“…ตอนนี้งานโยธาทั้ง 14 สัญญา มีความก้าวหน้าทั้งหมด เหลือเพียง 1 สัญญา ที่รอประมูล ซึ่งโครงการฯเฟส 1 ต้องเสร็จในปี 2568 และเปิดใช้ในปี 2569 แต่เฟสแรกนี้จะถึงแค่โคราชก่อน…”
....................................
อีกเพียงไม่ถึง 1 เดือนนับจากนี้
จะมีการเปิดให้บริการ ‘รถไฟความเร็วสูง’ เชื่อม ‘สปป.ลาว-จีน’ เส้นทาง ‘เวียงจันทน์-หลวงพระบาง-บ่อเต็น-โม่ฮาน-สิบสองปันนา-คุนหมิง’ ในวันที่ 3 ธ.ค.2564 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย ‘Belt and Road Initiative’ ของจีน ขณะที่เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา ‘สปป.ลาว-จีน’ ร่วมทำพิธีรับมอบขบวนรถไฟขบวนแรกที่ชื่อว่า ขบวน ‘ล้านช้าง’
จึงทำให้เกิดคำถามว่า รถไฟความเร็วสูง ‘เวียงจันทน์-คุนหมิง’ จะเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงของไทย เส้นทาง ‘กรุงเทพ-หนองคาย’ ได้เมื่อไหร่ ? หลังรถไฟความเร็วสูง ‘สปป.ลาว-จีน’ มาจ่อประตูชายแดนไทยที่ จ.หนองคายแล้ว
@คาดไฮสปีด ‘กรุงเทพ-โคราช’ เปิดให้บริการได้ในปี 69
“ตอนนี้งานโยธาทั้ง 14 สัญญา มีความก้าวหน้าทั้งหมด เหลือเพียง 1 สัญญา ที่รอประมูล ซึ่งโครงการฯเฟส 1 ต้องเสร็จในปี 2568 และเปิดใช้ในปี 2569 แต่เฟสแรกนี้จะถึงแค่โคราชก่อน” ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา
ศักดิ์สยาม บอกด้วยว่า “รถไฟของลาว ที่ให้จีนมาทำนั้น ไม่ได้ทำแบบเดียวกับเรา ของเขามาแค่รางเดียว และเพิ่งมารางเดียว แต่ที่นายกฯ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ท่านทำ จะเป็นรางคู่ และที่ว่าเขามาจ่อชายแดนไทยแล้วนั้น จริงๆแล้ว ยังไม่ถึงชายแดน ยังห่างอยู่ 14 กม. และต้องยอมรับว่าฝั่งเรา เราไม่มีเงินเท่าจีน”
ศักดิ์สยาม ยังระบุว่า ที่ผ่านมาการเดินหน้าเปิดประมูลและก่อสร้างงานโยธาโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน เฟส 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มีปัญหาและอุปสรรคค่อนข้างมาก ซึ่งต้องแก้ปัญหากันมาตลอดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
“เฟสแรก กรุงเทพถึงนครราชสีมา อันนี้ทำตั้งแต่ก่อนที่ผมจะมาแล้ว พอผมมาถึงก็นั่งดู ก็เจอปัญหาเยอะ เช่น ช่วงที่ผ่านมาพระนครศรีอยุธยา ออกแบบเสร็จแล้ว แต่ก่อสร้างไม่ได้ ประมูลไม่ได้ เพราะมีคนทักท้วงว่าอยุธยาเป็นเขตมรดกโลกที่ขึ้นทะเบียนกับยูเนสโก (องค์การร่วมมือทางการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมระหว่างประเทศ)
ผมแก้อยู่ 2 ปี เอาระเบียบมา เอาดูระเบียบของยูเนสโกมาดูว่า เรื่องมรดกโลกมีการกำหนดอย่างไร ให้ก่อสร้างในรัศมีที่ออกจากเขตมรดกโลกเท่าไหร่ ความสูงเป็นอย่างไร และอาคารขนาดใหญ่แค่ไหน กว่าจะจบกันได้ ก็ต้องย้ายไปอยู่นอกเขตมรดกโลก 1.5 กม. และเพิ่งมาจบเมื่อ 2 เดือนนี้เอง จากนี้ก็เดินหน้าประมูลสัญญานี้ต่อไป
หรือแม้กระทั่งการก่อสร้างงานโยธาฯช่วงที่เข้าเมืองนครราชสีมา ตอนนี้ยังมีปัญหาว่า หากวิ่งเข้าไปในเมือง จะวิ่งระดับไหน บางคนบอกว่า ให้ทุบสะพานสีมาธานีแล้วให้วิ่งยกระดับ แต่บางคนบอกให้วิ่งข้างล่าง ซึ่งเรากำลังพิจารณา และต่อจากนี้ไป เราจะไม่สร้างเข้าเมืองแล้ว แต่จะสร้างข้างนอก และทำระบบ connectivity ออกไป” ศักดิ์สยาม กล่าว
ศักดิ์สยาม ย้ำว่า หลังจากการก่อสร้างงานโยธาทั้ง 14 สัญญา ทยอยแล้วเสร็จ ฝ่ายจีนจะเข้ามาวางระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ระบบอาณัติสัญญาณ รวมทั้งจัดหาขบวนรถ ซึ่งทุกอย่างจะแล้วเสร็จในปี 2568 และเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา ได้ในปี 2569 เป็นต้นไป
(พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานในพิธีเริ่มการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) โดยมีนายหวัง เสี่ยวเทา รองประธานคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ ผู้แทนสาธารณรัฐประชาชน ร่วมในพิธี เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2560 ที่มาภาพ : thaigov.go.th)
@เผยอยู่ระหว่างหารือก่อสร้างช่วง ‘นครราชสีมา-หนองคาย’
ส่วนการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูง ‘สปป.ลาว-จีน’ นั้น ศักดิ์สยาม บอกว่า “เฟส 2 จากนครราชสีมาที่เชื่อมไปหนองคาย ตอนนี้ออกแบบอยู่ ก็คุยกันอยู่ ซึ่งโครงการพวกนี้ จะต้องใช้เวลา 5-10 ปี”
แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อลดปัญหาและอุปสรรคในการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ระยะที่ 2 (ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย) ไม่ให้ซ้ำรอยกับปัญหาก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 ต่อจากนี้ไป แนวการก่อสร้างจะพยายามหลีกเลี่ยงการสร้างแนวเส้นทางรถไฟฯเข้าในเมือง
“เวลาออกแบบ หรือเรื่องการเวนคืน หลายเรื่องที่เราคิดว่าจะเป็นไปตามแนวนี้ แต่เวลาไปถึงจริง พบว่าไปไม่ได้ ประชาชนไม่ยอม นายกฯจึงวางแนวใหม่ว่า เวลาทำ อย่าไปเข้าเมืองเลย ให้วิ่งอ้อมเมืองไป แล้วทำ connectivity ไปเชื่อม ซึ่งค่าเวนคืนฯก็ถูก และการต่อต้านก็น้อย” ศักดิ์สยาม กล่าว
@เผยนายกฯสั่งทำ ‘มอเตอร์เวย์’ คู่ขนาน ‘ทางรถไฟ’ 6 พันกม.
ศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ในขณะที่การก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง และการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ทั่วประเทศ มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง นายกฯได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดการสร้างโครงข่ายทางพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-Map) หรือ การสร้างมอเตอร์เวย์คู่ขนานไปกับทางรถไฟ เพื่อสนับสนุนให้ไทยเป็น ‘ฮับโลจีสติกส์’
“นายกฯสั่งให้ทำเรื่อง MR-Map โดยเอามอเตอร์เวย์ และทางรถไฟ มาวางคู่กัน โดยจะทำให้ได้ 6,000 กม.ทั่วประเทศ แล้วปลายทางจะต้องมีสนามบิน เช่น ที่แม่สอดมีแล้ว และที่กำลังจะทำ ก็มีที่มุกดาหาร ,หนองคาย ,บึงกาฬ และช่องจอม สุรินทร์ เป็นต้น ส่วนทางใต้ ซึ่งเราจะทำแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง ตรงนี้ต้องขยายให้ใหญ่ขึ้น” ศักดิ์สยาม กล่าว
ศักดิ์สยาม ย้ำว่า “นายกฯพูดถึงการ connectivity กับเพื่อนบ้าน นายกฯอยากเห็นไทยเป็นฮับโลจีสติกส์”
(ศักดิ์สยาม ชิดชอบ)
@เร่งรัดขยาย ‘สนามบิน’ รองรับผู้โดยสารทั่วโลก 200 ล้านคน
เช่นเดียวกัน ในด้านการขนส่งทางอากาศนั้น กระทรวงคมนาคม มีแผนผลักดันการพัฒนาสนามบินนานาชาติของประเทศไทย ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 200 ล้านคน/ปี ภายใน 10 ปี เนื่องจาก 80% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยนั้น ต่างก็ใช้สนามบินเป็น ‘ประตู’ ส่วนที่เหลืออีก 20% เดินทางในรูปแบบอื่นๆ
“ทาง IATA (สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ) ประเมินว่าในปี 2031 อีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีการเดินทางทางอากาศไม่ต่ำกว่า 200 ล้านคน/ปี สูงสุดเป็นอันดับ 9 ของโลก เมื่อเราเห็นว่า ประเทศเราจะมีคนมา 200 ล้านคน/ปี แล้วเราไม่เตรียมทำอะไรเลย เราจะไม่สามารถรับคน 200 ล้านคนได้
และไม่ใช่ว่าคิดวันนี้ แล้วทำได้วันนี้เลย หรือประมูลเสร็จวันนี้ แล้วพรุ่งนี้เสร็จ แต่จะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5-10 ปี เราจึงต้องมานั่งดูกันตอนนี้ว่า สนามบิน international ทั้ง 6 แห่ง คือ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และหาดใหญ่ จะขยายอย่างไรได้บ้าง” ศักดิ์สยาม กล่าว
โดยเฉพาะการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารที่สนามบินสุวรรณภูมิเพิ่มเติม นั้น ศักดิ์สยาม บอกว่า ขณะนี้อาคารผู้โดยสารหลักของสนามบินสุวรรณภูมิ รองรับผู้โดยสารได้ 45 ล้านคน/ปี และเมื่ออาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) เปิดใช้บริการในปี 2565 จะรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มอีก 15 ล้านคน/ปี รวมแล้วเป็น 60 ล้านคน/ปี
เมื่อรวมกับสนามบินดอนเมืองที่รองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคน/ปี และสนามบินในภูมิภาคอีก 4 แห่งที่รองรับผู้โดยสารแห่งละไม่กี่ล้านคน ทำให้ปัจจุบันสนามบินของไทยรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 90 ล้านคน/ปีเท่านั้น
จึงมีความจำเป็นที่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.จะต้องสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ (North Expansion) ส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก (East Expansion) และส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารทิศตะวันตก (West Expansion) เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น
“สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกใน EEC ถ้าแล้วเสร็จจะรองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคน/ปี ถ้าสุวรรณภูมิรองรับผู้โดยสารได้เป็น 90 ล้านคน/ปี รวมกันก็ 150 ล้านคน/ปี เมื่อรวมกับสนามบินดอนเมืองอีก 40 ล้านคน ก็เกือบ 200 ล้านคนแล้ว” ศักดิ์สยาม กล่าว
ส่วนกรณีที่มีผู้คัดค้านการก่อสร้าง North Expansion นั้น ศักดิ์สยาม กล่าวว่า “คล้ายๆว่าบางท่าน ไม่รู้ว่าท่านภาวนาอะไรของท่านอยู่ ท่านก็พูดแต่เรื่องเดิม โดยไม่ยอมรับฟังข้อมูลใหม่ และเรื่องมาสเตอร์แพลนนั้น เขาจะมีการปรับทุก 5 ปี และคนปรับไม่ใช่ ทอท. เขาต้องจ้าง ICAO และ IATA มาดูว่า จะมีผู้เดินทางจากต่างประเทศเข้ามามากหรือน้อย”
ศักดิ์สยาม ยังกล่าวถึงข้อทักท้วงของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้าง North Expansion ว่า เมื่อ สศช.ทักท้วงมา นายกฯก็มอบ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงคมนาคม ไปประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาเรื่องนี้
“ท่านอนุทิน เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง สศช. ก็บอกสร้างได้ แต่ควรทำ East Expansion ก่อน เพราะกระบวนการเสร็จแล้ว ซึ่งเราก็ทำ ส่วน North Expansion เราก็ทำ ซึ่งวันนี้ ทอท. ได้ส่งแผนลงทุนไปให้ สศช.พิจารณาแล้ว และผมได้ให้ไปทำทั้ง East Expansion , West Expansion และ North Expansion ตามที่ ทอท.เสนอ” ศักดิ์สยาม ย้ำ
อ่านประกอบ :
4 ปี ดัน‘เทอร์มินอลทิศเหนือ’!'สภาวิศวกร'เปิดปมจี้สอบ EHIA-สศช.ชงรื้อคาดการณ์ผู้โดยสาร
‘รฟท.-รับเหมาฯ’ เซ็นสัญญางานโยธาไฮสปีดกรุงเทพ-โคราช 3 สัญญา 2.7 หมื่นล.
ศาล ปค.เบรกสร้าง‘ไฮสปีดเทรน’ไทย-จีน สัญญา 3-1 เหตุคำสั่ง กก.อุทธรณ์ฯอาจมิชอบ
รฟท.เซ็นรวด 5 สัญญา 4 หมื่นล.! งานโยธาไฮสปีด ‘กรุงเทพ-โคราช’-เปิดเดินรถปี 68
น้ำหนึ่งใจเดียวทุกเรื่องราบรื่น! ‘บิ๊กตู่’ ลั่นไฮสปีด'กรุงเทพ-โคราช' เชื่อม'ไทย-จีน'แน่นแฟ้น
รฟท.เตรียมทำสัญญารถไฟความเร็วสูงไทย-จีน วงเงิน 5 หมื่นล.28 ต.ค.นี้
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage