นายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการ กทพ. อ้างเพื่อแสดงความรับผิดชอบยุติข้อพิพาททางด่วน
เว็บไซต์ไทยพีบีเอส รายงานว่า นายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการ กทพ.ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการ กทพ.แล้ว โดยจะมีผลภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ยื่นตามเงื่อนไขสัญญาจ้างผู้ว่าฯ กทพ. ซึ่งพนักงาน กทพ.ส่วนใหญ่รับทราบ
เหตุผลในการลาออก เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบ กรณีที่ไม่เห็นด้วยต่อการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนและได้แสดงความเห็นคัดค้านในที่ประชุมคณะกรรมการ กทพ.เมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อขอให้บอร์ดพิจารณาแนวทางยุติข้อพิพาทเฉพาะในส่วนที่ กทพ.แพ้คดีจากการตัดสินของศาลปกครองสูงสุดเท่านั้นเนื่องจากคดีข้อพิพาทที่เหลือยังไม่มีการตัดสิน จึงมองว่า กทพ.ยังมีโอกาสที่จะชนะคดีอยู่ในส่วนของแนวทางยุติข้อพิพาทระหว่าง กทพ.และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)(BEM) ที่มีการขอให้ทำการทบทวนนั้นมีการฟ้องร้องรวม 17 คดี มูลค่าความเสียหายจากข้อพิพาทประมาณ 58,000 ล้านบาท แลกกับสัมปทาน 15 ปี 8 เดือน ซึ่งทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีการสั่งการให้ กทพ.พิจารณาแนวทางที่เหมาะสม ไม่ใช่หาแนวทางยุติข้อพิพาท
“ผู้ว่าการ กทพ.ได้ทำอย่างสุดความสามารถ ในการยื่นเสนอขอให้ทบทวน และยุติข้อพาทเฉพาะในส่วนคดีความถูกตัดสินแพ้ไปก่อน เพราะคดีข้อพิพาทที่เหลือศาลยังไม่ตัดสิน ดังนั้น กทพ.จึงยังมีโอกาสที่จะชนะ”
ก่อนหน้านี้ นายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการ กทพ. เปิดเผยว่า แนวทางในการเจรจากับ BEM เพื่อยุติข้อพิพาทคดีทางด่วน ที่มีมูลค่าที่ 58,873 ล้านบาท มีเงื่อนไขหลัก คือ ไม่มีการลงทุนก่อสร้างปรับปรุงทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) และยุติข้อพิพาททั้งหมดที่มีต่อกัน 17 คดี โดยจะมีการต่อขยายสัญญาโครงการทางด่วน เป็นระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน ว่าในที่ประชุมได้มีมติอนุมัติเรียบร้อยแล้วและจะนำข้อสรุปเสนอคณะกรรมการกำกับฯ ตามมาตรา 43 ภายในสัปดาห์นี้ เพื่อเข้ากระบวนการแก้ไขสัญญาตามมาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 เพื่อเสนอกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี ต่อไป
สำหรับนายสุชาติ เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ กทพ.วันที่ 27 ก.ย. 2561 ต่อมามีคำสั่งย้ายตามมาตรา 44 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 10/2562 โดยเป็นคำสั่งเรื่องให้เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานอื่นของรัฐไปปฏิบัติหน้าที่ในสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย.2562 กลับเข้ามาเป็นผู้ว่าการ กทพ.อีกครั้ง และจะครบวาระวันที่ 2 ก.ค.2563 รวมถึงทางคณะกรรมการ กทพ.ได้มีการตั้งคณะกรรมการสรรหาฯ ผู้ว่าการ กทพ.คนใหม่แล้ว โดยมีนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เป็นประธาน
ด้านนางยุวธิษา ธัญญเจริญ รองประธานฝ่ายวิชาการ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กทพ. กล่าวว่า การประชุมบอร์ด กทพ. เมื่อวานนี้ (6 ม.ค.2563) ทางกทพ.ได้พยายามเสนอว่า ประเด็นที่หารือยังมีประเด็นข้อโต้แย้งอยู่ส่วนหนี้ข้อพิพาทยังไม่รู้ว่าแพ้หรือชนะแต่เมื่อกระทรวงคมนาคมสั่งให้ กทพ.ทบทวนการเจรจา แต่สุดท้ายข้อมูลที่พิจารณาเป็นข้อมูลที่ยังไม่ได้พิจารณาข้อมูลจาก สนข.แต่เป็นข้อมูลเดิมที่ กทพ.ได้เสนอ ซึ่งทางผู้ว่าฯ กทพ.เสนอให้ทบทวนเลื่อนการต่อสัญญาและการเจรจาออกไปก่อน เพราะข้อมูลยังไม่ชัดเจนและมีผลกระทบเพราะการทางฯ ที่จะเป็นหนี้ไม่สามารถกู้ได้และมีปัญหาเรื่องเงินสดขาดสภาพคล่องจนถึงปี 2566
นอกจากนี้มองว่า สัญญาที่ร่างมาอาจจะเป็นการเอื้อกับเอกชน หากเกิดข้อพิพาท เอกชนมีสิทธิต่อสัญญาสัมปทานก็อาจจะกลายเป็นการวนลูปเดิม
ผู้ว่าฯ กทพ.มองว่า ไม่ใช่วิธีการบริหารที่ถูกต้อง เพราะสัญญาที่ร่างมา อาจจะเป็นเอื้อเอกชนเพียงรายเดียวในการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ และยังไม่รวมถึงข้อสัญญาอื่นๆ เช่น การชดเชยรายได้ หากมีความผันผวนทางเศรษฐกิจอาจต้องปรับค่าผ่านทาง หรืออาจจะต้องขยายสัญญาสัมปทาน
ขณะที่ในวันที่ 10 ม.ค.นี้ สหภาพฯ กทพ.จะมีการระดมความคิดเห็นกับพนักงานเพราะขนาดผู้ว่ายังลาออก แล้วใครจะมาลงนามแทน พนักงานจะยอมรับได้ไหม เพราะบอร์ดและผู้ว่าจะครบวาระในเดือน ก.ค.2563 ซึ่งผลกระทบจะอยู่ถึง 15 ปี 8 เดือน หรืออาจจะยาวต่อไป ขณะเดียวกัน สหภาพฯ ยังเตรียมร้องศาลปกครองคุ้มครองการพิจารณาขยายสัมปทาน