“...เราได้ทำแผนเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกร เช่น การบริหารจัดการหนี้ และส่งเสริมให้เกษตรกรมีอาชีพเสริม เพื่อทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่แผนหลักๆของเรา คือ การเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนตามนโยบายของ ธปท....”
..................................
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบรายงานกิจการประจำปี งบดุล บัญชีกำไรและขาดทุนของ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ประจำปีบัญชี 2564 (1 เม.ย. 2564-31 มี.ค.2565) ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอสรุปสาระสำคัญของรายงานงบดุล บัญชีกำไรและขาดทุนของ ธ.ก.ส. ประจำปีบัญชี 2564 (1 เม.ย. 2564-31 มี.ค.2565) ให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
@โควิดดันหนี้เสีย ‘ธ.ก.ส.’ พุ่งแตะ 1.06 แสนล้าน คิดเป็น 6.63%
ผลการดำเนินงานปีบัญชี 2564 เปรียบเทียบกับปีบัญชี 2563
1) ธ.ก.ส. มีสินทรัพย์รวม จำนวน 2,236,345 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน จำนวน 121,273 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 5.73 โดยสาเหตุจากลูกหนี้รอการชดเชยจากรัฐบาล และเงินให้สินเชื่อเป็นหลัก
ในส่วนของหนี้สินรวม จำนวน 2,086,562 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน จำนวน 118,034 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 6.0 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของเงินรับฝาก และตราสารหนี้และเงินกู้ยืมเป็นหลัก และส่วนของเจ้าของ จำนวน 149,793 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน จำนวน 3,239 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.21
2) ธ.ก.ส. มีรายได้รวม จำนวน 98,597 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน จำนวน 3,198 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.88 และมีค่าใช้จ่ายรวม จำนวน 53,297 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน จำนวน 2,335 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 4.20 และหนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญและขาดทุนจากการด้อยค่า จำนวน 37,684 ล้านบาท คงเหลือกำไรสุทธิ จำนวน 7,637 ล้านบาท
3.) ธ.ก.ส. มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-performing Loans : NPLs) จำนวน 106,054 ล้านบาท คิดเป็น NPLs Ratio ร้อยละ 6.63 เพิ่มขึ้นจากปีบัญชี 2563 ที่มี NPLs จำนวน 57,826 ล้านบาท คิดเป็น NPLs Ratio ร้อยละ 3.71 ทั้งนี้ เนื่องจากลูกค้าเกษตรกรประสบปัญหาทางการเงิน ซึ่งเป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
4) ธ.ก.ส. มีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 12.43 โดยมีเงินกองทุนทั้งสิ้นจำนวน 156,889 ล้านบาท สินทรัพย์เสี่ยง จำนวน 1,262,328 ล้านบาท
(ที่มา : เอกสารประกอบการพิจารณาของ ครม. เรื่อง รายงานกิจการประจำปี งบดุล บัญชีกำไรและขาดทุนของ ธ.ก.ส. ประจำปีบัญชี 2564 เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2565)
@รัฐค้างหนี้ ‘จำนำสินค้าเกษตร’ ระหว่างปี 55-57 กว่า 2.8 แสนล้าน
ธุรกรรมนโยบายรัฐ
ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 มี.ค.2565 ธ.ก.ส. มีสินทรัพย์ตามธุรกรรมนโยบายรัฐทั้งสิ้น 650,778 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นหนี้ที่รอการชดเชยจากรัฐบาลตามธุรกรรมนโยบายรัฐ รวม 121 โครงการ วงเงินรวม 562,354 ล้านบาท เทียบกับปีบัญชี 2563 ที่ ธ.ก.ส. มีสินทรัพย์ตามธุรกรรมนโยบายรัฐทั้งสิ้น 546,889 ล้านบาท โดยเป็นหนี้ที่รอการชดเชยจากรัฐบาลตามธุรกรรมนโยบายรัฐ วงเงินรวม 433,749 ล้านบาท
ขณะที่หนี้สินในโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรทุกผลผลิต (ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และยางพารา) ในปีการผลิต 2554/55 ,ปีการผลิต 2555/56 และปีการผลิต 2556/57 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหนี้ที่ ธ.ก.ส. รอการชดเชยจากรัฐบาลนั้น มียอดคงเหลือทั้งสิ้น 280,597 ล้านบาท
(รายงานงบดุล บัญชีกำไรและขาดทุนของ ธ.ก.ส. ประจำปีบัญชี 2564 ที่มา : ธ.ก.ส.)
@ธ.ก.ส.เร่งปรับโครงสร้างหนี้เกษตรกรอย่างยั่งยืน สกัดหนี้เสียพุ่ง
ธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศราว่า สาเหตุที่ทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ ธ.ก.ส. ในปีบัญชี 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 1.06 แสนล้านบาท หรือ 6.63% ของสินเชื่อรวม นั้น เพราะเป็นช่วงสิ้นสุดโครงการพักชำระหนี้เกษตรกร ประกอบกับในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรมีปัญหารายได้ลดลง และมีหนี้ครัวเรือนในระดับสูง
“อย่างที่เราทราบดีว่า หนี้สินครัวเรือนภาคครัวเรือนค่อนข้างสูง และเกษตรกรออกจากโครงการพักชำระหนี้ จึงทำให้เขา (เกษตรกร) ไม่เข้ามาดำเนินการบริหารจัดการหนี้” ธนารัตน์ กล่าว
ธนารัตน์ ระบุว่า เพื่อแก้ปัญหาหนี้เสียของเกษตรกรดังกล่าว ธ.ก.ส.มีแผนเข้าไปดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวให้เกษตรกร ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พร้อมทั้งเข้าไปดูแลว่าจะสนับสนุนให้เกษตรกรมีศักยภาพในการชำระหนี้อย่างไร
“เราได้ทำแผนเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกร เช่น การบริหารจัดการหนี้ และส่งเสริมให้เกษตรกรมีอาชีพเสริม เพื่อทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่แผนหลักๆของเรา คือ การเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนตามนโยบายของ ธปท.” ธนารัตน์ กล่าวถึงแนวทางของ ธ.ก.ส. ในการแก้ปัญหา NPLS ของเกษตรกร
ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่าในช่วง 2 เดือนแรกของปีบัญชี 2565 หนี้เสียของ ธ.ก.ส. เพิ่มขึ้นเป็น 1.4 แสนล้านบาท หรือ 9.18% ของสินเชื่อรวม นั้น ธนารัตน์ ระบุ หนี้เสียของเราไม่ได้สูงถึงขนาดนั้น และเรากำลังบริหารจัดการหนี้ตรงนี้อยู่ ส่วนตัวเลขหนี้เสียจะเป็นเท่าใดนั้น คงต้องรอผลสรุปงบครึ่งปีแรกของปีบัญชี 2565 ณ 30 ก.ย.2565 ว่าจะเป็นเท่าไหร่
“ตอนนี้ยังไม่ได้ถึงขนาดนั้น ส่วนตัวเลขหนี้เสียจะเป็นเท่าไหร่ คงต้องรองบการเงินในครึ่งปีบัญชี 2565 ณ วันที่ 30 ก.ย.2565 ซึ่งรับรองโดย สตง. อีกครั้ง”
(ธนารัตน์ งามวลัยรัตน์)
@เดินหน้านโยบาย ‘ฟื้นฟูลูกค้า-ยกระดับชุมชนสู่ความยั่งยืน’
นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ได้รายงานทิศทางการดำเนินงาน ปีบัญชี 2565 ให้ ครม.รับทราบ ว่า ในปีบัญชี 2565 ธ.ก.ส. ได้กำหนดนโยบายการขับเคลื่อนภารกิจ ‘ฟื้นฟูลูกค้า สร้างความคล่องตัว ยกระดับชุมชนสู่ความยั่งยืน’ โดยการฟื้นฟูลูกค้า มุ่งเน้นการฟื้นฟูความสามารถของลูกค้าเกษตรกรและลูกค้าทั่วไปโดยการสร้างวินัยทางการเงิน รวมทั้งบริหารจัดการทายาททดแทนผู้สูงอายุ
เพิ่มศักยภาพและยกระดับลูกค้าสถาบันองค์กร นิติบุคคล และส่งเสริมการเข้าถึงภูมิคุ้มกันทางการเงินและการประกอบอาชีพ (Social Safety Net) การสร้างความคล่องตัว มุ่งเน้นการสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีด้านข้อมูล สร้างโอกาสการใช้ประโยชน์จากข้อมูล
ปรับวัฒนธรรมองค์กรและเพิ่มขีดความสามารถบุคลากรและพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถองค์กร และการยกระดับชุมชนสู่ความยั่งยืน มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพและยกระดับชุมชนส่งเสริมการขับเคลื่อนภาคการเกษตรให้เป็นเกษตรมูลค่าสูง และพัฒนาศักยภาพชุมชนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ได้กำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงานประจำปีบัญชี 2565 ไว้ 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการข้อมูลเพื่อพัฒนาบริการทางการเงินครบวงจรและทันสมัย ,ยุทธศาสตร์ที่ 2 เพิ่มขีดความสามารถองค์กรและบุคลากรรองรับภารกิจและการแข่งขัน
ยุทธศาสตร์ที่ 3 บริหารจัดการสินทรัพย์และรายได้อย่างสมดุล ยุทธศาสตร์ที่ 4 พื้นฟู พัฒนา และยกระดับสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจระดับครัวเรือน และยุทธศาสตร์ที่ 5 พัฒนาศักยภาพชุมชนแบบบูรณาการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืนภายใต้การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model)
เหล่านี้เป็นรายงานงบดุล บัญชีกำไรและขาดทุนของ ธ.ก.ส. ปีบัญชี 2564 ซึ่งสะท้อนว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ‘เกษตรกรไทย’ เผชิญกับปัญหาหนี้สินรุนแรงมากขึ้น เช่นเดียวกับรัฐบาลที่มีการกู้ยืมเงินจาก ธ.ก.ส. เพื่อนำมาใช้ในการดูแลราคาสินค้าเกษตรต่างๆ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
อ่านประกอบ :
จาก'จำนำ'ถึง'ประกันรายได้' รัฐติดหนี้ 5 แสนล.-กู้อีก 1.4 แสนล. ระเบิดเวลาวิกฤติการคลัง?
ครม.อนุมัติงบ 1.41 แสนล้าน จ่ายชดเชย‘ส่วนต่าง’ประกันรายได้‘ข้าว-ยาง’-ช่วยต้นทุนชาวนา
ขยายเพดานหนี้คงค้างเป็น 35% เปิดทาง 'ครม.' กู้ 1.55 แสนล้าน ชดเชยประกันฯ ‘ข้าว-ยาง’
'บิ๊กตู่'เผยคิดวิธีหาเงินจ่ายชดเชย‘ประกันราคาข้าว’ได้แล้ว-'คลัง'เร่งเคลียร์หนี้คงค้าง
เปิดมติครม.! สั่ง ‘คลัง-พณ.-สำนักงบฯ’ หาเงินโป๊ะ ‘ประกันราคาข้าว’ อีก 7.6 หมื่นล.
ธ.ก.ส.โอนเงินชดเชย ‘ประกันราคาข้าว’ ถึงมือชาวนาแล้ว 5.3 แสนครัวเรือน 1.12 หมื่นล้าน
'นายกฯ'สั่งแก้ปัญหาข้าวเปลือกตกต่ำ-‘ธ.ก.ส.’โอนเงินชดเชย'ประกันราคา'งวดแรก 9 พ.ย.นี้
‘พาณิชย์’เผย ‘ธ.ก.ส.’ทยอยโอนเงินชดเชย ‘ส่วนต่าง’ ประกันราคาข้าว‘งวดแรก’สัปดาห์หน้า
ภาระหนี้ชนเพดาน! เบื้องหลังโยก'ประกันราคาข้าว'ใช้งบ 65-รัฐหมุนเงินอุ้มอีก 1.2 แสนล.