"...ประธานกรรมการและกรรมการของ รฟม. ในขณะนั้น ชี้แจงว่า ได้เวนคืนที่ดินเพื่อสร้างหรือจัดให้มีการขนส่งและที่จอดรถสำหรับผู้โดยสารตลอดจนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเพื่อประโยชน์ และได้ใช้พื้นที่เพื่อทำทางขึ้น - ลง สถานีการขนส่งและวางเครื่องกล เพื่อใช้เป็นที่จอดรถยนต์สำหรับคนโดยสาร การอนุญาตให้บริษัทเอกชนเป็นเพียงการให้ใช้เป็นทางเข้า - ออก อาคารกับถนอโศกมนตรีไม่ได้ยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท หน่วยงานยังคงใช้เป็นทางเข้า - ออก ในที่ดินเช่นปกติ..."
กรณี การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อนุญาตให้สิทธิแก่ บริษัท อนันดาดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เพื่อเป็นทางเข้า-ออก โครงการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยขนาดใหญ่พิเศษของโครงการ Asoke (โครงการ Ashton Asoke) โดยไม่ขออนุญาตต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้าล่าสุดไปแล้วว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้สรุปผลการตรวจสอบกรณีนี้เป็นทางการแล้ว พบว่า มีการกระทำฝ่าฝืนระเบียบกฎหมายของคณะกรรมการบริหาร รฟม.ในขณะนั้น พร้อมส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการคดีอาญากับคณะกรรมการบริหาร รฟม. และผู้เกี่ยวข้อง พร้อมแจ้งประธานกรรมการ รฟม.และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในฐานะผู้กำกับดูแล เพื่อดำเนินการทางวินัยกับคณะกรรมการฯ ตามนัยพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดทางวินัยของข้าราชการซึ่งไปปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานที่มิใช่ส่วนราชการ พ.ศ. 2534 รวมถึงให้มีการดำเนินการชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 86.99 ล้านบาทด้วย
ต่อไปนี้ เป็นรายละเอียดผลการตรวจสอบฉบับเต็มของ สตง. พร้อมคำชี้แจงและการดำเนินการของคณะกรรมการบริหาร รฟม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในช่วงที่ผ่านมา
จากการตรวจสอบกรณีพิเศษ เรื่อง กรณีการอนุญาตให้เอกชนใช้ประโยชน์ในที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นทางเข้า - ออก โครงการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยขนาดใหญ่พิเศษ สังกัดกระทรวงคมนาคม
พบพฤติการณ์การกระทำผิด คือ คณะกรรมการของหน่วยงาน รฟม. อนุญาตให้บริษัทเอกชน ใช้ประโยชน์ในที่ดินของหน่วยงาน เป็นทางเข้า - ออก เพื่อก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยขนาดใหญ่พิเศษ อันเป็นการประกอบธุรกิจเชิงพาณิชย์ของเอกชน เป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตจตุจักร เขตบางชื่อ เขตราชเทวี เขตห้วยขวาง เขตคลองเตย เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตสัมพันธวงศ์กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2538 พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตจตุจักรเขตบางซื่อ เขตราชเทวี เขตห้วยขวาง เขตคลองเตย เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2539 และพระราชบัญญัติการขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 มาตรา 75 (6)
ขณะที่ ประธานกรรมการและกรรมการของ รฟม. ในขณะนั้น ชี้แจงว่า ได้เวนคืนที่ดินเพื่อสร้างหรือจัดให้มีการขนส่งและที่จอดรถสำหรับผู้โดยสารตลอดจนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเพื่อประโยชน์ และได้ใช้พื้นที่เพื่อทำทางขึ้น - ลง สถานีการขนส่งและวางเครื่องกล เพื่อใช้เป็นที่จอดรถยนต์สำหรับคนโดยสาร
การอนุญาตให้บริษัทเอกชนเป็นเพียงการให้ใช้เป็นทางเข้า - ออก อาคารกับถนอโศกมนตรีไม่ได้ยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท
หน่วยงานยังคงใช้เป็นทางเข้า - ออก ในที่ดินเช่นปกติ อันเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเพื่อประโยชน์ และการก่สร้างอาคารทำให้ที่จอดรถเพิ่มขึ้นและมีพื้นที่สำหรับใช้ในกิจการของหน่วยงานเพิ่มเติม ซึ่งล้วนอยู่ในขอบวัตถุประสงค์ของพระราชกฤษฎีกาเวนคืนทั้งสิ้น ตามมาตรา 36 วรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 ที่กำหนดให้กรณีที่สถานีการขนส่งทางเดินคนโดยสาร หรือทางเข้า - ออกสถานีอาจเชื่อมติดต่อกับอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นได้และการเชื่อมติดต่อนั้นอาจทำให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นได้รับประโยชน์ หน่วยงานอาจจะพิจารณาอนุญาตโดยกำหนดเงื่อนไขหรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างหนึ่งอย่างใดด้วยหรือไม่ก็ได้
หลังการชี้แจงของ ประธานกรรมการและกรรมการของ รฟม. ในขณะนั้น สตง. มีการพิจารณา ดังนี้
การที่คณะกรรมการ รฟม. (ในขณะนั้น) มีมติอนุญาตให้บริษัทเอกชนไช้ประโยชน์ในพื้นที่ของหน่วยงานบริเวณลานจอดรถสถานีสุขุมวิท เป็นทางเข้า - ออก สู่ถนนอโศกมนตรี โดยอนุญาตให้ย้ายตำแหน่งทางเข้า - ออก จากเดิมบริเวณด้านติดปล่องระบายอากาศไปเป็นบริเวณด้านติดสยามสมาคมในพระบรมราชปถัมภ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่หน่วยงานใช้เป็นลานจอดรถสำหรับให้บริการประชาชนที่มาใช้บริการ โดยขยายทางเข้า - ออก จากเดิมกว้าง 6.40 เมตร เป็น 13 เมตร ทำให้พื้นที่ลานจอดรถลดลงและการอนุญาตโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดยังเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ที่ดินของหน่วยงาน
เนื่องจากพื้นที่ส่วนหนึ่งที่ต้องขยายความกว้างเพิ่มขึ้นอีก 6.60 เมตร และมีความยาว 37 เมตร คิดเป็น เนื้อที่ 61.05 ตารางวา และประชาชนไม่อาจใช้ประโยชน์บนพื้นที่ดังกล่าวได้ตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืนที่ดินตลอดระยะเวลาที่โครงการอาคารที่พักอาศัยขนาดใหญ่พิเศษตั้งอยู่ ทั้งการปิดลานจอดรถในระหว่างการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยขนาดใหญ่พิเศษเป็นระยะเวลา 30 เดือน ยังทำให้ประชาชนผู้มาใช้บริการไม่สามารถใช้พื้นที่ลานจอดรถในช่วงระยะเวลาดังกล่าวได้ และการอนุญาตให้บริษัทเอกชน ใช้ประโยชน์ในที่ดินของหน่วยงานเป็นทางเข้า - ออก เพื่อก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยขนาดใหญ่พิเศษ ไม่ใช่กิจการและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเพื่อประโยชน์ของหน่วยงาน ทั้งยังเป็นการอนุญาตให้เอกชนได้ใช้ประโยชน์ในที่ดิน เพื่อประกอบธุรกิจเชิงพาณิชย์
การกระทำดังกล่าว จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตจตุจักร เขตบางซื่อ เขตราชเทวี เขตห้วยขวาง เขตคลองเตย เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2538 พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนในท้องที่เขตจตุจักร เขตบางซื่อ เขตราชเทวี เขตห้วยขวาง เขตคลองเตย เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตสัมพันธวงศ์กรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2539 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตจตุจักร เขตบางชื่อ เขตห้วยขวาง เขตดินแดง เขตราชเทวี เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตปทุมวัน เขตสัมพันธวงศ์เขตบางรัก เขตสาทร และ เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2539
โดยมีเจตนาช่วยเหลือหรือเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชน ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดิน เพื่อก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยขนาดใหญ่พิเศษ เข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้น การปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 ประกอบมาตรา 3 และมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำโดยจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย และก่อให้เกิดความเสียหาย เป็นจำนวนเงิน 86.99 ล้านบาท ตามนัยมาตรา 7 วรรคหนึ่ง และมาตรา 85 วรรคสอง แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2561
เบื้องต้น สตง. ได้แจ้งผลการตรวจสอบและข้อเสนอแนะ ดังนี้
1. แจ้งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ
2. แจ้งประธานกรรมการของหน่วยงานและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะผู้กำกับดูแลเพื่อดำเนินการทางวินัยกับคณะกรรมการ (ในขณะนั้น) ตามนัยพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดทางวินัยของข้าราชการซึ่งไปปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานที่มิใช่ส่วนราชการ พ.ศ. 2534
3. ให้มีการดำเนินการชดใช้ค่าเสียหาย เป็นจำนวนเงิน 86.99 ล้านบาท
ล่าสุด รฟม. ได้มีการแจ้งผลการแก้ไขข้อบกพร่องและปรับปรุงการปฏิบัติงาน พร้อมชี้แจงข้อเท็จจริงประกอบการติดตามผลการตรวจสอบและแจ้งการดำเนินการ ดังนี้
1.) หน่วยงานไม่มีระเบียบข้อบังคับที่กำหนดให้สามารถดำเนินการทางวินัยกับผู้ว่าการฯ หรือพนักงานของหน่วยงานที่เกษียณอายุหรือพ้นสภาพการเป็นพนักงานไปแล้วได้
2.) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละมิดให้กระทรวงคมนาคมในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแล ทราบแล้ว โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างกระทรวงคมนาคมพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด
3.) คณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงอยู่ระหว่างดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมตามข้อสั่งการของผู้ว่าการฯ และยังไม่ได้รายงานผลการสอบสวนเพิ่มเติมให้ผู้ว่าการฯ ทราบ ซึ่งผู้ว่าการฯ ได้เร่งรัดการดำเนินการสอบสวนความผิดทางวินัยแล้ว ดังนั้น เพื่อให้การสอบสวนทางวินัยเป็นไปด้วยความเรียบร้อยได้ข้อเท็จจริงที่ครบถ้วน ถูกต้อง และเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย จึงขอขยายระยะเวลาการแจ้งผลการดำเนินการต่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ออกไปจำนวน 60 วัน
ทั้งหมดนี่ เป็นรายละเอียดผลการตรวจสอบฉบับเต็มของ สตง. พร้อมคำชี้แจงและการดำเนินการของ รฟม. ต่อกรณีนี้ ที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบล่าสุด
อ่านประกอบ :
- พลิกปูมอาณาจักร'อนันดาฯ' บ.ย่อย 76 แห่ง ทุน 3.2 หมื่นล. ก่อนศาลฯสั่งคดี'แอชตัน อโศก'
- ชี้เป้าโยธา กทม.- รฟม.! 'ศรีสุวรรณ' ตามเอาผิด ขรก.อนุญาตสร้างคอนโดหรู ‘แอชตัน อโศก’
- 'ศาลปกครอง' สั่งเพิกถอนใบอนุญาตฯคอนโดหรู ‘แอชตัน อโศก’ 50 ชั้น-'อนันดาฯ'ยื่นอุทธรณ์
- เมื่อแอชตัน คอนโด 50 ชั้น อโศก เสร็จแล้ว แต่โอนไม่ได้
- แนะชงครม.แก้ปัญหาแอชตันคอนโด! ต่อตระกูล ยันผู้ว่าฯรฟม.ไม่มีอำนาจให้สิทธิ์ทำทางเข้า-ออก
- สตง.สอบพบ รฟม. ให้สิทธิเอกชนใช้ปย.ที่ดินทำทางเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอความเห็นชอบ 'ครม.'
- ปูดผู้บริหารฯอุบเงียบผลสอบ! เผยเบื้องหลัง รฟม.ให้สิทธิบ.ใช้ที่ทำทางเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอครม.
- โยนรฟม.แจงเอง!บมจ.อนันดาฯยันทำถูกต้องปมสตง.สอบใช้ปย.ที่ดินเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอครม.
- เปิด 3 เหตุผล! ‘ซีอีโออนันดาฯ’ แจงลูกบ้านยื่นอุทธรณ์คดีคอนโดหรู ‘แอชตัน อโศก’
- ผลสอบลับ สตง.ส่ง ป.ป.ช.ฟันบอร์ด รฟม.เอื้อคอนโดหรูอโศก-สั่งชดใช้ค่าเสียหายด้วย 86.99 ล.