‘วิษณุ’ เผยครม.ใช้เวลาถกกว่า 2 ชั่วโมง ก่อนมีมติต่ออายุสัมปทานทางด่วน BEM เป็นเวลา 15 ปี 8 เดือน แลกยุติข้อพิพาท ‘ศักดิ์สยาม’ ชี้หากปล่อยให้คดีข้อพิพาทยืดเยื้อออกไป มูลหนี้จะเพิ่มเป็น 3 แสนล้านบาทในปี 2578
เมื่อวันที่ 18 ก.พ. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบการแก้ไขสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช รวมถึงส่วนดี) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (ทางพิเศษอุดรรัถยา) รวม 2 ฉบับ หลังจากที่ประชุมครม.ได้ใช้เวลาพิจารณาเรื่องนี้นานกว่า 2 ชั่วโมง เพราะเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนมาก
“รัฐบาลนี้ไม่ได้ดำเนินการอะไรทั้งสิ้น เขาลงนามสัญญากันมา 30 ปีแล้ว คือ กรณีสัญญาสัมปทานทางด่วน และมีข้อพิพาทกันมาทุกปี ถ้าไม่ระงับยับยั้งให้จบสิ้น ก็จะมีข้อพิพาทต่อไปทุกปีในอนาคต เพราะมีบางสัญญาอายุ 30 ปีก็จริงอยู่ แต่ยังไม่หมดอายุ วันนี้ ครม.ก็ทำให้มันจบลงโดยสิ้นเชิง เพื่อไม่ให้เรื่องอดีต ปัจจุบัน อนาคต และครม.จำเป็นต้องพิจารณาให้เสร็จภายในวันที่ 28 ก.พ.นี้ มิฉะนั้น จะเกิดโกลาหลอลหม่านวุ่นวายขึ้น” นายวิษณุกล่าว
นายวิษณุ ชี้แจงต่อว่า ในกรณีที่มีคำถามว่าคดีพิพาท 11 คดีที่ยังไม่ได้ข้อยุติ ศาลยังไม่ติดสิน แต่เหตุใดภาครัฐต้องยกขึ้นมาเจรจากับเอกชน เพราะรัฐอาจชนะก็ได้นั้น ต้องบอกว่า ทุกอย่างเป็นคดีในอนาคต ไม่มีใครรู้ว่าจะแพ้หรือชนะ และกทพ.ก็คิดอย่างนี้เมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว และไม่ยอมจ่ายเงินค่าชดเชยในคดีการสร้างทางแข่งขัน เพราะคิดว่าจะชนะ แต่สุดท้ายก็แพ้ ดังนั้น เมื่อไม่มีใครรู้ว่าอีก 11 คดีที่เหลืออยู่ใครจะชนะ จึงต้องเจรจาเพื่อให้ข้อพิพาททั้งหมดยุติลงโดยสิ้นเชิง
“เรามาถึงจุดที่ต้อง Set Zero ซึ่งหลักในการเจรจามันก็ต้องคิดอย่างนี้ และเอาเป็นว่า 17 คดีนี้ เลิกให้หมดภายใน 3 วัน 7 วัน ไปถอนให้หมด โดยที่รัฐไม่ต้องจ่ายเงินแม้แต่บาทเดียว แลกกับการขยายอายุสัมปทานจนถึงปี 2578 เพื่อให้ทุกสัญญาจบพร้อมกัน” นายวิษณุกล่าว
สำหรับกรณีที่มีข้อสังเกตว่าบางคดีขาดอายุความแล้ว ต่อให้ BEM ฟ้องก็ไม่ชนะคดีนั้น ได้มีหนังสือถามไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว และสำนักงานอัยการสูงสุดมีหนังสือตอบมาว่า ไม่มีคดีใดขาดอายุความ เพราะคดีที่อยู่ระหว่างการไกล่เกลี่ยนั้นจะยังไม่เริ่มนับอายุความ แต่หากไกล่เกลี่ยแล้วไม่สำเร็จ และฟ้องอนุญาโตตุลาการ หรือฟ้องศาล อายุความจึงจะนับตั้งแต่ตอนนั้น
นายวิษณุ ยังระบุด้วยว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ กทพ.แพ้คดีข้อพิพาททางด่วน โดยเฉพาะในคดีการสร้างทางแข่งขันนั้น เนื่องจากในข้อสัญญาเขียนไว้ว่าตลอดอายุสัญญา ห้ามรัฐ คือ กทพ. สร้างทางแข่งขันที่กับเอกชนคู่สัญญา แต่หากมีการสร้างทางและทำให้รายได้ของเอกชนลดลง ภาครัฐจะต้องเข้าไปชดเชยความเสียหาย ซึ่งก็ไม่รู้ว่าวันนี้สัญญาเขียนอย่างนั้นได้อย่างไร แต่วันนี้เราไม่ควรเขียนสัญญาอย่างนั้นอีกแล้ว
“ในร่างสัญญาใหม่ 2 ฉบับ ที่ครม.เห็นชอบครั้งนี้ เขาให้รัฐสร้างทางแข่งขันได้ โดยไม่ต้องชดเชยเยียวยาใดๆกับทาง BEM โดยสัญญาเดิมข้อ 16 ตัดทิ้งไปเลย ต่อไปนี้รัฐสร้างทางแข่งขันกี่สายก็ได้ ทำให้ปัญหาอนาคตจะหมดไป ส่วนสูตรการปรับค่าผ่านทาง ร่างสัญญาใหม่เขียนว่าให้กำหนดราคาอย่างไร ไม่ต้องตีความกันอีก” นายวิษณุกล่าว
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ครม.มีมติต่ออายุสัญญาสัมปทานทางด่วนระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน เพื่อแลกกับการยุติระงับข้อพิพาทคดีทางด่วน 17 คดี โดยการดำเนินการทั้งหมดเป็นไปตามข้อสัญญา และการเจรจาดังกล่าวภาครัฐคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดที่ประชาชนจะได้รับ
นายศักดิ์สยาม อธิบายว่า ตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบัน มีคดีพิพาทระหว่าง กทพ.และ BEM รวม 17 คดี แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ข้อพิพาทในเรื่องการผิดสัญญาการสร้างทางแข่งขัน 2.ข้อพิพาทเรื่องการไม่ปรับขึ้นค่าทางด่วนตามเวลาหรือเงื่อนไข และ3.พิพาทอื่นๆ โดยที่ผ่านมากทพ.ได้ดำเนินการเจรจากับ BEM เพื่อยุติข้อพิพาทต่างๆตามมติครม.เมื่อวันที่ 2 ต.ค.2561 และได้ข้อยุติไป 15 คดี คือ กลุ่มคดีเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าผ่านทางและกลุ่มคดีอื่นๆ
ส่วนกลุ่มคดีการสร้างทางแข่งขัน ซึ่งมี 2 คดี ได้แก่ คดีแรกเกิดขึ้นปี 2542-2543 และศาลปกครองสูงสุดมีคำวินิจฉัยให้ BEM ชนะและให้กทพ.ชดเชยค่าเสียหาย 4,318 ล้านบาท เป็นเงินต้น 1,790 ล้านบาท ดอกเบี้ย 2,528 ล้านบาท ส่วนคดีที่ 2 เกิดขึ้นระหว่างปี 2544-ต.ค.2561 วงเงินข้อพิพาท 74,590 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินต้น 50,290 ล้านบาท และดอกเบี้ย 24,300 ล้านบาท ซึ่งคาดว่ากทพ.จะแพ้อีก เพราะมีลักษณะข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเหมือนกับคดีที่ 1
ดังนั้น กทพ.ได้เจรจากับ BEM และได้ข้อสรุปว่าจะให้ขยายอายุสัญญาออกไป 15 ปี 8 เดือน ลดลงจากเดิมที่อยู่ที่ 19 ปี 1 เดือน แลกกับการที่ BEM ยุติข้อพาททั้ง 2 คดี ซึ่งมีมูลหนี้รวมกัน 78,908 ล้านบาท พร้อมทั้งให้ยกข้อพิพาทที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การสร้างทางแข่งขัน ออกจากสัญญาให้หมด ซึ่ง BEM ยินดีปฏิบัติตาม
“รัฐได้เจรจาโดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดที่ประชาชนจะได้ และสิ่งที่เอกชนได้จากเรา เป็นเรื่องของการขยายระยะเวลา แต่ไม่ได้เป็นเงินสด ส่วนสาเหตุที่ต้องรีบดำเนินการ เพราะมีสัญญาที่จะหมดในวันที่ 28 ก.พ.2563 ถ้าสัญญาหมด จะไม่สามารถขยายสัญญาได้ แต่จะต้องเข้าสู่การประกวดราคาใหม่ ซึ่งหนี้ที่ BEM ฟ้องก็ไม่ได้หยุดไป และจะบวกดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ ถ้าทุกคดีจบโดยไม่มีเจรจา หรือไปจบปี 2578 มูลหนี้จะเพิ่มเป็น 3 แสนล้านบาท”นายศักดิ์สยามกล่าว
อ่านประกอบ :
ครม.ไฟเขียวต่ออายุสัมปทานทางด่วน BEM เป็นเวลา 15 ปี 8 เดือน
สลค.ร่อนหนังสือด่วนที่สุด ชี้ปมต่ออายุสัมปทานทางด่วน BEM 'ไม่สอดคล้อง' มติครม.
‘วิชาญ’ ทิ้งเก้าอี้รักษาการผู้ว่าฯ กทพ. หนีเซ็นต่อสัมปทานทางด่วน ‘BEM’
เปิดร่างสัญญาต่ออายุสัมปทาน 'ทางด่วน' 'กทพ.-บีอีเอ็ม’ (ตอน 1)
เปิดร่างสัญญาต่ออายุสัมปทาน ‘ทางด่วน’ กทพ.ต้องระวังเกิดข้อพิพาทซ้ำซาก (ตอนจบ)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/