"…ขณะนี้องค์การเภสัชกรรมฉีดวัคซีนให้กับอาสาสมัคร 210 คน ครบทั้ง 2 โดสแล้ว ซึ่งทุกคนต่างสุขภาพแข็งแรง ยังไม่พบใครมีอาการไม่พึงประสงค์ร้ายแรงใดๆ มีเพียงอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนในระดับน้อยถึงปานกลางเท่านั้น อาทิ ปวดบริเวณฉีด ปวดศีรษะ หรือมีไข้ต่ำๆ และในวันที่ 8 มิ.ย.2564 ได้ส่งผลตรวจเลือดของอาสาสมัครทั้งหมด ไปทดสอบความปลอดภัยและการกระตุ้นภูมิของวัคซีนที่ต่างประเทศเรียบร้อยแล้ว ซึ่งผลการทดสอบนจะกลับมาให้ทราบกันในเดือน ก.ค.2564…”
……………………………………………………….
‘วัคซีน NDV-HXP-S’ วัคซีนต้านโควิดขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นอีกหนึ่งวัคซีนที่พัฒนาด้วยฝีมือคนไทย โดยนำ ‘เทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก’ หรือ ‘เทคโนโลยี Egg-based’ ซึ่งเคยใช้ผลิตวัคซีนมาแล้วหลายชนิด อย่างวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ มาพัฒนาสูตรจนกลายเป็นวัคซีนป้องกันโควิด ตั้งแต่กลางปี 2563 ที่ผ่านมา
หลังจากนั้นในเดือน ก.พ.2564 วัคซีนต้านโควิดนี้ ได้ถูกนำมาทดลองในสัตว์ พบว่ามีความปลอดภัยและกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี ก่อนในช่วงกลางเดือน มี.ค.2564 วัคซีนได้ถูกนำมาทดลองกับมนุษย์ระยะที่ 1 เพื่อทดสอบ ‘ความปลอดภัย’ และ ‘การกระตุ้นภูมิ’ ในมนุษย์ ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์สำคัญในการผลิตวัคซีน
ล่าสุดองค์การเภสัชกรรมได้ฉีดวัคซีนให้กับอาสาสมัครครบทุกโดสแล้ว ผลการทดลองจะออกมาเป็นอย่างไร สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้สัมภาษณ์องค์การเภสัชกรรม ถึงความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนให้กับอาสาสมัครระยะที่ 1 มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
ดร.ภญ.พรทิพย์ วิรัชวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารยุทธศาสตร์ กล่าวว่า ขณะนี้องค์การเภสัชกรรมฉีดวัคซีนให้กับอาสาสมัคร 210 คน ครบทั้ง 2 โดสและครบกำหนดเจาะเลือดแล้ว เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2564 ที่ผ่านมา ซึ่งทุกคนต่างสุขภาพแข็งแรง ยังไม่พบใครมีอาการไม่พึงประสงค์ร้ายแรงใดๆ มีเพียงอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนในระดับน้อยถึงปานกลางเท่านั้น อาทิ ปวดบริเวณฉีด ปวดศีรษะ หรือมีไข้ต่ำๆ
และในวันที่ 8 มิ.ย.2564 ได้ส่งผลตรวจเลือดของอาสาสมัครทั้งหมด ไปทดสอบความปลอดภัยและการกระตุ้นภูมิของวัคซีนที่ต่างประเทศเรียบร้อยแล้ว เพื่อความเป็นมาตรฐานสากล ซึ่งคาดว่าผลการทดสอบนั้นจะกลับมาให้ทราบกันในเดือน ก.ค.2564
ดร.ภญ.พรทิพย์ กล่าวอีกว่า การตรวจเช็คอาการไม่พึงประสงค์ ผู้วิจัยจะมีมาตรการเฝ้าดูอาการหลังฉีดวัคซีน 30 นาที หลังจากนั้นจะติดตามอาการ โดยมีสมุดจดบันทึกและอุปกรณ์ เช่น เทอร์โมมิเตอร์วัดไข้ให้กับอาสาสมัครทุกคนเพื่อให้คอยตรวจเช็คว่าหลังจากกลับบ้านไปแล้ว มีอาการอะไรหลังฉีดวัคซีนภายใน 7 วัน และในทุกๆ 7 วันภายใน 2 เดือนแรกรวมถึงในรอบ 6 เดือน และ 1 ปี จะมีทั้งการโทรศัพท์ไปสอบถามและการนัดมาตรวจดูอาการ
"หากอาสาสมัครไม่สามารถมาตามนัดหมายได้ กรณีประสบอุบัติเหตุอะไรบ้างอย่าง จะถือว่าเป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดก่อน หลังจากนั้นจะมาสรุปอีกทีว่าเป็นอาการที่เกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับวัคซีน จึงอยากให้ประชาชนคลายความกังวล ทางองค์การเภสัชกรรมให้ความสำคัญกับการตรวจสอบคุณภาพของวัคซีนมาก เพื่อให้ผู้ใช้วัคซีนมีความปลอดภัย” ดร.ภญ.พรทิพย์ กล่าว
(ดร.ภญ.พรทิพย์ วิรัชวงศ์)
@ ไม่เกินกลางปี 65! คาดคนไทยได้ใช้ ‘วัคซีนเทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก’
สำหรับแผนการดำเนินงานขั้นต่อไป ดร.ภญ.พรทิพย์ กล่าวว่า เมื่อองค์การเภสัชกรรมได้ผลการทดสอบดังกล่าวมาแล้ว จะมอบให้คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดูข้อมูลเรื่อง ‘ความปลอดภัย’ และ ‘การกระตุ้นภูมิ’ ของอาสาสมัครทั้งหมดต่อไป รวมถึงจะแนบแผนการออกแบบการทดลองในมนุษย์ครั้งต่อไป ไปให้ด้วย เพื่อให้ผู้พิจารณาทุกคนช่วยให้ข้อคิดและข้อแนะนำ โดยทางองค์การเภสัชกรรมจะนำไปปฏิบัติเพิ่มเติม เพื่อเริ่มการทดลองวัคซีนในมนุษย์ระยะที่ 2 และ 3 ต่อไป โดยจะเร่งดำเนินการให้เสร็จตามแผน ภายในสิ้นปี 2564 นี้
“องค์การเภสัชกรรมจะส่งผลวิจัยทางคลินิกที่สำคัญทุกระยะ และแผนออกแบบการทดลองฉีดวัคซีนในมนุษย์ ให้ อย. พิจารณาด้วยทุกครั้ง เพื่อให้ อย. ได้รับทราบข้อมูลความคืบหน้าของวัคซีนอยู่ตลอด เพราะหาก อย. มีข้อสงสัยหรืออยากให้คำแนะนำเพิ่มเติม ทางองค์การเภสัชกรรมจะสามารถตอบหรือปรับแผนการดำเนินการทันที เพื่อให้ อย. สามารถให้ใบอนุญาตรับรองการใช้วัคซีนในภาวะฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็วที่สุด ซึ่งคาดว่าองค์การเภสัชกรรมจะผลิตวัคซีนให้คนไทยได้ใช้ไม่เกินกลางปี 2565 นี้” ดร.ภญ.พรทิพย์ กล่าว
@ ผลิตได้ 20 ล้านโดสต่อปี
ส่วนแผนการผลิต ‘วัคซีนจากเทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก’ ในโรงงานการผลิต ในช่วงที่ใกล้จะรู้ผลการทดลองวัคซีนในมนุษย์ระยะที่ 3 องค์การเภสัชกรรมจะสั่งบริษัทนำเข้าไข่ไก่เข้ามาทันที เพราะวัคซีนนี้จะต้องผลิตจากไข่ไก่ ทำให้ต้องสั่งบริษัทนำไข่ไก่เข้ามาส่งตามกำหนดเวลาล่วงหน้า
อย่างไรก็ตาม หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนการผลิต ยืนยันว่าคนไทยจะได้ใช้วัคซีนภายในกลางปี 2565 ซึ่งโรงงานผลิตวัคซีนขององค์การเภสัชกรรม ที่ ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี มีศักยภาพและความพร้อมผลิตวัคซีนป้องกันโควิดในระดับอุตสาหกรรมได้เริ่มต้น 20-30 ล้านโดสต่อปี ซึ่งตัวเลขนี้ยังไม่นับรวมกับการขยายกำลังการผลิต
ดร.ภญ.พรทิพย์ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า อย่างไรก็ตามหากจะขยับขยายศูนย์ผลิตวัคซีนเพิ่ม จะต้องดูสถานการณ์ความต้องการวัคซีนของประชาชนก่อน และดูอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามยังมีโอกาสที่จะขยับขยายได้อีก
@ วัคซีนต้นทุนต่ำ ราคาถูก
ด้านต้นทุนการผลิต หรือราคานั้น ดร.ภญ.พรทิพย์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถทราบได้ อย่างไรก็ตามการออกแบบสูตรวัคซีน ที่องค์การเภสัชกรรมได้รับการสนับสนุนจากสถาบัน PATH ในการเข้าถึงสิทธิการใช้หัวเชื้อหัวเชื้อไวรัสตั้งต้นที่พัฒนาโดยโรงเรียนแพทย์เมาท์ ซีนาย และมหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน มาเพื่อใช้พัฒนาวัคซีนตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ เพราะทางสถาบันดังกล่าวมีวัตถุประสงค์มอบลิขสิทธิ์ให้ เพื่อให้เราสามารถผลิตวัคซีนเองได้และประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ในราคาถูก
ประกอบกับวัคซีนนี้ ผลิตจากไข่ไก่ และโรงงานที่เป็นฐานการผลิต เป็นโรงงานเดิมที่เคยใช้ผลิตวัคซีนมาแล้วหลายชนิด จะเป็นวัคซีนราคาถูกแน่นอน ดังนั้น ‘วัคซีนจากเทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก’ จะเป็นวัคซีนราคาถูกแน่นอน
“ด้วยเทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก ที่องค์การเภสัชกรรมใช้ในการผลิตวัคซีนไม่ได้สร้างขึ้นมาใหม่ การผลิตที่สามารถแชร์ หรือใช้อุปกรณ์การผลิตเดิมกับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ด้วย จะช่วยลดต้นทุนการผลิต ทำให้วัคซีนนี้ราคาถูกได้” นั้น ดร.ภญ.พรทิพย์ กล่าว
@ อภ. ชี้จุดเด่นวัคซีน ใช้เทคโนโลยีใหม่-กระตุ้นภูมิดี
สำหรับประสิทธิภาพของ ‘วัคซีนโควิดจากเทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก’ ข้อมูลจาก The New York Times และ สถาบัน PATH รายงานว่า วัคซีนชนิดนี้เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายที่มีความพิเศษ เพราะองค์การเภสัชกรรมได้นำองค์ความรู้ใหม่จากงานวิจัยของ Jason Mclellan จากมหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน นำเทคโนโลยี ‘เฮกซะโปร หรือ HexaPro’ มาเป็นตัวเพิ่มประสิทธิภาพของวัคซีน
สำหรับ ‘เฮกซะโปร หรือ HexaPro’ คือการนำโพรลีนเพิ่มเข้าไป 6 ตำแหน่ง เพื่อตรึงสไปร์คหรือหนามของโปรตีนไวรัสโคโรนาให้เสถียร และเปลี่ยนแปลงรูปร่างได้ยาก ซึ่งยิ่งโครงสร้างคงรูปมากเท่าไร จะยิ่งมีความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้นเท่านั้น ทำให้โปรตีนในรูปแบบดังกล่าวสามารถกระตุ้นภูมิได้ดี ขณะเดียวกันข้อดีอีกอย่างของเทคโนโลยีดังกล่าว ยังมีความสามารถในการยืดหยุ่น ทนต่อความร้อนและสารเคมีที่สร้างความเสียหายได้ดีกว่า
ในขณะที่วัคซีนที่ค้นพบก่อนหน้า อาทิ วัคซีนโมเดอร์นา วัคซีนไฟเซอร์ วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และวัคซีนโนวาแวค จะใช้เทคโนโลยีเพิ่มโพรลีนเข้าเพียงไป 2 ตำแหน่งเพื่อตรึงโปรตีนสไปค์ไวรัสโคโรนาเท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่า วัคซีนที่มีการใช้องค์ความรู้ใหม่นี้อาจทำให้เกิดภูมิคุ้มกันที่ดีมากขึ้นกว่าเดิม
“ดังนั้นวัคซีนจากเทคโนโลยีไข่ไก่ฟักนี้จะมีความคงสภาพ กระตุ้นภูมิได้ดี สามารถจัดเก็บไว้ในอุณหภูมิ 2 – 8 องศา อย่างไรก็ตามจะต้องรอดูประสิทธิภาพของวัคซีนจากผลการทดลองวัคซีนในมนุษย์ระยะที่ 1 ต่อไป” ดร.ภญ.พรทิพย์ กล่าว
ทั้งหมดนี้เป็นความคืบหน้าของวัคซีนจากเทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก ที่ถือได้ว่าประสบความสำเร็จมาอีกขั้นหนึ่ง และกำลังจะก้าวเข้าสู่การทดลองในมนุษย์ระยะที่ 2 และ 3 ซึ่งคาดว่าจะผลิตวัคซีนให้คนไทยได้ใช้เป็นทางอีกทางเลือกหนึ่งในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ภายในกลางปี 2565
อ่านข่าวประกอบ:
ก้าวสำคัญสู่การพึ่งพาตนเอง! เปิดความคืบหน้าวิจัย'วัคซีน-ยาต้านโควิด'ของคนไทย
อ้างอิงข่าว:
Researchers Are Hatching a Low-Cost Coronavirus Vaccine
Classic tech meets new science: How a chicken egg could help end the pandemic
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage