บ.โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ร่อนหนังสือถึง ‘ชวน หลีกภัย’ ขอให้ระงับการแพร่ผลศึกษากรณีโฮปเวลล์ฉบับ ‘พีระพันธุ์’ ชี้หมิ่นเหม่และอาจละเมิดอำนาจศาล ขณะที่ข้อมูลเป็นเท็จ-บิดเบือนมติครม. พร้อมยืนยันการเซ็นสัญญาถูกต้อง มีหลักฐานค่าใช้จ่ายการลงทุนชัดเจน
................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org/) รายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา นายพิสิทธิ์ อุดมผล และนายวัฒนชัย คุ้มสิน กรรมการผู้มีอำนาจ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ทำหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ระงับการเปิดเผยรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง “การปฏิบัติตามกฎหมายของโครงการก่อสร้างทางยกระดับและถนนยกระดับในเขตกรุงเทพมหานคร และการใช้ประโยชน์ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (โฮปเวลล์)” ของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งอาจไม่ชอบด้วยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 129 และอาจเป็นการละเมิดอำนาจศาล
สำหรับรายงานการพิจารณาศึกษาดังกล่าว จัดโดยคณะทำงานที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษาการกฎหมายกรรมาธิการ การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานคณะทำงานฯ
โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่า ตามรายงานที่อ้างถึง (รายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง “การปฏิบัติตามกฎหมายของโครงการก่อสร้างทางยกระดับและถนนยกระดับในเขตกรุงเทพมหานคร และการใช้ประโยชน์ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (โฮปเวลล์)”) ที่สำนักงานเลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎรได้นำรายงานของ กมธ. เปิดเผยในเว็บไซด์ของคลังสารสนเทศของสภานิติบัญญัติ โดยมีข้อมูลอันเป็นเท็จและมีข้อบกพร่องในสาระสำคัญหลายประการ
บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้ได้รับความเสียหายจากการเปิดเผยรายงานฉบับนี้ จึงอาศัยสิทธิตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 มาตรา 17 วรรค 2 โต้แย้งคัดค้านการเปิดเผยรายงานฉบับนี้ โดยมีข้อเท็จจริง ดังต่อไปนี้
1.รายงานฉบับนี้ได้มีการศึกษาข้อมูลจากข้อเท็จจริงอันเป็นที่ยุติแล้วจากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.221-223/2562 จึงอาจเข้าองค์ประกอบความไม่ชอบด้วยบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 129 กล่าวคือ บทบัญญัติในมาตรานี้ มุ่งประสงค์ที่จะให้คณะกรรมาธิการศึกษาข้อเท็จจริงที่เป็นข้อเท็จจริงอย่างถูกต้องแท้จริงและยังไม่เป็นที่ยุติ ทั้งที่รณีดังกล่าวนี้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติแล้วตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดแล้ว
แต่รายงานฉบับนี้กลับใช้อำนาจของคณะกรรมาธิการด้วยการพยายามที่จะเบี่ยงเบนประเด็นข้อเท็จจริงให้ขัดต่อคำพิพากษาและยังอาจหมิ่นเหม่ต่อการกระทำที่เป็นการละเมิดอำนาจศาล
2.เจตนารมณ์ของรายงานฉบับนี้จึงอาจเข้าองค์ประกอบเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตามบทบัญญัติในมาตรา 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์โดยการใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จในสาระสำคัญ
2.1 จากข้อเท็จจริงที่ปรากฎ เห็นว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่เป็นกลาง เพราะเป็นการกล่าวหาใส่ร้ายผู้เสียหาย โดยไม่ยอมรับรู้ว่าศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยชี้ขาดครอบคลุมในทุกประเด็นแล้ว
2.2 รายงานฉบับนี้มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงโดยเห็นว่ามีการนำความบกพร่องของคู่สัญญาภาครัฐมายัดเยียดให้เป็นความบกพร่องของคู่สัญญาภาคเอกชน
2.3 รายงานฉบับนี้เห็นว่ามีการตีความประเด็นข้อกฎหมายโดยไม่สุจริต กล่าวคือในส่วนผลของการบอกเลิกสัญญาที่ระบุว่าการเลิกสัญญาโดยอ้างเหตุตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามมาตรา 388 กับการบอกเลิกสัญญาโดยอาศัยข้อสัญญาในสัญญาสัมปทาน ซึ่งเป็นไปตาม มาตรา 387 ซึ่งตามกฎหมายแล้วเหตุการเลิกสัญญาทั้งสองมาตรดังกล่าวมีผลในทางกฎหมายเหมือนกัน คือตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 โดยนำไปบิดเบือนกล่วหาว่าเป็นกระบวนการและแผนการฉ้อฉลเพื่อให้ได้เงินจากภาครัฐโดยมิชอบ (ตามประเด็นที่ 14 หน้าที่ 50) ซึ่งเป็นความเท็จทั้งสิ้น
3.รายงานตามที่อ้างถึงนี้มีพฤติการณ์ส่อไปในทางที่ทำให้เข้าใจได้ว่า เป็นรายงานที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ดังจะเห็นได้จากการที่รายงานฉบับนี้มีการบิดเบือนมติคณะรัฐมนตรี เป็นเหตุนำมาเป็นข้ออ้างในการดื้อแพ่งไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด
3.1 รายงานฉบับนี้เห็นว่ามีการบิดเบือนมติณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2533 ที่อนุมัติให้ บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) ลงทุนก่อสร้างทางรถไฟยกระดับในเขตกรุงเทพมหานครโดยได้รับสัมปทานเดินรถไฟชุมชน(Community Tran) และทางด่วนยกระดับสำหรับรถยนต์ตามผลการเจรจากับบริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) โดยให้กระทรวงคมนาคมมีอำนาจในการลงนามในสัญญาสัมปทานที่กรมอัยการแก้ไขแล้วแทนรัฐบาล ซึ่งเป็นที่ชัดเจนปรากฏตามเอกสารที่กระทรวงคมนาคมแสดงต่อคณะรัฐมนตรี (เอกสารแนบ 1.) ตามความเป็นจริงแล้ว ครม.มีมติดังต่อไปนี้
3.1.1 ครม. มีมติให้บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) ซึ่งเป็นบริษัทต่างด้าวลงทุนก่อสร้างทางรถไฟยกระดับในเขตกรุงเทพมหานคร
3.1.2 ครม. มีมติอนุมัติให้บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) ซึ่งเป็นบริษัทต่างด้าวได้รับสัมปทานเดินรถไฟชุมชน (Community Train) และทางด่วนยกระดับสำหรับรถยนต์ หมายถึงรัฐบาลอนุญาตให้ บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างด้าวประกอบธุรกิจขนส่งทางบกในประเทศไทยได้เป็นการเฉพาะกาล คือ เป็นการเฉพาะในช่วงวลาตามอายุสัญญาสัมปทาน ซึ่งเป็นไปตาม ข้อ 2.ของประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 ("ปว. 281") ซึ่งบัญญัติไว้ว่า "ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ ไม่ใช้บังคับแก่คนต่างด้าวที่เข้ามาประกอบธุรกิจในราชอาณาจักรโดยได้รับอนุญาตจากรัฐบาลไทยเป็นการเฉพาะกาล ..."
3.1.3 ครม. มีมติให้สัญญาสัมปทานเป็นไปตามผลการเจรจาระหว่างกระทรวงคมนาคม กับบริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) ซึ่งผลการเจรจาที่ได้มีการรายงานให้ ครม. แล้ว ได้มีการตกลงให้บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) จัดตั้งบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด มาเป็นผู้รับสัมปทานและเข้าเป็นคู่สัญญาแทนบริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) ตามข้อ 2.9 ของหนังสือกระทรวงคมนาคม ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2533
3.1.4 ครม. มีมติให้กระทรวงคมนาคมมีอำนาจในการลงนามในสัญญาสัมปทานที่กรมอัยการตรวจแก้ไขแล้ว แทนรัฐบาล
3.1.5 มติครม. ข้างต้นเป็นการรวมเอาคำขอของกระทรวงคมนาคมตามเรื่องที่ 1. และเรื่องที่ 2. ข้อ 2. เข้าไว้ด้วยกัน
การรับจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทของกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นไปโดยอาศัยมติ ครม. ตามที่แยกออกมาให้เห็นชัดเจนตามข้อ 2. และ 3. ข้างต้น ซึ่งเป็นการถูกต้องตามกฎหมายแล้ว แต่ปรากฏว่าในรายงานฉบับที่อ้างถึงนี้กลับตีความว่า ในมติ ครม. ไม่มีข้อความใดหรือมีตัวหนังสือที่เขียนไว้ว่า ครม. มีมติให้สิทธิยกเว้นตามข้อ 2. ของ ปว. 281 ให้บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) ซึ่งน่าจะเป็นการตีความบิดเบือนมติคณะรัฐมนตรีให้เกิดความเสียหายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีผลต่อสาธารณชนกระทบต่อความมั่นคงและความน่าเชื่อถือของชาติในส่วนรวม
เหตุเพราะมติครม. รายละเอียดตามที่ระบุข้างต้นนี้ มีความชัดเจนว่า ครม. ได้อนุมัติให้บริษัท โรปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างด้าว ให้เข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยได้อย่างชัดเจนแล้ว จากรายงานที่อ้างถึงนี้คณะทำงานของคณะกรรมาธิการของชุดดังกล่าวนี้ เห็นว่ามีผลทำให้สร้างความเข้าใจผิดว่ามติครม. เพียงให้บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) เข้ามาลงทุนก่อสร้างทางกระดับและให้ได้รับสัมปทานเดินรถ แต่ไม่อนุญาตให้เข้ามาประกอบธุรกิจขนส่งในประเทศ ซึ่งตีความที่ขัดต่อสามัญสำนึกและย้อนแย้ง
และยังเป็นการตีความขัดกับหลักการตีความกฎหมายตามหลักนิติรัฐและกฎหมายสากล ซึ่งโดยหลักการแล้ว จะต้องตีความไปในทางที่ปฏิบัติได้ เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคู่สัญญา ซึ่งครม. ในสมัยนั้น และบริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) ย่อมมีเจตนารมณ์ที่จะทำโครงการโฮปเวลล์ให้ประสบความสำเร็จ จึงได้มีการถือปฏิบัติกันตามข้อกำหนดในสัญญาสัมปทานมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากการที่ฝ่ายรัฐมีการส่งมอบพื้นที่ในโครการนี้ แม้จะไม่ครบก็ตาม
โดยนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นเป็นประธานในพิธีลงเสาเอกเริ่มต้นโครงการ และบริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) มีการนำเงินจากฮ่องกงเข้ามาลงทุนถึง 15,000 ล้านบาท จ่ายเงินตามสัญญาสัมปทานให้การรถไฟฯ ไปแล้วถึง 2,850 ล้านบาท มีการนำเข้าเครื่องจักรขนาดหนักเข้ามาใช้ในงานก่อสร้าง จึงเป็นที่ชัดเจนว่าทั้งสองฝ่ายมีเจตนาต้องการให้โครงการประสบความสำเร็จร่วมกัน
สัญญาสัมปทานฉบับนี้ ครม.ได้มีมติให้กรมอัยการ(สำนักงานอัยการสูงสุดในปัจจุบัน) ตรวจแก้ไขก่อนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะลงนามแทนรัฐบาล ซึ่งกรมอัยการได้ตรวจแก้ไขและได้นำร่างสัญญาเสนอต่อ ครม. ขอความเห็นชอบ (เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2533) ก่อนมีการลงนามและเมื่อลงนามโดยผู้มีอำนาจทั้งสองฝ่ายแล้ว ก็ได้มีการนำเสนอ ครม. เพื่อทราบอีกครั้งหนึ่ง (ครม.รับทราบเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2533) (เอกสารแนบ 1.)
4.ในรายงานฉบับนี้ปรากฏข้อมูลอันเป็นเท็จในรายละเอียดปลีกย่อยบางประการ อาทิเช่น
4.1 ตามรายงานของ กมธ. ข้อ 4.1.9 หน้า 19 ย่อหน้าที่ 1 ตอนท้าย ระบุว่า (1.) ไม่มีการกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพื่อให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายนำพยานหลักฐานมาแสดงและโต้แย้งพยานหลักฐานระหว่างกัน ตามที่พึงต้องกระทำ (2) ไม่ให้โอกาสนำสืบพิสูจน์พยานหลักฐานและข้ออ้างและข้อเถียงของแต่ละฝ่ายในเรื่องดังกล่าวก่อน แล้วจึงวินิจฉัยชี้ขาด (เอกสารแนบ 2.)
4.1.1 แต่ปรากฎข้อเท็จจริงในรายงานการประชุมของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทตามคดีหมายเลขดำที่ 1 19/2547 ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2550 ได้มีการกำหนดข้อพิพาทไว้อย่างชัดเจนปรากฎหลักฐานในรายงานการประชุมของคณะอนุญาโตตุลาการว่า "4. ผู้เรียกร้องและผู้คัดค้านจะกลับคืนสู่สถานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 หรือไม่ เพียงใด" (เอกสารแนบ 3.)
ตามคำขาดของคณะอนุญโตตุลาการ ได้มีการกล่าวถึงเรื่องการกำหนดประเด็นข้อพิพาทค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างไว้ในหน้าที่ 6 ที่ว่า "4. ผู้เรียกร้องและผู้คัดค้านจะกลับคืนสู่สถานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 หรือไม่ เพียงใด" (เอกสารแนบ 4.)
อีกทั้งคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ. 410-412/2557 คดีหมายเลขแดงที่ อ.221-223/2562 ได้กล่าวถึงการกำหนดประเด็นข้อพิพาทในคดีหมายเลขดำที่ 119/2547 ไว้ในหน้าที่ 9 บรรทัดที่ 11 นับจากล่างขึ้นบน ว่า "4. ผู้เรียกร้องและผู้คัดค้านจะกลับคืนสู่สถานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพและพาณิชย์ มาตรา 391 หรือไม่ เพียงใด" และในหน้าที่ 108 ในบรรทัดที่ 11 นับจากล่างขึ้นบน ว่า "4. ผู้เรียกร้องและผู้คัดค้านจะกลับคืนสู่สถานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 หรือไม่ เพียงใด" (เอกสารแนบ 5.)
ข้อกล่าวหาที่ไม่กำหนดประเด็นข้อพิพาทจึงเป็นการกล่าวหาด้วยข้อความอันเป็นเท็จ
4.1.2 ในชั้นการสืบพยานในประเด็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้นำพยานบุคคลเข้าเบิกความประกอบพยานเอกสารประมาณ 200 แฟ้ม โดยมีทีมทนายของฝ่ายกระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ถามด้านพยานบุคคลฝ่ายบริษัท และโต้แย้งค้านพยานเอกสารในเรื่องใบเสร็จรับเงินอย่างละเอียด มีหลักฐานบันทึกคำถามด้านเรื่องนี้มีจำนวนถึง 110 หน้ากระดาษ A4
ข้อกล่าวหาที่ไม่เปิดโอกาสให้โต้แย้งพยานหลักฐานใบเสร็จรับเงิน จึงเป็นการกล่าวหาด้วยข้อความอันเป็นเท็จ
4.2 จากข้อกล่าวหาตามรายงานของ กมธ. หน้า 23 บรรทัดแรก ได้กล่าวหาว่าเมื่อได้ตรวจสอบสำเนาใบเสร็จรับเงินที่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด นำมายื่นไว้ต่ออนุญาโตตุลาการแล้ว ปรากฏว่า มีใบเสร็จรับเงินที่สมารถยอมรับได้ เป็นเงินเพียงประมาณ 1,732 ล้านบาทเท่านั้น (เอกสารแนบ 6.)
แต่ปรากฎหลักฐานในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3983/2553 หน้า 3 บรรทัดที่ 9 ว่า บริษัทได้ขอคืนภาษีซื้อจากการก่อสร้างต่อกรมสรรพากรในระหว่างที่บริษัทยังไม่มีรายได้ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างจำนวนมากทำให้ บริษัท โฮปเวลล์(ประเทศไทย) จำกัด ต้องขอคืนภาษีซื้อ (VAT) ของวัสดุอุปกรณ์ที่นำมาใช้ในการก่อสร้างเป็นเงิน 528,360,932.30 บาท แต่กรมสรรพากรคืนให้เป็นเงิน 347,276,378.80 บาท ตามหนังสือแจ้งคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม รวม 70 ฉบับ (เอกสารแนบ 7.)
ส่วนจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จำนวน 528 ล้านบาท คำนวณย้อนกลับเป็นค่าใช้จ่ายที่มีใบกำกับภาษีได้ 7,548 ล้านบาท ซึ่งการขอคืน VAT จะต้องมีใบกำกับภาษีประกอบชัดเจน
ปรากฏชัดเจนว่า ข้อมูลที่ กมธ. นำมากล่าวอ้างในรายงาน ตัวเลขน้อยกว่าความเป็นจริงอย่างมาก ถึง 435% จึงถือได้ว่าเป็นเท็จ
นอกจากค่าใช้จ่ายดังกล่าวข้างต้นนี้แล้วยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีกอาทิเช่น คำจ้างแรงงาน ซึ่งไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
“จึงขอประทานกราบเรียน ฯพณฯ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้โปรดพิจารณาระงับการเผยแพร่รายงานดังกล่าวโดยเร็วที่สุด เพื่อรักษาไว้ซึ่งเกียรติภูมิของสภาผู้แทนราษฎรอันทรงเกียรติในฐานะที่สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติตามรัฐธรมนูญ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคำนึงถึงความถูกต้องชอบธรรม ในระบบนิติรัฐอย่างเคร่งครัด ประกอบกับ ฯพณฯ ชวน หลีกภัย เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าเป็นนักกฎหมายที่มีวัตรปฏิบัติยึดมั่นในความถูกต้องและเคร่งครัดในการปฏิบัติตามกฎหมาย บริษัท จึงมีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการพิจรณาวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวข้างต้นนี้ตามควรแก่กรณีต่อไปด้วย จักเป็นพระคุณอย่างยิ่ง” หนังสือของบริษัท โฮปเวลล์ฯ ระบุ
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า สำหรับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ HOPEWELL (THAILAND) LIMITED จดทะเบียนเมื่อวันที่ 5 พ.ย.2533 ปัจจุบันยังดำเนินกิจการอยู่ ทุนจดทะเบียนปัจจุบันอยู่ที่ 15,000 ล้านบาท โดยประกอบการเดินรถไฟชุมชนระบบขนส่งทางถนน มีกรรมการ 4 คน ได้แก่ นายพิสิทธิ์ อุดมผล ,นายวัฒนชัย คุ้มสิน ,นายโคลิน เฮนรี่ เวียร์ และนายสถาพร อาสะไวย์
ข้อมูล ณ วันที่ 11 ก.ย.2563 ปรากฏรายชื่อผู้ถือหุ้น ได้แก่
1.ยูไนเต็ด ซัคเซส ลิมิเต็ด สัญชาติมอริเชียส ถือหุ้น 96.6667% หรือ 1,449,999,994 หุ้น (ราคาหุ้นละ 10 บาท) มูลค่า 14,499.99 ล้านบาท
2.เอฟเอสเอ็น คอนซัลติ้ง ลิมิเต็ด สัญชาติมาเลเซีย ถือหุ้น3.3333% หรือ 50,000,000 มูลค่า 500 ล้านบาท
3.นายธีรภัทร ทวีสิน สัญชาติไทย ถือหุ้น 0.0000% หรือ 2 หุ้น มูลค่า 20 บาท
4.นางนิตยา เกียรติเสรีกุล สัญชาติไทย ถือหุ้น 0.0000% หรือ 1 หุ้น มูลค่า 10 บาท
5.นางศรีรัชฎ์ ปัญจพรรค์ สัญชาติไทย ถือหุ้น 0.0000% หรือ 1 หุ้น มูลค่า 10 บาท
6.นายสุนันท์ กีรติวัฒนพิศาล สัญชาติไทย ถือหุ้น 0.0000% หรือ 1 หุ้น มูลค่า 10 บาท
7.นางสาวสุนันทา นิศกุลรัตน์ สัญชาติไทย ถือหุ้น 0.0000% หรือ 1 หุ้น มูลค่า 10 บาท
อ่านประกอบ :
สู้ต่อคดีจ่ายค่าโง่โฮปเวลล์! ยกประเด็นสัญญา‘โมฆะ’-ผู้ว่าฯรฟท.มั่นใจมี ‘ข้อเท็จจริง’ ใหม่
บทบาท ‘คนไทยปริศนา' ในรายงานค่าโง่โฮปเวลล์ฉบับ 'พีระพันธุ์'
ยันจดทะเบียนถูกต้อง! 'บ.โฮปเวลล์ฯ' โต้ 10 ข้อกล่าวหา คณะทำงานฯ ‘พีระพันธุ์’
อธิบดีดีเอสไอรับตรวจสอบ บ.โฮปเวลล์ ปมนิติบุคคลต่างด้าว
ยังเจรจาได้! ‘วิษณุ’ ชี้ช่องถกเอกชนปมจ่ายค่าเสียหายคดี ‘โฮปเวลล์’ 2.5 หมื่นล้าน
ข้ออ้างฟังไม่ขึ้น! ศาลปค.สูงสุดมีคำสั่ง ‘ยืน’ ไม่รื้อ ‘คดีโฮปเวลล์’-รัฐอ่วมชดใช้ 2.5 หมื่นล.
ชี้ขาดรื้อคดีจ่ายชดเชย ‘โฮปเวลล์’ 2.5 หมื่นล.! ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำสั่ง 22 ก.ค.นี้
ส่องที่อยู่ 2 ผู้ถือหุ้น บ.วิชเวลล์ฯ รับโอนหุ้นโฮปเวลล์ 500 ล้าน - ไม่มีใครเคยรู้จัก?
งบการเงิน บ.โฮปเวลล์ แจงที่มาคดีค่าโง่ เรียกค่าเสียหายแสนล้าน ชนะ 1.2 หมื่นล.
INFO: ผ่าโครงข่ายผู้ถือหุ้น บ.โฮปเวลล์ฯ 1.5 หมื่นล. จากฮ่องกง-มอริเชียส
ก่อนรับโอนหุ้นโฮปเวลล์ 500 ล.บริติชเวอร์จิน! บ.วิชเวลล์‘อนุศักดิ์’ มีเงินสดแค่ 392 บาท
บ.รับโอนหุ้นโฮปเวลล์ 500 ล. บริติชเวอร์จิน ที่แท้ ‘อนุศักดิ์-กฤษนันทร์’ เจ้าของ
ส่องรอบโลกที่ตั้ง บ.ฮ่องกง-มอริเชียส-เวอร์จิน-มาเลฯ ใครเกี่ยวบ้าง? รับโอนหุ้น'โฮปเวลล์'500ล.
บ.เกาะบริติช เวอร์จิน โผล่ถือหุ้น 500 ล.‘โฮปเวลล์’ รับโอนจาก สัญชาติ‘มอริเชียส’
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/