“...กลไกดังกล่าวมีขึ้นในช่วงการร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยเห็นว่า ที่ผ่านมาในช่วงสถานการณ์ปกติ การให้อำนาจนักการเมือง ‘กำกับ-ดูแล’ นักการเมืองด้วยกันเองนั้น ไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะนักการเมืองต่างมี ‘บารมี-อิทธิพล’ ทางการเมืองในการโน้มน้าวเพื่อโหวตให้ตัวเองไม่ต้องถูกถอดถอนได้ แม้ว่าบางเรื่องจะปรากฎข้อเท็จจริงชัดแจ้งก็ตาม…”
..........................
น.ส.พรรณิการ์ วานิช หรือ ‘ช่อ’ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนาคตใหม่ ปัจจุบันเป็นโฆษกคณะก้าวหน้า คือนักการเมืองรายล่าสุดที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการไต่สวนในข้อกล่าวหากระทำผิดจริยธรรมร้ายแรง ตามมาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 โดยข้อ 3 วรรคห้า มีผลบังคับใช้กับ ส.ส. ด้วย (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.จ่อแจ้งข้อหา‘พรรณิการ์’ผิดจริยธรรมร้ายแรง! ปมโพสต์เฟซบุ๊ก“ภาพนี้ไม่ควรมีคำบรรยาย”)
นับเป็นนักการเมืองรายที่ 3 ในรอบปี 2563 ที่ผ่านมา ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดจริยธรรมร้ายแรงตามมาตรฐานจริยธรรมฯ โดย 2 รายแรกคือ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ถูกกล่าวหาว่าบุกรุกที่ดินป่าสงวน และที่ดินของรัฐ อีกรายคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ถูกกล่าวหาว่าอยู่อาศัยในบ้านพักราชการทหาร
สำหรับมาตรฐานทางจริยธรรมฯ มีผลบังคับเมื่อ 18 ม.ค. 2561 ที่ผ่านมาลงนามโดย ‘5 เสือองค์กรอิสระ’ ได้แก่ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
มาตรฐานทางจริยธรรมฯฉบับนี้ นอกจากบังคับใช้กับบุคคลในองค์กรอิสระแล้ว ตามข้อ 3 วรรคห้า ระบุว่า ให้ใช้บังคับแก่ ส.ส. ส.ว. และคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 219 วรรคสองด้วย
อาจเรียกได้ว่ามาตรฐานจริยธรรมฯฉบับนี้ เป็น ‘กฎเหล็ก’ ใหม่ถูกนำมาใช้แทนที่การ ‘ถอนถอน’ นักการเมือง เพราะแต่เดิมตามรัฐธรรมนูญปี 2550 และปีก่อน ๆ ให้อำนาจสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ตัดสิน ‘อนาคตการเมือง’ ของนักการเมือง แต่ปัจจุบันถูก ‘ริบอำนาจ’ มาสู่มือขององค์กรอิสระแทน
“ที่ผ่านมาในการลงมติถอดถอน ส.ส. หรือรัฐมนตรีในสภาช่วงปกติ ไม่เคยมีใครถูกถอดถอนได้แม้แต่รายเดียว” แหล่งข่าวระดับสูงในสำนักงาน ป.ป.ช. ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และเคยเข้าชี้แจงคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 อธิบายสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงประเด็นนี้
แหล่งข่าว ระบุอีกว่า กลไกดังกล่าวมีขึ้นในช่วงการร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยเห็นว่า ที่ผ่านมาในช่วงสถานการณ์ปกติ การให้อำนาจนักการเมือง ‘กำกับ-ดูแล’ นักการเมืองด้วยกันเองนั้น ไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะนักการเมืองต่างมี ‘บารมี-อิทธิพล’ ทางการเมืองในการโน้มน้าวเพื่อโหวตให้ตัวเองไม่ต้องถูกถอดถอนได้ แม้ว่าบางเรื่องจะปรากฎข้อเท็จจริงชัดแจ้งก็ตาม
สำนักข่าวไทยพับลิก้า เคยรายงานว่า ในการถอดถอน ส.ส. หรือรัฐมนตรี หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระนั้น ต้องยื่นคำร้องขอถอดถอนต่อวุฒิสภา ก่อนส่งต่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวน และส่งเรื่องกลับมายังประธานวุฒิสภา โดยในรัฐธรรมนูญปี 2540 มีคำร้องให้ถอดถอน 31 เรื่อง คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่า ข้อกล่าวหาตามคำร้องไม่มีมูล และให้ข้อกล่าวหาตกไป 14 เรื่อง ส่วนที่เหลือไม่ได้ส่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริง ส่วนรัฐธรรมนูญปี 2550 มีคำร้อง 74 เรื่อง และมีเพียง 6 รายเท่านั้นที่ถูกส่งเรื่องกลับเข้าสภาเพื่อดำเนินการถอดถอน ได้แก่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ นายภักดี โพธิศิริ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ (ชื่อเดิม) และนายไกรสร พรสุธี อดีตปลัดไอซีที โดยทั้งหมด ‘รอด’ จากการถูกถอดถอน
ขณะที่ในช่วงสถานการณ์ ‘ไม่ปกติ’ หรือช่วงรัฐประหารนั้น มีนักการเมืองถูกถอดถอนจากตำแหน่งโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อย่างน้อย 49 ราย แบ่งเป็นช่วงรัฐประหาร 2549 รวม 1 ราย คือนายจรัล ดิษฐาอภิชัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรณีเป็นหนึ่งในแกนนำ นปก. ก่อความมวุ่นวายหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ ส่วนปี 2557 มีนักการเมือง 48 รายถูกชงชื่อถอดถอน แต่มีเพียง 8 รายที่ถูกถอดถอน ได้แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายโครงการรับจำนำข้าว นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กรณีทุจริตระบายข้าวรัฐต่อรัฐ นายประชา ประสพดี อดีต รมช.มหาดไทย กรณีกล่าวหาแทรกแซงการทำงานองค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต อดีต รมว.กลาโหม กรณีแทรกแซงการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล นายนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย กรณีเสียบบัตรแทนกันในสภา
และรายสุดท้ายคือนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีต รมว.ต่างประเทศ กรณีออกหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) คืนแก่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี (อ้างอิงข้อมูลจาก สำนักข่าวไทยพับลิก้า : https://thaipublica.org/2016/11/dismissal-of-political-appointees/)
(สนช.กำลังลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์, ขอบคุณภาพจาก : https://static.posttoday.com/)
ข้อเท็จจริงข้างต้น จึงเป็นเหตุผลประการหนึ่งในการคลอดมาตรฐานจริยธรรมฯดังกล่าวออกมา เพื่อกำกับดูแลนักการเมืองโดยองค์กรอิสระ กลับมาขึ้นตรงสู่มือคณะกรรมการ ป.ป.ช. อีกครั้งที่เป็นผู้ไต่สวนหลัก ก่อนจะส่งเรื่องต่อไปยังศาลทันที โดยไม่ต้องผ่านการลงมติในสภาอีกต่อไป
ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 (1) บัญญัติว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจและหน้าที่ในการไต่สวนและมีความเห็นกรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
มาตรา 235 กรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระผู้ใดกระทำผิดตามมาตรา 234 (1) ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริง หากมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เห็นว่าผู้นั้นมีพฤติการณ์หรือกระทำความผิดตามที่ไต่สวนให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) ถ้าเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้เสนอเรื่องต่อ ‘ศาลฎีกา’ วินิจฉัย
(2) กรณีอื่นนอกจาก (1) ให้ส่งสำนวนการไต่สวนไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือดำเนินการอื่นตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช.
หากโฟกัสเฉพาะประเด็น ‘ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง’ มีกรอบกำหนดอย่างไร?
ตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯปี 2561 หมวด 4 ข้อ 27 บัญญัติว่า การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมในหมวด 1 ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง
การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวด 2 และหมวด 3 จะถือว่ามีลักษณะร้ายแรงหรือไม่ ให้พิจารณาถึงพฤติกรรมของการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ เจตนาและความร้ายแรงของความเสียหายที่เกิดจากการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ นั้น
สำหรับมาตรฐานจริยธรรมฯ หมวด 1 มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์ มี 10 ข้อ เน้นเรื่องการยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ ถือผลประโยชน์ประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ขอ ไม่เรียก ไม่รับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ไม่รับของขวัญ กำนัล ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดเว้นแต่เป็นการรับจากการให้โดยธรรมจรรยา เป็นต้น
ส่วนหมวด 2 คือมาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก และหมวด 3 คือหมวดจริยธรรมทั่วไป (อ่านมาตรฐานทางจริยธรรมฯ : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/005/13.PDF)
ปัจจุบันมีรายชื่อนักการเมืองอย่างน้อย 3 รายที่ถูกกล่าวหาในรอบปี 2563 ว่ากระทำความผิดฐานฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยข้อมูล ณ วันที่ 29 ธ.ค. 2563 ยังเหลือการไต่สวนอยู่ 2 ราย ได้แก่
1.น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ กรณีถูกกล่าวหาว่าบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติและที่ดินของรัฐ โดยความคืบหน้าขณะนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่ น.ส.ปารีณา แล้ว โดย น.ส.ปารีณา ได้ทำหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหากลับมา อ้างว่า เรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการสอบสวนของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ขอให้ บก.ปทส. ดำเนินการให้เสร็จเรียบร้อยก่อน
อย่างไรก็ดีแหล่งข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช. ระบุว่า ข้อเท็จจริงกรณีนี้เป็นคนละส่วนกับกรณีที่ บก.ปทส.สอบ ดังนั้นในช่วงต้นปี 2564 อาจมีการสรุปสำนวน และส่งเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไป
2.น.ส.พรรณิการ์ วานิช อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และอดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่ กรณีถูกกล่าวหาว่า โพสต์ข้อความและภาพผ่านเฟซบุ๊กในลักษณะอาจทำให้ประชาชนเข้าใจไปในทางเชื่อมโยงกับเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างมิบังควรหรือไม่ ความคืบหน้ากรณีนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวน และรวบรวมข้อเท็จจริงค่อนข้างครบถ้วนแล้ว โดยในเร็ว ๆ นี้จะมีการแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าวแก่ น.ส.พรรณิการ์
ส่วนที่จบไปแล้ว 1 ราย ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่ถูกกล่าวหาว่าอยู่อาศัยในบ้านพักราชการทหาร ใช้ค่าน้ำค่าไฟฟรี โดย ส.ส.ฝ่ายค้าน ยื่นคำร้องเสนอประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ บางข้อกล่าวหาว่า เข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงฯหรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่า กรณีดังกล่าวสามารถทำได้ จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง (อ่านประกอบ : ล้วงคำวินิจฉัยกลางฉบับเต็ม! ศาล รธน.ชี้ ‘บิ๊กตู่’พ้นบ่วงคดีบ้านพักทหาร-ใช้น้ำไฟฟรีได้?)
ทั้งหมดคือรายชื่อนักการเมืองอย่างน้อย 3 รายแรกที่ถูกกล่าวหา-ไต่สวนฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง ท้ายที่สุดเรื่องนี้จะมีบทสรุปอย่างไร และในปี 2564 จะมีรายชื่อเพิ่มเติมหรือไม่ ต้องติดตามกัน
หมายเหตุ : ภาพประกอบ น.ส.พรรณิการ์ จาก อนาคตใหม่ - Future Forward, ภาพ น.ส.ปารีณา จาก https://siamrath.co.th/, ภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จาก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/