"…วัคซีนสัญชาติไทย ต่างทยอยทดสอบในคนและพัฒนาวัคซีนเจนเนอเรชัน 2 ควบคู่กันไปด้วย เพื่อเตรียมรองรับเชื้อโควิดสายพันธุ์กลายพันธุ์ โดยวัคซีน ChulaCov-19 เตรียมผลิตล็อตรีสิสต์ ต้นเดือน ธ.ค. ส่วนวัคซีนใบยาเริ่มทดลองในมนุษย์เฟสแรกแล้ว ขณะที่วัคซีนแบบพ่นจมูก และวัคซีน Covigen ก็กำลังขอขึ้นทะเบียน อย. เพื่อทดสอบในมนุษย์เฟสแรก และวัคซีน HXP-GPOVac ก็เข้าสู่การทดสอบในมนุษย์เฟสสองแล้ว คาดว่าวัคซีนไทยทุกแพลตฟอร์มจะสำเร็จ มีให้คนไทยได้ใช้กันในปี 2565…"
แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของโควิดในปัจจุบันจะลดน้อยลง แต่สิ่งที่จะช่วยยืนยันและป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ซ้ำได้ คือการเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชาชนภายในประเทศให้มากที่สุด ดังนั้นวัคซีนจึงถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมการระบาดของโควิด
วัคซีนที่ผลิตด้วยฝีมือคนไทยจะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ประชาชนชาวไทยได้รับวัคซีนครอบคลุมรวดเร็วขึ้น ซึ่งปัจจุบันกำลังพัฒนาอยู่ และมีอยู่ด้วยกัน 5 ยี่ห้อ ได้แก่ วัคซีน ChulaCov-19 พัฒนาโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, วัคซีนใบยา พัฒนาโดย บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด, วัคซีน HXP-GPOVac พัฒนาโดยคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดลและองค์การเภสัชกรรม, วัคซีน COVIGEN พัฒนาโดย บริษัทไบโอเนท-เอเชีย จำกัด และวัคซีนแบบพ่นจมูก พัฒนาโดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)
ตอนนี้ความคืบหน้าจะเป็นอย่างไร? และมีการเตรียมความพร้อมสู่การผลิตอย่างไรบ้าง?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำข้อมูลจากงานเสวนาสถานการณ์ความก้าวหน้า การพัฒนาวัคซีนไทยสู้โควิดโดยทีมประเทศไทย ของสถาบันวัคซีนแห่งประเทศไทย มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
วัคซีน ChulaCov-19 ทดสอบในคนเฟส 2 ฉีดครบโดสแล้ว
ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด ศูนย์วิจัยวัคซีน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตอนนี้วัคซีนป้องกันโควิดชนิด mRNA วัคซีน ChulaCov-19 ได้ผ่านด่านการทดสอบในหนูและลิงแล้ว พบว่ามีประสิทธิภาพ สามารถสร้างภูมิคุ้มกันในหนูได้สูงถึง 40,960 และในลิงได้ 5,120 titer และเมื่อกลางเดือน มิ.ย. 2564 ได้ทดลองในมนุษย์ระยะที่ 1 พร้อมกับเตรียมโรงงานไทย คือ บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด เพื่อรองรับการผลิตในอนาคตด้วย ยืนยันว่าตอนนี้มีความพร้อมแล้ว ขณะเดียวกันได้เตรียมพัฒนาวัคซีนรุ่น 2 คู่ขนานกันไปด้วย เผื่อกรณีวัคซีนรุ่นที่ 1 ไม่สามารถสู้สายพันธุ์กลายพันธุ์ได้
ส่วนวัคซีนนี้ ภูมิคุ้มกันจะตกลงเมื่อใดนั้น ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่า จากการดูผลการสำรวจในลิงจะพบว่าภูมิคุ้มกันจะเริ่มตกลงในช่วง 6-8 เดือน คล้ายกับผลการวิจัยของวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นา แต่ถ้าเป็นสายพันธุ์อู่ฮั่นภูมิคุ้มกันอาจอยู่ได้นานถึง 1 ปี
ทั้งนี้ แม้ภูมิคุ้มกันจะตกแต่ก็ยังมีค่าสูงกว่า 50 NT หรือค่ามาตรฐานบ่งชี้ว่าจะสามารถป้องกันเชื้อโควิดได้ การที่ภูมิคุ้มกันตกเป็นเรื่องปกติของร่างกาย เนื่องจากเราเจอสิ่งแปลกปลอมอยู่ตลอด แต่หากร่างกายเราเจออะไร แล้วสร้างภูมิคุ้มกันอยู่ตลอด เลือดเราจะข้นมาก จะเป็นเส้นเลือดอุดตันได้
และผลจากการทดลองในมนุษย์ระยะที่ 1 ในกลุ่มผู้มีอายุ 18-55 ปี ยังไม่เจอผลข้างเคียงรุนแรง และผลข้างเคียงส่วนใหญ่มักจะมีไข้ หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้อ โดยเฉาะเข็มสอง ส่วนประสิทธิผลของวัคซีนนั้นถ้าเป็นโดสสูงในปริมาณ 50 ไมโคกรัม จะพบว่าเพียงสัปดาห์เดียวภูมิคุ้มกันขึ้นสูงมาก หากเทียบการฉีดปริมาณ 50 ไมโครกรัมกับผู้ที่หายป่วยโควิดแล้วมีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติจะพบว่า การฉีดวัคซีนทำให้ภูมิคุ้มกันพุ่งสูงถึง 4,513 หน่วย ขณะที่ภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติสำหรับผู้ป่วยสีเหลืองอยู่ที่ 2,133 หน่วย
นอกจากนี้ยังพบว่าวัคซีน ChulaCOV-19 สามารถยับยั้งเชื้อโควิดสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) ได้ในระดับ 964 หน่วย สายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้) ได้ในระดับ 343 หน่วย สายพันธุ์แกมม่า (บราซิล) ได้ในระดับ 372 หน่วย และสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) ได้ในระดับ 977 หน่วย ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่สูงและน่าพอใจ และที่สำคัญยังสามารถกระตุ้น T-cell ให้กำจัดเชื้อไวรัสโควิดได้ดีด้วย
เตรียมหารือ อย. วิจัยบูสเตอร์โดสควบคู่
อย่างไรก็ตามการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 เราผ่านกลุ่ม 18-55 ปีแล้ว ส่วนกลุ่มผู้สูงวัยอายุ 56-75 ปี ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว อาทิตย์นี้จะครบ 1 อาทิตย์หลังฉีดเข็ม 2 ส่วนการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2 สำหรับกลุ่มอายุ 18-59 ปี ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วเช่นกัน ตอนนี้กำลังรอหารือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่าจะไปต่ออย่างไร และทางบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ก็พร้อมผลิตล็อตรีสิสต์ เร็วสุดช่วงต้น ธ.ค.นี้
ศ.นพ.เกียรติ กล่าวอีกว่า "ปีหน้าคนไทยอาจได้รับครบ 2 เข็ม มากกว่า 70% รวมถึงคนได้รับเข็มที่ 3 แล้ว การจะหาอาสาสมัครในการทำระยะ 2 หรือ ระยะ 3 นับเป็นความท้าทาย แต่จริงๆ แล้วสุดท้ายปีหน้า หากมีการขึ้นทะเบียน ก็จะเป็นเข็มที่ 3 หรือเข็มที่ 4 แล้ว ซึ่งเรากำลังหารือแบบคู่ขนานกับ อย. ว่า เมื่อได้ผลความปลอดภัยในระยะ 2 ก็อยากทำระยะ 1 ของเข็มบูสเตอร์ หาขนาดโดสที่เหมาะสมคู่กันไป"
ข้อมูลหลายวัคซีนในการฉีดเข็มที่ 3 โดยเฉพาะ mRNA ชัดเจนว่า ฉีดครึ่งโดสได้ผล เราเห็นแล้วว่า ChulaCov-19 ขนาดต่ำ 10-25 ไมโครกรัม สำหรับในผู้ที่ไม่เคยรับวัคซีนมากกว่าจะใช้เวลาหลังการฉีดเข็มที่ 2 ประมาณ 1 เดือน ภูมิขึ้นสูงกว่าวัคซีนที่เป็นคู่เทียบ เราจึงเชื่อว่าการทำวิจัยระยะ 1 หรือ 1/2 เพื่อหาขนาดและความปลอดภัยที่เหมาะสมในเข็มที่ 3 และเข็มที่ 4 เป็นสิ่งที่ผู้พัฒนาต้องหารือคู่ขนานกับ อย.
วัคซีนใบยา ทดสอบในมนุษย์เฟสแรกแล้ว
ด้าน ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด กล่าวว่า วัคซีนใบยาเป็นวัคซีนป้องกันโควิด ชนิดซับยูนิตวัคซีน (Subunit vaccine) ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบในคลินิก ซึ่งเดือน ก.พ.2563 ได้วัคซีนต้นแบบและทดสอบในสัตว์ทดลอง ทั้งความปลอดภัย ความสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และการทดสอบหลังปรับเปลี่ยนสูตรวัคซีนให้อยู่ในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ได้นานอย่างน้อย 6 เดือน จากนั้นนำไปทดสอบความเป็นพิษ และความสามารถกระตุ้นภูมิระยะยาว
โดยการทดสอบในลิงผลค่อนข้างดี ส่วนเรื่องการผลิตนั้น ได้มีการออกแบบโรงงานและก่อสร้างโรงงานผลิตของใบยา โดยใช้เวลา 10 เดือน ซึ่งทำสำเร็จเรียบร้อยไปแล้วและขณะนี้ได้ผลิตรีลิสต์ตัวโปรดักส์ เพื่อเข้า Clinical trial และสัปดาห์นี้ได้ทดสอบในมนุษย์ระยะแรกแล้ว เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2564 ที่ผ่านมาใน 4 คนแรก พบว่ามีความปลอดภัย และวันที่ 30 ก.ย.2564 จะฉีดกลุ่มที่เหลืออีก
นอกจากนี้ ทีมวิจัยของเรายังพัฒนาวัคซีนโควิดรุ่นที่ 2 โดยปรับเปลี่ยนสูตรให้สามารถกระตุ้นภูมิได้ดีขึ้น ขณะนี้ทำการทดสอบในสัตว์ทดลอง และจะเข้าการทดสอบมนุษย์เฟส 1 ต่อไป คาดว่าผลของกลุ่มแรก คือ อาสาสมัครกลุ่มอายุ 18-65 ปี จะเป็นผลให้ตัดสินใจว่า จะเอาวัคซีนรุ่นที่ 2 เข้าทดสอบต่อไปหรือไม่ และเรายังมีการผลิตวัคซีนแคนดิเดตอีก 10 Variants of Concern เพื่อนำมาทดสอบในสัตว์ทดลอง ดูว่าจะเอาวัคซีนแคนดิเดตตัวไหนมาเข้าทดสอบต่อไป โดยเราจะเลือกเพื่อนำมาเป็นคอกเทล เพื่อเปลี่ยนตัวสูตรในการเข้าสู่การทดสอบระยะที่ 1 คาดว่าไตรมาสที่ 3 ปี 2565 จะเป็นอีกวัคซีนที่นำไปใช้ให้กับคนไทยได้
สำหรับโรงงานของบริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด ตั้งอยู่ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จุฬาพัฒน์ 14 มีพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร และสามารถผลิตวัคซีนได้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทำให้สามารถผลิตเดือนละ 1-5 ล้านโดส ขึ้นอยู่กับขนาดของโดสที่สุดท้ายจะใช้
เร่งพัฒนาวัคซีนพ่นจมูก 2 สูตร ทางเลือกป้องกันโควิด
ส่วน ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. กล่าวว่า สวทช.เป็นหนึ่งในทีมไทยแลนด์ที่พัฒนาวัคซีนโควิด ตั้งแต่ช่วงที่เริ่มมีการระบาดของโควิด โดยเราเน้นวัคซีนไวรัลเวกเตอร์เป็นหลัก ซึ่งเป็นการต่อจิ๊กซอให้ประเทศเรื่องเทคโนโลยีได้ชัดเจน
ดร.อนันต์ กล่าวว่า ก่อนอื่นเลย อยากให้ทราบว่า ปัจจุบันปัญหาวัคซีนที่ฉีดเข้ากล้ามเนื้อไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ แต่ช่วยลดอาการป่วยหนักและเสียชีวิต ดังนั้นหลายคนก็พยายามหาเทคโนโลยีที่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ เทคโนโลยีหนึ่งที่กำลังเริ่มเป็นเทรนด์ของเทคโนโลยีคือการฉีดวัคซีนทางจมูก เป็นการเพิ่มภูมิคุ้มกันระบบทางเดินหายใจส่วนบน
"ดังนั้น ไอเดียการนำไวรัลเวกเตอร์ ที่มีคุณสมบัติติดเซลล์ และกระตุ้นภูมิคุ้มกันบริเวณนั้นได้ค่อนข้างดี ซึ่งหากเรานำส่งเข้าทางเดินหายใจส่วนบน ก็คาดหวังว่า แอนติบอดีต่อเยื่อเมือกบริเวณนั้น น่าจะมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งเป็นไอเดียที่ทาง สวทช. นำเสนอวัคซีนรูปแบบใหม่ โดยการพัฒนาวัคซีนไวรัลเวกเตอร์ในรูปแบบฉีดพ่นจมูก ” ดร.อนันต์ กล่าว
ดร.อนันต์ กล่าวอีกว่า การพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิดแบบพ่นจมูกสูตร Adenovirus-based เบื้องต้นผลการทดลองในหนูชนิดพิเศษ พบว่า วัคซีนแบบพ่นจมูกเมื่อเปรียบเทียบกับไวรัสแบบฉีดเข้ากล้าม 2 เข็ม จะเห็นว่า วัคซีนแบบฉีดพ่นจมูก มีคุณสมบัติป้องกันได้ดีกว่าไม่ฉีดอะไรเลย โดยฉีดเข้าจมูกป้องกันการติดเชื้อในปอดค่อนข้างดี อีกทั้งผลการศึกษาเบื้องต้นต่อสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) นั้น พบว่าการนำส่งไวรัสแบบฉีดพ่นจมูกอาจเป็นอีกทางเลือกในการป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่างได้ดี
นอกจากอะดิโนไวรัสแล้ว เรายังพัฒนาด้วยการปรับแต่งสูตร Influenza-based คือ การปรับแต่งไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ฉีดทุกปี หรือใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ฉีดพ่นจมูกอยู่แล้ว ปรับแต่งให้เขาแสดงออกโปรตีนของโควิดพร้อมกันในเวลาเดียวกัน เรียกว่า พัฒนาให้สามารถป้องกันทั้ง 2 โรคในเวลาเดียวกันได้ โดยหลักการใช้พ่นจมูกเช่นเดียวกัน
“ซึ่งขณะนี้กำลังเข้าสู่การทดสอบในหนูต่อไป แต่เบื้องต้นก็มีข้อมูลว่า แอนติบอดีต่อโควิดพบภูมิคุ้มกันค่อนข้างดี อีกทั้งหนูที่ได้รับวัคซีนแบบพ่นจมูก 2 เข็ม มีภูมิคุ้มกันต่อไข้หวัดใหญ่เกิดขึ้นเช่นกัน จึงน่าจะเป็นอีกทางเลือก ซึ่งจะร่วมกับองค์การเภสัชกรรมในการขยายขนาดและทดสอบระดับจีเอ็มพี ทดสอบความปลอดภัยร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร จริงๆ เราไม่ใช่ที่แรก ในต่างประเทศก็มีการดำเนินการ ทั้งอ็อกซ์ฟอร์ด อินเดีย หรือแม้แต่ฮ่องกง และคิวบา” ดร.อนันต์ กล่าว
ดร.อนันต์ กล่าวอีกว่า สำหรับวัคซีน Adenovirus-based ขณะนี้ได้ผลิตระดับอุตสาหกรรม โดยจะขอขึ้นทะเบียนกับ อย. เพื่อขอทำการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 ซึ่งวางแผนต้นปี 2565 เริ่มทดลองในมนุษย์ นอกจากนี้ แผนต่อไปคือ การทดสอบวัคซีนแบบพ่นจมูกต่อสายพันธุ์เดลต้า อยู่ระหว่างรอผลทดลอง และจะขอขึ้นทะเบียน อย. และทดสอบอาสาสมัครในปีหน้าเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ดร.อนันต์ กล่าวว่า เราจะพยายามพัฒนาวัคซีนทั้งชนิด Adenovirus-based และ Influenza-based เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ ซึ่งการหาอาสาสมัครวัคซีนแบบฉีดพ่น อาจต้องหาว่า จะเป็นอาสาสมัครกลุ่มที่ไม่เคยรับวัคซีน หรือวัคซีนแบบกระตุ้น ต้องดูการออกแบบในอนาคตต่อไป
วัคซีน HXP-GPOVac เตรียมยื่นใช้วัคซีนแบบมีเงื่อนไขปี 65
สำหรับ ดร.ภญ.พรทิพย์ วิรัชวงศ์ หัวหน้าโครงการวัคซีน HXP-GPOVac องค์การเภสัชกรรม กล่าวถึงการพัฒนาวัคซีน HXP-GPOVac ว่า วัคซีน HXP-GPOVac นี้เป็นวัคซีนที่มีหัวเชื้อไวรัสตั้งต้นที่มีการตัดแต่งพันธุกรรมไวรัสนิวคาสเซิลให้มีโปรตีนส่วนหนาม (Spike protein) ของไวรัสโควิด เพื่อให้สร้างโปรตีนส่วนหนามขึ้นที่ผิว แล้วจะทำให้มีความเสถียรสูง จึงมีความปลอดภัยไม่ก่อให้เกิดโรคทั้งในคนและสัตว์ปีก
จากผลการทดสอบในสัตว์ทดลอง พบว่า วัคซีนสามารถลดปริมาณไวรัสที่พบในปอดได้ และไม่มีความผิดปกติใดในปอดของสัตว์ทดลอง ทั้งนี้ยังมีความปลอดภัยต่อสัตว์ทดลองเมื่อฉีดไป 3 โดส และในผลการวิจัยทางคลินิกระยะที่ 1 ที่เริ่ม มี.ค.2564 ในอาสาสมัตร 210 คน หลังให้วัคซีน 2 เข็ม ห่างกัน 28 วัน พบว่า ในเรื่องความปลอดภัย อาการไม่พึงประสงค์ มีระดับความรุนแรงต่ำ เช่น ปวด ตึง บวมบริเวณที่ฉีด ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศรีษะ และหายไปในระยะเวลาไม่กี่วัน ส่วนการกระตุ้นภูมิคุ้มกันหลัง 2 สัปดาห์รับวัคซีนเข็มที่ 2 ระดับภูมิคุ้มกันจะสูงโดยขนาด 10 ไมโครกรัมจะให้ผลดีที่สุด
โดยผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์อู่ฮั่นให้การกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่สูงที่สุด และระดับภูมิคุ้มกันจะลดลงมาเมื่อเจอสายพันธุ์กลายพันธุ์ คือ สายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) สายพันธุ์แกมม่า (บราซิล) และต่ำสุดที่สายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้)
ปัจจุบันอยู่ระหว่างการวิจัยทางคลินิกระยะที่ 2 ในอาสาสมัคร 250 คน คาดว่าจะทราบผลปลายปี 2564 ส่วนการศึกษาในมนุษย์ระยะที่ 3 ทางองค์การเภสัชกรรมได้เตรียมทดสอบในมนุษย์ที่มีอายุตั้งแต่ 16-69 ปี จำนวน 4,200 คน โดยจะแบ่ง 3,000 คนให้ฉีดวัคซีน HXP-GPOVac และ อีก 1,000 คนจะให้ฉีด Active Comparator เพื่อเปรียบเทียบดูการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และในช่วง ก.ค. 2565 คาดว่าน่าจะยื่นขออนุญาตการใช้วัคซีนแบบมีเงื่อนไข
วัคซีน Covigen คาดทดลองในคนเฟส 1 ต้นปีหน้า
นายวิฑูรย์ วงศ์หาญกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด กล่าวว่า เมื่อทราบโครงสร้างของไวรัสก่อโรคโควิด สายพันธุ์อู่ฮั่น บริษัทได้เริ่มพัฒนา วัคซีนชนิด DNA วัคซีน Covigen ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ผลิตใช้เวลาเร็วและผลิตได้มาก โดยนำไปทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 ที่ประเทศออสเตรเลียเนื่องจากติดขัดปัญหาทางเทคนิคบางประการในประเทศ
ต่อมาหลังจากนำวัคซีนรุ่นที่ 1 ไปทดสอบได้มีการทำวัคซีนรุ่น 2 ต่อยอดต่อสายพันธุ์กลายพันธุ์ และเก็บในอุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส และ 2-8 องศาเซลเซียสได้ดี
ส่วนความคืบหน้าล่าสุด อยู่ระหว่างการประมวลผลสรุปการศึกษาก่อนยื่นต่อ อย. และน่าจะเริ่มทดลองในมนุษย์ระยะที่ 1โดยทำควบคู่กับ mRNA ในระยะที่ 2 ของจุฬาฯ ในต้นปี 2565 เชื่อว่าจะเป็นการสร้างความมั่นคงการผลิตวัคซีนพึ่งตนเองได้ อย่างน้อยไม่ว่าจะกลายพันธุ์เป็นโควิดอะไรก็สามารถต่อกรได้
วัคซีนสัญชาติไทย ต่างทยอยทดสอบในคนและพัฒนาวัคซีนเจนเนอเรชัน 2 ควบคู่กันไปด้วย เพื่อเตรียมรองรับเชื้อโควิดสายพันธุ์กลายพันธุ์ โดยวัคซีน ChulaCov-19 เตรียมผลิตล็อตรีลิสต์ ต้นเดือน ธ.ค. ส่วนวัคซีนใบยาเริ่มทดลองในมนุษย์เฟสแรกแล้ว ขณะที่วัคซีนแบบพ่นจมูก และวัคซีน Covigen ก็กำลังขอขึ้นทะเบียน อย. เพื่อทดสอบในมนุษย์เฟสแรก และวัคซีน HXP-GPOVac ก็เข้าสู่การทดสอบในมนุษย์เฟสสองแล้ว คาดว่าวัคซีนไทยทุกแพลตฟอร์มจะสำเร็จ มีให้คนไทยได้ใช้กันในปี 2565
ข่าวอ่านประกอบ:
-
ความคืบหน้า 3 'วัคซีนสัญชาติไทย' ลุ้นผลวิจัย - ได้ใช้ช่วงปี 2565 (5)
-
ผลทดสอบวัคซีน'ChulaCOV-19'เฟสแรก-ป้องกันโควิด 4 สายพันธุ์กระตุ้นภูมิเท่า'ไฟเซอร์' (4)
-
'วัคซีนใบยาสูบ' เตรียมทดสอบในคนเฟสแรก ก.ย.- วิจัยรุ่น 2 สู้โควิดทุกสายพันธุ์ (3)
-
ลุ้นผลิตกลางปี 65! วัคซีนโควิดสัญชาติไทย อภ.ทดสอบระยะ 1 ในมนุษย์ไร้ผลข้างเคียงรุนแรง (2)
-
ก้าวสำคัญสู่การพึ่งพาตนเอง! เปิดความคืบหน้าวิจัย'วัคซีน-ยาต้านโควิด'ของคนไทย (1)
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่https://www.facebook.com/isranewsfanpage