"...วัคซีนใบยาสูบ เป็นวัคซีนที่ผลิตจากโปรตีนของเชื้อไวรัส หรือที่เรียกว่า ‘โปรตีนซับยูนิตวัคซีน’ เป็นเทคโนโลยีที่มีมานานแล้ว หากเทียบกับเทคโนโลยีเชื้อตายของวัคซีนซิโนแวคที่ใช้มานานที่สุด เทคโนโลยีซับยูนิตวัคซีนคือใช้มานานรองถัดไป ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเดียวกับที่โรงงานอุตสาหกรรมยาหลายแห่งทั่วโลกใช้ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมัน เกาหลี หรือญี่ปุ่น เป็นต้น และเป็นเทคโนโลยีเดียวกันที่ใช้ผลิตวัคซีนตับอักเสบบี และวัคซีนมะเร็งปากมดลูกที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน..."
………………………………………………………..
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ อัพเดทข้อมูล ณ วันที่ 2 ก.ค.2564 ผ่านเฟซบุ๊ก วช. 5G เปิดเผยว่า ขณะนี้การวิจัยวัคซีนต้านโควิดของไทย มีวัคซีนมากกว่า 20 ชนิดที่กำลังวิจัยและพัฒนา โดยปัจจุบันมีวัคซีน 3 ชนิดที่อยู่ระหว่างการทดสอบในมนุษย์แล้ว ได้แก่ วัคซีน ChulaCov19 พัฒนาโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, วัคซีน HXP-GPOVac พัฒนาโดยคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และวัคซีน COVIGEN พัฒนาโดยบริษัทไบโอเนท-เอเชีย จำกัด
อย่างไรก็ตามในเร็วๆนี้ ในช่วงเดือน ก.ย.2564 จะมีอีก 1 วัคซีน ฝีมือคนไทย ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่การทดสอบในมนุษย์ ระยะแรกด้วยเช่นกัน คือ ‘วัคซีนใบยาสูบ’ หรือ 'Baiya SARS-CoV-2 VAX1' ที่ถูกพัฒนาโดยนักวิทยาศาสตร์ไทย 2 คน ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งจาก บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ประกอบด้วย รศ.ดร.วรัญญู พูลเจริญ และ ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ
ปัจจุบันวัคซีนใบยาสูบ ผ่านการทดสอบกับสัตว์ ทั้งหนูขาวและลิงแล้ว พบว่าสามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันในสัตว์ทดลองได้สูงทั้ง 2 ชนิด จากการฉีดวัคซีน 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ ส่วนการเริ่มทดสอบในมนุษย์ มีการเตรียมความพร้อมอย่างไรแล้วนั้น สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้สัมภาษณ์หนึ่งในผู้ก่อตั้ง บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
(คนซ้าย: รศ.ดร.วรัญญู พูลเจริญ และ คนขวา: ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ)
ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย CEO และ Co-founder ของบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการผลิตวัคซีน เพื่อเริ่มทดสอบในมนุษย์ระยะแรกที่จะถึงในอีก 1-2 เดือนข้างหน้านี้ ว่า สิ่งที่เราทำมาตลอดในช่วงระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมาในการคิดค้นวัคซีน ตอนนี้เรามีโรงงานผลิตที่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้รับผลิตยาแผนปัจจุบันเรียบร้อยแล้ว ถือเป็นต้นน้ำของเทคโนโลยีใบยา หากผลิตวัคซีนได้สำเร็จ นี่จะเป็นวัคซีนต้านโควิดที่ผลิตได้เองตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำในเมืองไทย ช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศ และเป็นความหวังใหม่ของคนไทยที่ไม่จำเป็นต้องรอ
เมื่อมีโรงงานพร้อมแล้ว ต่อจากนั้นจะส่งแบบแปลนโรงงานให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบคุณภาพโรงงาน ซึ่งคาดว่าจะไม่มีปัญหาอะไร และในอีกประมาณ 2-3 สัปดาห์จากนี้ เราจะเริ่มผลิตวัคซีนได้ เมื่อผลิตวัคซีนเสร็จแล้ว เราจะไปขออนุญาต อย. เพื่อนำไปทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 ต่อไป ซึ่งน่าจะทำได้ในช่วงประมาณเดือน ก.ย.2564 ตามแผนที่วางไว้
@ เปิดรับอาสาสมัครเดือน ส.ค. นี้
นอกจากจะเตรียมความพร้อมในการผลิตวัคซีน ก่อนจะนำวัคซีนไปทดสอบในมนุษย์ระยะแรกนั้น ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา กล่าวด้วยว่า จะต้องมีการเตรียมความพร้อมในด้านอื่นๆ ด้วย เช่น เรื่องแพทย์ เรื่องการฉีดวัคซีน เรื่องการติดตามอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน และเรื่องการเปิดรับสมัครอาสาสมัครอย่างเป็นทางการในช่วงเดือน ส.ค.2564 โดยจะเปิดรับอาสาสมัครประมาณ 100 คน ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และมีอายุอยู่ระหว่าง 18-55 ปี หรือ 65-75 ปี
“ส่วนการเตรียมความพร้อมในการติดตามอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน เราจะมีเจาะเลือดหลังฉีดวัคซีนไปจนถึง 1 ปี โดยในช่วงหลังการฉีดแรกๆ จะนัดให้มาตรวจเลือดถี่หน่อย แต่ในช่วงหลังๆ อาจจะนัดห่างกันเป็นหลักเดือน เพื่อดูว่าวัคซีนสามารถจะตุ้นภูมิได้จริงหรือไม่ ภูมิคุ้มกันขึ้นมาจำนวนเท่าไร วัคซีนมีความปลอดภัยไหม อย่างไรก็ตามขอให้คลายความกังวลในเรื่องความปลอดภัย เราจะมีทีมแพทย์คอยติดตามช่วยดูแลอย่างใกล้ชิด” ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา กล่าว
@ 'ใบยาสูบ' คือ 'โปรตีนซับยูนิตวัคซีน' คนละชนิดกับ 'บุหรี่'
สำหรับความกังวลว่า ‘ใบยาสูบ’ ที่นำมาผลิตวัคซีน จะเป็นใบยาสูบสำหรับทำบุหรี่หรือไม่ ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา ชี้แจงว่า คนละชนิดกัน ใบยาสูบที่นำมาผลิตนั้นเป็นพืนพันธุ์พื้นเมืองจากประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีนิโคตินระดับต่ำมาก ซึ่งทั่วโลกนำไปใช้สำหรับการวิจัยกันมากมาย
วัคซีนใบยาสูบ เป็นวัคซีนที่ผลิตจากโปรตีนของเชื้อไวรัส หรือที่เรียกว่า ‘โปรตีนซับยูนิตวัคซีน’ เป็นเทคโนโลยีที่มีมานานแล้ว หากเทียบกับเทคโนโลยีเชื้อตายของวัคซีนซิโนแวคที่ใช้มานานที่สุด เทคโนโลยีซับยูนิตวัคซีนคือใช้มานานรองถัดไป ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเดียวกับที่โรงงานอุตสาหกรรมยาหลายแห่งทั่วโลกใช้ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมัน เกาหลี หรือญี่ปุ่น เป็นต้น และเป็นเทคโนโลยีเดียวกันที่ใช้ผลิตวัคซีนตับอักเสบบี และวัคซีนมะเร็งปากมดลูกที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
“ถ้าหากติดตามวัคซีนโนวาแวค เป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพดี และมีความปลอดภัยสูงมาก วัคซีนใบยาสูบก็ใช้เทคโนโลยีเดียวกับวัคซีนโนวาแวค เพียงแต่วัคซีนใบยาใช้พืช ขณะที่โนวาแวคใช้แมลงในการสังเคราะห์โปรตีนเพื่อนำไปผลิตวัคซีน ดังนั้นในแง่ของความปลอดภัย ด้วยตัวเทคโนโลยีเอง เราเชื่อว่าวัคซีนใบยาสูบจะมีความปลอดภัย อย่างไรก็ตามจะต้องทดสอบกันต่อไป” ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา กล่าว
@ ‘ใบยาสูบ’ ผลิตโปรตีนสร้างวัคซีนได้ใน 10 วัน
การผลิตวัคซีนจาก ‘ใบยาสูบ’ เป็นเทคโนโลยีที่ไม่ต้องนำเข้า เนื่องจากเรามีพันธุ์ต้นไม้อยู่แล้ว เพียงใส่รหัสพันธุกรรมเข้าไป พืชจะสามารถสร้างโปรตีนขึ้นมาได้ใหม่ภายใน 10 วัน ถือว่าเป็นการสร้างโปรตีนที่ใช้ระยะเวลาสั้น หากนำไปผลิตเป็นวัคซีนจะได้ปริมาณราว 10,000 โดสต่อเดือน และการพัฒนาวัคซีนให้มีความหลากหลายเพื่อรองรับสายพันธุ์กลายพันธุ์ในอนาคตย่อมทำได้อย่างรวดเร็ว
“เราปลูกต้นไม้อยู่ตลอด คือเราจะรีไซเคิลต้นไม้ทุกสัปดาห์ เท่าที่เราจะผลิตได้ โดยวัคซีนใบยาสามารถผลิตโปรตีนได้ภายใน 10 วัน เมื่อเราได้โปรตีนตัวใหม่มา เราสามารถเอาผลิตวัคซีนได้เลย เพราะฉะนั้นการผลิตวัคซีนรุ่นต่างๆ เพื่อรองรับสายพันธุ์กลายพันธุ์ จึงทำได้อย่างรวดเร็ว” ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา กล่าว
@ พัฒนาวัคซีนรุ่น 2 สู้โควิดทุกสายพันธุ์
อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิดที่เชื้อไวรัสสามารถกลายพันธุ์ได้ ทางบริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ได้เตรียมตัวผลิตวัคซีนรุ่นที่ 2 เพื่อรองรับเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ที่ทั่วโลกกังวล 6 สายพันธุ์ด้วยเช่นกัน ได้แก่ สายพันธุ์อัลฟ่า (สายพันธุ์อังกฤษ) สายพันธุ์เดลต้า (สายพันธุ์อินเดีย) สายพันธุ์เดลต้าพลัส สายพันธุ์เบต้า (สายพันธุ์แอฟริกาใต้) สายพันธุ์แกรมม่า (สายพันธุ์บราซิล) และสายพันธุ์เอฟซีรอน
“ตอนนี้ได้ทดสอบกับ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ อัลฟ่า เดลต้า เบต้า และแกรมม่าแล้ว เหลือการทดสอบในสายพันธุ์เดลต้าพลัส และเอฟซีรอน ที่เรากำลังจะทดสอบเพิ่มเติมในเร็วๆ นี้ โดยเราจะเลือกวัคซีนที่ดีที่สุดขึ้นมาพัฒนาต่อเป็นวัคซีนรุ่นที่ 2 ต่อไป นอกจากนั้นเรายังได้สารเสริมภูมิตัวใหม่เข้ามาด้วย ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าเดิม โดยผลทดสอบในสัตว์ทดลองเบื้องต้น ก็ออกมาดีมากกว่าเดิม เมื่อเทียบกับตัวเก่า เราจึงคิดว่าวัคซีนใบยาสูบรุ่นที่ 2 นี้ น่าจะเป็นวัคซีนที่นำไปกระตุ้นภูมิให้กับคนไทย” ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา กล่าว
@ คาดคนไทยใช้ได้กลางปี 2565 ในราคาต้นทุน
ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา กล่าวอีกว่า วัคซีนใบยาสูบคาดว่าจะผลิตให้คนไทยได้ใช้กันในช่วงกลางปี 2565 โดยจะให้ประชาชนฉีดวัคซีน 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ และจะขายในราคาต้นทุน คาดว่าเข็มละไม่เกิน 300 – 500 บาท ส่วนการจะฉีดวัคซีนใบยาสูบเป็นเข็มที่ 2 สามารถทำได้ไหมนั้น ตอนนี้ยังไม่มีผลทดสอบ ซึ่งจะต้องนำข้อมูลไปตรวจสอบต่อไป แต่ตามหลักการทางวิชาการนั้น ควรจะใช้ได้
“รอบที่ผ่านมา เราเริ่มพัฒนาวัคซีนตัวแรกในเดือน ก.พ. ทดสอบสิ่งต่างๆ กว่าจะได้เข้ามาสู่การทดลองในมนุษย์ระยะแรก ก็ผ่านไปกว่าครึ่งปี หรือราว 16 เดือน อย่างไรก็ตามเราได้วัคซีนใบยาสูบรุ่นที่ 2 ไว้ด้วย โดยเราเริ่มทำมาตั้งแต่เดือน ก.พ. แล้วก็ปรับมาเรื่อยๆ คาดว่าสิ้นปีนี้เราจะได้เข้าสู่การทดลองในมนุษย์ระยะแรกเช่นกัน” ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา กล่าว
ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ในตอนแรกของการผลิตวัคซีนอาจช้า แต่อยากให้ทราบว่าครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ไทยผลิตวัคซีนได้ภายใน 2 ปี จากปกติที่ใช้เวลากันเป็นหลักสิบปี อย่างไรก็ตามแม้จะช้า แต่เราได้มีโรงงานเป็นของตัวเอง ถือเป็นความมั่นคงและความภูมิใจอย่างแท้จริง เนื่องจากเราจะสามารถผลิตวัคซีนได้เองภายในประเทศได้ ดังนั้นความเร็วในการผลิตวัคซีนรุ่นที่ 2 ตนเองคิดเราว่าจะไม่ช้า และจะสามารถผลิตได้เร็วสูสีกับผู้ผลิตเจ้าอื่นๆ
ทั้งหมดนี้ต่างเป็นความคืบหน้าของวัคซีนใบยาสูบ ที่กำลังเตรียมความพร้อมเข้าสู่การทดสอบวัคซีนในมนุษย์ระยะแรกในเดือน ก.ย.2564 ถือเป็นอีก 1 ความหวังของคนไทย ส่วนผลการทดสอบจะออกมาเป็นอย่างไรนั้น จะต้องติดตามกันต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/