‘ซีอีโอ อนันดาฯ’ ประชุมลูกบ้านโครงการคอนโดหรู ‘แอชตัน อโศก’ แจงคดีศาลปกครองกลางเพิกถอนใบอนุญาตฯ เผย 3 เหตุผล ยื่นอุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุด 27 ส.ค.นี้ คาดใช้เวลา 3-5 ปี จึงจะรู้ผลแพ้-ชนะ ‘ชานนท์’ ปัดตอบชดเชย หากแพ้คดี
.........................
สืบเนื่องจากกรณีที่เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาให้เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ ที่ออกให้แก่ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด เจ้าของโครงการคอนโดหรู 'แอชตัน อโศก' อาคารสูงขนาดใหญ่พิเศษ ความสูง 50 ชั้น มีห้องพักอาศัย 783 ห้อง ตั้งอยู่ในซอยสุขุมวิท 21 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ
ในขณะที่บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN ผู้บริหารโครงการและผู้ถือหุ้นบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด เตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด นั้น (อ่านประกอบ : 'ศาลปกครอง' สั่งเพิกถอนใบอนุญาตฯคอนโดหรู ‘แอชตัน อโศก’ 50 ชั้น-'อนันดาฯ'ยื่นอุทธรณ์)
@ซีอีโอบมจ.อนันดาฯประชุมออนไลน์ลูกบ้าน ‘แอชตัน อโศก’
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ประชุมลูกบ้านโครงการแอชตัน อโศก ผ่านออนไลน์ โดยมีลูกบ้านเข้าร่วมประชุม 200 คน ทั้งนี้ นายชานนท์ เรียกร้องขอให้ลูกบ้านโครงการแอชตัน อโศก ร่วมยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง พร้อมระบุว่าคำสั่งศาลปกครองกลางดังกล่าวส่งผลกระทบต่อ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ อย่างมาก
ทั้งนี้ ในการประชุมดังกล่าว ผู้แทนจาก บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ชี้แจงลูกบ้าน ว่า บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ในฐานะผู้ร้องสอด จะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ต่อศาลปกครองสูงสุดในวันที่ 27 ส.ค.2564 โดยจะยื่นอุทธรณ์เพียง 1 ประเด็น
คือ ประเด็นที่ศาลปกครองกลางวินิจฉัยว่า การอนุญาตให้โครงการ แอชตัน อโศก ใช้ประโยชน์ที่ดินการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ไม่ใช่การใช้ที่ดินตามวัตถุประสงค์การเวนคืนและไม่ใช่การใช้เพื่อกิจการรถไฟฟ้า การออกใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินของ รฟม. จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่อาจถือถือได้ว่าที่ดินของ รฟม. เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งโครงการ แอชตัน อโศก ดังนั้น ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งโครงการ แอชตัน อโศก จึงไม่ชอบด้วยกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 ข้อ 2 วรรคสอง
(ที่มา : ข้อมูลเอกสารที่ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ชี้แจงลูกบ้านโครงการ แอชตัน อโศก 1 ส.ค.2564)
@เปิด 3 เหตุผลยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลฯ
ส่วนเหตุผลที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดนั้น บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ระบุว่า มี 3 เหตุผล ได้แก่
1.รฟม.ยืนยันในคำให้การมาโดยตลอดว่า รฟม.มีสิทธิอนุญาตให้ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ใช้ที่ดินได้ เนื่องจากที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืนฯ ยังคงถูกใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืนฯ คือ ใช้ในกิจการรถไฟฟ้าและใช้เป็นที่จอดรถยนต์ของผู้มาใช้บริการรถไฟฟ้าได้ตามปกติ ไม่ได้มีผลกระทบต่อการใช้บริการรถไฟฟ้าและประโยชน์สาธารณะ จึงไม่มีลักษณะของการนำที่ดินไปใช้ประโยชน์นอกขอบเขตวัตถุประสงค์การเวนคืนฯ ตามที่ได้มีการทำในโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายโครงการ
ดังนั้น บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จึงสามารถนำที่ดินของ รฟม. เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งโครงการ แอชตัน อโศก ได้ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 33 ข้อ 2 วรรคสอง อ้างอิงความเห็นของกฤษฎีกา เลขเสร็จที่ 613/2541
2.บริษัทฯได้ทำการก่อสร้างโครงการ แอชตัน อโศก ด้วยความสุจริต ปฏิบัติตามคำแนะนำ และขั้นตอนกฎหมายทุกประการ รวมทั้งได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง
3.การเพิกถอนใบอนุญาตต่างๆ จะทำให้ลูกบ้านจำนวนกว่า 600 ครอบครัว ได้รับความเดือดร้อน และเสียหายเป็นอย่างมาก ทำให้สังคมไม่สงบสุข
(ที่มา : ข้อมูลเอกสารที่ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ชี้แจงลูกบ้านโครงการ แอชตัน อโศก 1 ส.ค.2564)
@‘อนันดาฯ’คาดศาลปกครองสูงสุดใช้เวลาพิจารณาคดี 3-5 ปี
ทั้งนี้ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ คาดว่า การพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดจะใช้เวลาประมาณ 3-5 ปี ซึ่งคำตัดสินของศาลฯจะมี 2 แนวทาง คือ แนวทางแรกศาลปกครองสูงสุดยกฟ้องหรือแก้ไขให้ใช้ที่ดินได้ คดีที่ถึงที่สุด และแนวทางที่ 2 ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืน หรือแพ้คดี ก็ต้องดำเนินการตามคำสั่งศาลฯ
อย่างไรก็ดี มีลูกบ้านสอบถาม นายชานนท์ว่า หาก บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ แพ้คดี บริษัทฯจะชดเชยความเสียหายให้กับลูกบ้านอย่างไร ซึ่งนายชานนท์ ไม่ได้ตอบคำถามนี้แต่อย่างได
(ที่มา : ข้อมูลเอกสารที่ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ชี้แจงลูกบ้านโครงการ แอชตัน อโศก 1 ส.ค.2564)
@ย้อนคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตฯ ‘แอชตัน อโศก’
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า สำหรับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ ส.53/2549 คดีหมายเลขแดงที่ ส.19/2564 ลงวันที่ 30 ก.ค.2564 ซึ่งศาลฯมีคำพิพากษาเพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ ที่ออกให้แก่ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด เจ้าของโครงการ 'แอชตัน อโศก' นั้น
ศาลฯได้วินิจฉัยใน 5 ประเด็น โดย 1 ในประเด็นสำคัญ ที่ศาลฯวินิจฉัย คือ กรณีที่ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) อนุญาตให้บริษัท อนันดาฯ ทำการก่อสร้างและดัดแปลงอาคารโครงการ แอชตัน อโศก ที่ถนนสุขุมวิท 21 (อโศกมนตรีเหนือ) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
โดยศาลฯพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ รฟม. โดยผู้ว่าการ รฟม. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) อนุญาตให้ บริษัท อนันดาฯ (ผู้ร้องสอด) นำที่ดินของ รฟม. ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 เลขที่ดิน 2161 บางส่วน ใช้เป็นทางเข้า-ออก สู่ถนนสาธารณะ (ถนนอโศกมนตรี) กว้าง 13 เมตร ในลักษณะถาวร เพื่อให้ บริษัท อนันดาฯ สามารถก่อสร้างโครงการ แอชตัน อโศก ซึ่งเป็นอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษในที่ดินของ บริษัท อนันดาฯ ได้ เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจของ บริษัท อนันดาฯ
ศาลฯเห็นว่า จริงอยู่ แม้ว่าผู้ร้องสอด (บริษัท อนันดาฯ) จะได้มีการตกลงชำระค่าทดแทนเป็นเงินให้แก่ รฟม. เป็นเงิน 97.67 ล้านบาท หรือเป็นการก่อสร้างอาคารจอดรถพร้อมพื้นที่ใช้สอยให้แก่ รฟม.ตามความเหมาะสม เพื่อแทนการชำระเป็นเงินเป็นบางส่วนหรือทั้งหมด
แต่ค่าตอบแทนดังกล่าวเป็นเพียงการตอบแทนที่ รฟม.อนุญาตให้บริษัท อนันดาฯ ใช้ประโยชน์ที่ดิน หาใช่เป็นการใช้ที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืนตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน และการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อ ‘กิจการรถไฟฟ้า’ ตามนัยมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2543 รฟม. โดยผู้ว่าการ รฟม. จึงไม่อาจอนุญาตให้ บริษัท อนันดาฯ นำที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 เลขที่ดิน 2161 (บางส่วน) ไปใช้เป็นที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคารโครงการ แอชตัน อโศก ได้
ดังนั้น การที่ รฟม. โดยผู้ว่าการ รฟม. ออกใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางผ่านเลขที่ รฟม. 012/1135 ลงวันที่ 4 ก.ค.2557 อนุญาตให้บริษัท อนันดาฯ ผ่านที่ดินของ รฟม. บริเวณลานจอดรถสถานีสุขุมวิท โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล โฉนดที่ดินเลขที่ 23189 เลขที่ดิน 2161 จำนวน 1 ช่องทาง ความกว้าง 13 เมตร เป็นทางเข้า-ออก ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคารโครงการ แอชตัน อโศก จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
บริษัท อนันดาฯ จึงไม่อาจนำที่ดินของ รฟม. ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 เลขที่ดิน 2161 (บางส่วน) ไปประกอบการยื่นแจ้งการก่อสร้างและดัดแปลงอาคารโครงการ แอชตัน อโศก ได้ และไม่อาจถือได้ว่าที่ดินของ รฟม. ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 เลขที่ดิน 2161 (บางส่วน) ดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคารโครงการ แอชตัน อโศก ตามนิยามในข้อ 1 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ออกตามความในพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522
ดังนั้น ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคารโครงการ แอชตัน อโศก จึงไม่มีด้านใดด้านหนึ่งของที่ดิน ยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ตามข้อกำหนดในข้อ 2 วรรคสอง ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ออกตามความในพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522
การที่ผู้อำนวยการสำนักการโยธา ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าฯ กทม. อนุญาตให้บริษัท อนันดาฯ ทำการก่อสร้างและดัดแปลงอาคารโครงการ แอชตัน อโศก จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
(ที่มา : คำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ ส.53/2549 คดีหมายเลขแดงที่ ส.19/2564 ลงวันที่ 30 ก.ค.2564)
@‘อนันดา’ให้ส่วนลด 7.5% จูงใจ ‘ผู้ซื้อ’ ไม่เลิกสัญญาหลังมีคดี
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า จากการสืบค้นข้อมูลของ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ พบว่า ในการรายงานผลประกอบการของบริษัทฯ ไตรมาส 1/2564 ซึ่งแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯเมื่อวันที่ 11 พ.ค.2564 นั้น
บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ระบุว่า ในไตรมาส 1 ปี 2561 การร่วมค้าฯ แห่งหนึ่ง (บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด) ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ แอชตัน อโศก ได้ยื่นข้อเสนอแก่ผู้จะซื้อห้องชุดโครงการฯ (ซึ่งมีมูลค่า 6,720 ล้านบาท)
โดยการร่วมค้าฯ ยินยอมคืนเงินให้แก่ผู้จะซื้อที่ต้องการยกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดโครงการฯ และหากผู้จะซื้อไม่ยกเลิกสัญญาฯ การร่วมค้า จะให้ส่วนลด ณ วันโอนที่อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินที่ผู้จะซื้อชำระมาแล้วทั้งหมดโดยไม่รวมเงินโอนกรรมสิทธิ์งวดสุดท้ายและคำนวณตามเงื่อนไขที่การร่วมค้าระบุไว้ในข้อเสนอ หรือผู้จะซื้อสามารถเปลี่ยนการขอรับโอนสิทธิ์จากห้องชุดโครงการฯเป็นห้องชุดในโครงการอื่นได้ตามที่การร่วมค้ากำหนด
และในกรณีที่มีเหตุให้การร่วมค้าฯ ไม่สามารถส่งมอบกรรมสิทธิ์ห้องชุดโครงการฯได้ภายในวันที่ 26 มี.ค.2562 การร่วมค้าจะจ่ายเงินชดเชยพร้อมเงินที่ผู้จะซื้อจ่ายชำระแล้วคืนให้แก่ผู้จะซื้อ
ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวเป็นผลเนื่องจากโครงการฯ ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีฟ้องร้อง ทำให้การร่วมค้าฯ ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดได้ในเดือน มี.ค.2561 โดยในปี 2559 และ 2560 เจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานรัฐได้ถูกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลาง ตามลำดับ
โดยโจทก์เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานรัฐเพิกถอนใบอนุญาตการก่อสร้างโครงการฯของการร่วมค้าฯ รวมถึงเพิกถอนรายงานการประเมินหรือวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) การอนุญาตให้ใช้ทางสาธารณะ และเพิกถอนนิติกรรมใดๆที่เกี่ยวกับการอนุญาตให้โครงการใช้พื้นที่ดินที่เวนคืนมาจากประชาชน และให้ระงับการก่อสร้างโครงการฯดังกล่าว ซึ่งศาลเห็นว่า การร่วมค้าฯและบริษัทย่อยแห่งหนึ่ง อาจจะได้รับผลกระทบจากคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลในฐานะเจ้าของโครงการฯ และเจ้าของที่ดินเดิมก่อนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินแก่การร่วมค้า จึงเรียกการร่วมค้าและบริษัทย่อยเข้ามาเป็นผู้ร้องสอด
@เผยทำตามกฎหมาย ‘กทม.’ ออกใบรับรองก่อสร้างอาคาร ‘อ.6’
ต่อมาในเดือน มิ.ย.2561 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ มีคำวินิจฉัยให้เพิกถอนคำสั่งของ กทม. และให้ กทม.ดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งทาง กทม. ได้ดำเนินการออกใบรับรองการก่อสร้างอาคาร (แบบอ. 6) ให้แก่การร่วมค้า และสำนักงานที่ดินกรุงเทพฯ ได้ดำเนินการจดทะเบียนอาคารชุด และออกหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดของโครงการฯให้กับการร่วมค้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.2561 และการร่วมค้าได้เริ่มโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้กับผู้จะซื้อตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.2561 เป็นต้นไป
ปัจจุบัน ทั้ง 2 คดีอยู่ในระหว่างศาลปกครองกลางแสวงหาข้อเท็จจริง ทั้งนี้ ที่ปรึกษากฎหมายและฝ่ายบริหารของการร่วมค้าและบริษัทย่อยเห็นว่า การก่อสร้างโครงการ แอชตัน อโศก ของการร่วมค้าฯ นั้น ได้ดำเนินการก่อสร้างถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงเชื่อมั่นว่าการร่วมค้าและบริษัทย่อยจะไม่ได้รับความเสียหายจากคดีดังกล่าว การร่วมค้าและบริษัทย่อยจึงไม่ได้บันทึกสำรองสำหรับผลเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากคดีไว้ในบัญชี
สำหรับโครงการแอชตัน อโศก ที่มีจำนวนห้องพักอาศัย 783 ห้องนั้น ก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มโอนในปี 2561 โดย ณ เดือน มิ.ย.2564 มียอดขาย 86% และมียอดโอนกรรมสิทธิ์แล้ว 85%
อ่านประกอบ :
พลิกปูมอาณาจักร'อนันดาฯ' บ.ย่อย 76 แห่ง ทุน 3.2 หมื่นล. ก่อนศาลฯสั่งคดี'แอชตัน อโศก'
ชี้เป้าโยธา กทม.- รฟม.! 'ศรีสุวรรณ' ตามเอาผิด ขรก.อนุญาตสร้างคอนโดหรู ‘แอชตัน อโศก’
'ศาลปกครอง' สั่งเพิกถอนใบอนุญาตฯคอนโดหรู ‘แอชตัน อโศก’ 50 ชั้น-'อนันดาฯ'ยื่นอุทธรณ์
เมื่อแอชตัน คอนโด 50 ชั้น อโศก เสร็จแล้ว แต่โอนไม่ได้
แนะชงครม.แก้ปัญหาแอชตันคอนโด! ต่อตระกูล ยันผู้ว่าฯรฟม.ไม่มีอำนาจให้สิทธิ์ทำทางเข้า-ออก
สตง.สอบพบ รฟม. ให้สิทธิเอกชนใช้ปย.ที่ดินทำทางเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอความเห็นชอบ 'ครม.'
ปูดผู้บริหารฯอุบเงียบผลสอบ! เผยเบื้องหลัง รฟม.ให้สิทธิบ.ใช้ที่ทำทางเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอครม.
โยนรฟม.แจงเอง!บมจ.อนันดาฯยันทำถูกต้องปมสตง.สอบใช้ปย.ที่ดินเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอครม.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/