"..บริษัท ทรู ลาบอลาทอรี่ คอร์ปอร์เรชั่น ได้ส่งเอกสารแจ้งรายละเอียดไปทาง FDA ฟิลิปปินส์ แล้ว และยืนยันผลการประเมินชุดตรวจว่าเป็นไปตามมาตรฐาน WHO ในภาวะฉุกเฉินแล้วและชุดตรวจนี้มีผลความไวอยู่ที่ 93.1% มีความจำเพาะที่ 100% ล่าสุดได้รับอนุญาตให้มีการต่อใบอนุญาตขายแล้ว เลขที่ 2021/1896 ลงวันที่ 23 ก.ค.2564 โดย FDA ฟิลิปปินส์ได้แจ้งอนุมัติใบอนุญาต และยืนยันสิทธิ์การขายเป็นของ บริษัท ทรู ลาบอลาทอรี่ คอร์ปอร์เรชั่น..."
.............................
ในการติดตามตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกการประกวดราคาจัดหาชุดตรวจโควิดแบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen self-test Test Kits : ATK) จำนวน 8.5 ล้านชุด ของ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ที่ได้รับมอบหมายจากโรงพยาบาลราชวิถี ให้ดำเนินเป็นการเร่งด่วน ตามโครงการพิเศษของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำหรับให้ประชาชนใช้ตรวจคัดกรองเชิงรุก เพื่อค้นหาผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษารวดเร็วขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมโรค ซึ่งผลการยื่นซองประกวดราคา เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด เป็นผู้ชนะ เสนอราคาอยู่ที่ชุดละ 65 บาท แต่เมื่อรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามที่ อภ.ระบุว่าอยู่ที่ราคาประมาณชุดละ 70 บาท วงเงินงบประมาณจะอยู่ที่ 595,000,000 บาท โดยสินค้าที่นำมาจำหน่ายผลิตโดย บริษัทเอกชนประเทศจีน ที่มีชื่อว่า BEIJING LEPU MEDICAL TECHNOLOGY CO., LTD ที่กำลังเกิดเสียงวิพาษ์วิจารณ์ในสังคมเรื่องความโปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อสินค้าอยู่ในขณะนี้นั้น
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำเสนอข้อมูลเบื้องลึกเกี่ยวกับเส้นทางการจัดซื้อชุดตรวจโควิดครั้งนี้ ให้สาธารณชนรับทราบไปแล้วว่า สปสช. เป็นเจ้าของงบประมาณ แต่ไม่ดำเนินการจัดซื้อเอง เพราะสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เคยวินิจฉัยว่า สปสช. ไม่สามารถจัดซื้อด้วยตัวเองได้ และกลายเป็นที่มาของคำสั่ง คสช.เมื่อปี 2560 ที่ไม่ให้ สปสช.ทำหน้าที่จัดซื้อและเวชภัณฑ์อีกต่อไป มติบอร์ด สปสช. จึงส่งเรื่องไปยังเครือข่ายโรงพยาบาลราชวิถี และส่งต่อไปยังองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ให้ทำหน้าที่จัดซื้ออีกที
อย่างไรก็ดี ในการจัดซื้อชุดตรวจโควิดครั้งนี้ สปสช. มีความต้องการที่จะใช้สินค้าชุดตรวจโควิดยี่ห้อหนึ่ง โดยมีการไปเจรจาต่อรองราคาจาก 160 บาท จนเหลือ 120 บาทแล้ว
(อ่านประกอบ : เบื้องลึก! เส้นทางชุดตรวจโควิด 595 ล. สปสช. งัดข้อ อภ.-สธ. สุดท้าย 'ปชช.' รับเคราะห์)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลว่า ชุดตรวจโควิดยี่ห้อ ที่ สปสช.ต้องการนำมาใช้งานดังกล่าว คือ ชุดตรวจยี่ห้อ Standard Q
จากการสืบค้นข้อมูลพบว่า ชุดตรวจยี่ห้อ Standard Q นี้ ผ่านการอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ปรากฏชื่อ บริษัท เอ็มพี กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้นำเข้า
ขณะที่ในการยื่นซองประกวดราคาจัดซื้อจำนวน 8.5 ล้านชุด ของ อภ.เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา บริษัท เอ็มพี กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด ก็เป็นหนึ่งในเอกชนที่เข้ายื่นซองเสนอราคาด้วย โดยเสนอราคาอยู่ที่ 118.90 บาท/ชุด (ดูภาพประกอบ)
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า จากการสืบค้นข้อมูลในต่างประเทศ พบว่า ในช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา สำนักข่าว Manila Times ของประเทศฟิลิปปินส์ ได้นำเสนอข่าวว่า ชุดตรวจโควิด Standard Q Covid-19 Ag Test ซึ่งผลิตโดยบริษัท SD Biosensor Inc จากประเทศเกาหลีใต้นั้นมีอัตราค่าความไวอยู่ที่ 71.43 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ชุดตรวจยี่หัอ Quickprofile Covid19 Ag Test Strip ซึ่งผลิตจากบริษัท by Lumiquick Diagnostics Inc (ยังไม่พบว่ามีการนำชุดตรวจยี่ห้อนี้เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย) มีอัตราค่าความไวอยู่ที่ 27.78 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่ กระทรวงสาธารณสุขฟิลิปปินส์และองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้กำหนดค่าความไวขั้นต่ำสำหรับชุดตรวจโควิดเอาไว้ว่าควรจะต้องอยู่ที่ 80 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ซึ่งสิ่งที่เรียกว่าอัตราค่าความไวนั้นเป็นสิ่งที่กำหนดความเชื่อมั่นในผลการทดสอบ แสดงให้เห็นว่าผู้ที่ได้รับการทดสอบนั้นมีผลตรวจโควิดเป็นบวกหรือว่าเป็นลบ
โดยแนวทางของ WHO ได้มีการระบุเอาไว้ในส่วนนี้ คือว่า “เนื่องจากความชุกของการแสดงอาการโรคที่ค่อนข้างต่ำในการติดเชื้อไวรัส SARSCoV2 แม้ว่าจะเป็นการติดเชื้อในชุมชนก็ตาม ทาง WHO จึงได้แนะนำว่าเครื่องตรวจจะต้องมีค่าความเฉพาะเจาะจงขั้นต่ำอยู่ที่ 97 เปอร์เซ็นต์ ไปถึง 99 เปอร์เซ็นต์ และเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงกรณีผลตรวจเป็นบวกที่เป็นเท็จ ชุดตรวจแบบรวดเร็วที่ตรวจหาแอนติเจนนั้นควรที่จะมีค่าความไวอยู่ที่ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป”
ในช่วงเวลาเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม ได้มีการออกระเบียบเกี่ยวกับมาตรฐานการตรวจแอนติเจนในประเทศฟิลิปปินส์ว่า เฉพาะชุดตรวจที่มีความความไวขั้นต่ำ 90 เปอร์เซ็นต์และค่าความเฉพาะเจาะจงขั้นต่ำอยู่ที่ 97 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่จะมีการแนะนำให้ใช้งานในประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันวิจัยเวชศาสตร์เขตร้อน (RITM) จะเป็นผู้ที่เผยแพร่รายการชุดทดสอบที่ได้รับการตรวจสอบโดยสถาบันฯ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รายงานข่าวแ
ทั้งนี้ สำหรับประเด็นอัตราค่าความไว 71 เปอร์เซ็นต์ของชุดตรวจจากบริษัท SD Biosensor และอัตราค่าความไว 27 เปอร์เซ็นต์ของชุดตรวจที่มาจากบริษัท Lumiquick Diagnostics ทำให้จำนวนตัวเลขของผู้ที่ได้รับการตรวจที่แสดงผลออกมาเป็นผลตรวจบวกอันเป็นเท็จและผลตรวจลบอันเป็นเท็จนั้น มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น อันจะส่งผลต่อจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดที่เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
ซึ่งถ้าหากผู้ที่เข้ารับการตรวจนั้น ไม่รู้ว่าตัวเองมีผลการตรวจโควิดเป็นลบ ที่เป็นผลการตรวจเท็จ บุคคลผู้นั้นก็จะกลับไปใช้ชีวิต ทำธุรกิจตามปกติและทำให้สมาชิกในครอบครัว เพื่อน ๆ ตกอยู่ในความเสี่ยงโดยไม่จำเป็น
ถ้าหากผู้ที่เข้ารับการตรวจมีผลตรวจโควิดเป็นบวกที่เป็นผลตรวจเท็จ บุคคลผู้นั้นก็จะต้องอยู่กับความวิตกกังวลและความหวาดกลัวต่ออาการป่วยที่อาจจะถึงตายโดยไม่จำเป็นได้เช่นกัน
รายงานข่าวจากสำนักข่าว Manila Times
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา เคยตรวจสอบพบว่า สำนักข่าว Manila Times ได้นำเสนอข่าวเมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งประเทศฟิลิปปินส์ได้ออกประกาศเรียกคืนผลิตภัณฑ์ชุดตรวจโควิดจำนวน 11 ยี่ห้อ นอกจากชุดตรวจที่ผลิต โดยBEIJING LEPU MEDICAL TECHNOLOGY CO., LTD ในลำดับที่ 10 แล้ว ชุดตรวจยี่ห้อ Standard Q ก็ถูกออกประกาศเรียกคืนผลิตภัณฑ์เช่นกัน (ดูภาพประกอบ)
ขณะที่ นางสาวรังสินี หวังมั่น ผู้เชี่ยวชาญผลิตภัณฑ์ บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด เคยชี้แจงสำนักข่าวอิศราว่า "สินค้าของ BEIJING LEPU MEDICAL ที่ถูก อย.ฟิลิปปินส์ ระบุถึงเป็นชุดตรวจเกี่ยวกับเลือด ไม่ใช่ชุดตรวจโควิด ATK และกรณีนี้ อยากให้สื่อมวลชน ดูรายละเอียดสินค้า ยี่ห้ออื่น ในจำนวน 11 ยี่ห้อ ที่ถูก อย.ฟิลิปปินส์ สั่งเรียกคืน จะพบว่า มีสินค้าหลายยี่ห้อ เป็น ชุดตรวจโควิด ATK โดยตรง และมีการนำมาเสนอขายต่อ อภ. ในการประกวดราคาครั้งนี้ด้วย"
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงาว่า เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2564 ได้ติดต่อไปยัง บริษัท เอ็มพี กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏเป็นข่าว
ตัวแทน บริษัท เอ็มพี กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด ชี้แจงว่า การเรียกคืนสินค้าในฟิลิปปินส์ดังกล่าว อยู่ในช่วงการเปลี่ยนตัวแทนจำหน่าย จากบริษัทเดิม คือ H&B pharma international Inc. มาเป็นบริษัท ทรู ลาบอลาทอรี่ คอร์ปอร์เรชั่น ซึ่งในช่วงการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว FDA ฟิลิปปินส์ จึงได้สั่งให้ชะลอการจำหน่ายสินค้าออกไปก่อน
อย่างไรก็ตาม ทางบริษัท ทรู ลาบอลาทอรี่ คอร์ปอร์เรชั่น ได้ส่งเอกสารแจ้งรายละเอียดไปทาง FDA ฟิลิปปินส์ แล้ว และยืนยันผลการประเมินชุดตรวจว่าเป็นไปตามมาตรฐาน WHO ในภาวะฉุกเฉินแล้วและชุดตรวจนี้มีผลความไวอยู่ที่ 93.1% มีความจำเพาะที่ 100% ล่าสุดได้รับอนุญาตให้มีการต่อใบอนุญาตขายแล้ว เลขที่ 2021/1896 ลงวันที่ 23 ก.ค.2564 โดย FDA ฟิลิปปินส์ได้แจ้งอนุมัติใบอนุญาต และยืนยันสิทธิ์การขายเป็นเป็นของ บริษัท ทรู ลาบอลาทอรี่ คอร์ปอร์เรชั่น (ดูรายละเอียดตามจดหมายแนบ)
ส่วนคำถามที่ว่า สปสช.เคยเจรจาต่อรองราคาชุดตรวจโควิดนี้ จาก 160 บาท จนเหลือ 120 บาทหรือไม่นั้น ตัวแทนบริษัท เอ็มพี กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "ในส่วนของเรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวพันระหว่าง 2 หน่วยงาน จึงยังไม่ขอเปิดเผยข้อมูล"
อ่านข่าวประกอบ :
เป็นนักจิตวิทยาทำงานในรพ.! เปิดตัวหุ้นใหญ่ บ.ออสท์แลนด์ เข้านำชุดตรวจ ATK ขาย อภ.595 ล.
ร้อง 'องค์การเภสัชฯ' จัดซื้อชุดตรวจโควิด 8.5 ล้านSET กระชั้นชิด (1)
หลังฉาก! อภ.ซื้อชุดตรวจโควิด 595 ล้าน บ.ชนะยื่นซอง 65 บ.-FDA สั่งระงับสินค้าผู้ผลิตจีน? (2)
แจ้งงบการเงินขาดทุน 3 ปีติด! ส่อง Google Maps ดูที่ตั้ง บ.ผู้ชนะขายชุดตรวจโควิด 595 ล. (3)
ปลัด สธ.สั่งชะลอทำสัญญา-สอบคุณภาพชุด ATK อภ.แจงสหรัฐฯระงับใช้ เหตุสินค้าถูกลักลอบนำเข้า (4)
ข้อมูลใหม่! อิศรา คุ้ยเจอ อย.ฟิลิปปินส์ เรียกคืนชุดตรวจโควิดยี่ห้อเดียว อภ.จัดซื้อ (5)
อย.แจงชุดตรวจ ATK บริษัท Lepu ได้มาตรฐาน - อภ.ยันประมูลโปร่งใส ไม่มีการล็อกสเปก (6)
ได้มาตรฐาน-ไม่ล็อกสเปก! เปิดคำชี้แจง 3 หน่วยงาน แผนจัดซื้อชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชิ้น (7)
ก่อนเปิดซองชุดตรวจโควิด 1 วัน! วปอ.รุ่น 61 นำสินค้า บ.ออสท์แลนด์ บริจาค 'อนุทิน -สธ.' (8)
เบื้องลึก! เส้นทางชุดตรวจโควิด 595 ล. สปสช. งัดข้อ อภ.-สธ. สุดท้าย 'ปชช.' รับเคราะห์ (9)
พบ 'นักธุรกิจสาว' โผล่ชื่อถือหุ้นใหญ่ บ.ออสท์แลนด์ ก่อนยื่นซองขายชุดตรวจ ATK 4 วัน (10)
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage