‘ศาลปกครองสูงสุด’ มีคำสั่ง ‘ศาลปกครองชั้นต้น’ รับคำฟ้องคดี ครม.ต่อสัมปทานทางด่วน ‘บีอีเอ็ม’ 15 ปี 8 เดือน ชี้กระทบผู้บริโภคโดยตรง-กระทบประโยชน์ส่วนรวม พร้อมให้พิจารณาคำขอ 'คุ้มครองชั่วคราว'
....................
เมื่อวันที่ 9 เม.ย. ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคำฟ้องของคณะราษฎรไทยแห่งชาติกับพวกรวม 23 ราย คดีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติแก้ไขสัญญาโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 (ศรีรัช-รวมถึงส่วนดี) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (ทางพิเศษอุดรรัถยา) โดยให้ขยายระยะเวลาสัญญาสัมปทานทางด่วนดังกล่าวออกไปอีก 15 ปี 8 เดือน ไว้พิจารณา และให้พิจารณาคำขอเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาของผู้ฟ้องคดีต่อไป
ทั้งนี้ เนื่องจากศาลฯ เห็นว่า การที่ครม.มีมติให้ความเห็นชอบแก้ไขสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช รวมถึงส่วนดี) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (ทางพิเศษอุดรรัถยา) เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย อันมีผลบังคับให้หน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติตาม มิใช่การกำหนดแนวทางปฏิบัติงานภายในหน่วยงานทางปกครองเท่านั้น โดยหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต้องแก้ไขสัญญาตามร่างสัญญาร่วมลงทุนฉบับใหม่
ดังนั้น การใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีดังกล่าว จึงมีผลทำให้โครงการทางด่วนที่เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจะต้องตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ต้องขยายระยะเวลาออกไปอีก 15 ปี 8 เดือน จึงมิได้มีผลกระทบต่อคู่สัญญาเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบต่อการบริหารจัดการทางด่วน ซึ่งรวมถึงค่าใช้บริการที่ผู้บริโภคต้องชำระด้วย จึงย่อมส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยตรงและกระทบต่อประโยชน์ส่วนรวม
เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นกลุ่มบุคคลหรือองค์กรภาคประชาชน และเป็นประชาชน ซึ่งอ้างว่า ได้ใช้บริการทางด่วน และอ้างว่า หากทางด่วนตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ประชาชนทุกคนจะมีสิทธิได้ใช้โดยเสียค่าผ่านทางในราคาที่ถูกลง จึงถือว่าผู้ฟ้องคดีทั้ง 23 เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหาย โดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ผู้ฟ้องคดีทั้ง 23 จึงมีสิทธิฟ้องคดีนี้ ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ก.พ.2563 ครม.มีมติเห็นชอบการแก้ไขสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช รวมถึงส่วนดี) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (ทางพิเศษอุดรรัถยา) ระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM โดยต่ออายุสัญญาสัมปทานทางด่วน 3 เส้น ให้หมดอายุพร้อมกันเป็นวันที่ 31 ต.ค.2579
อ่านประกอบ
'มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค' ฟ้องศาลปกครอง ขอให้เพิกถอนมติครม.ต่อสัญญาทางด่วน BEM
‘วิษณุ-ศักดิ์สยาม’ ร่ายยาว แจงเหตุครม.ไฟเขียวต่อสัมปทานทางด่วน BEM
ครม.ไฟเขียวต่ออายุสัมปทานทางด่วน BEM เป็นเวลา 15 ปี 8 เดือน
สลค.ร่อนหนังสือด่วนที่สุด ชี้ปมต่ออายุสัมปทานทางด่วน BEM 'ไม่สอดคล้อง' มติครม.
‘วิชาญ’ ทิ้งเก้าอี้รักษาการผู้ว่าฯ กทพ. หนีเซ็นต่อสัมปทานทางด่วน ‘BEM’
เปิดร่างสัญญาต่ออายุสัมปทาน 'ทางด่วน' 'กทพ.-บีอีเอ็ม’ (ตอน 1)
เปิดร่างสัญญาต่ออายุสัมปทาน ‘ทางด่วน’ กทพ.ต้องระวังเกิดข้อพิพาทซ้ำซาก (ตอนจบ)
เบื้องลึก ‘สุชาติ’ ทิ้งเก้าอี้ผู้ว่าฯกทพ. รับเสี่ยงไม่ไหว ‘ก.หูกวาง’ ล้วงลูกเบ็ดเสร็จ?
'สุชาติ' ยื่นหนังสือลาออก 'ผู้ว่าการ กทพ.'
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/