"...ส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทางสุทธิจากทางด่วนขั้นที่ 1 (ทางพิเศษเฉลิมมหานคร) และทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช “ส่วนเอบี” “ส่วนซี” และ“ส่วนดี”) ที่ บีอีเอ็ม จะได้รับตั้งแต่ปี 2563-2578 จะอยู่ที่ประมาณ 125,234 ล้านบาท เมื่อหักค่าดำเนินการ บีอีเอ็ม จะมีกำไรประมาณ 73,784 ล้านบาท..."
ความคืบหน้าหลังจากคณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) มีมติเห็นชอบให้ขยายอายุสัญญาสัมปทานทางด่วนให้กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นเวลา 15 ปี 8 เดือน เพื่อแลกกับการยุติข้อพิพาท 17 คดี วงเงินพิพาทรวม 58,873 ล้านบาท และต่อมานายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการ กทพ. โดยให้เหตุผลว่า “ไม่สามารถบริหารงานได้ตามความตั้งใจ”
ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมา มีการประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 และทางด่วนสายบางปะอิน–ปากเกร็ด ซึ่งมี นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นประธาน ส่วนกรรมการและเลขานุการฯ ที่เข้ามาทำหน้าที่แทนนายสุชาติ คือ นางทศานุช ธรรมโชติ รองผู้ว่าการฝ่ายบริหาร กทพ. ซึ่งเพิ่งเข้ามาดำรงตำแหน่งได้เพียง 3 เดือน
โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบมติบอร์ด กทพ. ที่ให้ต่ออายุสัญญาสัมปทานทางด่วนให้กับ BEM พร้อมทั้งมีมติเห็นชอบ ร่างสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ฉบับแก้ไข ลงวันที่....) และ ร่างสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (ฉบับแก้ไข ลงวันที่....) ซึ่งหลังจากนี้ กทพ.จะส่งร่างสัญญาทั้ง 2 ฉบับไปให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาอีกครั้ง ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ จากนั้น กทพ.จะลงนามสัญญากับ BEM ต่อไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้ตรวจสอบรายละเอียดร่างสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ฉบับแก้ไข ลงวันที่....) พบว่า กทพ.และบีอีเอ็ม ตกลงยกเลิกและเพิกถอนบรรดาข้อพิพาทการฟ้องร้องคดีต่อศาล การเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ และการเสนอข้อพิพาทต่อคณะผู้พิจารณาที่เกิดขึ้นแล้วหรืออาจจะเกิดขึ้นในอนาคตในคดีที่มีข้อพิพาทกัน
และกทพ. และ บีอีเอ็ม จะเข้าทำสัญญาฉบับแก้ไข เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเดิม เกี่ยวกับการให้บริการและบำรุงรักษาทางด่วนขั้นที่ 2 และการขยายระยะเวลาของสัญญาเดิมนับจากวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2563 จนสิ้นสุดวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2578 อย่างไรก็ตาม การลงนามสัญญาดีงกล่าว จะเกิดขึ้นจากได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว
ทั้งนี้ ภายใต้ร่างสัญญาดังกล่าว บีอีเอ็ม จะต้องทำหน้าที่ การออกแบบ การสร้าง การจัดหาและติดตั้งอุปกรณ์ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ระบบจัดเก็บค่าผ่านทางระบบระบบสื่อสาร ระบบควบคุมจราจร และระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อการก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 2 ตลอดจนบริหารจัดการ การเรียกเก็บค่าผ่านทาง การให้บริการ และการบำรุงรักษาทางด่วนขั้นที่ 2 และงานระบบ เพื่อได้รับค่าผ่านทาง และ/หรือส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทางตลอดระยะเวลาของสัญญา
นอกจากนี้ บีอีเอ็ม จะได้สิทธิในการดำเนินการพัฒนาเชิงพาณิชย์บนพื้นที่ในเขตทางตามตลอดระยะเวลาของสัญญา
สำหรับการปรับอัตราค่าผ่านทางตลอดอายุสัญญา 15 ปี 8 เดือนนั้น ร่างสัญญาได้กำหนดให้มีการปรับอัตราค่าผ่านทางในอัตรา 10 บาท/เที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2571 ถึง 31 ตุลาคม พ.ศ.2578 สำหรับทางด่วนขั้นที่ 1 (ทางพิเศษเฉลิมมหานคร คือ ทางพิเศษสายดินแดง-ท่าเรือ สายบางนา-ท่าเรือ และสายดาวคะนอง-ท่าเรือ)
และทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช “ส่วนเอบี” คือ ส่วนของทางด่วนขั้นที่ 2 จากถนนรัชดาภิเษกมุ่งหน้าทิศใต้ผ่านต่างระดับพญาไท ไปทางทิศตะวันออกถึงถนนพระราม 9 และจากต่างระดับพญาไทไปทางทิศใต้ถึงต่างระดับบางโคล่ “ส่วนซี” คือ ส่วนของทางด่วนขั้นที่ 2 จากถนนรัชดาภิเษกมุ่งหน้าไปทางทิศเหนือถึงถนนแจ้งวัฒนะ และ “ส่วนดี” คือ ส่วนของทางด่วนขั้นที่ 2 จากถนนพระราม 9 มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกถึงถนนศรีนครินทร์)
ส่วนแนวทางการแบ่งรายได้ค่าผ่านทาง บีอีเอ็ม มีสิทธิที่จะได้รับส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทางของทางด่วนขั้นที่ 1 และทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วนเอบี ในสัดส่วน 40% ของรายได้ค่าผ้่านทาง และได้รับรายได้ค่าผ่านทาง 100% ในส่วนของทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วนซีและส่วนดี แต่มีเงื่อนไขว่า บีอีเอ็มต้องรับภาษีมูลค่าเพิ่มตามสัดส่วนรายได้ค่าผ่านทางในสัดส่วน 40% สำหรับรายได้ค่าผ่านทางของทางด่วนขั้นที่ 1 และทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วนเอบี และ 100% สำหรับทางด่วนด่วนขั้นที่ 2 ส่วนซีและส่วนดี
ขณะเดียวกัน บีอีเอ็ม ยังคงได้สิทธิในการพัฒนาเชิงพาณิชย์บนพื้นที่ในเขดหางที่อยู่บนโครงสร้างทางด่วนขั้นที่ 2 เช่น การโฆษณาประชาสัมพันธ์ ร้านค้าปลีก การให้บริการโทรคมนาคม และกิจกรรมทางการค้าอื่นๆ รวมถึงการพัฒนาเชิงพาณิชย์บนพื้นที่ดังกล่าว
นอกจากนี้ ร่างสัญญาฉบับนี้ยังกำหนดให้ บีอีเอ็ม ได้รับสิทธิ “การได้รับการพิจารณาก่อน” ในการพิจารณาต่ออายุสัญญาสัมปทาน 2 ครั้ง ครั้งละ 10 ปี
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาร่างสัญญาฉบับดังกล่าวจะพบว่า บีอีเอ็ม จะมีรายได้จากส่วนแบ่งค่าผ่านทางพอสมควร โดยเมื่อพิจารณาจากภาคผนวก 4 เรื่องการประมาณการจรจาจร รายได้ค่าผ่านทางและประมาณการทางการเงิน
พบว่าส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทางสุทธิจากทางด่วนขั้นที่ 1 (ทางพิเศษเฉลิมมหานคร) และทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช “ส่วนเอบี” “ส่วนซี” และ“ส่วนดี” ที่ บีอีเอ็ม จะได้รับตั้งแต่ปี 2563-2578 จะอยู่ที่ประมาณ 125,234 ล้านบาท เมื่อหักค่าดำเนินการ บีอีเอ็ม จะมีกำไรประมาณ 73,784 ล้านบาท มากกว่าวงเงินพิพาท 17 คดี ซึ่งอยู่ที่ 58,873 ล้านบาท
อ่านประกอบ : พนักงานกทพ. ร้อง ‘ศักดิ์สยาม’ เร่งยุติข้อพิพาททางด่วน ‘บีอีเอ็ม’
หาก บีอีเอ็ม ได้ต่ออายุสัญญาสัมปทานโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ฉบับแก้ไข ลงวันที่....) อีก 2 ครั้งๆละ 10 ปี จะเท่ากับว่า บีอีเอ็มจะมีรายได้ส่วนแบ่งค่าผ่านทางเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่ต่อสัญญา เมื่อหักลบต้นทุนการดำเนินการ ซึ่งถือว่าสูงมากเช่นกัน โดยบางปีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูงถึง 9,000-10,000 ล้านบาท แต่ตรงนี้อาจทำ บีอีเอ็ม มีกำไร 61,663 ล้านบาท
แต่บทสรุปสุดท้ายก็ต้องอยู่ผลการพิจารณาของครม.ที่มี 'พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา' นายกรัฐมนตรี นั่งคุมหัวโต๊ะ
อ่านประกอบ : เบื้องลึก ‘สุชาติ’ ทิ้งเก้าอี้ผู้ว่าฯกทพ. รับเสี่ยงไม่ไหว ‘ก.หูกวาง’ ล้วงลูกเบ็ดเสร็จ?
'สุชาติ' ยื่นหนังสือลาออก 'ผู้ว่าการ กทพ.'
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/