สภาพัฒน์กำหนด “เส้นความยากจน” ที่สามารถชี้วัดได้ โดยล่าสุดอยู่ที่ 2,763 บาทต่อคนต่อเดือน หรือประมาณ 90 บาทต่อคนต่อวัน ถ้ามีรายได้ต่ำกว่านี้ถือว่า “ยากจน” ซึ่งในบางครั้งเห็นมีการแบ่งระดับความรุนแรงของความยากจนเป็น “จนมาก”, “จนน้อย” และ “เกือบจน” อีกต่างหาก โดยใช้รายได้คิดเป็น % ต่อเส้นความยากจนเป็นเกณฑ์ชี้วัด
“ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดทางพินัยเป็นบุคคลธรรมดาและกระทำความผิดทางพินัยเพราะเหตุแห่งความยากจนข้นแค้นหรือเพราะความจำเป็นอย่างแสนสาหัสในการดำรงชีวิต ผู้นั้นอาจยื่นคำร้องเพื่อให้กำหนดค่าปรับเป็นพินัยต่ำกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้หรือขอทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับเป็นพินัยได้…”
การพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. …. สัปดาห์นี้เดินหน้าไปถึงมาตรา 10 ที่ยกมาข้างต้น โดยมาถกกันในประเด็นถ้อยคำ
“ยากจนข้นแค้น”
เพราะเท่าที่ทราบ ไม่เคยมีคำนี้มาก่อนในกฎหมายอื่น
เกิดคำถามขึ้นมาในห้องประชุมว่าความหมายในทางกฎหมายคืออะไร ต่างจาก “ยากจน” เฉย ๆ อย่างไร มีตัวชี้วัดหรือไม่อย่างไร หรือเป็นเพียงสร้อยคำที่มุ่งแสดงว่ายากจนมากเป็นพิเศษ
จะไม่เกิดข้อถกเถียงขึ้นมาในอนาคตหรือ
กรรมาธิการท่านหนึ่งอภิปรายว่าในประเทศไทย เกณฑ์ที่ถือว่าเป็นความยากจนนั้นได้รับการกำหนดโดยสภาพัฒน์
สภาพัฒน์กำหนด “เส้นความยากจน” ที่สามารถชี้วัดได้ โดยล่าสุดอยู่ที่ 2,763 บาทต่อคนต่อเดือน หรือประมาณ 90 บาทต่อคนต่อวัน ถ้ามีรายได้ต่ำกว่านี้ถือว่า “ยากจน” ซึ่งในบางครั้งเห็นมีการแบ่งระดับความรุนแรงของความยากจนเป็น “จนมาก”, “จนน้อย” และ “เกือบจน” อีกต่างหาก โดยใช้รายได้คิดเป็น % ต่อเส้นความยากจนเป็นเกณฑ์ชี้วัด
ที่ประชุมพิจารณาถึงถ้อยใกล้เคียงกันนึ้ที่มีใช้ในกฎหมายอื่น พบว่าในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 วรรคท้ายมีใช้อยู่คำหนึ่งที่เป็นเหตุบรรเทาโทษจากการลักทรัพย์
“ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรานี้เป็นการกระทำโดยความจำใจหรือความยากจนเหลือทนทาน และทรัพย์นั้นมีราคาเล็กน้อย ศาลจะลงโทษผู้กระทำความผิดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 334 ก็ได้”
ครับ ประมวลกฎหมายอาญาใช้คำนี้
“ยากจนเหลือทนทาน”
ทีนี้ เกิดข้ออภิปรายในที่ประชุมขึ้นมามากเลยละ เพราะประมวลกฎหมายอาญาเป็นหนึ่งในกฎหมายเสาหลักของระบบกฎหมายไทย บังคับใช้มานาน น่าจะมีตัวอย่างอธิบายได้ชัดเจนอยู่บ้างในตำรากฎหมายหรือในคำพิพากษาฎีกา
ท่านอาจารย์ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการ เล่าให้ที่ประชุมฟังว่าเมื่อหลายสิบปีก่อนในอดีตเคยสัมภาษณ์ท่านพระยาอรรถการีย์นิพนธ์ อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวงและอดีตอธิบดีกรมอัยการ ท่านเล่าว่าสมัยเป็นอัยการเคยทำคดีหนึ่งเป็นคนงานยากจนชาวจีนพักอาศัยอยู่ในเพิงข้างถนนกระทำความผิดลักทรัพย์เสื้อกันหนาวในช่วงเวลาฤดูหนาว สารภาพว่าทำไปเพราะสุดจะทนทานกับความหนาวในขณะนั้นได้ ท่านเจ้าคุณอรรถการีย์จึงสั่งฟ้องโดยขอให้ศาลลงโทษสถานเบาและรอลงอาญา ผิดวิสัยอัยการทั่วไปที่มักขอให้ศาลลงโทษบทหนักไว้ก่อน การสั่งฟ้องเช่นนี้ทำให้ท่านเจ้าคุณถูกเจ้านายของท่านคือพระยาอรรถการประสิทธิ์ อธิบดีกรมอัยการสมัยนั้น เรียกเข้าพบเพื่อถามว่าทำไมเขียนฟ้องอย่างนี้ ท่านเจ้าคุณอรรถการีย์ฯก็อธิบายแนวคิดของท่านให้เจ้านายฟัง
ปีนั้น ท่านเจ้าคุณอรรถการีย์นิพนธ์ได้ความดีความชอบขึ้นเงินเดือน 2 ขั้น
ถ้าเหตุบรรเทาโทษในประมวลกฎหมายอาญาใช้คำว่า “ยากจนเหลือทนทาน” ร่างกฎหมายปรับเป็นพินัยที่มุ่งเปลี่ยนโทษปรับทางอาญาเป็นโทษปรับทางพินัยควรปรับแก้มาใช้คำเดียวกัน แทนที่จะใช้คำใหม่ “ยากจนข้นแค้น” หรือไม่
ตกลงรอการพิจารณา หรือ “แขวน” ประเด็นนี้ไว้ก่อน ให้กฤษฎีกาไปค้นคว้าตำราและคำพิพากษาฎีกามาดูกัน
แล้วท่านผู้รู้และท่านผู้อ่านทั่วไปที่อ่านโพสต์นี้ของผมล่ะครับ
ระหว่าง
“ยากจนข้นแค้น”
กับ
“ยากจนเหลือทนทาน”
แตกต่างกันอย่างไรหรือไม่ ?
ใช้คำไหนดีในกฎหมายว่าด้วยการปรับเป็นพินัย ?
คำนูณ สิทธิสมาน
สมาชิกวุฒิสภา
17 มีนาคม 2565
https://www.facebook.com/100001018909881/posts/4937798896264025/