ศาลฎีกา รับคำฟ้องคดี 'ปารีณา ไกรคุปต์' ส.ส.ราชบุรี พรรค พปชร. ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมฯอย่างร้ายแรง ถูกดำเนินคดีฟาร์มไก่บุกรุกพื้นที่ป่าสงวน -สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ด้วย
........................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 ศาลฎีกา นัดฟังคำสั่งกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ร้อง น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ผู้คัดค้าน คดีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมฯอย่างร้ายแรง ภายหลังถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด กรณีถูกดำเนินคดีฟาร์มไก่บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนใน จ.ราชบุรี ตามที่กองบังคับการตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ (บก.ปทส.) แจ้งข้อกล่าวหาในคดีอาญาไปก่อนหน้านี้
คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกามีคำพิพากษาหรือคำสั่งว่า ผู้คัดค้านฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมฯอย่างร้ายแรง ให้ผู้คัดค้านหยุดปฏิบัติหน้าที่นับแต่วันที่ศาลฎีการับคำร้องจนกว่าจะมีคำพิพากษา ให้ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้าน และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกิน 10 ปี ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 235 ประกอบ พ.ร.บ.ป.ป.ช.ปี 2561 มาตรา 87 และมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ปี 2561 ข้อ 3, 11, 17, 27 วรรคสอง
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว เห็นว่า คำร้องของผู้ร้องบรรยายพฤติการณ์ที่กล่าวหา พร้อมทั้งชี้ช่องพยานหลักฐานชัดเจนเพียงพอ และผู้ร้องดำเนินการครบถ้วนตาม ข้อ 11 ของระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ปี 2561
ส่วนที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านขอให้ไม่รับคำร้องของผู้ร้องไว้วินิจฉัยนั้น โดยอ้างว่าคำร้องดังกล่าวไม่ชอบนั้น เห็นว่า ข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ ปี 2563 ไม่ตัดอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 235 วรรคหนึ่ง (1) ที่จะไต่สวนข้อเท็จจริงและเสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย ผู้ร้องจึงมีอำนาจไต่สวนและมีอำนาจยื่นคำร้องคดีนี้
ส่วนกรณีผู้คัดค้านยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา และคำร้องวันนี้ประกอบกัน ระบุว่า ขอให้ศาลไม่มีคำสั่งให้ผู้คัดค้านหยุดปฏิบัติหน้าที่นั้น เห็นว่า คำร้องของผู้คัดค้านยังไม่มีเหตุผลฟังขึ้นเพียงพอ ศาลจึงยกคำร้อง
ศาลจึงรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณา และไม่ได้มีคำสั่งอื่นใดตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 235 วรรคสาม ผู้คัดค้านจึงต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ และแจ้งคำสั่งของศาลให้ผู้คัดค้าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ โดยนัดพิจารณาคดีครั้งแรกหรือไต่สวนพยานผู้ร้อง ในวันที่ 30 เม.ย. 2564 เวลา 09.30 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ปารีณา ถือเป็นนักการเมือง และ ส.ส.รายแรก ที่ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมฯอย่างร้ายแรง และศาลฎีกามีคำสั่งรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาวินิจฉัย
อนึ่ง เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2564 เจ้าหน้าที่สำนักคดี สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกา วินิจฉัยกรณี น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ (ผู้คัดค้าน) ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมฯอย่างร้ายแรงหรือไม่ ภายหลังถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด กรณีถูกดำเนินคดีฟาร์มไก่บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนใน จ.ราชบุรี ตามที่กองบังคับการตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ (บก.ปทส.) แจ้งข้อกล่าวหาในคดีอาญาไปก่อนหน้านี้
โดยในท้ายคำร้องดังกล่าวของ ป.ป.ช. ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งว่า 1.ให้ น.ส.ปารีณา หยุดปฏิบัติหน้าที่นับแต่วันที่ศาลฎีกาประทับรับฟ้องจนกว่าจะมีคำพิพากษา 2.ให้ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้าน และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกิน 10 ปี
กรณีนี้ เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2564 คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติว่า กรณี น.ส.ปารีณา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยึดถือ ครอบครอง และใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยมิชอบดังกล่าว เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันถือว่ามีลักษณะร้ายแรง และกรณีเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง อันถือว่ามีลักษณะร้ายแรงตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 11 ข้อ 17 ประกอบ ข้อ 27 วรรคสอง ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มาตรฐานทางจริยธรรมฯ หมวด 1 ข้อ 11ระบุว่า ไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม, ข้อ 17 ระบุว่า ไม่กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง, ข้อ 27 ระบุว่า การฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวด 1 ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง
ส่วน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 (ฉบับใหม่) มาตรา 87 ระบุว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนและมีความเห็นว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาวินิจฉัย โดยในวรรคสาม ระบุว่า ให้นำความในมาตรา 81 และมาตรา 86 มาใช้บังคับด้วยอนุโลม
มาตรา 81 ระบุว่า กรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประทับฟ้องตามมาตรา 77 ให้ผู้ถูกกล่าวหาหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำพิพากษา เว้นแต่ศาลฎีกาฯมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ในกรณีที่ศาลฎีกาฯ พิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาให้ผู้ต้องคำพิพากษานั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น และจะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกิน 10 ปีด้วยหรือไม่ก็ได้ โดยวรรคสองระบุใจความสำคัญว่า หากถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งแล้ว ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งทางการเมืองอีกตลอดไป
ส่วน มาตรา 86 ระบุว่า กรณีคำพิพากษาของศาลฎีกาฯถึงที่สุดให้ยกฟ้อง ถ้าผู้ดำรงตำแหน่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ และยังมิได้พ้นจากตำแหน่งไปก่อน ให้กลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา
อ่านประกอบ :
เสื่อมเกียรติศักดิ์ ส.ส.! ป.ป.ช.แถลงทางการ‘ปารีณา’ผิดจริยธรรม- ถูกสอบอีกนับสิบราย
‘ปารีณา’รายแรก! มติเอกฉันท์ ป.ป.ช.ชี้มูลผิดจริยธรรม-ลุ้นศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่?
ส่งศาลฎีกา! ป.ป.ช.ชี้มูล‘ปารีณา’ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงคดีรุกป่า-ที่ดินรัฐ
‘บิ๊กตู่-ปารีณา-ช่อ’ 3 รายแรกโดนสอบฝ่าฝืนจริยธรรมฯปี 63-กลไกใหม่กำกับนักการเมือง?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/