ครม.อนุมัติ 4.2 หมื่นล้านบาท จัดแพคเกจเยียวยามาตรการล็อกดาวน์โควิด รวม 9 กลุ่มอาชีพ เฉพาะพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด ลูกจ้างรับ 2,500 บาท ฟรีแลนซ์ 5,000 บาท นายจ้างคิดตามจำนวนลูกจ้างได้ 3,000 บาทต่อหัว แต่ไม่เกิน 200 คน ส่วนทั่วประเทศได้ลดค่าน้ำ-ค่าไฟ 2 เดือน พร้อมสั่งหน่วยงาน เสนอแผนลดค่าเทอม - ช่วยลูกหนี้สถาบันการเงิน เสนอที่ประชุมสัปดาห์หน้า
---------------------------------------------------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือ สีแดงเข้ม 10 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา
โดยนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติใช้เงินกู้ 30,000 ล้านบาทตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ และแรงงานในระบบประกันสังคม และนอกระบบประกันสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการ รวมทั้งหมด 9 สาขาอาชีพ ประกอบด้วย 1.สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 2.สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 3.สาขาการขายสินค้าและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์ 4.สาขากิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน 5.กิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ และกิจกรรมทางวิชาการ 6.กิจกรรมข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 7.กิจกรรมก่อสร้าง 8.กิจกรรมการบริการด้านอื่นๆ และ 9.กิจกรรมศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ
นายอนุชา กล่าวด้วยว่า สำหรับมติ ครม.ในครั้งนี้ เป็นการอนุมัติทดแทนมติเดิมเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2564 ที่เห็นชอบมาตรการเยียวยา วงเงิน 8,500 ล้านบาทให้ผู้ประกอบการและแรงงาน 4 กลุ่มอาชีพเฉพาะ 6 จังหวัด กทม.และปริมณฑล โดยครั้งนี้ได้เพิ่มเป็น 9 กลุ่มอาชีพ และครอบคลุมพื้นที่ 10 จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดทั้งหมด
(ข่าวประกอบ : ครม.เคาะ 8,500 ล้านบาท เยียวยาผู้ประกอบการธุรกิจก่อสร้าง-ร้านอาหาร-สถานบันเทิง)
สำหรับรูปแบบการเยียวยา มีรายละเอียด ดังนี้
ผู้ประกันตนตาม ม.33 สัญชาติไทย จะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติม 2,500 บาทเป็นเวลา 1 เดือน เมื่อรวมกับเงินชดเชย 50% ของค่าจ้างแต่ไม่เกิน 7,500 บาท ที่จ่ายโดยกองทุนประกันสังคมจะทำให้ลูกจ้างได้เงินช่วยเหลือไม่เกินคนละ 10,000 บาท
ผู้ประกันตน ม.39 และ ม.40 สัญชาติไทย จะได้รับเงินช่วยเหลือในอัตรา 5,000 บาท 1 เดือน
นายจ้างหรือผู้ประกอบการ ได้เงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้าง สูงสุดไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน หรือสูงสุดไม่เกิน 600,000 บาท จำนวน 1 เดือน
ผู้ประกอบอาชีพอิสระ สัญชาติไทย แต่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ให้เตรียมหลักฐานลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตาม ม.40 ภายในเดือน ก.ค.2564 จะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท 1 เดือน
ผู้ประกอบการที่มีลูกจ้าง และไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ให้ขึ้นทะเบียนนายจ้างและลูกจ้างในระบบประกันสังคม ภายในเดือน ก.ค.2564 จะได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวน สูงสุดไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน หรือสูงสุดไม่เกิน 600,000 บาท จำนวน 1 เดือน ส่วนลูกจ้างได้เฉพาะเงินช่วยเหลือ 2,500 บาท จำนวน 1 เดือน
ผู้ประกอบที่ไม่มีลูกจ้าง และไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ให้ขึ้นทะเบียนนายจ้างในระบบประกันสังคม ภายในเดือน ก.ค.2564 จะได้รับเงินช่วยเหลือในอัตรา 5,000 บาท จำนวน 1 เดือน
ผู้ประกอบการในระบบถุงเงิน ภายใต้โครงการคนละครึ่ง และโครงการเราชนะในปัจจุบันที่ผ่านการตรวจคัดกรองแล้วไม่เป็นผู้ถูกตัดสิทธิ์จากกระทรวงการคลัง ในหมวดร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้าน OTOP ร้านค้าทั่วไป ร้านค่าบริการและกิจการขนส่งสาธารณะ (ไม่รวมกิจการขนาดใหญ่) กรณีไม่มีลูกจ้างให้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม เป็นผู้ประกันตน ม.40 ภายในเดือน ก.ค. 2564 จะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท จำนวน 1 เดือน
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ที่ประชุม ครม.ยังอนุมัติเงิน 12,000 ล้านบาท สำหรับ มาตรการลดค่าน้ำค่าไฟให้กับประชาชนและภาคธุรกิจทั่วประเทศ แบ่งเป็น มาตรการลดค่าน้ำ 10% เป็นเวลา 2 เดือน สำหรับใบแจ้งหนี้ประจำเดือน ส.ค.-ก.ย.2564 เฉพาะบ้านที่อยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก ส่วน มาตรการลดค่าไฟ 2 เดือน สำหรับใบแจ้งหนี้ประจำเดือน ก.ค.-ส.ค.2564 มีรายละเอียด ดังนี้
ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดอน ให้สิทธิ์ใช้ไฟฟรี 90 หน่วยแรก
ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้มีส่วนลด ดังนี้
กรณีใช้ไฟน้อยกว่าใบแจ้งค่าไฟเดือน ก.พ.2564 ให้คิดค่าไฟตามหน่วยการใช้จริง
กรณีใช้ไฟไม่เกิน 500 หน่วย ให้คิดเท่ากับใบแจ้งค่าไฟเดือน ก.พ.2564
กรณีใช้ไฟ 500 – 1,000 หน่วย ส่วนที่เกินจาก 500 หน่วยให้คิดในอัตรา 50%
กรณีใช้ไฟเกิน 1,000 หน่วย ส่วนที่เกินจาก 500 หน่วยให้คิดในอัตรา 70%
นอกจากนั้น ครม.มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หารือกับสถานศึกษาในสังกัดเพื่อกำหนดแนวทางการลดค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา อาทิ ลดเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่นในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 เป็นกรณีพิเศษ พร้อมให้จัดทำข้อเสนอโครงการที่กำหนดให้รัฐร่วมสมทบภาระส่วนลดให้แก่สถานศึกษาบางส่วนเสนอให้ ครม.พิจารณาตามขั้นตอนภายใน 1 สัปดาห์
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินและลูกหนี้ของสถาบันการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย หารือกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อผ่อนปรนการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย หรือเลื่อนงวดการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้าทั้งที่เป็นประชาชนและผู้ประกอบการอย่างจริงจัง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/