้มีโรงงานไฟฟ้าหรือแหล่งผลิตไฟฟ้า เพื่อให้การประกอบกิจการเป็นไปตามที่ได้รับอนุญาตโรงไฟฟ้าหรือแหล่งผลิตไฟฟ้า รวมทั้งระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่จัดให้มีขึ้นดังกล่าว จึงเป็นทรัพย์สินของเอกชนเพื่อใช้ในการประกอบกิจการไฟฟ้าเท่านั้น
แม้เอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าจะมีสัดส่วนหรือกำลังการผลิตเกินกว่าร้อยละ 51 แต่ไม่ใช่โครงสร้างหรือโครงข่ายพื้นฐานของกิจการไฟฟ้าที่เป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 วรรคสอง โดยไม่ทำให้สัดส่วนความเป็นเจ้าของในโครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐลดน้อยลง
@ให้เอกชนร่วม ‘ผลิตไฟฟ้า’ ไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ
ข้อที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า การที่รัฐให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า ทำให้สัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของรัฐลดลง จนมีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ โดยรัฐเป็นเพียงผู้รับซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชน ทำให้การบริหารจัดการในกิจการไฟฟ้าส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดอยู่ในความควบคุมของภาคเอกชน ที่รัฐมิอาจเข้าไปก้าวล่วงได้ กิจการไฟฟ้าของประเทศไทยโดยรวม จึงตกอยู่ในอำนาจของภาคเอกชน
ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า โครงสร้างกิจการไฟฟ้าของประเทศไทยเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 9 ธ.ค.2546 ประกอบไปด้วย ระบบการไฟฟ้า ระบบส่งไฟฟ้า และระบบจำหน่ายไฟฟ้า
โดยมีศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าการผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ และเป็นหน่วยงานเดียวที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการควบคุมระบบไฟฟ้า ทำหน้าที่ในการควบคุมสั่งการเดินเครื่องไฟฟ้าทั้งของรัฐและเอกชน เพื่อให้ระบบไฟฟ้าของประเทศไทยมีความมั่นคง เชื่อถือได้ และมีประสิทธิภาพ
ภายใต้การกำกับดูแล โดยหน่วยงานกำกับดูแล คือ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งจัดตั้งโดยพ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ 2550 ทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการไฟฟ้า กำกับดูแลค่าบริการ คุณภาพบริการ การลงทุนให้มีความเหมาะสมพอเพียง รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ดูแลให้ความเป็นธรรมกับนักลงทุนและคุ้มครองผู้บริโภค
ประกอบกับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าในปัจจุบัน เป็นรูปแบบที่รัฐเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน และผู้ผลิตไฟฟ้าไม่สามารถขายไฟฟ้าตรงให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าได้ โดย กฟผ. เป็นผู้ผลิตและผู้รับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก รับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศเสียรายเดียว และส่งไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นผู้จำหน่ายให้แก่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าต่อไป
สำหรับผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าของเอกชน มาจากการเปิดประมูลแข่งขันตามหลักเกณฑ์ที่องค์กรกำกับดูแลกำหนดไว้ ประกอบกับสัญญารับซื้อไฟฟ้า ปรากฏข้อสัญญาที่แสดงให้เห็นเอกสิทธิ์ของรัฐในการควบคุมการสั่งการในกรณีที่ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนไม่สามารถไปตามสัญญา
เช่น ข้อสัญญาที่กำหนดให้ กฟผ. มีสิทธิ์เข้าดำเนินการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าแทนผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนทั้งหมด หรือบางส่วน เมื่อมีเหตุอันคาดหมายได้ว่า จะส่งผลร้ายแรงต่อความสามารถในการเดินเครื่องและบำรุงโรงไฟฟ้าตามสัญญาข้อสัญญาที่กำหนดให้ กฟผ. มีสิทธิ์หักค่าความพร้อมจ่าย เมื่อโรงไฟฟ้าของเอกชนมีความพร้อมในการผลิตไฟฟ้าที่ลดลง และบทปรับกรณีการแจ้งข้อมูลล่าช้าเกี่ยวกับความพร้อมในการผลิตไฟฟ้าที่ลดลง เป็นต้น
เห็นว่า พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ซึ่งกำหนดให้รัฐมีเอกสิทธิ์หรืออำนาจในการควบคุมสั่งการให้เอกชนผลิตไฟฟ้า เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐได้ เช่น มาตรา 57 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ในกรณีที่อาจเกิดการขาดแคลนไฟฟ้าเป็นครั้งคราวหรือในกรณีจำเป็นต้องสำรองเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า เพื่อความมั่นคงหรือประโยชน์ในทางเศรษฐกิจของประเทศ
คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี มีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้รับใบอนุญาต เพิ่มหรือลดการผลิต หรือการจำหน่ายไฟฟ้าได้
หรือมาตรา 126 กำหนดให้ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรือมีความจำเป็น เพื่อความมั่นคงของประเทศหรือเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ หรือเพื่อป้องกันประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานอาจมอบหมาย
หรือสั่งให้หน่วยงานของรัฐที่มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญการประกอบกิจการพลังงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าครอบครอง หรือใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือต่างๆของผู้รับใบอนุญาต เพื่อดำเนินการหรือสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตหรือพนักงานของผู้รับใบอนุญาต กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดได้ จนกว่าเหตุฉุกเฉินหรือจำเป็นทั้งสิ้นสุดลง เป็นต้น
การที่รัฐให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า ไม่ได้มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 (กระทรวงพลังงาน) และผู้ถูกร้องที่ 2 (ครม.) ที่ให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า เป็นการปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 วรรคสอง ประกอบมาตรา 3 วรรค 2
@เทียบ ‘ค่าความพร้อมจ่าย’ โรงไฟฟ้าเอกชน-ค่าลงทุนโรงไฟฟ้ารัฐ
ข้อที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า การที่รัฐให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า มีผลกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชน เนื่องจากรัฐต้องรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนในราคาตามที่ตกลงในสัญญา โดยการคำนวณค่าไฟฟ้ามิได้คำนวณจากต้นทุนการผลิต และปริมาณทางไฟฟ้าที่ใช้จริง เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชน ทำให้ประชาชนผู้รับภาระค่าใช้จ่ายของอัตราค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น
นอกจากนี้ รัฐสามารถให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า โดยวิธีการอื่นนอกจากการทำสัญญารับซื้อไฟฟ้า เช่น การให้สัมปทานกิจการไฟฟ้าแก่เอกชน หรือการลงทุนกับภาคเอกชน เป็นต้น ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำให้รัฐยังคงกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของในโครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการไฟฟ้า ทั้งยังส่งผลให้รัฐและประชาชนได้รับประโยชน์จากกิจการผลิตไฟฟ้าอย่างแท้จริง
เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 56 วรรคสามและวรรคสี่ มีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน กรณีรัฐจัดหรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน อันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน เนื่องจากสาธารณูปโภคดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญจึงกำหนดให้รัฐมีหน้าที่สำคัญในการจัดหรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึง ตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน
สำหรับหน้าที่ของรัฐดังกล่าว รัฐอาจเป็นผู้จัดหรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคเอง หรือให้เอกชนเป็นผู้จัดหรือดำเนินการก็ได้ อันเป็นการเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำบริการสาธารณะในกิจการสาธารณูปโภคได้ เพียงแต่รัฐต้องดูแลเพื่อให้ได้รับประโยชน์ตอบแทนอย่างเป็นธรรม
โดยคำนึงถึงการลงทุนของรัฐ ประโยชน์ที่รัฐและเอกชนจะได้รับ และค่าบริการที่จะเรียกเก็บจากประชาชนประกอบกัน โดยต้องดูแลมิให้การเรียกเก็บค่าบริการจนเป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร เพื่อเป็นหลักประกันว่าประชาชนจะมีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน อันจำเป็นต่อการดำรงชีพอย่างทั่วถึงในราคาที่เป็นธรรม
ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า อัตราค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้า ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลักได้แก่ ส่วนที่ 1 ค่าไฟฟ้าฐาน ซึ่งสะท้อนต้นทุนการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า ระบบส่ง ระบบจำหน่าย ค่าเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ค่าซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ค่าความสูญเสียพลังงานไฟฟ้า ค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ
รวมทั้งต้นทุนด้านการบริหารจัดการและบริการผู้ใช้ไฟฟ้า เช่น การคำนวณค่าจัดพิมพ์ใบแจ้งค่าไฟฟ้า การเรียกเก็บและรับชำระเงินค่าไฟฟ้า และต้นทุนค่าบริการอื่นๆ ซึ่งค่าไฟฟ้าฐานนี้จะกำหนดคงที่ ภายใต้สมมติฐานราคาเชื้อเพลิง อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราเงินเฟ้อ ในช่วงที่มีการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า โดยจะมีการจัดทำล่วงหน้าและทบทวนตามรอบการกำกับ โดยปกติจะประกาศใช้ทุก 3-5 ปี ตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานกำหนด
ส่วนที่ 2 การกำหนดค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (ค่า Ft) ซึ่งสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนที่นอกเหนือการควบคุมของการไฟฟ้าฯ เฉพาะส่วนที่เปลี่ยนแปลงจากที่กำหนดไว้ในค่าไฟฟ้าฐาน ประกอบด้วย ราคาเชื้อเพลิง และค่าไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ
โดยทบทวนการประกาศใช้ทุก 4 เดือน ตามประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานวันที่ 16 ส.ค.2565 เรื่องกระบวนการขั้นตอนการใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ พ.ศ 2565 และส่วนที่ 3 ภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7
การจัดทำโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าอยู่ภายใต้นโยบายและหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ตามที่ ครม.ได้เห็นชอบไว้ โดยมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเป็นผู้กำกับดูแลโครงสร้างไฟฟ้ากำหนด ให้สะท้อนต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ รวมทั้งสอดคล้องกับลักษณะการใช้ไฟฟ้า และหลักเกณฑ์นโยบายหรือสังคมที่ภาครัฐกำหนด เพื่อให้การไฟฟ้าฯมีรายได้พึงรับเพียงพอต่อการดำเนินการและลงทุน
ในแต่ละปีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน จะมีการทบทวนฐานะการเงินของ กฟผ. กฟน. และ กฟภ. โดยหากการไฟฟ้าฯมีฐานะการเงินสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานจะเรียกคืนรายได้ เพื่อนำไปปรับลดค่าไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าต่อไป
สำหรับค่าซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนที่เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ การคัดเลือกเพื่อทำสัญญากับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่จะใช้วิธีประมูล โดยพิจารณาจากด้านเทคนิคและข้อเสนอด้านราคาที่ต่ำสุด และมีการแบ่งจ่ายค่าไฟฟ้าให้แก่เอกชนเป็น 2 ส่วน คือ ค่าความพร้อมจ่าย ซึ่งเป็นค่าไฟฟ้าที่จ่ายเอกชน เมื่อโรงไฟฟ้ามีความพร้อมจ่ายไฟฟ้า เพื่อเป็นเงื่อนไขให้โรงไฟฟ้าเตรียมความพร้อมจ่ายไฟฟ้าตลอดเวลา รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และสำรองให้พร้อมจ่ายไฟฟ้ากรณีระบบไฟฟ้าขัดข้อง
ค่าความพร้อมจะครอบคลุมค่าใช้จ่ายคงที่ ที่ใช้ในการพัฒนาและดำเนินการโรงไฟฟ้า ได้แก่ ต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ค่าใช้จ่ายคงที่ในการผลิตและบำรุงรักษา ค่าอะไหล่ในการบำรุงรักษา ค่าประกันภัย ต้นทุนการเงิน ซึ่งรวมถึงการชำระคืนเงินต้น ดอกเบี้ย และต้นทุนส่วนทุน โดยไม่ขึ้นอยู่กับปริมาณการสั่งจ่ายไฟฟ้า
และค่าพลังงานไฟฟ้า เป็นค่าเชื้อเพลิงที่จ่ายให้เอกชน เมื่อศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าสั่งการให้โรงไฟฟ้าผลิตไฟฟ้าซึ่งมีลักษณะทำนองเดียวกันกับต้นทุนที่จ่ายให้แก่ กฟผ. เพื่อลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า ระบบส่ง และระบบจำหน่าย ค่าเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่รวมอยู่ในค่าไฟฟ้าฐานที่เรียกเก็บจากประชาชนเช่นกัน
ซึ่งต้นทุนที่จ่ายให้แก่ กฟผ. รัฐจะมีค่าใช้จ่ายทันทีเมื่อเริ่มโครงการ โดยเป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาและดำเนินการโรงงานไฟฟ้า เป็นการคิดค่าไฟฟ้าส่วนล่วงหน้า ที่พิจารณาจากทรัพย์สินและค่าใช้จ่ายของ กฟผ. ทั้งหมด ที่เกี่ยวข้องกับการผลิต และการบริการของ กฟผ. รวมถึงประมาณการลงทุน และประมาณการค่าใช้จ่ายไฟฟ้าของ กฟผ. อีก 5 ปีข้างหน้า ได้แก่ โรงไฟฟ้า ระบบส่งไฟฟ้า และศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า และยังรวมผลตอบแทนการลงทุนสำหรับกิจการไฟฟ้าของ กฟผ. ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานกำหนดไว้ในปัจจุบันที่ร้อยละ 7.32
แต่ในทางกลับกัน รัฐจะจ่ายค่าความพร้อมจ่ายให้แก่ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ก็ต่อเมื่อมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแล้วเสร็จตามสัญญา และบริหารจัดการ โดยบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าให้มีความพร้อมจ่ายได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญาเท่านั้นข้อสัญญาที่กำหนดให้ กฟผ. มีสิทธิ์หักค่าความพร้อมจ่าย เมื่อโรงไฟฟ้าของเอกชนมีความพร้อมในการผลิตไฟฟ้าที่ลดลง และบทปรับกรณีการแจ้งข้อมูลล่าช้าเกี่ยวกับความพร้อมในการผลิตไฟฟ้าที่ลดลง
ค่าความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าเอกชน และค่าลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าของรัฐ ย่อมมีลักษณะทำนองเดียวกันที่เป็นต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นการจ่ายค่าตอบแทน โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่รัฐและเอกชนจะได้รับกับค่าบริการที่เรียกเก็บจากประชาชนประกอบกัน บนพื้นฐานของต้นทุนที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ เพื่อรักษาประโยชน์ของรัฐ ร่างสัญญารับซื้อไฟฟ้าระหว่างรัฐและเอกชน ได้ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานอัยการสูงสุดก่อนมีการลงนาม
@รัฐมีความจำเป็นต้องให้เอกชนเข้ามาลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า
ประกอบกับเมื่อพิจารณา พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 มาตรา 65 บัญญัติว่า ภายใต้นโยบายและแนวทางที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติให้ความเห็นชอบ ให้คณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการของผู้รับใบอนุญาตแต่ละประเภท โดยมีแนวทางดังต่อไปนี้
1.ควรสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงและคำนึงถึงผลตอบแทนที่เหมาะสมของการลงทุนของการประกอบกิจการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ 2.ควรอยู่ในระดับที่ทำให้มีการจัดหาพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการการใช้พลังงานในประเทศ
3.ควรจูงใจให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพในการประกอบกิจการพลังงาน 4.คำนึงถึงความเป็นธรรมทั้งแก่ผู้ใช้พลังงานและผู้รับใบอนุญาตทุกประเภท
เห็นว่า ในสินค้าทุกประเภทใน 1 หน่วยบริโภค ผู้ซื้อจะต้องจ่ายเป็นราคาสินค้าที่ประกอบด้วย ต้นทุนที่แท้จริงทั้งหมด รวมผลกำไรที่ผู้ขายสินค้ารวมไว้ด้วย เช่นเดียวกับอัตราค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่ายใน 1 หน่วย โดยอัตราค่าไฟฟ้าต้องสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง และคำนึงถึงผลตอบแทนที่เหมาะสมของการลงทุน ตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 มาตรา 65 (1) ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนของ กฟผ. หรือการลงทุนของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน
นอกจากนี้ อัตราค่าบริการดังกล่าว ต้องเพียงพอที่จะทำให้การจัดทำสาธารณูปโภคมีประสิทธิภาพ สร้างแรงจูงใจให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพในการประกอบกิจการพลังงาน และมีความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 มาตรา 65 (2) ถึง (4)
อีกทั้งข้อเท็จจริงยังปรากฏว่า รัฐมีอุปสรรคทำให้ไม่สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศได้ทั้งหมด และการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมที่หมดอายุ และรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น รัฐอาจต้องใช้งบประมาณจำนวนมากกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งกระทบต่อหนี้สาธารณะของประเทศ
กรณีจึงมีเหตุผลความจำเป็น ต้องให้เอกชนร่วมทุนในกิจการไฟฟ้า เพื่อให้ประเทศมีพลังงานไฟฟ้าอย่างเพียงพอและทั่วถึง โดยคำนึงถึงการลงทุนของรัฐ ประโยชน์ที่รัฐและเอกชนจะได้รับ และค่าบริการที่เรียกเก็บจากประชาชนประกอบกัน
@ให้เอกชนผลิตไฟฟ้า ไม่สร้างภาระแก่ ‘ประชาชน’ เกินสมควร
ข้อที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า การคำนวณอัตราค่าไฟฟ้า มิได้คำนวณจากต้นทุนการผลิตและปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่แท้จริง เป็นเรื่องค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (แผน PDP) สูงกว่าความเป็นจริง ทำให้มีกำลังไฟฟ้าสำรองเกินความจำเป็น โดยรัฐต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่ายให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน แม้ไม่มีการผลิตไฟฟ้าจริง และนำไปคำนวณอัตราค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชน
ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย จัดทำขึ้นโดยคณะอนุกรรมการพยากรณ์ และจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ที่ผู้ถูกร้องที่ 1 แต่งตั้งขึ้น ประกอบด้วย ผู้แทนจากทุกภาคส่วนเกี่ยวข้อง เช่น ตัวแทนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กฟผ. กฟน. กฟภ. สมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน และนักวิชาการ เป็นต้น เพื่อใช้เป็นแผนในการจัดหาพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ให้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าให้สอดคล้องกับอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ประมาณการโดย สศช. ตามที่ สศช.คาดการณ์ว่าจะต้องมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาวร้อยละ 3.8 ต่อปี
ซึ่งแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย 2018 ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และ ครม. โดยแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย 2015 กำหนดให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 15 ของความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด
ทั้งนี้ มาตรฐานทั่วไปขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองอยู่ที่ประมาณร้อยละ 15 ของความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด โดยถ้าระบุค่าพยากรณ์ได้แม่นยำ จะทำให้การลงทุนในการขยายกำลังผลิตไฟฟ้า เพื่อรองรับความต้องการการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นเป็นไปอย่างเหมาะสม
สำหรับข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง ค่าไฟฟ้า และราคาก๊าซธรรมชาติ พบว่าตั้งแต่ปี 2518-2564 สถิติกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองอยู่ที่ประมาณร้อยละ 29-44 มีค่าไฟเฉลี่ย 3.42-3.64 บาท/หน่วย ราคาก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 202-267 บาท/ล้านบีทียู
แต่ในปี 2565 สถิติกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองอยู่ที่ร้อยละ 41.41 มีค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 4.69 บาท/หน่วย และราคาก๊าซธรรมชาติ 349 บาทต่อล้านบีทียู
จะเห็นได้ว่าการพยากรณ์และจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย เป็นสิ่งที่รัฐจำเป็นต้องวางแผนและดำเนินการให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าเพียงพอในอนาคต เนื่องจากการสร้างโรงไฟฟ้า ต้องประกอบด้วยเงินทุนและต้องเตรียมการล่วงหน้าหลายปี
ซึ่งการพยากรณ์มีความหมายในตัวว่า หากสมมติฐานหรือตัวแปรที่ใช้ในการพยากรณ์เปลี่ยนแปลงไป เช่น ในปี 2562 มีสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ทำให้ตั้งแต่ปี 2562-ปัจจุบัน มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าลดลง
นอกจากนี้ จากข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง ค่าไฟฟ้า และค่าก๊าซธรรมชาติข้างต้น จะเห็นได้ว่า กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่เพิ่มขึ้นไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้สูงขึ้น ในทางกลับกันราคาก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้น ทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ
จึงเป็นกรณีที่อัตราค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชน ไม่ได้แปรผันโดยตรงกับการเปิดโอกาสให้เอกชนมีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าและขายให้แก่รัฐแต่อย่างใด การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 และผู้ร้องที่ 2 จึงไม่ได้มีลักษณะก่อให้เกิดการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้า จนเป็นภาระแก่ประชาชนจนเกินสมควร
ดังนั้น การทำของผู้ถูกร้องที่ 1 และผู้ถูกร้องที่ 2 ที่ให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า เป็นการปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องครบถ้วน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 วรรคสาม และวรรคสี่ ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง
@แนะ ‘กพช.-กกพ.’ กำหนดเพดานผลิตไฟฟ้าเอกชน-สำรองไฟฟ้า
อย่างไรก็ดี กิจการพลังงานไฟฟ้า เป็นกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจำเป็นต้องดำเนินกิจการพลังงานไฟฟ้า เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม
การผลิตไฟฟ้าที่เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้การประกอบกิจการพลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีความมั่นคง มีปริมาณเพียงพอ และทั่วถึง ในราคาที่เป็นธรรม และมีคุณภาพที่ได้มาตรฐาน ตอบสนองความต้องการภายในประเทศ และการพัฒนาประเทศ จำเป็นต้องพัฒนาความมั่นคงของรัฐและประโยชน์ของประชาชน
ดังนั้น รัฐโดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต้องดำเนินการกำหนดกรอบหรือเพดานของสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชนในระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศ และกำหนดปริมาณไฟฟ้าสำรองอันเกี่ยวกับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชน
อันจะผลต่ออัตราค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชน ให้สอดคล้องและใกล้เคียงกับความเป็นจริง ตามความต้องการใช้ไฟฟ้าของทั้งประเทศในแต่ละช่วงเวลา หากกำหนดกำลังไฟฟ้าสำรองสูงเกินควร และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์สาธารณะ อาจถูกดำเนินการโดยองค์กรหรือศาลอื่นได้
“อาศัยเหตุผลข้างต้น จึงวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 และผู้ถูกร้องที่ 2 ที่ให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 56 วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง” คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 9 ม.ค.2566 ระบุ
ทั้งหมดนี้เป็นรายละเอียดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้วินิจฉัยคำร้องกรณีที่รัฐให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าของประเทศเกินกว่า 51% ของกำลังการผลิตทั้งหมด พร้อมทั้งมีข้อแนะนำของศาลฯ ที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดเพดานสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชน และการกำหนดกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม!
อ่านประกอบ :
'ศาล รธน.'ชี้รัฐให้เอกชนผลิตไฟฟ้าเกิน 51% ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ-แนะกำหนด'เพดาน'กำลังการผลิต
‘กลุ่ม 100 พลเมืองไทยฯ’ ออกแถลงการณ์จี้รัฐยุติแผน PDP-ห้ามเอกชนผูกขาดผลิตไฟฟ้าเกิน 51%
วงเสวนาฯชำแหละ รัฐเอื้อ ‘ทุนใหญ่’ กินรวบโรงไฟฟ้า ส่อขัดรธน.-ปชช.รับเคราะห์จ่ายค่าไฟแพง
ศาล รธน.’ ขอความเห็น ‘นักวิชาการ มธ.-ทีดีอาร์ไอ’ ปมลดสัดส่วนไฟฟ้าภาครัฐต่ำกว่า 51%
‘ศาล รธน.’สั่ง‘ก.พลังงาน-กกพ.-กฤษฎีกา’ส่งความเห็น ปมลดสัดส่วนไฟฟ้าภาครัฐต่ำกว่า 51%
‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ รับคำร้องปมลดสัดส่วนผลิตไฟฟ้าของรัฐต่ำกว่า 51% ขัด รธน.หรือไม่
รัฐหักมติ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ ปมลดสัดส่วนไฟฟ้าเอกชน ยันกำลังผลิต‘กฟผ.’ 37% ไม่ขัด รธน.
2 ปี ไม่ได้ข้อยุติ! ปมลดสัดส่วนไฟฟ้าเอกชน 'ก.พลังงาน' หลังพิง 'ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี'
‘พลังงาน’ งัด ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ ปมลดสัดส่วนไฟฟ้าเอกชน-'บิ๊กตู่' ชี้ชะตาธุรกิจแสนล.
ศาล รธน.ไม่รับวินิจฉัยรัฐผลิตไฟฟ้าน้อยกว่า 51% ละเมิดสิทธิ ปชช.ชี้ทำตาม กม.ถูกต้อง