คุณสมบัติของคนที่จะมี ส.ป.ก. คือต้องเป็นเกษตรกร มีรายได้จำกัด แต่พอเขามาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีรายได้ เขาก็ไม่ใช่เกษตรกรแล้ว เราก็ต้องมานั่งพิจารณาว่าเดิมที่เขาเคยขอที่ไว้มันชอบหรือไม่ ปัจจุบันมาเป็นนักการเมืองเราก็ต้องมาพิจารณาในเรื่องการถือครองที่ของเขาในเรื่องของการถือครองที่อีกว่ามีเท่าไร ซึ่งนี่เป็นประเด็นข้อกฎหมายที่ต้องพิจารณา
หนึ่งในข่าวการเมืองที่ถือว่าเป็นที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมานั้น คงจะหนีไม่พ้นข่าวเมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้อ่านคำพิพากษา คดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้ร้อง มี น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ อดีต ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นจำเลย
'ปารีณา'ถูกประหารชีวิตทางการเมือง หลังศาลฎีกาฯพิจารณาปมถือครองที่ ส.ป.ก.
โดยศาลฎีกาได้พิพากษาว่า น.ส.ปารีณา ได้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม จึงให้พ้นจากตำแหน่งนับจากวันที่ 25 มี.ค. 2564 และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของ น.ส.ปารีณาตลอดไป และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกิน 10 ปี มีผลให้ น.ส.ปารีณา ไม่มีสิทธิ์รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. สว. ผู้บริหารท้องถิ่น และดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 235 วรรคสี่ และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2561 มาตรา 81, 87 และมาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ขัอ 3 ข้อ 17 ประกอบข้อ 27 วรรคสอง
สรุปก็คือคำพิพากษาดังกล่าวเทียบเท่าได้กับการประหารชีวิตทางการเมืองของ น.ส.ปารีณา เนื่องจากไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้เลยตลอดชีวิต
ทั้งนี้ประเด็นสำคัญที่ศาลฎีกาฯได้นำมาพิจารณาจนนำไปสู่คำพิพากษาตอนหนึ่งระบุว่า
-
น.ส.ปารีณาครอบครองที่ดิน 665 ไร่ 1 งาน 53 ตร.ว. เป็นพื้นที่สีส้ม โดยไม่มีเอกสารสิทธิ์ใด ขณะที่ที่ดินบริเวณโดยรอบมีการยื่นขอออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 (ที่ดินสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 4-0-1) หลายแปลง น.ส.ปารีณาย่อมต้องทราบว่ามีการปฏิรูปที่ดินเช่นเดียวกับคนอื่น เมื่อสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ประกาศให้มีการยื่นขอปฏิรูปที่ดินเมื่อเดือน มิ.ย. 2562 โดยผู้มีสิทธิ์ยื่นคำร้องต้องมีอาชีพเป็นเกษตรกรและไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง ซึ่งสำนักงานปฏิรูปที่ดินฯ จะจัดสรรที่ดินให้ไม่เกินคนละ 50 ไร่ แต่ น.ส. ปารีณาก็ไม่เข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดิน เพราะมีที่ดินมากกว่าคนอื่น การเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดินอาจมีผลให้สูญเสียที่ดินได้
-
การที่ น.ส.ปารีณาครอบครองที่ดินต่อจากบิดา โดยรู้ว่าเป็นที่เกษตรกรรม มีเจตนาไม่ส่งคืนเพื่อจัดสรรให้เกษตรกรและเลี่ยงการเข้ากระบวนการปฏิรูปมาตลอด จนมีการตรวจสอบ ผู้คัดค้านจึงคืนที่ดินให้ทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไข หาใช่สมัครใจส่งมอบเองตามที่อ้าง
-
การครอบครองที่ดินของ น.ส.ปารีณา เป็นการปิดโอกาสเกษตรกรรายอื่นไม่สามารถได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินได้
หรือสรุปก็คือประเด็นการถือครองที่ดิน ส.ป.ก.อันไม่เหมาะสมที่ศาลฎีกาได้นำไปพิจารณานั้นได้นำไปสู่คำพิพากษาประหารชีวิตทางการเมืองของ น.ส.ปารีณานั่นเอง
ส.ส.คนอื่นที่พบว่ามีที่ดิน ส.ป.ก.
อย่างไรก็ตาม จากการสืบค้นข้อมูลออนไลน์พบว่านอกจาก น.ส.ปารีณาแล้ว ก็ยังมีผู้อื่นที่เป็น ส.ส.ซึ่งถือครองที่ ส.ป.ก. มีรายชื่อดังต่อไปนี้
พรรคภูมิใจไทย
นายเกียรติ เหลืองขจรวิทย์ ส.ส.ลพบุรี เขต 4 ถือครองเอกสารสิทธิ์ ภ.บ.ท.5 จำนวน 13 แปลง และ ส.ป.ก.4-10 จำนวน 3 แปลง รวมเนื้อที่ 130 ไร่เศษ,นายสนอง เทพอักษรณรงค์ ส.ส.บุรีรัมย์ เขต 1 ถือครองเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.4-01 รวม 2 แปลง เนื้อที่ 6 ไร่เศษ,และนายสฤษดิ์ บุตรเนียร ส.ส.ปราจีนบุรี เขต 3 ถือครองเอกสารสิทธิ์ ภ.บ.ท.5 รวม 3 แปลง และ ส.ป.ก.4-01 รวม 2 แปลง รวมเนื้อที่ 44 ไร่เศษ
พรรคพลังชาติไทย
พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ เนื่องจากปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว มีเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.4-01 รวม 2 แปลง
พรรคเพื่อไทย
นายจิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์ ส.ส.นนทบุรี เขต 2 ถือครองเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก. จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ 49-1-99 ไร่,นายนิรมิต สุจารี ส.ส.ร้อยเอ็ด เขต 3 ถือครองเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.4-01 จำนวน 2 แปลง รวมเนื้อที่ 48 ไร่เศษ,นายสงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูน เขต 1 ถือครอง น.ส.2 จำนวน 2 แปลง และ ส.ป.ก.4-01 จำนวน 1 แปลง รวมเนื้อที่ 60 ไร่เศษ
พรรคก้าวไกล
นายศักดินัย นุ่มหนู ส.ส.ตราด เขต 1 ถือครองเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.4-01 จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ 22 ไร่เศษ
อะไรคือที่ดิน ส.ป.ก.
โดยจากประเด็นเรื่องที่ดิน ส.ป.ก.ดังกล่าวนั้น ก็ทำให้สังคมได้ตั้งข้อสงสัยว่าอะไรคือที่ดิน ส.ป.ก.กันแน่ ซึ่งรายละเอียดในกฎหมายนั้นได้มีการระบุนิยามที่ดิน ส.ป.ก.เอาไว้ดังนี้
ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 (ฉบับแรก) กำหนดนิยามคำว่า เกษตรกร หมายความว่า ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ส่วนเจ้าของที่ดินผู้ประกอบเกษตรกรรมด้วยตนเอง หมายความว่า เจ้าของที่ดินผู้ซึ่งดำเนินการผลิตด้านเกษตรกรรม โดยเป็นผู้ลงทุนและได้ผลประโยชน์จากการผลิตนั้นโดยตรง และไม่เป็นผู้ให้เช่าที่ดินนั้น
มาตรา 29 บัญญัติว่า ในเขตปฏิรูปที่ดิน เมื่อคณะกรรมการ ส.ป.ก. พิจารณาเห็นว่า ที่ดินบริเวณใดสมควรดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้ ส.ป.ก. มีอำนาจจัดซื้อหรือดำเนินการเวนคืนที่ดินได้ ดังต่อไปนี้
(1) ที่ดินแปลงเดียวหรือหลายแปลงมีเนื้อที่รวมกันเกินกว่า 50 ไร่ ซึ่งบุคคลครอบครัวเดียวกันไม่ว่าคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นเจ้าของที่ดินผู้ประกอบเกษตรกรรมด้วยตนเอง ให้ ส.ป.ก. มีอำนาจจัดซื้อหรือดำเนินการเวนคืนที่ดินส่วนที่เกินกว่า 50 ไร่
(2) ถ้าที่ดินดังกล่าวตาม (1) มีเนื้อที่รวมกันเกินกว่า 100 ไร่ และเจ้าของที่ดินผู้ประกอบเกษตรกรรมด้วยตนเองใช้เพื่อการเลี้ยงสัตว์จำพวกสัตว์ใหญ่ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดชนิด จำนวน และเงื่อนไขในราชกิจจานุเบกษา ให้ ส.ป.ก. มีอำนาจจัดซื้อหรือดำเนินการเวนคืนที่ดินส่วนที่เกินกว่า 100 ไร่
ถ้าเจ้าของที่ดินรายใดมีความประสงค์จะประกอบเกษตรกรรมด้วยตนเองในที่ดินดังกล่าวเกินกว่าตามที่กำหนดใน (1) และ (2) และแสดงได้ว่าตนประกอบเกษตรกรรมด้วยตนเองอยู่แล้วไม่ต่ำกว่า 1 ปีก่อน พ.ร.บ.ฉบับนี้ใช้บังคับ และแสดงได้ว่าตนมีความสามารถและปัจจัยที่จะทำให้ที่ดินดังกล่าวเป็นประโยชน์ทางเกษตรกรรมได้ และประกอบเกษตรกรรมในที่ดินนั้นด้วยตนเอง ให้ยื่นคำร้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่พร้อมพยานหลักฐานอ้างอิง เมื่อสอบสวนแล้ว คณะกรรมการ ส.ป.ก. เห็นควรอนุญาต ให้กำหนดเงื่อนไขในการอนุญาตต่อรัฐมนตรี หากรัฐมนตรีอนุญาตให้ผู้ร้องขอนั้นมีสิทธิในที่ดินต่อไป แต่ต้องไม่เกิน 1,000 ไร่ แต่หากผู้ร้องไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ส.ป.ก. มีอำนาจเวนคืนที่ดินดังกล่าวเพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมต่อไป
มาตรา 39 บัญญัติว่า ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยัง ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
(อ่าน พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ฉบับเต็ม : http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%A123/%A123-20-9999-update.pdf)
เลขาฯ ส.ป.ก.ยอมรับต้องแก้ไขระเบียบให้เหมาะสม เล็งประสาน ป.ป.ช.-กกต.
ขณะที่ทางด้านของนายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก.ได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่าที่ผ่านมาในบริบทของ ส.ป.ก. เมื่อได้ตรวจพบแล้วก็จะมีหนังสือแจ้งไปให้ดำเนินการให้ถูกต้อง โดยในส่วนของ ส.ป.ก. ถ้าได้มาโดยถูกต้อง เขามีสิทธิ์ในการจะโอนสิทธิ์นั้นไปให้กับทายาท ที่มีคุณสมบัติ
"ในส่วนของ ส.ป.ก. ต้องแยกระหว่างกฎหมายจริยธรรม กับการปฏิรูปที่ดิน นี่เป็นคนละเรื่องกัน กฎหมายของจริยธรรมนั้นเป็นเรื่องของ ป.ป.ช.ที่จะดำเนินการ แต่ในส่วนของ ส.ป.ก. เมื่อใครถือครองที่ ส.ป.ก. ถ้าเป็นคนที่มีคุณสมบัติเขาก็มีสิทธิถือครองได้ แต่ว่าถ้าหากขาดคุณสมบัติแล้ว เขาก็ยังมีสิทธิในการที่จะโอนสิทธิให้ตกทอดสู่ทายาทในเวลาที่กำหนด เมื่อพบแล้วเขาไม่ดำเนินการเราก็จะมีกระบวนการในการสั่งให้ที่ดินส่วนนั้นกลับมาเป็นที่ของ ส.ป.ก.ในการจะจัดให้กับเกษตรกรรายอื่นแทน" นายวิณะโรจน์กล่าว
เลขาธิการ ส.ป.ก.กล่าวย้ำว่าดังนั้นผู้ที่ถูกกล่าวหาก็ต้องมาแจ้ง ถ้าไม่ยอมก็จะมีการนำกระบวนการเข้าสู่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินประจำจังหวัดเพื่อยึดกลับมาของ ส.ป.ก. แต่ถ้าหากยึดกลับแล้วคนถือครองยังไม่ยอมก็จะมีการดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
เมื่อถามถึงกรณีที่พบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรายอื่นที่ถือครองที่ดินนอกเหนือจาก น.ส.ปารีณา นายวิณะโรจน์กล่าวว่าการเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นก็ถือว่าขาดคุณสมบัติของการถือครองที่ดิน ส.ป.ก.แล้ว ซึ่งที่ผ่านมานั้นการสอบของ ส.ป.ก.ก็มักจะตรวจสอบกันในแต่ละปีอยู่แล้ว แต่ว่าตอนที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ยื่นเรื่องไปยัง ป.ป.ช. เราก็ไม่ทราบว่าเขายื่นอะไรไป มันเป็นเรื่องของ ป.ป.ช. ที่เขาจะยื่นไปตามภารกิจของเขา แต่ ส.ป.ก.ไม่รับทราบได้เลย ว่าเขามีทรัพย์สินอะไรบ้าง เพราะ ป.ป.ช.ไม่ได้แจ้งมา
นายวิณะโรจน์ กล่าวต่อไปว่าจากเหตุการณ์ดังกล่าว ส.ป.ก.ก็ได้ไปคุยกับ ป.ป.ช.แล้วว่าจากนี้ไปถ้ามีการยื่นบัญชีทรัพย์สิน ป.ป.ช.ก็จะกลับมาแจ้ง ส.ป.ก.ว่าหลังจากนี้ถ้ามีกรณีแบบนี้ ป.ป.ช.เขาจะกลับมาแจ้งเราว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นถือที่ดินของรัฐ ส.ป.ก.ต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป
"วันนี้ผมกำลังทำหนังสือไปถึง กกต. (กรรมการการเลือกตั้ง) ด้วยว่าไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งในระดับใดก็ตาม ตั้งแต่การเลือกตั้งท้องถิ่น เมื่อมีผลรับรองออกมาแล้ว ก็จะมีการส่งชื่อมาให้ ส.ป.ก.ดำเนินการตามกฎระเบียบต่อไป โดยจะแจ้งคนที่ถือครองที่ว่าเมื่อทราบผลการเลือกตั้งแล้ว เขาจะต้อง`มาดำเนินการให้มันถูกต้องตามกฎหมายต้อง ก็คือจะคืนที่ ส.ป.ก.มาหรือว่าจะโอนให้กับทายาทก็ต้องทำให้เสร็จเรียบร้อยก่อนเข้ามาดำรงตำแหน่ง" นายวิณะโรจน์กล่าว และกล่าวต่อไปด้วยว่าเรื่องนี้ต้องมีการทำให้เป็นมิติใหม่ในการตรวจสอบเชิงรุกว่าประกาศรับรองผลเลือกตั้งเมื่อไรก็ให้ ส.ป.ก.ดำเนินการทันที
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก.
ป.ป.ช. เผยต้องดูข้อเท็จจริงของแต่ละคนด้วยว่ามี ส.ป.ก.เมื่อไร
ส่วนนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการป.ป.ช.ได้ให้สัมภาษณ์ว่ากรณีการถือครองที่ ส.ป.ก.นั้นต้องดูข้อเท็จจริงของแต่ละคนด้วยว่าเขาไปถือครองเมื่อไร ถืออย่างไร เพราะเหตุที่ถือครองนั้นเขาก็อาจจะรับมรดกมาก็เป็นไปได้ การจะบอกว่าถือครอcง ส.ป.ก.แล้วจะผิดด้วยมาตรฐานเดียวกันหมด มันก็ไม่ใช่ เพราะนี้เป็นคดีอาญา ศาลก็ต้องฟังข้อเท็จจริงเป็นเรื่องๆต้องมีการเสนอเป็นเรื่องๆไป
เลขาธิการ ป.ป.ช.กล่าวต่อไปว่าอย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่เป็น ส.ส. เมื่อรู้ว่ามีที่ ส.ป.ก.แล้ว ก็ต้องดำเนินการไม่ให้ตัวเองมีที่นั้น เพราะอะไรที่เป็นลักษณะต้องห้าม ขาดคุณสมบัติ เรื่องนี้ต้องไม่ทำ ต้องคืนที่ไปเสีย
"คุณสมบัติของคนที่จะมี ส.ป.ก. คือต้องเป็นเกษตรกร มีรายได้จำกัด แต่พอเขามาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีรายได้ เขาก็ไม่ใช่เกษตรกรแล้ว เราก็ต้องมานั่งพิจารณาว่าเดิมที่เขาเคยขอที่ไว้มันชอบหรือไม่ ปัจจุบันมาเป็นนักการเมืองเราก็ต้องมาพิจารณาในเรื่องการถือครองที่ของเขาในเรื่องของการถือครองที่อีกว่ามีเท่าไร ซึ่งนี่เป็นประเด็นข้อกฎหมายที่ต้องพิจารณา" นายนิวัติไชยกล่าว
เมื่อถามว่าในช่วงเวลาระหว่างที่รู้ตัวว่าได้เป็น ส.ส.แล้ว จนไปถึงช่วงที่จะยื่นบัญชีทรัพย์สินนั้น ไม่ควรจะมี ส.ป.ก.อยู่ในบัญชีทรัพย์สินที่จะยื่นให้ ป.ป.ช.แล้วใช่หรือไม่ เลขาธิการ ป.ป.ช.กล่าวว่าบางทีเขาก็ไม่รู้ว่าทำได้หรือไม่ และมันไม่มีการดำเนินการทางกฎหมายมาก่อน เพิ่งจะมีคดีปารีณาที่เป็นบทเรียนให้กับ ส.ส. ว่าการครอบครองที่ดินมันผิด และขัดต่อจริยธรรม เพราะว่าจริยธรรมร้ายแรงนั้นถือว่าเป็นเรื่องใหม่ ซึ่งพอหลังจากมีเคสตัวตัวอย่างเกิดขึ้นแล้ว คนก็เริ่มตื่นตระหนกกัน บางคนก็ไปขอเพิกถอน ซึ่งตรงนี้เราก็ต้องไปดูว่าแต่ละที่นั้นเขามีเหตุผลหรือไม่เกี่ยวกับการครอบครองซึ่งมาก่อนการดำรงตำแหน่ง
นายนิวัติไชยกล่าวต่อว่าส่วนตัวแล้วคิดว่าในอนาคตนั้นคงจะไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มายื่นบัญชีทรัพย์สินให้กับ ป.ป.ช.และระบุว่ามี ส.ป.ก.แล้ว แต่เขาก็อาจจะมีแต่ว่าไม่เปิดเผยก็เป็นไปได้เช่นกัน ซึ่งตรงนี้ ป.ป.ช.ก็คงต้องไปตรวจสอบเช่นเดียวกับกรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้มายื่นรายชื่อนักการเมืองคนอื่นๆที่ถือครองที่ ส.ป.ก. ทาง ป.ป.ช.ก็คงต้องเข้าไปตรวจสอบทุกคนเช่นกัน
เลขาธิการ ป.ป.ช.กล่าวต่อถึงการพูดคุยหารือกับ ส.ป.ก.ว่าคาดว่าในอนาคตคงต้องมีการทำบันทึกความเข้าใจหรือว่าเอ็มโอยูกับ ส.ป.ก.อีกทีหนึ่งเช่นกันเพื่อจะเชื่อมข้อมูลต่างๆ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าเขาจะทำเป็นรูบแบบการจัดเก็บข้อมูลด้วยอิเล็กทรอนิกส์หรือไม่ ถ้าหากเป็นรูปแบบนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ง่ายเลยเพราะเราไม่ต้องทำหนังสือขอข้อมูลไป แค่กดชื่อปุ๊บก็ปรากฎชื่อเลยว่าคนนี้ครอบครอง ส.ป.ก.ไหม ครอบครัวของเขาครอบครองไหม
นายนิวัติไชยกล่าวทิ้งท้ายว่าปัญหาประการหนึ่งของการตรวจสอบในประเด็นเรื่อง ที่ ส.ป.ก.และที่อื่นๆซึ่งมีปัญหาเช่นกรณีการรุกป่าสงวนนั้นก็คือว่าเราต้องมาทำหนังสือขอข้อมูลเป็นรายๆไป เยอะมาก ต้องมีการตรวจสอบและลงพื้นทีตามมาด้วยก่อนจะส่งเรื่องฟ้องต่อศาล ดังนั้นถ้าหากเรามีระบบการเชื่อมข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วก็จะเป็นเรื่องที่ลดระยะเวลาและมีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการป.ป.ช.
อ่านประกอบ :
- ฉบับเต็ม! ศาลฎีกาพิพากษา 'ปารีณา' หลุด ส.ส. ห้ามดำรงตำแหน่งการเมืองตลอดชีวิต
- เสื่อมเกียรติศักดิ์ ส.ส.! ป.ป.ช.แถลงทางการ‘ปารีณา’ผิดจริยธรรม- ถูกสอบอีกนับสิบราย
- ‘ปารีณา’รายแรก! มติเอกฉันท์ ป.ป.ช.ชี้มูลผิดจริยธรรม-ลุ้นศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่?
- ส่งศาลฎีกา! ป.ป.ช.ชี้มูล‘ปารีณา’ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงคดีรุกป่า-ที่ดินรัฐ
- ‘บิ๊กตู่-ปารีณา-ช่อ’ 3 รายแรกโดนสอบฝ่าฝืนจริยธรรมฯปี 63-กลไกใหม่กำกับนักการเมือง?
- ให้หยุดปฎิบัติหน้าที่ ส.ส.! ศาลฎีกา รับคำฟ้องคดี 'ปารีณา' ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงรุกป่า
- ศาลฎีกาสั่ง 'ปารีณา ไกรคุปต์' หยุดปฏิบัติหน้าที่ กมธ.นัดพิพากษาคดีจริยธรรม 7 เม.ย.65
- ศาลฎีกาพิพากษา'ปารีณา'ผิดจริยธรรมร้ายแรง สั่งหลุด ส.ส.-ห้ามดำรงตำแหน่งการเมืองตลอดชีวิต