"...แม้ผู้คัดค้านครอบครองที่ดินตั้งแต่ปี 2555 ถึงปี 2562 อันเป็นการครอบครองที่ดินทั้งก่อนและหลังมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ดังกล่าวบัญญัติขึ้น แต่เมื่อมาตรฐานทางจริยธรรมฯ มีผลใช้บังคับแล้ว ผู้คัดค้านย่อมถูกผูกพันบังคับมิให้กระทำการใดอันขัดต่อมาตรฐานทางจริยธรรมฯ อีกต่อไป..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : ศาลฎีกา ได้เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ คำพิพากษา น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ กรณีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนในจังหวัดราชบุรี ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม มีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งส.ส. นับจากวันที่ 25 มี.ค.2564 ซึ่งเป็นวันที่ศาลฎีกา สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านตลอดไป และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกิน 10 ปี มีผลให้ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิ์รับเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ผู้บริหารท้องถิ่น และดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 235 วรรคสี่ และ พ.ร.ป.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2561 มาตรา 81 , 87 และมาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ข้อ 3 ข้อ 17 ประกอบข้อ 27 วรรคสอง
***********************
วันนี้ เวลา 10.30 นาฬิกา ศาลฎีกาได้อ่านคำสั่ง คดีหมายเลขแดงที่ คมจ. 1/2565 ระหว่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้ร้อง นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ผู้คัดค้าน เรื่องการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
คดีนี้ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกามีคำพิพากษาหรือคำสั่งว่า ผู้คัดค้านฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้ผู้คัดค้านหยุดปฏิบัติหน้าที่นับแต่วันที่ศาลฎีการับคำร้องจนกว่าจะมีคำพิพากษา ให้ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้าน และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกินสิบปี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 235 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 87 และมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 3, 11, 17, 27 วรรคสอง
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องคดีนี้ได้หรือไม่ เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 219 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นใช้บังคับแก่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ โดยมาตรา 234 วรรคหนึ่ง (1) บัญญัติให้เป็นอำนาจของผู้ร้องในการไต่สวนกรณีมีการกล่าวหาว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ส่วนที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ตราข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. 2563 ขึ้นใช้บังคับก่อนที่ผู้ร้องจะมีมติให้ไต่สวนคดีนี้ ข้อบังคับดังกล่าวอาศัยอำนาจตามความในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 128 ประกอบมาตรา 219 วรรคสอง ที่ให้อำนาจสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามีอำนาจตราข้อบังคับเกี่ยวกับประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ เพื่อดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กรณีจึงเป็นการให้อำนาจสภาผู้แทนราษฎรตราข้อบังคับกำหนดจริยธรรมเพิ่มเติมขึ้นให้เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่อาจมีรายละเอียดในการปฏิบัติหน้าที่แตกต่างจากองค์กรอื่น อันมีผลให้ผู้คัดค้านต้องปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมที่ออกตามความในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 219 วรรคหนึ่งและข้อบังคับเกี่ยวกับประมวลจริยธรรมที่ออกตามความในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 128 ประกอบมาตรา 219 วรรคสองด้วย การตรวจสอบมาตรฐานทางจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงกระทำได้หลายทางและโดยองค์กรที่ต่างกัน ไม่มีบทกฎหมายใดจำกัดให้ต้องดำเนินการเฉพาะทางใดทางหนึ่งเท่านั้น
แม้ผู้คัดค้านครอบครองที่ดินตั้งแต่ปี 2555 ถึงปี 2562 อันเป็นการครอบครองที่ดินทั้งก่อนและหลังมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ดังกล่าวบัญญัติขึ้น แต่เมื่อมาตรฐานทางจริยธรรมฯ มีผลใช้บังคับแล้ว ผู้คัดค้านย่อมถูกผูกพันบังคับมิให้กระทำการใดอันขัดต่อมาตรฐานทางจริยธรรมฯ อีกต่อไป
เมื่อมีการกล่าวหาว่าผู้คัดค้านมีการกระทำอันเป็นการครอบครองที่ดินที่ต่อเนื่องกันมาจนถึงเวลาที่มาตรฐานทางจริยธรรมฯ และบทกฎหมายที่ผู้ร้องอ้างมีผลใช้บังคับ ผู้ร้องย่อมมีอำนาจไต่สวนและมีมติเป็นคดีนี้ได้ มาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 27 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ในหมวด 1 ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง และข้อ 27 วรรคสอง กำหนดว่า การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ในหมวด 2 และหมวด 3 จะถือว่ามีลักษณะร้ายแรงหรือไม่ ให้พิจารณาถึงพฤติกรรมของการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ เจตนาและความเสียหายที่เกิดจากการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัตินั้น กรณีการกล่าวหาว่าผู้คัดค้านฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ในหมวด 2 จึงอาจเป็นเรื่องที่มีลักษณะร้ายแรงได้ตามข้อ 27 วรรคสอง ผู้ร้องจึงชอบที่จะดำเนินการไต่สวนและเสนอเรื่องต่อศาลฎีกาได้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 235 วรรคหนึ่ง (1) ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้อง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า ผู้คัดค้านกระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันถือว่ามีลักษณะร้ายแรง ตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 11 ประกอบข้อ 3 และข้อ 27 วรรคสอง หรือไม่ เห็นว่า การกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมตามข้อ 11 จะต้องมีการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ โดยจะต้องมีสถานการณ์หรือการกระทำที่บุคคลในองค์กรหรือหน่วยงานนั้น ๆ มีผลประโยชน์ส่วนตน อันอาจกระทบต่อการวินิจฉัยสั่งการหรือการใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ในตำแหน่งของบุคคลนั้น โดยอาจเป็นอำนาจหน้าที่ในการกำกับ ดูแล ควบคุม หรือตรวจสอบในเรื่องที่ตนมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องด้วย
ผู้คัดค้านดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีหน้าที่หลักในทางนิติบัญญัติ ผู้คัดค้านไม่ได้มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการกำกับ ดูแล ควบคุม หรือตรวจสอบการปฏิบัติงานของกรมป่าไม้ และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม การเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้คัดค้านไม่มีผลต่อการวินิจฉัยคุณสมบัติของผู้คัดค้านในการที่จะมีสิทธิครอบครองที่ดินทั้งในเขตป่า เขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตปฏิรูปที่ดิน ไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านเข้าไปเกี่ยวข้องโดยมีส่วนร่วมในการตัดสินใจหรือมีการปฏิบัติงานในหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งในกรมป่าไม้หรือสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม การกระทำของผู้คัดค้านฟังไม่ได้ว่า มีการกระทำอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันถือว่ามีลักษณะร้ายแรง ตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 11 ประกอบข้อ 3 และข้อ 27 วรรคสอง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า ผู้คัดค้านกระทำการที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อันถือว่ามีลักษณะร้ายแรง ตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 17 ประกอบข้อ 3 และข้อ 27 วรรคสอง หรือไม่ ผู้คัดค้านครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน 665 ไร่ 1 งาน 53 ตารางวา โดยไม่มีเอกสารสิทธิใดที่จะใช้ยันกับรัฐได้ ในขณะที่บริเวณรอบ ๆ มีการปฏิรูปที่ดินและมีการออก ส.ป.ก. 4-01 แล้วหลายสิบแปลง ประกอบกับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประกาศให้ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงกับที่ดินพิพาทให้เข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดินมาตั้งแต่ปี 2554 ผู้คัดค้านย่อมต้องทราบถึงประกาศดังกล่าว ทั้งต่อมาเมื่อสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดราชบุรีประกาศให้ผู้ครอบครองที่ดินมายื่นคำขอเข้าทำประโยชน์เพื่อเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดินอีกครั้งในวันที่ 17 มิถุนายน 2562 ผู้คัดค้านก็ยังไม่เข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดิน โดยผู้มีสิทธิขอรับการจัดสรรที่ดินจะต้องมีคุณสมบัติเป็นเกษตรกร ไม่มีที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมเป็นของตนเองหรือของบุคคลในครอบครัวเดียวกัน หรือมีที่ดินเพียงเล็กน้อยแต่ไม่เพียงพอต่อการประกอบเกษตรกรรมเพื่อเลี้ยงชีพ การจัดสรรที่ดินในเขตปฏิรูปจะจัดสรรให้ไม่เกินคนละ 50 ไร่ ผู้คัดค้านไม่เข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดินเพราะทราบดีว่าตนครอบครองที่ดินมีจำนวนเนื้อที่มากกว่าเกษตรกรคนอื่นซึ่งได้รับ ส.ป.ก. 4-01 ในบริเวณใกล้เคียงกับที่ดินพิพาทนับสิบเท่า การเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดินอาจมีผลให้ผู้คัดค้านสูญเสียการครอบครองที่ดินพิพาท จนกระทั่ง
ผู้คัดค้านถูกร้องเรียนและมีการเข้าตรวจสอบพร้อมตรวจยึดที่ดิน ผู้คัดค้านจึงคืนที่ดินเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2562 หาใช่ผู้คัดค้านสมัครใจส่งมอบที่ดินเพื่อเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดินเอง ผู้คัดค้านเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรวม 4 สมัย ย่อมมีความรู้เกี่ยวกับการได้รับการจัดสรรที่ดินในเขตปฏิรูป การที่ผู้คัดค้านครอบครองที่ดินพิพาทที่ไม่มีเอกสารสิทธิจำนวนหลายร้อยไร่ และทำประโยชน์มาอย่างต่อเนื่องโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการปิดโอกาสเกษตรกรรายอื่น ทำให้ไม่สามารถนำที่ดินไปจัดสรรให้แก่ผู้ยากไร้และไม่มีที่ดินทำกิน ย่อมทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดความเคลือบแคลงใจว่า เหตุใดผู้คัดค้านซึ่งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงสามารถครอบครองที่ดินจำนวนหลายร้อยไร่ในเขตปฏิรูปที่ดินได้ ปรากฏตามบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินว่าผู้คัดค้านเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินมีเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดินและ น.ส. 3 ก. หลายสิบแปลง
ผู้คัดค้านจึงมิใช่ผู้ที่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง และผู้คัดค้านยังมีทรัพย์สินรวมกว่า 163 ล้านบาท ไม่เป็นคนยากจน จึงขาดคุณสมบัติมาตั้งแต่ต้น ดังนั้นการเข้าครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินของผู้คัดค้านโดยทราบว่าตนไม่มีคุณสมบัติที่จะได้รับการจัดสรรที่ดินในเขตปฏิรูปและโดยที่รู้อยู่ตนว่าไม่มีเอกสารสิทธิ ย่อมเป็นเรื่องที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งควรเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชนทั่วไปไม่พึงปฏิบัติ การกระทำของผู้คัดค้านจึงเป็นการก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ในการดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 17 ซึ่งจริยธรรมข้อนี้หมายถึงการรักษาชื่อเสียงของตำแหน่งหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการไม่ประพฤติปฏิบัติตนหรือดำเนินการอื่นใดที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของผู้ดำรงตำแหน่งและองค์กรของผู้ดำรงตำแหน่ง
แม้จะมิได้เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของตนโดยตรงก็ตาม เพราะอาจทำให้สาธารณชนขาดความเชื่อถือศรัทธาต่อความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การที่ผู้คัดค้านเข้าครอบครองที่ดินเนื้อที่จำนวนมากถึง 665 ไร่ 1 งาน 53 ตารางวา เพื่อประกอบกิจการค้าขนาดใหญ่ในเขตปฏิรูปที่ดินโดยไม่มีเอกสารสิทธิใด ถือได้ว่าก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อความเชื่อมั่นในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดิน พฤติกรรมของการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าวประกอบกับกับเจตนาและความร้ายแรงของความเสียหายที่เกิดจากการฝ่าฝืนแล้ว เห็นได้ว่าเป็นกรณีมีลักษณะร้ายแรงตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 27 วรรคสอง ผู้คัดค้านไม่อาจอ้างหน้าที่เลี้ยงดูบิดามารดาอันเป็นหน้าที่ส่วนตนเพื่อก่อภาระแก่สังคมโดยรวมได้ ผู้คัดค้านเป็นผู้มีหน้าที่ในทางนิติบัญญัติควรต้องปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีในการเคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย แม้ต่อมาผู้คัดค้านจะส่งมอบพื้นที่พิพาทคืนให้แก่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไข ก็ไม่ทำให้การฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมที่เกิดขึ้นมาแล้วกลับกลายเป็นไม่เคยเกิดขึ้นได้ ข้อต่อสู้ของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้คัดค้านได้กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 235 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบความในหมวด 2 มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก ข้อ 17 ประกอบข้อ 3 และข้อ 27 วรรคสอง เนื่องจากมีการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง อันมีพฤติกรรมที่มีลักษณะร้ายแรงของความเสียหายที่เกิดจากการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ส่วนปัญหาข้ออื่นตามคำร้องและคำคัดค้าน ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษาว่า ผู้คัดค้านฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 235 วรรคหนึ่ง (1) วรรคสามและวรรคสี่ ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 81 และมาตรา 87 และมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 3 ข้อ 17 ประกอบข้อ 27 วรรคสอง
ให้ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดราชบุรี นับแต่วันที่ 25 มีนาคม 2564 อันเป็นวันที่ศาลฎีกามีคำสั่งให้ผู้คัดค้านหยุดปฏิบัติหน้าที่ ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านตลอดไป รวมถึงไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 235 วรรคสี่ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้านมีกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา
คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
อ่านประกอบ :
- เสื่อมเกียรติศักดิ์ ส.ส.! ป.ป.ช.แถลงทางการ‘ปารีณา’ผิดจริยธรรม- ถูกสอบอีกนับสิบราย
- ‘ปารีณา’รายแรก! มติเอกฉันท์ ป.ป.ช.ชี้มูลผิดจริยธรรม-ลุ้นศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่?
- ส่งศาลฎีกา! ป.ป.ช.ชี้มูล‘ปารีณา’ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงคดีรุกป่า-ที่ดินรัฐ
- ‘บิ๊กตู่-ปารีณา-ช่อ’ 3 รายแรกโดนสอบฝ่าฝืนจริยธรรมฯปี 63-กลไกใหม่กำกับนักการเมือง?
- ให้หยุดปฎิบัติหน้าที่ ส.ส.! ศาลฎีกา รับคำฟ้องคดี 'ปารีณา' ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงรุกป่า
- ศาลฎีกาสั่ง 'ปารีณา ไกรคุปต์' หยุดปฏิบัติหน้าที่ กมธ.นัดพิพากษาคดีจริยธรรม 7 เม.ย.65
- ศาลฎีกาพิพากษา'ปารีณา'ผิดจริยธรรมร้ายแรง สั่งหลุด ส.ส.-ห้ามดำรงตำแหน่งการเมืองตลอดชีวิต