"...กทพ. จะต้องใช้ความพยายาม ‘อย่างที่สุด’ เพื่อให้แน่ใจว่ารัฐบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือบุคคลอื่นใด จะไม่ดำเนินการหรือกระทำการใดที่อาจขัดขวาง หรือรบกวนงาน หรือการดำเนินการ หรือการไหลเวียนของการจราจรบนหรือเข้าสู่ทางด่วนขั้นที่ 1 และทางด่านขั้นที่ 2 หรือส่วนหนึ่งส่วนใด..."
ในตอนที่แล้ว สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้นำเสนอข้อมูลร่างสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ฉบับแก้ไข ลงวันที่....) ซึ่งขณะนี้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้ส่งร่างสัญญาดังกล่าวไปให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างแล้ว ก่อนเข้าสู่กระบวนการนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ
โดยสาระสำคัญของร่างสัญญาดังกล่าว ได้ระบุถึงแนวทางการยุติข้อพิพาททางด่วนระหว่าง กทพ. และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เช่น การกำหนดให้ กทพ. ขยายอายุสัญญาสัมปทานทางด่วนให้กับ บีอีเอ็ม จากวันที่ 1 มี.ค.2563 ไปจนสิ้นสุดวันที่ 31 ต.ค. 2578 และให้ บีอีเอ็ม เป็นผู้ให้บริการเก็บค่าผ่านทางและบำรุงรักษาทางด่วนขั้นที่ 1 และ 2 รวมทั้งได้รับการพิจารณาต่ออายุสัญญาสัมปทานเป็นรายแรก 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 10 ปี
ขณะเดียวกัน บีอีเอ็ม จะได้รับส่วนแบ่งจากการเก็บค่าผ่านทางด่วนขั้นที่ 1 (ทางพิเศษเฉลิมมหานคร) และทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วนเอบี ในสัดส่วน 40% ของรายได้ค่าผ่านทางทั้งหมด ส่วนทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วนซีและส่วนดี บีอีเอ็มจะได้รับส่วนแบ่ง 40% ของรายได้ค่าผ่านทางทั้งหมด
และทำให้ตลอดระยะเวลาสัญญา 15 ปี 8 เดือน หรือตั้งแต่ปี 2563-2578 บีอีเอ็ม จะได้รับส่วนแบ่งรายได้ 125,234 ล้านบาท จากรายได้ค่าผ่านทางทั้งหมดที่คาดว่าจะจัดเก็บได้ 274,370 ล้านบาท และเมื่อหักลบค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานแล้ว คาดว่า บีอีเอ็ม จะมีกำไรประมาณ 73,784 ล้านบาท
อ่านประกอบ : เปิดร่างสัญญาต่ออายุสัมปทาน 'ทางด่วน' ขุมทรัพย์แสนล้าน ‘บีอีเอ็ม’ (ตอน 1)
พนักงานกทพ. ร้อง ‘ศักดิ์สยาม’ เร่งยุติข้อพิพาททางด่วน ‘บีอีเอ็ม’
สำนักข่าวอิศรา ได้ตรวจสอบรายละเอียดร่างสัญญาฯเพิ่มเติมและพบข้อมูลว่า ร่างสัญญาฉบับนี้ ได้มีการกำหนดเงื่อนไขที่ทำให้ กทพ. มีความ 'สุ่มเสี่ยง' ที่จะต้องเสียค่าชดเชย ให้กับ บีอีเอ็ม ในช่วงที่มีการดำเนินการโครงการฯ หากมีการละเมิดสัญญา
เนื่องจากเนื้อหาในร่างสัญญา มีการระบุว่า กทพ. จะต้องใช้ความพยายาม ‘อย่างที่สุด’ เพื่อให้แน่ใจว่ารัฐบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือบุคคลอื่นใด จะไม่ดำเนินการหรือกระทำการใดที่อาจขัดขวาง หรือรบกวนงาน หรือการดำเนินการ หรือการไหลเวียนของการจราจรบนหรือเข้าสู่ทางด่วนขั้นที่ 1 และทางด่านขั้นที่ 2 หรือส่วนหนึ่งส่วนใด
ทั้งนี้ หากมีการดำเนินการที่ทำให้ บีอีเอ็ม เสียหาย กทพ.จะต้องทำหนังสือบอกกล่าวกับ บีอีเอ็ม ล่วงหน้าพอสมควร จากนั้น กทพ. และ บีอีเอ็ม จะหารือวิธีการที่จะดำเนินการที่จะทำให้การดำเนินการหรือการไหลเวียนของการจราจร ‘บน’ หรือ ‘เข้าสู่’ ทางด่านขั้นที่ 1 และทางด่วนขั้นที่ 2 หรือการเรียกเก็บหรือการจ่ายค่าผ่านทางให้ ‘น้อยที่สุด’
ขณะเดียวกัน กทพ.จะต้องดำเนินการให้มีการปรับขึ้นอัตราค่าผ่านทาง สำหรับทางด่วนขั้นที่ 1 และทางด่วนขั้นที่ 2 ให้มีผลบังคับใช้ตามสัญญาฉบับนี้ เช่น ต้องปรับขึ้นค่าผ่านทางรถ 4 ล้อ ที่ใช้บริการทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ส่วนเอบี จาก 50 บาท/เที่ยว เป็น 60 บาท/เที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2571-31 ต.ค.2578 เป็นต้น
โดย กทพ.จะต้องดำเนินการให้มีการออกประกาศกระทรวงคมนาคมกำหนดอัตราค่าผ่านทางให้เป็นไปตามสัญญานี้ เพื่อให้อัตราค่าผ่านทางมีผลบังคับใช้ในวันที่ครบกำหนดปรับอัตราค่าผ่านทาง
แต่หาก กทพ.ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญาทั้ง 2 ประเด็นได้ เช่น ปล่อยให้มีการ ‘รบกวน’ หรือมีการ ‘แข่งขัน’ ในการใช้บริการทางด่วนขั้นที่ 1 และทางด่วนขั้นที่ 2 หรือไม่มีการปรับขึ้นค่าผ่านทางตามสัญญา
บีอีเอ็ม มีสิทธิได้รับการชดเชยตามแนวทางที่กำหนดในสัญญา ซึ่งกำหนดไว้ 3 วิธี ส่วนจะเลือกทางใดทางหนึ่ง ก็ขึ้นอยู่กับการตกลงกันตามความ ‘เหมาะสม’ คือ 1.การปรับขึ้นค่าผ่านทางเพิ่มเติมจากสัญญา 2.ขยายระยะเวลาสัญญาออกไป และ 3.ชดเชยด้วยวิธีการอื่นใดตามที่กทพ.และ บีอีเอ็ม จะตกลงกัน
นอกจากนี้ ร่างสัญญาฉบับนี้ยังให้ บีอีเอ็ม สามารถนำสิทธิตามสัญญาทั้งหมดหรือบางส่วนไปเป็น ‘หลักทรัพย์ค้ำประกัน’ การกู้เงินได้ โดยกทพ.จะต้องให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เพื่อให้การ ‘ก่อหลักประกัน’ และการโอนสิทธิมีผลอย่าง ‘สมบูรณ์’
หรือเท่ากับว่า ‘บีอีเอ็ม’ จะสามารถนำรายได้จากการเก็บค่าผ่านทางที่คาดว่าจะจัดเก็บได้ในอนาคตไป ‘ค้ำประกัน’ การเงินกู้ต่างๆของ บีอีเอ็ม ได้
เมื่อร่างสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 เขียนเงื่อนไขไว้ชัดเจน กทพ. ต้องระมัดระวังอย่าให้มีการละเมิดจนเกิดปัญหาซ้ำซากเหมือนเช่นที่ผ่านมา
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/